Advance search

เมืองตะกั่วป่า

“ตะกั่วป่า” หรือ “ตะโกลา” ชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าริมชายฝั่งอันดามัน และชุมชนการค้าที่มีความคึกคักในยุคการทำเหมืองแร่ แม้จะผ่านยุคแห่งความรุ่งเรืองมานานแล้ว ทว่า ตะกั่วป่ายังคงไว้ด้วยมนต์เสน่ห์แห่งร่องรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส วัฒนธรรมการแต่งกายแบบบาบ๋า อาหารการกิน ตลอดจนวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวชุมชน

ตะกั่วป่า
ตะกั่วป่า
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
13 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
เมืองตะกั่วป่า


“ตะกั่วป่า” หรือ “ตะโกลา” ชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าริมชายฝั่งอันดามัน และชุมชนการค้าที่มีความคึกคักในยุคการทำเหมืองแร่ แม้จะผ่านยุคแห่งความรุ่งเรืองมานานแล้ว ทว่า ตะกั่วป่ายังคงไว้ด้วยมนต์เสน่ห์แห่งร่องรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส วัฒนธรรมการแต่งกายแบบบาบ๋า อาหารการกิน ตลอดจนวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวชุมชน

ตะกั่วป่า
ตะกั่วป่า
พังงา
82110
เทศบาลเมืองตะกั่วป่า โทร. 0-7642-4524
8.82941564118786
98.3649542927742
เทศบาลเมืองตะกั่วป่า

ชุมชนเมืองตะกั่วป่า ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนตลาดใหญ่และชุมชนเสนานุชรังสรรค์ เป็นชุมชนดั้งเดิมบนชายฝั่งทะเลอันดามันมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจนถึงยุคเมืองท่าโบราณ ในยุคนั้นตะกั่วป่ามีฐานะเป็นเมืองท่าโบราณแห่งหนึ่งระหว่างพ่อค้าอินเดียกับสุวรรณภูมิ แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองตะกั่วป่าที่สำคัญเกิดขึ้นในยุคเหมืองแร่ดีบุก กระแสการทำเหมืองแร่ได้เคลื่อนย้ายแรงงานชาวจีนจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ เมืองบริเวณริมชายฝั่งทะเลอันดามัน ณ ช่วงเวลานั้น จึงเต็มไปด้วยคนจีนและวัฒนธรรมจีนที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศจีนและแหลมมลายู เช่น สิงคโปร์ ปีนัง วัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดต่อมา เช่น อาหาร ขนม ประเพณีถือศีลกินผัก (กินเจ) โดยมีตลาดเก่า หรือตลาดใหญ่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ก่อนปี พ.ศ. 2492 ชุมชนแห่งนี้เคยมีฐานะเป็นอำเภอตลาด มีตำบลในการดูแลรับผิดชอบ 2 ตำบล คือ ตำบลตลาดเหนือและตำบลตลาดใต้ในจังหวัดตะกั่วป่า ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญทางด้านศาสนา สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต จนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 โดยประมาณ มีการปรับปรุงพื้นที่โดยมีการรวมจังหวัดตะกั่วป่าและจังหวัดพังงาเข้าร่วมกันเป็นจังหวัดเดียว ในตอนนั้นจังหวัดตะกั่วป่ามีความเจริญรุ่งเรืองมากจนอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นจังหวัดตะกั่วป่าแทนที่จังหวัดพังงา แต่ด้วยเหตุผลบางประการของเจ้าเมือง ทำให้ท่านเสนอว่าจังหวัดตะกั่วป่าแม้จะได้เป็นเพียงอำเภอตะกั่วป่า ก็มิได้รับผลกระทบอะไรมากมายนัก เพราะมีความเจริญมาแต่เดิมอยู่แล้ว ในทางกลับกันสำหรับจังหวัดพังงาซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ มีภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยนัก คือ อยู่บริเวณซอกเขา พร้อมทั้งขณะนั้นจังหวัดพังงาเองก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองมากนักจึงอาจทำให้พื้นที่นี้ได้รับความกระทบกระเทือนมากจนอาจไม่สามารถประคองตัวได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จังหวัดพังงาได้รับแต่งตั้งแทนจังหวัดตะกั่วป่า และจังหวัดตะกั่วป่าก็ได้รับผนวกเข้าเป็นอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อาณาเขต

เทศบาลเมืองตะกั่วป่า มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3.019 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,887 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับหน่วยปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบางนายสี
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบางไทรและตำบลบางนายสี
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลโคกเคียน
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบางนาย

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศบริเวณชุมชนเมืองตะกั่วป่ามีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีลำคลองและแม่น้ำไหลผ่านมากมาย เดิมลำคลองและแม่น้ำทุกสายมีความลึกมาก แต่หลังจากทำเหมืองแร่ แม่น้ำลำคลองก็เกิดตื้นเขินจนไม่หลงเหลือร่องรอยในอดีตอย่างที่เคยเป็นมา

ทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อม

  • ดิน: มีลักษณะดินเป็นดินลึก ระบายน้ำได้ดี ดินบนเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย ดินตอนล่างมีเนื้อดินเหนียวปนทรายหยาบปานกลางถึงปนทรายหยาบ มักจะเกิดปัญหาการกัดกร่อนผิวดินโดยเฉพาะบริเวณที่มีความลาดชันสูง 

  • น้ำ: ในอำเภอตะกั่วป่ามีคลองตะกั่วป่า เป็นลำคลองที่มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ต้นกำเนิดมาจากเทือกเขากระทะคว่ำในเขตอำเภอกะปง ไหลผ่านตำบลเหล ของอำเภอกะปง และตำบลต่าง ๆ ในอำเภอตะกั่วป่า ได้แก่ ตำบลตำตัว ตำบลบางไทร ตำบลโคกเคียน ตำบลตะกั่วป่า และตำบลบางนายสี และไหลลงสู่ทะเลอันดามัน คลองสายนี้ในอดีตเคยเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ เคยมีเรือแล่นเข้าไปถึงอำเภอกะปงได้ แต่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินและน้ำขุ่นเช่นเดียวกับคลองพังงา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตอำเภอตะกั่วป่าเป็นประจำในช่วงฤดูฝนตกหนัก

  • ป่าไม้: ตะกั่วป่า มีพื้นที่ป่าไม้สำคัญ ได้แก่ ป่าบก และป่าชายเลน ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีป่าสงวนแห่งชาติอยู่บริเวณตอนเหนือ ได้แก่ ป่าเทือกเขานมสาวและป่าบางแก้ว ตอนกลางของอำเภอมีป่าเขาหลักลำแก่น บริเวณตอนใต้ริมฝั่งทะเลอันดามันมีป่าชายเลนที่เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ

  • พืชพรรณ: อำเภอตะกั่วป่าเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ มีพรรณไม้ที่สมบูรณ์สวยงาม เช่น พลับพลึงธาร ต้นหางนกยูง ต้นไทร สังหลาหรือตีนเป็ด จิก จาก และกระพ้อ เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยว

สืบเนื่องจากภาพลักษณ์และศักยภาพอันโดดเด่นของเมืองตะกั่วป่า คือ ประวัติความเป็นมาในอดีต เมืองประวัติศาสตร์ที่มีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ อาคารบ้านเรือนซึ่งยังคงปรากฏเอกลักษณ์ความเป็นเมืองเก่า อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมที่งดงามด้วยจารีต ประเพณี วิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แหล่งท่องเที่ยวขอเมืองตะกั่วป่าส่วนมากแล้วจึงมีลักษณะเป็นโบราณสถานที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ อาทิ ค่ายกำแพงเมืองเก่า ศาลเจ้าพ่อกวนอู อาคารเก่าแบบจีนผสมยุโรป วัดเสนานุชรังสรรค์ อุโบสถวัดหน้าเมือง วัดพระธาตุคีรีเขต บ้านขุนอินทร์ ถนนสายวัฒนธรรม สะพานเหล็กบุญสูง อาคารโรงเรียนเต้าหมิง ตึกแถวย่านจับเส หม้อสตรีมไอน้ำเรือกลไฟ และหง่อคาขี่ซุ้มโค้งทางเดินเท้าหน้าอาคารบ้านเรือน เป็นต้น

ชุมชนเมืองตะกั่วป่ามีประชากรทั้งสิ้น 1,230 คน โดยแบ่งเป็นประชากรชาย 560 คน และประชากรหญิง 670 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 460 ครัวเรือน ประชากรในชุมชนนอกจากจะเป็นชาวพื้นถิ่นเดิมแล้วยังพบว่ามีชาวบาบ่าบ๋า หรือชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 

จีน

ชุมชนตะกั่วป่าเป็นเขตย่านการค้าที่สำคัญของอำเภอตะกั่วป่าและจังหวัดพังงามาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย เช่น ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ขายของชำ ขายของแห้ง ขายขนมเต้าส้อ (ขนมขึ้นชื่อ) ขายยา เปิดร้านตัดผม ขายก๋วยเตี๋ยว หรือของกินท้องถิ่น เป็นต้น โดยเฉพาะบริเวณถนนอุดมธารา ในอดีตมีการค้าขายทางแม่น้ำอย่างคึกคักจนเป็นเหตุให้มีคำพูดเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “จับเส” มาจากภาษาจีน แปลว่า สิบ ส่วน เส แปลว่า สินค้า ดังนั้น ถนนอุดมธาราที่คนในพื้นที่เรียกว่า จับเส จึงบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประชาชนแถบนี้แต่เดิมมีความรุ่งเรืองมาก ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน จึงทำให้เรือสินค้าต่างชาติจากหลากหลายประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายในพื้นที่ดังกล่าว เช่น สินค้าเรือจากประเทศจีน ประเทศพม่า ซึ่งเข้ามาขายสินค้าหลากหลายประเภทด้วยกัน เช่น ข้าวสารและข้าวแป๊ะต่อ ทับทิม ยาเส้น น้ำตาลแดง ผ้าไหมและสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย

วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ส่วนใหญ่จะอยู่กับแบบเงียบและเรียบง่ายหากไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวชุมชนค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงผู้สูงอายุนั่งอยู่บริเวณหน้าบ้านของตน เช้าตรู่จะมานั่งพูดคุยและดื่มกาแฟที่ร้านประจำหมู่บ้าน ส่วนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะออกไปทำงานในเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จะคึกคักก็ช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยวัฒนธรรม หรือประเพณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองตะกั่วป่านั้นส่วนมากแล้วจะมีความคล้ายคลึงและผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น อาหาร ขนม และประเพณีถือศีลกินผัก (กินเจ) เป็นต้น

ประเพณีถือศีลกินผัก ตะกั่วป่า

ประเพณีถือศีลกินผัก หรือที่เรียกว่า “กินเจ (เจียะฉ่าย)” เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสืบทอดกันมาเนิ่นนานในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนฝั่งทะเลอันดามัน หรือชาวจีนฮกเกี้ยนที่ได้รับอิทธิพลเข้ามาพร้อมกับชาวจีนอพยพตั้งแต่ยุคแรก ๆ ซึ่งต่อมามีการรวมตัวกันประกอบพิธีกินผัก ตามสมมุติฐานที่มีการบันทึกไว้ของโรงพระตลาดใต้ระบุว่ามีการเริ่มทำพิธีกินผัก 9 วัน 9 คืน เมื่อ พ.ศ. 2386 โดยใช้ไม้ไผ่ทำเสาแขวนตะเกียง 9 ดวง เรียกว่า “กิ้วอ๋องเต้ง” ซึ่งปัจจุบันในอำเภอตะกั่วป่ามีศาลเจ้าทั้งหมด 13 แห่ง 

ในช่วงของการเฉลิมฉลองประเพณีถือศีลกินผัก จะมีพิธีกรรมที่เรียกว่า การทรง “ม้าทรงองค์หยินยี่ไท่จื้อ” ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นม้าทรงได้ต้องมีความศรัทธา ถือศีลกินผักอย่างเคร่งครัดและคลุกคลีอยู่ในพิธีกรรมมาพอสมควร โดยปกติผู้เป็นม้าทรงจะงดกินคาวล่วงหน้าเป็นเดือน ในทางตรงกันข้ามหากมีการออกนอกลู่นอกทางระหว่างเทศกาลเชื่อกันว่าจะถูกลงโทษอย่างหนักจากเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจของม้าทรงเมืองกั่วป่า คือ การแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรงที่นี่ ไม่เน้นความพิสดารหรือหวาดเสียวจนเกินไป เพราะตามประเพณีดั้งเดิมก็มีเพียงเหล็กแหลมและอาวุธมีคมธรรมดานำมาทิ่มแทงร่างกายเพื่อเป็นการรับเคราะห์แทนประชาชนและสร้างความศรัทธา

ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ซึ่งตรงกับวันไหว้พระจันทร์และวันเกิดขององค์ปุนเถ่ากง จะมีพิธีป้างเอี๋ย หรือการปล่อยทหารเพื่อปกป้องรักษาบริเวณประกอบพิธีกรรม หรือศาลเจ้า และบ่งบอกว่าใกล้ถึงงานกินผักแล้ว ด้วยการใช้ธง 5 สีปัก 5 ทิศ ตามความเชื่อโบราณบอกว่าทหารเหล่านี้จะส่งสัญญาณไปบอกบรรดาม้าทรงและชาวไทยเชื้อสายจีนว่าเตรียมกลับมาโรงพระได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าฝัน กระซิบ ดึงขาหรือปรากฏตัวให้เห็น นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาในการเตรียมตัวล้างอ๊าม ล้างบ้าน (โก้ยเช้งอิ๋ว) ทำความสะอาดโต๊ะบูชา รูปเทพเจ้า เปลี่ยนถ้วยชามเครื่องครัวสำหรับกินผัก หรือใช้ไม้หอมเผาไฟรมควันไล่สิ่งอัปมงคลออกไปตามความเชื่อ

“โก้ยเช้งอิ๋ว” หรือพิธีล้างบ้าน เป็นหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญของประเพณีกินผักแห่งเมืองตะกั่วป่า หลังพิธียกเสาโกเต้ง (การอัญเชิญกิ่วอ๋องไต่เต่กับหยกอ๋องซ่งเต่ และนำตะเกียงไฟ 9 ดวง ขึ้นแขวนบนยอดเสา เป็นสัญลักษณ์เริ่มประเพณีถือศีลกินผักอย่างเป็นทางการ) โดยแต่ละบ้านจะตั้งโต๊ะรอรับพระมาปัดเป่าสิ่งที่เป็นอัปมงคลออกไปและนำสิ่งดีงามเข้าบ้านด้วยการใช้หวักอันใหญ่ไว้กลางประตู แล้วพระจะปัดแส้จากหลังบ้านมาหน้าบ้าน และให้ลูกศิษย์ใช้เหล้าขาวพ่นไฟในหวักให้ลุกโชติช่วง เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรุ่งโรจน์ และขับไล่สิ่งชั่วร้ายหายไป

ตลอดงานกินผัก 9 วัน 9 คืน มีพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจของงานกินผักเมืองตะกั่วป่า คือ “การหามตั๋วเหลี่ยนเก่ว” หรือเกี้ยวเล่นประทัด โดยมีลีลาการหามแบบเหวี่ยงไปมา เดินหน้า ถอยหลังท่ามกลางประกายไฟและควันตลบอบอวลแต่กลับไร้ร่องรอยแผลพุพองใดๆ อย่างไรก็ตาม ตามประเพณีของตะกั่วป่าจะมีการจุดประทัดเฉพาะเก่วหนุ่ม ซึ่งภายในเป็นกิ้มสิ้นองค์เทพเจ้าจีน โดยความหมายของจุดประทัด เปรียบเหมือนการตอบแทนหรือทำตามคำขอไว้ทั้งความรุ่งเรืองและโชดดี ส่วนเก่วเฒ่า ซึ่งเป็นเก่วอัญเชิญองค์กิ่วอ๋องไต่เต่และหยกอ๋องซ่งเต้นั้น จะหามแบบนิ่ง ๆ โดยผู้มีตำแหน่งระดับอาวุโส ไม่มีการเหวี่ยงหรือจุดประทัดใส่ และผู้อยู่รอขบวนสองข้างทางจะคุกเข่าลงต้อนรับและยกมือไหว้สักการะ

อีกหนึ่งพิธีที่ขาดไม่ได้ คือ “โก้ยห่าน” หรือการข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ 7 ก้าว เพื่อให้ม้าทรงที่ยืนเรียงทั้งสองข้างปัดเป่าสิ่งไม่ดีหรือเคราะห์ร้ายออกไป โดยแต่ละปีจะมีการเสี่ยงทายเพศและปีเกิดสำหรับคนที่จะเปิดสะพานเป็นคนแรก ซึ่งตามความเชื่อว่าผู้ถือศีลกินผักจะเข้าร่วมได้สมบูรณ์ครบถ้วนจะต้องร่วมพิธีโก้ยห่าน และมีตุ๊กตาต่างตัว เขียนชื่อวันเดือดปีเกิดถือข้ามไปด้วย ก่อนให้พระเก็บตุ๊กตาและสิ่งไม่ได้ดีไปทิ้งทะเล อย่างไรก็ดี มีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และมีประจำเดือนจะไม่สามารถร่วมพิธีนี้ได้ สำหรับพิธีลุยไฟหรือไต่บันไดมีดถือเป็นพิธีกรรมแสดงอิทธิฤทธิ แต่ไม่ได้มีทุกปีขึ้นอยู่กับการเสี่ยงทายดูฤกษ์ดูยามขององค์พระ แต่เบื้องต้นการทำพิธีลุยไฟจะเกิดขึ้นหลังก่อตั้งศาลเจ้าแล้วอย่างน้อย 3 ปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตลาดใหญ่

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตลาดใหญ่ เดิมเคยเป็นที่ตั้งเมืองตะกั่วป่า ซึ่งเคยคึกคักและรุ่งเรืองมากเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากมีชาวจีนเข้ามาทำเหมืองแร่จำนวนมาก การก่อสร้างบ้านเรือนมีลักษณะที่เป็นตึกแถวแบบชิโน-โปรตุกีสน่าชม สามารถเดินชมเมืองได้โดยใช้เวลาไม่มากนัก ชุมชนแห่งนี้ประกอบไปด้วยเรื่องราวและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ วิถีชีวิตของผู้คน เชื้อชาติ ที่ผสมกลมกลืน วัฒนธรรมแบบผสมผสานมีความเฉพาะตัว รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ปัจจุบันวัฒนธรรมยังคงสืบสานโดยกลุ่มคนรุ่นเก่า (ผู้สูงอายุ) และกลุ่มคนรุ่นใหม่

ในอดีตเคยเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการค้า การขนส่ง ด้วยสภาพอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุเกต ที่ยังคงความสมบูรณ์สวยงามแม้เวลาผ่านล่วงเลยมาหลายสิบปี ทำให้ชุมชนตลาดใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนอนุรักษ์ ประเภทชุมชนการค้า โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

“ บาบ๋า ” กับประวัติศาสตร์เมืองตะกั่วป่า

เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หนึ่งในเขตแดนสามเหลี่ยมอันดามัน ประกอบด้วย กระบี่-พังงา-ภูเก็ต ตะกั่วป่า หรือ “ ตักโกละ” (ตัก-โก-ละ) เมืองท่าโบราณริมฝั่ง อันดามันในเอกสารโบราณ เช่น คัมภีร์ มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยเถระ ได้รจนา (ประพันธ์) เป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. 500

ความเป็นเมืองท่าสำคัญทางประวัติศาสตร์และปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เนื่องด้วยเมืองตะกั่วป่ามีความได้เปรียบทางต้นทุนวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าควรแก่การจดจำเล่าขาน ประกอบกับภูมิทัศน์ ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปตุกีส (ถนนศรีตะกั่วป่า) ที่แฝงด้วยเสน่ห์ผ่านเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนเมืองตะกั่วป่า ซึ่งประกอบด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวจีน หรือลูกครึ่งไทย-จีน ซึ่งในสังคมยุคนั้นมักเรียกลูกหลานไทย-จีนว่า “ลูกบาบ๋า”  ( Baba)

ปัจจุบัน ชาวจีนหรือ “บาบ๋า” นับเป็นส่วนหนึ่งของประชากรเมืองตะกั่วป่า การเข้ามาของชาวจีนยุคนั้นส่วนใหญ่มาจากมณฑลทางภาคใต้ ในเขตมลฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง โดยประกอบอาชีพรับจ้างงานในเหมืองแร่ หรือกรรมกร (กุลี) ที่เถ้าแก่ส่งนายหน้าไปว่าจ้างมาจากเมืองจีน หรือบริษัทจัดหางานของชาวจีนในปีนัง สิงคโปร์ โดยเถ้าแก่ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แต่ต้องปฏิบัติงานตามสัญญา คือ 3 ปี วิธีการแบบนี้เรียกว่า “กรรมกรประเภทจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า” ( Identure-Labour) แต่เมื่อทำครบสัญญาแล้ว สามารถเปลี่ยนนายจ้างใหม่หรือออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวได้ ในยุคนั้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยเฉพาะแร่ดีบุก บวกกับความขยันมานะทำกินของชาวจีน ส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย บ้างก็แต่งงานอยู่กินกับสตรีพื้นถิ่น มีลูกหลานสืบแซ่สกุล ลูกชายมักเรียกว่า “บาบ๋า” ( baba) ลูกสาวเรียกว่า “ยอนย่า” ( Naonya) ความหมายคือลูกที่เกิดบนแผ่นดินแม่ ( Local inborn) ต่อมาจะเรียกรวบๆกันว่า “ลูกบาบ๋า” (ทั้งชายและหญิง)

บทบาทของชาวจีนและลูกบาบ๋าทางด้านสังคมและวัฒนธรรมในเมืองตะกั่วป่า

1. ทางด้านสังคม มีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตนไว้อย่างชัดเจน เช่น การสร้าง “อ๊าม” (ศาลเจ้า) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ในการพบปะพูดคุยและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ต่อมามีการตั้งสมาคมและโรงเรียนจีนเพื่อลูกหลานที่เกิดมาได้เล่าเรียนภาษาจีนของพ่อ ซึ่งจะก่อตัวเป็นสายใยถักทอความผูกพันที่จะส่งลูกไปเรียนต่อเมืองปีนัง อันเป็นรากเหง้าบรรพชนของพ่อ

2. ทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวจีนในเมืองตะกั่วป่าจะมีความคล้ายคลึงกับชาวจีนในเมืองปีนัง เช่น ประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมทางภาษา อาหาร ความเชื่อ พิธีกรรม พิธีแต่งงาน และอัตลักษณ์การแต่งกาย ( ANDAMAN 365 , มป.ป . : ออนไลน์)

นริศรา พงษ์จันทร์. (2558). โครงการพื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขุมชนตลาดใหญ่ (ตลาดเก่า) เมืองตะกั่วป่า. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

ป๋อหลาง. (2554). คนเล่าเรื่องเมือน่ารัก "ตะกั่วป่า" เมืองย้อนยุคแห่งอันดามัน. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://2g.pantip.com/

เปรมวดี ปานทอง. (2564). กินผักตะกั่วป่า. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://onceinlife.co/kinpak-takuapa

หรอยจัง. (2566). 18 ที่เที่ยวตะกั่วป่า 2023. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://roijang.com/

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา. (ม.ป.ป.). เมืองเก่าตะกั่วป่า / กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่าตะกั่วป่า. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.phangngapao.go.th/

เอิงเอย. (2563). แจกแผนที่ 9 จุด เช็คอิน พังงา เยือนถิ่นตะกั่วป่า เมืองอะไรทำไมวินเทจขนาดนี้. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/

ANDAMAN365. (ม.ป.ป.). อัตลักษณ์และการแต่งกายชาวบาบ๋าฝั่งทะเลอันดามัน. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://andaman365.blogspot.com/