บ้านทองหลาง ชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวอีสานและชาวใต้ อันเป็นผลมาจากประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนั้นนอกจากจะเป็นชาวใต้ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นเดิมแล้ว ยังมีประชากรบางส่วนที่อพยพมาจากภาคอีสานด้วย
ชื่อบ้านทองหลางมีที่มาจากลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านที่อยู่บริเวณริมคลอง ริมคลองนั้นมีต้นทองหลางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการก่อตั้งหมู่บ้าน จึงให้ชื่อหมู่บ้านว่า "ทองหลาง" ตามลักษณะพื้นที่
บ้านทองหลาง ชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวอีสานและชาวใต้ อันเป็นผลมาจากประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนั้นนอกจากจะเป็นชาวใต้ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นเดิมแล้ว ยังมีประชากรบางส่วนที่อพยพมาจากภาคอีสานด้วย
ก่อนปีพุทธศักราช 2527 มีคลองสายหนึ่งชื่อว่าคลองทองหลาง อยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง (ชื่อคลองทองหลาง มาจากมีต้นทองหลางขึ้นตามบริเวณลำคลองจำนวนมาก เมื่อถึงฤดูออกดอก บริเวณลำคลองจะเต็มไปด้วยสีแดงของดอกทองหลาง) ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ในเวลาต่อมามีชาวพื้นถิ่นภาคใต้ประมาณ 4-5 ครัวเรือน อพยพเข้ามาอาศัยอยู่
พุทธศักราช 2528 ได้มีชาวบ้านจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและชาวอีสานอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยประมาณ 10 ครัวเรือน และแบ่งกันอยู่เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตาจัน (บ้านทองหลางล่างปัจจุบัน) และกลุ่มตาเฉื่อย (บ้านทรัพย์สมบูรณ์) ในอดีตนั้นเส้นทางคมนาคมยังไม่สะดวก เนื่องจากรถโดยสารจากอำเภอกะเปอร์ถึงตำบลบ้านนามีเพียง 1 คัน จอดสุดสายบริเวณหน้าโรงเรียนมัธยมบ้านนาปัจจุบัน การเดินทางยุคนั้นจึงค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากต้องเดินเท้าเข้ามาในหมู่บ้านตามทางลากซุง ซึ่งมีระยะทางถึง 5 กิโลเมตร
พุทธศักราช 2529 ได้มีชาวอีสานอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเข้ามาบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำไร่ ทำสวน ผ่านการปกครอง การพัฒนาหมู่บ้านจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาหลายคน กระทั่งปี 2536 ในสมัยของนายสวาท กันทะมาลา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ได้ให้ชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านทองหลาง” โดยจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ขึ้นกับตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านทองหลางส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันและป่าไม้ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 3 7 และ 8 เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการปกครอง
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
- ทิศใต้ ติดต่อกลับ บ้านนา อำเภอกะเปอร์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอกะเปอร์
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
สภาพโดยรอบของชุมชนบ้านทองหลาง มีสภาพเป็นป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ภูเขา ป่าไม้ สัตว์บก สัตว์น้ำ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ชาวบ้านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การพึ่งพาหาของป่าเพื่อดำรงชีวิต การล่าสัตว์ การหาผักจากป่า สะตอ ผักหวาน การพึ่งพาทรัพยากรน้ำ เช่น การใช้น้ำเพื่อการเกษตรการ ใช้น้ำอุปโภคบริโภค การจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหาร การใช้ประโยชน์จากดิน ได้แก่ การปลูกพืชไร่พืชสวนปลูกพืชผักเพื่อรับประทานและจำหน่าย เช่น สวนกาแฟ ปลูกพืช ได้แก่ ข่า ขมิ้น ตะไคร้ ชะอม ส้มป่อย เป็นต้น
บ้านทองหลางมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 229 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 744 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 361 คน และประชากรหญิง 383 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในภาคอีสาน
ลักษณะครอบครัวของชาวบ้านทองหลางแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวขยาย ครอบครัวเดี่ยวสมาชิกในครอบครัวจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก อยู่ร่วมกัน ครอบครัวในลักษณะนี้ส่วนมากจะปลูกบ้านอยู่ในละแวกเดียวกันกับพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย เนื่องจากที่ดินที่ใช้ในการปลูกสร้างบ้านมักเป็นที่ดินมรดกจากพ่อแม่
ส่วนครอบครัวขยายจะประกอบไปด้วย พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และสมาชิกที่มีสถานภาพเป็นลูกเป็นหลานอยู่ร่วมกัน ลักษณะครอบครัวขยายนั้นส่วนมากพ่อแม่จะอยู่ร่วมกับลูกคนใดคนหนึ่งของตน แต่ปกติแล้วมักจะเป็นลูกคนสุดท้องหรือลูกคนเล็กที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ แม้ว่าจะแต่งงานแล้วก็ยังจะต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับพ่อแม่
บ้านทองหลางเป็นชุมชนที่ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนมากแล้วประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพที่เอื้ออำนวยในการประกอบอาชีพ โดยระบบเศรษฐกิจในชุมชนบ้านทองหลางนั้นมีลักษณะเป็นระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนภายในหมู่บ้าน มีการเพาะปลูกพืชสวนหลากหลาย และเป็นพืชแบบหมุนเวียน กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลทำนา ทำไร่ ชาวบ้านจะลงพืชชนิดใหม่ในแปลง ซึ่งเป็นพืชที่มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวไม่นาน เพียง 2-3 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปจำหน่ายได้ พืชที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ ข่าเหลือง และตะไคร้ ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนบ้านทองหลางแห่งนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านทองหลางยังมีการประกอบอาชีพหาของป่า ร่อนแร่ดีบุก ทำการประมง และบางรายที่มีโอกาสรับการศึกษาในระดับสูงก็จะออกไปประกอบอาชีพนอกชุมชน เช่น รับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างเอกชน เป็นต้น
วัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนบ้านทองหลางจะมีลักษณะค่อนข้างคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของชาวอีสาน เนื่องจากชาวบ้านทองหลางส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวอีสาน โดยวัฒนธรรมของชาวบ้านทองหลางจะพบว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอีสานและวัฒนธรรมภาคใต้ อันเป็นผลมาจากภูมิลำเนาและพื้นที่ชุมชน เช่น การทำบุญเดือนสิบ การทำบุญบ้าน เป็นต้น
ปฏิทินประเพณี
- เดือนมกราคม : วันขึ้นปีใหม่ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ญาติพี่น้องที่อยู่ไกลบ้านจะกลับมาพบปะสังสรรค์กันและมีการจัดงานเลี้ยงกันที่บ้าน
- เดือนมีนาคม : จะมีวันมาฆบูชา (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3) ในตอนเช้าไปทำบุญตักบาตรที่วัดและฟังเทศน์ และพอตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่วัด
- เดือนเมษายน : จะมีวันสงกรานต์ ญาติพี่น้องจะกลับมาที่บ้านพบปะกันและมีพิธีสระหัวพระหลังจากนั้นจะมีพิธีรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรจากญาติผู้ใหญ่ที่วัด นอกจากนี้ยังมีประเพณีทำบุญที่วัดในช่วงเช้าและมีการทำพิธีทางศาสนา ซึ่งเป็นวันที่ชาวบ้านในชุมชนจะมารวมตัวกันมากที่สุด
- เดือนพฤษภาคม : จะมีวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ในตอนเช้าไปทำบุญตักบาตรที่วัดและฟังเทศน์ พอตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่วัด
- เดือนมิถุนายน : จะมีประเพณีทำบุญ วันของพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรม มีการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ตลอดจนฟังพระธรรมเทศนาอย่างเคร่งครัดตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มประพฤติปฏิบัติธรรมในประเพณีการทำบุญ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 6 วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ตลอดจนถึง วันแรม 8 ค่ำเดือน 6 วันอัฏฐมีบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระสรีระศพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณที่ท่านล่วงลับไปแล้ว
- เดือนกรกฎาคม : จะมีวันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ในตอนเช้าไปทำบุญตักบาตรที่วัดและ ฟังเทศน์ และตอนเย็นจะเป็นการเวียนเทียนที่วัด และวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) จะมีพิธีแห่เทียนพรรษา และถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน
- เดือนตุลาคม : จะมีวันสารทเดือนสิบ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10) และเป็นวันที่สำคัญของชาวไทยพุทธในภาคใต้ จะมีความเชื่อว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วจะกลับมาเยี่ยมลูกหลานคนที่อยู่ไกล ๆ จะกลับบ้านในวันนี้ พิธีจะจัดขึ้น 2 ครั้ง โดยจะนำอาหารไปทำบุญ ตักบาตรที่วัดและมีการทำขนม เช่น ขนมต้ม ขนมลา ขนมเจาะหู ฯลฯ และมีกิจกรรมที่ทำในวันนี้เรียกว่า "ชิงเปรต" คือการทำอาหารและขนมต่าง ๆ ไปตั้งไว้ที่ร้านเปรตแล้วจะเข้าไปแย่งกันซึ่งมีความเชื่อว่าเมื่อได้กินของที่แย่งมาจะเป็นสิริมงคลกับตัวเอง พิธีจะจัดขึ้น 2 ครั้ง คือ วันรับเปรตและวันส่งเปรต เมื่อมีการรับเปรตหลังจากนั้น 15 วัน ก็จะเป็นพิธีส่งเปรต และมีวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) จะมีการจัดงานทอดกฐินสามัคคีเป็นการรวมตัวกันของชาวพุทธที่จะมาทำบุญและมีต้นกฐินที่ชาวบ้านทำบุญเป็นเงิน และเงินที่ได้จากการทอดกฐินสามัคคีจะนำไปพัฒนาวัดบ้านกลาง การทอดกฐินจะทำทุกปี ปีละครั้ง และมีประเพณีการชักพระ
- เดือนพฤศจิกายน : จะมีประเพณีลอยกระทง โดยคนในชุมชนจะไปเที่ยวงานประเพณีกันในตัวอำเภอกะเปอร์ หรือสระน้ำของหมู่บ้าน
1. สวาท คันทะมาลา
สวาท คันทะมาลา หรือผู้ใหญ่สวาท ผู้ใหญ่บ้านยุคบุกเบิก ผู้ริเริ่มและเป็นแกนนำในการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนบ้านทองหลาง โดยแยกเป็นโรงเรียนสาขาบ้านนา ใช้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านนาสาขาบ้านทองหลาง โดยในขณะนั้นมีการเปิดการเรียนการสอนเพียง 4 ระดับชั้น คือ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ลักษณะโรงเรียนยุคแรกเริ่มมีลักษณะเป็นแบบหลังคามุงด้วยหญ้าคา พื้นเป็นพื้นดิน ในสมัยนั้นมีครูผู้สอนอยู่จำนวน 2 ท่าน คือ คุณครูชัยวัฒน์ อภิศักดิ์มนตรี และคุณครู อร่าม ใจเปี่ยม
การสืบทอดภูมิปัญญาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนชาวบ้านมีการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมบางอย่าง เช่น การใช้ยาสมุนไพร การปลูกสร้างบ้านเรือน การปลูกไม้รอบบ้าน การทอผ้า ทอเสื่อ จักสาน การทำไม้กวาดดอกอ้อ และทำเครื่องใช้เครื่องไม้เป็นต้น
ภูมิปัญญาการรักษาโรค
ภูมิปัญญาในการรักษาโรคของชาวบ้านคนในชุมชนในเบื้องต้น ส่วนใหญ่เมื่อมีการเจ็บป่วยจะดูแลตนเองก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าหากอาการยังไม่บรรเทาขึ้นก็จะเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาล และหากรักษาที่โรงพยาบาลแล้วยังไม่ดีขึ้น คนในชุมชนส่วนใหญ่ก็จะมีความเชื่อและจะไปรักษากับหมอพื้นบ้าน โดยจะรักษาด้วยสมุนไพร เช่น การรักษาโรคเริม จะใช้หมากโดยการเอาหมากไปตำกับหยดน้ำแล้วก็นำไปทาบริเวณที่เป็นโรค หัวไพร แก้อาการเด็กร้องไห้ คือ จะนำหัวไพรสดนำไปแต้มที่หน้าผากของเด็ก เพราะเชื่อว่าหัวไพรจะช่วยไล่สิ่งชั่วร้ายหรือผีได้
ภาษาพูด : ภาษาถิ่นใต้ และภาษาอีสาน
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศภายในบริเวณพื้นที่ป่าชุมชนบ้านทองหลางในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ในความหลากหลายทางชีวภาพ มีป่าต้นน้ำซึ่งเป็นจุดกำเนิดของแหล่งน้ำและมีคลองสาขาและลำห้วยเล็ก ๆ หลายสายแยกออกมา และไหลมาร่วมกันเป็นคลองทองหลาง มีต้นไม้ริมตลิ่งที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำที่ใสสะอาดที่สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้และยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น กุ้งแม่น้ำ ปลาแพง ปลาสร้อย ปลาซิว กบภูเขา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชผักที่มีความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณคลองน้ำ เช่น ผักหนาม ผักกูด และยังมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมทั้งสองฝั่งตลอดคลองทองหลาง เพื่อไม่ให้เกิดการพังทลายของริมตลิ่งและรักษาหน้าดินให้แน่นอีก
ปัจจุบันสภาพคลองมีระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสภาพคลองมีขนาดที่กว้างขึ้น เพราะมีการตัดต้นไม้ริมคลองและทำลายพืชผักที่อยู่บริเวณริมคลอง จึงทำให้สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำบางชนิดลดลงและสูญพันธุ์ นอกจากนี้เมื่อถึงฤดูฝนก็ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวของชาวบ้าน เช่น สวนกาแฟ ปลูกยางพารา สวนข่า เป็นต้น เมื่อทรัพยากรธรรมชาติลดลงส่ง ผลให้การดำรงชีวิตเป็นไปได้ยากและมีความลำบากมากขึ้นเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องซื้อทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ. (2564). หนังสือชุมชนบ้านนา. สืบค้นเมื่อ วันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://pubhtml5.com/
เผชิญศักดิ์ เจียกขจร และคณะ (2556). โครงการแนวทางการฟื้นฟูคลองทองหลางเพื่อการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยชุมชนบ้านทองหลาง หมู่ที่ 7 ต.บ้านนา อ.กะเปอร์ จ.ระนอง. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Hatyaifocus. (2560). ประเพณีบุญเดือนสิบ. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.hatyaifocus.com/