บ้านอ่าวบอน ศูนย์วัฒนธรรมศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวมอแกน สถานที่ที่ยังคงกลิ่นไอและรูปแบบการดำเนินชีวิตดั้งเดิมของชาวยิปซีทะเลอย่างเข้มข้น ดังคำกล่าวที่ว่า “เที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์ เยือนถิ่นชุมชนมอแกน”
บ้านอ่าวบอน ศูนย์วัฒนธรรมศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวมอแกน สถานที่ที่ยังคงกลิ่นไอและรูปแบบการดำเนินชีวิตดั้งเดิมของชาวยิปซีทะเลอย่างเข้มข้น ดังคำกล่าวที่ว่า “เที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์ เยือนถิ่นชุมชนมอแกน”
ชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะสุรินทร์นั้นคาดว่าอพยพเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนมีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยเดิมทีสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ตั้งสำนักงานอุยานฯ ในปัจจุบัน แต่เมื่อมีการก่อตั้งอุทยานฯ ชาวมอแกนก็ยอมย้ายออกจากบริเวณดังกล่าวเพื่อหลีกทางให้กรมอุทยานได้ก่อสร้างสำนักงานบริเวณนั้น ส่วนตนก็ย้ายออกมาอยู่บริเวณอ่าวบอนใหญ่และอ่าวบอนเล็กแทน
ในช่วงภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ในปี พ.ศ. 2547 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของชาวมอแกนอ่าวบอน กล่าวคือ ในอดีตก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ ครอบครัวชาวมอแกนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเรือ จะล่องเรือไปตามกลุ่มของเครือญาติ อยู่ภายในหมู่เกาะสุรินทร์ ส่วนในช่วงมรสุมชาวมอแกนจะสร้างกระท่อมเล็ก ๆ ไว้พักอาศัย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ชาวมอแกนถูกจัดให้อยู่ในลักษณะเป็นชุมชน ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณชายหาดอ่าวบอน โดยมีหน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชนหลายแห่งให้การสนับสนุนสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็น
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา บริเวณหมู่เกาะมีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ และเนื้อที่บนพื้นดินประมาณ 20,594 ไร่ คิดเป็นพื้นน้ำประมาณ 100 ไร่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีอาณาเขต ติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แนวตอนใต้สุดของหมู่เกาะมะริดเขตแดนของประเทศพม่า
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ มหาสมุทรอินเดีย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เกาะมินิดัน ซึ่งเป็นหมู่เกาะสุดท้ายในกลุ่มเกาะอันดามัน
ลักษณะภูมิประเทศ
หมู่เกาะสุรินทร์มีสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้ง 2 ฤดู เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่รอบเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร นอกเหนือจากการรับอิทธิพลจากคลื่นลม สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของบริเวณหมู่เกาะเหล่านี้ คือ เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือ น้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ มีความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารปลาและสัตว์อื่น ๆ นอกจากนี้ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของน้ำขึ้น น้ำลงในทะเลอันดามันเป็นแบบ Senidiurnal คือน้ำขึ้นและน้ำลงอย่างละ 2 ครั้งใน 24 ชั่วโมง และความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุด และต่ำสุด อาจถึง 3 เมตร ทำให้กระแสน้ำเลียบฝั่งค่อนข้างแรง
ลักษณะทางกายภาพ
หมู่บ้านอ่าวบอน ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบอนเล็ก บนเกาะสุรินทร์ใต้ โดยลักษณะของพื้นที่สำหรับใช้ในการตั้งหมู่บ้านของชาวมอแกนต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เช่น เป็นอ่าวที่มีลักษณะบริเวณบังคลื่นลมได้ดี เป็นจุดที่สามารถทอดสมอเรือได้ มีแหล่งน้ำจืดเพียงพอในการอุปโภคบริโภคสถานที่รอบ ๆ ที่ตั้งของหมู่บ้านต้องเป็นบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งทรัพยากร
ลักษณะภูมิอากาศ ภายในหมู่เกาะสุรินทร์มีภูมิอากาศแบบมรสุม แบ่งเป็น 3 ฤดู ได้แก่
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างจากฤดูมรสุม จึงมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอวนทั่วไป
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นฤดูที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมและมีร่องความกดอากาศต่ำเป็นระยะ ทำให้มีฝนตกมากตลอดฤดู และเดือนกันยายนจะมีฝนตกมากที่สุด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในแต่ละปีมีค่ามากกว่า 3,000 มิลลิเมตร
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้อากาศเย็นทั่วไป แต่เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีทะเลล้อมรอบเกาะ อุณหภูมิจะลดลงเพียงเล็กน้อย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนัก โดยจะมีฝนตกทั่วไปแต่ปริมาณไม่มากเหมือนในฤดูฝน ความชื้นสัมพัทธ์จึงอยู่ในเกณฑ์สูงตลอดทั้งปี เพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้ง 2 ฤดู ค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 83-84%
ลักษณะที่อยู่อาศัย
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวมอแกน ในอดีตชาวมอแกนอาศัยอยู่ในเรือ แต่จะมีการสร้างบ้านเรือนขนาดเล็ก เพื่อพักอาศัยชั่วคราวเท่านั้น โดยใช้วัสดุที่หาได้จากในป่า เช่น ไม้ไผ่ มาสร้างบ้านตามแนวชายหาด ลักษณะตัวบ้านจะยกสูง แล้วมักจะรื้อบ้านตนเองในกรณีคนในบ้านเจ็บป่วย หรือต้องการอาศัยอยู่บนเรือในช่วงที่มีคลื่นมาก และไม่นิยมปลูกบ้านในตำแหน่งเดิม
หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ (26 ธันวาคม 2547) ชาวมอแกนได้รับการพัฒนาและช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกหรือองค์กรต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จากที่เคยมีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ตามชายหาด ได้มีการจัดระเบียบให้ชาวมอแกนมาตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน ณ จุดเดียวตามแนวชายหาดที่อ่าวบอน บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ใต้ ทำให้ชาวมอแกนอยู่ในเขตการปกครองและการดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และองค์การบริหารส่วนตำบล เกาะพระทอง
หมู่บ้านมอแกนอ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้ มีจำนวน 60 คน ชาย 13 คน หญิง 22 คน เด็กหญิงและเด็กชายรวมกัน 25 คน รวม 19 ครัวเรือน ชาวมอแกนอาศัยอยู่ร่วมกันในลักษณะเครือญาติ ส่วนใหญ่นิยมแต่งงานกับชาวมอแกนด้วยกันเองอาจเป็นชาวมอแกนในชุมชนเดียวกัน หรือเป็นชาวมอแกนที่เดินทางมาจากชุมชนแห่งอื่น
มอแกนการประกอบอาชีพของชาวมอแกนบ้านอ่าวบอน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ตามฤดูกาลการท่องเที่ยว กล่าวคือ ในช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยว (ตุลาคม-เมษายน) ชาวมอแกนส่วนหนึ่งมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการการท่องเที่ยว เช่น ขับเรือคอยบริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวการจำหน่ายของที่ระลึก การทำงานในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ทั้งบริเวณช่องขาดและหาดไม้งาม เป็นต้น ส่วนช่วงฤดูกาลมรสุม (พฤษภาคม-กันยายน) ชาวมอแกนจะจับปลิง แล้วนำมาตากแห้ง นำไปขายเพื่อเอาเงินมาซื้อของบริโภคที่จำเป็น เช่น พริกแห้ง ข้าวสาร เป็นต้น
วิถีชีวิต
ชาวมอแกน เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทยในเขตทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต จนถึงจังหวัดกระบี่ นอกจากนั้นยังพบว่ามีชาวมอแกนกระจายตัวอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในเขตประเทศพม่า แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตน่านน้ำไทยและพม่าของชาวมอแกน ในอดีตชาวมอแกนมีการเคลื่อนย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง โดยมีลักษณะวนไปมาเป็นวงกลม (nomad) อยู่ในบริเวณน่านน้ำไทย พม่า และอินเดียมาเป็นเวลานาน ในอดีตชาวมอแกนอาศัยอยู่ในเรือเป็นหลัก และจะเข้าฝั่งต่อเมื่อเกิดมรสุมหรือคลื่นลมแรง โดยจะเดินทางไปยังแหล่งสมบูรณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ และเมื่อความสมบูรณ์ในจุดนั้นหมดไป ก็จะย้ายถิ่นที่อยู่ไปยังจุดหรือแหล่งอื่น ๆ โดยลักษณะการเคลื่อนย้ายดังกล่าวเป็นไปในลักษณะรูปแบบที่คล้ายกับวงกลมหมายความว่าพวกเขาจะกลับมายัง ณ จุดเดิม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่ใช่กลุ่มคนที่เดินทางแบบเร่ร่อนไม่มีจุดหมาย (gyps) แต่เป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายอย่างมีรูปแบบ และมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน (normadic people)
ชาวมอแกนถือเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงมีวิถีชีวิตในแบบการล่าสัตว์เพื่อการดำรงชีพ โดยผู้ชายจะออกทะเลเพื่อหาอาหารในแต่ละวัน ทำให้ชาวมอแกนมีความรู้และความผูกพันกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความรู้ทางด้านทะเล สภาพอากาศ สัตว์น้ำ และพืชชนิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตและการรักษาโรค ส่วนผู้หญิงจะอยู่บ้านเลี้ยงลูกและทำงานบ้าน งานครัว หรือออกไปหาสัตว์ทะเลตามชายหาด เช่น หอย หรือ เพลียงทะเล เป็นต้น (อิสระ ชูศรี และคณะ, 2553)
ความเชื่อ-พิธีกรรม ของมอแกน
ชาวมอแกนมีพิธีประจำปีที่สำคัญ คือ การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ (เหน่เอนหล่อโบง) จัดขึ้นในเดือนห้าทางจันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มอแกนจากที่ต่าง ๆ จะมารวมกันเพื่อเซ่นสรวงบูชาวิญญาณให้ปกป้องคุ้มครองพวกตน ในระหว่างพิธีนี้มอแกนจะหยุดพักการทำมาหากินและการออกทะเลไปไกล ๆ เพื่อทุกคนจะได้มีส่วนร่วม ในงานฉลองพิธีจะประกอบไปด้วยการเข้าทรง เสี่ยงทายเซ่นไหว้วิญญาณ
การเล่นดนตรีและร้องรำทำเพลง บางครั้งมีการลอยก่าบางจำลอง ซึ่งถือว่าเป็นการลอยความทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บให้พ้นจากครอบครัวและชุมชน เหล้าขาวเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีเพราะเป็นเครื่องเซ่นไหว้วิญญาณ
การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น
ในอดีตชาวมอแกนบ้านอ่าวบอน รวมถึงชาวมอแกนทุกหมู่บ้านในหมู่เกาะสุรินทร์มีวิธีการรักษาโรคหรือระบบการดูแลสุขภาพโดยอาศัยพืชสมุนไพรที่ขึ้นตามธรรมชาติในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้เรื่องการใช้ยาสมุนไพรในลักษณะการบอกต่อ หรือทำต่อ ๆ กันมาผ่านเครือญาติ หรือหากมีอาการป่วยหนักจะมีการรักษาโรคด้วยการประกอบพิธีกรรมในลักษณะของหมอผีเข้าทรง หรือท้ายที่สุดแล้วยังไม่หายจากอาการป่วยจึงจะเดินทางไปรับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันบนฝั่ง แต่หากเป็นโรคธรรมดา เช่น ไข้หวัด ตัวร้อน หรือท้องเสีย ก็จะใช้ยาสมุนไพรในการรักษาเป็นส่วนใหญ่ เช่น หากเด็กเป็นไข้ก็จะใช้เปลือกหยีทะเล (บะอาย) มาขูด แล้วนำมาวางบนกระหม่อมของเด็ก หากยังไม่หายก็จะเปลี่ยนมาใช้ใบบาลาดตำให้ละเอียด นำมาวางบนกระหม่อมของเด็ก หรือหากมีอาการท้องเสียจะรักษาด้วยการกินลูกพลับป่า (ยานิง) เป็นต้น ปัจจุบันพืชสมุนไพรที่ชาวมอแกนนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นยารักษาโรคที่มีปรากฏบนพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์มีมากกว่า 20 ชนิด ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้
- ลาลัด กอดง : ขูดเปลือกบริเวณรากแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่น้ำ จนกว่าน้ำจะมีสีเหลือง เอาไว้ใช้ล้างตา แก้โรคตาแดง
- ปอกน จามังกาแน็ก : นำใบมาตำ ใส่น้ำนิดหน่อย แล้ววางบนกระหม่อมสำหรับแก้ไข้เด็ก
- ปอกน ตอตูง : เอายางจากผลทาที่ผิว รักษาโรคกลากเกลื้อน
- ลาลัด ชะอวด : เอายางจากลำต้นที่มีสีแดงนำมาอุดที่ฟัน แก้อาการปวดฟัน
- ปอกน บูตูน : นำมายำเป็นอาหารเพื่อใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
ชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ ณ บ้านอ่าวบอนบนเกาะสุรินทร์มีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษามอแกน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กชาวมอแกนในอ่าวบอนบางส่วนเริ่มพูดภาษายาวีและภาษาไทยได้
ภาษามอแกนเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเนเชียน สาขามลาโย-โพลีเนเชียน สาขาย่อยมอแกน-มอแกลน โดยมีภาษาถิ่นย่อยรวม 6 ถิ่น ดังนี้ ภาษามอแกนถิ่นดุง ภาษามอแกนถิ่นจาอิท ภาษามอแกนถิ่นเลอบี ภาษามอแกนถิ่นเนียวี่ ภาษามอแกนถิ่นจาเดียกและจาเดียกใต้ และภาษามอแกนถิ่นมอแกลน
ในประเทศไทยพบผู้พูดภาษามอแกน 2 ถิ่นด้วยกัน คือ ภาษามอแกนถิ่นจาเดียกและจาเดียกใต้ (บริเวณเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม จังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และบริเวณหาดราไวย์จังหวัดภูเก็ต) และภาษามอแกนถิ่นมอระแกลน (บริเวณชายฝั่งทะเล จังหวัดพังงา เช่น ชุมชนบ้านทับตะวัน และชุมชนบ้านทับปลา)
ในหมู่บ้านมอแกน ได้มีการจัดตั้งสาธารณสุขชุมชนขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำการ จำนวน 1 คน เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาโรคของชาวมอแกน หากชาวมอแกนป่วยขั้นรุนแรงหรือมีอาการหนัก จะส่งผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลสาธารณสุขตำบลเกาะพระทอง ส่วนมากชาวมอแกนจะป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด หืดหอบ และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องเสีย เป็นต้น
แต่เดิมมีการจัดตั้งโรงเรียนโดยกรมป่าไม้ เพื่อให้ความรู้แก่เด็กและวัยรุ่นชาวมอแกน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิทำให้การจัดการศึกษาได้หยุดชะงักลง ต่อมาภายหลังกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนขึ้นมา นอกจากนี้ยังได้มีความพยายามในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนอีกด้วย (อิสระ ชูศรีและคณะ, 2553)
หมู่เกาะสุรินทร์
ชาวมอแกนอ่าวบอน เกาะสุรินทร์คือใคร?
พื้นที่บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ที่ชาวมอแกนหลายกลุ่มเข้ามาใช้ประโยชน์ยาวนานนับร้อยปีแล้ว ทั้งเพื่อทำกิน หลบคลื่นลมมรสุม ปลูกเพิงพักอาศัย ก่อนที่จะตั้งหลักแหล่งอย่างถาวรกลายเป็นหมู่บ้านชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ในปัจจุบัน ในสายตานักท่องเที่ยวของขึ้นชื่อของหมู่เกาะสุรินทร์ คือ แนวปะการังและสัตว์ทะเลที่ยังงดงาม ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่สำหรับคนท้องถิ่นอย่างชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์คือถิ่นฐาน ปัจจุบันนี้ประเมินว่ามีชาวมอแกนเหลืออยู่ในโลกไม่เกิน 3,000 คน แบ่งเป็นชาวมอแกนในประเทศพม่าไม่เกิน 2,000 คน ในไทยประมาณ 1,000 คน ส่วนหนึ่งคือชาวมอแกนประมาณ 200 คน ที่อาศัยอยู่ที่อ่าวบอน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
หนังสือ ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อธิบายที่มาของชาวมอแกนโดยพิจารณาจากภาษาที่ชาวมอแกนใช้ว่า จากตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนที่ชาวมอแกนใช้ และสืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่าที่เดินทางทางทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าชาวมอแกนสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มโปรโตมาเลย์ (Proto Malay) คนกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพมาอยู่บริเวณแหลมมลายู ต่อมาคนกลุ่มนี้หันมาใช้ชีวิตทางทะเลเดินทางร่อนเร่ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในพม่าสืบเนื่องลงทางใต้ถึงมาเลเซียและอินโดนีเซียทางตะวันออกถึงฟิลิปปินส์ จนเกิดการแยกย้ายกระจัดกระจาย มีพัฒนาการทางสังคมและภาษาต่างกันออกไปจนกลายเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม ทั้งนี้มีคนเข้าใจผิดว่าชาวมอแกนสืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมืองของหมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน ของอินเดีย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะชนพื้นเมืองที่หมู่เกาะนิโคบาร์ส่วนใหญ่เป็นเนกริโต (Nagrito) เหมือนกับชาวมันนิ
ช่วงแรกที่มีการบุกเบิกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ บริเวณที่ตั้งสำนักงานอุทยานฯ เดิมเคยมีชาวมอแกนกลุ่มหนึ่งตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่เรียกว่า “บูฮู้น เอบูม บุงะ” เป็นหัวแหลมที่มีทัศนียภาพงดงามของทะเลช่องขาดระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือกับเกาะสุรินทร์ใต้ ชาวมอแกนก็ยอมย้ายออกเพื่อเปิดโอกาสให้อุทยานฯ สร้างสำนักงาน ระหว่างปี 2529-2539 หมู่เกาะสุรินทร์ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ ชาวมอแกนได้รับอนุญาตให้เก็บเปลือกหอยสวยงามมาขายนักทองเที่ยว ทั้งที่เก็บมาจากรอบหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะต่าง ๆ ในประเทศพม่า แต่หลังจากนั้นกระแสอนุรักษ์แรงขึ้น ทางอุทยานฯ ประกาศยกเลิกการขายเปลือกหอย รวมทั้งไม่อนุญาตให้มอแกนดำน้ำจับปลิงทะเลหรือของทะเลอื่น ๆ เพราะขัดต่อกฎของอุทยาน อนุญาตให้จับปลาเพื่อยังชีพเท่านั้น
ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ชาวมอแกนที่อาศัยอยู่อ่าวบอนใหญ่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณอ่าวช่องขาดตรงข้ามที่ตั้งสำนักงานอุทยานฯ แล้วก็ย้ายกลับไปอ่าวบอนใหญ่และอ่าวบอนเล็ก เนื่องจากสาเหตุของโรคระบาด ต่อมาราวปี 2537 ชาวมอแกนบางส่วนก็ได้ย้ายจากอ่าวบอนใหญ่มาสร้างบ้านที่อ่าวไทรเอน
ก่อนหน้าเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ชาวมอแกนมีหมู่บ้าน 2 แห่ง คือที่อ่าวไทรเอน เกาะสุรินทร์เหนือ และอ่าวบอนเล็ก เกาะสุรินทร์ใต้ แต่หลังเกิดสึนามิหมู่บ้านทั้ง 2 แห่งได้รับความเสียหายทั้งหมด แม้ว่าชาวมอแกนปลอดภัย เพราะเมื่อผู้เฒ่ามอแกนเห็นน้ำทะเลแห้งไปอย่างผิดสังเกตก่อนเกิดสึนามิก็นึกถึงตำนาน “คลื่นเจ็ดชั้น” คาดการณ์ว่าจะมีคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า “ละบูน” จึงร้องเตือนคนในหมู่บ้านให้ปีนขึ้นที่สูง เหตุการณ์ครั้งนั้นชาวมอแกนยังได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว คนหนุ่มที่กำลังขับเรือรีบขับเรือออกจากชายหาดเพราะรู้ว่าถ้าอยู่ใกล้ชายหาดจะถูกคลื่นและกระแสน้ำที่ปั่นป่วนกระแทกเรือ เหตุการณ์นี้ยังทำให้ชาวมอแกนกลายเป็นคนไร้บ้าน ก่าบางและฉ่าพันที่จอดอยู่ริมหาดพังเสียหาย ชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ทั้งหมดต้องอพยพไปอยู่บนฝั่งที่วัดสามัคคีธรรมในอำเภอคุระบุรี แต่หลังความวุ่นวายก็ย้ายกลับมายังหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้ง เมื่อกลับมาอยู่หมู่เกาะสุรินทร์หลังสึนามิมีอาสาสมัครมาสร้างบ้านให้ที่อ่าวบอนใหญ่ ต่อมามีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่เป็นอาคารถาวร เริ่มปลูกพืชผักตามที่มีคนนำเมล็ดพันธุ์มาให้ อ่าวบอนใหญ่กลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้วเป็นจะกลายเป็นหมู่บ้านถาวรของชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านใหม่มีลักษณะต่างจากเดิมมาก บ้านที่สร้างเรียงกันเป็นแถวขนานกันทำให้บ้านที่อยู่ด้านหลังค่อนข้างจะอับลม และคนในบ้านไม่สามารถมองเห็นทะเล ไม่สามารถสังเกตเรือของตัวเองหรือเรืออื่นที่แล่นเข้ามาได้ นอกจากนี้ตัวบ้านก็มีลักษณะเหมือนกันและมีขนาดเดียวกันจนเกินไป ถึงตอนนี้ วิถีชีวิตชาวมอแกนถูกจำกัด ไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดต้นไม้ใหญ่มาต่อเรือ เนื่องจากขัดกฎหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เกาะแก่งและชายฝั่งทั่วเกาะสุรินทร์และโดยรอบถูกจับจอง มีทั้งภาครัฐและเอกชนแสดงสิทธิ์เป็นเจ้าของ แทบไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ชนพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างชาวมอแกนอยู่อาศัยและหากิน
นิล กล้าทะเล และคณะ. (2559). โครงการยาของชาวมอแกน (ยาลาน บัด) หมู่บ้านมอแกนอ่าวบอน อุทยานแห่งชาติเกาะสุรินทร์ อ.คุระบุรี จ.พังงา. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
Nemotour. (ม.ป.ป.). เที่ยวเกาะสุรินทร์. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.nemotour.com/
novabizz. (ม.ป.ป.). แผนที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.novabizz.com/
Paskorn Jumlongrach. (2562). “มอแกน” หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นใคร. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaipbs.or.th/
Thaitravelloc. (ม.ป.ป.). อ่าวบอน. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaitravelloc.com/
Sarakadee Magazine. (2562). ภูมิหลังมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ก่อนเหตุเพลิงไหม้บนอ่าวบอน. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sarakadee.com/