เกาะขนาดเล็กที่ตั้งตระหง่านท่ามกลางหมู่เกาะน้อยใหญ่ในเขตทะเลอันดามัน ในเขตพรมแดนน่านน้ำราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ผู้ที่เข้ามาบุกเบิกสร้างที่อยู่อาศัยบนเกาะแห่งนี้คนแรกคือชาวประมงนามว่า “โต๊ะครุต” (โต๊ะ หมายถึง ปู่หรือตา) ต่อมาโต๊ะครุตได้เสียชีวิตที่เกาะแห่งนี้ ผู้ที่อาศัยบนเกาะจึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า “เกาะตาครุต” ตามชื่อของโต๊ะครุต
เกาะขนาดเล็กที่ตั้งตระหง่านท่ามกลางหมู่เกาะน้อยใหญ่ในเขตทะเลอันดามัน ในเขตพรมแดนน่านน้ำราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
เกาะตาครุต เป็นเกาะลูกของเกาะสินไห เป็นเกาะขนาดเล็กขนาดพื้นที่ประมาณ 750 ไร่ ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามันติดต่อกับเขตน่านน้ำสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับที่มาของชื่อเกาะตราครุตนั้น มีเรื่องเล่าว่ามีชาวประมงชื่อว่า โต๊ะครุต (โต๊ะ หมายถึงปู่หรือตา) เป็นผู้ที่เข้ามาบุกเบิกเกาะนี้ โดยเข้ามาอาศัยประกอบอาชีพทำสวนมะม่วงหิมพานต์และสวนสะตอ ต่อมาโต๊ะครุตได้เสียชีวิตที่เกาะแห่งนี้ผู้ ที่อาศัยบนเกาะต่อมาจึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า “เกาะตาครุต” ตามชื่อของโต๊ะครุต เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้ที่เข้ามาบุกเบิกและอยู่อาศัยเป็นคนแรกของเกาะแห่งนี้
ปัจจุบันประชากรที่อาศัยอยู่บนเกาะตาครุตเดิมอพยพมาจากประเทศพม่าเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว แต่แม้ว่าจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายสิบปี ทว่าปัจจุบันคนกลุ่มนี้กลับยังคงไร้ซึ่งสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลขที่บ้าน ไม่มีแม้กระทั่งงบประมาณเข้ามาดูแล มีแต่เพียงโรงเรียนที่ไร้ซึ่งครูผู้สอน หากเด็กจากครอบครัวใดต้องการเข้ารับการศึกษาก็ต้องเดินทางไปเรียนโรงเรียนบนเกาะสินไห ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าอนาคตของเหล่าเยาวชนในอีก 10 หรือ 20 ปีต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรหากปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาภายในเกาะยังคงเป็นเช่นนี้อยู่
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน เกาะสน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน เกาะช้างเกาะไร่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน เกาะหม้อ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน เกาะสินไห
ลักษณะภูมิประเทศ
เกาะตาครุต ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองระนองห่างจากเมืองระนองประมาณ 10 กิโลเมตร ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นเกาะ ทั้งยังถูกล้อมรอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากมาย การตั้งบ้านเรือนของประชากรภายในเกาะส่วนใหญ่นิยมปลูกบ้านที่บริเวณริมหาด ซึ่งมีลักษณะเป็นเวิ้งหรืออ่าว โดยบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นเรือนยกพื้นใต้ถุนสูง
การคมนาคม
การเดินทางของชาวบ้านจากเกาะตาครุตมายังชายฝั่งระนองสามารถทำได้โดยการเดินทางด้วยเรือหางยาวจากเกาะตาครุตถึงท่าเรือปากน้ำ เนื่องจากไม่มีเรือโดยสารประจำสถานี การเดินทางแต่ละครั้งใช้เวลาการเดินทางประมาณ 30-35 นาที
สถานที่สำคัญบนเกาะตราครุต
- มัสยิดประจำหมู่บ้าน
- ลานจอดเฮลิคอปเตอร์
- โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
- สนามตะกร้อประจำหมู่บ้าน
เกาะตาครุตมีประชากรทิ้งสิ้น 178 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 90 คน และประชากรหญิง 88 คน จำนวนครัวเรือน 48 ครัวเรือน แต่ที่ยังคงอาศัยอยู่บนเกาะจริงมีเพียง 43 ครัวเรือนเท่านั้น (สมาน มณีจันทร์สุข และคณะ, 2561: 37)
ประชากรส่วนใหญ่บนเกาะตาครุตประกอบอาชีพหลัก คือ การทำประมง เช่น อวนปู อวนปลา อวนกุ้ง ตกปลาทราย ตกหมึก เป็นต้น ซึ่งผลผลิตจากการทำประมงที่น่าสนใจของเกาะตาครุต ได้แก่ ปู และปลาทราย เนื่องจากปูและปลาทรายที่มาจากเกาะตาครุตนั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่น คือจะมีความสดและตัวใหญ่กว่าแหล่งอื่น ๆ ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยเกาะตาครุตมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลของประเทศพม่าซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้สัตว์น้ำที่มาจากเกาะตาครุตมีความโดดเด่นและได้รับความนิยมจากผู้ชื่นชอบการบริโภคอาหารทะเลเป็นอย่างมาก ซึ่งการทำประมงของชาวประมงบนเกาะตาครุตนั้นสามารถทำได้ตลอดทั้งปี มีเพียงช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนเท่านั้นที่จำนวนทรัพยากรทางทะเลบนเกาะตาครุตจะลดน้อยลงกว่าเดือนอื่น ๆ ในช่วงนี้บางครอบครัวจึงต้องเว้นจากการทำประมงแล้วปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพรับจ้างบนฝั่งเพื่อหารายได้มาทดแทนรายได้จากการทำประมงที่ต้องสูญเสียไปในช่วง 2-3 เดือนนี้ และเมื่อถึงเดือนกรกฎาคมก็จะสามารถกลับมาทำประมงได้ตามปกติ โดยรายได้จากการทำประมงบนเกาะตาครุตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000/เดือน/คน
ทรัพยากรสัตว์น้ำ แหล่งอาศัย และราคาการจำหน่าย
ชนิด/ประเภท | แหล่งอาศัย | ช่วงเวลาจับ | ราคาจำหน่าย |
กะเบน | หลังเกาะตาครุต และเกาะหม้อ | ทั้งปี | 20 บาท/กก. |
ฉลามหนู | เกาะหลาม | ทั้งปี | 20 บาท/กก. |
ปลาใบไม้ | หลังเกาะสินไห | ทั้งปี | 8 บาท/กก. |
ปลาลิ้นหมา | หลังเกาะสินไหและดอนทราย | ทั้งปี | 20 บาท/กก. |
ปูม้า | เกาะหลาม | ทั้งปี | 250-300 บาท/กก. |
ปูแดง | เกาะหลาม | ทั้งปี | 30-50 บาท/กก. |
ปูหิน | เกาะหลาม | ทั้งปี | 20 บาท/กก. |
ปูดาว | เกาะหลาม | ทั้งปี | 20 บาท/กก. |
ปูเสือ | เกาะหลาม | ทั้งปี | 250 บาท/กก. |
กุ้งมังกร | เกาะหม้อและเกาะหลาย | มกราคม-กุมภาพันธ์ | 1,500 บาท/กก. |
กั้ง | เกาะหม้อและเกาะหลาย | สิงหาคม-มกราคม | 1,300 บาท/กก. |
แมงกะพรุน | เกาะหม้อและเกาะหลาย | พฤศจิกายน-ธันวาคม | 3-5 บาท/ตัว |
แมงดา | เกาะเหลา และหน้าเกาะทรายดำ | พฤศจิกายน-ธันวาคม | 90-100 บาท/ตัว |
หมึกหลอด | เกาะหลาว และหลังเกาะสินไห | พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ | 90-120 บาท/กก. |
หอยชักตีน | เกาะหลาว เกาะพยาม เกาะสินไห และเกาะทรายดำ | น้ำ 13-5 ค่ำ | 80 บาท/กก. |
หอยโข่ง | โหนทราย เกาะหลาม และเกาะสินไห | ช่วงน้ำตาย ติดมาพร้อมอวนปู | 10-20 บาท/กก. |
ชุมชนเกาะตาครุตเป็นพื้นที่ประชากรมีวิถีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ประชากรทั้งหมดบนเกาะนับถือศาสนาอิสลาม ส่งผลให้เกาะตาครุตมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบทอดตามหลักศาสนาอิสลาม รวมถึงประเพณีของชาวเกาะตาครุตจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามเป็นสําคัญ เช่น วันรอมฎอน คือ การถือศีลอดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม และวันฮารีรายอ คือ วันออกบวช เพื่อไปเยี่ยมเยือนพ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น
วันรอมฎอน
วันรอมฎอน หรือสะกด “รอมะฎอน” หรือวันถือศีลอด คือ เดือนที่ 9 ตามปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์ในศาสนาอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เดือนบวช” และถือว่าเป็นเดือนที่สําคัญที่สุดเดือนหนึ่ง ชาวมุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้เข้าถึงอัลลอฮ์และเพื่อให้มีความอดทน (บำเพ็ญตบะ) และเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ระลึกถึงภาวะขาดแคลนอาหาร สัมผัสถึงความรู้สึกยากลำบากของผู้ยากไร้ และไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น อนึ่ง ในเดือนแห่งการถือศีลอดนี้ ยังเป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนําให้กับมนุษย์ ซึ่งมีข้อปฏิบัติทางศาสนาว่าชาวมุสลิมทุกคนต้องอ่านอัลกุรอานเพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องปฏิบัติเพื่อตนเองอย่างไรบ้าง
วันฮารีรายอ
วันฮารีรายอ (ตามภาษามุสลิมปัตตานี) หรือวันฮารีรายา (ภาษามาลายูกลาง) เป็นวันรื่นเริงของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งในหนึ่งปี ชาวมุสลิมมีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง คือ อีดิลฟิตรี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเชาวาล ตรงกับเดือน 10 ตามปฏิทินอิสลาม คือ วันออกบวช และอีดิลอัฎฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะ หรือตรงกับเดือน 12 ตามปฏิทินอิสลามซึ่งถือเป็นการฉลองวันออกฮัจญ์ ในวันดังกล่าวชาวมุสลิมจะไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่อขออภัยต่อกันในสิ่งที่ผ่านมา โดยในวันอีดีลฟิตรีมุสลิมทุกคนจะต้องจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ หรือที่เข้าใจโดยทั่วกันว่าคือการบริจาคทานแก่คนยากจนอนาถา ส่วนในวันอีดิลอัฎฮาจะมีการเชือดสัตว์ พลี และทํากุรบัน แจกจ่ายเนื้อเพื่อเป็นทานแก่ญาติมิตร สัตว์ที่ใช้ในการทำกุรบันนี้ ได้แก่ อูฐ วัว และแพะ โดยมีนัยเพื่อถือเป็นการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้เป็นผู้รู้จักบริจาค เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ในวันฮารีรายอ ชาวมุสลิม จะเดินทางกลับภูมิลําเนาของตนเพื่อมาร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน นับเป็นโอกาสอันดีที่เหล่าชาวมุสลิมจะได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้อง เพื่อจะได้ขออภัยต่อกัน สําหรับพิธีกรรมในวันดังกล่าวชาวมุสลิมจะตื่นนอนแต่เช้าตรู่ โดยเฉพาะผู้หญิง จะตกแต่งบ้านเรือนให้สะอาดสวยงามเป็นพิเศษ จัดเตรียมอาหาร ขนมต่างๆ ไว้ต้อนรับเพื่อน ญาติพี่น้อง และแขกที่จะเข้ามาเยือนพบปะกันในวันนี้
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ
เกาะตาครุตเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ บริบูรณ์พร้อมด้วยสัตว์น้ำหลากชนิด และป่าไม้นานพันธุ์ อีกทั้งยังถูกล้อมรอบด้วยเกาะน้อยใหม่ในกลุ่มหมู่เกาะสินไห เกาะแม่ขอเกาะตาครุต ซึ่งชาวเกาะตาครุตได้รับรู้ถึงต้นทุนทางทรัพยากรที่ตนถือครองอยู่ในมือ จึงได้มีความพยายามผลักดันเกาะตาครุตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นชาวประมงพื้นบ้านของประชากรเกาะตาครุต ออกสู่สายตานักท่องเที่ยว นัยหนึ่งก็เพื่อหาอาชีพอื่นมารองรับปัญหาความลดน้อยลงของรายได้จากภาคการประมงอันสืบเนื่องมาจากความถดถอยของทรัพยากรทางทะเล และจำนวนชาวประมงที่มากกว่าจำนวนสัตว์น้ำ และนัยที่สองก็เพื่อประชาสัมพันธ์เกาะตาครุตให้เป็นที่รู้จึง ด้วยคาดหวังอยู่ลึก ๆ ว่าหากเกาะตาครุตเป็นที่รู้จัก และภาครัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ รับรู้ถึงการมีอยู่และศักยภาพด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของเกาะตาครุต จะสามารถนำมาซึ่งปัจจัยและสวัสดิการพิ้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเกาะตาครุต รวมถึงการได้รับซึ่งสัญชาติที่จะนำพาชาวเกาะตาครุตให้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐที่พลเมืองมีสัญชาติทุกคนพึงได้รับ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายใต้ความถดถอยของทรัพยากรทางทะเลบนเกาะตาครุต
เกาะตาครุตเป็นหนึ่งพื้นที่ในแถบทะเลอันดามันที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 เครื่องมือทำมาหากิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านพังเสียหายจากพายุพัดกระหน่ำ ทรัพยากรทางทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดน้อยถอยลง การออกเรือหาปลาแต่ละครั้งก็ไม่คุ้มกับการลงทุน ชาวบ้านจากเดิมที่เคยประกอบอาชีพทำการประมงจึงต้องอพยพไปประกอบอาชีพรับจ้างบนชายฝั่งด้านตะวันออกของจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียง แต่หลัง พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ประชากรบนเกาะตาครุตที่ไปประกอบอาชีพรับจ้างยังนอกพื้นที่ก็ได้ทยอยเดินทางกลับมาประกอบอาชีพยังเกาะตาครุตอีกครั้ง เพราะสภาพพื้นที่และแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ได้ทยอยกลับคืนสู่สภาพปกติ ทำให้ประชากรบนเกาะตาครุตได้กลับมาอาศัยอยู่ที่เกาะและประกอบอาชีพการทำประมงอีกครั้ง ตลอดจนปัญหาอุปสรรคด้านเครื่องมืออุปกรณ์การทำอาชีพประมงที่เคยประสบก็ได้ได้รับการคลี่คลาย เพราะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในการให้การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การทำประมงดังกล่าว อีกทั้งจากการที่ประชากรบนเกาะไปประกอบอาชีพรับจ้างบนฝั่ง ทำให้สามารถเก็บหอมรอมริบเงินเพื่อมาเป็นทุนในการทำประมงและจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำประมงใหม่ได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติก็ย่อมต้องเปลี่ยนตาม ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลขอเกาะตาครุตไม่ได้อุดมสมบูรณ์ดังเช่นในอดีต ทำให้การประกอบอาชีพประมงไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบกำดังเดิม อีกทั้งจำนวนผู้ประกอบอาชีพประมงยังมากกว่าจำนวนสัตว์น้ำ และถึงแม้ว่าพื้นที่บางจุดจะมีทรัพยากรสัตว์น้ำชุกชุม ทว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในอาณาเขตน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความเข้มงวดเรื่องการจับสัตว์ทะเลที่จะต้องมีใบอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจึงจะสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ กอปรกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีสร้างความบีบคั้นต่อประชากรบนเกาะตาครุต ด้วยประชากรบนเกาะแต่ละครอบครัวมีจำนวนบุตรหลานค่อนข้างมาก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนสูงตามไปด้วย ซึ่งหากจะหวังพึ่งพิงเพียงรายได้ที่มาจากการทำประมงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ชาวบ้านบนเกาะตาครุตจึงได้มีความพยายามที่จะผลักดันสภาพพื้นที่ของเกาะอันเป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เสริมจากภาคการท่องเที่ยวแก่ประชากรบนเกาะตาครุต ซึ่งปัจจุบันนี้พบว่ามีประชากรบนเกาะตาครุตบางส่วนที่ได้เริ่มดำเนินการจัดการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการทำประมงบ้างแล้ว เช่น การเป็นไกด์นำนักท่องเที่ยวเที่ยวชมและตกปลาในทะเล บริเวณเกาะแก่งต่าง ๆ ในพื้นที่ เป็นที่น่าสนใจว่าหากในอนาคตธุรกิจการท่องเที่ยวบนเกาะตาครุตมีโอกาสได้รับแรงสนับสนุนและแรงผลักดันจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่ดี ธุรกิจการท่องเที่ยวอาจกลายเป็นอาชีพหลักที่สามารถสร้างรายได้มั่นคงให้แก่ชาวบ้านบนเกาะตาครุตได้ แม้ว่าทรัพยากรทางทะเลจะลดน้อยถอยลง แต่ชาวเกาะตาครุตก็ยังคงสามารถสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัว ทั้งยังช่วยลดอัตราการเคลื่อนย้ายของประชากรไปขายแรงงานบนชายฝั่งต่างพื้นที่ และต่างจังหวัดได้ในอนาคต
เกาะตาครุต กับคุณภาพชีวิตประชาชนที่ถูกละเลย
จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลไทยต้องเสียดินแดนเมืองมะริดและเมืองมะลิวัลย์แก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2442 และต่อมาอังกฤษได้ยกเมืองมะริดให้พม่าปกครอง ทำให้ประชาชนที่ตกค้างอยู่ที่เมืองมะริดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต้องหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย โดยเข้ามาพักอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องฝั่งไทยในจังหวัดระนอง (บริเวณเกาะสินไหและเกาะลูกของเกาะสินไห ซึ่งหมายรวมถึงเกาะตาครุตด้วย) และไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนที่บอกสัญชาติได้ว่าเป็นคนไทยหรือคนพม่า เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เมื่ออยู่ฝั่งพม่า พม่าก็ถือว่าเป็นคนไทยจึงไม่ให้บัตรประชาชนพม่า เมื่อเข้ามาอยู่ฝั่งไทยก็ว่าเป็นคนพม่า จึงไม่ให้บัตรประชาชนไทย (สมาน มณีจันทร์สุข และคณะ, 2561: 69-70) เช่นเดียวกับชาวบ้านบนเกาะตาครุตที่ก็ได้รับผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพิสูจน์สิทธิเพื่อดำเนินการออกบัตรประชาชนให้กับชาวบ้านบนเกาะตาครุตแล้ว ทว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ชาวบ้านจำนวนมากยังคงไม่ได้รับบัตรประชาชน ยังคงไร้ซึ่งสัญชาติ ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ ที่รัฐพึงมอบให้กับพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สิทธิการรักษาพยาบาล รวมถึงการดำเนินการเรื่องสิทธิ หรือกรรมสิทธิต่าง ๆ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่เกาะตาครุตถูกละเลยและไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเท่าที่ควร
ปัจจุบันเด็กนักเรียนบนเกาะตาครุตจะนั่งเรือไปเรียนที่โรงเรียนเกาะสินไห ซึ่งเป็นเกาะใหญ่หรือเกาะแม่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะตาครุต โดยจะมีเรือรอรับ-ส่งวันละ 1 ลำ ใช้เวลาแล่นเรือไปยังโรงเรียนประมาณ 15 นาที แต่ในช่วงมรสุมจะมีความยากลําบากมาก กระทั่งบางครั้งพ่อแม่ก็จะไม่ให้ลูกๆ ไปโรงเรียน เนื่องจากกลัวว่าลูก ๆ จะพบเจอกับอันตราย ในอดีตบนเกาะตาครุตมีโรงเรียนโล่ง ซึ่งป็นโรงเรียนที่ไอทีวีเคยไปสร้างไว้ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 แต่เนื่องจากไม่มีครูสอนประจำ มีเพียงครู ตชด. ที่ตั้งฐานเฝ้าระวังอยู่บนเกาะมาสลับกันทำหน้าที่สอนหนังสือ แต่สอนได้เพียงระยะหนึ่งเหล่าเด็ก ๆ ก็เริ่มไม่มาเรียน และโรงเรียนก็ต้องถูกปล่อยทิ้งร้างไปในที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันบนเกาะตาครุตมีอัตราเด็กแรกเกิดจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประชากรบนเกาะตาครุตไม่มีการคุมกำเนิดเพราะผิดหลักศาสนา อีกทั้งเด็กที่เกิดมายังกลายเป็นพลเมืองไร้สัญชาติ ขาดการศึกษา เข้าไม่ถึงทุกสวัสดิการหรือปัจจัยพื้นฐานที่พลเมืองพึงได้รับ ด้วยสาเหตุนี้จึงน่าเป็นห่วงว่าในอนาคตภายภาคหน้าเยาวชนบนเกาะตาครุตจะเติบโตขึ้นมาอย่างไรภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไร้ซึ่งปัจจัยและสวัสดิการพื้นฐานจากภาครัฐ รวมถึงการศึกษาที่เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก
หมู่เกาะระนอง
ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหาร. (ม.ป.ป.). ปลาทรายแดงใหญ่. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.foodnetworksolution.com/
สมาน มณีจันทร์สุข และคณะ. (2561). โครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาอาชีพทางเลือกที่เหมาะสม และมีความยั่งยืนของชุมชนชายขอบบริเวณชายแดนไทย และ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ชุมชนเกาะตาครุต หมู่ที่ 4 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
สำนักอุทยานแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566, จาก https://portal.dnp.go.th/