Advance search

บ้านเกาะนก ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน ตามเส้นทางท่องเที่ยว ล่องแพเกาะนก ที่มีการจัดกิจกรรมพาเหล่านักท่องเที่ยวล่องแพชมป่าโกงกางและสัตว์ตามธรรมชาติ กิจกรรมหาหอย ชมทัศนียภาพสันหลังมังกร และรับประทานอาหารทะเลสด ๆ จากฝีมือชาวบ้านในชุมชน

ทุ่งมะพร้าว
ท้ายเหมือง
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
บ้านเกาะนก

แต่เดิมชื่อ บ้านเกาะทรัพย์เพราะพื้นที่หมู่บ้านในอดีตเป็นแหล่งบริบูรณ์พร้อมด้วยแร่ดีบุก แต่ต่อมาแร่ดีบุกหมด เนื่องจากการสัมปทานเหมืองแร่ของนายทุน ทรัพยากรธรรมชาติที่เข้ามาแทนที่แร่ดีบุกที่หมดไป คือ นก ที่อพยพเข้ามาจำนวนมากในช่วงฤดูมรสุม ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อเรียกหมู่บ้านจากบ้านเกาะทรัพย์ เป็น บ้านเกาะนก


บ้านเกาะนก ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน ตามเส้นทางท่องเที่ยว ล่องแพเกาะนก ที่มีการจัดกิจกรรมพาเหล่านักท่องเที่ยวล่องแพชมป่าโกงกางและสัตว์ตามธรรมชาติ กิจกรรมหาหอย ชมทัศนียภาพสันหลังมังกร และรับประทานอาหารทะเลสด ๆ จากฝีมือชาวบ้านในชุมชน

ทุ่งมะพร้าว
ท้ายเหมือง
พังงา
82120
8.536751036
98.27743247
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมะพร้าว

บ้านเกาะนก 1 ใน 11 หมู่บ้านของตำบลทุ่งมะพร้าว เดิมทีเรียกว่า บ้านเกาะทรัพย์ เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้บริบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุก แต่จากการสัมปทานเหมืองแร่เมื่อ พ.ศ. 2506 ทำให้เหมืองแร่ดีบุกหมดไปจากพื้นที่ ต่อมาในช่วงฤดูมรสุม พ.ศ. 2508 มีนกจากถิ่นอื่นอพยพเข้ามาอาศัยบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อเรียกหมู่บ้านจากบ้านเกาะทรัพย์ เป็น บ้านเกาะนก

ประชาชนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านเกาะนก คือ ชาวมอแกนจากบ้านสำนักหินเมื่อ พ.ศ. 2496 โดยเข้ามาแผ้วถางป่า ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ปลูกผัก และทำประมงพื้นบ้าน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีอ่าวสำหรับกำบังลมมรสุมได้ดี ก่อนที่จะเกิดพายุแฮเรียตเมื่อ พ.ศ. 2505 ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ในหมู่บ้านหักโค่นเป็นจำนวนมาก และในปีเดียวกันนั้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้อนุญาตให้โรงเลื่อยไม้จากจังหวัดภูเก็ตเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ ทำให้ไม้ใหญ่ทั้งที่ล้มจากพายุและที่ยืนต้นตายหมดไปจากพื้นที่ ซึ่งการเปิดสัมปทานป่าไม้ครั้งนี้ส่งผลให้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งอพยพมาตามเส้นทางลำเลียงไม้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่จนบ้านเกาะนกกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ชุมชน คือ บ้านเกาะนก บ้านคลองเจริญ และบ้านห้วยไผ่ ก่อนที่เวลาต่อมาจะมีการประกาศให้บ้านเกาะนกอยู่ในเขตป่าสงวนป่าคลองทุ่งมะพร้าว ตามประกาศกระทรวง ฉบับที่ 1152 (พ.ศ. 2529) ที่ออกความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านลำแก่น ตำบลลำแก่น
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ กุ้งทองมะพร้าว และหมู่ที่ 7 บ้านขนิม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านทรายท่า ตำบลทุ่งมะพร้าว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านเกาะนก เป็นหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลอันดามัน ลักษณะภูมิประเทศกว่าร้อยละ 50 เป็นพื้นที่ราบสลับกับภูเขา มีทางออกสู่ทะเลอันดามัน และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เช่น หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ จุดชมวิว เขาสามแยกสามพี่น้อง สันหลังมังกร (ทะเลแหวก) ป่าไทรย้อย สวนราษฏร์สภา ดอนหอยหวาน กระชังเลี้ยงปลา และคลองทุ่งมะพร้าว อีกทั้งยังมีขุมเหมืองเก่าซึ่งกลายเป็นแหล่งจอดเรือและแหล่งประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังในปัจจุบัน

ทรัพยากรธรรมชาติ

บ้านเกาะนกมีเนื้อที่ทั้งหมด 3,100 ไร่ แบ่งการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย 600 ไร่ พื้นที่สำหรับทำสวนยางพารา 1,500 ไร่ พื้นที่สำหรับทำสวนผลไม้ 350 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ เช่น พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่สาธารณประโยชน์ 450 สภาพดินยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างดี มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืช อาจจะมีปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเสื่อมในบางพื้นที่ แต่ยังไม่รุนแรงมากนัก

บ้านเกาะนกมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 527 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 2,285 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,074 คน ประชากรหญิง 1,011 คน ในจำนวนนี้มีประชากรที่เป็นชาวมอแกนทั้งหมด 75 ครัวเรือน จำนวน 289 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 154 คน และประชากรหญิง 135 คน 

มอแกน

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ต่าง ๆ เลี้ยงปลาในกระชัง และทำการประมง น้ำลึก น้ำตื้น ซึ่งเป็นรายได้หลักของบ้าน นอกจากนั้นยังประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ เช่น ควาย หมู แพะ เป็ด ไก่ ฯลฯ เป็นอาชีพเสริม และประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง รับราชการบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย

ปัจจุบัน บ้านเกาะนกเริ่มมีการดำเนินการวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศบริเวณโดยรอบ โดยเปิดเส้นทางท่องเที่ยว ล่องแพเกาะนก ภายใต้ชื่อกิจกรรม ล่องแพ โหนหอย มาหรอยกันที่เกาะนก” ที่มีจุดเด่น คือ การล่องแพชมป่าโกงกาง และสัตว์ตามธรรมชาติ กิจกรรมหาหอย ชมทัศนียภาพสันหลังมังกร และรับประทานอาหารทะเลสด ๆ จากฝีมือชาวบ้านในชุมชนที่จะช่วยสร้างความสุขตลอดการทำกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวนับว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ บ้านเกาะนกเริ่มเป็นที่รู้จักของเหล่านักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถี เริ่มมีการเปิดห้างร้าน ร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบริการต่าง ๆ ขึ้นในชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหารชมพูวิว ร้านอาหารที่มีการตกแต่งโทนสีร้านด้วยสีชมพูทั้งหมด ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเป็นจุดเช็กอินใหม่ล่าสุดของเหล่านักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะนกในปัจจุบัน 

บ้านเกาะนกเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม รวมถึงชาวมอแกนที่มีประเพณีวัฒนธรรมจำเพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ฉะนั้น ประเพณีวัฒนธรรมในหมู่บ้านเกาะนกจึงสามารถจำแนกได้ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ประเพณีทางศาสนาพุทธ ประเพณีทางศาสนาอิสลาม และประเพณีชาวมอแกน

ประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาพุทธ

ประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาของกลุ่มประชากรที่นับถือศาสนาพุทธ คือ การฟังเทศน์และทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เช่น วัดประชุมศึกษา วัดหลักแก่น และวัดหาดทรายขาว หรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และการทำบุญตักบาตรพระที่หน้าบ้านทุกเช้า

ประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาอิสลาม

ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีการละหมาดเพื่อขอพรจากพระเจ้าวันละ 5 เวลา และร่วมละหมาดพร้อมกันทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 นาฬิกา ที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีการถือศีลอดเป็นเวลา 1 เดือนในช่วงเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม และร่วมละหมาดพร้อมกันที่มัสยิดในวันตรุษอีดิลฟิตริห์ หรือวันตรุษเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน รวมถึงวันตรุษอีดิลอัฎฮาที่ชาวมุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์แถวบางเนียงทุกวันอาทิตย์

ประเพณีชาวมอแกน

  • ประเพณีลาชัง ลามัง จัดขึ้นในเดือน 3 ของทุกปี เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่โพสพและบรรพบุรุษที่ได้ดลบันดาลให้ลูกหลานมีข้าวปลาไว้รับประทาน
  • ประเพณีบุญราณสี่ เป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษชาวมอแกน โดยจะขึ้นในช่วงเดือน 4 ของทุกปี
  • ประเพณีหาบคอน จัดขึ้นในเดือน 5 ของทุกปี คล้ายประเพณีลอยเรือเพื่อการสะเดาะเคราะห์ให้สิ่งชั่วร้ายออกไปจากหมู่บ้าน และถือเป็นการทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 



สถานการณ์ปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญ

ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดทักษะในการประกอบอาชีพ ทำให้มีอาชีพที่ไม่มั่นคงและรายได้น้อย ส่งผลให้หลายครอบครัวมีภาวะหนี้สิน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวดื่มเหล้า ติดการพนัน หรือครอบครัวที่มีบุตรมากจึงทำให้แต่ละครอบครัวมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น


ปัญหาการติดยาเสพติด โดยเฉพาะกระท่อม กำลังเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับหมู่บ้านเกาะนกเป็นอย่างมาก อันมีผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางด้านครอบครัว หลายคนขาดความอบอุ่น ขณะที่บางส่วนอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อีกทั้งตอบปฏิเสธเพื่อนไม่เป็น จนเป็นบ่อเกิดของปัญหาลักเล็กขโมยน้อย ครอบครัวแตกแยก และการหย่าร้าง

ปัญหาด้านสวัสดิการ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสวัสดิการที่รัฐจัดให้ ทำให้ไม่ได้ใช้บริการสวัสดิการของรัฐตามสิทธิที่ได้ควรได้รับ ขณะที่เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุก็มีจำนวนน้อยเกินไป ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับคำใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน


ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค บ้านเกาะนกมีถนนสายหลักเข้าสู่หมู่บ้านรวม 3 สาย แต่สภาพถนนของแต่ละสหายเป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะไม่มีการระบายน้ำ ทำให้น้ำกัดเซาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนสายหลักและถนนในซอยหมู่บ้านห้วยไม้ไผ่ที่ยังประสบปัญหาในการสัญจรไปมา


ปัญหาด้านสุขภาพ ประชาชนในหมู่บ้านเกาะนก โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ และรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ บางส่วนก็ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย อีกทั้งยังดื่มสุราสิ่งมึนเมา ขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรค อีกทั้งส่วนใหญ่ไม่เคยเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือหลีกเลี่ยงการเข้ารับการตรวจ ทำให้ไม่ทราบปัญหาสุขภาพของตนเอง จึงดูแลตนเองไม่ถูกวิธีและมีสุขภาพไม่แข็งแรง ก่อให้เกิดโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน หัวใจ โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือด พิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น


ปัญหาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านเกาะนกมีปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในบางครั้ง เนื่องจากมีการเก็บขยะที่ล่าช้า รวมไปถึงปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเพราะไม่ได้การแยกแยะขยะในระดับครัวเรือน

ปัญหาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านเกาะนกมีปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในบางครั้ง เนื่องจากมีการเก็บขยะที่ล่าช้า รวมไปถึงปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเพราะไม่ได้การแยกแยะขยะในระดับครัวเรือน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผู้จัดการออนไลน์. (2565). สุดปัง! กับ 2 โปรแกรมท่องเที่ยวที่ต้องลุย ล่องแพโหนหอยบ้านเกาะนก-ท่องจุดชมวิวเขาไข่นุ้ย @พังงา. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/

หรอยจังรีวิว. (ม.ป.ป.). เกาะนก ชมพูวิว ร้านอาหารชมพูวิว เปิดใหม่ พังงา. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://roijang.com/phangnga

อำนาจ นาวารักษ์ และคณะ. (2558). โครงการแนวทางฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน บริเวณคลองหมื่นเดช-คลองอืดอาด บ้านเกาะนก ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

Theerasak Saksritawee. (ม.ป.ป.). ทะเลแหวกสันหลังมังกร พังงา สวยงามจับใจจนต้องไปเยือน. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://news.kapook.com/