ชุมชนชาติพันธุ์หมู่บ้านญัฮกุร เป็นชุมชนวิถีมอญเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และยังคงมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ
ชุมชนชาติพันธุ์หมู่บ้านญัฮกุร เป็นชุมชนวิถีมอญเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และยังคงมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ
ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าชาวญัฮกุรที่บ้านไร่นี้มาจากไหน รู้เพียงว่าย้ายมาจากหมู่บ้านเก่าหลายที่ด้วยกัน ถ้าย้อนกลับไป ราว 50-70 ปีก่อน ชาวญัฮกุรไม่ได้ตั้งหลักแหล่งแน่นอน แต่ก็นานๆครั้งจะ ทำการย้ายหมู่บ้านกันสักครั้งหนึ่ง สาเหตุของการย้ายหมู่บ้านมี 2 เหตุผล หลักคือ เกิดโรคระบาด และพื้นที่ไร่เลื่อนลอยอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านเกินไป ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านไร่ย้ายจากช่องตับเต่า ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไร่ไปทาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 4.3 กิโลเมตร บ้านวังอ้ายโพธิ์ก็ย้ายหมู่บ้าน ห่างออกมา 3 กิโลเมตร เพราะเกิดโรคระบาด เป็นต้น
การเคลื่อนย้ายของชาวญัฮกุรในระยะทางไกลนี้มีเหตุผลมาจากการแสวงหาพื้นที่ทำกินและการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมเครือญาติเป็นหลัก ส่วนเรื่องการค้าไม่ใช่เหตุผลหลักของการเดินทาง เส้นทางการเคลื่อนย้ายของชาวญัฮกุรมักเดินทางตามแนวชายขอบที่ราบสูงโคราชตั้งแต่เขตเทือกเขาพนมดงรักขึ้นไปยัง เขาสันกำแพง เขาพังเหย และเขาเพชรบูรณ์เป็นหลัก
นอกเหนือจากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานข้างต้นแล้วยังพบว่าชาวญัฮกุรเป็นกลุ่มคนที่มีเรื่องเล่าประเภทนิทานและตำนานอยู่มากพอควร มี 2 เรื่องที่น่าสนใจ เรื่องแรกเล่ากันสั้นๆ ว่า “กลอยเป็นแม่ตัวข้าวเป็นแม่ เลี้ยง เดือยเลี้ยงลูกไม่ได้จึงอกแตกตาย” เป็นต้น เรื่องพวกนี้สะท้อนให้เห็นว่าอาจเป็นกลุ่มคนตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์หรืออยู่ในสังคมที่เคยมีการค้น พบข้าว แต่จากการสำ รวจในพื้นที่ อ.เทพสถิต ยังไม่เคยมีการพบขวานหิน ขัดแต่อย่างใด เรื่องที่สอง เป็นเรื่องการทำสงครามกับชาวเขมรมีหลายสำนวน หนึ่งในนั้นคือเล่าว่า “ในสมัยก่อน ชาวญัฮกุรเคยทำสงครามแย่งปราสาทกับชาว เขมร ชาวญัฮกุรแพ้จึงต้องอพยพหนีขึ้นมาอยู่บนภูเขา” เรื่องเล่านี้มีความน่าสนใจ เพราะด้านหนึ่งคือปัจจุบัน ชาวญัฮกุรไม่ได้อยู่ใกล้กับชาวเขมรอีกแล้ว และในภาษาของชาวญัฮกุรเอง เรียกชาวเขมรว่า “คะเมร” ซึ่งเป็นคำเรียกเก่าของชาวเขมรที่ยังทิ้งร่องรอย ไว้ในภาษาญัฮกุร
ในอีกด้านหนึ่งเรื่องเล่าสั้นๆ นี้อาจจะช่วยตอบคำถามว่า ชาวญัฮกุรมาจากไหน จากข้อมูลประวัติศาสตร์แสดงว่าชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ในเขต พื้นที่เทพสถิตอย่างน้อยที่สุดราว 100 ปีมาแล้ว และในอดีตมีการเดินทาง ติดต่อกันอยู่เสมอผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่า ชาวญัฮกุรติดต่อกันเฉพาะภายในกลุ่ม แต่ยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยผ่านการค้าอีกด้วย
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับกับที่รายเนินเขา ประกอบไปด้วยภูเขาต่างๆ เช่น เขาพังเหย มีความสูงประมาณ 200 - 800 เมตร ทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหมวดหินภูพานหมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง เป็นหินในระหว่างช่วงเวลาประมาณ 180 - 230 ล้านปี ยุคจูแลสสิกและไทรแอสสิก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารลุ่มน้ำชี (แม่น้ำชี) ลำน้ำสนธิ ซึ่งไหลลงแม่น้ำป่าสักมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ เช่นป่าไม้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ป่าหินงาม ทุ่งดอกกระเจียว น้ำตกตามธรรมชาติ .
ประชากร
การตั้งบ้านเรือน จะอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม มีบางพวกอพยพหนีเข้าไปอยู่ในป่าลึก หรือบนภูเขาสูงขึ้นไป ชาวบ้านใช้แสงไฟจากตะเกียงเป็นส่วนใหญ่ อาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ฤดูแล้งจะใช้น้ำซับซึ่งมีตลอดปี มีอาชีพทำไร่ปลูกข้าวตามไหล่เขา ใช้วิธีปลูกแบบขุดหลุมหยอดที่เรียกข้าวไร่ตอนเก็บเกี่ยวก็ใช้มือรูดเมล็ดข้าวออกจากรวง ใส่กระบุงแทนการเกี่ยวข้าว นอกจากข้าวแล้วยังปลูกข้าวโพด กล้วย ละหุ่ง มันสำปะหลัง มะเขือ พริก เป็นต้น มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ และหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน ผึ้ง กบ เขียด และมีความสามารถในการจักสานโดยเฉพาะสานเสื่อ
การแต่งงาน
ในอดีตชาวญัฮกุรเป็นกลุ่มคนที่นิยมทำไร่ข้าวและล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าไม้ มีความเชื่อในเรื่องภูตผีและ วิญญาณ เวทมนต์คาถา มีวิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะตน แต่งงานในกลุ่มชนเผ่าเดียวกัน การสร้างบ้านเรือนจะไม่ถาวร สามารถเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใหม่ได้ นิยมใช้ไม้ที่หาได้จากป่ามาสร้างบ้าน หลังคามุงด้วยตับ หญ้าคา ยกพื้นสูง ฝาบ้านและพื้นเป็นไม้ไผ่ เมื่อแต่งงานกันฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายเข้าไปอยู่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง
ชาติพันธุ์
ญัฮกุร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศไทยกลุ่มหนึ่งมีประวัติศาสตร์การตั้ง ถิ่นฐานอยู่ในแถบเทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาสันกำแพง ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดตัว ต่อเนื่องกันในแนวตั้งจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ ระหว่างภาคเหนือตอนล่างกับภาคกลางและภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ
ญัฮกุร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ ปัจจุบันหากมองอย่างผิวเผิน พวกเขาอาจเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริงชาวญัฮกุรเป็นกลุ่มคน ทางประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานานกว่าคนไทยหรือคนไทยอีสาน เพราะพวกเขาตั้งถิ่น ฐานอยู่ในพื้นที่แถบนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ชาวญัฮกุรในอดีตมีคนนอกกลุ่มเรียกพวกเขา ว่า “คนดง” หรือ “ชาวบน” แต่สำหรับพวกเขา เรียกตัวเองว่า “ญัฮกุร” ซึ่งหมายถึง “คนภูเขา” (ญัฮ แปลว่า คน กุร แปลว่า ภูเขา) และยังมีการเรียกตัวเองตามพื้นที่ คือ ชาวญัฮกุรจังหวัดเพชรบูรณ์ เรียกว่าตัวเองว่า “ละว้า” ชาวญัฮกุรเขตจังหวัดนครราชสีมาเรียกตัวเองว่า ชาวบน และชาวญัฮกุรจังหวัดชัยภูมิเรียกตัวเองว่า “ชาวดง”
ถิ่นกำเนิดของชาวญัฮกุร ตามการศึกษาทางประวัติศาสตร์จากการสำรวจของอีริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) ในช่วงปี พ.ศ. 2461 – 2464 หรือเกือบ 100 ปีมาแล้วได้พบว่า มีชาวญัฮกุรตั้งถิ่นฐาน อยู่บริเวณเชิงเขาพนมดงรัก เขตรอยต่อจังหวัดนครราชสีมากับปราจีนบุรี เชิงเขาพังเหย จังหวัดชัยภูมิ และเชิง เขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์อยู่แล้ว โดยในพื้นที่เชิงเขาพังเหย จังหวัดชัยภูมินั้นมีการตั้งถิ่นฐานที่ ตรวจสอบได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 ได้ค้นพบแหล่งโบราณคดีบริเวณบ้านไร่ มีโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาแบบเขมรและเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้
ทั้งนี้จากการเทียบภาษาชาวญัฮกุรของนักภาษาศาสตร์ได้สันนิษฐานว่าอยู่ในกลุ่มภาษาเชื่อมโยงกับมอญสมัยทวารวดี แต่ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัด หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากงานวิจัยได้มีการศึกษาประชากรในกลุ่มชาวบนหรือญัฮกุร บ้านวังอ้ายโพธิ์ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ กับชาวมอญใน เขตอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยการวิเคราะห์พันธุกรรม ผลการวิจัยได้ระบุว่าชาวบนในเขตอำเภอ เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิเป็นกลุ่มดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาก่อนที่ชาวเขมรและกลุ่มคนที่พูดภาษา ตระกูลไท-กะไดจะเข้ามาครอบครองดินแดนแห่งนี้ ชาวบนกลุ่มนี้จึงมีถิ่นกำเนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เท่านั้น โดยผลการวิจัยพบว่าเป็นกลุ่มประชากรที่เกิดการผสมเลือดชิดเนื่องจากประเพณีนิยมการแต่งงานภายในกลุ่ม
ญัฮกุรหมู่บ้านญัฮกุร เป็นหมู่บ้านมอญโบราณยุคทวารวดี ตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านไร่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เป็น 1 ใน 9 ชุมชนนำร่องแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในโครงการของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ นี้ได้เปิดบ้านเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าของวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติ
ชาวบนนับถือศาสนาพุทธ และเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ นิยมแต่งงานในหมู่พวกเดียวกัน มีการละเล่น เป่าใบไม้ บางครั้งใช้เป็นสัญญาณเรียกหากัน มีการเล่นเพลงพื้นบ้านเรียกว่า กระแจ๊ะ หรือ ปะเรเร เป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง ฝ่ายหญิงเป็นผู้ตีโทนให้จังหวะ เนื้อหาเป็นการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว
นอกจากนี้ยังมีประเพณีสงกรานต์ ประเพณีกระแจ๊ะหอดอกผึ้ง ประเพณีแห่พระและจุดพลุ ประเพณีแต่งงาน ชาวบนไม่รู้จักกรรมวิธีการทอผ้า แต่จะปลูกฝ้ายเพื่อไปแลกกับผ้าทอของคนกลุ่มไทยและลาว ปัจจุบันในชีวิตประจำวันมักแต่งกายเหมือนคนไทยทั่วไป
ฟ้อนผีฟ้า นิยมจัดเป็นงานประจำปีในเดือน 5 ประมาณเดือนเมษายน เป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า "พญาแถน" หรือ เทวดา ที่สถิตอยู่บนท้องฟ้าเพื่อขอความเป็นสิริมงคล อัญเชิญท่านเข้าร่างทรงให้ลงมาช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยแก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมในพิธี ทั้งยังมีการเชิญเจ้าเข้าทรงรักษาอาการเจ็บไข้ของผู้ป่วยเป็นรายๆไป
พิธีกรรมผู้ฟ้อนผีฟ้ามีทั้งชายและหญิง เป็นผู้สูงอายุ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง แบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 14-15 คน มีคนเป่าแคนคนหนึ่ง เมื่อพร้อมจะนำเครื่องเซ่นได้แก่หมากเบ็ง หรือพานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียนผ้าไตรจีวรแป้งหอม น้ำอบ อาหารคาว-หวาน มีข้าวเหนียว ไข่ต้ม และของกินพื้นเมืองนำไปตั้งบูชานำดาบที่สะพายติดตัวมา 3-4 เล่มวางรวมกัน จุดธูปเทียน แม่ใหญ่เป็นผู้นำทำพิธี เรียกว่าหมอทรง นางทรง หรือนางเทียม นำสวดมนต์อาราธนาศีลรับศีลห้า กล่าวขอขมาลาโทษที่รบกวนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอัญเชิญเจ้าผู้เป็นใหญ่ให้มาเข้าทรง เอาแป้งโรยไปบนเครื่องเซ่น แจกแป้งหอมและน้ำอบไทยทากันทั่วทุกคน จากนั้นจึงฟ้อนไปรอบๆ ต่างคนต่างรำ บ้างกระทืบเท้าให้จังหวะ ตามเสียงแคน ฟ้อนเดินเป็นวงกลมเวียนไปทางขวามือของหมอแคน คนฟ้อนจะหยุดเมื่อแคนหยุดเป่า และจะเดินไปกราบที่เจ้าพ่อพระยาแล เป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า"พญาแถน"หรือเทวดาที่สถิตอยู่บนท้องฟ้า
การวิ่งขาโถกเถก ใช้ไม้ไผ่กิ่ง 2 ลำ ถ้าไม่มีก็เจาะรูแล้วเอาไม้อื่นๆ สอดไว้เพื่อให้เป็นที่วางเท้าได้ วิธีการเล่นผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรงๆ ที่มีกิ่ง 2 ลำที่กิ่งมีไว้สำหรับวางเท้าต้องเสมอกันทั้ง 2 ข้างผู้เล่นขึ้นไปยืนบนแขนงไม้ เวลาเดินยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่ก็จะยกข้างนั้น ส่วนมากเด็กๆ ที่เล่นมักจะมาแข่งขันกันใครเดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ การวิ่งขาโถกเถก ถือเป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกโอกาส โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้วยังเป็นเครื่องมือในการออกกำลังกายบริหารส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี เดิมผู้ที่ใช้ขาโถกเถกเป็นชายหนุ่มไปเกี้ยวสาว เสียงเดินจากไม้เมื่อสาวได้ยินก็จะมาเปิดประตูรอ เพื่อพูดคุยกันตามประสาหนุ่มสาว หรือบ้านสาวเลี้ยงสุนัข ไม้โถกเถกยังเป็นอุปกรณ์ไล่สุนัขได้
ภาษา ชาวบนพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร สาขามอญ เพราะมีความใกล้เคียงกับภาษามอญโบราณ และมอญปัจจุบันมากกว่าเขมร ชาวบนที่ชัยภูมิ จัดอยู่ในภาษาญัฮกุรถิ่นใต้ ปัจจุบันชาวบนถูกกลืนด้วยประเพณีวัฒนธรรมอีสานอย่างรวดเร็ว มีบางหมู่บ้านเท่านั้นที่พูดภาษาถิ่นของตนเองได้ เหตุด้วยไม่มีการเขียน จึงทำให้ชาวบนถูกกลืนได้อย่างรวดเร็ว ชาวบนพูดภาษามอญโบราณได้จะมีเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป นอกจากนั้นใช้ภาษาถิ่น
ปัญหาด้านที่ดินทำกิน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่บ่งบอกถึงความมั่นคงในการดำรงชีวิต เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ตั้งถิ่นฐานและพื้นที่ทำกินของชาวญัฮกุรโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเทพสถิต จังหวัด ชัยภูมิ อำเภอเมืองและอำ เภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และบางส่วนในอำเภอปักธงชัย จังหวัด นครราชสีมา ที่ดินทำกินยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ
ปัญหาด้านเอกลักษณ์หรืออัตลักษ์ด้านภาษาพูดที่ถดถอยลงไป โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ชาวญัฮกุร เป็นคนกลุ่มน้อย เช่น ในพื้นที่ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ การปะปนอยู่ร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ที่พูดภาษาไทยโคราช และภาษาไทยกลาง จึงทำให้ชาวญัฮกุรใน พื้นที่มีการใช้ภาษาญัฮกุรลดลงและ/หรือเพี้ยนไปตามอิทธิพลของภาษาไทย โดยคนที่อายุเกินกว่า 40 ปีขึ้นไปจะพูดภาษาญัฮกุรได้ ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาจะไม่มีการพูดภาษาญัฮกุรเลย
ชนเผ่าพื้นเมืองญัฮกุร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://iwgia.org/images/publications/new-publications/Yakoor_report_Thailand_synthesis_report_Thai.pdf
นราธิป ทับทัน. (2557). การศึกษาบ้านและหมู่บ้านของชาวญัฮกุร จังหวัดชัยภูมิ. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, 18(1). 19-34.
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (2559). โบราณคดีและชาติพันธุ์ในเขตหมู่บ้านชาวญัฮกุร ที่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ. วารสารดำรงวิชาการ, 15(1). 11-39.
ศุภิสรา ประเสริฐ. (2551). “แนวทางและรูปแบบการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการพัฒนาขนบธรรมเนียม ประเพณีกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุรเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ”. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
อาภาวดี ทับสิรักษ์. (2555). “การพัฒนาศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชาวญัฮกุร อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ”. การศึกษาอิสระปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.