Advance search

สถานที่แห่งการรวบรวมความรู้ ทักษะ และความสามารถในการทำเกษตรกรรมหลายรูปแบบ ทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน การเกษตรแบบพืชหมุนเวียน ทำให้ชุมชนห้วยบ้านไทรงามเป็นชุมชนเกษตรต้นแบบในการทำการเกษตรกรรม

ห้วยไทรงาม
ลำเลียง
กระบุรี
ระนอง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
13 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
บ้านห้วยไทรงาม


ชุมชนชนบท

สถานที่แห่งการรวบรวมความรู้ ทักษะ และความสามารถในการทำเกษตรกรรมหลายรูปแบบ ทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน การเกษตรแบบพืชหมุนเวียน ทำให้ชุมชนห้วยบ้านไทรงามเป็นชุมชนเกษตรต้นแบบในการทำการเกษตรกรรม

ห้วยไทรงาม
ลำเลียง
กระบุรี
ระนอง
85110
10.3116338875366
98.8627722859382
องค์การบริหารส่วนตำบลลำเลียง

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านห้วยไทรงามปัจจุบัน ส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสาน เนื่องจากในภาคอีสานมีพื้นที่แห้งแล้งเศรษฐกิจไม่ดี จึงทำให้ตัดสินใจอพยพครอบครัวเพื่อแสวงหาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำมาหากิน ในระยะแรกมีการประกอบอาชีพเกษตรกรโดยการปลูกกาแฟเพียงอย่างเดียว เพราะในช่วงนั้นกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดี ขายได้ราคาสูง ทำให้มีประชาชนจากภาคอีสานอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  จากการชักชวนของพี่น้องที่อพยพมาอาศัยก่อนหน้านี้ และคนที่อพยพเข้ามาในชุมชนก็ล้วนปลูกกาแฟกันมากขึ้นเกือบทุกครัวเรือนก็ว่าได้ ทว่า เนื่องจากปริมาณกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กาแฟมีราคาตกต่ำลงจากผลผลิตที่มีจำนวนมาก เมื่อราคากาแฟตกต่ำลง จึงทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว และยังทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นด้วย ถ้าไม่ทำไร่กาแฟก็เป็นหนี้ เมื่อทำต่อยิ่งทำให้หนี้เพิ่มมากขึ้น เกษตรกรบางส่วนจึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีหน่วยงานมาช่วยให้ความรู้ถึงการปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่น การปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน พืชผัก และผลไม้ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรบ้านห้วยไทรงามมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว และเกิดรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี และชาวบ้านยังมีการปรับตัวเกี่ยวกับการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยมีการเลี้ยงสัตว์เข้ามาเพิ่มขึ้น เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงกบ เป็นต้น

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ เป็นพื้นที่เชิงเขาติดกับน้ำตกภูเขา ลำห้วย และเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์บ้านห้วยไทรงาม คุ้มบ้านห้วยไทรงามใน และคุ้มบ้านนางรอง ในพื้นที่ส่วนนี้ชาวบ้านจะมีการทำเกษตรในด้านของการปลูกยางพารา ทุเรียน กาแฟ เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกยางพาราทุเรียน กาแฟ อาจเนื่องมาจากพื้นที่ติดอยู่กับเชิงเขาจึงมีความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ
  • ทิศใต้ เป็นพื้นที่เชิงเขา และบางส่วนเป็นพื้นที่ลุ่มเล็กน้อย ติดกับลำคลอง ลำห้วย ชาวบ้านในละแวกนี้นิยมเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และ เนื่องจากมีทรัพยากรทางน้ำและพื้นดินมีความเหมาะสมกับพืชชนิดนี้
  • ทิศตะวันออก เป็นพื้นที่ราบลุ่มติดลำห้วยไทรงาม ที่ตั้งของสำนักสงฆ์น้ำทุ่น คุ้มน้ำทุ่น คุ้มบ้านโคราช คุ้มบ้านยโส คุ้มบ้านห้วยกำ คุ้มบ้านห้วยแช่ บริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นและมีการปลูกพืชทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ยางพารา ทุเรียน กาแฟ ปาล์มน้ำมัน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่ดี สภาพดินดี มีการหารายได้เสริมจากการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเอง และจำหน่ายเพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนจากพืชหลักของเกษตรกรมีราคาตกต่ำ
  • ทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ราบลุ่มและที่เชิงเขา ติดกับลำห้วย ลำคลอง เป็นที่ตั้งของคุ้มบ้านห้วยไทรงามนอก และมีพื้นที่ติดกับคุ้มบ้านห้วยตาทองหมู่ที่ 7 ชาวบ้านในพื้นที่นี้นิยมปลูกยางพารา ทุเรียน และกาแฟ เนื่องจากมีสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม

บริบทพื้นที่ของบ้านห้วยไทรงามในทิศทางต่าง ๆ จะมีลักษณะพื้นที่ที่มีความใกล้เคียงกัน เพราะพื้นที่ตามแผนที่ของชุมชนบ้านห้วยไทรงาม จะติดกับเชิงเขาแทบทุกส่วน มีสภาพของทรัพยากรที่ดี มีแหล่งน้ำ มีดินที่มีความเหมาะสมกับการทำการเกษตร โดยมีการทำเกษตรภายใต้การนำแนวคิดเรื่อง การเพาะปลูกพืชผลแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อเป็นอาชีพที่หารายได้ให้กับครอบครัว ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จากการที่ได้ผลผลิตไปจำหน่าย และทำให้มีรายได้จากการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี

สภาพดิน

  • คุ้มบ้านห้วยไทรงามใน คุ้มนางรอง สภาพดินเป็นดินแดง ดินภูเขา เนื้อดินค่อนข้างแข็ง เหมาะกับการปลูกยางพาราแบบขั้นบันได ซึ่งก่อนปลูกจะมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสมด้วยวิธีการใส่ปุ๋ย
  • คุ้มห้วยไทรงามนอก สภาพดินเป็นดินเหนียวปนทรายและดินร่วน เหมาะสมกับการเพาะปลูก ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน กาแฟ และพืชผักสวนครัว ซึ่งเกษตรกรก่อนจะปลูกจะต้องมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสม ด้วยการใส่ปุ๋ย หมักปุ๋ยชีวภาพและไดโนไม
  • คุ้มบ้านน้ำทุ่น คุ้มบ้านโคราช คุ้มบ้านยโส คุ้มห้วยก่ำ คุ้มบ้านห้วยแช่ อยู่ทางทิศตะวันออก สภาพดินเป็นดินภูเขา มีสภาพดินที่แข็ง และในพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่ม สภาพดินจะเป็นดินเหนียวปนทรายบ้าง เหมาะกับการปลูกยางพารา ทุเรียน กาแฟ ปาล์มน้ำมันซึ่งก่อนการเพาะปลูก เกษตรกรจะต้องมีการปรับปรุงดินให้มีความเหมาะสมกับพืชที่จะปลูก
  • คุ้มบ้านห้วยไทรงามนอก พื้นที่จะติดกับเชิงเขาและที่ราบลุ่ม สภาพดินเป็นดินร่วนและดินเหนียวปนทราย เหมาะกับการปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน กาแฟ ซึ่งเกษตรกรก่อนจะปลูกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสภาพดินให้มีความเหมาะสมกับพืชที่ปลูก

สภาพภูมิอากาศ ภูมิอากาศบ้านห้วยไทรงามจะมีอยู่ 3 ฤดูกาล ดังนี้

  • ฤดูฝน : จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทำให้มีผลต่อเกษตรกรที่ทำสวนยางพารา ทำให้กรีดยางพาราไม่ได้ อีกทั้งยังทำให้ดอกทุเรียนร่วง ไม่มีผลผลิตมากตามที่เกษตรต้องการ
  • ฤดูหนาว : อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม ฤดูกาลนี้น้ำยางพาราจะออกเยอะ แต่ก็มีระยะเวลาได้ไม่นาน เพราะฤดูหนาวที่บ้านห้วยไทรงามมีประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น
  • ฤดูร้อน : เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ทำการปลูกกาแฟ ทุเรียน หากปีใดที่มีฤดูร้อนมาก หรือร้อนจัดกว่าทุกปี ผลผลิตจากกาแฟและทุเรียนจะมีน้อย และอาจทำให้ต้นไม้ตายได้

สิถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลลำเลียง รายงานจำนวนประชากรบ้านห้วยไทรงามทั้งสิ้น 1,126 คน แบ่งเป็นชาย 580 คน หญิง 546 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 669 ครัวเรือน

เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศและสภาพพื้นที่ของบ้านห้วยไทรงาม รวมถึงสภาพดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านห้วยไทรงามมาตั้งแต่แรกก่อตั้งหมู่บ้าน โดยบ้านห้วยไทรงามจะมีการแบ่งอาณาเขตพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนคุ้มบ้านต่าง ๆ และเกษตรกรในแต่ละคุ้มบ้านจะมีการปลูกพืชที่แตกต่างชนิดกัน อันเนื่องมาจากสภาพเนื้อดินที่แตกต่างกัน รวมถึงสภาพภูมิอากาศและบริบทของพื้นที่บริเวณนั้น ๆ ว่าเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด ทั้งนี้ พื้นที่บ้านห้วยไทรงามเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับภูเขา หรือบริเวณเชิงเขา พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ทุเรียน ยางพารา และกาแฟ ตามพื้นที่ที่ติดกับชายเขา แต่บริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มจะมีการปลูกปาล์มน้ำมัน มังคุด และพืชผักสวนครัว นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงหมู ไก่ ปลา กบ หอย และปูนา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการปลูกพืช ทว่าการปลูกพืชของชาวบ้านห้วยไทรงามนั้นจะพิจารณาจากฤดูกาลต่าง ๆ ว่าช่วงฤดูกาลใด เหมาะกับการปลูกพืชประเภทใด โดยมีการทำปฏิทินฤดูกาลการปลูกพืชขึ้น กล่าวคือ ในรอบหนึ่งปี เกษตรกรชาวห้วยไทรงามจะมีรายได้ตลอดทั้งปี เพราะการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาลสามารถสร้างรายได้แก่ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถสรุประยะเวลาการปลูกพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรบ้านห้วยไทรงาม ดังนี้

  • กาแฟ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนมกราคม และสามารถขายผลผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมของทุกปี จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน กาแฟจะออกดอกอีกครั้ง ในเดือนธันวาคมและมกราคมก็สามารถที่จะเก็บผลผลิตได้
  • ทุเรียน จะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ สามารถเก็บผลผลิตทุเรียนได้ในเดือนกรกฎาคม และจำหน่ายได้ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี
  • ยางพารา สามารถกรีดได้ดีในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ในช่วงฤดูหนาว แต่ในพื้นที่บ้านห้วยไทรงามจังหวัดระนอง ฤดูหนาวจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงไม่สามารถกรีดยางได้นาน พอถึงในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน เกษตรกรก็เริ่มทำการปิดหน้ายางและจะเริ่มกรีดยางได้อีกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมอีกครั้ง
  • ปาล์มน้ำมัน จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และจะไม่มีผลผลิตหรือที่เกษตรกรเรียกกันว่าปาล์มขาดคอ จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และจะกลับมาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกรอบในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม
  • หมาก จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน จากนั้นหมากจะกลับมาออกอีกครั้งและจะออกผลผลิตอีกรอบในช่วงเดือนธันวาคม การเก็บหมากจะต้องเก็บผลผลิตที่แก่ มีแต้มสีแดง ไม่มีรอยแผล และไม่มีความชื้น 

ชาวบ้านห้วยไทรงาม เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี ซึ่งในอำเภอกระบุรีแห่งนี้มีประเพณีประจำอำเภออยู่หนึ่งประเพณี ซึ่งชาวกระบุรีทุกพื้นที่ถือปฏิบัติร่วมกัน คือ ประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์

ประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ที่เขาแหลม อำเภอกระบุรี ทุกปีในวันตรุษจีน สถานที่แห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับตำนานเจ้าเมืองคนแรก ผู้ครองเมืองกระ (กระบุรี) นามว่าพระแก้วโกรพ ที่เกิดวิวาทกับนายทองผู้เป็นลูกชาย ด้วยนายทองต้องการทำการปิตุฆาตบิดา เนื่องจากไปหลงรักนางจั่น เมียน้อยของบิดา เมื่อพระแก้วโกรพผู้เป็นบิดาทราบความดังนั้นก็ได้สั่งให้จับนายทองไปไว้ในถ้ำบนเขาแหลมเนียง ด้วยการมัดไว้กับขาหยั่งทำด้วยไม้ 3 ท่อนปักโคนทแยงเพื่อให้อดอาหารตาย จึงเป็นที่มาของ “ถ้ำขาหยั่ง” ต่อมาจึงเพี้ยนเสียงเป็นขยางค์ ข้างฝ่ายบิดาพระแก้วโกรพ ในยามชราได้เรียนวิชาวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นที่เคารพรักของผู้คน และได้รับการขนานนามเรียกว่า “พ่อตาหลวงแก้ว” วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของท่านตามความศรัทธาของชาวบ้าน คือผู้ปกปักคุ้มครองผู้คนที่สัญจรไปมาบริเวณเขาแหลมเนียงให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ จึงได้ปรากฏเป็นศาลที่มีคนแวะเวียนมาสักการบูชา บนบานศาลกล่าว

ด้วยตำนานดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการจัดพิธีบวงสรวงใหญ่ขึ้นบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พ่อตาหลวงแก้ว (พิธีการบวงสรวงเริ่มทำครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2560) และการรำมโนราห์แก้บนพ่อตาหลวงแก้ว สำหรับงานบวงสรวงนั้นจะทำตามแบบวิธีพราหมณ์ พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีอยู่ในสายจังหวัดพัทลุง-นครศรีธรรมราช ซึ่งมีความชำนาญในการประกอบพิธีพราหมณ์หลวง เครื่องบวงสรวงประกอบด้วย บายศรีปากชาม 3 คู่ หัวหมู 3 หัว เป็ดต้ม ไก่ต้ม ปูต้ม กุ้งต้ม ปลาช่อนนึ่งไม่ขอดเกล็ด อ้อย เผือกต้ม มันต้ม กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน และผลไม้อื่น ๆ ขนมของหวาน สุรา พวงมาลัยดาวเรือง แจกันดอกไม้สด ธูป เทียนน้ำมนต์ เทียนชัย และสายสิญจน์ ขณะทำการบายศรี จะมีการแสดงมโนราห์ควบคู่ไปในเวลาเดียวกัน โดยจะตั้งเวทีการแสดงอยู่บริเวณถัดจากปากทางเข้าถ้ำพระขยางค์ ลักษณะการแสดงเป็นการแสดงแก้บน

หลังการแสดงมโนราห์จบจะมีพิธีกรรมโบราณ คือ พิธีกรรมการเหยียบเสน (เสน หมายถึง เนื้องอกเป็นแผ่นที่นูนขึ้นมาจากผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่เจ็บ ไม่อันตราย แต่จะดูน่าเกลียด) โดยการเข้าทรงของครูหมอโนราหรือตายายโนรา เนื่องจากมโนราห์หรือโนราจะมีความเป็นร่างทรงอยู่ด้วย ตามความเชื่อของโนรา เสน เกิดจากการกระทำของผีโอกะแซง หรือผีเจ้าเสน หรือการทำเครื่องหมายของครูหมอโนราหรือตายายโนรา รักษาให้หายได้โดยการเหยียบของโนรา เครื่องประกอบพิธีถ้ามีครบถ้วน ได้แก่ ขันน้ำ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ มีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ เครื่องทอง เครื่องเงิน หญ้าคา หญ้าเข็ดหมอน รวงข้าว และเงิน 32 บาท  โนราร่างทรงผู้ประกอบพิธีจะเริ่มด้วยการจุดธูปเทียนชุมนุมเทวดา รำท่าเฆี่ยนพรายหรือย่างสามขุม โนราในร่างทรงรำไปพร้อมกับถือกริช พระขรรค์ เสร็จแล้วเอาหัวแม่เท้าไปแตะตรงเสน เหยียบเบา ๆ มีการบริกรรมคาถา และเอากริช พระขรรค์ ไปแตะที่เสนด้วย ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง แล้วนำของในขันหรือถาดไปแตะตัวผู้เป็นเสนจนครบเป็นเสร็จพิธี

นอกจากนี้ นอกจากการแสดงมโนราห์และพิธีกรรมเหยียบเสนแล้ว ภายในงานยังมีอีกหนึ่งการแสดงที่ได้รับความสนใจและเกี่ยวข้องกับตำนานพระขยางค์ คือ การแสดงแสงสีเสียงตำนานถ้ำพระขยางค์ ชุดการแสดงจะเล่าย้อนอดีตตั้งแต่ประวัติความรุ่งเรืองของเมืองระนอง มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของการเป็นเมืองเก่า  สมัยโบราณ มีชาวต่างชาตินำสินค้าลงเรือมาค้าขายกันคึกคัก จนกระทั่งมาถึงตำนานถ้ำพระขยางค์ที่น่าเศร้าใจ

บ้านห้วยไทรงามนั้นนับได้ว่าเป็นสังคมเกษตรกรรม ด้วยประชาชนใหมู่บ้านทุกครัวเรือนมีอาชีพเกษตรกร อีกทั้งพืชที่ปลูกก็มีความหลากหลาย ทั้งชนิด วิธีการปลูก รวมถึงการแปรรูป จึงเป็นเหตุให้บ้านห้วยไทรงามมีเกษตรกรขึ้นมามากมายหลายราย ทั้งนี้จะจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เกษตรกรต้นแบบด้านการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเองในด้านการทำการเกษตรแบบผสมผสานและปลูกพืชหมุนเวียน จำนวน 25 ราย มีรายชื่อดังต่อไปนี้

   1.  นางสุพรรณี จำปามูล      14.  นายสริจ ตะนุเรือง
   2.  นายเสกสรร สวาทนา      15.  นายบุญพันธ์ นันทะพันธ์
   3.  นางแขม นนทิจันทร์      16.  นางไอลดา บุรานอก
   4.  นางบุญเลียง เวียนนอก      17.  นางสง่า จันทะสาร
   5.  นางบุญมา บุรานอก      18.  นางสมจิตร เวียนนอก
   6.  นางถนอน สมบัติทิพย์      19.  นางบัว ลิอ่อริมย์
   7.  นางสุภาพ บุรานอก      20.  นายทองพูน จันทร์สมุทร
   8.  นายเทพนคร กัณหา      21.  นายเหรียญทอง อุบลหล้า
   9.  นางทองมา ตรีสอน      22.  นางขนิษฐา สุขาวานี
   10.  นางสมบัตร พูมเพิ่ม      23.  นางสมชัย บางแสง
   11.  นายสุรสิทธิ์ เผื่อคำ      24.  นางสุภาพร บุญยัง
   12.  นางทองดี จินดามณี      25.  นายแบน บุรานอก
   13.  นายสมัย หล่าไชสง

กลุ่มที่ 2 เกษตรกรต้นแบบด้านการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ในด้านการทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมัก น้ำมันหมัก น้ำหมักหน่อไม้ น้ำหมักสะเดา น้ำหมักสังเคราะห์แสง ฮอร์โมนไข่ มีจำนวน 9 คน ดังนี้

   1.  นายบัว เสือโครง      6.  นางจิตรตา ยอดดี
   2.  นางสาววันศุกร์ เสือโครง      7.  นางสุวรรณ คำผา
   3.  นายสุธี ทองจันทึก      8.  นายจำลอง เสือโครง
   4.  นางวันเพ็ญ เดิมทำริมย์       9.  นายเฉลิม สูงหางหว้า
   5.  นางตุ้มทอง ทองจันทึก

กลุ่มที่ 3 เกษตรกรต้นแบบด้านการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ในด้านออร์แกนิกและทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 1 คน ดังนี้

1.  นายจำรูญ พิมพ์วันวงศ์ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ปัจจุบันเกษตรกรบ้านห้วยไทรงามกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นราคาผลผลิต ผลผลิตล้นตลาด ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ หรือระบบเศรษฐกิจของไทยที่ขึ้นลงไม่คงที่ ซึ่งส่งผลต่อกลุ่มเกษตรรายย่อยภายในประเทศ ทั้งนี้ จะสรุปปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการค้าขายผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรบ้านห้วยไทรงามเป็นประเด็น ดังต่อไปนี้

  1. ผลผลิตทางการเกษตรมากเกินไปทำให้ราคาตกต่ำ เช่น ผลผลิตจากกาแฟ ยางพาราที่มีมากเกินไปเนื่องจากปลูกกันมากตามกระแสของตลาด ทำให้ผลผลิตล้นตลาด ซึ่งส่งผลให้ราคาตกต่ำจากการกดราคาของพ่อค้าคนกลาง
  2. ผลผลิตไม่ได้คุณภาพทำให้ราคาตกต่ำ เช่น ทุเรียนเป็นท็อป เป็นหนอน หนามติดลูกไม่สวย ทำให้ราคาตกต่ำ และกาแฟที่เกษตรกรเก็บผลผลิตมารวมกันไม่ได้คัดเมล็ด จึงทำให้ราคาตกต่ำ
  3. โรงงานกำหนดสินค้าส่งออกและรับซื้อ เช่น ยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน
  4. รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ อาจเนื่องมาจากศักยภาพหรือความจำเป็นต้องคล้อยตามกระแสทิศทางตลาดโลก
  5. สินค้าทางการเกษตรไปติดอยู่ที่ตลาดล่วงหน้า เพื่อไปฟื้นราคาหุ้นโรงงานระบบผู้ผลิต หมายถึง โครงงานระดับผู้ผลิตเก็บรวบรวมสินค้าสต็อกสินค้าทางการเกษตรเอาไว้ ทำให้ราคาตกต่ำ
  6. สินค้าส่งออกราคาภาษีแพงขึ้น ทำให้พ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตในราคาที่ต่ำกว่าปกติ เพื่อจะได้นำส่วนหนึ่งไปเสียภาษี
  7. ระบบเศรษฐกิจทำให้สินค้าราคาตกต่ำ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจ เมื่อใดเศรษฐกิจไม่ดีก็ทำให้ราคาตกต่ำ
  8. เศรษฐกิจของไทยเปิดการค้าเสรีมากขึ้น ประชาชนสามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างอิสระ บางรายนิยมซื้อผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรจากต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรไทยต้องขายสินค้าทางการเกษตรในราคาที่ต่ำลง อีกทั้งยังมีเกษตรกรจากประเทศเพื่อนบ้านที่นำผลผลิตทางการเกษตรเข้ามาขายในไทย ส่งผลให้สินค้าทางการเกษตรชนิดเดียวกันล้นตลาด

แนวทางการแก้ไขและการให้มูลค่าเพิ่ม จากพืชผลทางการเกษตร

เมื่อปัญหาเกิด ก็ย่อมต้องมีแนวทางแก้ปัญหา เกษตรกรชาวบ้านห้วยไทรงามหาได้นิ่งดูดายกับปัญหาราคาผลผลิตที่เกิดขึ้น มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกิดจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ขายได้ราคาไม่ดี หรือไม่ได้คุณภาพตามต้องการของตลาด หรือมีตำหนิจากหนอนเจาะ กระรอกแทะ หรือทุเรียนที่ตกจากต้น เช่น การแปรรูปทุเรียนที่ลูกไม่สวยเป็นทุเรียนทอดขายทางออนไลน์ ทำทุเรียนกวนส่งไปขายทางอีสานกิโลกรัมละ 300-1,000 บาท ส่วนกาแฟ แต่ก่อนชาวบ้านเคยทำเพียงแค่ว่าเก็บแล้วนำไปตากให้แห้ง จากนั้นเอาไปสี และเอาไปขาย ซึ่งทำให้ราคากาแฟนั้นได้อยู่แต่ราคาเดิม ๆ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเมล็ดกาแฟเป็นกาแฟกะลา โดยมีขั้นตอนการคัดเอาแต่เมล็ดแดงแล้วเอามาแช่น้ำ ออกมาเป็นกะลาแล้วมาตากให้แห้ง ซึ่งสามารถขายได้ราคาสูงกว่าการขายเมล็ดกาแฟแบบเดิม จากเดิมกิโลกรัมละ 70 บาท ก็จะได้เป็น กิโลกรัมละ 130 บาท บางรายมีรายได้จากการทำไม้กวาดดอกอ้อเวลาว่างเพื่อจำหน่ายหารายได้เสริม ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษบริโภคและจำหน่ายหารายได้ เลี้ยงปลาดุกในบ่อข้างบ้านขายกิโลกรัมละ 70 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมเป็นอย่างดี 

ปัจจุบันบ้านห้วยไทรงาม หมู่ที่ 10 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นที่ตั้งโครงการ อาคารอัดน้ำบ้านห้วยไทรงามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงรับโครงการอาคารอัดน้ำบ้านห้วยไทรงาม ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ นายสริจ ตะนุเรือง ราษฎรหมู่ที่ 10 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ได้มีหนังสือขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นพร้อมระบบส่งน้ำ บริเวณบ้านห้วยไทรงาม หมู่ที่ 10 ตำบลลำเลียง เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ปี 2552 กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารอัดน้ำบ้านห้วยไทรงามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้งบประมาณแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (SP2) ซึ่งเป็นอาคารอัดน้ำชนิดท่อสี่เหลี่ยมจำนวน 2 ช่อง ขนาดกว้าง 2.50x2.50 เมตร  ความยาว 37.50 เมตร และระบบท่อส่งน้ำความยาว 295.00 เมตร ปีถัดมากรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำขนาดความยาวโดยประมาณ 3,772 เมตร พร้อมอาคารประกอบ พร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้งกลุ่มประปาภูเขาห้วยไทรงาม ขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เพื่อให้ราษฎรบริหารจัดการน้ำกันเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ โครงการ อาคารอัดน้ำบ้านห้วยไทรงามสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของราษฎรหมู่ที่ 10 บ้านห้วยไทรงาม จำนวน 180 ครัวเรือน 600 คน และพื้นที่การเกษตร 325 ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลให้ราษฎรมีรายได้ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ม.ป.ป.: ออนไลน์)

บรรดาศักดิ์ พิทักษ์ศิลป์. (2560). โนราโรงครู ตอน พิธีกรรมเหยียบเสน. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://krunora.blogspot.com/

พิมพ์พิศา ชาพรหมสิทธิ์และคณะ. (2562). การปรับตัวทางด้านการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่สามารถพึ่งตนเองด้วยอาหารของชุมชน บ้านห้วยไทรงาม หมู่ที่ 10 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สาวิตรี ตลับแป้น. (2560). ขึ้นถ้ำพระขยางค์. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จากฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย https://www.sac.or.th/databases/rituals/

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ม.ป.ป.). โครงการ อาคารอัดน้ำบ้านห้วยไทรงามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://km.rdpb.go.th/

สำนักงานจังหวัดระนอง. (2556). ตำนานถ้ำพระขยาง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://ranongcities.com/

Google Earth. (2564). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/