Advance search

ชุมชนคลอง อบต. หมู่ที่ 4

ชุมชนริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พื้นที่ที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำเค็มมากที่สุดในปี พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะปูม้า ทำให้อาชีพการทำประมงปูม้าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ชุมชน เกิดเป็นแนวคิดจัดตั้ง “ธนาคารปูม้า” เพื่อสร้างระบบในการบริหารจัดการปูม้า เพื่ออนุรักษ์ปูม้าให้คงเป็นทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์และเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชุมชนต่อไป

หมู่ที่ 4
บางแก้ว
บ้านแหลม
เพชรบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
บ้านบางแก้ว
ชุมชนคลอง อบต. หมู่ที่ 4


ชุมชนชนบท

ชุมชนริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พื้นที่ที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำเค็มมากที่สุดในปี พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะปูม้า ทำให้อาชีพการทำประมงปูม้าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ชุมชน เกิดเป็นแนวคิดจัดตั้ง “ธนาคารปูม้า” เพื่อสร้างระบบในการบริหารจัดการปูม้า เพื่ออนุรักษ์ปูม้าให้คงเป็นทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์และเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชุมชนต่อไป

หมู่ที่ 4
บางแก้ว
บ้านแหลม
เพชรบุรี
76110
13.09929
100.0633062
องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว

ในอดีตนั้นเมืองเพชรบุรีเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญของสยามประเทศมาแต่เก่าก่อน กระทั่งสยามประเทศได้มีการทำสนธิสัญญาเบอร์นี เพื่อให้มีเพียงแค่เมืองท่าเดียว คือ ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) หลังจากสนธิสัญญาได้ยกเลิกไปแล้วนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้เคยคิดฟื้นฟูเมืองท่าตามหัวเมืองอีกเลย ในสมัยที่เมืองเพชรรุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ฮอลันดา โปรตุเกส อินเดีย เป็นต้น ส่งผลให้ชาวเมืองเพชรได้รับอารยธรรมจากที่อื่นในการประกอบอาหารคาว-หวาน จนเป็นเอกลักษณ์ของคนเมืองเพชร ครั้งหนึ่งมีสำเภาจีนได้บรรทุกสินค้า จาน ชาม แก้ว แหวน เงินทอง มาเต็มลำเพื่อมาค้าขายยังเมืองเพชร แต่ได้ประสบกับลมมรสุมจนเรือได้อับปางลง สินค้าและทรัพย์สินมีค่าจึงได้จมลง จากตำนานดังกล่าวทำให้บรรพบุรุษเชื่อว่าที่ดินในพื้นที่ตำบลบางแก้ว ซึ่งในอดีตเป็นทะเลมีทรัพย์สินที่มีค่าอยู่ในผืนแผ่นดินแห่งนี้ ประกอบกับชายหาดของบางแก้วที่มีกระซ้า (ซากสัตว์ทะเลจำพวกหอย) ซึ่งเป็นเปลือกหอยที่มีอยู่มากที่ชายฝั่งทะเลบางแก้ว ยามเมื่อต้องแสงตะวันจะเป็นประกายระยิบระยับ ชาวบ้านจึงได้ออกหาสิ่งที่มีค่าที่ยังคงสภาพอยู่บริเวณชายหาด ทำให้ได้เรียกขนานนามว่า “บางแก้ว” จนมาถึงปัจจุบัน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม และ ตำบลบาจาน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตำบลนาพันสามอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางจาน ตำบลช่องสะแก และตำบลโพพระ อำเภอเมืองเพชรบุรี  จังหวัดเพชรบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ

ตำบลบางแก้ว มีพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบชายฝั่งทะเล สภาพชายฝั่งทะเลจะเป็นหาดโคลนซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ลักษณะสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน 

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว หมู่ที่ 4 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 847 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 408 คนและประชากรหญิง 439 คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)

สืบเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของชุมชนที่มีอาณาเขตพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในบริเวณที่อุดมด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำเค็ม โดยเฉพาะปูม้า ทำให้การทำประมงปูม้าเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และภายหลังการเกิดขึ้นของคลอง อบต. (คลองบางแก้ว) เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านหมู่ที่ 4 ในนามของ กลุ่มประมงเรือเล็กซึ่งในเวลาต่อมากลุ่มประมงเรือเล็กนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ธนาคารปูม้า เพราะสมาชิกของกลุ่มทุกคนต่างทำอาชีพเดียวกัน คือ ประมงปูม้า ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ใช้ทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน ฉะนั้น เมื่อถึงวันหนึ่งทรัพยากรลดจำนวนลง กลุ่มธนาคารปูม้าจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อบริหารจัดการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าริมชายฝั่งทะเลให้คงอยู่ต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธนาคารปูม้า

จากความต้องการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าบริเวณริมชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของชุมชน และจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง ชาวบ้านจึงเกิดความร่วมมือกันในการก่อตั้งกลุ่มประมงเรือเล็ก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการก่อตั้ง ธนาคารปูม้า มีลักษณะคล้ายการฝาก-ถอนเงินของธนาคาร แต่เปลี่ยนมาเป็นการรับฝากแม่ปูแทนเงิน และดอกเบี้ยที่จะได้รับ คือ ลูกปูที่ปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อให้เติบใหญ่แล้วจับมาขายเป็นรายได้ของชาวประมงต่อไป การดำเนินการของธนาคารปูม้าของบ้านบางแก้ว หรือชุมชนคลอง อบต. หมู่ 4 เป็นการอนุบาลแม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองในโรงเรือนเพื่อให้แม่ปูม้าสลัดไข่ แทนที่จะนำแม่ปูม้าไปขายก็นำมาขังไว้ในถังประมาณ 7 วัน แม่ปูก็จะปล่อยไข่ฟักตัวอ่อน แล้วจึงจะถูกนำไปขาย ส่วนตัวอ่อนลูกปูก็จะถูกปล่อยออกมาจากท่อที่ต่อจากโรงเรือนไปยังคลอง อบต. (แหล่งน้ำธรรมชาติ) ลูกปูก็จะเติบโตเองตามธรรมชาติ เป็นการเพิ่มจำนวนแม่ปูที่นำไปขาย ส่วนรายได้จากการขายแม่ปูจะนำเงินเข้ากองทุนธนาคารปูเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นสวัสดิการของกลุ่มต่อไป โดยเงินส่วนนี้จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายของกลุ่มประมงเรือเล็ก เช่น ค่าน้ำ ค่าใช้ ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในศาลา และโดยปกติแล้วสมาชิกของธนาคาร หรือกลุ่มประมงเรือเล็ก เพื่อนำเงินไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น การจัดงานลอยกระทง หรืองานประจำปีต่าง ๆ

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งภายใต้การดำเนินการของธนาคารปูม้า ทำให้สมาชิกที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านในนามของ กลุ่มประมงเรือเล็ก” เกิดจิตสำนึกร่วมกันในการจัดการทรัพยากรประมง และการมีธนาคารปูม้ายังช่วยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่ม คือ เมื่อแม่ปูสลัดไข่แล้วทางกลุ่มสมาชิกจะนำแม่ปูไปขาย แล้วนำเงินที่ได้จากการขายแม่ปูมาเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เป็นส่วนกลางของกลุ่ม และผลทางบวกของธนาคารที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คือ ทำให้ทรัพยากรมีอยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีลูกปูที่จะโตเป็นลูกปูตัวใหญ่ให้ชาวประมงได้ใช้ประโยชน์ต่อไป 

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นเมืองเพชร

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


เนื่องจากชุมชนคลองมีการทำประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลักมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะปูม้าซึ่งถือเป็นทรัพยากรทางทะเลที่มีบทบาทสำคัญต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ทรัพยากรปูม้าที่เคยอุดมสมบูรณ์มีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวประมงพื้นบ้านที่ทำประมงอยู่ในบริเวณคลอง อบต. หมู่ที่ 4 เริ่มตระหนักเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากร ประกอบกับกรมประมงได้มีกิจกรรมธนาคารสัตว์น้ำชุมชน ซึ่งชาวบ้านในหมู่ที่ 4 มีความสนใจและต้องการจัดการทรัพยากรในชุมชน โดยศูนย์วิจัยฯ และชาวบ้านได้ดำเนินการจัดตั้ง "ธนาคารปูม้า" และมีกลุ่มประมงเรือเล็กซึ่งเป็นกลุ่มของชาวประมงที่นำเรือเข้ามาจอดบริเวณคลอง อบต. เป็นผู้บริหารจัดการธนาคารปูม้าโดยมีคณะกรรมการบริหารที่มาจากสมาชิกในชุมชน แต่ในปี พ.ศ. 2558 ได้หยุดดำเนินการธนาคารปูม้าไปช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากมีการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ไอ้โง่ มาใช้ในการทำประมง

ไอ้โง่ เป็นเครื่องมือจับปลาใช้วางขวางร่องน้ำบริเวณหน้าดิน ลักษณะคล้ายลอบขนาดยาว ถักด้วยเชือกตาข่ายและมีตาถี่เพียง 1.7-2 เซนติเมตร ด้านข้างจะเปิดเป็นช่องให้สัตว์น้ำเข้าไป และด้วยตาที่เล็กถี่เกินไปทำให้สัตว์น้ำทุกขนาดที่หลงเข้าไปถูกจับทั้งหมด ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ทำให้สัตว์ทะเลทุกขนาดถูกจับ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มประมงเรือเล็กต่างคนต่างจับไม่สนใจจะนำปูม้ามาใส่ที่ธนาคาร ต่อมา พ.ศ. 2559 รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามใช้ไอ้โง่ในการทำประมงหากผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะถือว่าผิดกฎหมาย กลุ่มประมงเรือเล็กจึงกลับมาให้ความสนใจและให้ความร่วมมือในการทำธนาคารปูม้าอีกครั้งและได้ดำเนินกิจกรรมของธนาคารปูม้ามาจนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรรณิการ์ นาคฤทธิ์. (2558). การศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งของชุมชนประมงพื้นบ้าน กรณีศึกษาธนาคารปูม้า ชุมชนคลอง อบต. หมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี. สารนิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

คมชัดลึก. (2560). “ไอ้โง่” ต้องห้าม !? คุก 5 ปีปรับ 5 แสน. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.komchadluek.net/

ร้อยเรื่องเมืองไทย. (2559). คืนปูสู่ท้องทะเล. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ch7.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี. (ม.ป.ป.). แผนอัตรากำลัง 3 ปี ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.bangkaewphet.go.th/