ชุมชนบ้านกลางประสบความสำเร็จในการจัดการดูแลเพื่อฟื้นฟูป่าชุมชนป่าทุ่งชาลี ป่าดิบชื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพให้คืนคงความอุดมสมบูรณ์ ให้เป็นแหล่งอาหารและรายได้มหาศาลของชาวบ้านในชุมชน
ชุมชนบ้านกลางประสบความสำเร็จในการจัดการดูแลเพื่อฟื้นฟูป่าชุมชนป่าทุ่งชาลี ป่าดิบชื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพให้คืนคงความอุดมสมบูรณ์ ให้เป็นแหล่งอาหารและรายได้มหาศาลของชาวบ้านในชุมชน
ประวัติความเป็นมาเรื่องการก่อตั้งชุมชนและการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านกลางนั้นไม่มีคำบอกเล่าหรือปรากฏบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้แน่ชัด แต่หากจะเล่าถึงความเป็นมาอาจต้องกล่าวย้อนไปตั้งแต่ตำนานการก่อตั้งเมืองคุระบุรี หรือเดิมชื่อ เมืองคุระ เป็นหนึ่งในแปดหัวเมืองทางใต้ชายฝั่งทะเลตะวันตกขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ตามที่พงศาวดารถลางได้กล่าวถึงหัวเมืองชายฝั่งทะเลทางตะวันตกว่ามีแปดหัวเมือง มีเมืองถลาง เมืองภูเก็ต เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองกรา เมืองคุระ เมืองคุรอค เมืองพังงา ประมวลเป็นแปดเมือง ขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ผู้ปกครองคนแรก ชื่อ ขุนวัฒนกิจพิศาล อยู่ในความรับผิดชอบของพระสมุหกลาโหม ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2476 กระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศตั้งเป็นกิ่งอำเภอเกาะคอเขา โดยอยู่ในความปกครองของอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายที่ทำการจากกิ่งอำเภอเกาะคอเขา ขึ้นมาตั้งอยู่ที่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอคุระบุรีในปัจจุบัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจากกิ่งอำเภอเกาะคอเขามาเป็นกิ่งอำเภอคุระบุรี กระทั่ง พ.ศ. 2518 กระทรวงมหาดไทยให้ออกพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะจากกิ่งอำเภอคุระบุรีเป็นอำเภอคุระบุรี (ศิริพงษ์ ศรีธนสาร และคณะ, 2558) แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ตำบล คือ ตำบลบางวัน ตำบลแม่นางขาว ตำบลเกาะพระทอง และตำบลคุระ
ตำบลคุระ เป็นหนึ่งใน 4 ตำบลของอำเภอคุระบุรี ประชาชนส่วนใหญ่อพยพมาจากต่างพื้นที่ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งบ้านกลางเป็นหนึ่งหมู่บ้านในปกครองของตำบลคุระ ซึ่งหากพิจารณาจากภูมิลำเนาเดิมของประชาชนที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในตำบลคุระ อาจสันนิษฐานได้ว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านกลางก็อาจมีถิ่นฐานเดิมจากจังหวัดต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ก็เป็นได้
ภูมิประเทศชุมชนบ้านกลางมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา ทิศใต้จรดหมู่บ้านทุ่งนาง ทิศตะวันออกจรดหมู่บ้านทับช้าง ทิศตะวันตกจรดหมู่บ้านแสงทอง ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนและบริเวณโดยรอบยังนับว่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีอาณาเขตส่วนหนึ่งติดต่อกับป่าทุ่งชาลีในเขตอุทยานแห่งชาติศรีพังงา และมีลำคลองนางย่อนเป็นแกนหลักวางแนวยาวตามแนวบ้านเรือนและชุมชน
สืบเนื่องจากชุมชนบ้านกลางมีอาณาเขตติดต่อกับป่าทุ่งชาลี ซึ่งสำหรับชาวบ้านกลางแล้ว ผืนป่าแห่งนี้นับว่าเป็นป่าชุมชน เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งรายได้ และเปรียบเสมือนชีวิตของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์จากผืนป่าแห่งนี้ โดยทรัพยากรธรรมชาติที่พบในป่าทุ่งชาลีนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย จึงจำแนกได้ดังนี้
- พืช : เช่น เห็ด ผักเหมียง ผักหวานป่า ลูกหยี ระกำ หวาย เฟิร์นยักษ์ เป็นต้น
- สัตว์ป่า : เช่น กวาง เก้ง เลียงผา สมเสร็จ วัวกระทิง วังแดง โขลงช้างป่า นกหว้า นกชนหิน และอื่น ๆ
- ป่าไม้ : มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น มีความหลากหลายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีพรรณไม้นานาชนิด เช่น ไม้ตะเคียนทอง ไม้ตะเคียนทราย จำปาทอง จันทร์กระพ้อ จวง อินทนิล เป็นต้น
ชาวบ้านชุมชนบ้านกลางมีประชากรทั้งหมด 545 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 290 คน ประชากรหญิง 255 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 332 ครัวเรือน ชาวบ้านชุมชนบ้านกลางส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ลักษณะของครัวเรือนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว กล่าวคือ เป็นครอบครัวขนาดเล็กที่มีสมาชิกภายในครอบครัวประมาณ 2-5 คน โดยปกติแล้วสมาชิกภายในครอบครัวลักษณะนี้จะประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก
ประชาชนชาวบ้านกลางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์ม ไม้ผล ฯลฯ รวมถึงผลผลิตนานาชนิดที่ได้จากป่าทุ่งชาลี เช่น สะตอ ลูกเหนียง หน่อไม้ ฯลฯ ทว่า ผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านกลางที่ออกสู่ตลาดนั้นมีจำนวนมาก ทำให้ขายไม่ได้ราคาเนื่องจากไม่มีตลาดรองรับและไม่มีการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร ประกอบกับยังขาดการรวมกลุ่มและไม่มีตลาดกลางสำหรับจำหน่ายแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านเกษตร
นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่การทำประมง โดยส่วนมากจะเป็นการทำประมงชายฝั่ง ประมงในกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำและนากุ้ง การเลี้ยงสัตว์เพื่อเสริมรายได้ เช่น วัว แพะ ไก่ ฯลฯ รวมถึงการค้าขายและรับราชการ แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
ปฏิทินผลผลิตชุมชนในรอบปี
เดือน | ผลผลิตในชุมชน |
มกราคม | ยางพารา, หมาก, ผักกูด, ผักเหมียง, ผักภูมิ, ผักหวานป่า, แตงกวา, ถั่วฝักยาว |
กุมภาพันธ์ | ยางพารา, สะตอ, หมาก, มังคุด, ถั่วฝักยาว |
มีนาคม | ยางพารา, สะตอ, มังคุด, หมาก, ถั่วฝักยาว |
เมษายน | ยางพารา, สะตอ, ทุเรียน, มังคุด, หมาก, ถั่วฝักยาว |
พฤษภาคม | ยางพารา, สะตอ, ทุเรียน, มังคุด, ลองกอง, หมาก, ลูกเหนียง, หน่อไม้, ถั่วฝักยาว |
มิถุนายน | สะตอ, ทุเรียน, มังคุด, ลองกอง, ลูกเหนียง, หน่อไม้, ถั่วฝักยาว |
กรกฎาคม | ทุเรียน, มังคุด, ลูกเหนียง, หน่อไม้, ลูกหยี |
สิงหาคม | ทุเรียน, ลูกเหนียง, หน่อไม้, ลูกหยี |
กันยายน | ทุเรียน, หน่อไม้ |
ตุลาคม | หน่อไม้, เห็ดโคลน, แตงโม |
พฤศจิกายน | ยางพารา, แตงโม |
ธันวาคม | ยางพารา, แตงโม |
บ้านกลางเป็นชุมชนที่ชาวบ้านทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ฉะนั้น วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม รวมถึงวันสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงมีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าพรรษา ประเพณีออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเพณีที่หากจะกล่าวว่าเป็นประเพณีทางศาสนานั้นก็เกรงจะไม่ใช่เสียทีเดียว เนื่องจากยังคงมีกลิ่นอายการผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธ พิธีพราหมณ์ และความเชื่อเรื่องผี ประเพณีดังที่กล่าวมานี้ คือ ประเพณีสารทเดือนสิบ หรือวันรับ-ส่งตายาย
ประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบ ถือเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญในภาคใต้ของไทย ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีการสืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกเนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอรับส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หรือที่เรียกกันว่า “วันรับตายาย” หรือเป็นวันบุญแรก หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 คือ “วันส่งตายาย” หรือเป็นวันบุญหลังหรือบุญใหญ่ ซึ่งวันนี้มีแห่กระจาดที่มีการบรรจุขนมเดือนสิบ อาหารแห้ง ของใช้ ผลไม้และอื่น ๆ พร้อมภัตตาหาร (ปิ่นโต) ไปวัด เมื่อกระจาดถึงวัดแล้วก็จะร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน “ตั้งเปรต” เพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน “ชิงเปรต” ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคักเพราะความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
1. นายเสถียน ชัยอุดม หมอพื้นบ้านชุมชนบ้านกลาง
2. นายประยงค์ รุ่งเรื่อง หมอพื้นบ้านชุมชนบ้านกลาง
นายเสถียน ชัยอุดม และนายประยงค์ รุ่งเรื่อง หมอพื้นบ้านผู้สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ป่วยและผู้รับการบำบัดรักษาด้วยกระบวนการนำสมุนไพรมาต้มให้ดื่ม การบีบนวดคลายเส้น บีบนวดนำมัน บีบนวดลูกประคบ การษามักจะเริ่มจากการพูดคุยเรื่องความเป็นอยู่และสาเหตุการเกิดอาการเจ็บปวดกันก่อน จากนั้นหมอพื้นบ้านจะเริ่มวิเคราะห์อาการและที่มาของโรคก่อนจะทำการรักษา สมุนไพรที่นิยมการรักษาอยู่บ่อยครั้ง เช่น กำแพงเจ็ดชั้น ใช้แก้โรคกระเพาะ แก้ลมเสียดแทงในอก ขมิ้นอ้อยรักษาเคลือบแผลในกระเพาะ บันไดลิงแก้อักเสบ เงือกปลาหมอ แก้ฝี แก้หนอง รากหมุ่ยป่าแก้พิษงู เป็นต้น
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ป่าทุ่งชาลี
ป่าทุ่งชาลีในดูแลของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศง.3 (ทุ่งชาลี) ผืนป่าที่เปรียบเป็นชีวิตชาวบ้านกลาง ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางธัญญาหารได้กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้ชาวบ้านกลางได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายใต้ความดูแลของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศง.3 (ทุ่งชาลี) ยกตัวอย่างดังนี้
การจับปลา ภายในป่าทุ่งชาลีจะมีลำน้ำธรรมชาติ ช่วงเวลาฤดูแล้งสายน้ำที่มาจากลำธารจะลดเหลือน้อยลง ทำให้น้ำแห้งขอดและขาดสาย จึงทำให้เป็นบ่อหรือบึงเล็ก ๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของกุ้งและปลาหลายชนิด ชาวบ้านชุมชนบ้านกลางก็จะออกหาปลาในช่วงนั้น ปลาที่ชาวบ้านนิยมจับ เช่น ปลาโอน ปลาลิ้นตง ปลาดุก ปลาแขยง ปลาซิว ปลาช่อน ที่มีขนาดตัวละ 6-7 ขีดขึ้นไป และกุ้งก้ามกรามตัวโตหรือชาวบ้านมักเรียกว่ากุ้งคูด มีขนาด 4-6 ขีดต่อตัว แต่การออกหาปลาในช่วงนี้ชาวบ้านก็ต้องค่อนข้างใช้ความระมัดระวัง เพราะในช่วงน้ำแห้งนอกจากจะเป็นฤดูหาปลาของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นช่วงที่งูมีพิษออกหากินเช่นกัน
การเก็บเห็ดโคน เห็ดโคนอาหารพื้นบ้านมีรสชาติอร่อยเป็นที่นิยมและหาได้ยาก ความรู้ของชาวบ้านในการเดินเก็บในพื้นป่ามีหลักสำคัญ คือ เห็ดจะเกิดบริเวณที่ราบหรือบริเวณเชิงตีนภูเขาและอยู่ในอาณาเขตจอมปลวก โดยการใช้จมูกสูดกลิ่นเห็ดโคนร่วมด้วย วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญสูง
การตีผึ้งป่า (การจับน้ำผึ้งป่า) ช่วงฤดูเดือนสามถึงเดือนห้า เป็นช่วงที่ชาวบ้านนิยมออกหารังผึ้งป่า โดยขั้นตอนการเตรียมเครื่องมือสำหรับตีผึ้งป่า มีดังนี้
- ถังรับน้ำผึ้ง ปกติจะใช้ปี๊บน้ำมันขนาดความจุ 20 ลิตร นำมาดัดแปลงเป็นถังสำหรับรองรับน้ำผึ้งบนต้นไม้ เริ่มจาการปิดฝารูน้ำมันให้สนิท จับวางตะแคงแนวนอน ทำการผ่าเปิดตามแนวตะเข็บด้วยมีดทั้งสามด้าน เหลือหนึ่งด้านเพื่อเป็นจุดยึดสำหรับปิด-เปิด ป้องกันน้ำผึ้งกระเด็นออกจากถังช่วงจังหวะการหย่อนลงมาจากต้นไม้เพื่อให้คนข้างล่างคอยรับอยู่
- เชือก ต้องยาวมากกว่าความสูงของต้นไม้ 2 เท่า เพื่อสามารถผูกหย่อนถังลงได้ และคนที่รอรับสามารถนำไปเทรวมกันเก็บในถังที่เตรียมไว้ แล้วคนตีผึ้งสามารถดึงกลับขึ้นไปใช้ต่อข้างบนต้นไม้ได้
- ม่ง คือ คบเพลิงสำหรับจุดเพื่อรมควัน (คล้ายธูปแต่มีขนาดใหญ่กว่า) ทำให้ผึ้งหนีออกไป จากบริเวณรัง การทำม่งโดยการนำย่านเถาโรนำมาฉีดออกเป็นเส้น ๆ นำไปตากแดดให้แห้งสนิท นำมามัดรวมเป็นกำ แล้วนำไปจุดไฟรมควันรังผึ้ง เรียกว่า “ม่ง”
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ศิริพงษ์ ศรีธนสาร และคณะ. (2558). การปรับตัวของเกษตรกรสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชนบ้านอินทนิล ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
เสถียน ชัยอุดม และคณะ. (2549). การศึกษาและพัฒนากระบวนการจัดการป่าชุมชนทุ่งชาลีอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ระยะที่ 1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. (2563). บรรยากาศประเพณีบุญสารทเดือนสิบ หรือวันส่งตายาย ของชาวอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนชาวพุทธเข้าวัดทำบุญกันอย่างเนืองแน่น. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566, จาก https://thainews.prd.go.th/
สมาคมสื่อวิทยุโทรทัศน์พังงา อันดามัน. (2562). สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/pactvthai/
Naewna. (2561). ชาวใต้ร่วมสืบสานประเพณี'สารทเดือนสิบ'คึกคัก อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.naewna.com/