Advance search

บ้านน้ำเค็ม

บ้านน้ำเค็มมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานเพื่อเป็นการรำลึกถึงความยากลำบากเมื่อครั้งที่ชุมชนต้องประสบกับเหตุการณ์คลื่นยักสึนามิ พ.ศ. 2547 ซึ่งสร้างความสูญเสียแก่ผู้คนและทรัพยากรเป็นอย่างมาก 

บางม่วง
ตะกั่วป่า
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
บ้านน้ำเค็ม

สันนิษฐานว่าเพราะมีที่ตั้งอยู่ติดทะเลอันดามันและ “น้ำเค็ม” เป็นภาษาถิ่นใต้หมายถึง “น้ำทะเล” เมื่อมีการก่อตั้งหมู่บ้านจึงเรียกชื่อหมุ่บ้านตามลักษณะที่ตั้งว่า “บ้านน้ำเค็ม”


บ้านน้ำเค็มมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานเพื่อเป็นการรำลึกถึงความยากลำบากเมื่อครั้งที่ชุมชนต้องประสบกับเหตุการณ์คลื่นยักสึนามิ พ.ศ. 2547 ซึ่งสร้างความสูญเสียแก่ผู้คนและทรัพยากรเป็นอย่างมาก 

บางม่วง
ตะกั่วป่า
พังงา
82190
องค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง โทร. 0-7659-3558
8.85870298816211
98.276220113039
องค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง

 ที่ตั้งของบ้านน้ำเค็ม ชุมชนบ้านน้ำเค็มนั้นมีพื้นที่อยู่ในเขตตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วปา จังหวัดพังงา เหตุที่เรียกว่า "บางม่วง" นั้นเดิมสันนิษฐานว่าบริเวณนี้จะมีต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก และมีต้นมะม่วงใหญ่ขึ้นอยู่ตรงบริเวณท่าน้ำริมคลอง ผู้คนที่สัญจรไปมามักจะมาขึ้นบกที่ท่าน้ำแห่งนี้ ซึ่งมีต้นมะม่วงใหญ่ที่เป็นลักษณะเด่นที่สังเกตได้ ทำให้ราษฎรทั่วไปเรียกว่า"บ้านบางม่วง" ต่อมาหมู่บ้านนี้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นจึงใช้ชื่อว่า "หมู่บ้านบางม่วง" ซึ่งเป็นชื่อของตำบลในเวลาต่อมา และเหตุที่เรียกว่า "บ้านน้ำเค็ม" นั้นสันนิษฐานว่าเพราะมีที่ตั้งอยู่ติดทะเลอันดามันและ “น้ำเค็ม” เป็นภาษาถิ่นใต้หมายถึง “น้ำทะเล” (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา, 2549 : 61 อ้างถึงใน ภศิกา ผลารักษ์, 2550: 59)

พื้นที่ชุมชนบ้านน้ำเค็มมีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมายาวนาน แต่ไม่ได้รับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นชุมชนชาวบ้านขนาดเล็กที่พบเห็นได้ทั่วไปแถบชายฝั่งทะเลตะวันตก จากหลักฐานที่ปรากฏเด่นชัดเกี่ยวกับชุมชนบ้านน้ำเค็ม ทั้งจากสภาพพื้นที่ทางกายภาพ จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ และจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่ปรากฏให้เห็น ทำให้สามารถจำแนกพัฒนาการของชุมชน คือ ช่วงแรกหรือช่วงก่อนการเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ และช่วงหลังหรือช่วงภายหลังเกิดเหตุธรณีพิบัติภัย ดังต่อไปนี้

ช่วงแรก: บ้านน้ำเค็มก่อนเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิบ้านน้ำเค็ม เดิมเป็นชุมชนขนาดเล็กประมาณ 30 ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมง จนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2515-2516 ได้มีการอนุญาตทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งบนบกและในทะเล สืบเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และฉบับต่อมาซึ่งมีนโยบายหลัก คือ การเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลให้บ้านน้ำเค็มมีการหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องของคนจากพื้นที่โดยรอบและพื้นที่ต่างภูมิภาค (ปรากฏเป็นชื่อซอยประจำถิ่นฐานต่าง ๆ เช่น ซอยสุพรรณ ซอยเสนา ซอยนครศรีธรรมราช ซอยเชียงใหม่ เป็นต้น) เพื่อประกอบอาชีพขุดแร่ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2518 ทำให้ชุมชนมีการขยายตัวเป็นอย่างมากและการประกอบอาชีพประมงลดน้อยลง ซึ่งการทำเหมืองแร่ดังกล่าวมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพและภูมิประเทศของพื้นที่ ทั้งร่องน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป การเกิดขึ้นของขุมเหมือง ตลอดจนพื้นที่เนินสูงซึ่งเกิดจากการถมดินทรายที่ได้จากการขุดเหมืองแร่ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2530 จำนวนแร่ที่ขุดได้อย่างต่อเนื่องก็หมดลงและการขุดแร่จึงได้ยุติลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวชุมชนบ้านน้ำเค็มจึงเริ่มกลับมาทำการประมงอีกครั้ง รวมไปถึงกิจกรรมต่อเนื่องจากการประมงอื่น ๆ และกลายเป็นวิถีอาชีพหลักของชุมชนจนถึงปัจจุบัน

ช่วงหลัง : หลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิหลังจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม หมู่บ้านชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นหมู่บ้านที่ได้รับความสูญเสียมากที่สุด ทั้งทรัพย์สิน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ชาวบ้านประมาณ 1 ใน 4 จากประชากรราว 4,200 คน ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ในครั้งนี้ บ้านเรือนร้อยละ 80 พังเสียหายทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดต้องบูรณะซ่อมแซมใหม่ ปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำเค็ม ได้รับการช่วยเหลือในด้านที่พักอาศัย เครื่องมือและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพจากหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนมูลนิธิต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก หากแต่เป็นการช่วยเหลือที่กระจัดกระจายไม่สามารถกำหนดทิศทางของการพัฒนาชุมชนทั้งทางจิตใจสังคม เศรษฐกิจ และกายภาพสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นองค์รวม เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเร่งด่วน

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านน้ำเค็ม ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีอาณาเขตติดต่อทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

  • ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดกับ เกาะคอเขา (ตำบลเกาะคอเขา) และคลองปากเกาะ
  • ทิศใต้ มีอาณาเขตติดกับ บ้านบางหลุด
  • ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดกับ บ้านบางม่วงและคลองบางปอ
  • ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดกับ ทะเลอันดามัน

ลักษณะภูมิประเทศ

ชุมชนบ้านน้ำเค็มมีพื้นที่ประมาณ 4,060 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบริมชายฝั่งทะเลอันดามัน มีอาณาเขตจนถึงชายฝั่งทะเลประมาณ 6,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ริมชายฝั่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2 เมตร หน้าหาดกว้าง 20 เมตร เป็นชายฝั่งทะเลเปิด ลักษณะชายฝั่งเช่นนี้มีความลาดชันน้อยซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คลื่นสึนามิเคลื่อนที่เข้าฝั่งด้วยความเร็วสูงและสามารถรุกเข้าบนฝั่งเข้าชุมชนได้เป็นระยะไกล ประกอบกับการตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านอย่างหนาแน่น ดังนั้น เหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมานั้นจึงทำให้บ้านน้ำเค็มได้รับความเสียหายอย่างหนัก พื้นที่ชายฝั่งของชุมชนนั้นประกอบด้วยพื้นที่ 2 ลักษณะคือ สภาพที่เป็นหาดทรายซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนชาวบ้านใช้เป็นที่จอดเรือหัวโทง (เรือที่ใช้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง) และสภาพที่เป็นป่าชายเลนที่ชาวบ้านใช้ตั้งกระชังเลี้ยงปลาหรือจับปลา หลังจากเหตุการณ์สึนามิทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าชายเลนมากขึ้นดังนั้นจึงมีกิจกรรมปลูกป่าชายหาดและปลูกป่าชายเลนในโอกาสต่าง ๆ

ทรัพยากรธรรมชาติ

พื้นที่บริเวณบ้านน้ำเค็มลงไปทางทิศใต้เป็นพื้นที่หาดทรายชายฝั่งทะเลที่มีระบบนิเวศแบบชายหาด (Beach Fores) ที่เป็นสังคมพืชป่าไม้ไม่ผลัดใบพรรณไม้ที่พบได้แก่ กระทิง หูกวาง โพธิ์ทะเล มะนาวผี ปอทะเล จิกทะเล รักทะเล สนทะเล ทองหลางน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีต้นเตยทะเลหรือลำเจียก พลับพลึง กระทกรกผักบุ้งทะเลและพืชตระกูลหญ้า บริเวณปากคลองบางม่วงและคลองบางปอ มีสภาพเป็นป่าจากและป่าชายเลนพรรณไม้หลักที่พบ คือ โกงกางใบเล็ก แสมทะเล โพธิ์ทะเล และชะคราม พื้นที่ของป่าชายเลนเหล่านี้เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีขนาดพื้นที่กว่า 400 ไร่ ล้อมรอบหมู่บ้านน้ำเค็ม 

บ้านน้ำเค็มมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,405 คน แบ่งเป็นชาย 1,771 คน หญิง 1,733 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2,201 ครัวเรือน โดยจำนวนและลักษณะของประชากรบ้านน้ำเค็มนั้น ประกอบด้วยประชากร 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนไทย กลุ่มชาวมอแกน-มอแกลน และกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ส่งผลให้บ้านน้ำเค็มจึงเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางประชากร ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์สึนามิ

ชาวมอแกน-มอแกลน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านน้ำเค็ม เข้าใจว่าอพยพเข้าเป็นเวลานานกว่า 70 ปีแล้ว ก่อนที่บ้านน้ำเค็มจะเข้าสู่ยุคของการทำเหมืองแร่ (ก่อนปี พ.ศ. 2515) ส่วนใหญ่เข้ามาด้วยวิธีการแต่งงานกับคนเชื้อสายไทย ชาวมอแกน-มอแกลนนี้อยู่รวมกันเป็นเครือญาติและอาศัยอยู่ใน 3 ซอยนี้เท่านั้น คือ ซอยโกพัด ซอยสุพรรณ (เป็นซอยที่มีชาวมอแกลนที่มาจากเกาะเหลา จังหวัดระนองมาอยู่มากที่สุด) และซอยองค์การ โดยชาวมอแกน-มอแกลนที่ซอยสุพรรณมีประมาณ 68 ครัวเรือน แต่มีเพียง 3 หลังที่มีทะเบียนบ้าน จำนวนประชากรของชาวมอแกลนนี้ไม่แน่นอนเนื่องจากชาวมอแกลนนั้นจะมีการเดินทางไปมาหาสู่กันในระหว่างเครือญาติ ซึ่งชาวมอแกลนทั้ง 3 ซอยนั้นจะรู้จักกันหมด นอกจากนี้ยังเป็นเครือญาติเดียวกันกับชาวมอแกลนที่เกาะเหลา จังหวัดระนอง ซึ่งในปัจจุบันชาวมอแกน-แกลนที่บ้านน้ำเค็มนี้ (โดยเฉพาะที่ซอยสุพรรณ) จะยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงบัตรแสดงสถานภาพบุคคลเท่านั้น

มอแกน, มอแกลน

กลุ่มอาชีพของชุมชนบ้านน้ำเค็ม 

อาชีพประมง : การประกอบอาชีพประมงที่บ้านน้ำเค็มนั้น จำแนกได้เป็น 3 รูปแบบดังนี้

  • การประกอบอาชีพประมงแบบพื้นบ้าน คือ การประกอบอาชีพประมงที่ใช้อุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น การหาหอยติบ ตามคลองที่มีอยู่ในชุมชน การจับปูตามป่าชายเลนที่อยู่บริเวณบ้านน้ำเค็ม (ด้านหลังซอยตกปู ซอยโกพัด ซอยสุพรรณ) ซึ่งผู้ที่ประกอบอาชีพประมงในลักษณะนี้มีอยู่เป็นจำนวนน้อย ได้แก่ กลุ่มชาวมอแกน-มอแกลน

  • การประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ผู้ที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งที่บ้านน้ำเค็มนั้น ชาวประมงจะออกเรือได้ดีในช่วง ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน หากว่าพ้นจากช่วงเดือนนี้แล้วจะเป็นช่วงมรสุมที่จะออกเรือลำบาก ดังนั้นช่วงมรสุมจะมีช่วงเวลาประมาณ 5 เดือนนี้ ชาวประมงจะไม่ได้ออกเรือ จึงทำการซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ประมงต่าง ๆ เช่น อวนปลา อวนกุ้ง ช่วงนี้หากว่าไม่มีอาชีพเสริมชาวบ้านในชุมชนก็จะขาดรายได้ในช่วงนี้ไป

  • การประกอบอาชีพประมงขนาดกลางหรือประมงพาณิชย์ โดยผู้ที่ประกอบกิจการประมงขนาดกลางนี้ได้รับความเสียหายทั้งหมดจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกเรือใหญ่โดยแรงงานที่ใช้นั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่าจำนวน 20-30 คน ต่อ 1 ลำ ประมงพาณิชย์นี้ครอบคลุมถึงกิจการแพปลาและโรงน้ำแข็งในบ้านน้ำเค็มด้วย

  • การเลี้ยงปลาในกระชัง : ชาวบ้านน้ำเค็มยังมีการเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อเป็นอาชีพเสริมอีกทางนอกจากการออกเรือ โดยเลี้ยงปลากะพง ปลาเก๋าดอกแดง การเลี้ยงปลาในกระชังจะเลี้ยงบริเวณใกล้กับป่าชายเลนบ้านน้ำเค็ม ทว่าในช่วงเหตุการณ์สึนามิทำให้ปลาในกระชังได้รับความเสียหายทั้งหมด แต่หลังจากพ้นวิกฤตเหตุการณ์สึนามิก็มีองค์กรต่าง ๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเลี้ยงปลาในกระชัง และจัดหาพันธุ์ปลาให้ชาวบ้าน

อาชีพที่นอกเหนืออาชีพประมง : นอกจากอาชีพประมงที่ถือว่าเป็นอาชีพหลักของบ้านน้ำเค็มแล้วยังมีการประกอบอาชีพอย่างอื่นอีก เช่น อาชีพรับจ้าง อาชีพค้าขายในตลาดสด หรือการเปิดร้านค้าของชำ ร้านอาหาร ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์ประมง ร้านขายน้ำแข็ง อาชีพให้บริการ เช่น ร้านเสริมสวย คลินิก ร้านเช่าวีซีดี ร้านอินเทอร์เน็ตและเกมส์ เป็นต้น

ประเพณี

ชุมชนบ้านน้ำเค็มนั้นจะเหมือนกับประเพณีที่จัดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศไทยโดยทั่วไป เช่น ประเพณีงานบุญเดือนสิบ ประเพณีชักพระ ประเพณีสงกรานต์ที่จัดให้มีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในชุมชน นอกจากนี้ ในส่วนของชาวมอแกน-มอแกลน ทั้ง 3 ซอยนั้นก็มีประเพณีเฉพาะกลุ่มคือประเพณี "ขอบุญ" ซึ่งทุกวันพระนั้นชาวมอแกน-มอแกลนจะไปวัดบางม่วงหรือสำนักสงฆ์บ้านน้ำเค็มเพื่อขอบุญจากผู้ที่ไปทำบุญที่วัด เช่น ข้าวสาร อาหาร เป็นต้น

งานประจำปีของชุมชน

งานประจำปีของชุมชนในปัจจุบัน คือ งานรำลึกเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งจะมีการจัดทำบุญใหญ่ให้กับผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิโดยจะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของศาสนาพุทธ คริสต์และอิสลาม ที่บริเวณสวนอนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม ในงานก็จะมีการแสดงนิทรรศการในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สึนามิ เช่น ความเสียหายเพื่อเป็นการรำลึกและเตือนสติของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ การฟื้นฟู การจัดเวทีเสวนาสรุปบทเรียนรู้ร่วมกันจากการทำงานที่ผ่านมาของทั้ง 6 จังหวัดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การวางแนวทางพัฒนาการจัดการภัยพิบัติของชุมชนร่วมกันซึ่งการจัดงานนั้นได้รับความร่วมมือจาก องค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนชุมชนมาตั้งแต่ต้น “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ” “เครือข่ายฟื้นฟูชุมชนเกาะลันตา” จังหวัดกระบี่ “เครือข่ายไทยพลัดถิ่น” จังหวัดระนอง “เครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดิน 6 จังหวัด” เป็นต้น เครือข่ายเหล่านี้มีการประสานความร่วมมือกันมาตั้งแต่ช่วงแรกที่ประสบภัย ปัจจุบันบ้านน้ำเค็มก็เป็นสมาชิกของเครือข่ายผู้ประสบภัย   สึนามิที่มีบทบาทในการดำเนินงานแก้ปัญหา ฟื้นฟู และพัฒนา การทำงานในรูปแบบของเครือข่ายที่เป็นผู้ประสบภัยสึนามินี้ทำให้เกิดความสามารถในการแก้ปัญหาร่วมกันเกิดอำนาจในการต่อรองข้อพิพาทต่าง ๆ  ระหว่างรัฐกับผู้ประสบภัยทำให้ชุมชนบ้านน้ำเค็มมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนและระหว่างเครือข่ายมากขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม

พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านภัยพิบัติควบคู่การสร้างอาชีพ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีพิบัติภัยสึนามิ เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านสังคม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มแห่งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ อย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมาประมาณ 8,000 คน ภายหลังที่เปิดให้บริการ หน่วยงานทางภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น ท้องที่ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วน ได้ร่วมมือกันเพื่อให้พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านภัยพิบัติ พร้อมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการค้าการขาย สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนตลอดระยะเวลา นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นใต้ 

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 


ไฟฟ้า : ได้รับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

น้ำประปา : ส่วนใหญ่ที่บ้านน้ำเค็มใช้น้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคตะกั่วป่าโดยมีแหล่งน้ำดิบอยู่ที่ตำบลโคกเคียนแต่ยังมีบางส่วนของชุมชนที่ต้องซื้อน้ำใช้จากรถขายน้ำอยู่

ระบบการสื่อสาร : ในชุมชน มี 2 ลักษณะคือ การสื่อสารในสถานการณ์ปกติและการสื่อสารใสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการที่จะได้รับภัยพิบัติสึนามิ คือ หอเตือนภัยสีนามิจำนวน 2 แห่ง

โทรศัพท์สาธารณะ : ชุมชนบ้านน้ำเค็มมีตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตั้งอยู่ 3 แห่ง คือที่บริเวณด้านข้างของโรงเรียนบ้านน้ำเค็มจำนวน 3 ตู้ บริเวณสถานีตำรวจย่อยในชุมชนจำนวน 3 ตู้ และบริเวณท่าเรือที่จะข้ามไปเกาะคอเขา 3 ตู้


บ้านน้ำเค็มมีสถานีอนามัย 2 แห่ง คือ สถานีอนามัยบางม่วงตั้งอยู่ทางเข้าของชุมชน และสถานีอนามัยบ้านน้ำเค็ม จากข้อมูลทะเบียนประวัติอาสาสมัครสาธารณสุข ปี 2550 ของสถานีอนามัยบ้านน้ำเค็ม วันที่ 5 มิถุนายน 2550 มีจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 41 คน เป็นชาย 13 คน หญิง 28 คน ดังนั้นสัดส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขต่อจำนวนประชากรบ้านน้ำเค็มทั้งหมด 3,621 คน เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 1 ต่อ 88 คน สถานีอนามัยบ้านน้ำเค็มก่อตั้งเมื่อปี 2507 ปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพ 2 คน เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 1 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน 1 คน และมีโครงการที่ดำเนินงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) คือ โครงการความร่วมมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุขต่างด้าว ซึ่งร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันบริเวณสถานีอนามัยบ้านน้ำเค็มเป็นที่ตั้งของหอเตือนภัยสึนามิของชุมชน


บ้านน้ำเค็มมีโรงเรียน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม เปิดสอนในระดับอนุบาล (ศูนย์เด็กเล็ก) ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันโรงเรียนบ้านน้ำเค็มเป็นที่ตั้งของหอเดือนภัยสึนามิของชุมชน และจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมาโรงเรียนบ้านน้ำเค็มนั้นแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสึนามิ แต่ก็น้อยกว่าบริเวณอื่น ๆ ในชุมชน เพราะตั้งอยู่ห่างไกลจากทะเล ดังนั้น ปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำเค็มจึงมีข้อตกลงร่วมกันว่าให้โรงเรียนบ้านน้ำเค็มถือเป็นสถานที่หลบภัยชั่วคราวจากคลื่นสึนามิและเป็นจุดที่ปลอดภัยเพราะตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูงไกลจากทะเล และหลังเหตุการณ์สึนามิภาคเอกชนได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ที่เป็นตึก 3 ชั้นให้ ดังนั้นโรงเรียนบ้านน้ำเค็มจึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริเวณที่ปลอดภัยจากคลื่นสีนามิของชุมชน

สวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านน้ำเค็ม อยู่ติดชายทะเล ห่างจากตัวอำเภอตะกั่วป่าประมาณ 7 กิโลเมตร จัดสร้างในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งบ้านน้ำเค็มแห่งนี้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก และสวนอนุสรณ์แห่งนี้มีความโดดเด่น ด้านสถาปัตยกรรมกำแพงทรงโค้งรูปคลื่นผิวหินขัดสีดำ อีกด้านเป็นกำแพงเฉียงปูอิฐสลับกับกระเบื้องเซรามิก มีป้ายทองเหลืองสลักชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ 

ณัฐวุฒิ อัศวโกทิวงศ์และปูรณ์ ขวัญสุวรรณ. (2550). ประชาสังคม เครือข่าย และการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา. วารสารสถาปัตยกรรมและการวางแผน, 5(2), 82.

ภศิกา ผลารักษ์. (2550). การจัดการความรู้เพื่อฟื้นฟูชุมชนและรับมือกับภัยพิบัติ : กรณีศึกษา บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

องค์การบริการส่วนตำบลบางม่วง. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.bangmoung-sao.go.th/

Innews. (2566). ชาวน้ำเค็มตะกั่วป่าทำบุญอุทิศผู้เสียชีวิต ร่วมรำลึก16ปีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก http://innews.news.com/

Thai tour. (ม.ป.ป.). ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thai-tour.com/

Thai tourismthailand. (2565). พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/

The reporters. (2564). สืบค้นเมื่อ17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thereporters.co/