
อดีตชุมชนเมืองหน้าด่าน ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเกาะลันตา ชมประเพณีแต่โบราณมา ลอยเรืออูรักลาโว้ย
พื้นที่บริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นเมืองหน้าด่าน และมีศาลาที่พัก ประกอบกับเป็นหน้าเกาะ และเป็นท่าขึ้นเรือ จึงได้ชื่อว่า “ศาลาด่าน”
อดีตชุมชนเมืองหน้าด่าน ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเกาะลันตา ชมประเพณีแต่โบราณมา ลอยเรืออูรักลาโว้ย
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนศาลาด่านสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ย้ายมาจากหมู่บ้านบ่อแหน โดยย้ายมาอยู่เป็นเวลากว่า 90 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกมีทั้งชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และชาวจีน ประมาณ 3-4 หลังคาเรือน ทั้งหมดประกอบอาชีพประมง มีการสร้างโป๊ะใกล้ที่ตกปลา แต่เดิมบริเวณนี้มีชาวไทยใหญ่อยู่อาศัยมาก่อน แต่เมื่อชาวบ้านจากบ้านบ่อแหนย้ายเข้ามา ชาวไทยใหญ่จึงได้ย้ายไปอยู่อาศัยบริเวณไร่ที่ได้รับพระราชทาน
ตำบลศาลาด่านก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินในบริเวณนี้เพื่อทำบังกะโลและร้านอาหาร ชาวบ้านขายที่ดินไปบางส่วน เพื่อไปซื้อที่ดินในบริเวณอื่น แต่เดิมชาวบ้านทั้งหมดประกอบอาชีพประมง และสวนยาง ซึ่งจะกรีดยางแล้วนำไปขายที่จังหวัดตรังและนครศรีธรรมราช แต่เมื่อมีปัญหาน้ำมันแพง และหาปลาได้น้อย ปัจจุบันจึงเหลือเรือประมงประมาณ 80 ลำ กระทั่งปี พ.ศ. 2539-2540 เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา มีการสร้างท่าเทียบเรือ และหัวสะพาน แต่ไม่มีสะพานปลา โดยพ่อค้าจะมารับปลาถึงบ้าน
คนจีนที่เข้ามาเป็นกลุ่มแรก ๆ ประกอบด้วย 5 ตระกูลด้วยกัน คือ แซ่ด่าน แซ่ตั๋น แซ่อ่อง แซ่จิ๋ว แซ่หลี และเนื่องจากบริเวณนี้เป็นเมืองหน้าด่าน และมีศาลาที่พัก ประกอบกับเป็นหน้าเกาะ และเป็นท่าขึ้นเรือ จึงได้ชื่อว่า “ศาลาด่าน”
ลักษณะที่ตั้งชุมชนศาลาด่าน
ตำบลศาลาด่านเป็นตำบลที่แยกออกมาจากตำบลเกาะลันตาใหญ่ในปี พ.ศ. 2525 มีหมู่บ้านในเขตการปกครองจำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1บ้านศาลาด่าน หมู่ที่ 2 บ้านพระแอะ หมู่ที่ 3 บ้านโล๊ะบาหรา หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งหยีเพ็ง และหมู่ที่ 5 บ้านโล๊ะดุหยง มีพื้นที่แผ่นดินทั้งหมด 38.13 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อ ทะเลอันดามันและคลองลัดบ่อแหน
- ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลเกาะลันตาใหญ่
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ทะเลอันดามัน
สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ
- แหลมคอกวาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลศาลาด่าน เป็นแหลมหาดทรายขาวคอคอด ยื่นออกไปจากฝั่งทะเลอันดามัน หาดทรายสวยงามเป็นธรรมชาติ มีดงสนและทิวมะพร้าวร่มรื่นเหมาะสำหรับท่องเที่ยวเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและมีความเป็นส่วนตัว
- หาดคลองดาว ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลศาลาด่าน เป็นหาดทรายขาวสะอาดขนานเป็นแนวยาวกับถนนสายหลังเกาะทางฝั่งอันดามัน ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของสถานที่พักตากอากาศ ซึ่งมีโรงแรม รีสอร์ต บังกะโล ที่พักหลากหลายระดับราคา เป็นศูนย์กลางแหล่งซื้อขายสินค้าพื้นเมือง สินค้าอุปโภคบริโภค และเป็นย่านธุรกิจสื่อสาร รวมทั้งยังมีสถานธุรกิจบันเทิงเริงรมย์เป็นจำนวนมาก
- หาดโล๊ะบาหรา ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลศาลาด่าน เป็นหาดทรายขาวเนียนละเอียดมาก มีความลาดชันสูง และไร้แนวหินโสโครก สีน้ำทะเลสีครามสดใส เหมาะแก่การเล่นน้ำ ดำน้ำดูปะการัง แนวชายหาดยาวขนานกับถนนสายบ้าน-ศาลาด่าน-บ้านสังกา สายหลังเกาะทางฝั่งอันดามัน เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีความเป็นส่วนตัว สภาพแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ป่าไม้ ร่มไม้ ป่าสนที่สวยงาม
- หาดพระแอะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลศาลาด่าน เป็นแนวหาดทรายสีขาวนวลสลับโขดหินเนินเขาและทิวสน มีความยาวรวมกันไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร ขนานกับถนนสายบ้านศาลาด่าน-บ้านสังกาอู้ สายหลังเกาะทางฝั่งอันดามัน เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ป่าไม้ ร่มไม้ ป่าสนที่สวยงาม ส่วนริมถนนสายบ้านตาลาด่าน-บ้านสังกา มีสถานบันเทิงเป็นจำนวนมากและมีที่พักที่หรูหราที่สุดในตำบลศาลาด่าน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการท่องป่า โดยการขี่ม้าไปตามลำเนาไพรชมธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์
- หาดคลองโขง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลศาลาด่าน มีลักษณะเป็นหาดทรายสลับหิน ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ขนานกับถนนสายหลังเกาะทางฝั่งอันดามัน มีทิวมะพร้าวร่มรื่นเป็นฉากหลัง มีบังกะโลพักผ่อนหลายแห่ง ซึ่งอยู่ในสวนมะพร้าว ควบคู่ไปกับร้านอาหารสไตล์ยุโรป อิตาเลียน อาหารไทย นอกจากนั้นยังมีการท่องป่าขี่ช้างไปตามลำเนาไพรในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และชายหาดเป็นแนวยาวไปสุดหัวแหลมคลองโตบ ตำบลเกาะลันตาใหญ่
- แหลมทึง เป็นหาดทรายที่อยู่ใกล้ชุมชนใหญ่บ้านศาลาด่านมากที่สุด เป็นจุดเชื่อมระหว่างแหลมคอกวางกับบ้านศาลาด่าน น้ำทะเลบริเวณนี้ค่อนข้างตื้นเขินในเวลาน้ำลดสามารถเดินออกไปไกลจนเกือบถึงเกาะเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าเกาะหร้า
- บ่อคุรี ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางศาลาด่านกับท่าเทียบแพขนานยนต์ เป็นบ่อน้ำชับขนาดเท่าคุรี หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก แต่ตักใช้เท่าไหร่ก็ไม่แห้ง มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวเรือและชุมชนแถบนี้มาแต่โบราณปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำสำหรับระบบประปาหมู่บ้าน
- หมู่บ้านทุ่งหยีเพ็ง จัดเป็นมุมสงบของตำบลศาลาด่าน เพราะอยู่ห่างไกลจากแหล่งท่องเที่ยวประเภทสถานที่พักตากอากาศ แต่หมู่บ้านแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งผลิต “กะปิ” ที่มีคุณภาพ มีป่าชายเลนที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ บุคคลที่เป็นที่มาแห่งชื่อหมู่บ้าน "โต๊ะหยีเพ็ง"
- แนวป่าชายเลน เริ่มตั้งแต่หมู่ที่ 5 บริเวณท่าเทียบแพขนานยนต์บ้านศาลาด่าน ผ่านบ้านบ่อแหนบ้านทุ่งล้านถึงบ้านทุ่งหยีเพ็ง ไปจรดเขตตำบลเกาะลันตาใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ชายเลนนานาชนิด อาทิ แสม โกงกาง ถั่ว จาก และเสม็ด เป็นต้น ป่าเหล่านี้นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตกุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะลิงแสมที่ชุกชุม ดังนั้นการล่องเรือไปตามคลองเล็กคลองน้อยที่ร่มรื่นในบริเวณป่าชายเลนแห่งนี้ ก็จะได้รับความอภิรมย์ไม่น้อย
- ชุมชนตลาดบ้านศาลาด่าน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลศาลาด่าน เป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอเกาะลันเตา มีแหล่งขายเสื้อผ้าพื้นเมือง ศิลปหัตถกรรม ของที่ระลึก ร้านอาหารทะเล อาหารยุโรปอิตาเลียน อาหารไทย สำนักงานบริการการท่องเที่ยว ตลอดจนท่าเทียบเรือขนส่งผู้โดยสาร
ชุมชนศาลาด่าน ตำบลศาลด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยหมู่บ้านในปกครองทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ที่ | หมู่บ้าน | ประชากรรวม | ชาย | หญิง | หลังคาเรือน |
1 | ศาลาด่าน | 1,181 | 600 | 581 | 914 |
2 | พระแอะ | 2,232 | 1,108 | 1,124 | 1,879 |
3 | โล๊ะบาหรา | 1,507 | 772 | 735 | 1,713 |
4 | ทุ่งหยีเพ็ง | 1,256 | 653 | 603 | 420 |
5 | โล๊ะดุหยง | 722 | 360 | 362 | 418 |
การกระจายตัวของประชากร
ประชากรในตำบลศาลาด่านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่พักอาศัยมีความหนาแน่นของค่อนข้างต่ำ คนในสังคมมักจะรู้จักกันเป็นอย่างดี และเป็นสังคมที่มีการพึ่งพาอาศัยกันเช่นเดียวกับสังคมชนบททั่วไปของสังคมไทย โดยมีการตั้งถิ่นฐานรวมกันเป็นกลุ่ม กระจายตัวไปตามถนนสายต่าง ๆ ในชุมชน
ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลศาลาด่าน ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร โดยส่วนมากจะเป็นการเพาะปลูก ได้แก่ การทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชไร่ พืชผัก ทำนา สวนผลไม้ตามฤดูกาล และพืชชนิดอื่น ๆ มีครัวเรือนบางส่วนที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรแบบผสมผสานหรือเกษตรตามแนวทางพระราชดำริ (ทฤษฎีใหม่) อย่างไรก็ตาม ตำบลศาลาด่านยังคงมีปัญหาสำคัญที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มที่ คือ ดินไม่ดี (ดินมีกรวดทราย ดินดาน ดินเค็ม ดินจืด ดินเปรี้ยว) ปลูกพืชไม่คุ้มทุน และขาดน้ำ
ด้านการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในตำบลศาลาด่าน เป็นการทำอาชีพเสริมเพียงเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน หรือจำหน่ายผลิตผลภายในชุมชนเท่านั้น ได้แก่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงเป็ด นอกจากนี้ยังมีผู้ทำอาชีพประมงแบบเพาะเลี้ยง โดยมีบ่อเลี้ยงปลากะรัง ตลอดจนมีการทำประมงทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำประมงชายฝั่ง โดยจะทำกันในทุกหมู่บ้าน
ระยะเวลาประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ธุรกืจการท่องเที่ยวในเกาะลันตาเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก เช่นเดียวกับประชาชนในตำบลศาลาด่านซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเกาะลันตา ทั้งนี้ เพื่อให้เข้ากับสภาวะการตลาดและธุรกิจการค้าที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนี้ในพื้นที่ตำบลศาลาด่านมีโรงแรม บังกะโล เกสเฮาส์ เพื่อรองรัการมาเยือนของนักท่องเที่ยว ซึ่งการเจริญเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวนอกจากจะทำให้พาณิชยกรรมเกิดการขยายตัวแล้ว ยังถือเป็นการสร้างงานให้ประชาชนในพื้นที่ เพราะปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่พึงใจกับการทำงานในภาคการเกษตรก็มักจะเข้ามาเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานบริการในสถานที่พักรับนักท่องเที่ยว เช่น โรงแรม บังกะโล เกสเฮาส์ รีสอร์ต หรือบางครั้งก็สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรหรือสัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่จับได้ มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวบริเวณริมหาด ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่เป็นอย่างดี
ตำบลศาลาด่านมีประเพณีสำคัญ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวกระบี่ที่อาศัยอยู่บริเวณริมชายฝั่งทะเลอันดามันในทุกพื้นที่ให้ความสำคัญ คือ ประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ อันเกี่ยวเนื่องกับตำนานความเชื่อความเป็นมาและวิถีชีวิตทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโว้ย การจัดพิธีฉลองเรือก็เพื่อการสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับสู่บ้านเมืองเดิม และการส่งสัตว์ไปไถ่บาป เรือปลาจั๊กที่ทำขึ้นในพิธีลอยเรือ ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ เป็นสัญลักษณ์ของ “ยาน” ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง มีชิ้นไม้ระกำที่สลักเสลาอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ประดับประดาอยู่ในเรือ รูปนกเกาะหัวเรือ หมายถึง “โต๊ะบุหรง” บรรพบุรุษผู้สามารถห้ามลมห้ามฝน ลายฟันปลา หมายถึง “โต๊ะบิกง” บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงู หมายถึง “โต๊ะอาโฆะเบอราไตย” บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ ในเรือยังมีตุ๊กตาไม้ระกำที่ทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิมที่เรียกว่า “ฆูนุงฌึไร” นอกจากนี้ ยังมีการร่ายรำแบบดั้งเดิมผสมผสานกับบทเพลงเก่าแก่และดนตรีรำมะนา เป็นการรำถวายต่อบรรพบุรุษ ทุกคนที่รำเชื่อว่าจะได้บุญ และผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือถือว่าจะเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัย ชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบแต่ความสุขและโชคดีในการทำมาหากิน
พิธีลอยเรือจะจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ ช่วงเช้าชาวบ้านจะเดินทางไปบริเวณที่จะทำพิธี ผู้หญิงจะทำขนม ผู้ชายจะสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว ช่วงเย็นทั้งหญิงและชายจะไปรวมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารเครื่องเซ่นไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นการบอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือ เช้าของวันขึ้น 14 ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือ ผู้หญิงจะร้องรำทำเพลง ในขณะที่รอรับไม้บริเวณชายฝั่ง แล้วขบวนแห่จะแห่ไม้ไปวนรอบศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ “ปลาจั๊ก” คืนวันขึ้น 14 ค่ำ มีพิธีฉลองเรือโดยมีการรำรอบเรือ เพื่อถวายวิญญาณบรรพบุรุษโดยใช้ดนตรีและเพลงรำมะนาประกอบวงหนึ่ง และอีกวงจะเป็นการรำวงแบบสมัยใหม่ มีดนตรีชาโดว์ประกอบการร้องรำ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือและมีพิธีสาดน้ำตอนเที่ยงคืนและทำพิธีอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันขึ้น 15 ค่ำ ก่อนนำเรือไปลอยในทิศทางลมซึ่งแน่ใจว่าเรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่ง หลังจากนั้นแยกย้ายกันนอนพักผ่อน บ่ายวันขึ้น 15 ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งแยกย้ายไปตัดไม้และหาใบกะพร้อมเพื่อทำไม้กันผีสำหรับทำพิธีฉลองในเวลากลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกประการ จนกระทั่งใกล้จะสว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตา และสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย (องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่, ม.ป.ป., ออนไลน์)
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ
ตำบลศาลาด่าน เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และมีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีหาดที่เหมาะกับการท่องเที่ยว การพักผ่อนที่เงียบสงบ การพบปะสังสรรค์ เช่น หาดคลองดาว หาดโล๊ะบาหรา หาดพระแอะ หาดคลองโขง เป็นต้น และยังมีที่พัก รีสอร์ต บังกะโล ที่ทันสมัยและสะดวกสบาย มีป่าชายเลนที่อุดมไปด้วยสัตว์นานาชนิด รวมไปถึงชุมชนตลาดบ้านศาลาซึ่งเป็นแหล่งชอปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอเกาะลันเตา ที่มีแหล่งขายเสื้อผ้าพื้นเมือง ศิลปหัตถกรรม ของที่ระลึก ร้านอาหาร หลากหลายเชื้อชาติให้ผู้คน หรือนักท่องเที่ยวได้เลือกสรรตามความสนใจ ตำบลด่านศาลาถือว่าเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก อันนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับผังเมืองรวม ซึ่งสามารถสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และรายได้มหาศาลที่จะเข้ามาหมุนเวียนในตำบลศาลาด่าน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
จื้ออ. (ม.ป.ป.). เกาะลันตา…Unseen ล้ำค่าแห่งทะเลอันดามัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://jeeor.com/
เทศบาลตำบลศาลาด่าน. (ม.ป.ป.). ข้อมูลประชากร. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.saladan.go.th/
สาโรช อภิวัชรกุล. (2550). การออกแบบพื้นที่ชุมชนศาลาด่านเพื่อรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยว อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการออกแบบชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่. (ม.ป.ป). ประเพณีลอยเรือชาวเล. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.krabipao.go.th/
Marc Larquemin. (2563). หาดพระแอะ. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.tripadvisor.com/
Thai tour. (ม.ป.ป.). หาดคลองดาว. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thai-tour.com/
7 Halal Community. (ม.ป.ป.). ชุมชนตลาดบ้านศาลาด่าน. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก 7 Halal commulity | Krabi province