Advance search

บ้านภูเขาทอง เป็นผืนนาผืนใหญ่ที่สุดของคนกำพวน อีกทั้งยังมีพันธุ์ข้าวที่ปลูกในผืนนามากกว่า 10 สายพันธุ์ จนได้รับขนานนามว่าเป็น นาพรุใหญ่ แห่งตำบลกำพวน

ภูเขาทอง
กำพวน
สุขสำราญ
ระนอง
เทศบาลตำบลกำพวน โทร. 0-7781-0628
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
บ้านภูเขาทอง


ชุมชนชนบท

บ้านภูเขาทอง เป็นผืนนาผืนใหญ่ที่สุดของคนกำพวน อีกทั้งยังมีพันธุ์ข้าวที่ปลูกในผืนนามากกว่า 10 สายพันธุ์ จนได้รับขนานนามว่าเป็น นาพรุใหญ่ แห่งตำบลกำพวน

ภูเขาทอง
กำพวน
สุขสำราญ
ระนอง
85120
9.380357682
98.42374831
องค์การบริหารส่วนตำบลกำพวน

กำพวนเป็นหัวเมืองเล็ก ๆ รอบนอกเมืองหนึ่ง มีการประกาศตั้งเป็นหัวเมือง 12 นักษัตร ในสมัยพระเจ้าจันทร์ภานุ พ.ศ. 1779 โดยในอดีตนั้นได้มีชาวอาหรับเปอร์เซียมาตั้งชุมชนอยู่ที่บนควนด้นท่อม (ปัจจุบัน เรียกว่าภูเขาทอง) และควนชี ปัจจุบันอยู่ในเขตบางกล้วยนอก ตำบลนาคา ได้มีการทำลูกปัดและทำทองไปขายตามหัวเมืองต่าง ๆ เมื่อประมาณ 700 กว่าปีที่แล้ว โดยลักษณะการตั้งชุมชนในอดีตนั้นตั้งอยู่บริเวณริมทะเล เมื่อชุมชนขยายขึ้นจึงไม่มีพื้นที่จะทำมาหากินและที่อยู่อาศัย ประกอบกับมรสุมทางทะเล ประชาชนที่อาศัยอยูบริเวณนี้จึงได้ละทิ้งชุมชน โดยย้ายไปอยู่ที่ใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด มีเพียงคำบอกเล่าจากผู้อาวุโสในชุมชนว่าเพราะถูกโรคห่าระบาดหนักทำให้ผู้คนล้มหายตายจากจนหมดชุมชน

เมื่อประมาณสมัยธนบุรีได้มีการตั้งเมืองขึ้นมาใหม่โดยมีประชาชนจากเมืองจาม (กัมพูชา) ได้หนีภัยสงครามมาตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านทะเลนอก 2 ครอบครัว และปลายที่คลองใหญ่ 2 ครอบครัว และมีลูกหลานสืบทอดจนมีหลายครัวเรือนและได้แยกย้ายไปตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านกำพวนและที่บ้านนาคาปัจจุบัน

ต่อมาใน พ.ศ. 2464 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กำพวนได้รับการยกฐานะเป็นตำบลแยกออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านทะเลนอก หมู่ที่ 2 บ้านเหนือ หมู่ที่ 3 บ้านใต้ ผ่านไปประมาณ 45 ปี ชุมชนเกิดการขยายตัวอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบางกล้วยใน (บ้านภูเขาทองในปัจจุบัน) และได้แยกเป็นหมู่ที่ 4 บ้านบางกล้วยใน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ภูเขาทอง นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวก่อตั้งหมู่บ้านใหม่อีก คือ หมู่ที่ 5 บ้านสุขสำราญ และหมู่ที่ 6 บ้านโตนกลอย (เสาย๊ะ คงยศ และคณะ, 2559: 16-17)

สภาพทั่วไปของชุมชนพื้นที่ ตำบลกำพวน อยู่ห่างจากจังหวัดระนองประมาณ 98 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 68.788 ไร่ เนื้อที่ทำการเกษตร 8,781 ไร่ มีนาข้าว 8 ไร่ ไม้ยืนต้นและไม้ผล 6,923 ไร่ และมีพืชไร่ 1,300 ไร่

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลนาคา กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ทะเลอันดามัน

ลักษณะภูมิประเทศ

ตำบลกำพวนตั้งอยู่ตอนใต้ของจังหวัดระนอง ติดต่อระหว่างตำบลนาคา จังหวัดระนอง กับตำบลคุระบุรี จังหวัดพังงา พื้นที่ตลอดแนวฝั่งตะวันตกติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน กำพวนเป็นตำบลที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ป่ารก ป่าชายเลน สัตว์น้ำ มีภูมิประเทศสวยงาม ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ชายทะเลมีแนวยาว มีพืชผลต่าง ๆ เช่น มะม่วงหิมพานต์ ทุเรียน มังคุด ยางพารา สภาพอากาศมีฝนตกชุก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ในปีหนึ่งจัดได้ว่ามี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 35 เซลเซียส ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 30 เซลเซียส ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย 24 เซลเซียส

บ้านภูเขาทอง เป็นผืนนาผืนใหญ่ที่สุดของคนกำพวน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านภูเขาทอง อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น นาพรุใหญ่ ของตำบลกำพวน

เส้นทางคมนาคม

การคมนาคมและขนส่ง เส้นทางคมนาคมที่สำคัญของ ตำบลกำพวน ใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เป็นการคมนาคมระหว่างตำบลกำพวนกับจังหวัดระนอง ในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและลาดยาง ส่วนที่ยังเป็นถนนดินหิน หรือถนนลูกรังยังมีอยู่บ้างบางสาย แต่เป็นเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น 

หมู่ที่ 4 บ้านภูเขาทอง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,367 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 689 คน ประชากรหญิง 678 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 364 ครัวเรือน 

ผู้คนในชุมชนภูเขาทองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เช่น จับปลา อวนปู ซึ่งส่วนใหญ่นำมาบริโภคในครัว ครัวเรือนและส่งขายเป็นการค้าบ้างหรือนำมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น กะปิ น้ำปลา การเกษตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำนา เป็นหลักในการหารายได้ และมีอาชีพเสริมที่ชาวบ้านชุมชนภูของทองประกอบอาชีพ คือ เช่น ปลูกกาแฟ ยางพารา สะตอ ทุเรียน กลองกอง เงาะ หมาก เป็นต้น อาชีพรับจ้างทั่วไป และค้าขาย

พิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับข้าว

ตลอดระยะเวลาการทำนาของชาวบ้านภูเขาทองนั้นจะมีความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อ ตั้งแต่ขั้นตอนการไถ หว่าน ดำ และเก็บเกี่ยว โดยก่อนที่จะมีการหว่านข้าวนั้น ตามความเชื่อทางศาสนาอิสลามจะมีการอ่านดุอา หรือขอพรจากพระเจ้าเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มาคุ้ยเขี่ยข้าวที่หว่านไว้ ขณะที่รอให้ต้นกล้าเติบโต จะมีการไถนา เรียกว่า เหยียบนา และมีพิธีกรรม การรับขวัญควาย โดยการนำพวงมาลัยคล้องไว้ที่คอ นอกจากนี้ในขั้นตอนก่อนถอนกล้าและหลังถอนกล้าจะมีการทำดุอาเช่นเดียวกับตอนหวานข้าว เพื่อขอพรจากพระเจ้าให้ข้าวที่ปลูกปลอดภัยจากสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกหอยเชอรี่กัดกิน หนู นกและเพลี้ย เป็นต้น อย่าให้มีอุปสรรคใด ๆ ในการปลูกข้าว เมื่อดำนาเสร็จ ข้าวเจริญเติบโต ออกรวงสุกเต็มที่ ก็ถึงฤดูกาลการเก็บเกี่ยวข้าว ในการเก็บเกี่ยวข้าวก็มีพิธีกรรม คือ การผูกข้าว-ขวัญข้าว โดยนำข้าว 3 รวง ที่อกรวงหันหน้าเข้าหากัน เรียกว่า ขวัญข้าว มาผูกติดกันเป็นช่อ ๆ ในแต่ละช่อก็จะมีใบร่มข้าว ดอกไม้ ใบโกสน และหมากพลู นำมาผูกเข้าด้วยกัน ทำเป็น 4 มุม และอ่านดุอาขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยดูแลคุ้มครองต้นข้าวให้มีความเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ รอดพ้นจากการถูกหอยเชอรี่กัดกิน หนู นกและเพลี้ย เป็นตัน จนข้าวออกรวงสุกจนได้เก็บเกี่ยวในวันนี้

ปฏิทินการทำนา

  • เดือนมิถุนายน : เตรียมพื้นที่นา ไถนา เปิดน้ำเข้านา แต่งคันนา เปิดน้ำออก
  • เดือนกรกฎาคม คราดนา หว่านเมล็ดข้าว
  • เดือนสิงหาคม ช่วงข้าวงอก หลังจากหว่านประมาณ 10 วัน
  • เดือนตุลาคม ข้าวเริ่มแตกกอ ชาวนาเริ่มใส่ปุ๋ยบำรุงข้าว
  • เดือนพฤศจิกายน ข้าวเริ่มตั้งท้อง ประมาณ 1 เดือน เริ่มออกรวง 
  • เดือนธันวาคม ช่วงเก็บเกี่ยวข้าว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สืบเนื่องจากบ้านภูเขาทองเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นนาพรุใหญ่แห่งตำบลกำพวน ฉะนั้นแล้วการทำนาจึงถือเป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวบ้านภูเขาทองตั้งแต่อดีต แม้ว่าปัจจุบันการทำนาจะลดน้อยลงและมีความเปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ทว่า การทำนาก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาสู่ลูกหลาน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ภูมิปัญญาการทำนาข้าว

ภูมิปัญญาการทำนาข้าวของชาวบ้านภูเขาทอง มีขั้นตอนดังนี้

1. การเตรียมดิน การเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวแบบปักดำ ต้องมีการไถคะ การไถแปร และการคราด คือ การพลิกหน้าดิน ตากดินให้แห้งตลอดจนเป็นการคลุกเคล้าฟาง วัชพืชลงไปในดิน ทำให้ดินแตกตัวและเป็นเทือก พร้อมที่จะปักดำได้ ขังน้ำไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้มีสภาพดินที่เหมาะสมในการคราด ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรงวัว ควาย หรือแทรกเตอร์ขนาดเล็ก

2. การเตรียมกล้า หรือการตกกล้า คือ การเอาเมล็ดไปหว่านให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า เพื่อเอาไปปักดำ การเตรียมต้นกล้าให้ได้ต้นที่แข็งแรง เมื่อนำไปปักดำก็จะได้ข้าวที่เจริญเติบได้รวดเร็วและมีโอกาสให้ผลผลิตสูง ต้นกล้าที่แข็งแรงดีต้องมีการเจริญเติบโตและความสูงสม่ำเสมอกันทั้งแปลงมีกาบใบสั้น มีรากมากและรากขนาดใหญ่ ไม่มีโรคและแมลงทำลาย

3. การเตรียมเมล็ดพันธ์ุ ที่ใช้ตกกล้าต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งเจือปน

4. การแช่และหุ้มเมล็ดพันธุ์ นำเมล็ดข้าวที่ได้เตรียมไว้บรรจุในภาชนะ นำไปแช่ในน้ำสะอาดนานประมาณ 30-48 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาวางบนพื้นที่น้ำไม่ขังและมีการถ่ายเทของอากาศดี นำกระสอบป่านชุบน้ำจนชุ่มมาหุ้มเมล็ดพันธุ์โดยรอบ รดน้ำทุกเช้าและเย็น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น หุ้มเมล็ดพันธุ์ไว้นานประมาณ เมล็ดข้าวจะงอกขนาด ตุ่มตา (มียอดและรากเล็กน้อยโดยรากจะยาวกว่ายอด) พร้อมที่จะนำไปหว่านได้ เมื่อต้นกล้าอายุได้ 20 วัน หว่านปุ๋ยหมักแห้ง 20 กิโลกรัม ต่อไร่ฉีดพ่นตามอัตราส่วนที่กำหนด เพื่อกระตุ้นให้ตันกล้าแข็งแรงและถอนง่าย ดูแลระดับน้ำให้สูงขึ้นตามอายุของต้นกล้า เมื่อครบ 25-30 วันเริ่มถอนกล้าไปปักดำได้

5. การตกกล้า การตกกล้ามีหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัตถุประสงค์

  • การตกกล้าในสภาพเปียก หรือการตกกล้าเทือก
  • การตกกล้าในสภาพดินแห้ง
  • การตกกล้าใช้กับเครื่องปักดำข้าว

6. การปักดำ จะทำเมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 20-30 วัน โตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ ขั้นแรกให้ถอนต้นกล้าขึ้นมาจากแปลงแล้วมัดรวมกันเป็นมัด ๆ ถ้าต้นกล้าสูงมากก็ให้ตัดปลายใบทิ้งสำหรับต้นกล้าที่ให้มาจากการตกกล้าในดินเปียกจะต้องสลัดเอาดินโคลนที่รากออกด้วยแล้วเอาไปปักดำในพื้นที่นาที่ได้เตรียมไว้ การปักดำจะต้องปักดำให้เป็นแถวเป็นแนวและมีระยะห่างระหว่างกอมากพอสมควร โดยทั่วไปแล้วการปักดำมักใช้ต้นกล้า จำนวน 3-4 ต้นต่อกอ

7. การเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อดอกข้าวบานและมีการผสมเกสรแล้วหนึ่งสัปดาห์ก็จะเริ่มเป็นแป้งเหลวสีขาว สัปดาห์ที่สองแป้งเหลวนั้นก็จะแห้งกลายเป็นแป้งค่อนข้างแข็ง สัปดาห์ที่สามแป้งก็จะแข็งตัวมากยิ่งขึ้นเป็นรูปร่างของ เมล็ดข้าวกล้อง สัปดาห์ที่สี่นับจากวันที่ผสมเกสรจึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่าเมล็ดข้าวแก่พร้อมเก็บเกี่ยวออกดอกแล้วประมาณ 28-30

8. การนวดข้าว การตาก การฝัดข้าว การนวดข้าว หมายถึง การเอาเมล็ดข้าวออกจากรวงขั้นแรกจะต้องขนข้าวที่เกี่ยวจากนาไปกองไวับนลานสำหรับนวด ปกติชาวนามักจะนวดข้าวหลังจากที่ให้ตากข้าวให้แห้งเป็นเวลา 5-7 วัน โดยการใช้แรงงานทั้งคนและสัตว์เหยียบย่ำรวงข้าวเพื่อขยี้ให้เมล็ดหลุดออกจากรวงข้าวเรียกว่า ฟางข้าว

9. การเก็บรักษาข้าว โดยปกติจะเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อไว้บริโภค และแบ่งขายเมื่อข้าวมีราคาสูงและอีกส่วนหนึ่งแบ่งไว้ทำพันธุ์

พันธุ์ข้าวและลักษณะของข้าวที่ชุมชนภูเขาทองใช้ในการเพาะปลูก

1. ข้าวลูกหวาย ลักษณะของลำต้นจะอวบ มีสีม่วง ลายของลำต้นคล้ายกับสีลายลูกหวาย ใบข้าวมีสีเขียวเข้มขรุขระ รวงข้าวจะเป็นสีดำ เมื่อข้าวสุกจะมีเปลือกสีเหมือนลูกหวายสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดข้าวจะมีสีแดงส้ม มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว 7 เดือน

2. ข้าวเล็บมือนาง ลักษณะของเมล็ดยาวเรียวท้ายดำเปลือกสีเหลือง เมล็ดข้าวจะเป็นสีขาว การแตกกอ 1 กอ ประมาณ 10 ต้น ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 5 เดือน

3. ข้าวเล็บนก เอกลักษณ์ของข้าวสายพันธุ์นี้ คือ รวงจะไม่ค่อยเหี่ยวเฉา และมีความสดอยู่เสมอ ในส่วนของเมล็ดนั้นจะสั้นเล็ก ปลายมีสีดำ การแตกกอ 1 กอ ประมาณ 10 ต้นระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 7 เดือน

4. ข้าวสังข์หยด ลำต้นแข็งแรง ลักษณะของใบจะมีสีเขียว เมล็ดข้าวเรียวงอนปลายสีดำ เปลือกจะมีสีฟาง เมล็ดข้าวจะมีสีแดงเข้ม การแตกกอ 1 กอ ประมาณ 10 ต้น ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 5 เดือน

5. ข้าวเหลืองภูเขาทอง ลำต้นและใบมีสีเหลือง ความกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร เปลือกของเมล็ดมีสีเหลือง ลักษณะของเมล็ดข้าวสีขาวน้ำนม ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 7 เดือน

6. ข้าวนางเกิด ลักษณะของลำต้นจะเป็นสีเขียว ใบมีสีเขียวเข้ม เปลือกของเมล็ดข้าวเมื่อออกรวงจะเป็นสีเขียวอมม่วง ลักษณะของเมล็ดข้าวจะเล็ก ปลายสีดำ คล้ายกับข้าวเล็บนก การแตกกอ 1 กอ ประมาณ 15-20 ต้น ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 6-7 เดือน

7. ข้าวสามสายพันธุ์ ลักษณะของลำต้นจะเป็นสีเขียวอมขาว คอปล้องสีน้ำตาล ลำต้นมีความสูงประมาณ 160 เชนติเมตร ความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร คอรวงข้าวสีขาวอมเหลือง ความยาวคอรวง 38 เซนติเมตร เปลือกเมล็ดข้าวสีเหลือง ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 7เดือน การแตกกอ 1 กอ ประมาณ 15-20 ต้น

8. ข้าวเหนียวดำ ลักษณะของลำต้นเป็นปล้องสีน้ำตาล ความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร ใบจะมีสีเขียวเข้มดำและเรียวยาว เมื่อข้าวออกรวงเป็นสีดำเข้ม เมื่อข้าวสุกเต็มที่เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดเป็นสีดำ ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 3 เดือน

9. ข้าวดอกขาขาว ลักษณะของลำต้นเป็นปล้องสีเขียวอมเหลือง ใบมีสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อข้าวออกรวงมีสีขาว เมล็ดยาวใหญ่ เมื่อเมล็ดสุกเต็มที่เปลือกจะเป็นสีขาวอมเหลือง เมล็ดปลายสีดำแดง ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 4 เดือน

10. ข้าวดอกขาแดง ลักษณะของลำต้นเป็นปล้องสีเขียวอมน้ำตาล ความสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอมน้ำตาล เมล็ดขาวเรียวใหญ่ เมล็ดเมื่อออกรวงเป็นสีเหมือนฟาง เมื่อสุกเต็มที่มีสีแดง กลิ่นหอมเหมือนใบเตย ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 4 เดือน

11. ข้าวหอมปทุมธานี ลักษณะของลำต้นเป็นปล้องสีเหลือง ความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอมน้ำตาล เรียวยาว เมื่อเมล็ดสุกเต็มที่มีสีเขียวอมเหลืองเข้ม คอรวงยาวประมาณ 3.6 เซนติเมตร ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 3 เดือน 

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นใต้สำเนียงระนอง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กำเนิดนาพรุใหญ่

นาพรุใหญ่ เป็นผืนนาผืนใหญ่ที่สุดของคนกำพวน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านภูเขาทอง อำเภอสุขสำราญ       จังหวัดระนอง นาพรุใหญ่มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 558 ไร่ในอดีตเมื่อประมาณปี พ.ศ.150 ก่อนที่จะได้มีการทำนาในพื้นที่นาพรุใหญ่นั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำนาที่อื่นก่อน เช่น นาบ้าน นากลองเขานุ้ย นาต้นท่อมนาเกาะล้ำ นาพรุกวม นาคลองปลิง นาต้นตรีด นาลวดค้นหมาก เป็นต้น ก่อนที่จะมาเป็นนาพรุใหญ่นี้ลักษณะของพื้นที่เมื่อก่อนเป็นป่าพรุที่รกมาก มีต้นไม้ใหญ่ ๆ หลากหลายชนิด รวมทั้งสัตว์ดุร้าย ซึ่งพื้นที่มีร่องคลองที่มีน้ำลึกมาก บุคคลแรกที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่นาพรุใหญ่เพื่อทำเป็นพื้นที่นานี้ก็ คือ หลวงนรินทร์ และได้มีการชักชวนพี่น้องมาช่วยกันทำนาในอดีตมีเจ้าของพื้นที่นจำนวน 10 คน เช่นโต๊ะหมาดสัน โต๊ะปรัง โต๊ะโร้ย มาหักนาต้นตรีดที่นาพรุใหญ่ หลังจากนั้นก็จะมี ต๊ะนาชูมาจากเมืองละงู จ.สตูล ชักชวนกันมาทั้งหมด 5 คน โต๊ะนาสู โต๊ะหม้าย โต๊ะอี โต๊ะดำชาย โต๊ะฝ้า ซึ่งพบว่ามี 4 ตระกูลที่เข้ามาอยู่ในกำพวน ตระกูลสาลี ตระกูลมาโนชน์ ตระกูลถลาง และตระกูลช่วยชาติ เป็นต้น ต่อมาได้มีการแบ่งขายที่นา

ปัจจุบันเจ้าของพื้นที่นาพรุใหญ่มีประมาณ 150 ราย เมื่อมีคนเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นก็ได้มีการทำนาขยายพื้นที่นาพรุใหญ่เพิ่มขึ้น จากเริ่มแรกพื้นที่นาพรุใหญ่แห่งนี้จะเป็นป่ารก มีร่องคลองที่มีน้ำลึกมาก ก่อนที่จะทำนาได้นั้นต้องมีการขุดดินจากบนเขามาถมคลองที่ลึกในสมัยก่อนการขนดินก็ลำบาก ต้องมีการทำเรือเพื่อใช้เป็นพาหนะบรรทุกดินมาถมในร่องคลอง การถมดินต้องขุดดินใส่เรือมาเทใส่ในคลองเพื่อถมให้ตื้นเขิน เมื่อร่องคลองตื้นก็สามารถสร้างเป็นคันนาได้ จากนั้นก็ได้มีคนเข้ามาบุกเบิกการทำนาเพิ่มมากขึ้น

ในอดีตมีเจ้าของนาแต่ 10 คน จนมาถึงปัจจุบันมีเจ้าของประมาณ 150 คน ปัจจุบันได้มีการพลิกฟื้นผืนนาพรุใหญ่จากที่ทิ้งร้างก็มีการทำขึ้นมาใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 98 ไร่ สาเหตุที่ทิ้งให้รกร้าง คือในช่วงปี พ.ศ.2535 นายทุนเข้ามาซื้อพื้นที่นาจากชาวนาเพื่อที่จะทำนากุ้ง ประกอบกับชาวนาเจอกับปัญหาหอยเชอรี่ระบาดหนัก กัดกินต้นข้าวของชาวนาที่ปลูกไว้จนหมด ชาวนาพยายามเก็บหอยเชอรี่ แต่จำนวนหอยเชอรี่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ชาวนาเริ่มท้อแท้และชาวนายังต้องเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมนาข้าว ซึ่งน้ำที่ไหลมาจากทางทิศเหนือของนาพรุใหญ่ ไหลผ่านที่ทิ้งขยะของหมู่บ้าน ไหลเข้ามาในคันนาของชาวบ้าน ทำให้ชาวนาเริ่มประสบปัญหาเกิดอาการคัน เป็นผดผื่นแคงตามผิวหนัง เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้ชาวนาเกิดความวิตกกังวล กลัวเป็นโรคผิวหนัง จึงทำให้ชาวนาเริ่มขายที่นาและเริ่มหยุดการทำนาไปทีละราย ในที่สุดนาพรุใหญ่ก็ถูกปล่อยให้เป็นนาข้าวร้างมาตั้งแต่ปี 2538 จากพื้นที่นาร้างค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยสวนปาล์มน้ำมันมากขึ้น เมื่อชาวบ้านประสบปัญหามากขึ้นจึงมีการพูดคุยกัน และได้มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรฟื้นฟูนาข้าว (นาพรุใหญ่) ตำบลกำพวนมาจนถึงปัจจุบันนี้ (เสาย๊ะ คงยศ และคณะ, 2559: 1-2)

ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thairicedb.com/

เสาย๊ะ ดงยศ และคณะ. (2559). โครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วยภูมิปัญญาชาวนาพรุใหญ่เพื่อการฟื้นฟูการทำนา กรณีศึกษา: นาพรุใหญ่ หมู่ที่ 4 บ้านภูเขาทอง ตำบลกำพวน อำเภอสุขราญ จังหวัดระนอง.  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

องค์ความรู้เรื่องข้าว. (ม.ป.ป.). ข้าวเล็บมือนาง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ricethailand.go.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

เทศบาลตำบลกำพวน โทร. 0-7781-0628