Advance search

มอแกนเกาะสุรินทร์

เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย พื้นที่ที่ปรากฏวัฒนธรรมวิถีชุมชนของชาวมอแกนที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี

เกาะพระทอง
คุระบุรี
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
มอแกนเกาะสุรินทร์


เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย พื้นที่ที่ปรากฏวัฒนธรรมวิถีชุมชนของชาวมอแกนที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี

เกาะพระทอง
คุระบุรี
พังงา
82150
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทอง โทร. 08-1797-6566
9.448776
97.872032
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทอง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอกระบุรี จังหวัดพังงา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะอันดามัน ซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่ชายฝั่งประเทศพม่า (หมู่เกาะมะริด) แล้วไปสิ้นสุดที่หมู่เกาะสิมิลัน ปัจจุบันหมู่เกาะสุรินทร์เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีกลุ่มชาวเลที่เรียกขานตนเองว่า “มอแกน” เข้าไปใช้พื้นที่ทำมาหากินและเป็นที่พักอาศัยยามช่วงลมมรสุมมาเยือน เนื่องจากพื้นที่ตั้งของเกาะสุรินทร์นั้นเป็นทางผ่านของเส้นทางเดินเรือร่อนเร่ของชาวมอแกนมาตั้งแต่โบราณ

การอพยพของชาวมอแกนเกาะสุรินทร์

  • ในช่วงของฤดูมรสุม มอแกนกลุ่มนี้ได้ตั้งบ้านเรือนพักอาศัยกันที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นชาวมอแกนเข้ามารับจ้างในการทำงานเหมืองแร่ หลังจากนั้นราว 1 ปี ลุงสุไน มอแกนจากเกาะคุง และมอแกนจากเกาะหญ่าลำ เกาะหน่าบิ และหญ่าวิ (ในหมู่เกาะมะริด) ย้ายเข้ามาพักอาศัยอยู่รวมกันที่บริเวณอ่าวแม่ยาย

  • หลังจากนั้นกลุ่มของหม่าตะ อพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งหมู่บ้านที่อ่าวตะนาว หรืออ่าวกระทิง ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของบริเวณช่องขาดอุทยานฯ แต่เมื่อมีการประกาศให้พื้นที่สงวนนี้ กลายเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ รวมทั้งการเข้ามาตั้งที่ทำการอุทยานฯเมื่อปี พ.ศ. 2524

  • กลุ่มของหม่าตะ อพยพเคลื่อนย้ายอีกครั้งไปยังเกาะพระทอง ใกล้กับฝั่งคุระบุรี จังหวัดพังงา เพื่อเดินทางพากันอพยพเข้าไปทำงานเป็นคนงานทำแร่ในบริเวณนั้น

  • เคลื่อนย้ายอพยพกลับมาอีกครั้งไปยังเกาะสุรินทร์ โดยตั้งหมู่บ้านอยู่รวมกันบริเวณช่องขาดอุทยานฯ เมื่อสถานการณ์การทำเหมืองแร่ตกต่ำลง

  • เคลื่อนย้ายการใช้พื้นที่พักอาศัยอีกครั้งมาอยู่ที่อ่าวบอนใหญ่ เป็นพื้นที่อ่าวขนาดใหญ่ เป็นสถานที่หลบลมได้เป็นอย่างดี

  • เปลี่ยนการใช้พื้นที่พักอาศัยอีกครั้งมาอยู่ที่อ่าวแม่ยาย แต่อยู่ได้เพียงไม่นานต้องย้ายกลับออกไป เนื่องจากมอแกนกลัวภัยจากโจรผู้ร้าย เพราะเมื่อย้ายเข้าไปในบริเวณอ่าวไทรเอน ซึ่งค่อนข้างไกลจากตัวอุทยานฯ รวมทั้งอยู่ในอ่าวแม่ยายค่อนข้างเปลี่ยว ในขณะที่ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวช่องขาด

  • ย้ายกลับมาที่อ่าวบอนเล็ก และมีมอแกนอีกส่วนย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่อ่าวบอนใหญ่ด้วย เนื่องจากพื้นที่บริเวณอ่าวบอนเล็กมีเนื้อที่ค่อนข้างแคบ ทำให้เกิดความแออัดของการใช้พื้นที่ขึ้นในชุมชนมอแกนอ่าวบอน

  • พ.ศ. 2537 เกิดอหิวาตกโรคในกลุ่มชาวมอแกน มอแกนจึงอพยพจากบริเวณอ่าวบอนใหญ่บนเกาะสุรินทร์ใต้ กลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณอ่าวช่องขาด ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะสุรินทร์ใต้

  • มอแกนบางส่วนเคลื่อนย้ายจากหมู่บ้านบริเวณอ่าวช่องขาด มาตั้งหมู่บ้านรวมกันที่อ่าวไทรเอน หลังจากนั้นเมื่อมีกาย้ายเข้ามาตั้งสำนักงานของหน่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำกรมประมงที่บริเวณอ่าวไทรเอน ส่วนมอแกนอีกหลายครอบครัวยังคงตั้งหลักแหล่งที่ค่อนข้างถาวรบริเวณอ่าวบอนเล็กเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา บริเวณหมู่เกาะมีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ และเนื้อที่บนพื้นดินประมาณ 20,594 ไร่ เกาะสุรินทร์ หรือในภาษามอแกน เรียกว่า ปอลาวหล่าต๊ะ ประกอบด้วย 5 เกาะได้แก่ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะมังกร และเกาะตอรินลา

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ แนวตอนใต้สุดของหมู่เกาะมะริดเขตแดนของประเทศพม่า
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ฝั่งอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกลับ มหาสมุทรอินเดีย
  • ทิศใต้ ติดต่อกลับ เกาะมินิดัน หมู่เกาะสุดท้ายในกลุ่มเกาะอันดามันเหนือ

การตั้งถิ่นฐาน

ปัจจุบันชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีอยู่ด้วยกัน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านอ่าวบอน หรือเรียกในภาษามอแกนว่า "แนอ๊ะ" ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบอนเล็กบนเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นหมู่บ้านมอแกนที่ตั้งอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ นั่งเรือเพียง 5 นาที พื้นที่อ่าวบอนอยู่ติดกับหน้าอุทยาน และอ่าวสับปะรด หมู่บ้านที่ 2 คือ หมู่บ้านอ่าวไทรเอน หรือเรียกในภาษามอแกนว่า "บิลุ" บนเกาะสุรินทร์เหนือ ใกล้กับหนวดอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ กรมประมง อ่าวไทรเอนตั้งอยู่ถัดจากอ่าวแม่ยายขึ้นไปทางเหนือ โดยหมู่บ้านมอแกนทั้งสองแห่ง ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางถึงกันประมาณ 30 นาทีด้วยเรือ

ลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านมอแกน

หมู่บ้านอ่าวบอน ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบอนเล็กบนเกาะสุรินทร์ใต้ และหมู่บ้านอ่าวไทรเอน ตั้งอยู่บนเกาะสุรินทร์เหนือ ลักษณะของพื้นที่สำหรับใช้ในการตั้งหมู่บ้านของชาวมอแกนต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • เป็นอ่าวที่มีลักษณะเป็นบริเวณบังคลื่นลมได้ดี ต้องเป็นจุดที่สามารถทอดสมอจอดเรือได้ เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวมอแกนจำเป็นต้องมีเรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเสมอ เพราะชาวมอแกนต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะสำหรับการเดินทาง และทำมาหากิน
  • มีแหล่งน้ำจืด เพียงพอสำหรับการบริโภคและอุปโภคในครัวเรือน
  • สถานที่บริเวณรอบ ๆ ที่ตั้งของหมู่บ้าน ต้องเป็นบริเวณที่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรทั้งในป่าและทะเล เนื่องจากในวิถีชีวิตของชาวมอแกน พวกเขาต้องพึ่งพาทรัพยากรจากป่าและท้องทะเลเพื่อการดำรงชีวิตเสมอมา ยกตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากป่า เพื่อเก็บพืชผัก ผลไม้สำหรับใช้บริโภคเป็นอาหาร ใบค้อทะเล สำหรับใช้ในการทำหลังคาบ้าน ไม้ไผ่สำหรับสร้างบ้าน หรือใบเตยหนาม สำหรับนำมาสานเป็นเสื่อ กระปุก สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น 

จำนวนประชากรชาวมอแกน

หมู่บ้านมอแกนอ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้  มีจำนวน 60 คน ชาย 13 คน หญิง 22 คน เด็กหญิงและเด็กชายรวมกัน 25 คน  และ 19 ครัวเรือน

หมู่บ้านมอแกนไทรเอน เกาะสุรินทร์เหนือ มีจำนวน 78 คน แบ่งเป็น ชาย 16 คน หญิง 27 คน เด็กชายและเด็กหญิงรวมกัน 35 คน และ 19 ครัวเรือน

ระบบเครือญาติ

ลักษณะครอบครัวของชาวมอแกนเป็นครอบครัวขยาย ได้แก่ ครอบครัวที่มีสมาชิกซึ่งมีความสัมพันธ์ในเครือญาติขยายออกไปจากครอบครัวเดี่ยว คือ ขยายโดยการเพิ่มจำนวนคู่สมรส หรือขยายโดยครอบครัวของพี่น้องที่แต่งงานแล้วมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งโดยปกติแล้วครอบครัวของชาวมอแกนจะมีขนาดครอบครัวประมาณ 4-5 คน เพราะภายหลังจากการแต่งงานของชาวมอแกน คู่สามีภรรยามักจะยังคงอยู่อาศัยร่วมชายคาเดียวกันกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง หรือเพียงแยกออกมาสร้างบ้านใหม่อยู่ติดใกล้ ๆ กับบ้านพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดังนั้น ครอบครัวมอแกนส่วนใหญ่จึงมีสมาชิกประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกและปู่ย่าตายาย ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในหลังคาเรือนเดียวกัน

มอแกน

สภาพทางเศรษฐกิจในสังคมของชาวมอแกนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

การเก็บบริโภคอาหารเพื่อการยังชีพ : ในพื้นที่ป่าและทะเลในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคมของทุกปี นอกจากจะทำงานกับทางอุทยานในฐานะของลูกจ้างชั่วคราวรายวันของอุทยาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทางอุทยานมีนโยบายการจ้างงานเพื่อเป็นการช่วยเหลือในเรื่องรายได้แก่ชาวมอแกนโดยจ้างงานทั้งชายและหญิง ช่วงตลอดระยะเวลาของฤดูกาลท่องเที่ยวทำให้มีวิถีชีวิตประจำวันต้องปรับเปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

แหล่งรายได้ของชาวมอแกน : การแลกเปลี่ยนสินค้าจากทะเล ในอดีตชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ดำรงชีพด้วยการจับสัตว์ทะเลและเก็บทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าคนกลางบนฝั่งสัตว์ทะเลที่ ชาวมอแกนสะสมหาเก็บเพื่อแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่จะเป็น เปลือกหอย ปลิงทะเล เป็นต้น ส่วนทรัพยากรจากป่าที่ชาวมอแกนนำมาแลกเปลี่ยนกับพ่อค้า คือ รังนก และน้ำผึ้ง

ในสมัยก่อนมอแกนทำการเก็บสะสมเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ เพื่อรอให้ได้จำนวนมาก หากพร้อมก็จะนำไปขายให้เถ้าแก่ที่จังหวัดระนอง โดยร้านค้าจะรับซื้อหอยแทบทุกชนิด ยกเว้นหอยมือเสือ เช่น หอยมุกโข่ง 1,350 บาท/ กิโลกรัม หอยนมสาว 50 บาทต่อกิโลกรัม หอยเบี้ย 20 บาทต่อกิโลกรัม หอยเล็บมือนาง 30-50 บาทต่อตัว หอยมือผี 10-20 บาทต่อตัว หอยตาวัว (คาม่วง) 20 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับฤดูกาลจากอิทธิพลของมรสุม กล่าวคือ ช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อทะเลเงียบและอากาศดีมอแกนจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเรือเดินทางไปไกล ๆ เพื่อจับปลาและงมหอยแต่ในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ชาวมอแกนจะมารวมกลุ่มกันสร้างกระท่อมชั่วคราวเพื่อเป็นที่พักพิงในระหว่างที่ทะเลมีคลื่นลมแรง ในปัจจุบันมอแกนส่วนใหญ่ที่เกาะสุรินทร์จะตั้งหลักปักฐานอยู่บริเวณชายหาดที่มีอ่าวกรรมบังคลื่นลมปลอดภัยในการจอดเรือและมีแหล่งน้ำจืดสำหรับการบริโภคของชาวมอแกน

พิธีกรรมและความเชื่อของชาวมอแกนเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรทางทะเล

ชาวมอแกนมีการดำรงชีพที่ควบคู่มากับธรรมชาติรอบตัวมาเป็นเวลาช้านาน อาศัยอยู่ด้วยการเก็บหาอาหารจากธรรมชาติรอบตัว เพื่อนำมาบริโภคในครอบครัวและชุมชน การใช้วิถีชีวิตร่วมกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ชาวมอแกนสร้างแบบแผนของความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา เสมือนเป็นการเข้าใจถึงวัฏจักรการหมุนเวียนของธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว เพื่อให้เกิดเป็นความสมดุลในการใช้ทรัพยากรภายใต้กรอบคิดของการเคารพในวิญญาณบรรพบุรุษที่ไม่ต้องการให้ลูกหลานชาวมอแกนบริโภคอาหารจากธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่า โดยใช้หลักการของการประกอบพิธีกรรมต่อบรรพบุรุษเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้มอแกนรุ่นลูกหลานยึดถือปฏิบัติตามสืบต่อไป ยกตัวอย่างพิธีกรรม “หมู่ตุ้ย” และพิธีกรรม “เลี้ยด” ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เปรียบเสมือนสัญญะความศรัทธาในดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ เนื่องจากเป็นการเชื่อมโลกปัจจุบันกับโลกของวิญญาณ หรือ “การขอผี” ขอร้องให้วิญญาณของบรรพบุรุษคอยช่วยเหลือลูกหลานที่กำลังจะเดินทางไกล ไปทำมาหากินยังเกาะที่ห่างไกลเป็นเวลาหลายวัน ขอให้คุ้มครองให้ปลอดภัยจากสั่งไม่ดีทั้งปวง ขอให้ทำงานได้เยอะ ขอให้ลมฟ้าอากาศดีไม่มีลมพายุ ขอให้มีอาหารการกินไม่ขาคแคลน เป็นต้น

ลักษณะที่อยู่อาศัย

บ้านเรือนของชาวมอแกนมีลักษณะเป็นบ้านเรือนไม้ไผ่ ใต้ถุนสูง มุงหลังคาและฝาบ้านด้วยใบปอทะเลเย็บด้วยเส้นหวาย ซึ่งมีความคงทนนาน 2-3 ปี ภายในของตัวบ้านจะมีการแบ่งห้องนอนอย่างเป็นสัดส่วน และมักจะมีชานหน้าบ้านสำหรับเป็นที่พักผ่อนและทานข้าวของครอบครัว มอแกนจะออกหาหอย ตกปลา จับปูเม่นทะเลและสัตว์ต่าง ๆ เป็นอาหาร ด้วยเครื่องมือจับปลาที่สร้างขึ้นมาแบบง่าย ๆ ด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเช่น ฉมวก 3 ด้าม ไม้ไผ่ และแห เป็นต้น รวมทั้งเรือแจวเล็กที่นำมาใช้ประโยชน์สำหรับการเดินทางหากินบริเวณพื้นที่ของอ่าวและชายฝั่งรอบเกาะ ส่วนในฤดูฝน ผืนป่าจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหัวมัน หน่อไม้ และพืชพรรณนานาชนิด มอแกนจึงพึ่งพาทรัพยากรทั้งชายฝั่งทะเลและป่าดิบชื้นนอกจากจะทำมาหากินเพื่อยังชีพ

ในอดีตชาวมอแกนเป็นกลุ่มชนที่คุ้นชินกับการเก็บปลิงทะเล รังนก หอยมุกเปลือกหอยสวยงาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้าวสารอาหารสิ่งจำเป็นต่าง ๆ กับพ่อค้าคนกลาง

ข้อห้ามและความเชื่อในการตั้งบ้านเรือนของชาวมอแกน

  1. ห้ามตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่มีทางน้ำไหลผ่าน หรือมีตาน้ำที่ผุดขึ้นมา เพราะจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
  2. ห้ามตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่เป็น "แก่ละบ่าโก๊ะ" หรือแอ่งกางคก ลักษณะพื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เวลาฝนตกน้ำะไหลมารวมกันเป็นแอ่งน้ำขัง จะเป็นสาเหตุให้ผีทะเลจะไหลเข้ามาอยู่ใต้บ้านได้ ทำให้เกิดอันตรายแก่สมาชิกในครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น
  3. หากมีตอไม้อยู่ในบริเวณที่ปลูกบ้าน ต้องขุดตอไม้นั้นออกให้หมดเสียก่อน
  4. หากมีรากของต้นมะละกอในพื้นที่ปลูกบ้าน ต้องเก็บรากของต้นมะละกอออกก่อนให้หมด เพราะเชื่อว่าเป็น "เสนียด"

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เรือมอแกน

ในสมัยก่อนชาวบ้านมอแกนอาศัยเรือ เป็นทั้งที่อยู่อาศัยพาหนะที่ใช้เดินทางและทำงานในทะเลมาเป็นเวลาช้านานแต่ในปัจจุบันเรือมอแกนเหล่านี้ค่อย ๆ สูญหายไปจากวิถีชีวิตของสังคมชาวมอแกนในที่สุดเนื่องจากปัจจัยหลายสาเหตุที่ชาวมอแกนหันมานิยมใช้เรือหัวโทงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างเรือของมอแกนนั้นนอกเหนือไปจากการที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความสามารถของช่างต่อเรือ รวมถึงการร่วมแรงร่วมใจของชาวมอแกนทั้งหลายตั้งแต่ในระดับครอบครัวเครือญาติ ตลอดจนถึงหมู่บ้านในบางกรณีหากเรามองลึกลงไปจะพบจริง ๆ ว่าแล้วก่อนที่จะสำเร็จออกมาเป็นเรือมอแกนได้แต่ละลำนั้นในทุก ๆ รายละเอียดล้วนแต่มีความรู้พื้นบ้านในการต่อเรือสอดแทรกอยู่เสมอที่เกิดจากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ของช่างต่อเรือและถูกถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความรู้ต้นแบบและเทคโนโลยีประจำเผ่ามอแกน

หอยมุกโข่ง หรือ “หลู่ชอน’

หอยมุกโข่ง หรือหลู่ชอน จัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าที่สุดของชาวมอแกน เพราะเปลือกหอยมีราคาแพง สามารถนำเปลือกหอยไปขายให้กับพ่อค้าบนฝั่งเพื่อนำไปแลกเป็นข้าวสาร หรือของใช้ที่จำเป็นในชีวิตได้ ดังนั้นชาวมอแกนจึงเกิดการเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของสัตว์ที่พวกเขาต้องหาเก็บจากใต้ท้องทะเล เพื่อความสำเร็จในการแสวงหาสัตว์ชนิดนี้ในการทำมาหากินในวิถีชีวิตของชาวมอแกน โดยมีวิถีเรียนรู้ในการเก็บหอยมุกโข่ง มีดังนี้

  • ในช่วงเวลากลางวัน มอแกนจะดำน้ำหาหอยในบริเวณที่เรียกว่า “หยี่กัน” เพราะจะได้สังเกตเห็นหอยได้ชัดเจน เมื่อคลื่นแรงหอยจะออกจากรูที่อยู่ มอแกน ไม่ต้องคอยดำน้ำมุดดูตาม “เบล๊” ที่จะมีซอก โพรง แนวหินเยอะกว่าบริเวณ “หยี่กัน” มาก

  • ในช่วงเวลากลางคืน มอแกนจะดำน้ำหาหอยในบริเวณที่เรียกว่า “เบล๊” เพราะในช่วงเวลานี้หอยจะออกมาจากรู การดำหอยในเวลากลางคืนเป็นการทำงานที่ต้องแข่งกับแสงของดวงจันทร์ คือ ถ้าหากดวงจันทร์โผล่ขึ้นมามาก ๆ แล้ว หอยมุกโข่งก็จะหลบเข้าไปอยู่ในรู โดยปกติจะทำการดำน้ำหาหอยในช่วงระหว่าง 3 ค่ำ เรื่อยไปจนถึง 8 หรือ 9 ค่ำ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งคลื่นลมสงบ รวมทั้งช่วงที่น้ำใส ซึ่งพอหมดช่วงนี้ไปก็จะพัก และต้องรอให้ถึงช่วงเวลานี้อีกครั้งในช่วงน้ำหน้า โดยเฉลี่ยแล้วในช่วงเวลา 1 เดือน จะมีช่วงเวลาที่สามารถดำน้ำกลางคืนเพื่องมหอยได้ราว 6-8 วัน หรืออาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ได้เล็กน้อย

ตำแหน่งของตัวก้อนหินที่มอแกนใช้ในการสังเกตแหล่งอาศัยของหอยมุกโข่ง

  • ชอน จาบ๊ะ คือ หอยเกาะอยู่บนก้อนหิน
  • ชอน แอม ตะบิ้ง คือ หอยเกาะอยู่ที่ด้านข้างของก้อนหิน
  • ชอน แอม พรูง คือ หอยเกาะอยู่ในรูหรือโพรงของก้อนหิน
  • ชอน แอม หลู่กีป คือ หอยเกาะอยู่ในรอยแยกของหิน ซอกหิน หรือระหว่างก้อนหิน

ธรรมเนียมปฏิบัติในการดำหอยมุกโข่ง (ใช้ในเวลากลางคืนเท่านั้น ไม่มีการใช้ปฏิบัติในกลางวัน)

1. หากดำหอยกันสองคนกับเพื่อน โดยอาจว่ายคู่กันไปหรือว่ายเรียงกันไป ซึ่งหากคนนำหน้าได้หอยแล้วก็จะเลี่ยงให้คนตามหลังว่ายขึ้นมาอยู่หน้าแทน เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้แก่เพื่อนที่ยังไม่ได้หอย แต่หากแซงหน้าขึ้นไปราว 2-3 ช่วงหิน แล้วยังไม่ได้หอยก็ต้องหลบให้คนที่ว่ายตามหลังแซงขึ้นมาแทน สลับกันเรื่อยไป

2. หากดำหอยกันหลายคน จะพยายามให้คนที่ยังไม่ได้หอยเข้ามาดำหาใกล้บริเวณแนวที่เรียกว่า “ก่อตาน” เนื่องจากมีความเชื่อกันว่า ในบริเวณแนว “ก่อตาน” จะมีหอยอาศัยอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหอยมุกโข่งจะเป็นทรัพยากรทางทะเลที่มีคุณค่าและมีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของชาวมอแกนเกาะสุรินทร์อย่างมาก ทั้งนี้ ชาวมอแกนยังมีความเชื่อในเรื่องโชคลางที่เกี่ยวข้องกับการไม่นิยมที่จะกินเนื้อของหอยมุกโข่งที่ตนเองดำเก็บขึ้นมาได้ เพราะมีคติว่า “หากชายมอแกนผู้นั้นกินเนื้อของหอยมุกโข่งเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อในส่วนที่เรียกว่าเป็น ตาของหอย มอแกนคนนั้นจะ ‘คะอ๊อค’ หรือโชคร้าย” คือ ต่อไปอาจจะทำงานไม่ได้ดี ดำหอยไม่ได้ แต่หากใครกินเข้าไปแล้ว อาจจะหาหอยมุกโข่งไม่ได้ยาวนานถึง 7 ปี ด้วยความเชื่อที่มอแกนในปัจจุบันก็ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา เนื่องจากหอยมุกโข่งจัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่ชาวมอแกนสามารถเก็บสะสมและมีค่ามากเมื่อถึงเวลาที่นำมาแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าบนฝั่ง ดังนั้นในสมัยก่อนนั้น การดำหอยเพื่อเก็บสะสมสำหรับการแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญต่อวิถีการดำรงชีพเป็นอย่างมาก ฉะนั้น ความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องของหอยมุกโข่ง ซึ่งถือเป็นหลักประกันที่มั่นคงในแง่ของรายได้ในครอบครัวมอแกน จึงเป็นสิ่งที่ชาวมอแกนเกือบทุกคนล้วนให้ความเคารพต่อความเชื่อเหล่านั้นเสมอมา


หมู่เกาะสุรินทร์

เกาะสุรินทร์ เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย ตั้งอยู่ในทะเลไทยฝั่งอันดามัน ที่เรียกว่าหมู่เกาะสุรินทร์ก็เพราะว่าหมู่เกาะสุรินทร์ประกอบด้วยกันหลายเกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ 2 เกาะคือ เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะเล็กอีก  3 เกาะ คือ เกาะมังกร เกาะสต๊อก เกาะตอรินลา  และยังมีกองหินอีก 2 แห่ง หินแพ และหินริเชลิว เป็นจุดดำน้ำลึก

ความสวยงามของหมู่เกาะสุรินทร์ประกอบด้วย แนวปะการังที่มีขนาดใหญ่ และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ใต้ผิวน้ำประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมากมาย ทั้งปลาหลากชนิดและปะการังหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนทัศนียภาพบนบกของเกาะสุรินทร์ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์จนทำให้เกิดแหล่งน้ำจืดธรรมชาติบนเกาะให้นักท่องเที่ยวได้กินได้ใช้ตลอดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว 

แนวหน้า. (2566). ข่าวชาวมอแกน. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.naewna.com/

พลาเดช ฌ ป้อมเพชร. (2546). โลกของชาวมอแกน : มองจากความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับทะเล. วิทยานิพนธ์ปริญญามนุษยวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์.

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์. (2549). แผนที่หมู่เกาะสุรินทร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.thaigoodview.com

Eatchillwander. (2563). รีวิวทัวร์หมู่เกาะสุรินทร์. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.eatchillwander.com/

Earth Google. (2565). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/web/

Nemotour. (ม.ป.ป.). เที่ยวเกาะสุรินทร์. สืบค้นเมื่อ15 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.nemotour.com/

Readme. (2560). เที่ยวเกาะสุรินทร์ ถิ่นมอแกน. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.readme.me/