เกาะเหลาหน้านอก ชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวมอแกน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ชื่อว่ารักสันโดษเหนือสิ่งอื่นใดด้วยวิถีชีวิตที่ร่อนเร่ในอดีต อีกทั้งยังเป็นชุมชนแหล่งผลิตกะปิเกาะเหลา สุดยอดแห่งกะปิเมืองระนอง ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดระนอง
เกาะเหลาหน้านอก ชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวมอแกน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ชื่อว่ารักสันโดษเหนือสิ่งอื่นใดด้วยวิถีชีวิตที่ร่อนเร่ในอดีต อีกทั้งยังเป็นชุมชนแหล่งผลิตกะปิเกาะเหลา สุดยอดแห่งกะปิเมืองระนอง ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดระนอง
เกาะเหลา เป็นเกาะขนาดเล็กในอาณาเขตท้องทะเลอันดามัน ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ห่างจากผืนแผ่นดินใหญ่ฝั่งระนองประมาณ 10 กิโลเมตร ชนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่คือ กลุ่มชาวไทยมุสลิม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ฝั่งเกาะเหลาหน้าในก่อนเคลื่อนย้ายมายังฝั่งเกาะเหลาหน้านอก คาดว่าน่าจะเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ก่อนที่จะย้ายมายังเกาะเหลาหน้านอกนั้น การดำรงชีวิตอยู่ของคนเกาะเหลาหน้าในมีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ฝั่งเกาะเหลาหน้านอกที่เป็นเพียงแหล่งพักพิงชั่วคราวช่วงฤดูมรสุมของกลุ่มคนเดินทะเล หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มชาติพันธุ์มอแกน กลุ่มชาวเลที่หากินอยู่กับท้องทะเล และมีการอพยพโยกย้ายไปตามแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์โดยใช้เรือเป็นยานพาหนะ พอถึงช่วงฤดูมรสุมได้มีการหยุดพักตามเกาะแก่งต่าง ๆ เพื่อหลบมรสุม โดยชาวมอแกนที่เกาะเหลาหน้านอกนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จากการชักชวนของสิบตำรวจโททวี รอดไพฑูรย์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม จึงมีอำนาจเต็มในการจัดสรรที่ดินบางส่วนให้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สาเหตุที่สิบตำรวจโทวี รอดไพฑูรย์ ชักชวนชาวมอแกนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ด้วยกันนั้น เป็นเหตุมาจากความสัมพันธ์อันดีของจ่าทวีกับชาวมอแกนระหว่างอาศัยอยู่ที่เกาะช้าง ชาวมอแกนกลุ่มนี้คาดว่ามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในฝั่งประเทศพม่า เช่น เกาะดุง เกาะสินตง เกาะแหลมสระ เกาะย่านเชือก เป็นต้น โดยการอพยพเข้ามาอยู่ในอาณาเขตรัฐไทยทั้งในเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยามนั้นเนื่องมาจากการตั้งถิ่นฐานของชาวมอแกนที่อยู่บริเวณพรมแดนระหว่าง จังหวัดระนองของประเทศไทยกับชายแดนประเทศพม่า ทำให้มีการไปมาหาสู่กันระหว่างได้ง่ายตั้งแต่ก่อนจะมีการขีดเส้นพรมแดนสมมติขึ้นทางทะเล และแบ่งอาณาเขตรัฐไทยกับพม่าในช่วงล่าอาณานิคม ทำให้กลุ่มชาวมอแกนที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกัน หรือมีการติดต่อสัมพันธ์กันถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามแนวเส้นแบ่งเขตแดนรัฐชาติ คือ ชาวมอแกนไทยและมอแกนพม่า มาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศและอาณาเขตที่ตั้ง
เกาะเหลาตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง อยู่ในการปกครองของสำนักงานเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ โดยพื้นที่การปกครองของเกาะเหลานี้ครอบคลุมถึงพื้นที่ของเกาะกำ เนื่องจากเกาะกำตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำเช่นเดียวกับเกาะเหลา
เกาะเหลาหน้านอก มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเลน ผืนดินบนฝั่งเป็นดินทราย ซึ่งมีพื้นที่ราบไม่กว้างขวางมากนัก เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ส่วนบริเวณหน้าหาดที่ทอดตัวเป็นแนวยาวในช่วงน้ำลงนั้นมีลักษณะเป็นหาดดินโคลน มีการกล่าวกันว่าถ้าน้ำลงมากจะสามารถเดินลัดเลาะผ่านป่าชายเลนมาถึงฝั่งระนองได้ ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติพืชพรรณต่าง ๆ บนเกาะเหลายังนับว่ามีความบริบูรณ์ดี แม้ว่าจะมีการอพยพเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินแล้วก็ตาม เนื่องจากพื้นที่บริเวณชายฝั่งเกาะเหลาที่มีลักษณะเป็นป่าชายเลนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย ทางด้านอาณาเขตติดต่อของเกาะเหลานั้นอาจไม่ชัดเจนมาก แต่สามารถสรุปได้ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เกาะกำ จังหวัดระนอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชายฝั่งอำเภอเมือง จังหวัดระนอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เกาะหม้อ จังหวัดระนอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เกาะหาดทรายขาว จังหวัดระนอง
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของพื้นที่เกาะเหลาไม่ได้แตกต่างจากลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดระนองมากนัก โดยเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฤดู ซึ่งมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวมอแกนเป็นอย่างมาก โดยลมมรสุมที่พัดผ่านพื้นที่เกาะเกลา คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดปกคลุมประเทศไทยระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงในซีกโลกบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งพัดออกจากศูนย์กลางเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อพัดข้ามเส้นศูนย์สูตร มรสุมนี้จะนำมวลอากาศขึ้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทยทำให้มีเมฆมากและฝนตกทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดระนอง และเทือกเขาด้านที่ได้รับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น
ในส่วนของพายุเขตร้อนที่มีผลกระทบต่อลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดระนองก็มีอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและทะเลจีนใต้ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างบริเวณแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้ง 2 ด้าน ด้านตะวันออก คือ มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลใต้ ส่วนด้านตะวันตก คือ อ่าวเบ่งกอลและ ทะเลอันดามัน โดยพายุมีโอกาสเคลื่อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนได้เข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออกมากกว่าตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดระนอง เป็นแนวที่พายุมี โอกาสเคลื่อนผ่านจากตะวันออกสู่ทะเลอันดามันหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 พายุหมุนได้เคลื่อนผ่านแต่ขนาดและความเร็วลดลงไปมากจึงทำให้ได้รับความเสียหายหรือมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย
พื้นที่เกาะเหลามีการแบ่งฤดูกาลเช่นเดียวกับจังหวัดระนอง คือ มี 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูฝน
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใด้พัดปกคลุมทำให้อากาศร้อน โดยทั่วไปอากาศจะร้อนที่สุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก
- ฤดูฝน แบ่งออกเป็น 2 ช่วงตามลักษณะของลมมรสุมที่พัดผ่านดังนี้
ช่วงที่ 1 เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำจะพัดผ่านภาคใต้เป็นระยะ ๆ ทำให้มีฝนตกมากตลอดฤดู โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม จะมีฝนตกชุกที่สุดในรอบปี
ช่วงที่ 2 เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดระนองอยู่ใกล้ทะเล อุณหภูมิจึงลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศไม่สู้จะหนาวเย็นมากนัก และตามชายฝั่งจะมีฝนตกทั่วไปแต่มีปริมาณไม่มากนัก
ในพื้นที่เกาะเหลามีประชากรอาศัยอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือ เกาะเหลาหน้าในและเกาะเหลาหน้านอก แต่เป็นคนละกลุ่มชนกัน โดยเกาะเหลาหน้าในจะเป็นคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน เชื้อชาติไทย และสัญชาติไทยถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวนประชากรรวมประมาณ 300 คน 70 หลังคาเรือน ส่วนเกาะเหลาหน้านอกจะเป็นบริเวณที่กลุ่มชนชาวมอแกนอาศัยอยู่มีทั้งหมด 50 หลังคาเรือน จำนวน 254 ครัวเรือน
มอแกนประชาชนชาวเกาะเหลาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการประมง ซึ่งมีลักษณะเป็นประมงแบบชายฝั่ง เช่น การวางอวนปู ตกปลา และหากุ้งที่ใช้ทำกะปิหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กุ้งเคย” พื้นที่เกาะเหลาเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตกะปิของจังหวัดระนองจนมีชื่อเสียงและกลายเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดระนอง นอกจากการหาสัตว์น้ำทะเลตามธรรมชาติแล้ว ยังมีการเลี้ยงปลาในกระชัง เช่น ปลากะพง ปลาเก๋า ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องแก่คนในชุมชน แต่ภายหลังเหตุการณ์สึนามิซึ่งมีผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นอย่างมาก สร้างความเสียหายจนขาดทุนอย่างมหาศาล บางคนจึงต้องเลิกประกอบกิจการไป
การหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวหาใช่เป็นเพียงหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น แต่หญิงชาวมอแกนจะหารายได้เสริมด้วยการหาหอยติบหรือหอยเจาะ ซึ่งเป็นหอยที่อยู่ตามโขดหิน รากไม้ต่าง ๆ โดยจะแกะเนื้อหอยไปขายตามท้องตลาดในตัวเมืองระนอง และแบ่งบางส่วนเอาไว้รับประทานเองด้วย รายได้จากการแกะเนื้อหอยขายแม้จะไม่ได้มากมาย ทว่า ก็สามารถลดภาระทางการเงินที่ต้องฝากความหวังไว้กับสามีเพียงฝ่ายเดียว
การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ
ชาวมอแกนเกาะเหลาหน้านอก มีพิธีกรรมตามความเชื่อที่สำคัญ คือ การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ จัดขึ้นในเดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ชาวมอแกนจากที่ต่าง ๆ จะมารวมกันเพื่อเซ่นบวงสรวงบูชาวิญญาณให้ปกป้องคุ้มครองตน ในช่วงวันประกอบพิธีกรรมชาวมอแกนจะหยุดพักจากภารกิจทุกอย่าง เพื่อทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในพิธีกรรม ในการฉลองเสาวิญญาณนี้จะมีพิธีกรรมย่อย ๆ คือ การเข้าทรง เสี่ยงทาย เซ่นไหว้วิญญาณ และการเล่นดนตรีร้องรำทำเพลง บางครั้งจะมีการลอยก่าบางจำลอง ซึ่งถือเป็นการลอยความทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บให้พ้นจากครอบครัวและชุมชน
พิธีฉลองเสาหล่อโบง
เสาหล่อโบง ตามคติความเชื่อถือเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ ชาวมอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกในอดีตมีการปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด โดยจะเดินทางไปร่วมทำพิธีกับกลุ่มชาวมอแกนที่จังหวัดพังงา แต่ปัจจุบันการเดินทางไปร่วมพิธีฉลองเสาหล่อโบงที่จังหวัดพังงาทิ้งช่วง 2 ปี หรือ 1 ปี จึงจะไปครั้งหนึ่ง ด้วยภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทางที่ค่อนข้างสูง กอปรกับชาวมอแกนเกาะเหลาส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนจากการนับถือผีมานับถือศาสนาหลัก จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้พิธีกรรมดั้งเดิมของชาวมอแกนลบเลือนหายไป
กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่ร่อนอยู่ในท้องทะเล ภาษาเขียนจึงไม่มีความจำเป็นมากนักในการติดต่อสื่อสาร
ภาษาพูดมีความจำเป็นมากกว่า การสื่อสารด้วยภาษาพูดสามารถแบ่งออกได้เป็น2 ลักษณะคือ การสื่อสารภายใน เป็นการสื่อสารกันระหว่างชาวมอแกนด้วยกันซึ่งยังคงใช้ภาษามอแกนเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงใช้ภาษามอแกนในการสื่อสารกันอยู่ ส่วนเด็ก ๆ มอแกนบางส่วนก็ยังคงใช้ภาษามอแกนในการสื่อสาร แต่บางส่วนเริ่มใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกันเอง
การสื่อสารภายนอก เป็นการสื่อสารกับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ชาวมอแกนด้วยกัน ชาวมอแกนเกาะเหลาจะใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร คือ ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนหรือวัยทำงานจนถึงวัยเด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียน จะพูดและสื่อสารกับคนภายนอก โดยใช้ภาษาไทย ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนบางคนพอจะพูดและฟังภาษาไทยได้บ้างเล็กน้อย แต่บางคนก็ไม่สามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้เลย
ส่วนภาษาเขียน ตามที่กล่าวไว้แล้วว่าเป็นกลุ่มชนที่มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน ทำให้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกถึงต้นกำเนิดของกลุ่มตนเองอย่างแน่ชัด แต่ในปัจจุบันกลุ่มชาวมอแกนเกาะเหลาบ้านเกาะเหลาหน้านอกโดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้เริ่มเรียนภาษาไทย มีการสอนให้พูดฟัง อ่าน และเขียนจากโรงเรียนบ้านเกาะเหลา ทำให้มอแกนมีภาษาเขียนที่เป็นภาษาไทยสำหรับใช้ในการสื่อสารกับภายนอก
มอแกนกับภาครัฐ
โดยปกติแล้วชาวมอแกนเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตค่อนข้างสันโดษ และหวาดกลัวอยู่เสมอเมื่อมีคนนอกเข้ามา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของทางภาครัฐ ด้วยเกรงว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะจับเพราะไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งเป็นผลต่อการให้ความคุ้มครองและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ชนกลุ่มชาติพันธุ์พึงจะได้รับจากทางภาครัฐ แต่ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจ หรือให้ความสำคัญมากนักกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอแกน กระทั่งบางหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีทางวัฒนธรรมของชาวมอแกนยังไม่ทราบว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดระนอง และบางหน่วยงานก็อ้างถึงข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือชนกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน
ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ เริ่มมีการเข้ามาขององค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เกาะเหลา ซึ่งการเข้ามาขององค์กรเอกชนในครั้งนี้ได้เป็นแรงกระตุ้นและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมอแกนแก่หน่วยงานภาครัฐมากขึ้น ทำให้ภาครัฐได้เข้ามาสนใจและมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น การไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล การเรียกร้องในเรื่องสัญชาติ เป็นต้น เป็นมูลเหตุให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมอแกนกับหน่วยงานภาครัฐจึงมีเพิ่มมากขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้ามาสร้างสำนึกด้านสิทธิ สร้างความมั่นใจในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ยังคงอยู่ในแนวดิ่งตามที่ชาวมอแกนคิดว่า “ภาครัฐคือเจ้านาย ส่วนตนนั้นคือผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม” ซึ่งหากพินิจจากคติดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชาวมอแกนในพื้นที่เกาะเหลามากยิ่งขึ้น ทว่า แนวความคิดนายบ่าวที่หยั่งรากลึกในคติคิดของชาวมอแกน ไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมอแกนกับภาครับไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
มอแกนกับการศึกษาและโรงเรียน
กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีแต่ภาษาพูดไว้สำหรับการสื่อสารเท่านั้น แต่เมื่อวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไป จากการเร่ร่อนสู่การตั้งถิ่นฐานที่ถาวรมากขึ้น เนื่องจากการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนเมือง ทำให้ชาวมอแกนจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาษาไทยทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน นอกจากการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว การเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนสามารถเรียนรู้ การฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ดียิ่งขึ้น
การเรียนหนังสือไทยในระบบโรงเรียนของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกมีมาเป็นระยะเวลาประมาณ 30-40 ปีแล้ว สังเกตได้จากการอ่านออกเขียนได้บ้างของคนในช่วงวัยทำงาน การเรียนหนังสือของชาวมอแกนในช่วงอายุวัยทำงานอยู่ในลักษณะของการเรียนเพื่อให้อ่านออก เขียนได้ โดยเฉพาะชื่อตนเอง ในปัจจุบันชาวมอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกได้ส่งลูกเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านเกาะเหลาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนระหว่างกลุ่มเด็กไทยกับเด็กชาวมอแกนตั้งแต่เริ่มแรกจาก โดยการแยกกันเรียนจนพัฒนาต่อมาถึงขั้นที่สามารถเรียนรวมกันได้ การเรียนรวมกันโดยปราศจากอคติทางชาติพันธุ์ ทำให้ความพร้อมในการเรียนรู้หนังสือไทยของเด็กชาวมอแกนมีมากขึ้น
ระดับของการเรียนรู้ของเด็กมอแกนเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กไทยแล้วถือว่ายังคงมีพัฒนาการที่ช้ากว่า อาจเนื่องจากเด็กมอแกนมาเข้าเรียนในช่วงวัยที่มากกว่าเกณฑ์อายุปกติ และการขาดเรียนบ่อยครั้งด้วยภาระหน้าที่ในการทำงาน เด็กมอแกนหลายคนรับจ้างออกเรือระเบิดปลาหรือต้องติดตามพ่อแม่ออกเรือ แต่ภายหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 การเข้ามาขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษา ทำให้เด็กชาวมอแกนเกาะเหลามีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทย คิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้ดีมากขึ้น ก่อนที่จะส่งต่อให้กับทางโรงเรียนบ้านเกาะเหลาเพื่อเข้าสู่การศึกษาในระบบ และในปีการศึกษา 2553 มีเด็กชาวมอแกนเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนสตรีระนอง ซึ่งถือเป็นเด็กมอแกนกลุ่มแรกของจังหวัดระนองที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และกลายเป็นแรงกระตุ้นให้กับเด็กมอแกนอีกหลายคน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ชาวมอแกน ทำให้ผู้ปกครองชาวมอแกนหลายคนมองการศึกษาว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้น ต้องให้ลูกได้เรียนรู้โดยเฉพาะการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทย เพื่อจะได้ใช้ในการติดต่อสื่อสารและหางานทำที่ไม่ต้องเสี่ยงและลำบากเหมือนกับพวกตนเอง แสดงให้เห็นว่าชาวมอแกนให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาที่แฝงด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องทำให้มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนมอแกนบ้านเกาะเหลา โดยศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองระนองได้ เนื่องจากผู้ใหญ่ชาวมอแกนมีความต้องการและสนใจที่จะเรียนรู้หนังสือไทย รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยมากขึ้น เพื่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
กะปิเกาะเหลา ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งกะปิเมืองระนอง จุดเด่น คือ เป็นกะปิที่มีส่วนประกอบจากเคยแท้ ให้รสไม่เค็มมาก มีกลิ่นหอม คุณภาพดี สำหรับภูมิปัญญาการทำกะปิเกาะเหลานั้นมีมาช้านานแล้ว เนื่องจากที่นี่มีวัตถุดิบสำคัญในการทำกะปิ คือ “กุ้งเคย” แต่ปัจจุบันประสบปัญหาทรัพยากรเคยลดจำนวนลง จากเดิมที่เคยมีเคย กุ้ง หอย ปู ปลา หมึก อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเคยที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำกะปิ ทำให้อาชีพทำกะปิลดน้อยลงไปด้วย จากเดิมที่ประชาชนทั้งเกาะประกอบอาชีพทำกะปิ แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียง 10% เท่านั้น
ธีระศักดิ์ สุขสันติเสมอ. (2553). ผลกระทบของการพัฒนาภายหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 ต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน บ้านเกาะเหลาหน้านอก จังหวัดระนอง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Bangkokbiznews. (2558). ชาวมอแกน. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com
Eatchillwander. (2563). รีวิวทัวร์หมู่เกาะสุรินทร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.eatchillwander.com
Google Earth. (2565). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Mgronline. (2558). กะปิเกาะเหลา. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com
The EXIT Thai PBS. (2562). ‘มอแกนเกาะเหลา’ จ.ระนอง ในวันที่ไร้ลมหายใจของ ‘ผู้เฒ่าอันดามัน’. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/TheEXITThaiPBS/
Wihok. (ม.ป.ป.). เกาะเหลา จังหวัดระนอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://wihok.com/photos/