Advance search

เกาะพยามถูกล้อมรอบด้วยต้นไม้เขียวขจี มีสีน้ำทะเลเป็นสีเขียวมรกต และสถานที่ที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวมักจะไปถ่ายรูป ประกอบกับวิวทิวทัศนียภาพที่งดงาม ส่งผลให้เกาะพยามได้รับขนานนามว่าเป็น “เกาะมัลดีฟส์” แห่งเมืองไทย

เกาะพยาม
เกาะพยาม
เมืองระนอง
ระนอง
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยาม โทร. 09-3582-4507
ธำรงค์ บริเวธานันท์
13 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
14 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
เกาะพยาม

ชื่อเรียกของเกาะพยามนั้นมีเรื่องเล่าว่าเพี้ยนมาจากรากศัพท์ 3 คำ ด้วยกัน

  • คำแรกมาจากคำว่า พอยาม เพราะการเดินทางไปเกาะนั้นต้องใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งยามพอดี
  • คำที่สอง ว่ากันว่ามาจากคำว่า พยายาม เพราะ การเดินทางมาบนเกาะนั้นยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
  • คำที่สามมาจากคำว่า ยาม พระยารัตนเศรษฐี เจ้าเมืองระนอง เป็นผู้ตั้งให้เมื่อครั้งเดินทางมาสำรวจเกาะ ซึ่งใช้เวลานานกว่าหนึ่งยามจึงจะเดินทางมาถึง

กล่าวโดยสรุป คือ ที่มาของชื่อเกาะพยามนั้นมีที่มาจาก 3 รากศัพท์ 3 ที่มา ทว่า ที่มาของชื่อทั้งสามนั้นมีความสอดคล้องกัน เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงเกาะแห่งนี้นั้นยากลำบาก ต้องใช้ความ พยายาม เดินทาง พอ(ยาม) (4 ชั่วโมง) จึงจะถึง เป็นที่มาของชื่อที่เพี้ยนไปมาจนกลายเป็นเกาะ พยาม ดังปัจจุบัน   


เกาะพยามถูกล้อมรอบด้วยต้นไม้เขียวขจี มีสีน้ำทะเลเป็นสีเขียวมรกต และสถานที่ที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวมักจะไปถ่ายรูป ประกอบกับวิวทิวทัศนียภาพที่งดงาม ส่งผลให้เกาะพยามได้รับขนานนามว่าเป็น “เกาะมัลดีฟส์” แห่งเมืองไทย

เกาะพยาม
เกาะพยาม
เมืองระนอง
ระนอง
85000
9.734968
98.40231
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยาม

เกาะพยาม เดิมเรียกว่า เกาะยาม มาจากคำว่า พอยาม หมายถึง การเดินทางไปเกาะพยามนั้นนานจึงจะถึงเกาะ (ประมาณ 4 ชั่วโมง) ต่อมาจึงเพี้ยนว่า เกาะพยาม แต่อีกนัยหนึ่งก็ว่ามาจาก พยายาม เพราะในสมัยก่อนการเดินทางมาเกาะพยามเป็นไปด้วยความลำบากไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน เรือโดยสารมีเพียงวันละเที่ยวเท่านั้น ส่วนขากลับไม่มีท่าเรือโดยสาร ถ้าอยากจะกลับขึ้นฝั่งในเมืองระนองต้องอาศัยการโดยสารมากับเรือประมงของชาวบ้าน ซึ่งคาดไม่ได้ว่าจะมาเมื่อไหร่ การเดินทางการเดินทางยากลำบากสมกับชื่อ คำว่า เกาะพยามเรียกว่าต้องใช้ความ พยายามอย่างมากในเรื่องของการเดินทาง จึงเป็นที่มาของ เกาะพยาม

ประมาณปี พ.ศ. 2548 พระยารัตนเศรษฐี เจ้าเมืองระนอง ได้ออกสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งเกาะพยามปรากฎว่าชาวอังกฤษได้เข้ามายึดครองพื้นที่เพราะคิดว่าเป็นเขตแดนพม่า เนื่องจากขณะนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เจ้าเมืองระนองจึงขอให้อังกฤษออกจากพื้นที่เพราะเป็นการลุกล้ำเขตแดนไทย เมื่อชาวอังกฤษออกจากพื้นที่จึงให้นายสาด กล่าศึก ที่ติดตามเจ้าเมืองไปด้วยนำพรรคพวกชาวไทยมุสลิมเข้ามาอยู่อาศัยแทนพวกอังกฤษ ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนมะม่วงหิมพานต์ และทำการประมงชายฝั่ง เกาะพยามได้รับการตั้งชื่อจากเจ้าเมืองระนองว่า เกาะยาม เพราะท่านและคณะสำรวจพื้นที่รอบเกาะกินเวลาหนึ่งยาม แต่เนื่องจากเดินทางไป–มา ระหว่างเกาะยามและชายฝั่งด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านจึงเรียนเกาะนี้ว่า เกาะพยาม

ที่ตั้งและอาณาเขต

เกาะพยาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองระนอง โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ กึ่งกลางคลองม่วงกลวง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ป่าชายเลน ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ  ทะเลอันดามัน

ลักษณะภูมิอากาศ

สถิติปริมาณฝนและอุณหภูมิ ณ สถานีอุตุนิยมวิทยาระนอง จังหวัดระนอง พ.ศ. 2545-2555 พบว่า มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี 4,048 มิลลิเมตร ปริมาณสูงสุด 116.5-208.0 มิลลิเมตร อุณหภูมิต่ำสุด 12.0-20.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.8-38.2 องศาเซลเซียส ลักษณะภูมิอากาศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนตัวลงและมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน แต่อุณหภูมิลดลงไม่มากนัก เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมฝนที่พัดผ่านอ่าวไทยส่งผลให้ยังคงมีฝนตกอยู่ตลอด

สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ข้อมูลสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินพบว่าที่ดินบนเกาะพยามมีลักษณะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 46.3 พื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 39.13 พื้นที่ป่าชายเลน 4.76 และพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 2.23 โดยพื้นที่เกษตรกรรมจะอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่เกาะ พืชที่ปลูก คือ มะพร้าว และยางพารา

เกาะพยามมีประชากรทั้งสิ้น 750 ครัวเรือน จำนวน 887 คน แยกเป็นประชากรชาย 437 คน และประชากรหญิง 450 คน ประชากรบนเกาะพยามแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะพยาม และกลุ่มประชากรแฝงหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขตพื้นที่เกาะพยาม โดยประชากรที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่บนเกาะพยามนั้นนอกจากจะเป็นชาวพื้นเมืองเดิมแล้วยังมีชาวมอแกนอาศัยร่วมอยู่ด้วย ซึ่งชาวมอแกนที่อาศัยอยู่บนเกาะพยามตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตอนกลางทางทิศตะวันออกของเกาะ ติดกับปลายอ่าวเขาควาย 

มอแกน

การเกษตร : ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร โดยมีพืชเศรษฐกิจที่ปลูก ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ (กาหยู) ยางพารา มะพร้าว เป็นหลัก

การประมง : มีกลุ่มการทำประมงพื้นบ้านเพื่อจำหน่ายให้กับร้านค้า และบริโภคในครัวเรือน สัตว์น้ำหลัก ๆ คือ กุ้งทะเล ปูม้า และปลาทะเล

การปศุสัตว์ : ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลากะพง ปลาดุก และการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือน เช่น ไก่บ้าน เป็ด

การบริการ : เนื่องจากทัศนียภาพที่งดงามของเกาะยาม ส่งผลให้เกาะพยามกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดอาชีพในภาคงานบริการขึ้นบนเกาะพยาม โดยปกติจะเป็นประเภทสถานบริการ และห้างร้าน เช่น ที่พักโฮมสเตย์ บังกะโล บริการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ ร้านค้าชุมชน ดำน้ำดูปะการัง เรือตกปลารอบเกาะ และแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

การท่องเที่ยว : เกาะพยามมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ได้แก่ อ่าวใหญ่ อ่าวแม่หม้าย หินขาว อ่าวเขาควาย อ่าวกวางปีบ เกาะค้างคาว เกาะกำ เกาะญี่ปุ่น และวัดเกาะพยาม

ประเพณีกาหยูเกาะพยาม

ประเพณีกาหยูเกาะพยาม กำหนดจัดงานประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวเมล็ดกาหยู หรือมะม่วงหิมพานต์ที่กำลังสุกเต็มต้น นักท่องเที่ยวจะได้ชมนิทรรศการต่าง ๆ การประกวดพืชผลทางการเกษตร เช่น ประกวดเมล็ดกาหยู และกล้วยเล็บมือนาง มีการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร และอาหารทะเลแปรรูปหลากหลาย รวมทั้งมีมหรสพ และการแสดงให้ชมตลอด งานการแข่งขันกระเทาะกาหยู และการประกอบอาหารจากผลกาหยูซึ่งดำเนินการจัดงานโดยองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยาม ณ บ้านเกาะพยาม หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

ลักษณะที่อยู่อาศัย                 

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกาะพยาม แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ชุมชนดั้งเดิมจะตั้งบ้านเรือนอยู่กลางเกาะแบบกระจัดกระจายประกอบอาชีพการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และอาชีพประมงชายฝั่งเป็นอาชีพรอง ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเขต ส.ป.ก. 4-01 และอีกลักษณะหนึ่งคือชุมชนผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวบริการที่พักลักษณะบังกะโลหรือรีสอร์ต ผู้ประกอบการธุรกิจบังกะโลรีสอร์ต ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้จะอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ที่เป็นชายหาด แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวเกาะพยามมีภูมิปัญญาที่สำคัญ คือ การคั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วยวิธีการแบบโบราณ การทำประมงชายฝั่ง และยังมีสินค้าพื้นเมืองของที่ระลึก เช่น ผลิตภัณฑ์จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ น้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนและเย็น ซึ่งนอกจากจะเป็นของฝากจากเกาะพยามแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงประจำตำบลเกาะพยามด้วย

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 


เนื่องจากสภาพพื้นดินบนเกาะพยามไม่เหมาะแก่การประกอบการเกษตรมากนัก  เพราะเป็นดินทรายที่มีคุณภาพต่ำ ทั้งยังไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอที่จะประกอบการเกษตร ซึ่งผลที่ได้จากการเกษตรนั้นย่อมไม่คุ้มค่าเมื่อนำไปขายบนฝั่ง เพราะต้นทุนในการผลิตสูงทำให้ขาดผลกำไร จึงส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่น และขายที่ดินให้นายทุน หรือทำธุรกิจในพื้นที่เกาะพยามเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของธุรกิจท่องเที่ยวส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มมีธุรกิจที่พักร้านอาหาร มีรายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่อย่างไรก็ตาม การแปรสภาพที่ดินในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดต่อระเบียบข้อกฎหมายของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและประชาชน เพราะพื้นที่เกาะพยามนั้นมีสถานะเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเกาะพยาม ซึ่งการจะใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นมีข้อจำกัด แต่ถึงแม้ว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในเชิงพาณิชย์จะขัดต่อระเบียบ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบาย ระเบียบ ข้อกฎหมายในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินว่าเห็นควรอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกสิ่งก่อสร้างใด ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการที่จะสร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ โดยเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการประกอบกิจการนั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนเกษตรกรได้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพต่อไป

เกาะพยาม ได้รับขนานนามว่าเป็นมัลดีฟส์เมืองไทย เนื่องจากเป็นเกาะที่มีความสวยงาม บรรยากาศล้อมรอบด้วยต้นไม้เขียวขจี มีสีน้ำทะเลเป็นสีเขียวมรกต และสถานที่ที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวมักจะไปถ่ายรูป คือ หินทะลุ ซึ่งเป็นหินที่ถูกกัดเซาะโดยคลื่นลมตามธรรมชาติจนกลายเป็นรูปร่างที่สวยงามแปลกตา

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). ร้อยเรื่องชาวเล มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ผู้กล้าแห่งทะเลอันดามัน”. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ผลิตภัณฑ์จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.u2t.ac.th/

วนิดา คุณวงศ์. (2560). แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัด ระนอง ภายใต้แนวคิดการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต   ภาควิชาบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เสน่ห์ระนอง. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ranongcities.com/

หรอยจัง. (2566). เกาะพยาม 2023 ระนอง มัลดีฟล์เมืองไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://roijang.com/ranong/

Annaontour. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.annaontour.com/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

PSD NEW. (2563). ประเพณีวัน กาหยู เกาะพยาม. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.pds-news.com/

Petenpeters. (2563). เกาะพยามของดีระนอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://petenpeters.com/

9AooddyTravel. (2563). เกาะพยาม. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.9aooddytravel.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพยาม โทร. 09-3582-4507