
ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง ตั้งสง่างามกลางแม่น้ำกระบี่ เยี่ยมชมการทำเรือหัวโทงจำลอง แวะนาปลูกข้าวสังข์หยด ยลเสน่ห์ผ้าปาเต๊ะ ชมวิถีชุมชน ทำประมงโป๊ะน้ำตื้น เลี้ยงผึ้งโพรง เรียนรู้วิธีสักหอย พักคอยดูพระอาทิตย์ตก สราญรมณ์ดีนักแล
ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง ตั้งสง่างามกลางแม่น้ำกระบี่ เยี่ยมชมการทำเรือหัวโทงจำลอง แวะนาปลูกข้าวสังข์หยด ยลเสน่ห์ผ้าปาเต๊ะ ชมวิถีชุมชน ทำประมงโป๊ะน้ำตื้น เลี้ยงผึ้งโพรง เรียนรู้วิธีสักหอย พักคอยดูพระอาทิตย์ตก สราญรมณ์ดีนักแล
ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ เป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งแต่เดิมผู้คนได้มีการย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนตำบลปากน้ำ และชุมชนตำบลไสไท หรือชุมชนบ้านตลาดเก่า เริ่มมีพัฒนาการมาจากยุคกระบี่สมัยย้ายเมืองใหม่ โดยหลังจากยุคกระบี่สร้างเมืองใหม่ได้ไม่นาน เมืองกระบี่ได้เกิดชุมชนขึ้นหลายชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชาวจีน ชุมชนไทย ชุมชนมุสลิม และชุมชนชาวเล เนื่องจากบริเวณเมืองใหม่อยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำกระบี่ซึ่งติดต่อกับทะเลและมีท่าเทียบเรือติดต่อค้าขาย ทำให้บริเวณริมแม่น้ำกระบี่เกิดมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกิดขึ้นหลายชุมชน และมีชุมชนหนึ่งที่เป็นชุมชนชาวเลที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนมีความสัมพันธ์กับทะเลโดยเฉพาะการทำอาชีพประมงพื้นบ้าน ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของชุมชนประมงพื้นบ้านเข้ามาอาศัยบนพื้นที่เกาะซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอบริเวณแม่น้ำกระบี่ แต่เดิมเรียกว่า “เกาะกลาง” (ตำบลคลองประสงค์ในปัจจุบัน) โดยคาดว่าเริ่มมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2410 แรกเริ่มมีเพียง 8 ครัวเรือน มีนายหมาด เกาะกลาง เป็นนายบ้าน พื้นที่ภายในเกาะกลางมีลักษณะเป็นป่าทึบ โดยรอบพื้นที่เกาะเป็นป่าโกงกางและสวนมะพร้าวจำนวนมาก ทำให้เกาะกลางมีอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศเป็นอย่างมาก มีทรัพยากรอยู่มากมาย ต่อมาใน พ.ศ. 2480 ได้มีครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 20 ครัวเรือน การสร้างบ้านเรือนส่วนใหญ่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นไม้สัก มะพร้าว เป็นต้น มีผลทำให้บริเวณที่เคยเป็นนาสักเกิดการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกิดขึ้น และได้จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยที่ตั้งอำเภออยู่บ้านตลาดเก่า มีท่าเรือสะพานเจ้าฟ้า หรือเรียกว่า ท่ารอ
เนื่องจากในสมัยนั้นยังมีทาสอยู่ ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ ประมงพื้นบ้าน และมีการทำนา ทำสวน ชาวนาส่วนใหญ่จะเป็นทาส และเมื่อทาสติดหนี้เจ้านายก็มักจะเอาที่ดินไปแลกหนี้ จึงทำให้ที่ดินบางส่วนตกเป็นของเจ้านายซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ ซึ่งเจ้านายก็ยังคงให้ชาวบ้านทำกินในพื้นที่นั้นแต่ต้องส่งส่วยเป็นข้าวและผลผลิตอื่นแทน แต่ในปัจจุบันพื้นที่ชุมชนในตำบลคลองประสงค์เป็นที่ดินออกโฉนด โดยมีนายทุนมาจับจองเป็นกรรมสิทธิ์ ส่วนใหญ่เป็นที่นาและทำบ่อกุ้ง ซึ่งต่อมาเสื่อมโทรมลงเป็นพื้นที่ร้าง นายทุนจึงเลิกประกอบการและให้ชาวบ้านได้ทำกินในพื้นที่ทั้งที่เป็นที่นาและบ่อกุ้งได้โดยไม่ต้องเช่า แต่ต้องแลกกับผลผลิตของชาวบ้านส่วนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าระบบความเป็นอยู่ของชุมชนยังเป็นระบบเก่าแก่ซึ่งสะท้อนถึงระบบสังคมของชุมชนดั้งเดิม ต่อมาชุมชนมีครัวเรือนเพิ่มขึ้น 40 ครัวเรือนโดยเป็นคนในพื้นที่ มีนายเสด ดำกุล เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาชุมชนมีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 160 กว่าครัวเรือน โดยครอบคลุมบ้านคลองประสงค์ และได้ตั้งหมู่ที่ 2 บ้านคลองประสงค์ ในปี พ.ศ. 2483 โดยมีนายอาหมาด ขยันการ เป็นผู้ใหญ่บ้าน (กนิดา หอมชื่น, 2552: 85-89) ปัจจุบันชุนชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางครอบคลุมอาณาเขต 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 2 บ้านคลองประสงค์ และหมู่ที่ 3 บ้านคลองกำ
ที่ตั้งและอาณาเขต
ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง ตั้งอยู่ในตำบลคลองประสงค์ หรือในบริเวณที่เรียกว่า เกาะกลาง ปากแม่น้ำกระบี่ มีพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,250 ไร่ ในเขตที่ชุ่มน้ำแรมซ่า (Ramsar Site) ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 2 บ้านคลองประสงค์ และหมู่ที่ 3 บ้านคลองกำ โดยพื้นที่เกาะกลางมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลกระบี่น้อย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลเมืองกระบี่ มีแม่น้ำกระบี่เป็นเส้นแบ่งเขตแดน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ปากแม่น้ำกระบี่ และทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเหนือคลอง
ทรัพยากรป่าไม้
ทรัพยากรป่าไม้บริเวณชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางมีลักษณะเป็นป่าชายเลน ประกอบด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ ต้นโกงกาง ซึ่งอยู่บริเวณด้านนอกพื้นที่ชุมชนที่ติดกับทะเล ต้นแสม อยู่บริเวณตรงกลางพื้นที่ชุมชน และต้นตะบูน จะอยู่บริเวณด้านในพื้นที่ชุมชน พืชพรรณต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตและการทำมาหากินของผู้คนในชุมชน ได้แก่ นำมาทำอุปกรณ์ประมงพื้นบ้าน เช่น การทำทุ่นปักธงเพื่อแสดงตำแหน่งในการวางอวนจับสัตว์น้ำ การต่อเรือหัวโทง การทำโป๊ะน้ำตื้น การนำมาสร้างบ้านเรือน และเป็นวัสดุซ่อมแซมบ้านเรือน ทำไม้ฟืนเผาถ่านในครัวเรือน และทำที่ตากปลาเค็มในการแปรรูปสัตว์น้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ พื้นที่ป่าชายเลนและป่าชายหาดในพื้นที่ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง จัดได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เป็นอย่างมาก คือ มีส่วนช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำและคุณภาพอากาศ ทั้งในบริเวณพื้นที่ชุมชนและบริเวณพื้นที่โดยรอบชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด เช่น กุ้ง ปูดำ ปูม้า ปลาชนิดต่าง ๆ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็ก
หาดเลนและหาดทราย
หาดเลนภายในพื้นที่ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง พบในบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ และลำคลองต่าง ๆ ที่มีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล เช่น กุ้งทะเล ปูม้า ปูดำ และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกทะเลต่าง ๆ หลายชนิด อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านบางส่วนด้วย
ส่วนพื้นที่หาดทรายภายในชุมชนพบบริเวณใกล้ปากแม่น้ำกระบี่ ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตบนหาดทราย เช่น ปู หอย ไส้เดือนทะเล และบริเวณพื้นทรายตอนล่างสุดของชายหาดจะพบกุ้งและปลา ซึ่งเป็นอาหารของนกน้ำและนกชายเลนจำนวนมาก นอกจากนี้ในบริเวณที่น้ำขึ้นถึงยังเป็นแหล่งหญ้าทะเลและหอยนานาชนิด ได้แก่ หอยแครง หอยหวาน หอยเมือก และหอยฝาเดียว
ลักษณะสภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของประเทศไทย คือ มีเพียง 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูฝน
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน แต่จะยังมีฝนตกน้อย เนื่องจากภูเขาทางตอนกลางของภาคใต้ขวางกั้นอิทธิพลของลม เดือนมกราคมเป็นช่วงปลายฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีฝนตกบ้างเล็กน้อย ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่านภาคใต้ทางชายฝั่งตะวันออก อิทธิพลของลมเข้าถึงจังหวัดกระบี่น้อยมาก จึงเป็นช่วงที่ร้อนและแห้งแล้งมากที่สุดของพื้นที่
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม จะมีฝนตกสม่ำเสมอตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านและพื้นที่ตั้งอยู่ด้านรับลม เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ทางด้านชายฝั่งตะวันออก แต่อิทธิพลของลมเข้ามาไม่มากนัก เนื่องจากมีเทือกเขานครศรีธรรมราชและเขาพนมเบญจาขวางกั้น จึงทำให้มีฝนตกเพียงเล็กน้อย
ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางมีจำนวนหลังคาเรือนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 1,667 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 7,489 คน แยกเป็นชาย 3,660 คน หญิง 3,555 คน
ลักษณะทางสังคมของชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ เป็นลักษณะสังคมอิสลาม คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ โดยผู้นำได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการปกครองแบบระบบอาวุโส เนื่องจากชุมชนมีขนาดเล็ก ประกอบกับการที่มีการอยู่อาศัยในพื้นที่เป็นระยะเวลานานทำให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์สนิทสนมกันจนรู้จักกันหมดทั้งชุมชน และส่วนน้อยที่มีคนจากภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนเป็นชาวมุสลิมซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่มีลักษณะแบบครอบครัวขยาย หรือครอบครัวดั้งเดิม คือ มีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่รวมกัน กล่าวคือ เมื่อบุตรหลานแต่งงานมีครอบครัวแล้ว เรือนหลังเดิมไม่เพียงพอต่อสมาชิกจำเป็นต้องสร้างใหม่ ซึ่งเรือนหลังใหม่จะปลูกมาห่างจากเรือนบิดามารดา หรือปู่ย่า ตายาย โดยที่ดินเป็นของเครือญาติกันเอง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ย้ายไปอยู่นอกพื้นที่ ส่วนใหญ่เนื่องด้วยหน้าที่การงานของแต่ละบุคคล แต่ความสัมพันธ์ที่มียังเป็นระบบเครือญาติที่มีความสัมพันธ์กันและไปมาหาสู่กัน
การประกอบอาชีพ
ผู้คนในชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางมีการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านทุกครัวเรือน โดยกิจกรรมประมงพื้นบ้านบริเวณแนวคลองประสงค์ เช่น การทำอวนกุ้ง สักหอย หยองปู และลอบปู นอกจากนี้ยังมีบางครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการทำประมง ส่วนใหญ่พื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านจะเป็นพื้นที่ดินขนาดเล็ก ได้แก่ การทำสวนมะพร้าว การทำสวนกล้วย ซึ่งจะใช้รับประทานเองในครัวเรือนหรือแบ่งให้ผู้คนในชุมชน ส่วนผลผลิตที่เหลือจะนำไปขายในตัวเมืองกระบี่ อนึ่ง ยังพบว่าการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในชุมชนบางครอบครัวมีการทำนา ข้าวที่ปลูก คือ ข้าวสังข์หยด ที่ชาวบ้านได้สายพันธุ์มาจากจังหวัดพัทลุง เอกลักษณ์ของข้าวสังข์หยดชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง คือ เมื่อหุงแล้วจะนุ่มและรสชาติดีกว่าข้าวสังข์หยดที่ปลูกจากที่อื่น ด้วยเหตุผลที่ว่าดินที่เกาะกลางนั้นมีความเค็มของน้ำทะเลผสมอยู่ ทำให้มีคุณค่าทางอาหารสูง และยังเป็นข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว และการสีข้าว ก็ทำกันบนเกาะด้วยมือของชาวบ้านเอง ข้าวสังข์หยดที่ปลูกจึงมีจำนวนจำกัด เพราะส่วนมากแล้วชาวบ้านจะปลูกไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น
อนึ่ง ชาวบ้านในชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางยังมีอาชีพเสริม คือ งานหัตถกรรมผ้าปาเต๊ะ และการทำเรือหัวโทงจำลองในกลุ่มผู้ต่อเรือหัวโทงเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว แม้จะเป็นเพียงอาชีพเสริม แต่ก็สามารถสร้างรายได้ดีกว่าอาชีพทำประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน โดยผลิตภัณฑ์เรือหัวโทงจำลองจะมี 4 แบบ คือ เรือแจว เรือเครื่องหางยาว เรือตังเก และเรือทัวร์ ราคาถูกที่สุด คือ เรือแจว มีราคาเริ่มตั้งแต่ 450 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น แต่ที่ขายดีที่สุดจะเป็นเรือแจวใส่กล่องแก้วสี่เหลี่ยม ราคา 1,850 บาท ซึ่งแต่ละตัวใช้เวลาการทำประมาณ 2-3 วัน ปัจจุบันกลุ่มผู้ทำเรือหัวโทงจำลองมีรายได้จากการผลิตเรือหัวโทงจำลองเฉลี่ยเดือนละ 10,000-15,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฤดูการท่องเที่ยวด้วย ถ้าเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวคึกคักหรือมีเทศกาลสำคัญ ยอดการผลิตจะพุ่งสูงถึง 4-5 เท่าตัว
กลุ่มองค์กรชุมชน
กลุ่ม | กิจกรรม |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
การแข่งขันเรือหัวโทง
เรือหัวโทง เป็นเรือที่ชาวประมงฝั่งอันดามันนิยมใช้กันมากที่สุดในบรรดาเรือเล็กที่เป็นพาหนะในการเดินทางในแม่น้ำลำคลอง หรือชายฝั่งทะเล ในการทำประมงชายฝั่งทะเลจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่นเดียวกับชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง ชุมชนริมปากแม่น้ำกระบี่ที่มีวิถีชีวิตการดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพประมง โดยมีเรือหัวโทงเป็นยานพาหนะ
การแข่งขันเรือหัวโทงนี้จัดขึ้นบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการต่อเรือ การแจวเรือ และการพายเรือโทง อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ และส่งเสริมการเล่นกีฬา พร้อมทั้งเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และสำหรับชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางแล้ว ประเพณีแข่งเรือหัวโทงยังถือเป็นมาตรการการปิดอ่าวเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 1-9 เมษายน เป็นประจำทุกปี
ประเพณีผูกผ้าเรือหัวโทง
ประเพณีผูกผ้าเรือหัวโทงเป็นประเพณีและวัฒนธรรมของชาวเรือหางยาวที่สืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี เป็นการบูชาแม่ย่านาง ก่อนที่ผู้ประกอบการจะนำเรือไปประกอบอาชีพ การผูกผ้าเรือหัวโทง เป็นการนำผ้าสามสีมาผูกที่หัวเรือเพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวประมงพื้นบ้านให้อยู่คู่ท้องถิ่น ให้เป็นที่แพร่หลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติทราบว่าประเพณีวัฒนธรรมผูกผ้าสามสีเรือหัวโทงเป็นการขอขมาขอพรและบูชาแม่ย่านาง อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเรือหัวโทงด้านการท่องเที่ยวให้ประกอบกิจการอย่างมั่นคงถาวร มีความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นความร่วมมือจากประชาชนและภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยว ให้มีความพร้อมต่อการต้อนรับนักท่องเที่ยวในการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองท่องเที่ยวสู่สาธารณชน
“เรือหัวโทง” ประโยชน์อนันต์จากภูมิปัญญาชาวประมง
“เรือ” ยานพาหนะสำคัญที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหนหรือช่วงจังหวะใดในการใช้ชีวิต ด้วยความที่เมืองไทยเป็นเมืองติดน้ำติดทะเล จึงจำต้องมีวิธีการเอาตัวรอดด้วยภูมิปัญญา สร้างสรรค์ขอนไม้ธรรมดากลายมาเป็นพาหนะนำพาผู้คนไปในที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งในแต่ละภูมิภาคแต่ละพื้นที่ ต่างก็มีเรือที่เป็นอัตลักษณ์ในแบบของตัวเองไม่ซ้ำกัน ดังเช่น เรือหัวโทง ที่เราเห็นกันอยู่อย่างคุ้นตาในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดอื่น ๆ บริเวณิมชายฝั่งทะเลอันดามัน
เรือหัวโทงเป็นเรือประมงที่นิยมใช้กันทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน รวมถึงชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางลักษณะของเรือหัวโทงเป็นเรือขนาดเล็ก หัวเรือสูงงอนขึ้นไปบรรจบกับทวนหัวที่ยื่นสูงขึ้นมา หรือมีหัวเรือเชิดสูงกว่าท้ายเรือ ภายในตัวเรือมีแผ่นกระดาษปูพื้นตามตำแหน่งที่ใช้ประโยชน์ ถ้ามีหลังคา ส่วนใหญ่ทำด้วยใบจากเย็บติดกัน เรียกว่า กระแซง เพื่อป้องกันแดด ลม ฝน สามารถเก็บไว้ใต้ท้องเรือได้ ขนาดความยาวประมาณ 8 เมตร ลักษณะพิเศษของเรือ คือ มีหลักแจวสองหลักติดกันอยู่กับแคมเรือทั้งสองค่อนไปทางท้ายเรือสำหรับยึดแจวทั้งคู่ไม้ข้างละอัน ขณะใช้งานปลายแจวทั้งสองข้างทำหน้าที่พุ้ยน้ำ ส่วนหัวแจวถือไขว้กัน เมื่อไม่ใช้งานจะกดด้านแจวไปไว้ข้างหลัง เพื่อยกแจวพาดกับแคมเรือส่วนหน้าทั้งสองข้าง (กระบี่ทูเดย์, 2551: ออนไลน์)
เรือหัวโทงนี้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อใดนั้น อาจเป็นคำถามที่ค่อนข้างอธิบายคำตอบได้ยากเสียสักหน่อย แต่จากคำบอกเล่าเชื่อว่าเรือหัวโทงน่าจะมีกำเนิดที่บ้านหาดยาว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง และตำบลเกาะกลาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งทั้ง 2 ตำบลมีพื้นที่ติดต่อกัน ในสมัยก่อนชาวกระบี่ใช้เรือหัวโทงในการทำประมง จึงทำให้ชาวเรือจากจังหวัดอันดามันอื่น ๆ เช่น ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง สตูล สนใจในเรือหัวโทงนี้ด้วย ด้วยลักษณะที่ปราดเปรียว มีน้ำหนักเบา ทนทานต่อการใช้งาน จึงได้มีการซื้อขายเรือหัวโทงกันขึ้น ความนิยมในเรือหัวโทงจึงได้กระจายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ดังเช่นในปัจจุบัน
คำว่า “หัวโทง” สันนิษฐานว่าจะมี 2 ความหมาย คือ “หัวธง” หมายถึง เรือที่มีหัวตั้งธง หรือตั้งตรง สำหรับโต้คลื่นในทะเล และใช้เป็นจุดเล็งแนวการนำเรือเข้าฝั่งได้แม่นยำ และเรียกเพี้ยนจนกลายเป็นเรือหัวโทง ส่วนอีกความหมายหนึ่งคาดว่ามาจากชื่อ “ปลาโทง” หรือ “ปลาโทงเทง” ที่มีปากยื่นยาว แหลมคม ว่ายน้ำได้เก่ง ซึ่งมีลักษณะตรงกับเรือหัวโทง ที่มีหัวเรือยื่นยาว และลอยน้ำได้ดี
บทบาทของเรือหัวโทงต่อชาวภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน คือ การเป็นพาหนะที่ใช้สำหรับประกอบอาชีพประมง ซึ่งนับว่าเป็นเรือที่มีพิเศษเฉพาะตัว คือ น้ำหนักเบา เพราะทำจากไม้เนื้อแข็ง แต่ความเป็นจริงแล้ว เรือหัวโทงมีความเป็นเอนกประสงค์กว่านั้นมาก เพราะเมื่อกาลเวลาผ่านไป เรือหัวโทงก็ได้เข้ามามีบทบาทต่ออีกหลายอาชีพ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่เห็นมีการนำเรือประเภทนี้มาทำเป็นเรือนำเที่ยว ขนส่งสินค้า หรือทำเป็นเรือโดยสารข้ามฟาก
สำหรับพื้นที่อื่น ๆ เรือหัวโทง อาจจะมีคุณประโยชน์เท่าที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่สำหรับชาวกระบี่ เรือหัวโทงยังเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของชุมชนอีกด้วย ดังที่ทางจังหวัดได้มีการจัดประเพณีผูกผ้าหัวเรือเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อเจ้าของเรือในช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นทุกปี เรือหัวโทงจึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันงดงามของเมืองใต้ แม้จะเป็นเพียงแค่ศิลปะจากแผ่นไม้เพียงไม่กี่แผ่น แต่เป็นผลงานที่ผ่านกระบวนการคิดและการสั่งสมประสบการณ์ของบรรพบุรุษส่งต่อ ๆ กันมาให้ลูกหลาน บทบาทของเรือหัวโทงจึงไม่ใช่เพียงแค่พาหนะอีกต่อไป กาลเวลาได้ส่งผ่านให้เรือลำนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวอันดามันที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง (Phuket Bulletin, 2561: ออนไลน์)
"ผ้าปาเต๊ะ" ลวดลายโดดเด่นเฉพาะ เอกลักษณ์ชาวเกาะกลาง
การทำผ้าปาเต๊ะของชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลาง เกิดจากการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านซึ่งได้แนวคิดและวิธีการทำมาจากจังหวัดปัตตานี โดยวิธีการทำผ้าปาเต๊ะของชาวเกาะกลางจะมีรูปแบบเฉพาะตัว แตกต่างกับที่อื่นตรงที่มีการผสมผสานกันระหว่างการทำผ้าปาเต๊ะของชาวมาเลย์กับวิธีการทำผ้าบาติก โดยจะใช้แม่พิมพ์โลหะจุ่มในเทียนที่ร้อน จากนั้นนำพิมพ์ลงบนผ้าขาว แล้วนำไปย้อมในอ่างสี และนำไปย้อมในอ่างน้ำเกลืออีกครั้งเพื่อให้สีติดทนทาน จากกระบวนการดังกล่าวทำให้สีสันและลวดลายผ้าที่ออกมานั้นมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผ้าปาเต๊ะแหล่งอื่นอย่างชัดเจน
ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน: ภาไทย
กนิดา หอมชื่น. (2552). ระบบนิเวศชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะกลางปากแม่น้ำกระบี่ ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์.
กระบี่ทูเดย์. (2551). การแข่งขันเรือหัวโทง ชิงถ้วยพระราชทานฯ จ.กระบี่. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.oknation.net/post/
กรุงเทพธุรกิจ. (2563). เที่ยวเกาะกลาง สัมผัสวิถีชาวเล เสน่ห์เขาขนาบน้ำ. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com/
Kinnonontheway. (2557). ท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านเกาะกลาง. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม, จาก https://kinnonontheway.wordpress.com/
MGR Online. (2557). กระบี่ที่แตกต่าง...“เกาะกลาง” เอกลักษณ์ชุมชนบนวิถีพอเพียง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/
. (2557). นั่งสามล้อเที่ยว “เกาะกลาง” สัมผัสธรรมชาติ ยลความงามวิถีชุมชน. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/
p_chend. (2566). เกาะกลาง คลองประสงค์ กระบี่. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.trip.com/moments/
Phuket Bulletin. (2561). “เรือหัวโทง” ประโยชน์อนันต์จากภูมิปัญญา. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
Thailandtourismdirectory. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะกลาง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
WEAREKRABI. (2563). ชุมชนเกาะกลาง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://wearekrabi.com/