บ้านขนิมมีการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาฝึกเขียนลายผ้าบาติก และสามารถพัฒนาฝีมือชาวบ้านให้ผลิตเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว
บ้านขนิมมีการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาฝึกเขียนลายผ้าบาติก และสามารถพัฒนาฝีมือชาวบ้านให้ผลิตเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว
ตามประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านขนิม หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ปรากฏทราบว่าผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน คือ นายขุนศร ศรอินทร์ ในสมัยก่อนผู้นำหมู่บ้านจะเรียกว่า ขุน ก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2484 การตั้งรกรากของชุมชนมีเพียงไม่กี่ครัวเรือนอยู่กระจัดกระจาย หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง มีการรวมตัวตั้งหมู่บ้าน ซึ่งเรียกหมู่บ้านตัวเองว่า บ้านคลองสนิมใน เพราะน้ำผิวดินเป็นสีเหลืองอมแดง เหมือนสีของสนิมไม่สามารถนำมาดื่มได้ ต่อมามีชาวจีนจากหมู่บ้านใกล้เคียงเดินทางมาประกอบอาชีพ โดยการทำเหมืองแร่ การขุดเจาะเหมืองแร่ เมื่อชุมชนมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น มีการขยายพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย มีการขยายชุมชนบ้านคลองสนิมมากขึ้น เวลาต่อมาชาวบ้านได้ตัดคำว่าคลองออกและเรียกว่า “บ้านขนิม” จนถึงปัจจุบัน
บ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีพื้นที่ทั้งหมด 6,122 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านทุ่งมะพร้าว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหินลาด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านอินทนิล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านคลองเจริญ
ลักษณะทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศบ้านขนิมมีลักษณะเป็นที่ราบ ทิศตะวันออกเป็นเชิงเนินและที่ราบลุ่ม ทิศตะวันตกติดกับป่าชายเลนจะเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวประมง เช่น ปลากระบอก ปลาลายเสือ ปลาดุก หอยกัน หอยหวาน กุ้งกุลา ปูดำ เป็นต้น และพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านขนิม เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางเกษตร เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน
ลักษณะภูมิอากาศ
บ้านขนิมมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นและมีฝนตกชุก มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน บ้านขนิมจะมีฝนตกประมาณ 8 เดือน ตั้งแต่มีนาคม-ตุลาคม สภาพอากาศร้อนจะอยู่ในช่วง พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
ทรัพยากรธรรมชาติ
- สัตว์ป่า : เสือ, หมี, เลียงผา, ชะมด, สัตว์เลื้อยคลาน, นกนานาชนิด
- พรรณไม้ : บางหลุมพอ, ตะเคียนทอง, นาคบุตร, กระบอก, เสียช่อ, พิกุลป่า
นอกจากนี้ยังมีแหล่งที่ทำการเกษตรอีกหลายแหล่ง ด้วยบ้านขนิมเป็นพื้นที่ติดภูเขาและน้ำตกที่สวยงาม และมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์
การคมนาคม
การคมนาคมเข้าไปในหมู่บ้าน มีถนน 2 สาย คือ สายเขากล้วยและสายนิคม เป็นถนนลาดยาง สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อในบางจุด และมีถนนที่ใช้ในหมู่บ้านอีก 4 สาย ได้แก่ ถนนสายในซอยบ้านไทยใหม่ ถนนในซอยบ้านพรุใหญ่ ถนนในซอยบ้านปรุ และถนนในซอยน้ำตกขนิม
หมู่บ้านขนิม มีถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ตัดผ่านทำให้การเดินทางสะดวกสบาย ส่วนระยะทางจากหมู่บ้านไปตัวอำเภอ ประมาณ 15 กิโลเมตร
บ้านขนิมมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 180 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 747 คน แบ่งเป็นเพศชาย 382 คน เพศหญิง 365 คน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมานับถือศาสนาอิสลาม
ชุมชนบ้านขนิมส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ เกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ประมง รับจ้าง และค้าขาย ชาวบ้านมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพมากพอสมควร เพราะเป็นอาชีพดั้งเดิมที่ชาวบ้านนิยมทำมาตั้งแต่อดีต โดยยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของเกษตรกรบ้านขนิม ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง สำหรับการทำสวนผลไม้ที่นิยม เช่น เงาะ ลองกอง มังคุด สะตอ เป็นต้น ส่วนอาชีพการประมง เช่น เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงหมู ไก่ เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว นอกจากนี้ชาวบ้านขนิมยังมีวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ฝึกอาชีพผ้าบาติก อันเกิดจากการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านขนิมมาฝึกเขียนลายผ้า รวมตัวกันผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาด ซึ่งปัจจุบันผ้าบาติกกลายเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของชุมชนบ้านขนิม
ประเพณีและวัฒนธรรม
ประเพณีและวัฒนธรรมเป็นการแสดงออกให้เห็นวิถีชีวิต รวมทั้งนิยมและความเชื่อภายในชุมชน ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ชาวบ้านขนิม ให้ความสำคัญและยังปฏิบัติติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ประเพณี วัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ ได้แก่ ประเพณีวันตรุษจีน วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา ประเพณีวันสารทเดือนสิบ ประเพณีลอยกระทง และประเพณีปล่อยเต่า และประเพณีของชาวไทยมุสลิม มีขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่สอดคล้องกับหลักคำของศาสนาอิสลาม โดยมีประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ วันฮารีรายออิดิลฟิตรี วันฮารีรายออิดิลอัฎฮา การถือศีลอด และวันเมาลิด
การสร้างที่อยู่อาศัย ลักษณะบ้านเรือนในชุมชนบ้านขนิมมี 2 ลักษณะคือ บ้านแบบดั้งเดิมและบ้านสมัยใหม่
- บ้านแบบดั้งเดิม : ฝาบ้านจะเป็นไม้ไผ่สานขัดลาย หลังคามุงจากหรือสังกะสี สร้างแบบเรียบง่าย มีใต้ถุนบ้าน เนื่องจากน้ำทะเลจะหนุนสูง เพราะเมื่อก่อนชุมชนบ้านซอยพรุใหญ่จะติดริมคลอง
- บ้านสมัยใหม่ : เป็นบ้านปูนชั้นเดียว มีหน้าบ้านและรั้วกั้น หลังจากเกิดสึนามิ รัฐบาลจึงให้งบประมาณในการสร้างบ้าน 13 หลัง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ของชาวบ้าน
1. นายบีเถี้ยน แซ่เอียบ ผู้มีความรู้ความด้านสมุนไพรในการรักษาโรค และการนวดจับเส้น ทำนายดวงชะตา และแต่งแก้โชคชะตา
ผ้าบาติกบ้านขนิม
ผ้าบาติก หรือเรียกอีกอย่างว่า ผ้าปาเต๊ะ เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสีเท่านั้น ผ้าบาติกบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสีและย้อมสีนับเป็นสิบๆ ครั้ง ส่วนผ้าบาติกอย่างง่ายอาจทำโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียนแล้วจึงนำไปย้อมสีที่ต้องการ เมื่อย้อนกลับไปคำว่าบาติก (Batik) หรือปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวาที่ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า “ ติก” มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ตริติก หรือ ตาริติก ดังนั้นคำว่า บาติก จึงมีความหมายว่าเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ
โดยวิธีการทำผ้าบาติกดั้งเดิมในสมัยก่อนนั้น ใช้วิธีการเขียนด้วยเทียนเป็นหลัก ดังนั้นผ้าบาติกจึงเป็นลักษณะผ้าที่มีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี แม้ว่าวิธีการทำผ้าบาติกในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปไกลมากด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้แล้วก็ตาม ทว่าลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของผ้าบาติกที่ยังคงอยู่ก็คือ จะต้องมีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีหรือปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีซ้ำอีกเป็นมาตรฐาน นับเป็นกรรมวิธีที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง อีกทั้งลายของผ้าบาติก โดยส่วนมากแล้วจะเป็นลวดลาย และสีสันที่อิงจากธรรมชาติ และอัตลักษณ์วัฒนธรรมรอบตัวของแต่ละชุมชนที่นำเสนอความเป็นภาคใต้ได้อย่างดี ความโดดเด่นของผ้าบาติกจึงอยู่ที่การใช้สี และลวดลายที่คมชัดของภาพที่สามารถบอกอะไรได้หลายอย่างทั้งถิ่นที่มา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ธรรมชาติ ไปจนถึงเอกลักษณ์ของแหล่งผลิต หรือกระทั่งความรู้สึกนึกคิดของคนในท้องถิ่นนั้นๆ นั่นจึงนับได้ว่าผ้าบาติกได้รวมอารยธรรมของความเป็นภาคใต้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ชุมชนบ้านขนิมมีศูนย์ฝึกทำผ้าบาติก เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านในชุมชน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพราะสีของผ้าบาติกมีความสดใส ลวดลายหลากหลาย ใช้งานได้ง่าย และลักษณะเด่นของผ้าบาติกคือมีสีเหลือบไปมาทำให้งานที่ใช้ผ้าบาติกมีมิติ และงานดูมีความเคลื่อนไหวแบบที่ผ้าคอตตอนพิมพ์ลายไม่สามารถทำได้ คุณลักษณะพิเศษของผ้าบาติกเกิดจากวิธีการผลิต ที่ใช้เทียนมาเขียนลวดลายก่อนที่จะนำผ้าไปย้อมให้ได้สีที่ต้องการ แล้วค่อยนำผ้าที่ย้อมเรียบร้อยแล้วไปต้มเอาเทียนออก ทำให้ผ้าบาติกมีสีไล่ระดับกันซึ่งการย้อมนี้ทำให้ผ้าบาติกมีความพิเศษอีกอย่างคือ มีลายหน้าหลังแตกต่างกันน้อยมากจนดูเหมือนกัน และสามารถพัฒนาฝีมือชาวบ้านให้ผลิตเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป สถานที่ฝึกทำอิฐตัวหนอน เป็นอิฐใช้สำหรับปูทางเดิน เป็นศูนย์ฝึกอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านที่ต้องการรายได้เสริม
การทอผ้าบาติกบ้านขนิม เกิดจากการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านขนิมมาฝึกเขียนลายผ้า ต่อมาจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการทำผ้าบาติกมาฝึกสอนพัฒนาทักษะให้มีความชำนาญมากขึ้น ต่อมาได้จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพรวมตัวกันผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาด ลักษณะพิเศษของผ้าบาติกบ้านขนิม คือ เป็นการประดิษฐ์ลายขึ้นบนผืนผ้าโดยผ่านกระบวนการวาดภาพ ลงสี เคลือบน้ำมันโดยวิธีการแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน เมื่อได้ผืนผ้าที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้วจึงจะนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อ กระเป๋า หมวก ภาพโชว์ และของใช้อื่น ๆ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
พลวัตทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งบ้านขนิมภายหลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ
บ้านขนิมเป็นหนึ่งหมู่บ้านริมทะเลอันดามันที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 ในอดีตทรัพยากรทางทะเลบ้านขนิมมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก บริเวณคลองขนิมและทะเลทับละมุเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวบ้าน แต่ปัจจุบันชาวบ้านต้องออกไปหาปลาที่ทะเล สาเหตุเพราะปริมาณสัตว์น้ำลดลง ส่วนปลาที่ชาวบ้านหาได้ก่อนหน้านี้ ได้แก่ ปลากระบอก ปลาดุกทะเล ปลาทราย ปลาเสือ ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาเก๋าเป็นต้น แต่ปลาเสือปัจจุบันหาได้ยาก ส่วนปลากระบอกเมื่อก่อนราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท แต่ปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท ปลาทรายก็เช่นเดียวกัน เมื่อก่อนไม่มีราคา ไม่มีคนมารับซื้อ แต่ปัจจุบันปลาทรายราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ทรัพยากรทางทะเลลดลงอย่างมาก สาเหตุเนื่องจากเกิดภัยพิบัติสึนามิทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลง ส่งผลเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ในอดีตชาวบ้านจับปลาได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันทำให้ชาวบ้านหาปลาได้ยากขึ้น เพราะจำนวนปลาที่ลดลง อันเป็นผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากความทำลายล้างของคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547
คลองทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ลำคลองที่ถูกล้อมรอบด้วยป่าโกงกางจำนวนมากทั้งสองฝั่งคลองเชื่อมต่อยาวไปจนถึงปากคลองทับละมุออกสู่ทะเลอันดามัน มีชาวบ้านที่ได้รวมตัวกันในหมู่บ้านร่วมกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ที่นักท่องเที่ยวสามารถไปทำกิจกรรมได้ เช่น พายเรือคายัคชมบรรยากาศป่าโกงกาง ชมการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้าน การเลี้ยงและจับปูดำแบบพื้นบ้าน เยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ชมแปลงผักไฮโดรโปนิก (ปลูกผักแบบกางมุ้ง) ดูร่องรอยการทำเหมืองแร่ในอดีต สาธิตวิถีการทำแร่ ข้ามฟากไปดูป่าชายหาด (บริเวณเขาหน้ายักษ์) ชมทุ่งหญ้าสะวันนาที่หาชมได้ยาก ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และไม่ควรพลาดเมื่อได้เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนที่อำเภอท้ายเหมือง
ริดวาน ดาหะมิ. (2553). การดำเนินชีวิตของชาวไทยมุสลิมในชุมชนชาวไทยพุทธ : กรณีศึกษาชาวไทยมุสลิม ซอยพรุใหญ่ บ้านขนิม หมู่ 7 อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กระทรวงวัฒนธรรม. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2556). ผ้าบาติกบ้านขนิม. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/
Google Earth. (2563). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Peeranat Chansakoolnee. (2562). เปิดประวัติ 'ผ้าบาติก' อารยธรรมสำคัญจากอินโดนีเซีย สู่งานหัตถศิลป์ล้ำค่าของประเทศไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.vogue.co.th/
Quilt republic. (2563). ผ้าบาติกดีอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.quilt-republic.com/
The Snap Thailand. (2560). คลองทุ่งมะพร้าว. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/