Advance search

เด่นโพธิ์ทอง บ้านน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม คนใจงาม น้ำใจดี ไม่มีสิ่งเสพติด ย้อนยุค พิชิตอบายมุข ประเพณีวัฒนธรรม

หมู่ที่ 13
บ้านเด่นโพธิ์ทอง
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
21 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
28 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
25 ก.ค. 2023
บ้านเด่นโพธิ์ทอง

แยกมาจากบ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 แล้วตั้งชื่อว่า "บ้านเด่นโพธิ์ทอง"


ชุมชนชนบท

เด่นโพธิ์ทอง บ้านน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม คนใจงาม น้ำใจดี ไม่มีสิ่งเสพติด ย้อนยุค พิชิตอบายมุข ประเพณีวัฒนธรรม

บ้านเด่นโพธิ์ทอง
หมู่ที่ 13
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.35200101
99.84523728
เทศบาลตำบลบ้านเหล่า

พ.ศ. 2445 ยังไม่มี พรบ.นามสกุล และได้มีครอบครัวที่อพยพมาทั้งหมด 9 ครอบครัว ได้แก่ครอบครัวที่ 1 นายมูล นางปุก นายสาร นางเกี้ยว ชาวบ้านหนองแหวน ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และครอบครัวที่ 2 พญาจุมปู แม่พญาคา บ้านผึ้งนาเกลือ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ครอบครัวที่ 3 นายนะ นางนา จากบ้านปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ได้นำลูกหลานอพยพหนีความแห้งแล้ง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเหล่าหลวง ตั้งชื่อว่า "บ้านเหล่าใหม่" สาเหตุที่เรียกชื่อว่าบ้านเหล่าก็คือแต่แรกมีแต่ปjาไม้เป็นเหล่าเป็นกอ ปjาไม้ก็เยอะ และป่าละเมาะ เป็นแหล่งสัตว์ป่า เสือ ช้าง หมาป่า เป็นที่น่ากลัว (สมัยนั้นมีการไล่ล่า เป่าตอก) บ้านเหล่าใหม่ขึ้นกับการปกครองของนายผัด (ยังไม่มีนามสกุล) ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 11 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ต่อมามีครอบครัวที่ 4 ของนายเมา และนางพา บ้านผึ้งนาเกลือ ครอบครัวที่ 5 นายท่อน นางคำ จากบ้านป่าจ้ำ ครอบครัวที่ 6 นายมูล นางก๋องแก้ว จากบ้านวังพร้าว ครอบครัวที่ 7 นายต๊ะ นางแจ้น ครอบครัวที่ 8 นายมี นางคำ จากบ้านสาด อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีพี่น้อง ครอบครัวที่ 9 พ่อหนานสม แม่ปั่น พ่อเหมย แม่แก้ว ได้อพยพมาอยู่ด้วยกันเพื่อน ตามมาอยู่เรื่อย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ได้มี พรบ.นามสกุลขึ้นมาในสมัย ร.6 โดยมีครอบครัวที่อพยพเข้ามาได้นามสกุลดังนี้

  • ครอบครัวที่ 1 ได้นามสกุล "ใจประการ"
  • ครอบครัวที่ 2 ได้นามสกุล "ใจจุมปู"
  • ครอบครัวที่ 3 ได้นามสกุล "จุมปูนา"
  • ครอบครัวที่ 4 ได้นามสกุล "จินะวรรณ"
  • ครอบครัวที่ 5 ได้นามสกุล "ท่อนคำ"
  • ครอบครัวที่ 6 ได้นามสกุล "ปะละอ้าย"
  • ครอบครัวที่ 7 ได้นามสกุล "เมืองฟอง"
  • ครอบครัวที่ 8 ได้นามสกุล "ทะนันใจ"
  • ครอบครัวที่ 9 ไม่ทราบนามสกุล

พอถึงปี พ.ศ. 2459 จึงขออนุญาตตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลชั่วคราว แต่คณะศรัทธาวัดเหล่าหลวง (หรือเหล่าเก่า) ไม่ยินยอมให้ตั้ง เพราะกลัวว่าวัดเดิมจะมีศรัทธาน้อยลง กลัวจะลำบาก ในอุปฐากพระภิกษุ สามณร จึงตั้งไม่สำเร็จแต่ด้วยความพยายามของชาวบ้าน ซึ่งมีอยู่ 50 กว่าหลังคาเรือน จึงได้ไปนมัสการพระครูเมธัง วัดสันผักฮี้ เจ้าคณะแขวงอำเภอพาน พอได้รับอนุญาตแล้วจึงไปอาราธนานิมนต์พระธัมชัย (ตุ๊ลุงใจ) วันสันต้นหวีด ตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา เป็นเจ้าอาวาสในปี

พ.ศ. 2459 ไตว่าปีเป๊กสี (ปีมะโรง) วันพฤหัสบดี เดือนเก้าเหนือดับ (หรือแรม 14 ค่ำ) แต่หมู่ที่บ้านก็ยังคงขึ้นกับการปกครองของนายผัด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 11 (บ้านเหล่าหลวง) บ้านเหล่าใหม่แห่งนี้จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดศรีดอนมูลเหล่าใหม่" ส่วนบ้านเหล่าหลวงในสมัยนั้น มีชื่อเรียกว่า บ้านเหล่าเก่า เนื่องจากสภาพหมู่ที่บ้านมีร่องน้ำ ซึ่งไหลออกมาจากลำน้ำแม่ปืม ไหลออกมาทางป่าช้า สันคอกม้า ทางทิศเหนือของหมู่ที่บ้านไหลลงสู่หนองเล็งทราย ผ่านทางทุ่งจอป่าข้าว หมู่ที่บ้านเหล่าใหม่ นิยมปลูกอ้อย แล้วทำน้ำตาล(ก้อน) ขายทั้งหมู่ที่บ้าน ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อหมู่ที่บ้านตามอาชีพชื่อว่า "บ้านเหล่าร่องอ้อย"

ปี พ.ศ. 2962 ได้แบ่งการปกครองหมู่ที่ 11 มาเป็นบ้านเหล่าอ้อยหมู่ที่ 21 ตำบลแม่ใจใต้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีนายอ้อย ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

จนถึงปี พ.ศ. 2484 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเหล่าอ้อยถูกสั่งให้ยกเลิกไปขึ้นกับบ้านเหล่าธาตุหมู่ที่ 20 ตำบลแม่ใจใต้ ในสมัยนั้นมีนายตุ้ย อุปะละ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

จนถึงปี พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ตำบลใจใต้ ได้เปลี่ยนเป็นตำบลแม่ใจ จากหมู่ที่ 20 เป็นหมู่ที่ 4 หมดสมัยนายตุ้ย อุปะละ นายเขียว ปานทอง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่4 หมดสมัย นายเขียว ปานทอง นายบุญมี คำอ้าย เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4

ปี พ.ศ. 2497 โดยตั้งโรงเรียนขึ้น และให้ชื่อว่า โรงเรียนแม่ใจ  5 (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนบ้านไร่อ้อย) ก่อตั้งโดยนายปั่น ใจประการ โดยมีนายอินเหลิง วรรณจักร เป็นครูใหญ่คนแรก ชื่อหมู่ที่บ้านเรียกว่า ไร่อ้อยตั้งแต่นั้นมา นายปั่น ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่ที่ 5

ปี พ.ศ. 2499 บ้านเหล่าอ้อยจึงได้รับการอนุมัติให้หมู่ที่บ้านแยกออกจากหมู่ที่ 4 มาเป็นบ้านไร่อ้อยหมู่ที่ 5 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันชื่อว่าไร่อ้อย หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา)

ปี พ.ศ. 2510-2512 ในระยะนี้มีประชากรเพิ่มขึ้นมาก จึงได้ขอแบ่งแยกหมู่บ้านเป็น 2 หมู่บ้าน คือ แยกจากหมู่ที่ 5 เป็นหมู่ที่14 (คือบ้านไร่อ้อยหมู่ที่ 1 ในปัจจุบัน) โดยมีนายป้อ หล้าแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2512 และนายปั่น ใจประการ ได้ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 และได้แต่งตั้งนายอ้าย จินะวรรณ ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2512

ปี พ.ศ. 2520 วันที่ 28 สิงหาคม อำเภอพะเยา ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา และอำเภอแม่ใจ จึงได้เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพะเยา

ปี พ.ศ. 2523 ในวันที่ 20 ธันวาคม นายอ้าย จินะวรรณ ได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลแม่ใจ อำเภอ แม่ใจ จังหวัดพะเยา และได้มีการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้น จึงได้แต่งตั้งนายบุญมี แก้วธิตา เป็นอาสาสมัครมาลาเรีย เนื่องจากลูกชายของนายบุญมีป่วยเป็นโรคมาลาเรียมาก่อน และนายบุญมี มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยมาลาเรียมาก่อน

ปี พ.ศ. 2525 วันที่ 10 ธันวาคม กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่า โดยแยกออกมาจากตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และวันที่ 25 กันยายน กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะบ้านเหล่าขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา นายอ้าย จินะวรรณ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนันตำบลบ้านเหล่าเป็นคนแรก และได้รับนโยบายจากการอบรม อช. เกี่ยวกับการศึกษา ความยากจน โรคภัย และปัญหาที่ได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกคือ ความยากจน และมีการแต่งตั้ง ธนาคารข้าวเกิดขึ้น โดยให้แต่ละครัวเรือนเอาข้าวมารวมกัน เพื่อให้คนที่ยากจนไปยืมข้าวบริโภคก่อน และเริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาเป็นครั้งแรกและมีโทรทัศน์เครื่องแรกที่บ้านนายยอด ชัยชมภู

ปี พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้ลูกคนจนได้เข้าถึงการศึกษาของหมู่ที่ 5

ปี พ.ศ. 2527 ได้มีการก่อตั้งอนามัยบ้านเหล่าขึ้น โดยนายอ้าย จินะวรรณ กับ นายเลื่อน เมฆอากาศ (ผู้ทรงคุณวุฒิประจำหมู่ที่บ้าน) โดยมีนายตา ทาฝุ่น ได้มอบที่ดินให้กระทรวงสาธารณสุขในการก่อตั้งสถานีอนามัย โดยมีพยาบาลชื่อ สุนันท์ อินตะมูล เป็นผู้รักษาการ

ปี พ.ศ. 2529 ต่อมาเนื่องจากจำนวนครัวเรือนและประชากรเพิ่มหนาแน่นเข้ามาอีกจึงได้ขออนุมัติแยกหมู่บ้านจากหมู่ที่ 5 ไปเป็นหมู่ที่ 10 โดยใช้ชื่อว่า บ้านร้องศรีตอนมูล อาศัยร่องน้ำเก่าๆมาบวกกับชื่อวัดศรีดอนมูล ซึ่งมีนายเกษตร ทาจุมปู เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ. 2530 ตั้งธนาคารข้าว โดยมีนายบุญมี แก้วธิดา เป็นผู้นำ อช.

ปี พ.ศ. 2535 นายอ้าย จินะวรรณ์ ได้ลาออกจากการเป็นกำนันเนื่องจากครบอายุราชการ ประชาชนจึงได้เลือกนายเลื่อน เมฆอากาศ เป็นกำนัน บ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 แทน

ปี พ.ศ. 2540 มีนายเขียน จินาวรรณ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ปี พ.ศ. 2541 หมู่ที่ 13 แยกมาจากบ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 แล้วตั้งชื่อว่า "บ้านเด่นโพธิ์ทอง" โดยมีนายตา เสาร์แก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ. 2544 ต่อมากำนันตำบลบ้านเหล่าหมดวาระ นายตา เสาร์แก้ว ได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลบ้านเหล่าเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2544 จนถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2546 หมดวาระ

ปี พ.ศ. 2546 นายจันทร์ เครือมูลได้รับคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546และได้เกษียณอายุเมื่ออายุ 12 กันยายน 2554

ปี พ.ศ. 2554 นายชื่น ปีกจุมปู ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554

ปี พ.ศ. 2560 นางแสงทอง ทาจุมปู เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 หมู่ที่ 13 จนถึงปัจจุบัน

สภาพพื้นที่บ้านเด่นโพธิ์ทอง เป็นพื้นที่ราบลุ่มลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย และดินเหนียว มีคลองชลประทานไหลผ่าน 1 สาย เป็นแหล่งชุมชนอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เหมาะสมแก่การทำการเกษตรและการอยู่อาศัย 

พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่ที่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีบริเวณที่ตั้งของชุมชนบ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันอยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านกึ่งไม้กึ่งปูนสองชั้น สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงทางถาวรรั้วรอบขอบชิด ทุกหลังคาเรือนมีภาชนะเก็บน้ำฝนไว้สำรองน้ำและบ่อน้ำใช้ ครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ทั้งเลี้ยงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ เป็ด ปลา และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลินได้แก่สุนัข แมว นก เป็นต้น และมีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่ที่บ้าน เช่น ศาลาเอกประสงค์ มีวัดหนึ่งแห่งอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 คือ วัดศรีดอนมูล มีโรงเรียนหนึ่งแห่งอยู่ในเขตหมู่ที่หนึ่งโรงเรียนคือ บ้านไร่อ้อย ตลาดสดหนึ่งแห่งใช้ร่วมกับหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 13

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับเขต พื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านไร่อ้อย ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับเขต พื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านป่าตึงเหนือ ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับเขต พื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านป่าตึงเหนือ ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับเขต พื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านเหล่า ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2561 มีบ้านเรือนทั้งหมด 148 หลังคาเรือน จำนวนประชาการที่ทั้งหมด 340 คน เพศชาย 170 คน เพศหญิง 170 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านเด่นโพธิ์ทองเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายโดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว ปัจจุบันมีการมาปลูกผลไม้กันมากขึ้น เช่น ลิ้นจี่ ลำไย อาชีพอื่นนอกจากเกษตรกรรมได้แก่การเลี้ยงไก่ หาของป่า รับจ้างทั่วไป และรับราชการ รวมทั้งธุรกิจส่วนตัวอีกทั้งยังมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น ฉางข้าว ดอกไม้ประดิษฐ์ น้ำพริก ไข่เค็ม เป็นต้น ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง นับถือศาสนาพุทธทั้งหมดทุกหลังคาเรือน ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าในวันพระ มักไปวัดทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมและมีการทำวัดเย็นที่วัดศรีดอนมูลและส่งเสริมรักษาประเพณีอันดีงามต่าง ๆ ตลอดทั้งปี

ผู้ใหญ่บ้านคือ นางแสงทอง ทาจุมปู ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ประกอบด้วยนายสรชัย ท่อนคำ และนางนงคราญ หล้าแก้ว มีกรรมการหมู่บ้านตามโครงสร้าง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางสังวาศ วงศ์หมื่น เป็นประธาน
  • กลุ่มตำรวจบ้าน (สตบ.) : นายปรัญชัย คำเมืองใจ เป็นประธาน
  • กลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน : นายตะวัน ทาจุมปู เป็นประธาน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ : นายสมเศียร ทานทอง เป็นประธาน
  • กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ : นายจันทร์ เครือมูล เป็นประธาน
  • กลุ่มฉางข้าว : นายจันทร์ เครือมูล เป็นประธาน
  • กลุ่มประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง : นางสมศรี เสาร์แก้ว เป็นประธาน
  • กลุ่มพัฒนาสตรี (กลุ่มแม่บ้าน) : นางปิยะพร สุธรรม เป็นประธาน
  • กลุ่มออมทรัพย์ : นางหล้า ไชยก๋า เป็นประธาน

ลักษณะชุมชนเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว สมาชิกในครอบครัวมีความสนิทสนมกัน มีความรักซึ่งกันและกัน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีการประกอบศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น ประเพณีส่วนใหญ่เป็นล้านนาเช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า ตานก๋วยสลาก ในด้านความเชื่อประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบ้าน ผีเรือน ผี ปู่ย่า คามสัมพันธ์ระหว่างคนในขุมชน ประชาชนมีความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจ และให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือกิจกรรมส่วนรวม เช่น งานบุญ งานศพ ประชาชนส่วนมากเป็นสมาชิกในองค์กรหมู่ที่บ้าน เช่น กลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มกองทุนหมู่ที่บ้าน ในด้านการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บไข้ส่วนมากมักจะไปรับการพยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านเหล่า บางส่วนไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่แม่ใจ บางคนก็จะมารักษากับหมอพื้นบ้าน คือ หมอเป่า ชื่อตาพัด สายหมี ซึ่งจะเป่าให้กับคนที่ปวดแข้ง ปวดขา กระดูกหัก และยังมีสามารถสะเดาะเคราะห์เรียกขวัญ และพ่อไหล่ ทาจุมปู ที่เป็นหมอเป่าตา ในคนที่เป็นตาแดง ตากุ้งยิง

ปฏิทินวัฒนธรรม

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : สืบชะตาวัด บ้าน, ถวายข้าวใหม่
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : วันมาฆบูชา
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : วันสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : วันวิสาขบูชา
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า, สืบชะตาอ่างเก็บน้ำแม่ปืม
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : วันอาสฬหบูชา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา ตักบาตรเทโว
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน เทศน์มหาชาติ
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี

1. นายพัด สายหมี

เกิดปี พ.ศ. 2487 เป็นคนบ้านเด่นโพธิ์ทอง (เดิมชื่อบ้านเหล่าอ้อย) แต่กำเนิด

การศึกษา

เมื่ออายุประมาณ 14 ปี ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนไร่อ้อยในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีเดียวกับที่มีการก่อตั้งโรงเรียน คือ ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งมีนายอินเหลิง วรรณจักร ผู้อำนวยการคนแรก หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงได้บวชเรียนที่วัดศรีดอนมูลอีก 4 ปี ระหว่างที่ศึกษาก็ได้เรียนทั้งภาษาเมืองและภาษาบาลี-สันสกฤต และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเรียกขวัญ สู่ขวัญ พิธีบุญ พิธีทางศาสนา

หลังจากลาสิกขาพ่อพัดได้มาช่วยเหลือบิดาของตนในการทำนาและสร้างบ้าน พ่อพัดเล่าว่าในการสร้างบ้านแต่ละครั้งจะมีการท่องคาถาหรือทำพิธีก่อนที่จะสร้างบ้านเพื่อให้การสร้างบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นและเมื่อช่วยบิดาของตนสร้างบ้านได้ประมาณ 1 ปี บิดาก็เริ่มสอนคาถาที่ใช้สร้างบ้าน และคาถาอื่น ๆ เช่น คาถาเป่าห่า ที่ใช้เป่าให้กับเด็กทารกที่ร้องไห้ตอนกลางคืนหรือร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ จากนั้นพ่อพัดเริ่มทำเป็นอาชีพ โดยได้ไปศึกษาการประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์จากพ่ออาจารย์หนานน้อย ใจลังกา และได้ไปศึกษาฝากตัวเป็นศิษย์อีกหลายอาจารย์ เนื่องจากพ่อพัดเห็นว่าความรู้จากอาจารย์เพียงคนเดียวยังไม่เพียงพอที่จะประกอบอาชีพจึงได้ไปศึกษากับอาจารย์คนอื่น คือ พ่อหนานคำมูล บ้านสันขี้เหล็ก วัดศรีดอนแก้ว ซึ่งพ่อพัดเล่าว่า การที่จะฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์แต่ละท่านไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ เนื่องจาก ผู้ที่จะไปศึกษาต้องมีความตั้งใจจริง ต้องมีความอดทนรอให้อาจารย์ใจอ่อนและสอนตนเอง อาจารย์บางท่านต้องรอถึง 2-3 ปี จึงจะได้เรียน

ในขณะที่เรียนพ่อพัดได้จดบันทึกคาถาจากปั๊บสา (ใบลาน) ที่เป็นคาถาต่าง ๆ ที่ตนจะเรียน ซึ่งคาถาส่วนใหญ่จะเป็นคาถาที่เกี่ยวกับการเป้า น้ำมนต์ การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านมีไม่เหมือนกันส่วนคาถาเป้าที่ใช้รักษาคนที่กระดูกหัก มีแผลตามร่างกาย ปวดตามร่างกายแล้วไม่หาย เป็นสะเก็ดเงิน พ่อพัดได้เรียนกับ พ่อหนานมูล สุธรรม หมู่ที่ 5 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และได้มอบปั๊บสาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคาถา วันดี วันแต่งงาน วันเสียในทางล้านนา การตั้งศาลพระภูมิ ไว้ให้ เนื่องจากญาติของพ่อหนานมูลไม่มีใครที่จะสืบต่อ รวมทั้งภาษาที่ใช้เป็นภาษาเมือง ตนจึงได้สืบทอดวิชานี้ต่อไปและเก็บรักษาปั๊บสาไว้ที่บ้าน

การเป่ารักษา

คนที่อยากจะให้พ่อพัดเป้าแผลหรือตามร่างกายที่ปวดสามารถมาให้พ่อพัดเป่าได้ถึงที่บ้าน และเป่าได้ทุกเวลา ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน หรือของไหว้ ขึ้นครู สามารถมาให้เป่าตัวเปล่าได้ ใช้เวลาในการเป่าไม่ถึง 5 นาที โดยพ่อพัดจะท่องคาถา และเป่าตามร่างกายที่ปวดหรือมีแผลหรือตำแหน่งที่เราอยากให้เป่าประมาณ 5-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน แต่ในคนที่มีแขนหรือขาหัก พ่อพัดถือว่าเป็นอาการหนัก จะต้องมีการตั้งขันขึ้นครู ต้องมีการประกอบพิธีกรรม โดยครอบครัวของผู้ที่จะถูกเป่าต้องเตรียม สวยดอกไม้ สวยพลู ส้มป่อย ธูปเทียน สายสิญจน์ ไก่ต้ม เหล้าขาว มะพร้าว เป็นต้น ซึ่งในการตั้งขันตั้งจะมีความแตกต่างไปตามอาการของคนป่วย ถ้าอาการหนักขันตั้งที่จะเตรียมก็จะมีของเยอะ ถ้าอาการน้อยของในขันตั้งก็จะน้อย

การตั้งขันตั้ง จะตั้งขึ้นในวันดีตามปฏิทินล้านนา และจะถอนขันตั้งก่อนปีใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์และเข้าพรรษา 3 เดือน เมื่อพันระยะนี้ก็สามารถตั้งขันตั้งขึ้นใหม่ได้จนกว่าคนป่วยจะหายดี และเป็นธรรมเนียมที่หลังจากกายจากการเจ็บป่วยจะมีการมาดำหัว(รดน้ำดำหัว) พ่อพัดในทุก ๆ ปี ซึ่งถือเป็นการขอบคุณและขอขมาที่ล่วงล้ำพ่อพัดไป

การดูแลสุขภาพ

ในแต่ละวันก็ทำงานบ้านตามปกติ ปั่นจักรยานบ้างบางครั้ง ที่บ้านจะรับประทานอาหารที่ทำเองส่วนมากไม่รับประทานอาหารรสจัด กินข้าวเหนียวและข้าวหุงสลับกัน ส่วนมากจะไม่ค่อยเจ็บป่วยแต่เมื่อเจ็บป่วยจะไปรักษาที่คลินิกใกล้บ้าน ต้มสมุนไพรที่ปลูกภายในบ้านกินบ้างบางครั้งแต่จะไม่ซื้อสมุนไพรที่มีคนมาเร่ขายเพราะเคยได้ยินว่าเป็นสมุนไพรที่ไม่ดี

พื้นที่ทำการเกษตร 1,240 ไร่ เป็นพื้นที่ราบลุ่มลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย และดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ มีคลองชลประทานไหลผ่าน เป็นแหล่งชุมชนอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำการเกษตร

ภาษาเหนือล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2561). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านเด่นโพธิ์ทอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.