Advance search

บ้านหนองโอใหญ่

บ้านหนองโอเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนยาวนานที่สุดในตำบลโนนยาง อีกทั้งยังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญ สิมวัดนรวราราม สิมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในท้องถิ่นแถบตำบลโนนยาง 

บ้านหนองโอ
โนนยาง
หนองสูง
มุกดาหาร
ชุมชนหนองโอใหญ่ โทร. 08-5469-3416, อบต.โนนยาง โทร. 0-4262-0947
วิไลวรรณ เดชดอนบม
16 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
16 มี.ค. 2023
บ้านหนองโอ
บ้านหนองโอใหญ่

มาจากชื่อเรียกของพื้นที่ตั้งหมู่บ้านที่มีหนองน้ำชื่อ "หนองโอ๋" ชาวบ้านที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อหนองน้ำว่า บ้านหนองโอ๋ แต่ต่อมาเขียนตามภาษาราชการว่า บ้านหนองโอ


บ้านหนองโอเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนยาวนานที่สุดในตำบลโนนยาง อีกทั้งยังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญ สิมวัดนรวราราม สิมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในท้องถิ่นแถบตำบลโนนยาง 

บ้านหนองโอ
โนนยาง
หนองสูง
มุกดาหาร
49160
16.48364035
104.338109
องค์การบริหารส่วนตำบลโนนยาง

บ้านหนองโอ เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในตำบลโนนยาง จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เล่าว่า บรรพบุรุษของชาวผู้ไทบ้านหนองโอเป็นกลุ่มเดียวกับชาวผู้ไทเมืองหนองสูง ซึ่งอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ภายหลังเหตุการณ์การปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมบรรพบุรุษของชาวผู้ไทบ้านหนองโอตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านคำแห้ (ปัจจุบัน คือ บ้านโนนน้ำคำ ตำบลหนองสูงเหนือ อำเภอหนองสูง) ต่อมานายปัทชุม นายหัวด่อง และนายอูไทย ได้ย้ายออกจากบ้านคำแห้เพื่อออกแสวงหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ เมื่อเดินทางลงมาทางทิศใต้ของหมู่บ้านเดิม ได้พบกับหนองน้ำกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ จึงได้หยุดพักรับประทานอาหารบริเวณริมหนองน้ำ แต่เมื่อออกเดินทางต่อไปกลับลืมขันตักน้ำ ซึ่งชาวผู้ไทเรียกว่า โอ๋ หนองน้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า หนองโอ๋ และเมื่อชาวบ้านอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้หนองโอ๋ จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองโอ๋ แต่ต่อมาเขียนตามภาษาราชการว่า บ้านหนองโอ

บ้านหนองโออยู่ภายใต้การปกครองของเมืองหนองสูงมาตั้งแต่อดีต แต่เมื่อหมู่บ้านมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ชาวผู้ไทเชื้อสายบ้านหนองโอบางส่วนจึงได้อพยพออกไปตั้งถิ่นฐานและที่ทำกินแห่งใหม่อีก 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านคำพอก บ้านวังนอง บ้านเหล่ากว้าง บ้านหนองเม็ก และบ้านโนนยาง หรือบ้านหนองโอน้อยในอดีต ด้วยเหตุนี้บ้านหนองโอจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บ้านหนองโอใหญ่ เพราะเป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งขึ้นก่อนหมู่บ้านอื่น ๆ อีกทั้งประชากรที่กระจายตัวอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น คือกลุ่มประชากรที่แยกตัวออกจากบ้านหนองโอ และในปี พ.ศ. 2523 ตำบลโนนยางได้แยกตัวเป็นเอกเทศจากตำบลหนองสูง บ้านหนองโอจึงอยู่ภายใต้การปกครองของตำบลโนนยางมาจนปัจจุบัน (วิษณุ กาปรสิริพัฒน์, 2541: 16)

บ้านหนองโอ ตั้งอยู่ในเขตตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ติดกับตัวอำเภอหนองสูง โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอหนองสูง 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ  จด  บ้านโนนน้ำคำ
  • ทิศใต้  จด  บ้านป่าเม็ก
  • ทิศตะวันออก  จด  บ้านหนองสูง
  • ทิศตะวันตก  จด  บ้านห้วยบังอี่

ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านเป็นที่ราบกลางหุบเขา มีภูจ้อก้อเป็นฉากหลังอ้อมลงไปทางทิศใต้ พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนาของชาวบ้าน มีลำห้วยบังอี่ที่เปรียบเสมือนสายเลือดของชาวบ้าน แม้ว่าจะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ไม่มากเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่น้ำจากลำห้วยบังอี่จะถูกใช้ในแปลงเกษตรของชาวบ้านที่อยู่บริเวณริมฝั่งบางฤดู ใช้เป็นแหล่งน้ำของวัว ควาย และแหล่งเพาะพันธุ์ปลา 

บ้านหนองโอแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ ได้แก่ หมู่ 3 มีประชากร 275 คน และหมู่ 8 มีประชากร 449 คน โดยประชากรในชุมชน คือ ชาวผู้ไท 

ผู้ไท

การปกครอง

บ้านหนองโอ ตำบลโนนยาง แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ ได้แก่ บ้านหนองโอ หมู่ที่ 3 และบ้านหนองโอ หมู่ที่ 8 เนื่องจากบ้านหนองโอเป็นหมู่บ้าน อพป. ฉะนั้นจึงมีการบริหารงานในหมู่บ้าน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางหมู่บ้าน อพป. จำนวน 50 คน และคณะกรรมการบริหารงาน 10 คน ส่วนการบริหารงานลักษณะที่ 2 แบ่งการบริหารออกเป็นคุ้มบ้าน 10 คุ้มบ้าน ได้แก่ คุ้มพรหมจักร คุ้มอุดมสถิตย์ คุ้มจันทศร คุ้มราชสมบัติ คุ้มหงษ์มณี คุ้มวงศ์วานสามัคคี คุ้มศรีภูบาล คุ้มอินธิจักร คุ้มเจ้าสุริยะ และคุ้มราษฎร์บัณฑิต

เศรษฐกิจ

อาชีพหลักของชาวผู้ไทบ้านหนองโอ ส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวเหนียวสายพันธุ์ กข6 รองลงมา คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ส่วนบางครอบครัวที่มีกำลังมากพอส่งบุตรหลานเรียนต่อจนจบระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จะเข้ารับราชการ นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพเสริมปลูกพืชไร่ เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง การทำสวน เช่น ยางพารา มีการปลูกมะม่วง ลำไย และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ ตามพื้นที่ไร่นา นอกจากนี้ยังมีการทอผ้า ทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหม อีกทั้งยังมีบางส่วนที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดตลอดทั้งในกรุงเทพมหานครด้วย 

ชาวผู้ไทบ้านหนองโอ เป็นกลุ่มชาวผู้ไทที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของผู้ไทไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะได้รับการแทรกแซงจากวัฒนธรรมชาวอีสาน คือ ประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ และอิทธิพลจากพุทธศาสนาที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่เป็นไปในรูปแบบของการผสมผสานกับศาสนาผี ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวผู้ไท ยังคงมีการนับถือผีบรรพบุรุษ มีพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาเป็นประจำทุกปี มีความเชื่อและสืบทอดพิธีกรรมเหยา ซึ่งเป็นพิธีกรรมในการรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวผู้ไท นอกจากนี้ชาวบ้านหนองโอยังได้รักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบผู้ไท การลำผู้ไท ดนตรีผู้ไท การทอผ้าพื้นเมือง และการปลูกบ้านตามคติความเชื่อของชาวผู้ไท เป็นต้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

ภายในวัดนรวรารามบ้านหนองโอ มีสิมโบราณอายุเกือบ 100 ปี ปรากฏหลักฐานเขียนไว้หน้าบันว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2471 มีรูปทรงแบบศิลปะพื้นบ้านอีสาน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ตั้งสิมจำนวน 1 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ให้เป็นโบราณสถานวัดนรวราราม และได้รับการบูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2555

ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยกลาง (ภาษาราชการ)

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พ.ศ. 2522 บ้านหนองโอได้รับประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน อพป. (หมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ที่มีพื้นที่สุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคง และปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน) และใน พ.ศ. 2524 บ้านหนองโอได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้าน อพป. ของจังหวัดนครพนม (ขณะนั้นบ้านหนองโอยังขึ้นกับจังหวัดนครพนม)

วิษณุ กาปรสิริพัฒน์. (2541). ภูมิปัญญาอีสานในพิธีกรรมด้านความเชื่อเพื่อการรักษาพยาบาลผ่านทางภาษาของชาวผู้ไท (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.

องค์การบริหารส่วนตำบลโนนยาง. (ม.ป.ป.). สิมหรือโบสถ์วัดนรวราราม. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://nonyang.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566]. 

Admin. (2557). ชมสิมโบราณ (อุโบสถ) วัดนรวราราม มุกดาหาร. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.faiththaistory.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566].

ชุมชนหนองโอใหญ่ โทร. 08-5469-3416, อบต.โนนยาง โทร. 0-4262-0947