
เป็นหมู่บ้านที่มีการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น จีนยูนาน ไทใหญ่ ลีซอ ปะหล่อง และยังอยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ซึ่งเป๋นบริเวณที่ค้าขายชายแดนนในระดับท้องถิ่น
เปียงหลวง เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ที่ราบอันแสนกว้างใหญ่ เป็นที่มาของบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่ราบสันเขา
เป็นหมู่บ้านที่มีการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น จีนยูนาน ไทใหญ่ ลีซอ ปะหล่อง และยังอยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ซึ่งเป๋นบริเวณที่ค้าขายชายแดนนในระดับท้องถิ่น
หมู่บ้านเปียงหลวงตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเวียงแหง มีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านตามเส้นทางเดินทัพและการค้าระหว่างเมืองเชียงใหม่ ราชธานีของอาณาจักรล้านนา กับเมืองนาย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) เมืองแหงเป็นเมืองกึ่งกลางเส้นทางตามลำน้ำแม่แตง มีพื้นที่กว้างใหญ่ เหมาะแก่การสะสมเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพ มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิเป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าบุเรงนองที่ทรงกรีธาทัพทหาร 90,000 นาย มายึดเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2101 จากตำนานสมเด็จพระนเรศวร ช่วงสุดท้ายของท่านที่วัดพระธาตุดอยเวา แม่สาย ว่าพระองค์ท่านเดินทัพผ่านเมืองแหงเพื่อจะไปตีกรุงอังวะที่ประเทศพม่าแต่เกิดทรงประชวรก่อนและสิ้นพระชนม์ที่เมืองหาง (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉานประเทศพม่า) บางตำนานก็ว่าสิ้นประชนม์ที่เมืองแหง
ปัจจุบันบ้านเปียงหลวงเป็นหมู่บ้านชายแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ติดต่อกับ รัฐฉาน ประเทศพม่า ประชากรหลักของหมู่บ้าน เป็นอดีตนายทหารไทใหญ่ซึ่งเคยทำการสู้รบกับรัฐบาลพม่า รองลงมาเป็นอดีตทหารจีนคณะชาติหรือก๊กหมิ่นตั๋ง (KMT) ซึ่งเคยตกลงเป็นพันธมิตรร่วมรบกับกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่นอกจากนี้เป็นชาวปะหล่อง ชาวลีซอ ที่หนีภัยการสู้รบจากพม่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งชาวไทยที่เพิ่งอพยพเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานภายหลัง
นายจองดี พ่อค้าวัวต่างถิ่น คือผู้นำชาวไทยใหญ่ให้มาถึงแผ่นดินกลางหุบเขาแห่งนี้ราวร้อยกว่าปีก่อน ที่ราบอันแสนกว้างใหญ่ตามความหมายของการเรียกขานเริ่มกลายเป็นชุมชน ไล่เลยจากบ้านหลังแต่งที่ชายแดน ต่อมาถึงบ้านเปียงหลวง บ้านจอง ลงไปถึงเวียงแหง ไม่เพียงชาวไทยใหญ่ที่ปักหลักสืบสาน หากแต่เส้นทางอันเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายระหว่างเวียงแหงไปสู่รัฐฉานในพม่า ยังนำพากองกำลังทหารจีนคณะชาติกองพล 92 ที่แตกพ่ายรอนแรมและใช้ชีวิตอยู่ด้วยการสู้รบ บางส่วนของทหารและครอบครัวที่แยกย่อยออกมาจากทัพที่ 3 ของ นายพลหลี่เหวินหวน คือส่วนของนายพันหลอเจี๋ยหวา ได้เลือกเปียงหลวงเป็นบ้าน ผนวกร่วมผสมผสานไปกับผู้คนไทยใหญ่ดั้งเดิม ตั้งบ้านเรือนใช้ชีวิตอยู่ด้วยการค้าขายชายแดน รวมไปถึงทหารไทยใหญ่ ซึ่งนำโดย เจ้ากอนเจิง ชนะศึก ประธานกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ที่เลือกเปียงหลวงเป็นฐานที่มั่นในการกอบกู้เอกราชจากพม่า
ต่อมา ปี พ.ศ. 2512 นายพลโมเฮง หรือเจ้ากอนเจิง หนึ่งในผู้นำไทใหญ่ได้รวมกลุ่มกับเจ้าน้อย ซอหยั่นต๊ะ จัดตั้งขบวนการกู้ชาติโดยใช้ชื่อว่า กองทัพสหพันธ์ปฏิวัติรัฐฉาน หรือ Shan United Revolution Army (SURA) โดยมีนายพลโม เฮง เป็นประธาน และเจ้าน้อย ซอหยั่นต๊ะ เป็นรองประธาน และใช้บ้านเปียงหลวงเป็นกองบัญชาการใหญ่ ดังนั้นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเปียงหลวง จึงเป็นทหารและครอบครัวไทใหญ่นับตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันบ้านเปียงหลวงอยู่ติดชายแดนไทย-พม่า มีด่าน ''ช่องหลักแต่ง'' เป็นด่านชั่วคราวที่เปิดการค้าขายชายแดนในระดับท้องถิ่น ในยามเหตุการณ์สงบด่านจะเปิดให้ชาวบ้านในละแวกมาค้าขายกันได้
สภาพภูมิศาสตร์หมู่บ้านเปียงหลวงตั้งอยู่บนภูเขาสูงในเขตตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ติดกับชายแดนประเทศพม่า โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ประเทศพม่า
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านจอง บ้านม่วงเครือ อ.เวียงแหง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแกน้อย อ.เชียงดาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
ประชากร ในพื้นที่ประกอบไปด้วยชนหลายเผ่าคือ ไทใหญ่ จีนคณะชาติ ลีซอ ปะหล่อง และคนพื้นเมือง แต่กลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดคือไทใหญ่และจีนคณะชาติ
ลีซูทุนวัฒนธรรม
1) วัดฟ้าเวียงอินทร์
วัดที่มีอาณาเขตคร่อมระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ ทำให้วัดนี้ได้ชื่อว่าเป็น "วัดสองแผ่นดิน" โดยสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดล้วนสร้างด้วยศิลปะแบบไทใหญ่ เช่น พระธาตุมาระชินะเจดีย์ที่มีสีทองอร่าม อันหมายถึงเจดีย์ชนะมาร หรือที่ชาวบ้านเรียกในภาษาไทใหญ่ว่า กองมูแหลนเหลิน หมายถึง พระธาตุเขตแดน และใต้ฐานเจดีย์แห่งนี้มีจารึกพระธาตุมาระชินะเจดีย์เป็นภาษาไทใหญ่ บอกเล่าความเป็นมาในการสร้างวัดครั้งแรก ทั้งนี้มีความเชื่อกันว่าพระเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และบูรณะอีกครั้งโดยเจ้ากองเจิง(พลเอกโมเฮง ชนะศึก) หัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐฉานผู้นำขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ และสิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ ตรงซุ้มทางเข้าเจดีย์มิได้ประดับด้วยสิงห์หรือนาคแต่ประดับด้วยกลองยาวหรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่ากลองปู่เจ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีศาลสมเด็จพระนเรศวร มีห้องแสดงภาพผู้นำและประวัติของชาวไทใหญ่ ส่วนด้านหลังวัดคือสุสานของนายพลโมเฮง อดีตผู้นำของที่นี่
2) วัดพระบรมธาตุแสนไห
ศูนย์รวมใจชาวเวียงแหง ที่นี่มาจากคำว่าแสนไห มีที่มาต่างๆมากมายทั้งเชื่อว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต ณ เมืองแหง สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสั่งให้บูรณะพระเจดีย์องค์นี้ จึงบรรจุไหเป็นแสน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล บางคนเชื่อว่า แสนไห มาจาก " แสนไห้ " มีคนร้องไห้เป็นแสน เพราะพระนเรศวรมหาราชสวรรคตบริเวณนี้
ฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่อำเภอเวียงแหงนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่พบว่า ดินเสื่อม น้ำแห้ง ป่าหาย ซึ่งปัญหาและสาเหตุนั้นมาจาก ประชากรเพิ่มขึ้น
เกรียงศักดิ์,มาลารัตน์, และคณะ. (2549). การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ในระดับโรงเรียน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่:เชียงใหม่.
ไปรู้จัก "เปียงหลวง" ดินแดนแห่งความหลากหลาย ตอนที่ 2. (2548). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566. จาก: https://wikicommunity.sac.or.th/community/create/958
วันดี สันติวุฒิเมธี. (2545). กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-พม่า : กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.