Advance search

ถิ่นจักสาน ตำนานพระเจ้าแสนแซ่ แหล่งข้าวพันธุ์ดี เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ

หมู่ที่ 6
บ้านหนองสระ
ป่าแฝก
แม่ใจ
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
15 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
21 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
25 ก.ค. 2023
บ้านหนองสระ

การตั้งชื่อหมู่บ้านหนองสระ เป็นการตั้งชื่อตามหนองน้ำที่มีอยู่ในหมู่บ้านมายาวนาน ปัจจุบันอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน และยังมีหนองน้ำต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของทั้งคนและสัตว์ เมื่อก่อนสัตว์ป่าทั้งหลายจะลงมากินน้ำที่สระแห่งนี้ และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในท้องถิ่นโดยอาศัยคำว่า "หนอง" เป็นคำหลักแล้วจึงยึดเอาแอ่งน้ำ สระน้ำ บริเวณนั้นเป็นชื่อประกอบ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า "หมู่บ้านหนองสระ" (หนอง-สะ)


ชุมชนชนบท

ถิ่นจักสาน ตำนานพระเจ้าแสนแซ่ แหล่งข้าวพันธุ์ดี เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ

บ้านหนองสระ
หมู่ที่ 6
ป่าแฝก
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.4427115
99.80867341
เทศบาลตำบลป่าแฝก

พ.ศ. 2478 มีชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่เย็นใต้หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในป่าซึ่งปัจจุบันคือบ้านหนองสระ ครอบครัวผู้ก่อตั้งหมู่บ้านในสมัยประกอบด้วย 4 ครอบครัว คือ 1) ครอบครัวพ่ออุ้ยหลวงแก้ว เขียวคำปั่น 2) พ่อหม่อนธิ-แม่หลวงแก้ว เขียวคำปั่น 3) แม่อุ้ยหลวงน้อย และ 4) แม่หลวงเขียว-พ่ออุ้ยอ้ายใหญ่ อินต๊ะวัง ต่อมามีครอบครัวอื่นย้ายเข้ามาเป็นระยะ ทีละ 5 ครอบครัวบ้าง 7 ครอบครัวบ้าง ได้แก่ อุ้ยหนานใจ ตันคำแดง อุ้ยน้อยตา ตันคำแดง อุ้ยเงิน หล้าคำมูล อุ้ยจื่น เขียวคำปั่น อุ้ยหม่อนหนานคำ นันตกูล แม่หลวงตอง นันตกูล หลังจากนั้นก็มีครอบครัวพ่ออุ้ยปันปิ้ว นันตกูล และมีพ่อชุมตื้อหล้า ดงเวียง ย้ายตามกัน ต่อมามีครอบครัวแม่หลวงสุรักญาติ แม่หลวงเฮือน เสียงอ่อน พ่อหลวงซาวด์ หล้าคำแก้ว ครอบครัวพ่ออุ้ยตัน-แม่ผง พ่ออุ้ยปวน ศรีทอง แม่อุ๊ยสาข่า อุ้ยหนานสม อินต๊ะวัง พ่ออุ้ยคำ เขียวคำปั่น

พ.ศ. 2503 มี 2 ครอบครัวย้ายออกจากบ้านหนองสระ คือ 1 ครอบครัวพ่ออุ้ยคำ เขียวคำปั่น ย้ายไปอยู่จังหวัดเชียงราย 2 ครอบครัวอุ้ยน้อย ปันหน่อแก้ว ไปอยู่จังหวัดลำปาง จากทั้งหมดมี 40 ครัวเรือน จึงเหลือเพียง 38 ครัวเรือน

ชาวบ้านหนองสระส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักทุกชนิดที่ทานได้ ถ้าได้ เยอะก็จะเอาไปขาย อาชีพหลัก คือ ทำนา ทำไร่ จะเลี้ยงวัวควายไว้ไถนา ทำไม้แปรรูปสำหรับสร้างบ้านแล้วจะนำไปขาย ราคาข้าวในสมัยนั้นข้าวเหนียวหรือข้างวลวด ข้าวแห้ง ราคา 6-7 บาท ข้าวสันป่าตองและข้าวจ้าวราคา 8-9 บาท ปูนชีเมนต์ตรางู 12 บาท ตราเสือ 14-15 บาท ตราพญานาค 17-18 บาท และตราช้าง 19 บาท การศึกษาของเด็กท้องถิ่นบ้านหนองสระสมัยนั้นเป็นถิ่นทุรกันดาร

ประมาณปี พ.ศ. 2504 ได้จ้างครูมาสอนชื่อคุณครูตาธิ ซึ่งตอนนั้นนักเรียนมีประมาณ 10 กว่าคน จ่ายค่าจ้างเป็นเดือนๆ ละ 10 บาท ต่อมามีครูผู้หญิงคือยายทองลั่น และครูจรูญซึ่งเป็นคนแม่ใจ เข้ามาสอน และเมื่อปี พ.ศ 2505 ได้เพิ่มค่าจ้างเป็น 15 บาทต่อคนต่อเดือน

พ.ศ. 2505 ได้ก่อตั้งวัดหนองสระ ชาวบ้านหนองสระได้ช่วยกันทำความสะอาด และปรับพื้นที่เพื่อสร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง วิหาร 1 หลังเล็ก ๆ และได้ไปนิมนต์พระจากวัดป่าแฝกใต้ หมู่ที่ 5 มาจำพรรษา 1 รูป ชื่อพระมา และไปนิมนต์สามเณร 2 รูปจากวัดป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 4 พอจำพรรษาได้ 1 พรรษาทางพระมา และสามเณร 2 รูป ก็ได้กลับไปประจำที่วัดเดิม ทางชาวบ้านหนองสระจึงได้ตกลงปลงใจกันไปนิมนต์หลวงพ่อเป็งวัดดงน้ำล้อม หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน มาอยู่ประจำที่บ้านหนองสระ ปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อเป็งได้มรณภาพลงเนื่องจากแก่ชรา

พ.ศ. 2505 บันทึกของพ่อเพ็ญ หล้าคำแก้ว ระบุว่ามีชาวจังหวัดกำแพงเพชร ได้ย้ายเข้ามาอาศัยประมาณ 10 ครอบครัว และได้อพยพไปอยู่ที่อื่นเมื่อปี พ.ศ. 2508

จากบันทึกของตระกูลพ่อเพ็ญ ซึ่งเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่มาตั้งถิ่นฐานที่ บ้านหนองสระ การตั้งชื่อหมู่บ้านหนองสระ เป็นการตั้งชื่อตามหนองน้ำที่มีอยู่ในหมู่บ้านมายาวนานปัจจุบันอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน และยังมีหนองน้ำต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของทั้งคนและสัตว์ เมื่อก่อนสัตว์ป่าทั้งหลายจะลงมากินน้ำที่สระแห่งนี้ และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในท้องถิ่นโดยอาศัยคำว่า "หนอง" เป็นคำหลักแล้วจึงยึดเอาแอ่งน้ำ (สระน้ำ บริเวณนั้นเป็นชื่อประกอบ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า "หมู่บ้านหนองสระ" (หนอง-สะ) และปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็น หนองสระ (หนอง-สะ-ระ) ปัจจุบันยังมีสระน้ำอยู่แต่พอเวลาผ่านไปสระได้ตื้นขึ้นปัจจุบันเลยไม่มีน้ำแล้ว

ก่อนที่จะแยกหมู่บ้าน บ้านหนองสระเคยเป็นปริมณฑลหลักฐานวัดโบราณ ประมาณ 7 วัด ชื่อตามผู้เฒ่าผู้แก่ที่อพยพมาอยู่แรก ๆ วัดดงตุ้มลุ้มวัดจะเนินสันดอนสมัยนั้นจะเป็นไม้หลายชนิดมุงคลุมวัดเก่าอยู่เป็นไม้ลูกอุ้มลุ้ม เรียกตามภาษาพื้นบ้านว่ากู่เก่าดงตุ้มลุ้ม อีกวัดหนึ่งอยู่กลางสวนสักอุ้ยลูน รักชาติ กู่นี้เรียกว่ากู่ต้นหมื่นคอ เพราะต้นหมื่นคออยู่ใกล้ ๆ คล้ายคอคน ภาษากลางเรียกต้นกระบก ที่อาคารประชารัฐจะขายน้ำมันและขายน้ำดื่ม เรียกตรงนั้นว่ากู่ดงตีนเป็ดบางคนก็เรียกดงป่าแหน่ง ที่สวนยายแสงกู่นี้เรียกว่ากู่ต้นไม้แดงเพราะเมื่อก่อนมีต้นไม้แดงใหญ่ ๆ อยู่สองต้น มีช้างหินอยู่ 2 ตัวปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่วัดอุโมงค์จังหวัดเชียงใหม่ วัดกู่บวกครก จะมีสระน้ำกว้างประมาณ 3 ไร่ ที่เรียกชื่อนี้เพราะว่าเมื่อก่อนมีคนไปเจอครกหินอยู่ในสระเลยเรียกว่าบวกครกจนมาถึงปัจจุบัน และทิศใต้ของบวกครกจะมีกู่เก่า จึงเรียกว่า วัดกู่บวกครก ส่วนกู่เก่าดงไม้ม่วงหอม (ที่เรียกชื่อนี้เพราะมีต้นมะม่วงหอมอยู่ 2 ต้น) จะอยู่ที่หน้าอนามัยหนองสระ 50 กว่าปีก่อนทิศใต้จะเป็นป่าสุสานเก่าร้าง กู่ที่อยู่ปัจจุบันกับวัดบ้านหนองสระ เรียกว่า กู่สูง เมื่อก่อนกู่จะสูง แต่หลังจากพ่อหลวงบ้านเกณฑ์ชาวบ้านขุดเอาอิฐ ไปถมถนนเจดีย์ก็เลยต่ำ หลังจากนั้นก็เลยมีการสร้างเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์เก่าทำให้กู่สูงเหมือนเดิม

ปลายปี พ.ศ. 2506 หมู่บ้านหนองสระได้แยกจากหมู่บ้านแม่เย็นใต้ หมู่ที่ 1 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายยื่อ หล้าคำมูล

เมื่อก่อนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านหนองสระต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่บ้านแม่เย็น การเดินทางไปกลับด้วยความลำบาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ต่อมานายเงิน หล้าคำมูล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับพ่ออุ้ยเป็ง-แม่อุ้ยทานันต๊ะ นายแสง ตันคำแดง นายรูญ รักชาติ และนายอ้าย คำมูล ได้เสียสละเงินคนละ 100 บาท และชาวบ้านจำนวน 61 หลังคาเรือน ได้ร่วมบริจาคเงินจำนวน 1800 บาท เพื่อซื้อที่ดินจากพ่ออุ้ยต่ำ เขียวคำปั่น ประมาณ 5 ไร่ ในราคา 3,600 บาทถ้วน เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบชั่วคราว และทางการได้จัดจ้างครูมาสอนเด็กนักเรียนคือนายทองขาว อุตทกะพันธ์ ซึ่งก็คือครูใหญ่ในสมัยนั้น

ครูทองขาวเป็นคนกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2468 วุฒิการศึกษาของครูในสมัยนั้น คือ ม.8 และได้จัดพิธีเปิดป้ายโรงเรียนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2508 ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหนองสระมีพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ทางโรงเรียนแม่เย็นได้มาเรียนรวม เมื่อเดือนมิถุนายน 2538 (จากบันทึกของโรงเรียนบ้านหนองสระ และการสัมภาษณ์นายชลิตพันธ์ สำราญสุข ชาวบ้านหนองสระและปัจจุบันเป็นคุณครูสอนประจำที่โรงเรียนบ้านหนองสระ)

พ.ศ. 2511 เดือน 12 ปี ทางภาคเหนือมีฝนตกมากทำให้เกิดน้ำท่วม (ท่วมหนักแค่ 7-8 วัน) อุ้ยปิ้น กาบเหล็ก ได้เอ่ยปากขึ้นว่า "ฝน 45 ห่าตกหนองสระหมดบ่อได้ ไปมหาสมุทรเลย"สมัยนั้นไม่มีเรือแม้แต่ลำเดียว ถ้ามีธุระจำเป็นจริง ๆ ต้องเอาลำต้นต้นกล้วยมาเสียบทำเป็นแพใช้ทอข้ามไปฝั่งทิศตะวันตก

ต้นปี พ.ศ. 2538 ราษฎรหมู่ที่ 6 ตำบลปาแฝก ได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 16,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 2 ไร่ ของนางจันทร์ตา เหมยต่อม ซึ่งติดกับที่สาธารณะซึ่งมีพื้นที่ 3 ไร่ รวมกัน 5 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างสถานีอนามัยบ้านหนองสระและบ้านพักเจ้าหน้าที่จำนวน 2 หลัง ด้วยเงินงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขเป็นจำนวนเงิน 2,250,000 บาท และเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม2538 (ที่มา: รายงานผลงานประจำปี 2552 ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านหนองสระ)

จากการสัมภาษณ์นายทอง ใจมูลมั่ง อดีตผู้ใหญ่บ้าน ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนยังไม่มีถนน จะใช้เกวียนเป็นยานพาหนะ พอมาประมาณ ปี พ.ศ. 2519 เริ่มมีรถโดยสารประจำทาง 1 คัน วิ่งจากบ้านหนองสระไป อำเภอพานจังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2520 มีถนนดินแดงจากแม่เย็นมาบ้านหนองสระส่วนถนนลาด เมื่อปี พ.ศ. 2525 หลังจากมีถนนลาดยางได้ไม่นาน ปี พ.ศ. 2526 เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านและเริ่มมีทีวีจอขาวดำเครื่องแรกในหมู่บ้าน และเมื่อปี พ.ศ. 2529 นายทองใจมูลมั่งได้ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านอีกครั้ง(สมัยที่ 2) สมัยนั้นได้มีการปรับปรุงสร้างอุโบสถที่วัดหนองสระ จากเงินที่ได้จากคณะกฐินที่มาถวาย จำนวน 400,000 บาท และรถจักรยานยนต์คันแรกในหมู่บ้านเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2537

พ.ศ. 2541 ในยุคสมัยของนายอำนวยพิชัยผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 ได้มีการแยกเป็น 2 หมู่บ้านคือบ้านหนองสระหมู่ที่ 6 และบ้านสระวังทองหมู่ที่ 10

หมู่บ้านหนองสระ เรียกอีกชื่อว่า "หมู่บ้านแกงโฮะ หรือแกงแค หรือหมู่บ้านคั่วโฮะ" เพราะว่าหมู่บ้านนี้มีผู้คนจากหลากหลายสถานที่มาอยู่รวมกันไม่ว่าจะเป็นชาวกำแพงเพชร ชาวลำปาง ชาวเชียงใหม่ เชียงรายหรือแม้กระทั่งภาคใต้ชาวสุไหงโกลก หรือภาคอีสานชาวนครราชสีมา ชาวสุรินทร์ก็จะมาอาศัยอยู่รวมกันที่นี่

แต่อีกความหมายนึง "หมู่บ้านแกงโฮะ หรือแกงแค หรือหมู่บ้านคั่วโฮะ" มีความหมายในทางที่ไม่ดีคือ แกงโฮะ คำว่า "โฮะ" แปลว่า รวม คือการนำเอาอาหารหลาย ๆ อย่างมารวมกัน ในสมัยก่อนแกงโฮะมักจะทำมาจากอาหารที่เหลือหลาย ๆ อย่างรวมกัน โดยอาจมีการปรุงรสตามใจชอบ หรือ เติมบางอย่าง เช่น หน่อไม้ และแต่งกลิ่นโดยใสใบมะกรูด ตะไคร้ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 490) ปัจจุบันนิยมใช้ของสดในการปรุง และใช้แกงฮังเลเป็นเครื่องปรุง (ดีกิจ กัณทะกาลังค์, สัมภาษณ์, 20 มิถุนายน 2550) ซึ่งชุมชนบ้านหนองสระนี้ส่วนใหญ่ที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่เป็นคนที่หลบความผิด หรืออพยพมาจากถิ่นที่มีโรคระบาด บางคนก็เร่ร่อนมา หรือบางคนเคยเป็นโจรมาก่อน และคนที่หลบภัยมาอยู่และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่กำพร้าพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตจากการถูกโจรฆ่าหรือเป็นเจ็บป่วยตาย (ที่มา:จากการสัมภาษณ์นายชลิตพันธ์ สำราญสุขชาวบ้านหนองสระและปัจจุบันเป็นคุณครูสอนประจำที่โรงเรียนบ้านหนองสระ)

อาณาเขตติดต่อ          

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลทานตะวัน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านสระวังทอง หมู่ที่ 10 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแม่เย็นใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2563 ประชากรในบ้านหนองสระ หมู่ที่ 6 มีจำนวนทั้งสิ้น 315 คน เพศชาย 167 คน เพศหญิง 184 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 172 ครัวเรือน เป็นบ้านที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย 9 หลังคาเรือน บ้านหนองสระเป็นชุมชนขนาดเล็กมีพื้นที่เป็นที่ราบ ประชากรเป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาถิ่นในการติดติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ 

บ้านหนองสระเป็นชุมชนขนาดเล็กมีพื้นที่เป็นที่ราบ สภาพบ้านเรือนจะเป็นบ้านปูนชั้นเดียวและบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง การตั้งบ้านเรือนเป็นลักษณะเครือญาติ จะมีรั้วกั้น มีการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองในบ้าน ชาวบ้านมักใช้รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ มีบางส่วนที่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา มีชาวบ้านบางส่วนที่รับจ้างทั่วไป ทำสวนยาง สภาพความเป็นอยู่ของประชากรมีฐานะปานกลาง มีรายได้หลักจากการทำเกษตรกรรม คือ การทำนา ประชากรในหมู่บ้านมีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสมัครสมานสามัคคีกัน มีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายเช่นชุมชนชนบททั่วไป

ผู้ใหญ่บ้าน : นายมานพ ป้อดำ

ภายในหมู่บ้านยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้าน ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นายอินแปง ตันคำแดง เป็นประธาน ประกอบด้วย อสม. รวมประธานทั้งสิ้น 16 คน
  • อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน : นายสมาน เชื้อเมืองพาน เป็นประธาน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มออมทรัพย์ : นายประเสริฐ หรดี เป็นประธาน
  • กองทุนหมู่บ้าน : กองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนเงินล้าน, กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน, กองทุนอยู่ดีมีสุขหรือกองทุนธนาคารข้าว

วัฒนธรรม ประเพณี แบบล้านนา

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์  เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยไปใช้ในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุดงตุ้มลุ้ม
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ธรรมบุญวันวิสาขบูชา
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า, ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ 
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ

1. นายสมเดช ดันดำแดง : ปราชญ์ด้านช่างไม้

2. นายประเสริฐ หรูดี : ปราชญ์ด้านช่างไม้

3. นายแก้ว หล้าคำพูล : ปราชญ์ด้านช่างไม้

4. นายชื่น ราชคม : ปราชญ์ด้านช่างไม้

5. นายจ้อย ราชคม : ปราชญ์ด้านจักสาน

6. นายแก้ว ปินตา : ปราชญ์ด้านจักสาน

7. นางเขียว ราชคม : ปราชญ์ด้านจักสาน

8. นางทา อินกลม : ปราชญ์ด้านปั่นฝ้าย

9. นางปา งามแฉล้ม : ปราชญ์ด้านทอผ้า

  • พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ราบใช้ทำนา สวนยางพารา ปลูกผลไม้ส่งออก เช่น ลิ้นจี่ แตงโม แคนตาลูป
  • วิสาหกิจชุมชน กลุ่มน้ำยางบ้านหนองสระ เลขที่ 117 หมู่ที่ 6 ถนน ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2563). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านหนองสระ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563. เข้าถึง ได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก  http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. จารึกวัดหนองสระ. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม.ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508