น้ำตกแม่เหยี่ยน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เลิศล้ำหัตถกรรมจักสาน ถิ่นฐานคูเมืองเก่าลือชื่อ ข้าวซ้อมมือดีมีในตำบล ป่าชุมชนระบือนามทั่ว บึงงามนามหนองบัว อุตสาหกรรมครอบครัวหน่อไม้ปี๊บ
ปู่แสนใจ เดินเมือง ปู่ท้าวผาบ เดินเมือง และผะญาน้อย เดินเมือง ทั้งสามคนเป็นพี่น้องกัน และมีกลุ่มชนติดตามมาอีกประมาณ 30 ครอบครัว ได้อพยพมาเนื่องจากว่ามีลำห้วย "แม่เหยี่ยน"ไหลจากทิศตะวันตกลงมาสู่หมู่บ้าน จึงตั้งชื่อ "บ้านแม่เหยี่ยน"
น้ำตกแม่เหยี่ยน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เลิศล้ำหัตถกรรมจักสาน ถิ่นฐานคูเมืองเก่าลือชื่อ ข้าวซ้อมมือดีมีในตำบล ป่าชุมชนระบือนามทั่ว บึงงามนามหนองบัว อุตสาหกรรมครอบครัวหน่อไม้ปี๊บ
เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางาเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งาเมืองไปด้วยแว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำ คันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง" ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนาโดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบันโดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆกัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝ่ายเดียวกัน โดยที่พันนาม่วง คือ บริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พันนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายขอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวียงโบราณใกล้บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ (พระธรรมวิมลโมลี อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว.ขรรค์ชัย บุนปาน, 2552)
พ.ศ. 2101 เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ ดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาและความสำคัญของเมืองไป
พ.ศ. 2310 กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
พ.ศ. 2330 เจ้าเมืองอังวะสั่งให้หวุ่นยี่มหาไชยสุระยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือผ่านฝาง เชียงรายเชียงแสน และพะเยาด้วย ผู้คนกลัวแตกตื่นอพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลาถึง 56 ปี
พ.ศ. 2375 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งนำโดยปู่แสนใจ เดินเมืองปู่ท้าวผาบ เดินเมือง และผะญาน้อย เดินเมือง ทั้งสามคนเป็นพี่น้องกัน และมีกลุ่มชนติดตามมาอีกประมาณ30 ครอบครัว ได้อพยพมาจากบ้านทุ่งม่านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาที่ทำกินด้านการเกษตร สภาพตามภูมิศาสตร์ สภาพของหมู่บ้านเดิมเป็นป่าดงดิบ รกทึบ เต็มไปด้วยต้นไผ่ อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก จึงเห็นสมควรบุกเบิก ทำนา ทำไร่ ทำสวนและปลูกพืชอื่นได้ เนื่องจากว่ามีลำห้วย "แม่เหยี่ยน" ไหลจากทิศตะวันตกลงมาสู่หมู่บ้าน และยังไหลมาสมทบกับ "แม่น้ำอิง" ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกข เหมาะแก่การทำการเกษตร และยังมีทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ อุดมสมบูรณ์ จึงได้ยึดแผ่นดินดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย และอยู่กันมาอย่างสงบสุขเรื่อยมา
พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กราบถวายบังคมทูลของตั้งเมืองเชียงรายขึ้นกับเมืองนครเชียงใหม่ และขอตั้งเมืองพะเยา และเมืองงาว ทั้งสองเมืองนี้ขึ้นกับเมืองนครลำปาง ฝ่ายเมืองพะเยาทรงตั้งนายพุทธวงศ์ น้องคนที่ 1 ของพระยานครอินทร์ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา
พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่าจากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา
พ.ศ. 2395 ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้เดินธุดงค์มาจากภาคอีสาน ชื่อว่า ครูบาลาว ทางคณะศรัทธาวัดบ้านเหยี่ยนจึงได้อาราธนานิมนต์ให้จำพรรษา ประจวบเหมาะกับที่ชุมชนบ้านเหยี่ยนไม่มีวัดหรือที่ทำบุญ จึงได้ร่วมกันจัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นมา ชื่อว่า "อารามวัดบ้านเหยี่ยนแก้วดอนใจ" เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกิจกรรมทางศาสนา
พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจาจังหวัดไว้ตามเดิม แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบลเรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา และได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทขุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบาบัดทุกข์บารุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ จัดการศึกษา การอาชีพและบำรุงพุทธศาสนา แคว่น (กำนัน นามสกุล พรหมเผ่า เป็นนามสกุลที่พบมากที่สุดในบ้านใหม่โดยขอใช้นามสกุลของแคว่น (กำนัน) ในตอนนั้น ได้มีผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่คนแรกถึงคนปัจจุบัน ตามลำดับดังนี้
1. ปู่ผะญาน้อย | เดินเมือง | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2432-2450 ครบวาระ |
2. นายริน | เงินชุ่ม | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2450-2570 ครบวาระ |
3. นายหนุ้น | เงินชุ่ม | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2570-2489 ครบวาระ |
4. นายสอน | ปัญจขันธ์ | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2489-2503 ครบวาระ |
5. นายพุธ | ยอดยา | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2503-2509 ครบวาระ |
6. นายคำ | เรืองจิต | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2509-2517 ครบวาระ |
7. นายพุธ | ยอดยา | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2517-2528 ครบวาระ ภายหลังแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลบ้านใหม่ |
8. นายสมนึก | พรหมเผ่า | ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2528-2529 ได้ลาออก |
9. นายบุญธรรม | คำพุธ | ดำรงตำแหน่งวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2529 - 5 มกราคม 2548 ครบวาระ |
10. นายกฤษณพงษ์ | คนงาน | ดำรงตำแหน่งวันที่ 18 มกราคม 2548 - ปัจจุบัน |
พ.ศ. 2470 ประชาชนอพยพมาจากเกาะคาและแม่ทะ จ.ลำปาง ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ และประชาชนส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
พ.ศ. 2484 บ้านใหม่แยกออกมาจากตำบลแม่ปืมโดยใช้แม่น้ำอิงเป็นแนวเขตตำบล และพื้นที่กว้างใหญ่มากทำให้การปกครองของแคว่น (กำนัน) ไม่ทั่วถึง ทำให้ปกครองลำบาก
พ.ศ. 2495 การเดินทางโดยใช้รถขายข้าวสาร รถคอกหมู หาบของไปขายโดยเดินทางจากหมู่บ้านไปขึ้นรถที่บ้านแม่ปืม บ้านท่าเรือไปขายของในเมือง ที่นิยมไปขายคือหน่อไม้
พ.ศ. 2500 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาห์ตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม ผู้เจ็บป่วยเดินทางโดยล้อเกวียนไปโรงพยาบาลพะเยา โดยออกมาเส้นทางบ้านแม่ปีม
พ.ศ. 2504-2523 ยังมีการระบาดของโรคฝีดาษ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข เริ่มโครงการกวาดล้างไข้ทรพิษหรือฝืดาษในประเทศไทย รณรงค์ปลูกฝีป้องกันโรค จนปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าฝีดาษได้ถูกกวาดล้างแล้วจึงหยุดการปลูกฝีป้องกันโรค และนับแต่นั้นมาไม่เคยปรากฏว่ามีฝีดาษเกิดขึ้นในประเทศไทย
พ.ศ. 2514 จากการบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านบอกว่ามีโทรทัศน์เครื่องแรกในหมู่บ้านโดยใช้เครื่องปั่นไฟ และมีรถจักรยานยนต์คันแรกในหมู่บ้าน ทำให้มีการเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น
พ.ศ. 2516 มีการสร้างสถานีอนามัยตำบลบ้านใหม่ แต่ยังมีฐานะเป็นสำนักงานผดุงครรภ์
พ.ศ. 2520 เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในวันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 จังหวัดพะเยา ตั้งขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก ทำให้จังหวัดพะเยาเจริญรุ่งเรืองมีการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ
พ.ศ. 2523 มีเหตุการณ์เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้น มีนายชุมพร ใจทน เป็นหมออนามัยจากสถานีอนามัยบ้านใหม่ ให้การดูแลรักษา และมีรถไถนาใช้ครั้งแรกในหมู่บ้านแทนการใช้แรงงานจากควายไถนาทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยกเลิกการเลี้ยงควาย
พ.ศ. 2527 ยกฐานะจากสำนักงานผดุงครรภ์ เป็นสถานีอนามัยตำบลบ้านใหม่ โดยได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารทำการเป็นแบบตึกชั้นเดียว ให้บริการประชาชนในเขตรับผิดชอบเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2542ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขให้ก่อสร้างสถานีอนามัยทดแทนเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150 ตารางเมตร ในปีต่อ ๆ มาสถานีอนามัยตำบลบ้านใหม่ได้ร่วมมือกับ อสม. ผู้สูงอายุ ประชาชนทั่วไป ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงอาคารและบริเวณโดยรอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้มารับบริการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและได้เปลี่ยนจากสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อปฏิรูปสุขภาพคนไทยตามนโยบายของ กระทรวงสาธารณสุข (จากรายงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่) และได้จัดตั้ง อสม.ในหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็มีการขยายสถานีอนามัยซึ่งดำเนินการต่อมาเรื่อย ๆ บางแห่งก็มีบางแห่งก็ยังไม่มี แต่ก็ได้เจ้าหน้าที่ อสม. มาช่วยพัฒนาให้ความรู้ชาวบ้าน อสม.คนแรกของหมู่บ้าน ชื่อนายปาน คำดี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2527
พ.ศ. 2528 มีส้วมใช้ ตามเป้าหมายของการสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.) และหมอสมคิดใส่ห่วงอนามัยครั้งแรกที่บ้านแม่จั๊ว อ.แม่ใจ ในปัจจุบัน
พ.ศ. 2530 มีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2533 โรค AIDs เริ่มระบาดในบ้านเหยี่ยนจากกลุ่มผู้ชายที่ชอบเที่ยวกลางคืน ชาวบ้านวิตกกังวลและกลัวติดโรคจึงงดเที่ยวกลางคืน ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแผนที่ 6 ปี (2530-2534) ตามนโยบายมีอนามัยควบคุมการแพร่กระจายโรค และมีระบบประปา
พ.ศ. 2534 มีโทรศัพท์แบบสายใช้ทำให้ชาวบ้านติดต่อกันง่าย แต่สำหรับภายในหมู่บ้านก็ไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อหากัน เพราะค่าโทรศัพท์แพง และมีโทรศัพท์กันไม่กี่หลังคาเรือนจึงไม่นิยมติดต่อกันเหมือนในปัจจุบัน
พ.ศ. 2541 มีการค้าขายหน่อไม้ปี๊ป (กิโลละ 80-100บาท) ซึ่งหามาจากป่าอุทยานแห่งชาติดอยหลวงที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไผ่ที่ออกหน่อไม้เป็นจำนวนมากทำให้บ้านใหม่หาหน่อไม้ขายตลอดมา
พ.ศ. 2553 มีพายุลูกเห็บ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2563-2564 ได้มีการระบาดของโรค Covid-19 ในประเทศไทย ซึ่งทางหมู่ที่ 6 บ้านเหยี่ยนไม่พบการติดเชื้อภายในหมู่บ้าน ซึ่งทางหมู่บ้านมีแนวปฏิบัติจากการทำประชาคมของสมาชิกในชุมชนโดยมีแนวปฏิบัติตั้งนี้ บุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงหรือต่างจังหวัดให้ทำการกักตัว 14 วัน และมีการรณรงค์ให้ประชาชนในหมู่บ้านไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยประชาชนในหมู่บ้านได้รับวัคซีนทั้งหมด จำนวน 301 คน และยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 104 คน
บ้านเหยี่ยนเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีพื้นที่ราบลุ่ม สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นบ้านปูนชั้นเดียวบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง และบ้านปูนสองชั้น การตั้งบ้านเรือนเป็นลักษณะเครือญาติ จะมีรั้วกั้น มีการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองในบ้าน มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แมว ไก่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่หมู่บ้านมีทั้งหมด 2,939 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 1,159 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 621 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านท่ากลอง หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านโป่ง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลแม่ปืม
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านเหยี่ยน หมู่ 7 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2564 มีบ้านเรือนทั้งหมด 176 หลังคาเรือน จำนวนประชาการที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 405 คน เพศชาย 206 คน เพศหญิง 199 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านเหยี่ยนเป็นคนพื้นเมือง
ผู้ใหญ่บ้าน : นายกฤษณพงษ์ คนงาน
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง : นายมนูญ อุปนันท์, นายจำรอง รูปใหญ่
แบ่งการดูแลเป็น 8 คุ้มบ้าน โดยที่แต่ละคุ้มบ้านจะมีประธาน ซึ่งเป็นกรรมการหมู่บ้านตามโครงสร้าง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางสาวนรีรัตน์ เครืองวงค์ เป็นประธาน มี อสม. รวมประธานทั้งสิ้น 18 คน
- อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) : นายภาณุมาศ ประกอบศิลป์
- อาสาสมัครเกษตกร : นายชวลิต อินสุขิน เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้สูงอายุ : นายโรจน์ คงสม เป็นประธาน
อาชีพหลัก : ทำนา
อาชีพรอง : ทำสวนยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง
อาชีพเสริม : ทำหน่อไม้ปี๊ป ทำน้ำปู อ่องปู
วัฒนธรรมประเพณีล้านนา
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : มีการตานข้าวใหม่หรือบุญข้าวใหม่ในช่วงระหว่างสิ้นปี กับวันขึ้นปีใหม่ โดยการนำข้าวสารหรือข้าวเปลือกหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวไปถวายที่วัดในวันสิ้นปี มีทำบุญตักบาตรในวันสิ้นปีและประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : การทำบุญตักบาตร ฟังธรรมในวันพระ และการเข้าวัดทำบุญในวันมาฆบูชา
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ประเพณีปอยหลวง เป็นงานฉลองถาวรวัตถุของวัด หรือการฉลองสิ่งก่อสร้างที่ชาวบ้านในหมู่บ้านร่วมกันทำขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ซึ่งนิยมฉลองหลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว เพื่ออุทิศสิ่งก่อสร้างเป็นของสงฆ์และอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชน
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ประเพณีสงกรานต์(ปีใหม่เมือง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ช่วงวันที่ 13-16 เมษายน จะร่วมกันแห่สรงน้ำพระมหาสงกรานต์ ประเพณีขนทรายเข้าวัด การขนทรายนิยมกันทั้ง 3 วัน คือวันสังขานล่อง วันเนาว์ และวันพญาวัน แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือวันเนาว์ มีการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่หรือบุคคลที่นับถือในชุมชน การดำหัวในความหมายทั่วไปนั้นหมายถึงการ "สระผม" แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี หมายถึง การชำระสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสปราดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป้อยเป็นเครื่องชำระ ช่วงวันที่ 17-18 เมษายน จะมีการสืบชะตาหรือสืบชาตา หรือการต่ออายุสืบชะตากำเนิดให้ยืดยาวออกไป หมายถึงต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ประเพณีประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อขอน้ำให้เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม โดยชาวบ้านจะมีการนำของคาวของหวานมาเซ่นไหว้
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : พิธีไหว้พระธาตุ และประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้าน มีการเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ที่วัดบ้านเหยี่ยน
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ชาวบ้านมีการทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่แห่งชาติและวันพระ
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : พิธีตานขันข้าวให้บรรพบุรุษ เป็นการถวายสำรับกับข้าวหรือถวายถาดใส่ข้าวและอาหาร เพื่ออุทิศหาบรรพชน
- เดือนตุลาคม (เดือนเกี๋ยงล้านนาหรือเดือนอ้าย) : งานทำบุญตานก๋วยสลากภัตร ชาวบ้านจะนำก๋วยสลากถวายแด่พระสงฆ์และมีการหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือเจ้ากรรมนายเวร และงานทอดกฐินโดยชาวบ้านจะนำข้าวของ เครื่องใช้ จตุปัจจัยนำไปถวายที่วัด
- เดือนพฤศจิกายน (เดือนยี่) : ประเพณีลอยกระทงจัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณียี่เป็ง ช่วงตอนเย็นจะมีงานลอยกระทง การปล่อยโคมลอย
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ
1. นายชาตรี ช่อวิลาส : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
2. นายอานนท์ ทนทาน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน
3. นายสุคำ ปินตา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรรม
4. นายปึ้ อินสุขิน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม
5. นายคล้าย อภิชัย : ปราชญ์ชาวบ้านด้านประติมากรรม
ทรัพยากรธรรมชาติ ลักษณะทางนิเวศวิทยา แหล่งน้ำกินน้ำใช้ น้ำการเกษตร
- น้ำสำหรับบริโภคส่วนใหญ่จะซื้อน้ำดื่มในหมู่บ้าน ซึ่งในหมู่บ้านจะมีโรงงานผลิตน้ำดื่มในโครงการชุมชนพอเพียงปี 2553 สำหรับการผลิตน้ำดื่มสะอาดขายในหมู่บ้าน บางหลังคาเรือนจะใช้น้ำฝน หรือน้ำบ่อตื้นในการดื่ม
- น้ำสำหรับอุปโภค ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้น้ำประปาภูเขาและใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นบางส่วน น้ำจากบาดาลมีส่วนน้อยที่ใช้
- น้ำสำหรับใช้ประโยชน์ในการเกษตรจะใช้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ 3 แหล่ง คือ แม่น้ำอิง ลำห้วยแม่เหยี่ยน และอ่างเก็บน้ำปีม ซึ่งมีเพียงพอในฤดูฝนและอาจขาดแคลนในฤดูแล้ง
- มีแหล่งน้ำสำรองดับเพลิง ซึ่งจะไหลมาจากบนภูเขา ผ่านกลางหมู่บ้าน
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านเหยี่ยน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://ourkingthai.com/
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์. บ้านเหยี่ยน หมู่ 6 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รายงานประกอบรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลชุมชน 2. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/