บ้านทับยาง ชุมชนต้นแบบแห่งการต่อสู้ปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของแผ่นดิน อุทิศเวลาชีวิตกว่าหนึ่งทศวรรษเพื่อเรียกร้องทวงคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนสุดท้ายซึ่งเปรียบเสมือนลมหายใจให้คืนสู่ชาวทับยาง
บ้านทับยาง ชุมชนต้นแบบแห่งการต่อสู้ปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของแผ่นดิน อุทิศเวลาชีวิตกว่าหนึ่งทศวรรษเพื่อเรียกร้องทวงคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนสุดท้ายซึ่งเปรียบเสมือนลมหายใจให้คืนสู่ชาวทับยาง
ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 บริเวณบ้านทับยางเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ ไม่มีบ้านคน มีเพียงชุมชนดั้งเดิมที่อยู่บริเวณตลาดหมู่ 4 ในปัจจุบัน ส่วนชาวบ้านทับยางในปัจจุบันเริ่มเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ปรากฏทราบว่าผู้ที่อพยพเข้ามาสร้างบ้านเรือนที่บ้านทับยางกลุ่มแรก คือ แป๊ะหงวนและป้าหนุ่ย กับเพื่อนบ้านอีกประมาณ 2-3 ครอบครัว บ้านของป้าหนุ่ยในช่วงแรกเป็นบ้านมุงจาก จากนั้นได้เปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสี และต่อมาเมื่อได้บ้านเลขที่ชั่วคราวก็ยกเป็นบ้านถาวร นายหงวน แซ่ตัน หรือแป๊ะหงวน อายุ 75 ปี อดีตคนเฝ้าเครื่องดูดเหมือง ได้เข้ามาทำงานกับบริษัทอุทัย ณ ระนอง ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2500 เมื่อเถ้าแก่เลิกกิจการไป เป๊ะหงวนก็ยังคงหาแร่ต่อ โดยการวิดแร่หรือร่อนแร่ แม้ต่อมาราคาแร่จะตกจนต้องเลิกหาแร่ไป ก็ยังคงปลูกผักสวนครัวอยู่บริเวณขุมเหมืองมาตลอด พ.ศ. 2512 ได้ทยอยถมขุมเหมือง ชาวบ้านทราบข่าวจึงพากันย้ายเข้ามาสร้างบ้านเรือนบริเวณเหมืองเก่าแห่งนี้ เพราะสามารถจับจองที่ตรงไหนก็ได้ หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านทยอยกันเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัมปทานเหมืองของเอกชนจะหมดอายุไปแล้ว ทว่า เอกชนก็ยังมาอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของเรียกเก็บค่าเช่าบ้าน ต่อมามีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดโดยใช้กลวิธีต่าง ๆ จนสามารถออกได้หลายแปลงประมาณ 500 ไร่ มีการซื้อขายเปลี่ยนมือบางแปลง และฟ้องขับไล่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนในที่สุด ซึ่งในการพิจารณาคดีศาลตัดสินให้ชาวบ้านแพ้ บางรายถูกยึดบ้านหรือให้คำรื้อถอนก่อนย้ายออกไปในราคาถูก ผู้ที่ไม่ย้ายก็ถูกบีบบังคับให้ทำสัญญาเช่าและประนีประนอมยอมความ ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 บ้านเรือนของชาวบ้านทับยางได้รับความเสียหายหลายหลังคาเรือน ทั้งนี้ จึงได้เกิดการเจรจาผ่อนปรนปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างเอกชนกับชาวบ้านให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยในที่ดินต่อไปได้ก่อน อย่างไรก็ตาม กระทั่งในปัจจุบันนี้ชาวบ้านทับยางก็ต้องทำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในการถือครองที่ดินของตนเองอยู่อย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
ลักษณะภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่บ้านทับยาง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ลาดต่ำไปทางทิศตะวันตกสู่มหาสมุทรอินเดีย ห่างไปไม่ไกลเป็นเป็นที่ตั้งของหาดท้ายเหมือง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอท้ายเหมือง สภาพภูมิอากาศบริเวณหมู่บ้านเป็นแบบเขตศูนย์สูตร อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก มีฝนตกชุกในฤดูฝนเพราะอยู่ด้านรับลม ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันอย่างเต็มที่ บางครั้งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยนำความชื้นจากทะเลเข้าปกคลุมทำให้มีฝนตกแต่มีปริมาณน้อยกว่าจังหวัดที่อยู่ด้านตะวันออกของภาคใต้ เนื่องจากอยู่ในเขตอิทธิพลลมมรสุม อากาศจึงอบอุ่นและชุ่มชื้นตลอดทั้งปี โดยปกติจะสามารถจำแนกฤดูกาลบริเวณบ้านทับยางได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม และฤดูร้อนจะเริ่มประมาณเดือนธันวาคม- เดือนพฤษภาคมของปีถัดไป
ลักษณะของดิน ลักษณะของดินในพื้นที่ตำบลท้ายเหมือง มี 4 ลักษณะ ดังนี้
- เนื้อดินร่วน : เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำค่อนข้างเร็ว มักมีน้ำท่วมขังบนผิวดินในช่วงฤดูฝน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปัญหาสำคัญของดินกลุ่มนี้ ได้แก่ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย
- เนื้อดินเหนียว : เป็นดินลึก มักมีน้ำท่วมขังบนผิวดินในช่วงฤดูฝน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ สภาพภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่สม่ำเสมอ
- เนื้อดินร่วนปนกรวดปนหิน : เป็นดินตื้นชั้นกรด มีการระบายน้ำค่อนข้างเร็วถึงเร็วมากมักมีน้ำท่วมขังบนผิวดินในช่วงฤดูฝน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ ปัญหาสำคัญในดินกลุ่มนี้ ได้แก่ สภาพภูมิประเทศเป็นลุ่มๆ ดอนๆ ไม่สม่ำเสมอ เป็นดินตื้น มีกรวดลูกรังปะปนอยู่ในดินด้วย
- เนื้อดินทรายจัด : เป็นดินลึกมีการระบายน้ำดีค่อนข้างมากเกินไป ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมาก ปัญหาสำคัญในดินชุดนี้ ได้แก่ เนื้อดินเป็นทรายจัดและดินมีความอุดมสมบูรณ์
จำนวนประชากรในตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีประชากรทั้งหมด 3,312 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,495 คน ประชากรหญิง 1,718 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,748 ครัวเรือน
การประมง
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่ติดต่อกับทะเลอันดามัน ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ ส่งผลให้ชาวบ้านทับยางส่วนใหญ่ทำการประมง ซึ่งจะมีทั้งการประมงพื้นบ้านในการออกเรือหาปลาในทะเล และบางส่วนจะทำการประมงโดยการเลี้ยงปลาในกระชังน้ำทะเล
แรงงานรับจ้าง แรงงานรับจ้างในชุมชนบ้านทับยางจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
- แรงงานภาคการประมงและเกษตร : ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของประชาชน
- แรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ : ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางไปเป็นแรงงานนอกพื้นที่ชุมชน ตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือในเขตเทศบาลตำบลท้ายเหมือง
ชาวบ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ รองลงมา ได้แก่ ศาสนาคริสต์ และอิสลาม โดยพบว่าชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับประเพณีทางศาสนาและประเพณีทั่วไปของคนไทย เช่น วันปีใหม่ วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันลอยกระทง และประเพณีท้องถิ่นของอำเภอท้ายเหมือง ดังจะกล่าวถึงในรายละเอียดเป็นลำดับถัดไป
- วันตรุษจีน ชาวท้ายเหมืองนิยมเรียกชื่อช่วงเทศกาลวันตรุษจีนว่า "เดือนสาม" เนื่องจาก วันตรุษจีนในปฏิทินจีนมักตรงกับเดือนสามในปฏิทินจันทรคติของไทยก่อนวันสิ้นปี หรือที่เรียกว่า "วันจ่าย" ชาวท้ายเหมืองผู้มีเชื้อสายจีนมีการจับจ่ายใช้สอยซื้อวัตถุดิบเตรียมประกอบอาหารคาว หวาน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการไหว้บรรพบุรุษในวันสิ้นปี หรือ "วันไหว้" ซึ่งถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งก่อนตรุษจีนลูกหลานจะรวมตัวกันเคารพและระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งแสดงถึงความกตัญญูเป็นหนึ่งในหลักคำสอนและการปฏิบัติในท้องถิ่น ส่วนวันตรุษจีน หรือ "วันเที่ยว" ชาวท้ายเหมืองเชื้อสายจีนผู้มีความผูกพันกับศาลเจ้านิยมเข้าร่วมกิจกรรมกับทางศาลเจ้าที่เรียกว่า "ตามพระจีน" หรือไปเที่ยวกับพระจีน กล่าวคือ วันตรุษจีนอยู่ในช่วงวันแซยิด (วันเกิด) ขององค์ประธานศาลเจ้า
- งานประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเลท้ายเหมือง ชายทะเลท้ายเหมืองมีลักษณะหาดยาวตลอดแนวชายฝั่ง สภาพหาดเป็นป่าชายหาดและมีระดับของชายหาดที่เหมาะสมกับการวางไข่ของเต่าทะเล เต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดท้ายเหมืองมี 4 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้าและเต่ามะเฟือง ในอดีตมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ทำให้ปริมาณไข่เต่ามีจำนวนมาก เกิดการเดินเต่าหรือเดินหาไข่เต่าทะเล และมีการอนุญาตให้สัมปทานไข่เต่าทะเล ต่อมาเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ลดน้อยลงส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์จึงเกิดการรณรงค์งดเก็บไข่เต่า งดซื้อขายไข่เต่า งดกินไข่เต่าหรือนำไข่เต่ามาประกอบอาหารจนนำไปสู่การริเริ่มจัดงานอนุรักษ์เต่าทะเล ในปี พ.ศ. 2513 เพื่อเป็นการตระหนักและส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลหายากรวมทั้งขยายพันธุ์เต่าทะเลให้คงอยู่คู่ระบบนิเวศน์ชายหาดท้ายเหมืองสืบไป
- วันเช็งเม้ง เป็นวันสืบสานวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนโดยเฉพาะชาวท้ายเหมืองเคารพบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่สุสาน หรือฮวงซุ้ย ซึ่งชาวท้ายเหมืองจะเรียกภาษาถิ่นว่า "บ่อง" ลูกหลานจะร่วมกันทำความสะอาดฮวงซุ้ย หรือบ่อง มีการติดกระดาษสีตกแต่งที่บ่อง แล้วนำอาหารทั้งของคาว ของหวาน นำมาเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษในวันดังกล่าวเปรียบเสมือนวันรวมญาติ เพราะญาติพี่น้องทุกคนมาร่วมประกอบพิธีกรรมและได้พบปะสังสรรค์ในหมู่ญาติพี่น้อ
- วันสารทจีน เป็นวันทำบุญไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เทศกาลสารทจีนจะตรงกับวัน 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายซึ่งเป็นวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้กลับมาเยือนโลกมนุษย์ เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวของตนและได้รับกุศลผลบุญ ถือเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้
- วันสารทเดือนสิบ งานบุญประเพณีของคนไทยภาคใต้เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
- งานประเพณีถือศีลกินเจ หรือที่ชาวอำเภอท้ายเหมือง เรียกว่า "ประเพณีกินผัก" จัดตรงกับวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน หรือประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ของทุกปี
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
หนึ่งทศวรรษแห่งการต่อสู้เพื่อพื้นดินผืนสุดท้ายของชาวทับยาง
พื้นที่บ้านทับยางเดิมนั้นเป็นเหมืองแร่เก่า แต่ภายหลังกิจการเหมืองแร่ซบเซาและสัมปทานเหืองแร่หมดอายุ ชาวบ้านก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่บริเวณเหมืองแร่เก่าเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ทว่า เอกชนยังคงอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวในการเรียกเก็บค่าเช่าและขับไล่ออกไปจากที่ดินที่อ้างกรรมสิทธิ์ เกิดเป็นข้อพิพาทเรื่องเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินระหว่างเอกชนกับชาวบ้านทับยางที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2534-2537 มีการฟ้องชาวบ้านข้อหาผิดสัญญาเช่าทั้งชุมชน ซึ่งปี พ.ศ. 2538 มีการรื้อบ้านนายอุดมที่ไม่ยอมคดี จนตรอมใจตายทั้งสามีและภรรยาในระหว่างการต่อสู้คดีความ ชาวบ้านแต่ละรายได้รวมเงินกันจ้างทนายต่อสู้คดีให้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือและคำปรึกษาจากทนายเท่าที่ควร สุดท้ายชาวบ้านพบว่าตัวเองถูก “ทนายหลอก” เพราะเอาเงินไปจำนวนมาก แต่ไม่ได้ช่วยให้คำแนะนำ ทำให้ชาวบ้านขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณา ไม่สืบพยาน ฯลฯ จนทำให้คดีความแพ้ทั้งหมู่บ้านทำความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านจำนวนมาก
หลังเหตุการณ์สึนามิทำให้เกิดการสูญเสียและเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในพื้นที่แถบทะเลอันดามัน ทับยางเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ด้วย ทำให้คนภายนอกทราบว่าพื้นที่จังหวัดพังงามีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยที่รุนแรง และก็ได้มีนักกฎหมายลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนายทุนฟ้องขับไล่ซึ่งก็รวมถึงทับยางด้วย
พ.ศ. 2548-2554 มีการขอผ่อนผันการบังคับคดีเป็นเวลา 4 ปี และมีมติคณะรัฐมนตรีให้ชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง โดยให้กองทุนยุติธรรมเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีการชะลอการบังคับคดี ให้ที่ดิน 170 ไร่ กลับคืนมาเป็นที่ดินของรัฐ เนื่องจากอาจมีการออกเอกสารโดยมิชอบ และเสนอให้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน คำถามสำคัญในประเด็นนี้คือเมื่อสิทธิในที่ดินพิพาทตกเป็นของรัฐ หลังหมดอายุสัมปทานเหมืองแล้วใครควรจะได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย เนื่องจากชุมชนท้ายเหมืองมีระบบเศรษฐกิจดี จึงดึงดูดคนให้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานและหางานทำ จึงมีการขยายตัวของชุมชนท้ายเหมืองเดิมออกมาเป็นชุมชนบ้านทับยาง และบ้านทับยางก็ถือเป็นชุมชนที่ลงหลักปักฐานอยู่ถาวรแล้ว หากจะย้ายออกก็จะเป็นการไม่เป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นซึ่งรัฐจัดสรรที่ดินให้คนจนคนไร้ที่อยู่ที่ทำกินได้มีที่อยู่อาศัยทำกิน
พ.ศ. 2557 นับเป็นก้าวแรกแห่งชัยชนะของชาวทับยาง เมื่อชาวบ้านทับยางกว่า 50 ชีวิตเดินทางมาฟังคำตัดสินของศาลปกครอง กรณีออกเอกสารสิทธิ์และโฉนดที่ดินแก่เอกชนโดยมิชอบ เนื่องจากออกเอกสารสิทธิ์ทับทางสาธารณะชุมชน ซึ่งการพิจารณาคดี ศาลตัดสินให้มีการเพิกถอนที่ดินคืนแก่รัฐ คำตัดสินดังกล่าวเปรียบเสมือนกำลังใจอันสำคัญที่ได้มาจากการต่อสู้อันยาวนาน ทั้งที่ 10 ปีก่อนหน้านี้ทุกคนไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้
การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ การถูกรังแกจากนายทุน การใช้กฎหมายอย่างไม่ยุติธรรมเข้าข้างนายทุน รวมไปถึงความยากลำบากกับการต้องเผชิญความไร้ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม ความระทมดังกล่าวเป็นชนวนให้ชาวบ้านลุกขึ้นมารวมตัวกัน เกิดเป็นแกนนำการต่อสู้ร่วมเพื่อความยุติธรรมร่วมกันของชาวทับยาง (ทัศนา นาเวศน์ และคณะ, 2558: 47) ซึ่งการรวมตัวและการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านและการสร้างภาคีความร่วมมือในหลากหลายภาคส่วน ทำให้ชาวบ้านทับยางสามารถผ่านพ้นปัญหาและวิกฤตไปได้ แม้ว่าในวันนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเสียทั้งหมด แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมได้เรียนรู้และเป็นต้นแบบของการลุกขึ้นสู้ปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของแผ่นดิน การที่ชาวบ้านทับยางเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทำงาน ตรวจสอบและติดตาม พลังของชาวบ้านคือแรงผลักดันที่สร้างแรงกระเพื่อมทำให้คนในสังคมได้รับรู้และเรียนรู้การแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนเป็นอีกช่องทางที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโดยการนำเสนอประเด็นปัญหาเพื่อนำไปสู่ทางออกและวิธีการแก้ปัญหา ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้ ชาวบ้านทับยางเลือกที่จะเดินเข้าไปหาภาคีและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน มิใช่อยู่อย่างคนแพ้เพื่อรอให้ผู้อื่นมาแก้ปัญหาให้ (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, 2557: ออนไลน์)
นายทุนออกโฉนดทับที่ดินของรัฐ คูน้ำ ลำคลอง รางน้ำสาธารณะ
หาดท้ายเหมือง
หาดท้ายเหมือง ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นชายหาดกว้างริมทะเลอันดามันที่ทอดตัวยาวกว่า 13 กิโลเมตร เคียงคู่ไปกับทิวสนต้นใหญ่ที่ขึ้นเรียงรายอย่างสวยงาม หาดแห่งนี้เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ โดยบริเวณหาดมีร้านอาหารและพี่พักไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย ทุก ๆ ปีระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ จะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดท้ายเหมือง จึงมีประเพณีเดินดูเต่าไข่ในตอนกลางคืนเดือนหงาย และช่วงที่ไข่เต่าฟักเป็นตัวจะมีการปล่อยเต่าลงทะเล เรียกว่า “ประเพณีเดินเต่า” เป็นกิจกรรมที่สร้างความคึกคักให้กับหาดแห่งนี้ หาดท้ายเหมืองยังได้รับการยกย่องให้เป็นชายหาด 5 ดาว โดยกรมควบคุมมลพิษ สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ความสวยงามเป็นธรรมชาติ เงียบสงบ และยังไม่บอบช้ำจากการท่องเที่ยว
ทัศนา นาเวศน์ และคณะ, (2558). โครงการถอกบทเรียนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินหลังสถานการณ์ภัยพิบัติสึนามิของชุมชนบ้านทับยาง ตำบลท้ายเมือง อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2557). หนึ่งทศวรรษแห่งการต่อสู้ เพื่อแผ่นดินพื้นสุดท้ายของชาวทับยาง. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://ref.codi.or.th/public-relations/news/
สำนักงานกรมประชาสัมพันธ์. (2563). สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://thainews.prd.go.th.
องค์การบริหารส่วนตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.thaimuang.go.th/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Nilsawit_Natt. (2563). หาดท้ายเหมือง. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wongnai.com/attractions/
SummerB. (2565). หาดท้ายเหมือง ที่เที่ยวพังงา หาดสวย เงียบสงบ ถิ่นวางไข่น้องเต่าทะเล. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/
Webmaster. (2564). หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://palanla.com/th/domesticLocation/