Advance search

แหล่งกักเก็บน้ำสำคัญ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม เป็นบริเวณที่มีสายน้ำกว้างใหญ่ มีทุ่งหญ้าเขียว และมีภูเขาสูงชัน ต้นไม้เรียงรายอย่างสวยงาม เป็นจุดต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ 2 สายคือ ลำน้ำแม่แก้ว และลำห้วยแม่ปืม ทำให้ที่นี่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

หมู่ที่ 5
บ้านไร่อ้อย
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
19 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
28 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
25 ก.ค. 2023
บ้านไร่อ้อย

ชาวบ้านสมัยนั้นนิยมปลูกอ้อย เคี่ยวน้ำอ้อยขายเป็นอาชีพเสริม โดยขายในราคากิโลกรัมละ 2 สตางค์ หมู่บ้านจึงมีชื่อเรียกว่า บ้านเหล่าอ้อย ปี พ.ศ. 2497 ได้ขอตั้งโรงเรียนชื่อว่าโรงเรียนแม่ใจ 5 (ปัจจุบันโรงเรียนบ้านไร่อ้อย) ก่อตั้งโดยนายบุญมี คำอ้าย โดยมีนายอินเหล็ง วรรณจักร เป็นครูใหญ่คนแรก ชื่อหมู่บ้านเรียกว่า บ้านไร่อ้อย ตั้งแต่บัดนั้น


แหล่งกักเก็บน้ำสำคัญ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม เป็นบริเวณที่มีสายน้ำกว้างใหญ่ มีทุ่งหญ้าเขียว และมีภูเขาสูงชัน ต้นไม้เรียงรายอย่างสวยงาม เป็นจุดต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ 2 สายคือ ลำน้ำแม่แก้ว และลำห้วยแม่ปืม ทำให้ที่นี่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

บ้านไร่อ้อย
หมู่ที่ 5
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.35455696
99.84742597
เทศบาลตำบลบ้านเหล่า

พ.ศ. 2445 ยังไม่มี พรบ.นามสกุล และได้มีครอบครัวที่อพยพมาทั้งหมด 9 ครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวที่ 1 นายมูล นางปุก นายสาร นางเกี้ยว ชาวบ้านหนองแหวน ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และครอบครัวที่ 2 พญาจุมปู แม่พญาคา บ้านผึ้งนาเกลือ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ครอบครัวที่ 3 นายนะ นางนา จากบ้านปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ได้นำลูกหลานอพยพหนีความแห้งแล้ง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเหล่าหลวง ตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านเหล่าใหม่” สาเหตุที่เรียกชื่อว่าบ้านเหล่า ก็คือแต่แรกมีแต่ป่าไม้เป็นเหล่าเป็นกอ ป่าไม้ก็เยอะ และป่าละเมาะ เป็นแหล่งสัตว์ป่า เสือ ช้าง หมาป่า เป็นที่น่ากลัว (สมัยนั้นมีการไล่ล่า เป่าดอก) หรือล่าสัตว์นั้นเอง บ้านเหล่าใหม่ขึ้นกับการปกครองของนายผัด (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลใจใต้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ต่อมามีครอบครัวที่ 4 ของนายเมา-นางพา บ้านผึ้งนาเกลือ ครอบครัวที่ 5 นายท่อน-นางคำ จากบ้านป่าจ๊ำ ครอบครัวที่ 6 นายมูล-นางก๋องแก้ว จากบ้านวังพร้าว ครอบครัวที่ 7 นายต๊ะ-นางแจ้น ครอบครัวที่ 8 นายมี-นางคำ จากบ้านสาด อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางพร้อมญาติพี่น้อง ครอบครัวที่ 9 พ่อหนานสม-แม่ปั๋น พ่อเหมย-แม่แก้วมา ได้อพยพมาอยู่ด้วยกันและก็มีญาติ เพื่อน ตามมาอยู่เรื่อย ๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ได้มี พรบ.นามสกุลขึ้นมาในรัชสมัย ร.6 โดยครอบครัวที่อพยพเข้ามาก็ได้นามสกุลดังนี้

  • ครอบครัวที่ 1 ได้นามสกุล “ใจประการ”
  • ครอบครัวที่ 2 ได้นามสกุล “ใจจุมปู”
  • ครอบครัวที่ 3 ได้นามสกุล “จุมปูนา”
  • ครอบครัวที่ 4 ได้นามสกุล “จินะวรรณ”
  • ครอบครัวที่ 5 ได้นามสกุล “ท่อนคำ”
  • ครอบครัวที่ 6 ได้นามสกุล “ปะละอ้าย”
  • ครอบครัวที่ 7 ได้นามสกุล “เมืองฟอง”
  • ครอบครัวที่ 8 ได้นามสกุล “ทะนันใจ”
  • ครอบครัวที่ 9 ไม่ทราบนามสกุล

พ.ศ. 2459 มีการขออนุญาตตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลชั่วคราว แต่คณะศรัทธาวัดเหล่าหลวง (หรือเหล่าเก่า) ไม่ยินยอมให้ตั้งเพราะกลัวว่าวัดเดิมจะมีศรัทธาน้อยลง กลัวจะลำบากในการอุปฐากพระภิกษุสามเณร จึงตั้งไม่สำเร็จแต่ด้วยความพยายามของชาวบ้านซึ่งมีอยู่ 50 กว่าหลังคาเรือน จึงได้ไปกราบนมัสการพระครูเมธัง วัดสันผักฮี้ เจ้าคณะแขวงอำเภอพาน พอได้รับอนุญาตแล้วจึงไปอาราธนานิมนต์พระธัมชัย (ตุ๊ลุงใจ) วัดสันต้นหวีด ตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยาเป็นเจ้าอาวาส ในปี 2459 ไตว่าปีเปิ๊กสี (ปีมะโรง) วันพฤหัสบดี เดือนเก้าเหนือดับ (เหนือแรม 14 ค่ำ) แต่หมู่บ้านก็ยังคงขึ้นกับการปกครองของนายมัด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 (บ้านเหล่าหลวง) บ้านเหล่าใหม่แห่งนี้จึงได้ตั้งชื่อวัด ชื่อว่า “วัดศรีดอนมูลเหล่าใหม่” ส่วนบ้านเหล่าหลวงในสมัยนั้นมีชื่อว่าเรียกว่าบ้านเหล่าเก่าเนื่องจากสภาพหมู่บ้านมีร่องน้ำ ซึ่งไหลมาจากลำน้ำแม่ปืม ไหลลงมาทางป่าช้าสันคอกม้า ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ไหลลงที่หนองเล็งทราย ผ่านทางท่าลอป่าพ้าว หมู่บ้านเหล่าใหม่นิยมปลูกอ้อยแล้วทำน้ำตาลทรายทั้งหมู่บ้าน ต่อมาถึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านตามอาชีพ

พ.ศ. 2460 ไตรว่าปีเบิกสี (ปีมะโรง) วันพฤหัสบดี เดือน 9 เหนือดับ แต่หมู่บ้านก็ยังคงขึ้นกับการปกครองของนายผัด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านเหล่าหลวงเหมือนเดิม ในการที่ได้ตั้งวัดขึ้นมาใหม่ หมู่บ้านจึงมีชื่อว่า วัดศรีดอนมูล เหล่าใหม่ ส่วนบ้านเหล่าหลวงในสมัยนั้นเรียก บ้านเหล่าเก่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศทั่วไปของหมู่บ้านนี้มีร่องน้ำเก่าๆ ไหลออกมาจากลำน้ำแม่ปืม ไหลลดคดเคี้ยวไปมา เข้าสู่หมู่บ้านและไหลลงทุ่งนาไปทางทิศเหนือป่าช้า ไหลผ่านบ้านสันคอกม้า ลงสู่หนองเล็งทรายที่เจอป่าข้าว พร้อมกับชาวบ้านสมัยนั้นนิยมปลูกอ้อย เคี่ยวน้ำอ้อยขายเป็นอาชีพเสริม โดยขายในราคากิโลกรัมละ 2 สตางค์ หมู่บ้านจึงมีชื่อเรื่องว่า บ้านเหล่าอ้อย โดยมีนายอ้าย ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก 

พ.ศ. 2462 ได้แบ่งการปกครองจากหมู่ 11 มาเป็นบ้านเหล่าอ้อย หมู่ 21 ตำบลแม่ใจใต้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีนายอ้าย ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

พ.ศ. 2484 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเหล่าอ้อยถูกสั่งให้ยกเลิกไปขึ้นกับบ้านเหล่าธาตุ หมู่ 20 ตำบลแม่ใจใต้ ในสมัยนั้นมีนายตุ้ย อุปะละ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ตำบลใจใต้ ได้เปลี่ยนเป็นตำบลแม่ใจ จากหมู่ 20 เป็นหมู่ 4 หมดสมัยนายตุ้ย อุปะละ นายเขียว ปานทอง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 หมดสมัยนายเขียว ปานทอง นายบุญมี คำอ้ายเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4

พ.ศ. 2497 ได้ขอตั้งโรงเรียนชื่อว่าโรงเรียนแม่ใจ 5 (ปัจจุบันโรงเรียนบ้านไร่อ้อย) ก่อตั้งโดยนายบุญมี คำอ้าย โดยมีนายอินเหล็ง วรรณจักร เป็นผู้อำนวยการคนแรก ชื่อหมู่บ้านเรียกว่าบ้านไร่อ้อยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และมีการคมนาคมโดยรถมุนเตอร์ โดยการใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ราคาในการเดินทางจากอำเภอแม่ใจไปที่จังหวัดพะเยา 1 บาท 50 สตางค์ ใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมง

พ.ศ. 2499 บ้านไร่อ้อยจึงได้รับการอนุมัติให้ตั้งหมู่บ้านซึ่งแยกจากหมู่ที่ 4 มาเป็นหมู่ที่ 5 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีนายปั่น ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 เป็นคนแรกและมีการเกิดโรคระบาดไข้ทรพิษ มีชาวบ้านล้มตายเนื่องจากการได้รับการรักษาที่ไม่ทั่วถึง จึงมีการรักษาโดยพ่อน้อยตุ้ย ซึ่งเป็นหมอชาวบ้าน ซึ่งได้รักษาโดยการใช้ยาดำ ยาฝน และเป่า

พ.ศ. 2499 มีหมอทหาร (ไม่ทราบชื่อและนามสกุล) ได้เข้ามามีบทบาทในการปลูกฝีดาษให้แก่ชาวบ้านไร่อ้อย

พ.ศ. 2500 มีรถจักรยานคันแรกของหมู่บ้านไร่อ้อย

พ.ศ. 2502 มีสุขาภิบาลการใช้ส้วมซึมครั้งแรกที่บ้านไร่อ้อย

พ.ศ. 2503 มีวิทยุที่ใช้ถ่าน 70 ก้อน เครื่องแรกของบ้านไร่อ้อยที่วัดศรีดอนมูล ทำให้มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

พ.ศ. 2510 ได้เลือกนายอ้าย จินะรรณ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจจังหวัดเชียงราย และนายอ้าย จินะวรรณ์ ได้เข้าอบรมเกี่ยวกับการให้บริการทางสุขภาพ จึงเป็นหมอชาวบ้านประจำบ้านไร่อ้อย

พ.ศ. 2512 ในระยะนี้มีประชากรเพิ่มขึ้นมามาก จึงได้ขอแบ่งแยกการปกครองเพิ่มเข้ามาอีก ได้แยกหมู่บ้านเป็น 2 หมู่บ้านคือแยกจากหมู่ที่ 5 เป็นหมู่ที่ 14 (คือบ้านไร่อ้อยหมู่ที่ 1 ในปัจจุบันโดยมีนายป๊อ หล้าแก้วเป็นผู้ใหญ่บ้าน (เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2512)

พ.ศ. 2515 มีถนนเข้าหมู่บ้านไร่อ้อย

พ.ศ. 2520 วันที่ 28 สิงหาคม อำเภอพะเยา. ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยาอำเภอแมใจจึงได้เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพะเยาโดยมีนายสัญญา ปารวัฒน์วิชัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก

พ.ศ. 2523 ในวันที่ 20 ธันวาคมนายอ้าย จินะวรรณ ได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาและได้มีการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้นจึงได้แต่งตั้งนายบุญมี แก้วธิตา เป็นอาสาสมัคร มาลาเรียเนื่องจากลูกชายของนายบุญมีป่วยเป็นโรคมาลาเรียมาก่อนและนายบุญมีมีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยมาลาเรียมาก่อน

พ.ศ. 2524 วันที่ 10 ธันวาคม ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยแยกจากตำบลแม่ใจเป็นตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2525 วันที่ 25 กันยายน กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะบ้านเหล่าขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่าอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา นายอ้าย จินะวรรณ์ จึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนัน ตำบลบ้านเหล่าคนแรกและได้รับนโยบายจากการอบรมองค์การอาหารและยาเกี่ยวกับกรศึกษา ความยากจนและโรคภัย ต่อมาเนื่องจากจำนวนครัวเรือนและประชากรเพิ่มหนาแน่นเข้ามาอีกจึงได้ขออนุมัติแยกหมู่บ้านจากหมู่ที่ 5 ไปเป็นหมู่ที่ 10 มีการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปืม คลองชลประทาน และเริ่มมีฟฟ้าเข้ามาเป็นครั้งแรก มิโทรทัศน์เครื่องแรกและรถยนต์คันแรก ที่บ้านนายยอด ชัยชมพู

พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้ลูกหลานคนจนได้เข้าถึงการศึกษา

พ.ศ. 2527 ได้มีการจัดตั้งอนามัยบ้านเหล่าขึ้น โดยมีนายตา ทาน ได้มอบที่ดินให้กระทรวงสาธารณสุขมีการก่อตั้งสถานีอนามัย, โดยมีพยาบาลชื่อคุณสุนันท์ อินตะมูล เป็นผู้รักษาการและได้มีสาธารณสุขมูลฐานฉบับที่5 เข้ามาที่ตำบลบ้านเหล่า. โดยมีนโยบายกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนมีการพึ่งพาและการดูแลตนเองด้านสุขภาพชุมชนโดยการผลิต ผสส. (ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข) มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การใช้สมุนไพรในท้องถิ่น โดยมีการแต่งตั้ง ผสส.ในหมู่บ้าน 1-2 คน ไปอบรมพัฒนาศักยภาพยกระดับเป็น อสม.และได้มีการแต่งตั้ง อสม. คนแรกคือนายบุญมี แก้วธิตา และนายเขียน จินะวรรณ มีสถานบริการทางสุขภาพ อนามัยบ้านไร่อ้อย

พ.ศ. 2528 สร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปืมและคลองชลประทานเสร็จสิ้น

พ.ศ. 2532 มีการระบาดของโรคเอดส์และมีผู้ป่วยที่ตายด้วยโรคเอดส์คนแรกเป็นผู้ชาย

พ.ศ. 2534 มีการแต่งตั้งนายบุญมี แก้วฮิตา เป็นแพทย์ประจำตำบล

พ.ศ. 2535 นายอ้าย จินะวรรณ์ ได้ลาออกจากการเป็นกำนันเนื่องจากครบอายุราชการ ประชาชนจึงได้เลือกนายเลื่อน เมฆอากาศ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 แทน

พ.ศ. 2539 ทำถนนคอนกรีตครั้งแรก

พ.ศ. 2540 มีผู้คนล้มตายด้วยโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก เป็นปัญหาใหญ่ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยและญาติพี่น้อง และมีนายเขียน จินะวรรณ์เป็นผู้ใหญ่บ้าน

พ.ศ. 2541 มีการใช้น้ำประปาครั้งแรก โดยผู้ใหญ่บ้านเขียน จินะวรรณ์

พ.ศ. 2542 หลังจากมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เลยมีการรวมตัวกันของผู้ป่วยและญาติของคนที่เป็นโรคเอดส์ รวมใจตั้ง "กลุ่มบ้านเหล่ารวมใจ 42" โดยมีวัตถุประสงค์คือ เป็นที่ปรึกษา สนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานกลุ่ม ผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบช่วยเหลือกันและกัน และพัฒนาศักยภาพแกนนำ

พ.ศ. 2545 มีตู้โทรศัพท์แห่งแรกในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2548 รวบรวมผู้มีจิตสาธารณะในพื้นที่จัดตั้งคณะทำงานสุขภาพภาคประชาชน ได้แก่ ชมรม อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภา โดยมีหน้าที่ค้นหาและแก้ไขปัญหาสุขภาพของตำบลบ้านเหล่า

พ.ศ. 2549 มีนายบุญมี คำอ้าย เป็นผู้ใหญ่บ้าน

พ.ศ. 2551 มีโรงน้ำดื่ม RO จัดตั้งโดย นายบุญมี คำอ้าย

พ.ศ. 2552 พัฒนาตำบลเป็นตำบลจัดการสุขภาพ โดยเน้น ชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ แอลกอฮอล์บุหรี่ อบายมุข และอุบัติเหตุ และได้คัดบุคคลต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง

พ.ศ. 2554 สร้างกองทุนสุขภาพตำบล เน้นครอบครัว อนามัยและสิ่งแวดล้อม มีสโลแกนคือครอบครัวอบอุ่น ชุมชนแข็งแรง

พ.ศ. 2555 มีการจัดตั้งชุมชนอาหารปลอดภัย

พ.ศ. 2555 เป็นชุมชนปลอดขยะ จัดการกับสิ่งแวดล้อม เน้นอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะที่ยั่งยืน

พ.ศ. 2557 จัดตั้งเป็นตำบลลดปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับอาหาร คือ ลดหวาน มัน เค็ม แอลกอฮอล์ และมีการใช้ประปาแห่งที่ 2 มาจากหนองเล็งทราย เนื่องจากน้ำประปาเดิมมีลักษณะเป็นสีแดงและขุ่น

พ.ศ. 2561 ยกเลิกน้ำดื่ม RO เปลี่ยนมาเป็นตู้กดน้ำแบบหยอดเหรียญ

พ.ศ. 2563 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโคโรนาไวรัส ทำให้ชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและวิถีชีวิต ชาวบ้านจะอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ออกไปในพื้นที่แออัด มีการสวมหน้ากากอนามัยและประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้านและมีนายเรวัต ทาน ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 จนถึงปัจจุบัน

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบระหว่างภูเขา พื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก โดยมีเทือกเขาอยู่ทางทิศตะวันออก มีอ่างเก็บน้ำแม่ปีมอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 8,600 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่การเกษตร 2,000 ไร่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 6,000 ไร่ พื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้าน 580 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 20 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านตงอินตา หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านเด่นโพธิ์ทอง หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านร้องศรีตอนมูล หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2563 มีบ้านเรือนทั้งหมด 197 หลังคาเรือน จำนวนประชาการที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 651 คน เพศชาย 320 คน เพศหญิง 331 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านไร่อ้อยเป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาถิ่นในการติดติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ 

พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูน 1 ชั้น สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร มีรั้วรอบขอบชิด ครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์

ผู้ใหญ่บ้าน : นายเรวัต ทาฟุ่น

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : นางจันตา อานนท์ชัย, นายนิกร โยธา

มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางดวงจันทร์ ยุทธาหร เป็นประธาน
  • กลุ่มตำรวจบ้าน (สตบ.) : นายมานพ ก๋าอินทร์ตา เป็นประธาน
  • กลุ่มอาสาสมัครป้องกันบรรเทาสาธารณภัย : นายสมศักดิ์ ภัคดี เป็นประประธาน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ : นายมอย ใจยะคำ เป็นประธาน
  • กองทุน กข.คจ. (แก้ไขปัญหาความยากจน) : นายบุญมี คำย้าย เป็นประธาน
  • กลุ่มแม่บ้าน : นางจันจิรา หอมนาน เป็นประธาน
  • กลุ่มศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน : นายมงคล สายวงค์ใจ เป็นประธาน
  • กลุ่มฉางข้าว : นายสม อุตตะมา เป็นประธาน
  • กลุ่มเกษตรกร (เงินแสน) : นายแก้ว ใจนะสุข เป็นประธาน
  • กลุ่มเงินล้าน : นายบุญย้าย ทาจุมปู เป็นประธาน

ข้อมูลด้านสังคมวัฒนธรรม

ลักษณะชุมชนเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยวสมาชิกในครัวมีความสนิทสนมกัน มีความรักความอบอุ่นดี ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธประกอบศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันอาสาฬหบูชา ประเพณีส่วนใหญ่เป็นแบบล้านนา เช่น ประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ถวายข้าวใหม่ งานทอดกฐิน ผ้าป่า ตานก๋วยสลาก วันสืบชะตาขุนน้ำแม่ปืม และหนองเล็งทราย

ส่วนในด้านความเชื่อประชาชนส่วนใหญ่มีการนับถือ เช่น การนับถือผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่า และศาลพระภูมิ ซึ่งจะมีพิธีเซ่นไหว้ศาลพระภูมิเจ้าบ้าน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่ มีความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือกิจกรรมส่วนรวมเช่น งานบุญ งานศพ ประชาชนส่วนมากเป็นสมาชิกองค์กรในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นพบว่า มีบางส่วนที่รักษาโรคด้วยสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น การทำลูกประคบสมุนไพร ในด้านการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บไข้ หรือป่วยเล็กๆน้อยๆ ส่วนมากมักจะไปรับการบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่า บางส่วนไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่ใจหรือคลินิกแพทย์

  • อาชีพหลัก : บ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 คือ อาชีพทำนา ปลูกยางพารา
  • อาชีพรอง : ทำสวนฟักทอง แตงโม แตงกวา รับจ้าง
  • อาชีพเสริม : ปลูกพืชผักสวนครัว หาปลา และค้าขาย
  • รายได้ของประชาชน : มาจากภาคเกษตรกรรม
  • รายจ่ายของประชาชน : คือ ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร ค่าดำรงชีพค่าสาธารณูปโภค ค่างานสังคมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

วัฒนธรรมประเพณี

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์  เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุจำม่วง
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า, ไหว้ผีมดผีเม็ง, เลี้ยงผีขุนน้ำ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ

1. นายบุญมี แก้วธิตา

เกิดปี พ.ศ. 2480 อายุ 83 ปี เกิดที่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ประวัติการศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2492 ไปเรียนที่วัดศรีดอนมูล โดยเรียนภาษาล้านนา 2 ปี และจึงมาเรียนภาษาไทย
  • มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอแม่ใจ

ประวัติโดยทั่วไป

  • เมื่ออายุได้ 4 ขวบ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อมีเสียงสัญญาณก็ได้มีการหลบลงหลุมที่ได้ขุดเอาไว้
  • เมื่ออายุได้ประมาณ 10 ปี พ่อก็เสียชีวิต โดยไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตปี พ.ศ. 2492 อายุ 12 ปี ก็ได้ไปเรียนหนังสือที่วัดศรีดอนมูล โดยเรียนภาษาล้านนา 2 ปี และจึงมาเรียนภาษาไทยต่อ
  • ปี พ.ศ. 2496 ได้บวชเป็นเณรที่วัดศรีดอนมูล
  • ปี พ.ศ. 2501 ได้อุปสมบทเป็นพระ
  • ปี พ.ศ. 2502 ได้ลาอุปสมบทจากการเป็นพระ ออกมาทำนาเลี้ยงแม่และน้องเราะเป็นลูกคนโต
  • ปี พ.ศ. 2507 ได้ไปเที่ยวที่ประเทศพม่า และได้ไปทำงานรับจ้าง ละได้พบกับนางจันทร์อง คำเงิน (เป็นคนลำพูนและไปเกิดที่ประเทศพม่า และก็ได้แต่งงานกันที่ประเทศพม่า
  • ปี พ.ศ. 2508 มีบุตรคนแรก ชื่อ นายอนันต์ แก้วธิตา
  • ปี พ.ศ. 2519 เดินทางกลับมาที่ประเทศไทย

ประวัติการทำงาน

  • ปี พ.ศ. 2523 ได้รับเลือกให้เป็นอาสาสมัครมาลาเรีย โดยได้รับการแต่งตั้งโดยนายอ้าย จินะวรรณ กำนันตำบลบ้านเหล่า เนื่องจากว่าลูกขายตาบุญมี เคยติดเชื้อมาลาเรีย และตาก็มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมาลาเรีย
  • ปี พ.ศ. 2525 เป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชน เป็นผู้นำ อช. เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านเหล่า
  • ปี พ.ศ. 2527 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น อสม., คนแรกของหมู่บ้าน ซึ่งเลือกตั้งโดย ผสส. ในหมู่บ้าน
  • ปี พ.ศ. 2529-2530 ได้รับการอบรมเป็น ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช) ตำบลบันเหล่า
  • ปี พ.ศ. 2534 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "แพทย์ประจำตำบลบ้านเหล่า" เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม
  • ปี พ.ศ. 2535 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเหล่า
  • ปี พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกให้เป็น "คนดีศรีพะเยา" เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม
  • ปี พ.ศ. 2551 ได้รับฉันทามติจกมวลสมาชิกเครือข่ายวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเหล่า” ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551

ประวัติการทำงานอื่น ๆ

  • กรรมการสภาตำบลบ้านเหล่า : 1 สมัย
  • สมาชิก อบต. บ้านเหล่า (โดยตำแหน่ง) : 1 สมัย
  • สมาชิกกลุ่มพิทักษ์ศักดิ์ศรีสตรีพะเยา : 1 สมัย
  • สมาชิกสมัชชาเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัย : 1 สมัย
  • โฆษกหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน : 1 สมัย
  • อาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค (อ.ค.บ) : 1 สมัย
  • ประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภอ แม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านเหล่า : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • รองประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • ประธานชมรมมัคนายก อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • รองประธานพุทธสมาคม อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • กรรมการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนตำบลบ้านเหล่า : ปัจจุบัน
  • มัคนายกวัดศรีดอนมูล : พ.ศ. 2526-ปัจจุบัน
  • กรรมการสถานศึกษาชั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านไร่อ้อย : ปัจจุบัน
  • เครือข่ายและอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ : ปัจจุบัน
  • กรรมการศูนย์พัฒนาครอบครัว ตำบลบ้านเหล่า : ปัจจุบัน

ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติมี แหล่งกักเก็บน้ำคือ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม ซึ่งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติแม่ปืม ตั้งอยู่ใน ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นบริเวณที่มีสายน้ำกว้างใหญ่ มีทุ่งหญ้าเขียว และมีภูเขาสูงชัน ต้นไม้เรียงรายอย่างสวยงาม บริเวณของอุทยานฯ นั้น มีพื้นที่ครอบคลุม จังหวัดด้วยกัน คือ จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดพะเยา เป็นจุดต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ สายคือ ลำน้ำแม่แก้ว และลำห้วยแม่ปืม ทำให้ที่นี่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2563). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านไร่อ้อย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

อุทยานแห่งชาติแม่ปืม(2563). อ่างเก็บน้ำแม่ปืม-อุทยานแห่งชาติแม่ปืม (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก: https://portal.dnp.go.th/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ  ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59.  27 กรกฎาคม 2508