บ้านปากน้ำ แหล่งรวมภูมิรู้การปลูกข้าว ชุมชนที่มีเรื่องเล่า ความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมโบราณเกี่ยวโยงกับภูมิปัญญาการปลูกข้าวในทุกขั้นตอน เพื่อหวังว่าผลผลิตของของข้าวนั้นจะสมบูรณ์และเจริญงอกงามอย่างดีที่สุด
บ้านปากน้ำ แหล่งรวมภูมิรู้การปลูกข้าว ชุมชนที่มีเรื่องเล่า ความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมโบราณเกี่ยวโยงกับภูมิปัญญาการปลูกข้าวในทุกขั้นตอน เพื่อหวังว่าผลผลิตของของข้าวนั้นจะสมบูรณ์และเจริญงอกงามอย่างดีที่สุด
อำเภอปลายพระยา ในอดีตขึ้นอยู่ในเขตปกครองของอำเภอไทรขึง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในสมัยนั้นเรียกว่า บ้านปากน้ำ และบ้านเขาเขน ซึ่งขึ้นอยู่กับตำบลอิปัน ต่อมาทางราชการได้แยกบ้านปากน้ำกับบ้านเขาเขนตั้งเป็นตำบลปลายพระยาและตำบลเขาเขน แล้วย้ายอำเภอไทรขึงไปตั้งเป็นอำเภอพระแสงในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2478 ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดและโอนตำบลปลายพระยาและตำบลเขาเขนให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2516 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแบ่งท้องที่อำเภออ่าวลึกตั้งเป็นกึ่งอำเภอปลายพระยา มีเขตการปกครอง 3 ตำบล คือ ตำบลปลายพระยา ตำบลเขาเขน และตำบลเขาต่อ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2520 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะให้เป็นอำเภอปลายพระยาและในวันที่ 2 กันยายน 2526 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแบ่งท้องที่ตำบลเขาเขนบางส่วนเป็นตำบลคีรีวง (ผลิพันธุ์ พวงช่อ, 2543: 54)
บ้านปากน้ำจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 ให้เป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ในจำนวน 13 หมู่บ้านของตำบลปลายพระยา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2478 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายกล่ำ ทวีศรี ประกอบด้วยกลุ่มบ้าน 6 กลุ่มบ้าน คือ บ้านควน บ้านควนน้ำใส บ้านใหม่ไทรทอง บ้านวังใหญ่ บ้านกลาง และบ้านหนองชุมแสง
อาณาเขต
หมู่บ้านปากน้ำ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขตพื้นที่ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ห่างจากตัวอำเภอปลายพระยาประมาณ 5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดกระบี่ประมาณ 70 กิโลเมตร มีพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 5,700 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 4,900 ไร่ โดยที่บ้านปากน้ำมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านอื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านวังจา
- ทิศใต้ ติดต่อ บ้านเขาเขน
- ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านควนเจียก
- ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านปากหยา
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่โดยทั่วไปของหมู่บ้านปากน้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ดังกล่าวจะนำมาใช้ในการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านเป็นพื้นที่นาประมาณ 1,000 ไร่ รอบ ๆ บริเวณพื้นที่นาเป็นที่สวน ส่วนที่เหลือจะใช้ประโยชน์ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ในอดีตการทำนาอาศัยน้ำฝนธรรมชาติ ในปัจจุบันนอกจากอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติในการทำนาแล้วยังอาศัยน้ำจากคลองชลประทาน ในพื้นที่นาดังกล่าวมีการจัดทำโครงการปลูกข้าว ชื่อ “โครงการปถูกข้าวเพื่อบริโภคแบบกรบวงจร ในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวถึก จังหวัดกระบี่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ได้ทำนาปลูกข้าวจนสามารถขยายเป็นโรงสีขนาดเล็กและธนาคารข้าวต่อไป
แหล่งน้ำธรรมชาติ
แหล่งน้ำธรรมชาติของบ้านปากน้ำ ได้แก่ คลองอิปัน ซึ่งมีต้นน้ำเกิดบริเวณเทือกเขาพนมเบญจาในเขตอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ และคลองพันโตน ซึ่งมีต้นน้ำเกิดบริเวณภูเขาทองในตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา คลองอิปันและคลองพันโตนไหลมาบรรจบกันที่บริเวณบ้านปากน้ำและไหลไปลงแม่น้ำตาปีที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากคลองอิปันในการเพาะปลูกใช้เลี้ยงวัว ควาย และเป็นแหล่งอาหาร นอกจากลำกลองแล้วขังมีหนองน้ำขนาดใหญ่พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเรียกว่า “หนองนาโพรงเข้” เป็นหนองน้ำสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีหนองลำเล็ก ๆ ที่ได้จากการขังของน้ำฝนในฤดูฝน แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะแห้งขอด
นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำซึ่งเกิดจากโครงการพระราชดำริ คือ อ่างเก็บน้ำคลองหยา ดำเนินการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 สามารถก็บน้ำได้ 3.20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บกักน้ำ รักษาระดับน้ำ และเพื่อทำการเกษตรใช้น้ำน้อย ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3,000 เมตร มีคลอชลประทานส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหยาเข้ามาในพื้นที่ทำการเกษตรของหมู่บ้าน
ลักษณะของดิน
พื้นดินในบ้านปากน้ำมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาลปนแดง พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเหมาะแก่การทำนา ปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา ในปัจจุบันยังมีการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชไร่นาสวนผสมตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ โดยมีเกษตรอำเภอเข้าไปให้คำแนะนำและจัดหาพันธุ์พืชและสัตว์บางชนิดไปให้
การคมนาคม
หมู่บ้านปากน้ำอยู่ห่างจากอำเภอปลายพระยาเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีระยะทางห่างจากตัวอำเภอถึงปากทางเข้าหมู่บ้านเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ในหมู่บ้านมีถนนสายวัดนทีเป็นถนนลาดยางตัดผ่านหมู่บ้านเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร คือ จากปากทางเข้าหมู่บ้านถึงวัดนทีมุขาราม ส่วนที่เหลือยังเป็นถนนลูกรังที่เชื่อมระหว่างบ้านปากน้ำ บ้านควนเจียก และบ้านควนพระยา เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ถนนอีกสายหนึ่ง คือ ถนนประชาราช เป็นถนนลูกรังที่เชื่อมระหว่างบ้านปากน้ำกับบ้านเขาเขนเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร
การคมนาคมจากหมู่บ้านมาที่ปากทางเข้าหมู่บ้านนั้นไม่มีรถประจำทางหรือรถสองแถว ชาวบ้านมักจะเดินด้วยเท้าหรือใช้รถส่วนตัว หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างในอัตราค่าจ้าง 10 บาท ต่อหนึ่งเที่ยว ดังนั้นเมื่อจะเข้า-ออกหมู่บ้านจะพบเห็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างจอดรอรับผู้โดยสารอยู่ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านเพื่อรับส่งชาวบ้านเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านที่ไม่มีรถส่วนตัวเมื่อต้องเดินทางไปทำธุระที่ตัวอำเภอหรือที่อื่นจะต้องมารอรถโดยสารประจำทางสองแถวเล็กสายปลายพระยา-อ่าวลึก วิ่งรับส่งผู้โดยสารตั้งแต่ 06.00-18.00 น. และรถประจำทางกระบี่-สุราษฎร์ธานี ซึ่งวิ่งรับส่งผู้โดยสารจากตัวเมืองกระบี่ถึงตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นรถ บ.ข.ส. สีแดงและรถปรับอากาศ โดยจะวิ่งรับส่งผู้โดยสารตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
ประชากร
บ้านปากน้ำ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ มีประชากรทั้งหมด 768 คน แบ่งเป็นชาย 405 คน หญิง 363 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 229 ครัวเรือน
ลักษณะและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
ชาวบ้านในแต่ละครอบครัวมีความเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกันเกือบทั้งหมู่บ้าน ซึ่งอาจเป็นญาติทางสายโลหิต หรือญาติตามการแต่งงาน อาจเป็นญาติสนิทบ้าง ญาติห่าง ๆ บ้าง หรือนับเสมอญาติบ้างจึงรู้จักกันแทบทุกครัวเรือน เมื่อมีพิธีกรรมต่าง ๆ ของครัวเรือนใดก็ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี สำหรับลักษณะครอบครัวของชาวบ้านปากน้ำจะมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัว คือ ครอบครัวส่วนใหญ่ เมื่อลูกแต่งงานแล้วก็มักจะแยกครอบครัวออกมาสร้างบ้านเรือนต่างหาก ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่หรือพี่น้องคนอื่น ๆ
ในการแต่งงานของหนุ่มสาว พ่อแม่เปิดกว้างให้อิสระแก่หนุ่มสาวในการเลือกคู่ครองอย่างเต็มที่โดยหนุ่มสาวจะเลือกคู่ครองกันเองตามความพอใจ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่จะไม่ขัดขวางเพียงแต่ให้คำแนะนำเวลาที่หนุ่มสาวหรือลูกมาปรึกษาเท่านั้น การแต่งงานไม่มีข้อห้ามว่าจะต้องแต่งงานกับคนในหมู่บ้าน หนุ่มสาวแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านก็ได้ แต่โดยปกติแล้วมักจะแต่งงานกับคนในหมู่บ้านเดียวกันหรือหมู่บ้านใกล้เคียง หรือคนในอำเภอเดียวกันเป็น
สำหรับการสืบมรดก โดยทั่วไปลูกทุกคนจะได้รับการแบ่งปันทรัพย์สิน ที่ดิน ในจำนวนเท่า ๆ กัน โดยพ่อแม่จะกันที่ดินไว้เป็นส่วนของตนเองเพื่อเป็นหลักประกันในยามแก่เฒ่า โดยเฉพาะลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าจะได้รับมรดกบ้านและที่ดินที่ติดกับบ้านของพ่อแม่ ซึ่งจะได้มากกว่าพี่น้องทั้งหมด เป็นผลตอบแทนในการเลี้ยงดูพ่อแม่ การแบ่งมรดกขึ้นอยู่กับความพอใจของพ่อแม่ว่าสมควรจะยกให้ลูกคนใด เมื่อใด แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะยกมรดกที่ดินหรือสวนให้กับลูกเมื่อแต่งงานออกไปตั้งครอบครัวเป็นของตนเอง เพื่อสร้างฐานะให้กับครอบครัวของตนเองต่อไป ในกรณีที่พ่อแม่แก่ชราเกรงว่าจะเสียชีวิตก่อนที่ลูกจะได้แต่งงานกันครบทุกคนก็อาจแบ่งทรัพย์สินที่ดินต่าง ๆ ให้แก่ลูกทุกคนก่อน
ปัจจุบัน บ้านปากน้ำทุกครอบครัวประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนปาล์มน้ำมัน การทำสวนยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่ครัวเรือน แม้ว่าบางครัวเรือนจะมีอาชีพรับราชการหรือทำงานบริษัท หรืออาชีพอื่นที่อยู่นอกเหนือภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ก็ยังทำสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ มีการทำนาปลูกข้าวไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งนิยมปลูกพืชไร่บางชนิด เช่น แตงกวา แตงโม ข้าวโพด พริก ถั่วฟักยาว เป็นต้น เพื่อเก็บผลผลิตขายหรือบริโภคในครัวเรือน และยังมีการเลี้ยงไก่ เป็ด เพื่อไว้บริโภคไข่ในครัวเรือน
ปัจจุบันสามารถจัดแบ่งการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาวบ้านปากน้ำได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม โดยการประกอบกิจกรรมประเภทนี้ยังแบ่งได้เป็นการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมแบบเพื่อยังชีพกับการเกษตรกรรมเพื่อการค้า และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรม
การเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ
การทำเกษตรกรรมประเภทนี้ ได้แก่ การทำนา การทำไร่ การปลูกพืชไร่บางชนิด เช่น ข้าวโพด แตงโม แตงกว่า ถั่วลิสง ถั่งฝักยาว บวบ ฯลฯ รวมไปถึงพืชสวนครัว เช่น พริก มะนาว มะกรูด ขมิ้น ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพืชยืนต้นจำพวกไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ชมพู่ มะพร้าวกล้วย ฯลฯ รวมทั้งหมากพลู ซึ่งล้วนแต่เพื่อใช้บริโภคภายในครัวเรือน ที่เหลือจากการบริโภคก็จะนำไปแจกจ่ายญาติ ๆ เพื่อนบ้านและขายเป็นรายได้
นอกจากพืชผักที่ปลูกเองแล้ว ยังมีพืชผักบางชนิดที่สามารถเก็บหาได้จากธรรมชาติ เช่น ผักบุ้ง ใบบัวบก ใบราน้ำ เห็ด ฯลฯ ซึ่งมีมากในช่วงฤคูฝน รวมทั้งการหาหอย ปู ปลา ที่อยู่ตามท้องนา ลำคลอง คลองชลประทานและหนองน้ำ โดยใช้เครื่องมือที่ประกอบขึ้นเองอย่างง่าย ๆ ได้แก่ แห อวน เบ็ด และตาข่าย สัตว์ที่จับได้ส่วนมากจะมีเพียงพอแค่การบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ทั้งนี้ ชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนจะเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ ไว้บริโภคเองในครัวเรือน โดยปล่อยให้หาอาหารเองตามบริเวณบ้าน ครั้นเวลาค่ำสัตว์เหล่านี้ก็จะเข้าไปนอนในเหล้าหรืออาศัยพุ่มไม้หลับนอน สำหรับหมู วัว ไม่นิยมเลี้ยง มีเพียง 3-4 ครัวเรือน ที่เลี้ยงไว้เพื่อขายโดยตรงไม่นิยมนำมาบริโภคในครัวเรือน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้ขุดสระไว้เลี้ยงปลาด้วย ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก ซึ่งจะนำมาบริโภคในครัวเรือน หรือถ้ามีมากก็จะนำไปขาย
การเกษตรกรรมเพื่อการค้า
การทำเกษตรกรรมประเภทนี้ ได้แก่ การปลูกยางพาราและการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่นำเข้ามาปลูกในหมู่บ้านโดยการส่งเสริมของสหกรณ์นิคม ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อขายทั้งสิ้น
การทำนาข้าว
แต่เดิมชาวบ้านปากน้ำมีอาชีพทำนาเป็นหลักเพียงอย่างเดียวก็สามารถใช้เลี้ยงชีพและสมาชิกทุกคนในครัวเรือนได้ การเพาะปลูกข้าวของชาวบ้านปากน้ำในสมัยก่อนอาศัยน้ำฝนธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้มีการเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้ง เมื่อใกล้จะถึงช่วงฤดูฝนประมาณเดือน 7 ชาวบ้านจะเริ่มเผาซังข้าวในท้องนาและจะเริ่มการเพาะปลูกข้าวในช่วงเดือน 8 (เดือนมิถุนายน) โดยชาวบ้านจะเตรียมพันธุ์ข้าวที่จะใช้เพาะปลูกซึ่งคัดเก็บไว้สำหรับทำพันธุ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว พันธุ์ข้าวที่ใช้เป็นพันธุ์พื้นเมือง คือ พันธุ์ข้าวเบา ได้แก่ ลิปี ยกยอ เมาหอม และพันธุ์ข้าวหนัก ได้แก่ ดอกจาก นางขาว พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านชุมชนปากน้ำนิยมปลูกคือ พันธุ์ข้าวเบา
พื้นที่นาบ้านปากน้ำมีลักษณะเป็นแบบพื้นบ้าน คือ เป็นนาแปลงเล็ก ๆ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บิ้ง” มีคันนาขนาดเล็กกั้นแบ่งในแต่ละบิ้ง สาเหตุที่ต้องแบ่งที่นาเป็นแปลงหรือบิ้งเล็ก ๆ เนื่องจากพื้นที่นามีระดับความสูงต่ำไม่เท่ากันทำให้ต้องแบ่งที่นาเป็นแปลงขนาดเล็กเพื่อความสะดวกในการรักษาระดับน้ำ แต่เมื่อ พ.ศ. 2530 ได้มีการจัดตั้ง “โครงกรปลูกข้าวเพื่อการบริโภคแบบครบวงจรในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในหมู่บ้านปากน้ำ โดยมีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหยาและคลองส่งน้ำชลประทานเพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่นา ทำให้มีคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ และถนนคลองชลประทานที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านแกน้ำมีน้ำใช้สำหรับทำนา และสามารถทำนาได้มากขึ้น จากเดิมที่ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แต่ปัจจุบันนี้บางครัวเรือนสามารถทำได้ถึงปีละ 2 ครั้ง
ศาสนา ความเชื่อ และประเพณี
ชาวบ้านปากน้ำโดยพื้นฐานนับถือศาสนาพุทธ และมีความเชื่อว่าการทำบุญตักบาตร การเข้าวัดรับศีลฟังธรรมเป็นประจำ เป็นการสะสมผลบุญเพื่อว่าชาติหน้าจะได้เกิดใหม่ในสถานภาพที่ดีกว่าในปัจจุบัน เช่น มีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าในปัจจุบัน มีอำนาจวาสนาเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป หรือเมื่อตายไปแล้วจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า เป็นเทวดา นางฟ้า ชาวบ้านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ในทุก ๆ เช้า ชาวบ้านจะนำอาหารมาตักบาตรพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาต ในวันพระและวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะนำอาหารไปทำบุญตักบาตรที่วัด มีการรับศีล ฟังพระธรรมเทศนา ส่วนในเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งกำหนดให้พระสงฆ์ต้องประจำอยู่ที่วัดและไม่ได้ออกบิณฑบาตเป็นระยะเวลา 3 เดือน ชาวบ้านจะจัดเวรนำอาหารมาถวายพระที่วัด นอกจากนี้ ไม่ว่าทางวัดจะขอความร่วมมือจากชาวบ้านในการทำงานหรือขอความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยบริจาคสร้างถาวรวัตถุให้แก่วัด ช่วยงานวัดในช่วงเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ช่วยทำความสะอาดบริเวณวัด เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ความเชื่อ
นอกจากความเชื่อในพระพุทธศาสนาชาวบ้านปากน้ำยังมีความเชื่ออื่น ๆ ที่ชาวบ้านปากน้ำยังคงยึดถือและมีพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานาน ซึ่งระบบความเชื่อเหล่านี้นับว่าเป็นสิ่งที่มีบทบาทและยังคงมีความสำคัญต่อทางด้านจิตใจและพฤติกรรมของชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยจะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
- ความเชื่อเรื่องครูหมอ ครูหมอเป็นผีชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านปากน้ำให้ความศรัทธาและนับถือมาก ผีชนิดนี้ส่วนมากเกี่ยวข้องกับศิลปินพื้นบ้าน เช่น ครูหมอหนังตะลุง ครูหมอโนรา ครูหมอเหล็ก ครูหมอยา ครูหมอเป็นผีที่เป็นครูต้นหรือบรรพบุรุษผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ในสาขานั้น ๆ ให้แก่ลูกหลาน ใครที่รับเอาวิชาความรู้เหล่านั้นมาถือปฏิบัติก็จะต้องยอมรับนับถือผีเหล่านั้นเป็นครูด้วย ครูหมอเหล่านี้ต้องมีพิธีเช่นสรวงเป็นวาระตามแต่จะตกลงกับครูหมอเอาไว้ เช่น ให้กินทุกปี สองปีครั้ง หรือสิบปีครั้ง
- ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาพญายอดน้ำ เทวดาพญายอดน้ำ หรือ “เทวดายอดน้ำ” เชื่อว่าเป็นเทวดาผู้ปกป้องดูแลคลองอิปันและคลองพันโตน เล่ากันว่าเทวาพญายอดน้ำเป็นพญางูที่มีลักษณะเป็นงูจงอางขนาดใหญ่เท่าต้นหมาก สีขาว มีแม่เบี้ย 3 เบี้ยอยู่บนศีรษะ พญางูได้ไปรับกับพญาท่าข้ามซึ่งเป็นจระเข้เพื่อแย่งนางศรีวันทองซึ่งเป็นมนุษย์ โดยไปรบกันที่ย่านดินแดง ต่างฝ่ายต่างเกณฑ์พวกของตนไปช่วยรบกันเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งงูดินหรือจระเข้ตัวเล็ก ๆ ซึ่งบริเวณที่รบกันนั้นน้ำในคลองเป็นสีเลือด กลิ่นคาวเลือดของงูและจระเข้เหม็นคาวคละคลุ้งไปทั่วลำคลอง จนชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ผลปรากฏว่าเทวดาพญายอดน้ำเป็นฝ่ายชนะ และสั่งห้ามไม่ให้จระเข้ามาอาศัยอยู่ในคลองอิปันและคลองพันโตน ซึ่งปรากฏว่าตลอดลำคลองอิปันและลำน้ำพันโตนตั้งแต่โบราณกาลจะมีจระเข้อาศัยอยู่น้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะคำสั่งของเทวดาพญายอดน้ำที่ห้ามไม่ให้จระเข้าเข้ามา
- ความเชื่อเรื่องขวัญ ชาวบ้านปากน้ำเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายย่อมมีธรรมชาติอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ขวัญ” อยู่ประจำตัว ถ้าขวัญอยู่ปกติก็มีความสุขสบาย เจริญงอกงาม ถ้าขวัญหายไปอาจจะเจ็บไข้ได้แวยหรือทรุดโทรมเสียหาย ด้วยเหตุนี้ขวัญจึงมีความหมายสำคัญยิ่งต่อชีวิต ชาวบ้านปากน้ำจงมีพิธีทำขวัญเกิดขึ้น ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม่แต่พืชหรือสัตว์ก็ถือว่าขวัญมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
- ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ชาวบ้านปากน้ำให้ความสำคัญกับความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด เช่น การปลูกพืช จะต้องปลูกให้ตรงกับวันดี วันฟู ไม่ให้ตรงกับวันจมหรือวันป่วย และถ้าปลูกพืชให้ผลควรปลูกให้ตรงกับวันเสาร์ ถ้าปลูกพืชในวันไม่ดี พืชที่ปลูกจะไม่เจริญงอกงาม และให้ผลผลิตไม่ดี
ประเพณีในรอบปี
ชาวบ้านปากน้ำมีประเพณีที่สำคัญในรอบปี ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญในด้านพุทธศาสนาและทางด้านความเชื่อของชาวใต้ นอกจากเป็นการทำบุญแล้ว บางงานอาจมีมหรสพหรือการละเล่นต่าง ๆ ซึ่งให้ความบันเทิงและความรื่นเริงเป็นการผ่อนคลายความเครียด อีกทั้งทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะ สังสรรค์และร่วมแรงร่วมใจในการจัดงานนั้น ๆ ดังต่อไปนี้
- เดือน 3 วันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพุทธศาสนาซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ในวันมาฆบูชาชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด มีการเลี้ยงพระในตอนเช้าและเพล หลังจากนั้นมีการรับศีลและฟังเทศน์ ส่วนในตอนกลางคืนประมาณ 20.00 น. ชาวบ้านจะมาเวียนเทียนที่วัด โดยจะมีการสวดมนต์และเวียนเทียนรอบโบสถ์ 3 รอบ
- เดือน 5 วันปากปีปากเดือน ตรงกับแรม 14 ค่ำ เดือน 5 ถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่า ในวันนี้ชาวบ้านจะนำอาหารและขนมไปทำบุญ ตักบาตรที่วัด ขนมที่นิยมทำกันคือ ขนมสอดไส้ ขนมเทียนและขนมท่อนใต้ ในตอนเที่ยงมีการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รวมทั้งอาบน้ำให้ผู้สูงอายุ
- เดือน 6 วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันนี้ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัดในตอนเช้า ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการสวดมนต์และเวียนเทียนรอบโบสถ์ 3 รอบ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ
- เดือน 8 วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถ้าปีใดเข้าอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองครั้ง จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 เป็นวันที่กำหนดให้พระสงฆ์ต้องอยู่ประจำที่วัดโดยไม่ให้ไปค้างคืนที่อื่นเป็นระยะเวลา 3 เดือน ก่อนวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันหล่อเทียนเพื่อมอบให้กับวัดไว้สำหรับจุดในโบสถ์เป็นพุทธบูชาตลอดช่วงเข้าพรรษา ในตอนเช้าของวันเข้าพรรษาชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรที่วัด ในตอนบ่ายจะมีการแห่เทียนเข้าวัด พร้อมทั้งถวายผ้าอาบน้ำฝนและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่พระภิกษุ จากนั้นมีการฟังธรรมเทศนา
- เดือน 10 วันสารทเดือนสิบ ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านเชื่อกันว่านายนิรยบาลทั้งหลายจะปล่อยสัตว์นรก เปรต ขึ้นมายังมนุษย์โลก เพื่อที่จะได้รับอนุโมทนาสาธุ รับเอาส่วนบุญส่วนกุศลทั้งหลาย เปรตจะมาหาญาติพี่น้องของตนทุกแห่งหน ถ้าไม่เห็นญาติพี่น้องลูกหลานของตนเองมาทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา ก็จะโกรธพากันสาปแช่งลูกหลาน
- เดือน 11 วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันสุดท้ายแห่งการเข้าพรรษาและเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ไปเทศน์สั่งสอนประชาชนหรือเยี่ยมญาติพี่น้อง ในตอนเช้าของวันออกพรรษาจะมีการทำบุญตักบาตร รับศีล ฟังพระธรรมเทศนา
- เดือน 12 การทอดกฐิน หลังจากออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 เป็นระยะเวลา 1 เดือน จะมีการทำบุญทอดกฐินเพื่อถวายผ้าไตรและเครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ แก่พระสงฆ์
การบริโภคอาหาร
อาหารที่บริโภคประจำวัน คือ ข้าวจ้าวที่ปลูกกันเองเป็นหลัก กับข้าวที่นิยมรับประทาน ได้แก่ น้ำพริกกะปิกับผักสด ผักต้ม อาหารประเภทแกง อาทิ แกงส้ม แกงกะทิ แกงพริก ซึ่งเครื่องแกงทุกชนิดจะมีขมิ้นเป็นส่วนผสมด้วย และอาหารประเภทต้ม ผัด ทอด เป็นต้น รวมไปถึงพืชผักนานาชนิด วัตถุดิบเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพืชที่ชาวบ้านปลูกกันเองตามไร่นา ส่วนอาหารจากสัตว์ชาวบ้านจะมีการเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเองและซื้อจากตลาด ตลาดที่ชาวบ้านนิยมไปหาซื้อกับข้าว คือ ตลาดสดในอำเภอปลายพระยา ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 5 กิโลเมตร วันศุกร์ของทุกสัปดาห์จะมีตลาดนัด ซึ่งจะมีพ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขายเป็นจำนวนมาก ตลาดอีกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านปากน้ำนิยมไปซื้อของกินของใช้กัน คือ ตลาดอ่าวลึก ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีของขายมากกว่าตลาดในอำเภอปลายพระยา ชาวบ้านปากน้ำจะนิยมไปตลาดอ่าวลึกกันในวันเสาร์ เนื่องจากเป็นวันนัด มีของขายมากกว่าวันปกติ ในหมู่บ้านปากน้ำเองเมื่อก่อนก็มีตลาดนัดตั้งอยู่บริเวณบ้านกลาง ซึ่งจะนัดกันทุกวันจันทร์แต่ได้เลิกนัดไปเมื่อประมาณ 6 ปีมาแล้ว
สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านปากน้ำเข้าไปเกี่ยวข้องและรับเอาระบบเศรษฐกิจเชิงพานิชย์เข้ามาเกือบทั้งหมด แม้ว่าในสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันจะคงรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเดิมอยู่บ้าง แต่จากการติดต่อและต้องพึ่งพาปัจจัยหลาย ๆ อย่างจากสังคมภายนอก จึงทำให้การยอมรับในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีตลาดเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนได้โดยง่ายจนบางครั้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อสังคมหมู่บ้านก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องหาต้องมีเหมือนบ้านอื่น ๆ โดยมีความคิดว่าเป็นการมีหน้ามีตาและเท่าเทียมกับคนอื่น
เครื่องมือที่ใช้ในการเพราะปลูกข้าว
สืบเนื่องจากบ้านปากน้ำในอดีตเป็นชุมชนที่มีวิถีการดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมการทำนาเป็นหลัก ซึ่งในยุคก่อนนั้น กระบวนการทำนาทั้งการไถ คราด หรือเก็บเกี่ยว ยังไม่มีเครื่องมือทุ่นแรงดังเช่นปัจจุบัน เหล่าบรรพบุรุษจึงได้คิดค้นภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวในไร่นา ซึ่งตกทอดมาสู่ลูกหลานกระทั่งปัจจุบัน
เครื่องมือเตรียมดิน ได้แก่ ไถ คราด ไม้มอบ พร้า จอบ เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้บางอย่างทำขึ้นเพื่อการเตรียมดินปลูกข้าวโดยเฉพาะ เช่น ไถ คราด ไม้มอบ แต่บางอย่างทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย เช่น พร้า จอบ ซึ่งใช้ในการฟันไม้ จักตอก ขุดดินและใช้งานโดยทั่วไป
1. แกะ เป็นเครื่องมือในการเก็บข้าว ทำด้วยเหล็กมีคม ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร มีด้ามที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร
2. กระสอบ เป็นภาชนะใส่รวงข้าวและเมล็ดข้าว ชาวบ้านจะนำใบเตยมาจักตอกเป็นตอกเล็ก ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วนำมาสานเป็นกระสอบทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร สูงประมาณ 45 เซนติเมตร
3. ไม้คานหาบ เป็นเครื่องหาบข้าวทำจากไม้ไผ่ตงผ่าซีก มีลักษณะแบน ปลายสองข้างเรียวเป็นไม้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร กึ่งกลางของไม้คานหาบจะกว้างกว่าส่วนอื่น ๆ ประมาณ 5 เซนติเมตร และจะเรียวลงมาหาปลายทั้งสองข้าง
4. สาแหรก เป็นเครื่องหาบมีอยู่สองข้าง ใช้ไม้คานหาบสอดกลาง ทำมาจากหวายผ่าซีก ถักเป็นสี่มุม แต่ละมุมมีสายสูงขึ้น 60-100 เซนติเมตร ผูกรวบสายตรงปลายให้เป็นบ่วงสำหรับคล้องไม้คาน เมื่อจะหาบจึงเอากระสอบวางลงระหว่างสายสาแหรกแต่ละข้าง
5. เสื่อหรือสาด ใช้สำหรับปูเพื่อนวดข้าว ทำจากใบเตยนำมาจักตอกแล้วสานลายสองเป็นเสื่อกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร
6. แผง ใช้ร่อนข้าวเปลือกที่นวดแล้ว ทำจากไม้ไผ่จักตอกนำมาสานเป็นช่องโปร่งๆ มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร
7. กระด้ง ใช้ฝัดข้าวเปลือก ข้าวสาร ทำจากไม้ไผ่และหวายนำมาสานแล้วทาด้วยขี้ชัน มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นภาคใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
งานศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล. (2563). "คันไถ" เครื่องจักสานภูมิปัญญาชาวบ้านพื้นบ้านอีสาน. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://culture.vu.ac.th/
พิชชา ทองขลิบ. (2561). สาแหรก. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/
ผลิพันธุ์ พวงช่อ. (2543). ผลกระทบการปลูกปาล์มน้ำมันที่มีต่อระบบความเชื่อ พิธีกรรม และความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนปากน้ำ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วุฒิชัย เพชรสุวรรณ. (2557). แกะเก็บข้าว. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/
สนม ครุฑเมือง. (2561). ไถ. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/
องค์การบริหารส่วนตำบลปลายพระยา. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.plaipraya.go.th/