แหลมหาด เกาะยาวใหญ่ หาดสวยติดอันดับ 21 ของโลกจากเว็บไซต์ worldbeachguide เว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวชายหาด World Beach Guide ของประเทศอังกฤษ เผยแพร่ผลการจัดอันดับในหัวข้อ “100 อันดับ ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566”
เกาะยาวใหญ่
แหลมหาด เกาะยาวใหญ่ หาดสวยติดอันดับ 21 ของโลกจากเว็บไซต์ worldbeachguide เว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวชายหาด World Beach Guide ของประเทศอังกฤษ เผยแพร่ผลการจัดอันดับในหัวข้อ “100 อันดับ ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566”
มีเรื่องเล่าว่า บรรพบุรุษชาวเกาะยาวใหญ่ได้อพยพมาจากชายฝั่งเมืองตรัง เมืองสตูล และเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทย ในคราวที่พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้เมื่อครั้งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. 2328 โดยอพยพเลียบชายฝั่งทะเลไปจนกระทั่งได้พบเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ จึงเห็นว่าเกาะทั้งสองนี้เป็นทำเลเหมาะที่จะหลบภัย และตั้งหลักแหล่งเพื่อทำมาหากิน คนในชุมชนจึงถือว่าประชาชนกลุ่มนี้เป็นบรรพบุรุษรุ่นแรก ทั้งนี้ จากสำเนียงพูดคาดว่าบรรพบุรุษของชาวเกาะยาวน้อยน่าจะมาจากจังหวัดตรัง ส่วนชาวเกาะยาวใหญ่มาจากจังหวัดสตูล
สำหรับชุมชนคลองทะเลเริ่มมีผู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2430–2440 โดยได้รับการบอกเล่าว่า กลุ่มบุคคลกลุ่มแรกที่บุกเบิกเข้ามาอาศัยในพื้นที่คลองทะเลเป็นคนจังหวัดสตูล ซึ่งเข้ามาทำงานเก็บรังนกที่เกาะ โดยมีผู้เข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวเพียง 7 ครัวเรือนเท่านั้น ต่อมามีคนสตูลเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนคลองทะเลเพิ่มมากขึ้นจนมีประมาณ 40 ครอบครัวในช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งหมู่บ้าน จากนั้นในราวปี พ.ศ. 2519 ทางจังหวัดพังงาก็ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านคลองทะเลขึ้นอย่างเป็นทางการ ให้เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาวโดยได้แบ่งแยกเขตการปกครองมาจากหมู่ที่ 1 ในช่วงเริ่มแรกของการตั้งหมู่บ้านนั้น ชาวคลองทะเลต่างร่วมแรงร่วมใจกันตัดถนนทางเข้าหมู่บ้านโดยไม่ต้องรองบประมาณจากทางจังหวัด และต่อมาก็ได้ขยับขยายหมู่บ้าน มีการพัฒนาถนนหนทาง และสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมทั้งมัสยิดและโรงเรียนของหมู่บ้านมาตามลำดับ
สภาพแวดล้อมบนเกาะใหญ่เกาะยาวเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะในบริเวณอ่าวพังงาของทะเลอันดามันที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยกว่า 44 เกาะโดยมี 2 เกาะ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่คือเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 88,125 ไร่ มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพังงา ห่างจากตัวเมืองพังงาประมาณ 48.5 กิโลเมตร ลักษณะของเกาะทั้งสองเรียงทอดยาวในแนวเหนือใต้ มีช่องแคบคั่นกลางกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร
ตำบลเกาะยาวใหญ่ ตั้งอยู่บนเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ทั้งนี้พื้นที่ของตำบลเกาะยาวใหญ่เป็นภูเขาทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ทางด้านตะวันออกมีที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบต่ำของเขาส่วนพื้นที่โดยรอบของเกาะเป็นหาดทรายที่สวยงาม เหมาะแก่การท่องเที่ยว และมีพื้นที่ป่าชายเลนกว้างขวางที่อุดมสมบูรณ์
อาณาเขต
- เหนือ ติดกับ หมู่ที่ 1 พื้นที่ทางเข้าชุมชนคลองทะเล
- ทิศใต้ ติดกับ ฝั่งทะเลโล๊ะโป๊ะ ตำบลพรุใน
- ทิศตะวันออก ติดกับ ภูเขาและหมู่ที่ 2
- ทิศตะวันตก ติดกับ ทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต
ลักษณะภูมิประเทศ
ชุมชนคลองทะเล เกาะยาวใหญ่ มีลักษณะเป็นภูเขาลาดลงสู่ป่าชายเลน และมีเกาะกลางกั้นระหว่างทะเลกับพื้นดิน ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าควนจุก ปลาเกาะโบยใต้ ป่าเกาะยาวน้อย ป่ากองพรุแจด ป่าคลองอ่าวเลน ป่าคลองหมาย ปากคลองยาหมี ป่าคลองเหีย ป่าเกาะยาวแปลงที่ 1 ป่าเกาะยาวแปลงที่ 2 ป่าพรุใน ปลาช่องหลาดปากคลองลบตาไหล
สภาพภูมิอากาศ
ชุมชนคลองทะเลมีสภาพภูมิอากาศเย็นสบาย และมีลมมรสุมตลอดปีโดยได้รับอิทธิพลจากลมทะเล คือ มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านในช่วง เดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน ทำให้มีความชื้นเกิดฝนตกชุกและได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดผ่านอ่าวไทยสู่ฝั่งทะเลด้านตะวันตก ในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนเมษายน ทำให้มีฝนตกน้อยช่วงนี้จึงเป็นช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ในช่วงเปลี่ยนแปลงหรือรวมมรสุม ทำให้การคมนาคมสื่อสารในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นไปได้ยากลำบา
ทรัพยากรธรรมชาติ
พื้นที่ป่าไม้ของเกาะยาวมีประมาณ 53,361 ไร่ ป่า ร้อยละ 60.55 ของอำเภอนี้เป็นป่าสงวน ซึ่งมีจำนวน 13 แปลง ป่าควนจุก ป่ากาะโบยใต้ ป่าเกาะยาวน้อย ป่าคลองพรุแจด ป่าคลองอ่าวเลน ป่าคลองกาหมาย ป่าคลองย่าหมี ป่าคลองเหีย ป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่ 1 ป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่ 2 ป่าพรุใน ป่าช่องหลาด และ ป่าคลองโล๊ะปาไล้
ด้านทิศตะวันตกมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของคลองทะเลอีกหนึ่งแห่ง คือ ป่าชายเลนผืนใหญ่ราว 2,801 ไร่ ที่เต็มไปด้วยพรรณพืชมากมายหลายชนิด เช่น โกงกาง พังกา แสม ฯลฯ ซึ่งเป็นแนวกั้นคลื่นลม เป็นที่อาศัยของลิงพังกาและที่วางไข่ของกุ้ง หอย ปูปลา นานาสายพันธุ์ ชาวบ้านคลองทะเลได้ใช้ผืนป่าชายเลนแห่งนี้ในการหารายได้ด้วยการจับสัตว์น้ำเพื่อการดำรงชีพ และได้มีการรวมกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนของชุมชนด้วย
ทางทิศใต้มีทรัพยากรเป็นแนวโขดหินที่ติดกับชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของป่าชายหาดเนื้อที่ประมาณ 390 ไร่ ที่ประกอบไปด้วยพรรณ์ไม้ต่าง ๆ อาทิ ไม้สน ผักบุ้งทะเล หว้าหิน ตีนเป็ดทะเล ฯลฯ และยังมีพืชที่เป็นอาหารของชาวบ้าน เช่น ผักหวาน มะม่วงหิมพานต์ พุทรา มะกอกป่า เป็นต้น
นอกจากนี้ บริเวณป่าชายหาดยังพบนกเงือกซึ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าชายหาดนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เป็นแหล่งอาหารและยาสมุนไพรของชุมชนเป็นสถานที่พักผ่อนและที่ขายของ เป็นสถานที่ใช้ในการเข้าค่ายลูกเสือ ฝึกอบรมต่าง ๆ ตลอดจนเป็นสถานที่สังสรรค์พบปะญาติพี่น้องในวันสำคัญทางศาสนาอิสลามชาวบ้านจึงได้ใช้ประโยชน์จากบริเวณชายหาดสาธารณะของชุมชนกันโดยตลอด
ห่างออกไปจากป่าชายหาดเป็นหาดโคลนที่มีนกทะเลลงมาหาอาหารกินเมื่อยามน้ำลด มีแนวปะการังน้ำตื้นที่คงความอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อาศัยของฝูงปลาหลากหลายพันธุ์ โดยมีแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 700 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตวทะเลหลายชนิด อีกทั้งชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากแนวหญ้าทะเลในการจับสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและนำไปขายเป็นรายได้เสริม
ชุมชนคลองทะเลมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 459 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 81 ครัวเรือน เป็นประชากรชาย 255 คน และหญิง 204 คน ร้อยละ 98.6 นับถือศาสนาอิสลาม
การประกอบอาชีพ
ประมาณปี พ.ศ. 2430-2440 เมื่อเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นที่นี้ คนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัย ชุมชนคลองทะเลในช่วงเริ่มต้นนี้อาศัยความรู้ความสามารถในด้านการประมงเพื่อใช้ในการยังชีพ ส่วนการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรนั้นเกิดขึ้นภายหลังเนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นราบหุบเขาเหมาะสำหรับทการเกษตร จึงเริ่มมีการใช้ที่ดินด้วยการทำนาปลูกข้าว และทำสวนโดยที่เป็นสวนแบบผสมผสาน
ราวปี พ.ศ. 2519 ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านคลองทะเลขึ้นเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลเกาะยาวใหญ่ ช่วงนี้ชาวบ้านคลองทะเลมีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก และในขณะที่อาชีพประมงก็ยังคงทำกันเพื่อบริโภคและแลกเปลี่ยนภายในชุมชนเป็นหลัก ส่วนการทำสวนเริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น โดยการสนับสนุนของภาครัฐ มีการโค่นต้นมะม่วงเพื่อปลูกมะพร้าวเพียงอย่างเดียวและเริ่มมีการปลูกยางพาราที่บ้านช่องหลาด
โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านชุมชนคลองทะเลปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2523 เริ่มมีโครงการสร้างงานในชนบท โดยรัฐบาลได้ให้สภาตำบลจัดทำโครงการพัฒนา ส่งเสริมการทำเกษตรเพื่อการค้าและการทำประมงเพื่อการค้ามากขึ้น
พ.ศ. 2523–2540 กลุ่มทุนประมงได้รุกล้ำพื้นที่อ่าวพังงา และทำลายทรัพยากรทางทะเลทำให้สัตว์ต่าง ๆ ลด ต่อมา พ.ศ. 2541 ได้มีการกำหนดเขตห้ามทำการประมงลากอวน
พ.ศ. 2540 ชาวบ้านเริ่มเลี้ยงปลาในกระชัง และมีการทำสวนยางพาราเพิ่มขึ้น เริ่มมีนายทุนเข้ามาซื้อที่ดินเก็งกำไร
พ.ศ. 2550 การท่องเที่ยวเริ่มมีการขยายมากขึ้น เริ่มมีการเปิดกิจการโรงแรม รีสอร์ตในพื้นที่
พ.ศ. 2548-2556 รัฐบาลเข้ามาดำเนินนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว จนมีความขัดแย้งกับกลุ่มทุนท่องเที่ยวและเริ่มมีพิพาทระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มทุนท่องเที่ยว จนนำไปสู่กระบวนการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน
กลุ่มองค์กรชุมชน
กลุ่มปกป้องและดูแลป่าชายเลนชุมชน ชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อปกป้องดูแลป่าชายเลนชุมชนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 อันเนื่องมาจากการที่รัฐได้อนุญาตให้สัมปทานป่าชายเลนแก่นายทุน แต่ผู้รับสัมปทานไม่ได้ปฏิบัติตามกติกาอย่างครบถ้วน จึงส่งผลให้ป่าชายเลนของชุมชนถูกทำลายและระบบนิเวศป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงจนกระทบการท ามาหากินของคนในชุมชน ชาวบ้านได้เล็งเห็นถึงผลกระทบดังกล่าวและได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านกลุ่มทุนที่มาตัดไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ของชุมชน ต่อมาภายหลังชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งป่าชายเลนชุมชนขึ้น ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง ตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2540 เป็นการรวมกลุ่มของชาวประมงและผู้ที่สนใจการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวใหญ่และสำนักงานประมงอำเภอเกาะยาว เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงปลาในกระชังของสมาชิกและการหมุนเวียนกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพนี้
กลุ่มสตรี เป็นการรวมกลุ่มของผู้หญิงในชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและความรู้จากกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านพัฒนากรที่ประจำในพื้นที่ตำบลเกาะยาวใหญ่ มีการจัดอบรมและส่งเสริมการทำกิจกรรมการเลี้ยงแพะ การปักและร้อยลูกปัด ผ้าคลุมฮิญาบ ฯลฯ
ชุมชนคลองทะเลเป็นชุมชนมุสลิมที่มีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติ มีวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวทางศาสนาอิสลามที่สืบทอดกันมาในกลุ่ม มีความเป็นอยู่เรียบง่ายตามคำสอนของศาสนาอิสลามให้ความเคารพผู้นำท้องถิ่น โดยเฉพาะโต๊ะอิหม่าม (ผู้นำสูงสุดของชุมชนตามแนวทางของศาสนาอิสลาม) ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับหลักการของอิสลาม แม้จะมีการประยุกต์ใช้ตามบริบทของกลุ่มและท้องถิ่นบ้างก็ตาม ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวจะสังเกตเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะซานเพื่อเชิญชวนคนไปทำพิธีละหมาดที่สะท้อนผ่านลำโพงใหญ่ของชุมชนร้องเรียกให้ผู้คนมารวมตัวกันที่สุเหร่าหรือมัสยิดของหมู่บ้านวันละ 5 ครั้ง การรวมตัวกันประกอบพิธีละหมาดประจำสัปดาห์ในทุกวันศุกร์
โดยชายชาวมุสลิมต้องไปละหมาดตอนหลังเที่ยงที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน นอกเหนือไปจากการละหมาดแล้ว ยังมีการอบรมคำสอนของศาสนา โดยการอ่านและแปลหนังสือศาสนาที่เรียกว่า “กิตาบ” การจัดงานทำบุญ (นู่หรี) ของชาวบ้านเนื่องในวาระต่าง ๆ ตลอดจนการ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยมีผู้อาวุโสเข้ามามีบทบาทสำคัญ สำหรับการละหมาดร่วมกันที่มัสยิดของหมู่บ้าน นอกจากจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังสะท้อนระบบการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของชุมชนอีกด้วย
ชุมชนคลองทะเลไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างกฎระเบียบที่ซับซ้อนมาบังคับใช้ แต่อาศัยพื้นฐานความเข้าใจและสำนึกความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งโต๊ะอิหม่ามได้ใช้แนวทางของการเป็นมุสลิมที่ดี คือ การยึดมั่นปฏิบัติตามแบบแผนที่อิงคำสอนของศาสนาเป็นสิ่งยึดโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกัน โดยมักจะมีการปลูกจิตสำนึกของคนในชุมชนช่วงก่อนและหลังพิธีละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด และเป็นผู้ที่นำเรื่องต่าง ๆ เข้ามาหารือและหาแนวทางในการ แก้ไขปัญหาร่วมกัน ศาสนาอิสลามจึงเป็นศูนย์กลางในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนนี้
ความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชน
คนในชุมชนคลองทะเลส่วนใหญ่ยึดคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยมีการเรียนการสอนอิสลามศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนต้องเรียนรู้ทั้งที่เป็นการเรียนอย่างเป็นทางการในโรงเรียน โดยเน้นการเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และการเรียนที่ไม่เป็นทางการ คือการเรียนศาสนาที่มัสยิด ซึ่งเน้นสอนการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานแบบท่องจำเป็นหลัก สิ่งนี้ถูกผลิตซ้ำจนนำไปสู่หลักการปฏิบัติที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของมุสลิม
ในชุมชนนี้กล่าวคือ พยายามเน้นให้สมาชิกชุมชนดำเนินชีวิตตามประเพณีปฏิบัติที่อิงหลักการศาสนา เช่น เมื่อเด็กทารกแรกเกิดประมาณ 7-9 วัน จะมีพิธีขึ้นเปลและพิธีแกกะฮ์ (การโกนผมไฟและเชือดแพะ หรือแกะสำหรับทำบุญเลี้ยงแขก) เมื่อโตขึ้นมาหน่อย สำหรับเด็กผู้ชายจะมีการประกอบพิธีสุนัต (การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ) เพื่อดำเนินตามวิถีปฏิบัติของท่านศาสดามูฮัมหมัด ตลอดจน มีการเฝ้ากุโบร์ คือ การรวมกลุ่มอ่านคัมภีร์อัลกุรอานและอ่านดุอาขอพรที่กุโบร์ (หลุมศพ) หลังจากมีคนตายเป็นเวลา 3 หรือ 7 วัน จึงกล่าวได้ว่าความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ชุมชนปฏิบัตินั้นล้วนอิงคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนได้กลายเป็นสถานที่แห่งการร่วมแรงร่วมใจไปช่วยงานของคนในหมู่บ้านอย่างเต็มใจ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ยึดโยงผู้คนให้เกิดเครือข่ายผ่านกิจกรรมในชุมชน ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ยึดโยงคนในชุมชนคลองทะเลให้เกิดปกิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและงานกิจกรรม
พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด พิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงาน พิธีกรรมในชีวิตประจำวัน และพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงคนในหมู่บ้านให้มาร่วมงาน หรือร่วมช่วยเหลือในการเตรียมงาน โดยดำเนินการตามความชำนาญที่เรียนรู้และสืบทอดกันมา โดยมีเจ้าภาพเป็นสมาชิกของหมู่บ้านครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ซึ่งจะเชิญเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ มาร่วมงาน
พิธีกรรมเกี่ยวกับวันหรือเทศกาลสำคัญทางศาสนา ในวันหรือเทศกาลที่สำคัญของศาสนาอิสลาชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะมาร่วมงานกันตามสถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน เช่น มัสยิดโรงเรียน หรือที่ทำการเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ เพื่อร่วมพิธีที่จัดขึ้น พิธีกรรมและวาระที่สำคัญ ๆ ทางศาสนาของชุมชน มีดังต่อไปนี้
- งานวันเมาลิด หรือวันคล้ายวันประสูติขององค์ศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนรออุลเอาวาลตามปฏิทินของอิสลาม การจัดงานเมาลิดในปัจจุบันจัดขึ้นในบริเวณที่ทำการเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ ในงานจะมีการเลี้ยงอาหารแก่คนทั้งตำบล ชาวบ้านทุกหมู่บ้านของเกาะยาวใหญ่จะมาร่วมงาน ซึ่งมีพิธีเมาลิดด้วยการอ่านบทสรรเสริญศาสดา และกิจกรรมบนเวที เช่น เสวนาคำสอนทางศาสนา การแข่งขันตอบปัญหาทางศาสนาของนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆรวมทั้งมีการออกร้านค้ามาจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับศาสนามากมาย เช่น อักษรภาพอาหรับ ผ้าคลุมฮิญาบ หมวกกาปีเยาะ ผ้าถุง ผ้าปาเต๊ะ อาหารฮาลาล ฯลฯ
- เดือนบวช หรือเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม ในเดือนนี้มุสลิมทั่วโลกจะต้องถือศีลอด โดยการไม่มีการดื่มกินและละเว้นจากการทำสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ตามข้อห้ามในบทบัญญัติของศาสนาตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนตะวันตกดินของแต่ละวันตลอดทั้งเดือน การถือศีลอดนี้เป็นหนึ่งในบทบัญญัติหลัก 5 บท ที่ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยตลอดเดือนนี้จะมีการจัดละหมาดตะรอเวียะห์ในช่วงกลางคืนหลังจากที่ละการถือศีลอดแล้ว ซึ่งชาวบ้านจะมาละหมาดร่วมกันที่มัสยิดของหมู่บ้าน
- วันตรุษอีดิ้ลฟิตรี หรือวันฮารีรายอฟิตเราะห์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวันออกบวช เป็นวันเฉลิมฉลองหลังจากสิ้นสุดเดือนรอมฏอน โดยจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ มีการละหมาดวันตรุษอีดิ้ลฟิตริร่วมกันที่มัสยิด มีการเลี้ยงอาหาร การให้ทานแก่คนจน การเยี่ยมกุโบร์ การเยี่ยมญาติพี่น้องต่างถิ่น ซึ่งในวันนี้มุสลิมจะนิยมแต่งกายด้วยชุดใหม่ 1 ที่สวยงาม พรมน้ำหอมและมักจะมีการทำงานบุญต่าง ๆ ในวันนี้ เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญให้คนตาย เป็นต้น
- วันตรุษอีดิ้ลฮัฏฮา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวันฮารีรายอฮัจญี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งตามปฏิทินอิสลามซึ่งจะมีการทำพิธีกรรมที่จัดขึ้นตรงกับวันที่มุสลิมทั่วโลกประกอบพิธีฮัจญ์ หรือพิธีแสวงบุญที่นครเมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังวันตรุษอีดิ้ลฟิตรีประมาณ 100วัน พิธีกรรมในวันนี้มีกิจกรรม การทำบุญคล้าย ๆ กันกับวันตรุษอีดิ้ลฟิตรีที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ แต่มีเพิ่มเติมคือ การเชือดสัตว์จำพวกวัว แพะ หรือแกะ เพื่อนำเนื้อไปบริโภคและแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านโดยเฉพาะคนจนและคนขัดสน
มัสยิดคลองทะเล
เนื่องจากคนในชุมชนเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม จึงมีมัสยิดประจำชุมชน คือ มัสยิดคลองทะเล โดยได้สร้างขึ้นมาหลังจากที่มีการตัดถนนทางเข้าหมู่บ้านแล้วประกอบกับมีจำนวนชาวบ้านในชุมชนเพิ่มมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันก่อตั้งมัสยิดของหมู่บ้าน เนื่องจากสถานที่ละหมาดของหมู่บ้านแต่เดิมนั้นมีขนาดไม่เพียงพอกับจำนวนชาวบ้านที่จะมาร่วมละหมาดในวันศุกร์มัสยิดของแห่งนี้ตั้งอยู่ทางไปหาดคลองสน
ปัจจุบันเทศบาล ตำบลเกาะยาวใหญ่ได้สนับสนุนงบประมาณให้สร้างมัสยิดขึ้นใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเป็นมัสยิดทรงโดมและปูพื้นด้วยกระเบื้องตกแต่งสวยงาม กว้างขวางพอสมควร เมื่อมีการขยายมัสยิดแล้วชาวบ้านจึงใช้มัสยิดเป็นสถานที่รวมตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม และได้มีการสร้างศาลาไม้ใกล้มัสยิดเพิ่มเติมเพื่อเป็นสถานที่ในการประกอบอาหาร สำหรับจัดเลี้ยงอาหารเวลาชาวบ้านรวมตัวกันในการทำบุญต่าง ๆ เช่น การทำบุญเกี่ยวกับการเฝ้ากุโบร์เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน และพิธีจัดเลี้ยงอาหารในงานพิธีต่าง ๆ ทางศาสนา มัสยิดของชุมชนคลองทะเลจึงเป็นศูนย์รวมในการพบปะ ปรึกษาหารือของชาวบ้าน ทั้งในเรื่องทางศาสนา และเรื่องราวทั่วไปของชุมชน
ภาษาพูด ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน ภาษาไทย
น้ำดื่มน้ำใช้โดยทั่วไปแล้วชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลเช่นนี้อาจจะมีปัญหาในเรื่องแหล่งน้ำจืด ทว่าชุมชนคลองทะเลไม่เคยมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำจืดแต่อย่างใด เนื่องจากมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืด ชาวบ้านจึงได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาโดยตลอด
ต่อมาจึงได้มีการกักเก็บน้ำด้วยเขื่อนขนาดเล็กคือ “เขื่อนป่าอ้อย” ซึ่งสร้างขึ้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าดังกล่าวมาโดยตลอด ชุมชนจึงไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำจืด น้ำจากเขื่อนนี้สามารถน้ำมาทำเป็นน้ำประปาใช้ในชุมชน อันเนื่องจากในฤดูฝนมีฝนตกชุกและมีแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ดังกล่าว นอกจากน้ำประปาที่ใช้อุปโภคแล้ว ชาวบ้านในชุมชนคลองทะเลหลาย ๆ ครัวเรือนยังมีการขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อใช้น้ำบริโภค โดยชาวบ้านมักจะมีการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำบาดาลร่วมกัน
แหลมหาด เกาะยาวใหญ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ที่นี่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ เพราะเป็นเกาะที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลอด
ชื่อเสียงของแหลมหาด เกาะยาวใหญ่ ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น แต่หาดสวยติดอันดับโลกจากเว็บไซต์ worldbeachguide ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวชายหาด World Beach Guide ของประเทศอังกฤษ เผยแพร่ผลการจัดอันดับในหัวข้อ “100 อันดับ ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566” โดยมีแหลมหาด เกาะยาวใหญ่ ติดอยู่ในอันดับที่ 21 ทั้งยังเคยเป็นหนึ่งในฉากภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกหลายเรื่อง นั่นจึงทำให้หาดแห่งนี้โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก
ธีระพงษ์ วงษ์นา. (2560). พลวัตการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานทุนทางสังคมในชุมชนคลองทะเล จังหวัดพังงา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต การบริหารพัฒนาสังคม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์.
เอิงเอย. (2563). Unseen ที่เที่ยวลับพังงา แหลมหาด เกาะยาวใหญ่ ไปแล้วจะว้าวววว. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/
Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). เกาะยาวใหญ่. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/
Cleanenergyisland. (ม.ป.ป.) เกาะยาวใหญ่. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566, จากhttps://www.cleanenergyisland.com/
Santhiya. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.santhiya.com/kohyaoyai/th/
Travelkapook. (ม.ป.ป.). แหลมหาด เกาะยาวใหญ่. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.kapook.com/