
พระธาตุผาช้างมูบ อ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แปลงสาธิตผักปลอดภัยจากสารพิษ
บ้านผาช้างมูบ ชื่อเดิมคือ “บ้านดง” จัดตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2430 ที่มาของชื่อหมู่บ้านเกิดจากการเล่าขานกันมาว่า เมื่อสมัยพุทธกาลจนกาลเวลาผ่านไปล่วงเลยมาจนกระทั่งมีผู้ไปพบเห็นซากปรักหักพังของพระหินและพบช้างหินที่มีลักษณะเป็นรูปช้างมูบ จนต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่ง เดินธุดงค์มาจากทางทิศใต้ ได้สอบถามถึงผาช้างมูบดังกล่าว เมื่อพบผาช้างมูบตัวพระธุดงค์รูปนั้นได้ใช้ตะขอไม้ไผ่เกี่ยวหัวช้างให้ลุกขึ้น เมื่อช้างหินลุกขึ้นปรากฎว่าใต้ท้องช้างหินนั้นเป็นแอ่งกระทะที่เต็มไปด้วยทองคำ พระธุดงค์รูปนั้นจึงใช้ฝาบาตรตักเพียงหนึ่งฝาเท่านั้นและได้บอกให้ชายที่นำทางไปตักตามใจชอบ ชายผู้นั้นจึงใช้ฝักมีดตักเพียงหนึ่งฝักเท่านั้น เมื่อพระธุดงค์จากไปชายผู้นั้นเกิดรู้สึกอยากได้มากขึ้น จึงกลับไปยังผาช้างมูบและพยายามใช้ตะขอไม้ไผ่ที่พระธุดงค์ทิ้งไว้เกี่ยวหัวช้างขึ้น แต่ไม่สำเร็จ ช้างหินไม่ขยับเขยื้อน จนในที่สุดตะขอไม้ไผ่หักลง ทันใดนั้นได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เกิดมีฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบฟ้าร้อง ฝนตกกระหน่ำอย่างรุนแรง จากนั้นจึงไม่มีผู้ใดพบเห็นช้างหินตัวนั้นอีกเลย เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนกระทั่งมีการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นและมีผู้คนไปพบซากปรักหักพังของพระหินและผาช้างมูบ ซึ่งไม่ทราบว่าสร้างในยุคสมัยใด จึงเรียกกันต่อ ๆ มาว่า “บ้านผาช้างมูบ”
พระธาตุผาช้างมูบ อ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แปลงสาธิตผักปลอดภัยจากสารพิษ
จากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน (นายฮ่วน ยาดี อายุ 86 ปี , นายตึ๋ง ยาดี อายุ 94 ปี) ได้เล่าว่า บ้านผาช้างมูบเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่อยู่ในป่า ซึ่งหมู่บ้านทอดยาวไปทางทิศเหนือและติดอยู่กับภูเขาเตี้ย ๆ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า “ม่อน” มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านตลอดปีเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักปลอดสารพิษ ผักพื้นบ้าน เป็นหมู่ที่เก่าแก่ซึ่งอยู่ในสมัยที่มีผู้ครองนครและมีพระครูบาศรีวิชัยเข้ามาพัฒนาพะเยาหรือเมืองภูกามยาวในอดีต
เมื่อปี พ.ศ. 2440 ปู่น้อยจักร ปู่หน่อ และแม่ฮับเฮือน ซึ่งทั้งสามอพยพมาจากหมู่บ้านทุ่งต้นศรี เมื่อเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีทำเลที่ตั้งที่ดี มีน้ำไหลผ่านตลอดปีเหมาะแก่การทำมาเลี้ยงชีพได้ ได้เข้ามาก่อตั้งหมู่บ้านผาช้างมูบ ขึ้น ซึ่งจากเดิมที่มี 2-3 ครอบครัวและมีการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ และมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี พ.ศ.2450
ที่มาของชื่อหมู่บ้านเกิดจากการเล่าขานกันมาว่า เมื่อสมัยพุทธกาลจนกาลเวลาผ่านไปล่วงเลยมาจนกระทั่งมีผู้ไปพบเห็นซากปรักหักพังของพระหินและพบช้างหินที่มีลักษณะเป็นรูปช้างมูบ จนต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่ง เดินธุดงค์มาจากทางทิศใต้ ได้สอบถามถึงผาช้างมูบ ดังกล่าว เมื่อพบผาช้างมูบตัวพระธุดงค์รูปนั้นได้ใช้ตะขอไม้ไผ่เกี่ยวหัวช้างให้ลุกขึ้น เมื่อช้างหินลุกขึ้นปรากฏว่าใต้ท้องช้างหินนั้นเป็นแอ่งกระทะที่เต็มไปด้วยทองคำ พระธุดงค์รูปนั้นจึงใช้ฝาบาตรตักเพียงหนึ่งฝาเท่านั้นและได้บอกให้ชายที่นำทางไปตักตามใจชอบ ชายผู้นั้นจึงใช้ฝักมีดตักเพียงหนึ่งฝักเท่านั้น เมื่อพระธุดงค์จากไปชายผู้นั้นเกิดรู้สึกอยากได้มากขึ้น จึงกลับไปยังผาช้างมูบและพยายามใช้ตะขอไม้ไผ่ที่พระธุดงค์ทิ้งไว้เกี่ยวหัวช้างขึ้น แต่ไม่สำเร็จ ช้างหินไม่ขยับเขยื้อน จนในที่สุดตะขอไม้ไผ่หักลง ทันใดนั้นได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เกิดมีฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบฟ้าร้อง ฝนตกกระหน่ำอย่างรุนแรง จากนั้นจึงไม่มีผู้ใดพบเห็นช้างหินตัวนั้นอีกเลย เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนกระทั่งมีการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นและมีผู้คนไปพบซากปรักหักพังของพระหินและผาช้างมูบ ซึ่งไม่ทราบว่าสร้างในยุคสมัยใด จึงเรียกกันต่อ ๆ มาว่า “บ้านผาช้างมูบ”
บ้านผาช้างมูบ ชื่อเดิมคือ “บ้านดง” จัดตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2430 บ้านผาช้างมูบ ชื่อเดิมคือ “บ้านดง” จัดตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2430 โดยมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐาน ประมาณ 5-6 ครัวเรือนสาเหตุที่เรียกบ้านดงหรือบ้านปางวัว เพราะมีราษฎรที่มีอาชีพเลี้ยงวัว-ควาย นำวัวและควายของตนเองมาเลี้ยงอยู่บริเวณดังกล่าว และเกิดการสร้างบ้านพักอาศัยติดตามมาภายหลัง ต่อมาเมื่อราษฎรเริ่มเข้ามาอยู่กันเพิ่มจำนวนมากขึ้น ต่อมาได้มีชาวบ้านได้เจอก้อนหินก้อนหนึ่งซึ่งมีรูปร่างเหมือนช้างมูบ ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างพระธาตุครอบทับก้อนหินดังกล่าวไว้ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ และได้ตั้งชื่อพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุผาช้างมูบ” โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2472 ซึ่งเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 7 หรือตรงเดือน 9 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี (หรือตรงกับเดือนพฤษภาคม ของทุกปี)
พ.ศ.2472 ได้มีการสร้างพระธาตุผาช้างมูบแล้วเสร็จโดยมีพระครูเสาร์ ครูบาวงค์ วัดสันปูเลย พระอินเถิง วัดบ้านต๋อมดง พระกัณหา วัดบ้านสันป่าม่วง และพระวรรณ วัดบ้านสันบัวบก ร่วมนำชาวบ้านก่อสร้างพระธาตุและได้เริ่มสมโภชฉลองพระธาตุขึ้นในปี พ.ศ.2477 และมีประเพณีทำบุญพระธาตุตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กำหนดให้มีการทำบุญพระธาตุทุก ๆ ปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของทุก ๆ ปี
พ.ศ. 2480 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนบ้านผาช้างมูบ และเมื่อตำบลบ้านต๋อมมีหมู่บ้านขยายมากขึ้นจึงมีการแบ่งเขตตำบลขึ้นมาใหม่ ชื่อตำบลสันป่าม่วงและบ้านผาช้างมูบจึงได้ขึ้นกับตำบลสันป่าม่วง ปัจจุบัน คือ บ้านผาช้างมูบ หมู่ที่ 1 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
พ.ศ. 2485 ได้มีการเริ่มทำการเกษตรโดยการปลูกพืชเศรษฐกิจ มีการรวมกลุ่มการเพาะปลูกผัก เริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ และขยายกลุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
พ.ศ. 2502 มีการสร้างวัดพระธาตุผาช้างมูบขึ้นใหม่จากเดิมที่สร้างบริเวณพระธาตุมาเป็นที่ใหม่ โดยมีแกนนำเป็นพ่ออุ้ยผัด พ่อน้อยตา พ่อน้อยหวัน พ่อหนานเสาร์ พ่อหนานฮ่วน พ่อคำตั๋น พ่อโต๋ พ่อชุม พ่อก่ำ ซึ่งสาเหตุที่ย้ายคือสถานที่ประกอบพิธีทางสงฆ์ คับแคบ จึงเป็นวัดผาช้างมูบจนถึงปัจจุบัน
ประมาณปี พ.ศ. 2519 สมัยพ่อหลวงฮ่วนได้มีการตัดถนนโดยขณะนั้นถนนที่เข้าหมู่บ้านเป็นทางเกวียน ต่อมาได้เริ่มมีไฟฟ้ารวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี เช่น โทรทัศน์ขาวดำ จากการเข้ามาของไฟฟ้าได้ไม่นานได้มีการตัดถนนผ่านหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง 1 ปีถัดมา
พ.ศ. 2542 เริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มการเรียนรู้และสานผักตบชวา มีการก่อตั้ง อบต. สันป่าม่วง ขึ้น และในปีถัดมาได้มีการจัดตั้งประปาหมู่บ้านขึ้นเพื่อลดปัญหาน้ำใช้ไม่เพียงพอ
พ.ศ. 2549 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าอาวาสวัดผาช้างมูบใหม่
พ.ศ. 2557 หมู่บ้านได้มีการสร้างลานอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน
รายนามผู้ใหญ่บ้านผาช้างมูบ
1. นายโผก | ไม่ทราบนามสกุล | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
2. นายเหล็ก | ปันทอง | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
3. นายมา | ยาดี | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
4. นายผัด | ดูพร้อม | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
5. นายมูล | ปันของ | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
6. นายเสาร์ | ใหม่ยศ | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
7. นายคำ | คำหม้อ | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
8. นายมูล | ปันของ | ดำรงตำแหน่ง ไม่ทราบ พ.ศ. |
9. นายเสาร์แก้ว | ชาวน่าน | ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2501-2522 |
10. นายทองสุข | สืบเครือ | ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2523-2527 |
11. นายหยวด | ยาดี | ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2528-2553 |
12. นายฮ่วน | ยาดี | ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2533-2537 |
13. นายจันทร์ | ใหม่ยศ | ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2537-2538 |
14. นายอำพร | เครือวัลย์ | ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2539-2544 |
15. นายประดิษฐ์ | ทวีโล | ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2544-2554 |
16. นายรุ่งเรือง | กันตรี | ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน |
ลักษณะทั่วไป เป็นพื้นที่เชิงเขามีแม่น้ำไหลผ่านจากอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อมในให้ชาวบ้านได้ใช้ในการประกอบการเกษตรกรรม โดยชาวบ้าน เรียกว่า ประปาภูเขา มีทุ่งนาล้อมรอบหมู่บ้าน มีพื้นที่โดยรวม 1,602 ได้แก่ พื้นที่ 2 ใน 3 ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ของวัดอนาลโย ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ทำการเกษตร และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสันป่าบง หมู่ที่ 6 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านทุ่งต้นศรี หมู่ที่ 2 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่ต๋อมใน หมู่ที่ 7 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูนแต่ในอดีตจะสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้ว เพื่อแสดงขอบเขตของบ้านแต่ละหลังและมีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันจึงมีความมั่นคงถาวรมีรั้วกั้นแสดงขอบเขตของแนวที่ดินของบ้านแต่ละหลังเป็นส่วนใหญ่ ภายในบริเวณบ้านที่เป็นพื้นที่ว่างจะมีการแบ่งสัดส่วนของการเลี้ยงสัตว์จำพวก เป็ด ไก่ วัว หมู และบริเวณโดยรอบบ้านจะมีพืชผักสวนครัวเป็นผักปลอดสารพิษปลูกไว้รับประทานเองและส่งขาย เป็นที่กล่าวขานว่าเป็น “หมู่บ้านผักปลอดสารพิษ” ที่ได้มีการรณรงค์การปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ จนมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานไปทั่วทั้งจังหวัดพะเยาต้นไม้ที่นิยมปลูกในบริเวณบ้านส่วนใหญ่จะเป็น มะม่วง ลำไย ขนุน ซึ่งนิยมปลูกแทบจะทุกครัวเรือน ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง และมีไฟฟ้าภายในหมู่บ้านทำให้ประชาชนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ประชาชนบ้านผาช้างมูบ หมู่ที่ 1 นับถือศาสนาพุทธ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่ประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดผาช้างมูบ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน และเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เป็นสถานที่ทำบุญและทำกิจกรรมของหมู่บ้าน เป็นสถานที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชน มีศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้านเป็นที่ประชุมและจัดกิจกรรมภายในหมู่บ้าน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งหมู่บ้านผาช้างมูบ หมู่ที่ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนาในฤดูทำนา การเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู หาของป่า ทำสวน รับจ้าง และจักสานในฤดูแล้ง ประชาชนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน และมีบทบาทสำคัญในการปกป้องรักษาวงศ์ตระกูลและชุมชน มีเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลและเครือญาติ ให้การยอมรับกฎการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนให้มีความรักใคร่สามัคคี ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนบ้านผาช้างมูบ มีความอยู่เย็นเป็นสุขจากรากฐานความคิดที่ผูกโยงกับระบบเดิม ชาวบ้านได้ยึดถือขนมธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ จากอดีตถ่ายทอดสู่บุตรหลานปัจจุบัน
วัฒนธรรม ประเพณี
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : มีการตานข้าวใหม่หรือบุญข้าวใหม่ในช่วงระหว่างสิ้นปี กับวันขึ้นปีใหม่ โดยการนำข้าวสารหรือข้าวเปลือกหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวไปถวายที่วัดในวันสิ้นปี มีทำบุญตักบาตรในวันสิ้นปีและประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : การทำบุญตักบาตร ฟังธรรมในวันพระ และการเข้าวัดทำบุญในวันมาฆบูชา
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ประเพณีปอยหลวง เป็นงานฉลองถาวรวัตถุของวัด หรือการฉลองสิ่งก่อสร้างที่ชาวบ้านในหมู่บ้านร่วมกันทำขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ซึ่งนิยมฉลองหลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว เพื่ออุทิศสิ่งก่อสร้างเป็นของสงฆ์และอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชน
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ประเพณีสงกรานต์ ปีใหม่เมือง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ช่วงวันที่ 13-16 เมษายน จะร่วมกันแห่สรงน้ำพระมหาสงกรานต์ ประเพณีขนทรายเข้าวัด การขนทรายนิยมกันทั้ง 3 วัน คือวันสังขานล่อง วันเนาว์ และวันพญาวัน แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือวันเนาว์ มีการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่หรือบุคคลที่นับถือในชุมชน การดำหัวในความหมายทั่วไปนั้นหมายถึงการ "สระผม" แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี หมายถึง การชำระสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสปราดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ ช่วงวันที่ 17-18 เมษายน จะมีการสืบชะตาหรือสืบชาตา หรือการต่ออายุสืบชะตากำเนิดให้ยืดยาวออกไป หมายถึงต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : วันเพ็ญเดือน 7 หรือตรงเดือน 9 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี (หรือตรงกับเดือนพฤษภาคม ของทุกปี) ประชาชนทั้งตำบลบ้านต๋อมและตำบลสันป่าม่วง จึงได้จัดประเพณีสรงน้ำพระธาตุผาช้างมูบ ขึ้นเป็นประจำทุกปี, ประเพณีประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : พิธีไหว้พระธาตุ และประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้าน มีการเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ที่วัดบ้านเหยี่ยน
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ชาวบ้านมีการทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่แห่งชาติและวันพระ
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : พิธีตานขันข้าวให้บรรพบุรุษ เป็นการถวายสำรับกับข้าวหรือถวายถาดใส่ข้าวและอาหาร เพื่ออุทิศหาบรรพชน
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : งานทำบุญตานก๋วยสลากภัตร ชาวบ้านจะนำก๋วยสลากถวายแด่พระสงฆ์และมีการหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือเจ้ากรรมนายเวร และงานทอดกฐินโดยชาวบ้านจะนำข้าวของ เครื่องใช้ จตุปัจจัยนำไปถวายที่วัด
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ประเพณีลอยกระทงจัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณียี่เป็ง ช่วงตอนเย็นจะมีงานลอยกระทง การปล่อยโคมลอย
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักตบชวาผาช้างมูบ
- พระธาตุผาช้างมูบ
- อ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม
- แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแปลงสาธิตผักปลอดภัยจากสารพิษ
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านผาช้างมูบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้จาก: http://ourkingthai.com/
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมป่าไม้. (ม.ป.ป.). ป่าชุมชนบ้านผาช้างมูบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://forestinfo.forest.go.th/