หมู่บ้านหาดทรายขาว เป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรทางทะเลที่หลากหลาย บริบูรณ์พร้อมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด อีกทั้งยังมีตลาดซื้อขายสัตว์ทะเลที่สำคัญ จนขึ้นชื่อว่าเป็น แพปลา แห่งหนึ่งของตำบลกำพวน
เดิมมีชื่อว่า บ้านทับโป๊ะ ต่อมามีการสร้างโรงเรียน บริเวณโรงเรียนมีทรายขาวอยู่จำนวนมาก จึงตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนทรายขาว เมื่อชาวบ้านแยกหมู่บ้านจึงใช้ชื่อว่า "บ้านหาดทรายขาว"
หมู่บ้านหาดทรายขาว เป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรทางทะเลที่หลากหลาย บริบูรณ์พร้อมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด อีกทั้งยังมีตลาดซื้อขายสัตว์ทะเลที่สำคัญ จนขึ้นชื่อว่าเป็น แพปลา แห่งหนึ่งของตำบลกำพวน
บ้านหาดทรายขาว เป็นชุมชนตั้งใหม่ที่แยกออกมาจากบ้านกำพวน หมู่ที่ 3 ตำบลกำพวน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัด เช่น กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี สงขลา เพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สาเหตุที่เรียกว่าหมู่บ้านทรายขาว เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นทรายที่มีสีขาวสะอาด จึงเรียกว่า “หาดทรายขาว”
แรกเริ่มประชากรที่เข้ามาอยู่อาศัยที่บ้านหาดทรายขาวแห่งนี้ประกอบอาชีพทำโป๊ะ แต่ในเวลาก็ต้องยกเลิกไป เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ทำให้ชาวบ้านยึดอาชีพประมงแบบอื่นเข้ามาแทน ชุมชนแห่งนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “แพปลา” เนื่องจากชาวบ้านในหมู่ที่ 7 บ้านหาดทรายขาว ส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับการทำประมง และมีพ่อค้าคนกลางทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นเข้ามารับซื้อสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ นับเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัตว์น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในตำบลกำพวน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองกำพวนหมู่ที่ 2 บ้านเหนือ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองกล้วยหมู่ที่ 4 บ้านภูเขาทอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองนาคาหมู่ที่ 3 บ้านกำพวน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ปากคลองหาดประพาสและหาดเกาะนุ้ย
ลักษณะทางกายภาพ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของบ้านหาดทรายขาว มีลักษณะเป็นที่ราบและมีป่าชายเลนปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ทั้งหมดอยู่ติดกับริมคลองและชายฝั่งทะเลอันดามัน สภาพดินโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นดินปนทรายน้ำเค็มอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทนแล้ง เช่น ต้นมะม่วงหิมพานต์ และต้นมะพร้าว เป็นต้น ส่วนบริเวณพื้นที่เชิงเขาจะเป็นดินร่วนปนทรายและบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสำหรับการเพาะปลูกจำพวกพืชสวน เช่น ต้นเงาะ ต้นมะม่วง และต้นกล้วย เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
บ้านหาดทรายขาวมีอากาศที่อบอุ่นเย็นสบายไม่ร้อนและไม่หนาวมากเช่นเดียวกับเมืองชายทะเลทั่วไป แต่ในช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกชุกเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ โดยในหนึ่งปีสามารถจำแนกฤดูกาลได้ 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน : ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
- ฤดูฝน : ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
- ฤดูหนาว : ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม
เส้นทางคมนาคม
เส้นทางคมนาคมติดต่อบ้านหาดทรายขาว ส่วนใหญ่จะเป็นถนนคอนกรีตและลูกรัง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร จำนวน 8 สาย การเดินทางของชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัวหรือจักรยานติดต่อกันภายในหมู่บ้าน และถ้าหากจะติดต่อภายนอกหมู่บ้านในระยะทางใกล้ ชาวบ้านจะใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัวและรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่ถ้าระยะทางไกลหรือต่างจังหวัดก็จะใช้รถยนต์ส่วนตัว และรถประจำทางในการเดินทาง
ทรัพยากรธรรมชาติ
- ป่า : สภาพพื้นที่ป่าชายเลนส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้นานาชนิดที่พบเห็นได้ เช่น ต้น โกงกาง ต้นลำพูน ต้นแสม ต้นตะบูน ต้นจาก ต้นถั่วดำ ต้นถั่วขาว ต้นปอทะเล เป็นต้น
- แหล่งน้ำ : แหล่งน้ำทางธรรมชาติที่สำคัญของบ้านหาดทรายขาว คือ คลองกำพวน เป็นลำคลองที่มีต้นน้ำเกิดจากเขาพระหมีไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่บ้านหาดทรายขาว มีความยาวประมาณ 19 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ติดพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน นอกจากนี้ยังมีภูเขาเตี้ยและป่าไม้ แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงเป็นสวนผลไม้และยางพาราเป็นส่วนใหญ่
- สัตว์ : เช่น สัตว์จำพวกงูมีพิษและไม่มีพิษ อาทิ งูพังกา งูเห่า งูบ้องทอง งูสามเหลี่ยม งูเขียว และงูน้ำ สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิงพังกา แมวน้ำ สัตว์น้ำ เช่น ปลากระบอก ปลาหัวกัว ปลาตะปู ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาทราย ปลาทู ปลากระเบน ปลาไหลกุ้ง ปลาหมึก หอยแมลงภู่ ปูม้าและแมงดา เป็นต้น
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ในอดีตชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณฝั่งริมคลองกำพวน เนื่องจากมีความสะดวกในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ลักษณะของบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นห้องแถวให้เช่าและบ้านเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง โดยลักษณะทั่วไปของตัวบ้านจะสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยสังกะสีหรือตัดจาก มีบางส่วนที่ตัวบ้านเป็นกึ่งปูนกึ่งไม้ มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง แต่ภายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 บ้านหาดทรายขาวเป็นหนึ่งในหมู่บ้านของจังหวัดระนองที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณืดังกล่าวอย่างรุนแรง บ้านเรือนของชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงได้มีหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยเหลือบรรเทาภัยในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบ้านพังเสียหายทั้งหลังและเสียหายบางส่วน ดังนี้
- กองทัพอากาศ : สร้างบ้านเรือนจำนวน 50 หลัง หรือ "หมู่บ้านถาวร" เป็นบ้านเดี่ยวสองชั้น ลักษณะของตัวอาคารเป็นกึ่งปูนกึ่งไม้หรือแผ่นเรียบ หลังคามุงกระเบื้อง และมีเนื้อที่ใช้สอยเล็กน้อย
- มูลนิธิรักษ์ไทย : สร้างบ้านเรือนจำนวน 11 หลัง เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ลักษณะของตัวอาคารเป็นปูน หลังคามุงกระเบื้อง และมีระเบียง มีหน้าบ้านสำหรับใช้สอย
- สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย : สร้างบ้านเรือนจำนวน 14 หลัง เป็นบ้านแฝดชั้นเดี่ยว และห้องโล่งไว้ใช้สอย ลักษณะของตัวอาคารเป็นปูน หลังคามุงกระเบื้องและมีระเบียงหน้าบ้านสำหรับใช้สอย
บ้านหาดทรายขาวหมู่ที่ 7 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 609 คน เป็นชาย 319 คน หญิง 290 คน และมีจำนวนครัวเรือน 118 ครัวเรือน ลักษณะประชากรบ้านหาดทรายขาวพบว่า วัยที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด คือ วัยสูงอายุ ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป และยังพบว่าประชากรเพศชายมีมากกว่าจำนวนประชากรเพศหญิง ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนที่ย้ายจากถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัด เช่น กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา เพชรบุรี ราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และบางส่วนเป็นคนพื้นเพดั้งเดิม คือ บ้านกำพวน แต่มีเป็นจำนวนน้อย ส่วนโครงสร้างของครอบครัว โดยส่วนมากจะเป็นครอบครัวเดี่ยว คือ สมาชิกครอบครัวมีเพียงบิดา มารดา และบุตร หากสมาชิกคนใดมีครอบครัวก็แยกครอบครัวออกไป แต่จะสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันกับที่เดิมของตัวเอง
การประกอบอาชีพ
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมง เช่น อวนปู อวนปลา อวนกุ้ง การเลี้ยงปูดำ การจับสัตว์ทะเลตามบริเวณป่าชายเลน ชาวบ้านจะดำเนินชีวิตในการประมงอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งปี เพื่อนำมาจำหน่ายตามท้องตลาดหรือผ่านพ่อค้าคนกลางทั้งในหมู่บ้านหรือคนต่างถิ่นที่มารับซื้ออาหารทะเลที่แพปลา ในช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงพฤศจิกายน เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จะเป็นฤดูกาลจับแมงกะพรุน สำหรับสัตว์ทะเลบางส่วนที่ไม่ได้นำมาขายที่แพปลา ชาวบ้านจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาเค็ม ปลาแห้ง ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สัตว์ทะเลที่จับมาได้ ส่วนอาชีพเสริมของชาวบ้านในหมู่บ้านหาดทรายขาว คือ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย เสริมสวย ตัดผม รถจักรยานยนต์รับจ้าง ทำสวน และปศุสัตว์
ชาวบ้านหาดทรายขาวส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ย 36,648 บาทต่อรายปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง และส่วนหนึ่งมีฐานะยากจน อันเนื่องมาจากช่วงเหตุภัยธรณีพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อ พ.ศ. 2547 ส่งผลให้เครื่องมืออุปกรณ์ประมงได้รับผลกระทบและเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรือประมงและอวน จึงทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องมีการกู้ยืมเงินทั้งในระบบและนอกระบบจำนวนหนึ่งเพื่อลงทุนซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ประมงใช้ในการประกอบอาชีพ และบางคนประกอบอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงหรืออาชีพรับจ้าง อีกทั้งยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่ารายจ่าย เป็นเหตุให้ภายในบ้านหาดทรายขาวยังมีประชากรบางส่วนมีฐานะยากจน
องค์กรชุมชน
กลุ่มองค์กรชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นในบ้านหาดทรายขาวมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมโดยองค์กรพัฒนาภาครัฐ และกลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมองค์กรการพัฒนาเอกชนภาคเอกชน โดยจะกล่าวดังรายละเอียดต่อนี้
กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมโดยองค์กรพัฒนาภาครัฐ
กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมโดยองค์กรพัฒนาภาครัฐบ้านหาดทรายขาว คือ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจำนวน 10 ราย โดยจะมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน ณ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติหมู่ที่ 4 บ้านภูเขาทอง เพื่อให้สมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านรายงานความคืบหน้าในด้านการทำงานต่าง ๆ เช่น ความคืบหน้าการปฏิบัติงาน รายงานจำนวนประชากรที่มีการย้ายถิ่นฐานเข้าหรือออก การเกิด การตาย เป็นต้น กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง โดยมีสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติเป็นที่ปรึกษาและควบคุมดูแลการทำงานของกลุ่มอาสาสมัคร
กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมองค์กรการพัฒนาเอกชนภาคเอกชน
- มูลนิธิชาร์ม เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและการประมงไทยเพื่อมุ่งให้เกิดการใช้ประโยชน์จากแหล่งอาศัยและทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน
- กลุ่มซ่อมแซมเครื่องมือประมง ก่อตั้งขึ้นเพื่อการลงทุนงบประมาณการซ่อมแซมเครื่องมือประมงและส่งเสริมทางด้านอาชีพแก่ชาวบ้าน และกลุ่มหญิงหม้าย เป็นการสนับสนุนการพัฒนาอาชีพให้แก่สมาชิกในเครือโดยเน้นกระบวนการการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อที่จะให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
- กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนแก่สมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้บริหารจัดการการแปรรูปสัตว์น้ำบ้านหาดทรายขาว และเพื่อส่งเสริมและสร้างนิสัยการเสียสละ เอื้ออาทร เอื้อเฟื้อประโยชน์ต่อสมาชิกโดยรวม และเพื่อเสริมสร้างสักยภาพและพัฒนาอาชีพให้แก่สมาชิกในกลุ่ม
บ้านหาดทรายขาวปรากฏการนับถือศาสนา 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม โดยนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้ภายในชุมชนบ้านหาดทรายขาวปรากฏประเพณีและวัฒนธรรมตามแนวทางศาสนา 2 ศาสนาด้วยกัน ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาพุทธ
ส่วนใหญ่จะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาตามปฏิทินสากล อาทิ วันสําคัญทางพุทธศาสนาต่าง ๆ เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันสงกรานต์ วันลอยกระทง และวันขึ้นปีใหม่ ส่วนวันเข้าพรรษาจะมีการถวายเทียนพรรษา การทำบุญทอดกฐินและวันออกพรรษา ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันทุกปี ดังนี้
งานบุญกลางบ้าน เดิมเรียกว่า “การทำบุญแพ” เป็นประเพณีเก่าแก่ที่กําเนิดขึ้นพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชน จัดในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี โดยนําเอาความเชื่อเรื่องโบราณเข้ามาผสมผสานกับพิธีทางพุทธศาสนา คือ มีการนิมนต์พระสวดมนต์ช่วงกลางคืนบริเวณหน้าแพปลาซึ่งเป็นลานพิธี สําหรับช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะมีการสวดมนต์ทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ และฟังเทศน์ นอกจากนี้ มีการเรี่ยไรหรือรับบริจาคเงินตามความศรัทธาของชาวบ้านในการทำบุญ ส่วนเงินบริจาคที่เหลือจะเก็บเป็นทุนกองกลางประจําหมู่บ้าน เพื่อเป็นทุนในการใช้ประโยชน์ทางส่วนร่วมอีกด้วย
บุญสงกรานต์ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมทางภาคใต้ ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง และถือเอาวันแรกของสงกรานต์เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป วันต่อมา คือ “วันว่าง” จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น “วันรับเจ้าเมืองใหม่” โดยพราหมณ์ทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์
ปฏิทินประเพณีวัฒนธรรมผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ
- เดือนมกราคม : วันขึ้นปีใหม่, งานบุญกลางบ้าน
- เดือนกุมภาพันธ์ : วันมาฆบูชา
- เดือนเมษายน : วันสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม : วันวิสาขบูชา
- เดือนกรกฎาคม : วันอาสาฬหบูชา, วันเข้าพรรษา
- เดือนตุลาคม : วันออกพรรษา, วันสารทเดือนสิบ
- เดือนพฤศจิกายน : วันลอยกระทง
ประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาอิสลาม
ประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามที่ชาวบ้านผู้นับถือศาสนาอิสลามบ้านหาดทรายขาวยึดถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป เช่น การละหมาด การถือศีลอด การกุรบานในช่วงอีดอิดิลอัฎฮา ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด ประเพณีการโกนผมไฟ และการเข้าสุหนัต หรือการเข้าอิสลาม
- เดือนมุฮัรรอม : วันขึ้นปีใหม่
- เดือนรอบิอุลเอาวัล : วันเมาลิด
- เดือนรอมฎอน : ถือศีลอด
- เดือนเซาวัล : วันอีดอีดิลฟิตรี
- เดือนซัล-เคะดะห์ : วันอีตอีดิลอัฎฮา
1. นายอับดลร้าหมาน เด่นมาลัย : ผู้นำประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม
2. นายร่อฉาด นิยมเดช : ผู้นำประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม
3. นายสงวน อาจหาญ : ผู้นำประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ไฟฟ้า : บ้านหาดทรายขาวมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอกะเปอร์ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล และชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้าในการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฉลี่ยค่าไฟฟ้าต่อเดือนประมาณ 200 ถึง 500 บาท แต่จะประสบปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้งในเวลาฝนตกหนักและมีลมแรง ทำให้ชาวบ้านบางครัวเรือนต้องมีแบตเตอรี่รถยนต์ ไฟฉาย และเทียนไขสำรองเก็บไว้ในยามฉุกเฉิน
ประปา : บ้านหาดทรายขาว นำน้ำมาอุปโภคบริโภคจากแหล่งกักเก็บน้ำสาธารณะประจำหมู่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณสุขตำบล มีการจัดตั้งคณะกรรมการประปาประจำหมู่บ้านให้เป็นผู้ดูแลและเป็นผู้เก็บค่าน้ำเพื่อเป็นทุนกองกลางและการซ่อมบำรุงรักษาในอนาคต นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นโดยหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ สระน้ำ บ่อบาดาล และถังน้ำอีกหลายแห่ง ทำให้หมู่บ้านหาดทรายขาว มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคในการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดทั้งปี
การติดต่อสื่อสารและการคมนาคม : บ้านหาดทรายขาวส่วนใหญ่จะใช้บริการติดตั้งโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ เช่น การประชุมเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการภายในหมู่บ้านจะมีการกระจายเสียงจากหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่บริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้าน หากมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามหรือการละหมาดก็จะใช้เครื่องกระจายเสียงของมัสยิดนูรุดฮีดายะห์ มัสยิดประจำหมู่บ้าน เพื่อใช้ในการเรียกหรือเชิญชาวบ้านมาละหมาด
การศึกษาของชาวบ้านหาดทรายขาว ส่วนใหญ่จะสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา เนื่องจากในอดีตชาวบ้านส่วนมากขาดทุนการศึกษา และโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่อยู่ห่างไกลหมู่บ้าน บางส่วนก็ไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องอพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนตามบิดามารดาเพื่อประกอบอาชีพ แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้เห็นความสำคัญด้านการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น ผู้ปกครองได้มีการส่งเสริมลูกหลานของตนเองให้เรียนต่อในระดับสูง เพื่อหวังให้ลูกหลานของตนมีความรู้และสามารถประกอบอาชีพที่ดีกว่าเดิม ทำให้การศึกษาของชาวบ้านหาดทรายขาวมีบุคคลที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
แหลมสน
นรอสฟาน หะยีสาเมาะ และ Wanrosfan Hayeesamoh (2551). วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชนที่ประสบภัยธรณีพิบัติ คลื่นยักษ์สึนามิ: กรณีศึกษาบ้านหาดทรายขาว หมู่ที่ 7 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ระนอง PK Guest house and Studio. (2562). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/RungtawanStudio/
Google Earth. (2565). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/