Advance search

บ้านเกาะไม้ไผ่

เกาะไม้ไผ่

เกาะไม้ไผ่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ชมรอยพระพุทธบาท หินแปลก ป่าชายเลน แหล่งภูมิปัญญาต่อเรือหัวโทง ลำนำวิถีแห่งท้องทะเลอันดามัน 

เกาะไม้ไผ่
เกาะปันหยี
เมืองพังงา
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
บ้านเกาะไม้ไผ่
เกาะไม้ไผ่

เมื่อครั้งที่โต๊ะใบเต๊ะขึ้นมาสำรวจเกาะเพื่อสร้างบ้านเรือน พบว่าเกาะแห่งนี้มีไม้ไผ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากเกือบครึ่งของเกาะ จึงตั้งชื่อว่า “เกาะบุโหละ” เป็นภาษายาวี แปลว่า “ไม้ไผ่” ในเวลาต่อมาเมื่อก่อตั้งเป็นหมู่บ้านจึงได้ชื่อว่า “บ้านเกาะไม้ไผ่”


ชุมชนชนบท

เกาะไม้ไผ่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ชมรอยพระพุทธบาท หินแปลก ป่าชายเลน แหล่งภูมิปัญญาต่อเรือหัวโทง ลำนำวิถีแห่งท้องทะเลอันดามัน 

เกาะไม้ไผ่
เกาะปันหยี
เมืองพังงา
พังงา
82000
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะปันหยี โทร. 0-7667-9144
8.34240555335109
98.5037116706371
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะปันหยี

เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองวุ่นวาย ประชาชนต้องหนีเอาตัวรอดเพื่อหาหลักแหล่งที่อยู่ใหม่ รวมทั้งประชาชนจากประเทศอื่นที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย ก็ต้องอพยพเอาตัวรอดเช่นเดียวกัน ในจำนวนนั้นมีชายชาวมาเลย์นามว่า โต๊ะใบเต๊ะ ชาวบ้านกำปง ปาดังซีดิง ได้ชวนพรรคพวกหนีมา ครั้นนั้น ใบเต๊ะมีภรรยาชื่อเบี้ย และมีบุตรด้วยกัน แต่ตอนที่หนีมาไม่ได้พาภรรยามาด้วยให้อยู่ที่บ้าน เมื่อมีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งก็จะกลับไปรับภรรยาและบุตรมาอยู่ด้วย โต๊ะใบได้เดินทางมาเรื่อย ๆ ตามทะเลอันดามัน  จนกระทั่งมาพบเกาะแห่งหนึ่งในอ่าวพังงา และรู้สึกชอบใจเกาะนี้มาก จึงได้ชวนพรรคพวกขึ้นสำรวจบริเวณ พบว่าเกาะแห่งนี้เต็มไปด้วยไม้ไผ่จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกาะ มีต้นมะม่วง และมะขามจำนวนมาก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด พื้นที่โดยรอบของเกาะเป็นป่าชายเลน และไม่มีผู้อยู่อาศัย โต๊ะใบเต๊ะและพรรคพวก จึงเลือกเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งหลักปักฐาน และตั้งชื่อเกาะว่า “เกาะไม้ไผ่”

ในสมัยนั้นชาวบ้านเกาะไม้ไผ่ประกอบอาชีพประมงกันทุกครัวเรือน โดยการหาปลาหาเพื่อทำกะปิเกือบทุกบ้าน เพราะในขณะนั้นทะเลค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจะจับปลาด้วยวิธีธรรมชาติไม่ใช้เครื่องทุ่นแรงเหมือนสมัยนี้ ทำให้ความเป็นอยู่ไม่เดือดร้อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ประกาศให้มีนามสกุลใช้ นามสกุลแรกในเกาะไม้ไผ่คือ นามสกุล หยีสะหนี ซึ่งในตอนนั้นโต๊ะใบต๊ะได้เสียชีวิตแล้วและมีโต๊ะยี่ซะซึ่งเป็นลูกชายและลูกหลานรุ่นถัดมาเป็นคนสืบทอดตระกูลต่อ ส่วนชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่มาตั้งรกรากทีหลังก็เริ่มตั้งนามสกุลให้ตัวเองและลูกหลานเพื่อเป็นตัวแทนของตระกูล

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบางเตย อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดกระบี่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลกะสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

ลักษณะภูมิประเทศ

เกาะไม้ไผ่ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะและป่าชายเลนของอ่าวพังงา บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี มีลักษณะอากาศแบบเขตร้อนอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 24-34 องศาเซลเซียส มี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนระหว่างเดือนมกราคม-เดือนเมษายน และฤดูร้อนในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม

ด้านทรัพยากรธรรมชาติ

  • พื้นดิน : มีลักษณะเป็นดินเค็ม บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีการทำนาข้าว ชาวบ้านต้องสร้างคันดินเพื่อกั้นน้ำไม่ให้น้ำเค็มไหลทะลักเข้ามาถึงพื้นที่นา
  • พื้นน้ำ : เป็นอ่าวป่าชายเลนขนาดยาว มีปริมาณสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากน่านน้ำรอบเกาะไม้ไผ่เป็นเขตน่านน้ำของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และเป็นพื้นที่ในการอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการประกอบอาชีพประมง
  • ป่าชุมชน : ป่าไม้ในเขตเกาะไม้ไผ่มีลักษณะเป็นป่าชายเลน  3,487.50 ไร่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 20 ซึ่งปัจจุบันสถานีฯ ร่วมกับชาวบ้านเกาะไผ่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกและบำรุงป่าชายเลนมาโดยตลอด และจะเข้าร่วมการจัดกิจกรรมฝึกอบรมราษฎรหลักสูตรบำรุงป่าชายเลนและหลักสูตรส่งเสริมการป่าชายเลนชุมชนทั้งสองหลักสูตร

การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน

ชาวเกาะไม้ไผ่นิยมสร้างบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเหมือนบ้านกลางน้ำของเกาะปันหยี ยกใต้ถุนสูงเพื่อกันน้ำทะเลท่วมถึง และใช้ผูกล่ามกับเรือที่เป็นพาหนะระหว่างบ้านที่อยู่กลางน้ำกับพื้นแผ่นดินใหญ่ และออกหาปลา กุ้ง ตั้งอยู่เรียงรายหน้าน่านน้ำ ถัดเข้าไปเป็นบ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะส่วนที่เป็นแผ่นดิน บ้านบริเวณนี้นิยมสร้างตามแบบบ้านสมัยใหม่ คือ สร้างแบบทรงตลาด ใช้อิฐและปูนเป็นส่วนประกอบหลัก มีร้านน้ำชาที่เก่าแก่ที่สุดของหมู่บ้านที่แสดงถึงวัฒนธรรมชุมชนของชาวมุสลิมที่ว่าการดื่มกินน้ำชาเป็นวัฒนธรรมของคนมีสังคม

การคมนาคม

ชาวเกาะไม้ไผ่ตั้งแต่อดีตใช้ “เรือมาด” เป็นพาหนะในการเดินทาง อีกทั้งยังมีเรือแจวที่ภายหลังพัฒนามาเป็นเรือหางยาวที่ต้องอาศัยเครื่องยนต์และน้ำมันเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นพาหนะสำหรับเดินทางขึ้นฝั่งเพื่อติดต่อกับชุมชนอื่น ซึ่งสร้างความสะดวกสบายและช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้มากขึ้น สำหรับการเดินทางบนเกาะภายในหมู่บ้านส่วนมากแล้วจะนิยมใช้รถจักรยานในการสัญจร

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักงานทะเบียนราษฎร์อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา ณ วันที่ 19 มีนาคม 2564 รายงานจำนวนประชากรบ้านเกาะไม้ไผ่ ตำบลเกาะปันหยี ทั้งสิ้น 250 ครัวเรือน 712 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 357 คน และประชากรหญิง 355 คน 

ชาวเกาะไม้ไผ่กว่าร้อยละ 95 ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เช่น วางอวน รุนเคย ทำเคย เลี้ยงปลากะพงแดง ปลากะพงขาวในกระชัง รายได้เฉลี่ยของครอบครัวต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับค่าครองชีพในสังคมปัจจุบัน รองลงมา คือ การทำเกษตร เนื่องจากพื้นดินบนเกาะเป็นร่วนปนทรายซึ่งสามารถเพาะปลูกยางพารา ผลไม้ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนักเพราะสภาพพื้นดินไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร และมีบางส่วนที่มีการประกอบธุรกิจค้าขายแบบร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่มีอาชีพต่อเรือหัวโทง ซึ่งจะมีทั้งที่ต่อเรือหัวโทงสำหรับใช้งานจริง และต่อเรือหัวโทงจำลองสำหรับเป็นสินค้าที่ระลึก และนำนักท่องเที่ยงล่องเรือหัวโทงไปตามเกาะแก่งต่าง ๆ ในอาณาเขตเกาะปันหยีและน่านน้ำอ่าวพังงา 

เกาะไม้ไผ่มีลักษณะเป็นชุมชนชาวมุสลิม ชาวบ้านทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม เช่น การแต่งงาน งานศพ จะเป็นไปตามหลักปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังมีวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ เช่นเดียวกับชาวมุสลิมทั่วไป เช่น วันฮารีรายอ วันขนม วันเมาลิด และวันถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นต้น 

1. โต๊ะใบเต๊ะ

โต๊ะใบเต๊ะตามตำนานของชาวเกาะไม้ไผ่ คือ บรรพบุรุษผู้เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานบนเกาะไม้ไผ่เป็นคนแรก อีกทั้งยังเป็นผู้มีความสามารถเรื่องวิชาอาคม และมีความชำนาญในเส้นทางและสรรพศาสตร์เกี่ยวกับท้องทะเล

มีเรื่องเล่าว่า ด้วยสภาพของเกาะไม้ไผ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพื้นที่ป่าทั้งหมด เกาะไม้ไผ่จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีอันตรายหลายชนิด เช่น งูเห่า งูจงอาง เสือ จระเข้ แต่ไม่เคยมีสักเพียงครั้งที่พบว่าสัตว์เหล่านี้จะมาสร้างความเดือดร้อนแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะน่าจะเป็นผลมาจากคาถาของโต๊ะใบเต๊ะ มีครั้งหนึ่งโต๊ะใบเต๊ะชวนชาวบ้านขึ้นไปบนเขาหลังหมู่บ้าน ซึ่งในสมัยนั้นเส้นทางยังรกชัฏ การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก ขณะเดินทางมีหินขนาดใหญ่ลูกหนึ่งหล่นมาจากข้างบนและกลิ้งลงมาทับตัวโต๊ะใบเต๊ะ แต่โต๊ะใบเต๊ะกลับไม่ได้รับอันตรายใด ๆ ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์จึงได้นำเรื่องนี้ไปบอกต่อให้ชาวบ้านคนอื่นฟัง ชาวบ้านได้ฟังเช่นนั้นก็ยิ่งศรัทธาในตัวโต๊ะใบเต๊ะมากยิ่งขึ้น และแม้ว่าปัจจุบันโต๊ะใบเต๊จะเสียชีวิตไปแล้ว ทว่า โต๊ะใบเต๊ะยังถือเป็นบุคคลผู้มีความสำคัญและสร้างคุณูปการแก่ชาวเกาะไม้ไผ่ ซึ่งชาวเกาะไม้ไผ่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ

2. นายห้ำหลี กองสิน (หลี)  ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีประสบการณ์ภูมิปัญญาด้านการทำเรือหัวโทงกว่า 40 ปี

3. นายอาทิศศักดิ์ วารีศรี (โหรน)  ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีประสบการณ์ภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ปี

4. นายดลหรีม สีมัน (หรีม)  ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีประสบการณ์ภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรมกว่า 30 ปี

ภูมิปัญญาการต่อเรือหัวโทง

เรือหัวโทง เป็นเรือที่นิยมใช้ในทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามันตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ระนอง ตรัง สตูล และพังงา แรกเริ่มของการต่อเรือหัวโทงนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน และใช้ในการสัญจร แต่ในยุคหลังมานี้ เรือหัวโทงได้เข้ามามีบทบาทในด้านการท่องเที่ยว โดยมีการนำเรือหัวโทงมาปรับใช้เป็นเรือนำนักท่องเที่ยวล่องสัญจรไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งยังมีการทำ “เรือหัวโทงจำลอง” จำหน่ายเป็นของที่ระลึก ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มชาวบ้านที่มีอาชีพต่อเรือหัวโทงได้เป็นอย่างดี เรือหัวโทง จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งการท่องเที่ยวทะเลไทยฝั่งอันดามันที่พร้อมพานักท่องเที่ยวไปเยือนยังเกาะแก่งนับร้อยแห่ง ด้วยลักษณะเด่นของหัวเรือที่เชิดขึ้นเวลาแล่นอยู่กลางทะเล พร้อมแหวกฝ่าคลื่นสูงที่ซัดสาดให้ทะยานเคลื่อนไปยังจุดหมายปลายทาง ทั้งนี้ เรือหัวโทงไม่ได้เป็นเพียงสื่อสัญลักษณ์ของพาหนะนำพานักท่องเที่ยว แต่เป็นพาหนะที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนริมฝั่งทะเลอันดามัน เป็นทั้งเครื่องมือทำมาหากิน วางอวน ดักลอบ กุ้ง ปู ปลา ทั้งใช้เป็นพาหนะในการเดินทางและการขนส่งทั้งคนและสินค้าที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ดัดแปลงพาหนะให้เหมาะสมกับสภาพลม ฟ้า อากาศ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน

เรือหัวโทงจำลอง

  • วัสดุ : ไม้พยอม ขนุน เทียม ขี้เหล็ก และตะเคียนทอง (คุณภาพเนื้อไม้ดีที่สุด)
  • ส่วนประกอบ : กระดูกงู 1 ชิ้น กง 1 ชิ้น กระดานปิดหัวกง 2 ชิ้น หัวเรือ 1 ชิ้น ท้ายเรือ 1 ชิ้น กระดานเรือ 6 ชิ้น ราทู หรือ ลูกกล้วย 2 ชิ้น คิ้ว 2 ชิ้น ไม้พาย 2 ชิ้น
  • การประกอบเรือหัวโทง

1. ตัดเตรียมไม้ให้มีลักษณะและรูปร่างตามส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือ

2. ติดชิ้นส่วนของกงกับกระดูกงู เพื่อใช้ประกอบเป็นแกนกลางของเรือจากนั้นติดชิ้นส่วนของหัวเรือและท้ายเรือ

3. ติดชิ้นส่วนของกระดานเรือ ด้านละ 3 แผ่น จากนั้นปิดด้านบนด้วยแผ่นกระดานปิดหัวกง เพื่อความสวยงามเรียบร้อย

4. ติดชิ้นส่วนของราทู หรือลูกกล้วย บริเวณกาบเรือซึ่งใช้เป็นกันชนติดคิ้วด้านละ 1 ชิ้น เพื่อตกแต่งจากนั้นติดไม้พาย เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษายาวี

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


อ่าวพังงา

เกาะไม้ไผ่ เป็นแหล่งศึกษาจารึกเรื่องราวทางประวัติกาลนอกพงศาวดาร ด้วยเป็นสถานที่ที่ปรากฏร่องรอยทางประวัติศาสตร์รอยพระพุทธบาทโบราณแผ่นดิน และไหโบราณซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวเกาะไม้ไผ่มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนมาจนกระทั่งปัจจุบัน

รอยพระพุทธบาทโบราณบนแผ่นหิน

บ้านเกาะไม้ไผ่ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่ปรากฏร่องรอยพระพุทธบาท จำนวน 2 รอย บนแผ่นหินในป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร โดยการค้นพบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พระพุทธบาทรอยดังกล่าวนี้คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 19 รอยแรกเป็นรอยพระบาทเดียวข้างขวา แบบเรขาคณิต ปลายพระบาทตัดเป็นขอบทแยงมาจากซ้ายมาขวา ไม่ปรากฏส่วนที่บ่งชี้ว่าเป็นนิ้วพระบาท ด้านข้างขวาพระบาทสอบเข้าหาสันพระบาทที่โค้งมน ส่วนที่กว้างที่สุด กว้างประมาณ 48 เซนติเมตร ยาวประมาณ 111 เซนติเมตร ลึกลงไปในเนื้อประมาณ 1.5 เซนติเมตร แต่เดิมมีร่องรอยการแกะสลักลวดลายขมวดก้นหอยเวียนขวา จำนวน 3 วง เรียงต่อจากปลายพระบาท สองวงแรกมีขนาดเท่ากันและวงสุดท้ายที่สันพระบาทมีขนาดใหญ่กว่าสองวงแรกเล็กน้อย ปัจจุบันลวดลายดังกล่าวได้ถูกราษฎรกะเทาะทำลาย เหลือให้เห็นเพียงบางส่วนที่เลือนราง ส่วนรอยที่สอง เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดเล็ก (หรือรอยลูกโยมที่ตามคำบอกเล่าของคนในชุมชนว่าเป็นรอยของพุทธสาวก) ซึ่งเดิมอยู่ห่างจากรอยพระบาทรอยแรกประมาณ 3 เซนติเมตร แต่ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาวางไว้ปลายพระบาทของรอยพระบาทรอยแรก เป็นรอยสกัดลงไปในก้อนหิน สามารถสังเกตเห็นนิ้วพระบาทได้ชัดเจน ปัจจุบันฝ่าพระบาทสูญหายไปแล้วเนื่องจากถูกกะเทาะเอาไป ส่วนที่กว้างที่สุดวัดได้ 12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร

ไหโบราณกับวิถีชุมชน

ไหเป็นภาชนะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวชุมชนเกาะไม้ไผ่มาตั้งแต่เริ่มตั้งชุมชน หลักฐานปรากฏจากไหที่สืบทอดกันมาจากคนรุ่นแรกจนถึงปัจจุบันและจากคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมาเล่าตรงกันว่า หลังจากที่โต๊ะใบเต๊ะได้เดินทางมาจากรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซียเพื่อมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เกาะไม้ไผ่ การดำรงชีวิตต้องอาศัยน้ำฝน น้ำบ่อดิน และน้ำบ่อขุดสำหรับอุปโภคบริโภค โดยอาศัย “ไห” เป็นภาชนะหลักในใส่น้ำไว้ใช้หรือนำไปตักน้ำที่บ่อ

ปัจจุบัน เกาะไม้ไผ่มีจำนวนประชากร 250 ครัวเรือน จำนวน 104 ครัวเรือนมีไหอยู่ในครอบครอง 104 ใบ โดยการครอบครองไหโบราณของชาวบ้านบนเกาะไม้ไผ่มีอยู่ 3 ที่มา ดังนี้

1. ได้รับเป็นมรดกตกทอด เนื่องจากธรรมเนียมของเกาะไม้ไผ่เมื่อลูกที่แต่งงานแล้วแยกตัวออกมาสร้างครอบครัวใหม่ จะได้ส่วนแบ่งมรดกจากพ่อแม่ ได้แก่ อุปกรณ์ทางทะเล และเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งไหก็จัดเป็นมรดกเครื่องใช้ที่พ่อแม่จะแบ่งมาให้ด้วย

2. ได้รับเป็นของที่ระลึกจากปู่ย่า ตายาย

3. ได้จากการหาเองเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่สมัยที่อายุยังน้อย และได้เก็บรักษาไว้จนปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนเกาะไม้ไผ่ได้ไหมาใช้ในชุมชน 4 ทาง คือ

1. ได้จากเรือสำเภาจีนที่เดินทางมาค้าขาย โดยใช้เส้นทางน่านน้ำอ่าวพังงาผ่านท่าด่านศุลกากรพังงา และจอดทำการค้าขายที่ท่าเรือวังหม้อแกง ไหจึงมีสีสันและลวดลายตามประเทศจีน

2. ได้จากเรือสำเภาจีนที่เดินทางมาทำการค้าขายผ่านกับชาวเกาะไม้ไผ่โดยตรง ซึ่งแต่เดิมเกาะไม้ไผ่มีเตาเผาถ่านขนาดใหญ่จำนวนสองเตา เตาเผาแรกอยู่ด้านหน้าของเกาะเรียกว่า เตาหน้าบ้าน อีกเตาเผาหนึ่งอยู่ด้านหลังของเกาะเรียกว่า เตาเผาถ่านเขาขาว โดยเฉพาะเตาที่อยู่ด้านหน้าของเกาะเมื่อเรือสำเภาเดินทางผ่านจะจอดพักหรือทำการซ่อมเรือ แวะซื้ออุปกรณ์ แวะพูดคุย หรือนำสินค้ามาแลกเปลี่ยน ไหจัดเป็นสินค้าหรือของแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งที่เรือสำเภาจีนมาค้าขายถ่านนำมาขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าของคนในหมู่บ้านหรือนำมาเป็นของฝากให้แก่คนที่สนิทหรือรู้จักกัน

3. ไหเป็นภาชนะที่ใส่มากับของกินประเภทหมักดอง เช่น กระเทียมดอง เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เมื่อชาวเกาะไม้ไผ่จับจ่ายซื้อก็จะได้ไหมาด้วย

4. ได้จากพ่อค้าที่มาด้วยเรือชนมาด หรือ เรือมาด นำมาขายและแลกเปลี่ยนกับอาหารทะเล ไหที่ได้มาด้วยวิธีนี้จึงมีลักษณะเรียบ ๆ และมีขนาดเล็ก

กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร. (2565). เรือหัวโทงจำลอง จ.กระบี่. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.gosmartfarmer.com/

เกาะไม้ไผ่ – จังหวัดพังงา. (2563). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

บริษัท ยกกำลังสุข จำกัด - Social Enterprise. (2562). มารู้จัก…การทําเรือหัวโทงจําลอง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

สุชล จรุงการและคณะ. (2549). การศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนรู้สืบสานตำนานไหน เกาะไม้ไผ่ ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สมาคมสื่อวิทยุโทรทัศน์พังงา อันดามัน. (2559). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

Google Earth. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

klongmuang-krabi. (ม.ป.ป.). เรือหัวโทงจำลอง ที่บ้านเกาะกลาง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.klongmuang-krabi.com/

MGR Online. (2553). เรือหัวโทง ศิลปะงานไม้ ลำนำชีวิตชายฝั่งอันดามัน. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/