ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทะเลน้อย เดิมชื่อ “บ้านเนินสระ” มีสภาพเป็นเนินติดทะเลและสระน้ำ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรและการทำประมงพื้นบ้าน และเป็นแหล่งปลูกผักกระชับแห่งเดียวในประเทศไทย
หมู่บ้านทะเลน้อยในอดีตนั้นในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำท่วมทุ่ง จึงมีลักษณะเหมือนเป็นทะเลน้อยๆ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านทะเลน้อย” มาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทะเลน้อย เดิมชื่อ “บ้านเนินสระ” มีสภาพเป็นเนินติดทะเลและสระน้ำ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรและการทำประมงพื้นบ้าน และเป็นแหล่งปลูกผักกระชับแห่งเดียวในประเทศไทย
บ้านทะเลน้อย ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะมีวัดและพระอุโบสถที่เก่าแก่รูปทรงเหมือนกันกับที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีชื่อว่า “วัดราชบัลลังก์” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดทะเลน้อย” ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครั้งยังเป็น ‘พระยาวชิรปราการ’ ได้รวบรวมกำลังทหารจำนวนกว่า 500 นาย ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าและมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกผ่านนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และได้นำทัพมาพักที่หมู่บ้านทะเลน้อย เพราะเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม มีแม่น้ำประแสร์สามารถแล่นเรือออกสู่ทะเลได้ และมีสระน้ำอยู่ชายเนินสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ โดยมีหลักฐานที่พบคือ ‘แท่นรองพระบาท’ ที่เชื่อกันว่าเป็นของที่อยู่คู่กับบัลลังก์ของพระเจ้าตากสิน (ปัจจุบันบัลลังก์จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) โดยหมู่บ้านทะเลน้อยในอดีตนั้นในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำท่วมทุ่ง จึงมีลักษณะเหมือนเป็นทะเลน้อยๆ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านทะเลน้อย” มาจนถึงปัจจุบัน
บริเวณพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านทะเลน้อย อยู่ภายใต้การปกครองดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลทางเกวียน ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำประแสร์ / ตำบลทุ่งควายกิน
ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำประแสร์ / ตำบลปากน้ำประแสร์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำประแสร์ / ตำบลทุ่งควายกิน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลวังหว้า/ตำบลเนินฆ้อ
พื้นที่ชุมชนบ้านทะเลน้อย ชุมชนบ้านทะเลน้อย มีพื้นที่ทั้งหมด 12,570 ไร่ มีครัวเรือนอยู่อาศัย จำนวน 230 ครัวเรือน และจำนวนประชากรทั้งสิ้น 835 คน จำแนกเป็นชาย 398 คน เป็นหญิง 497 คน (อสม. 2558) ลักษณะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ผืนที่ดินทำกินของคนในชุมชน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 เป็นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำประแสร์ พื้นที่ส่วนนี้เหมาะแก่การสร้างที่อยู่อาศัย และใช้สำหรับการเพาะปลูก เช่น ข้าว กล้วยน้ำว้า เป็นต้น
ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของแม่น้ำประแสร์ ที่ไหลผ่านหมู่บ้านทะเลน้อย โดยชาวบ้านใช้ในการประกอบอาชีพเสริม อาทิ การทำประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวบ้านทะเลน้อย
ชุมชนบ้านทะเลน้อย มีการจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านทะเลน้อย ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มกันทำหน้าที่ในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชุมชนออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะแบ่งตามความถนัดทางด้านวิถีชีวิตของคนภายในชุมชน และมีประธานหมู่บ้านที่คอยเป็นผู้ดูแลและประสานงานกับทางประธานของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการการจัดอบรม ให้ความรู้แก่คนในชุมชนไปจนถึงการสนับสนุนทางด้านงบประมาณในการพัฒนาชุมชน โดยคนภายในชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ รวมไปถึงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันผลประโยชน์และการประเมินผลของการทำงานได้
หมวกใบจากแม่สมศรี
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของต้นจากที่ปลูกมากบริเวณบ้านทะเลน้อย จึงมีการนำผลิตผลจากต้นมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะใบจากที่มีมากมาย ชาวบ้านจึงได้นำใบจากมาสานเป็นหมวกเพื่อใช้เข้าสวนเข้าไร่ไถนาในชีวิตประจำวัน เมื่อนักท่องเที่ยวมาเห็นก็ชอบและขอซื้อ ด้วยความสวยแปลกตาแถมราคาไม่แพง ทำให้มีการสั่งซื้อและยอดขายที่เพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาจนได้กลายเป็นสินค้าโอทอปที่ได้รับความนิยม
ภายในชุมชน คนในชุมชนบ้านทะเลน้อยมีอาชีพหลัก คือ ทำสวน ทำนา ค้าขาย ลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม ประมง และการเลี้ยงกุ้ง โดยมีผลิตภัณฑ์พื้นบ้านเป็นของชุมชนได้แก่ผักกระชับ ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนทะเลน้อย นอกจากนี้ยังมี กล้วยน้ำว้า กะปิ น้ำปลา คนในชุมชนทะเลน้อยยังมี อาชีพเสริม คือ หัตถกรรมจักสาน และการทำโฮมสเตย์
ชุมชนบ้านทะเลน้อย มีผืนที่ดินที่ติดกับแม่น้ำประแสร์และบริเวณปากแม่น้ำประแสร์เป็นบริเวณน้ำกร่อยและน้ำเค็มที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ การประกอบอาชีพจึงมีความหลากหลาย ทั้งการทำการประมงพื้นบ้าน และการเพาะปลูก แต่เดิมชุมชนบ้านทะเลน้อยไม่ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต่อมาเริ่มมีการนำรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวภายในชุมชนมาสู่ชุ่มชนบ้านทะเลน้อย เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมควบคู่กับแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ภายในชุมชนบ้านทะเลน้อย มีทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ทั้งทางบกและทางน้ำคนในชุมชนสามารถทำมาหากินและประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย เช่น การเลี้ยงกุ้ง การทำประมงพื้นบ้านปลูกผักและผลไม้ต่าง ๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำลายสภาพพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ และคนในชุมชนบ้านทะเลน้อยได้มีการร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์ในวันสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ กิจกรรมปลูกป่าโกงกางอีกทั้งยังมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สภาพแวดล้อมภายในชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์
ทุนทางวัฒนธรรม
1) วัดราชบัลลังก์ หรือ วัดทะเลน้อย
เป็นพระอุโบสถสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี มีลักษณะแบบเดียวกับพระอุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยา ผนังก่ออิฐถือปูนโครงสร้างทำด้วยไม้แก่น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นปูนปั้น ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยลายคราม ซึ่งปัจจุบันได้บูรณะขึ้นใหม่บางส่วน คือ เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาพระอุโบสถเป็นกระเบื้องวาว แต่ก็ได้คงรูปเดิมไว้เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป ภายในอาณาบริเวณของวัดราชบัลลังก์ประดิษฐารามหรือวัดทะเลน้อย เต็มไปด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่มีอายุสืบค้นไปได้ถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเล่าสืบกันมาว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศ ส่วนกุศลให้กับทหารที่เสียชีวิตจากวีรกรรมต่อสู้กับทัพพม่าที่บ้านทะเลน้อย ในศึกทุ่งเพลง ราวปี พ.ศ. 2013 โดยโบราณวัตถุเหล่านี้ต่างเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงและถ่ายทอดเรื่องราวถึงความศรัทธาอันเปี่ยมล้นต่อองค์พระมหากษัตตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ที่มีพระมหากรุณาธิคุณกับชาติบ้านเมือง เพื่อให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถให้คนในรุ่นต่อไปได้สามารถมาค้นคว้า ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาได้ ซึ่งมีโบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น เจดีย์ โบสถ์ พระประธานก่อสร้างด้วยโครงหวาย ฉาบปูน ตู้ลายรดน้ำ บัลลังภ์ มีดดาบ และของเก่าอีกมากมาย
ปี พ.ศ. 2350 ยุคสมัยรัชกาลที่ 1 สุนทรภู่ ขณะนั้นอายุราว 20 ปี ได้รับคำสั่งจากเจ้านายชั้นสูงวังหลังให้รีบออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลงด้วยภารกิจบางอย่าง บังเอิญครั้งนั้นสุนทรภู่ได้เขียนนิราศขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตนั่นคือ นิราศเมืองแกลง เพื่อเป็นการขอโทษหญิงสาวคนที่รักที่ต้องจากไปโดยไม่ทันลา ซึ่งในนิราศเมืองแกลงได้บรรยายความนัยไว้หลายอย่าง ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าสุนทรภู่เดินทางมาปฏิบัติราชการ(ลับ)ที่เมืองแกลง ณ วัดเนินสระ (วัดราชบัลลังก์) และอยู่ถือศีลกินเจ ร่วมทำบุญกับบิดาซึ่งเป็นพระสังฆาธิการ เมืองแกลง ในพิธีสวดบำเพ็ญกุศลงานศพงานหนึ่งเป็นเวลาร่วม 3 เดือน
สำหรับสิ่งก่อสร้างโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่คือ พระอุโบสถเก่า และเจดีย์เก่าแก่พระอุโบสถเก่าสร้างขึ้นใน สมัยกรุงธนบุรี เป็นผนังก่ออิฐก่อปูน ซุ้มประตูหน้าต่างปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องถ้วย ลายคราม กล่าวว่าเป็นผลงานสถาปัตยกรรมวัดกึ่งไทยกึ่งจีน ที่วิจิตรงดงามมากแห่งหนึ่งในยุคนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัย ทำด้วยโครงหวายฉาบปูนเป็นพระประธาน (หลวงพ่อโครงหวาย)
2 ) หลวงพ่อโครงหวาย
เป็นพระพุทธรูปโครงสร้างทำด้วยหวายฉาบปูนปิดทอง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานให้เป็นพระประธานในอุโบสถ เชื่อกันว่าสร้างโดยพวกมอญที่อพยพ ที่เมืองราชบุรี (เกาะมอญ) สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีช่างมอญผู้มีฝีมือเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปโดยใช้หวายเส้นใหญ่สานเป็นโครงสร้าง และใช้หวายเส้นเล็กสานเป็นรูปร่างแล้วใช้ปูนเปลือกหอย โบกทับโครงหวาย แล้วค่อยตกแต่งใหม่อีกครั้ง
3) ต้นโพธิ์และต้นมะขามเก่าแก่
มีตำนานเล่าขานว่า ณ วัดราชบัลลังก์แห่งนี้ สมัยเป็นที่ตั้งทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชก่อนจะไปตีเมืองจันทบุรี พระเจ้าตากฯได้ส่งกองกำลังทหารจีนจำนวน 500 นายมาตั้งทัพอยู่ที่บริเวณแม่น้ำประแสร์ ขุนรามหมื่นซ่องได้นำพรรคพวกไล่กระโจมฟันแทง ฆ่าทหารจีนของพระเจ้าตากฯตายไปจำนวนมาก ทำให้พระองค์ท่านเสียพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงนำ กองกำลังทหารไล่ล่าพวกขุนรามหมื่นซ่องจนแตกพ่าย ส่วนทหารจีนที่ถูกฆ่าตายอย่างเหี้ยมโหด พระเจ้าตากฯได้นำมาศพมาฝังไว้ที่เนินสระแล้วปลูกต้นโพธิ์และต้นมะขามไว้บริเวณนั้นปัจจุบันต้นโพธิ์และต้นมะขามยังคงปรากฏอยู่ในวัดราชบัลลังก์
4) ตู้ลายรดน้ำ
เป็นของพระราชทานซึ่งเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (อยู่)เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ชาวแกลง เรียกนามท่านว่า "เจ้าอยู่"เป็นผู้นำมาถวายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2427 พร้อมกับบัลลังก์ ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระพุทธรูปสาน ด้วยโครงหวายฉาบปูน 1 องค์
ทุนทางธรรมชาติ
1) กล้วยน้ำว้าสามน้ำ
กล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้ที่ปลูกกันได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เป็นผลไม้ที่นิยมและมีคุณค่าทางด้านอาหารมากมาย แต่กล้วยน้ำว้าบ้านทะเลน้อยนั้นจะมีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ เป็นกล้วยน้ำว้าที่ปลูกสามน้ำ เพราะบริเวณหมู่บ้านทะเลน้อยอยู่ติดกับแม่น้ำประแสร์ที่ไหลลงสู่ทะเลในช่วงหน้าฝน น้ำบริเวณหมู่บ้านจึงจะเป็นน้ำจืด แต่เมื่อเวลาหน้าแล้งน้ำทะเลจะหนุนขึ้นมาจนเป็นน้ำกร่อย ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้กล้วยน้ำว้าในหมู่บ้านทะเลน้อยมีรสชาติหวานอร่อยกว่ากล้วยน้ำว้าที่อื่นๆ ทั้งยังไม่มีเมล็ดในเนื้อกล้วยอีกด้วย และเมื่อมีผลผลิตที่มากขึ้น ชาวบ้านทะเลน้อยจึงมีการคิดดัดแปลงประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยตากจากบ้านทะเลน้อย ซึ่งถือเป็นของฝากที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
2) ผักกระชับ
เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งของบ้านทะเลน้อย เดิมเป็นวัชพืชที่ขึ้นเองอยู่ตามท้องนา ชาวบ้านทะเลน้อยเป็นผู้ริเริ่มในการนำต้นอ่อนผักกระชับมารับประทาน โดยในอดีตจะมี การเพาะปลูกผักกระชับเพื่อรับประทานเพียงแค่ 1 ครั้งต่อปี เนื่องจากจะต้องเก็บเมล็ดพันธุ์มาแช่ไว้ในคูน้ำ เพื่อรอให้เติบโตเองตามธรรมชาติ ต่อมาได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้สามารถ เก็บเกี่ยวผักกระชับได้ตลอดทั้งปี โดยใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านในการลองผิดลองถูก จนได้วิธีที่ตายตัวจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เห็นว่าต้นผักกระชับเป็นไม้ล้มลุก เมื่อต้นแก่จะออกผลมีขนแข็ง ๆ อยู่โดยรอบ ผลของผักกระชับจะมีเมล็ดอยู่ข้างใน เมื่อร่วงลงสู่พื้นดินที่เป็นเลนปนทรายจะงอกเป็นต้น โดยใช้ระยะเวลาอีก 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะนำมาปลูกลงในแปลง 8 วัน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยว ได้รวมแล้วใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 8 เดือนกว่าจะได้ต้นอ่อนผักกระชับมารับประทาน
โดยในการแช่น้ำนั้น ในช่วงแรกจะต้องเปลี่ยนน้ำเป็นประจำทุกวัน เพราะจะมีเศษใบของ ผักกระชับติดอยู่ ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ และหลังจากนั้นค่อยขยับห่างการเปลี่ยนน้ำมาเรื่อยๆ (ถ้าเริ่มมีกลิ่นให้เปลี่ยนทันที) โดยที่จะใช้น้ำสะอาด ไม่ผสมสารเคมีหรือปุ๋ยใดๆสำหรับการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวในโรงเรือนนั้น ต้องดูแลและควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ไม่ร้อนจนเกินไป (เพราะจะทำให้ผักเหี่ยว) และไม่ชื้นจนเกินไป (เพราะจะทำให้ใบดำ) ต้นอ่อนผักกระชับเป็นพืชที่ค่อนข้างไวต่ออุณหภูมิและไวต่อสารเคมีมาก จึงถูกยกให้เป็นผักที่ "ปลอดสารพิษ" โดยแท้จริง
ผักกระชับ มีรสชาติหวาน กรอบ มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ต้นขี้ครอก ผักขี้อ้น เกี๋ยงนา ฯลฯ ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 120-200 บาทตามฤดู ต้นอ่อนนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก แกล้มกับผัดไทย แกงส้ม ผัดน้ำมันหอย ผัดผัก ยำผักกระชับ ฯลฯ มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น เปลือกต้นใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไขข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ขับเหงื่อ ปวดประจำเดือน ใบใช้แก้โรคต่อมน้ำเหลือง งูสวัด เริม เนื้อลำต้นใช้ตำพอกแผลแมลงกัดต่อย ปวดศีรษะ ปวดหู รากเป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทะเลน้อย ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 11 รางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยว หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่ได้นำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นเเนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งสามารถให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านทะเลน้อย ชิมเมนู ผักพื้นบ้าน “ผักกระชับ” หาทานยากมีที่นี้ที่เดียวในประเทศไทย ที่เป็นสินค้า OTOP ของชุมชน อีกทั้งยังมีวิหารเก่าที่อายุมากกว่า 300 ปี ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์หวาย บัลลังก์จำรองพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้นสมัยที่ได้เดินทางมาพักทัพ และตู้ลายรดน้ำรัชกาลที่ 459
ณรงค์ พลีรักษ์. (2557). การท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวนออก. วารสารการบริการและการท่องเที่ยวไทย. 36(2), 235-248.
วิภาดา คำสุวรรณ. (2564). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมกรณีศึกษา : ชุมชนบ้านทะเลน้อย จังหวัดระยอง. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
เที่ยวชุมชนบ้านทะเลน้อย ชวนไปชม ไปชิม ไปลิ้ม ไปลอง กับ “ระยอง” ในมุมมองใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ทะเล. (2564). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/reviewTravel/content/8/