Advance search

วัดโพธาราม ศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์

หมู่ที่ 4
บ้านแม่ใจหางบ้าน
ศรีถ้อย
แม่ใจ
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
20 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
30 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
26 ก.ค. 2023
บ้านแม่ใจหางบ้าน

บ้านแม่ใจหางบ้าน ซึ่งตั้งชื่อบ้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ เดิมทีเรียก ตามลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านคือ แม่น้ำแม่ใจ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านแม่ใจ" ต่อมาก็มีผู้คนอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ใกล้เคียงและแผ่ขยายพื้นที่ออกไปเป็นวงกว้างจนมาถึง "บ้านแม่ใจหางบ้าน" ซึ่งใช้เรียกหมู่บ้านที่อยู่ท้ายของเขตหมู่บ้าน


วัดโพธาราม ศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์

บ้านแม่ใจหางบ้าน
หมู่ที่ 4
ศรีถ้อย
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.3497487
99.81045306
เทศบาลตำบลแม่ใจ

เมื่อปีพุทธศักราช 2396 ได้มีกลุ่มครอบครัวที่อพยพย้ายมาจากนครลำปางจำนวน 5 ครอบครัวเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่าพื้นที่แห่งเดิมครอบครัวที่ย้ายมานั้นประกอบไปด้วยครอบครัวของพ่อแสน ปัญญา พ่อแก้ว ตุ้ย พ่อน้อย โปทา พ่อหนานนา ระทะโดยได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณลำน้ำแม่ใจซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีลำน้ำไหลผ่านตลอดเวลา (ปัจจุบันคือ หนองเล็งทราย) จึงได้ตกลงกันว่าจะตั้งครอบครัวที่ย้ายมาจากนครลำปางตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี้

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2347 เมื่อผู้คนจากครอบครัวที่ย้ายมาด้วยกันมีลูกหลานเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มมีการขยับขยายพื้นที่ออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงมากขึ้น เริ่มมีผู้คนจากต่างถิ่นและบริเวณใกล้เคียงมาอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยเนื่องจากเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการตั้งที่อยู่อาศัย ทำมาหากิน การดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้มีการปลูกข้าวทำนาเพื่อยังชีพ เลี้ยงสัตว์ วัว ควายและหาปลาตามแหล่งน้ำบ้างก็เริ่มขุดน้ำใต้ดินมาใช้ดื่มใช้อุปโภคมากขึ้นแต่ยังมีรองน้ำฝนไว้ใช้ดื่มกินอยู่อย่างประปราย เมื่อมีผู้คนมากอยู่รวมกันอาศัยในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้นก็ได้เริ่มก่อตัวเป็นบ้านหลาย ๆ หลังรวมกัน มีการขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ จนเรียงรายเต็มพื้นที่จึงกลายมาเป็นหมู่บ้านขึ้นโดยได้ทำกรตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นซึ่งมีชื่อเรียกของหมู่บ้านในแต่ละพื้นที่นั้นตามที่ที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกันกับหมู่บ้านแม่ใจหางบ้าน ซึ่งตั้งชื่อบ้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ เดิมทีเรียกตามลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งชื่อว่าแม่น้ำแม่ใจ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านแม่ใจ ต่อมาก็มีผู้คนอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ใกล้เคียงและแผ่ขยายพื้นที่ออกไปเป็นวงกว้างจนมาถึงบ้านแม่ใจหางบ้าน ซึ่งเรียกหมู่บ้านที่อยู่ท้ายของเขตหมู่บ้านใหญ่

เมื่อมีผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันนาน ๆ ก็มักจะมีโรคตามมาไม่ว่าจะเป็นทั้งโรคติดต่อ โรคตามอายุขัยของร่างกายของคนเราหรือจากการเจ็บป่วยปวดเมื่อยตามตัวต่าง ๆ ที่ไม่ทันตั้งตัวก็จะไปให้พ่อหมอ ท่านครูที่มีวิชาความรู้ในการปัดเป่าเอาสิ่งไม่ดีออกเพราะในอดีตเชื่อว่าการเจ็บป่วยของร่างกายใน สมัยนั้นมาจากสิ่งไม่ดี ภูตผีปีศาจ หรือสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ โดยจะใช้พ่อหมอ ท่านครูเป็นคนรักษาให้ซึ่งทั้งพ่อหมอ ท่านครูก็ต่างเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งจะมีวิธีการรักษาโดยการประกอบพิธีกรรมขึ้นมาแล้วใช้ทั้งน้ำมนต์ คาถา วิชาอาคมต่าง ๆ ในการปัดเป่าความเจ็บป่วยออกไป ต่อมาก็ได้เรียกชื่อพ่อหมอ ท่านครูว่าหมอเป่า หมอผ่าตามกาลเวลาที่ผ่านไปการเรียกชื่อก็เรียกตามชื่อของวิธีการรักษานั้น ๆ มีผู้คนอยู่ร่วมกันมาก ๆ ขึ้นก็ต้องย่อมมีศูนย์รวมของจิตใจไว้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไว้รวมกันในหมู่บ้านจึงได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นมาเพื่อให้คนในหมู่บ้านทำกิจกรรมร่วมกัน มีสถานที่ไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ประเพณี งานบุญต่าง ๆ จากนั้นเมื่อมีวัดขึ้นใกล้หมู่บ้านชาวบ้านที่อพยพมาจากนครลำปางเดิมได้อัญเชิญพระภิกษุสงฆ์มาจำวัดอยู่ที่นี่ทำให้วัดแห่งนี้มีทั้งพระภิกษุสงฆ์ เณรมากขึ้น (ปัจจุบันคือ วัดโพธาราม)

ในปี พ.ศ. 2348 ได้เริ่มก่อสร้างวัดขึ้นทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน และลำน้ำแม่ใจ สถานที่ดังกล่าวเหมาะมาก เพราะทางด้านทิศตะวันออกจะมีหนองน้ำธรรมชาติ ในตอนเช้าแสงของพระอาทิตย์จะส่องแสงมากระทบลำน้ำ สายน้ำจะเป็นประกาย ส่องกระทบกับพระพักตร์ของพระพุทธรูปอย่างสวยงาม หนองน้ำดังกล่าวชื่อว่า "หนองขวาง" ปัจจุบันคือหนองเล็งทราย ตั้งชื่อวัดว่า "วัดแม่ใจ" ต่อมาเมื่อมีคนมากขึ้น วัดจึงต้องมีการก่อสร้างให้ใหญ่ และกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอกับคณะศรัทราที่มาทำบุญ และประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ ตลอดจนเป็นที่ประกอบการประเพณีต่าง ๆ ของชาวพุทธทั้งปี 

ในปี พ.ศ. 2380 ได้มีการสร้างวิหาร กุฏิพักพระภิกษุสงฆ์สามเณรให้มั่นคงถาวร โดยเฉพาะพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในวิหาร ได้ไปหาช่างปั้นจากจังหวัดเชียงใหม่และช่างที่อำเภอดอยสะเก็ดมาปั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะสวยงามมาก ใครเดินผ่านวัดอดใจที่จะเหลียวและหยุดดูไม่ได้ จนในที่สุดชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "วัดนางเหลียว" มีคำกล่าวว่ามีผู้หญิงสาวมักจะเอาเมี่ยง บุหรี่มาถวายพระพุทธรูปเป็นประจำเพื่อจะให้ตนมีความสวยงามเหมือนพระพุทธรูปเวลามีคนเห็นจะได้เหลียวมอง เท็จจริงอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ เพราะเป็นคำเล่าลือที่สืบทอดกันมา ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดโพธาราม

เมื่อสร้างวัดแล้ว คณะศรัทธาต่างชื่นชมช่วยกันทะนุบำรุงจนเจริญรุ่งเรืองสืบมาเป็นเวลานาน แล้วเมื่อลุพุทธศักราช 2430 เหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลด วิปโยคให้กับชาวบ้านวัดนางเหลียวเป็นอย่างที่สุดคือ ตอนกลางคืนเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 6 (เหนือเดือน 4) ได้เกิดไฟไหม้พระวิหาร สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับชาวบ้านและพระสงฆ์ สามเณร ชาวบ้านได้ช่วยกันดับไฟอย่างโกลาหล เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คณะศรัทธาเกิดความทุกข์ ระทมใจ รู้สึกเสียดายสิ่งที่เคารพหวงแหนและที่ประกอบพิธีงานบุญต่าง ๆ ไปโดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ชาวบ้านขาดสถานที่ประกอบบุญกุศล ทำให้วัดที่เคยสร้างความสงบสุข สร้างความสมัครสมานสามัคคี เป็นศูนย์รวมของศรัทธาหายไป วัดจึงเป็นวัดร้าง เป็นวัดที่ขาดคนเหลียวแลพระพุทธรูปต้องตากฝน ตากน้ำค้าง ตากแสงแดด เป็นภาพที่สุดแสนจะเวทนา ต่อมาชาวบ้านจึงช่วยกันเก็บซากปูนซากไม้ ที่ไฟไหม้ออกแล้วทำหลังคาชั่วคราวให้กับพระพุทธรูปที่ยังเหลืออยู่ 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 พ่อหนานใจ วรรณจักร ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของพระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปนิมนตร์ครูบาศรีวิชัยมาโปรดศรัทราญาติโยมชาวศรีถ้อย และรวบรวมจิตใจ ให้ช่วยกันสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นโดยมี พ่อหนานใจ วรรณจักร เป็นสลา (ช่าง) ในการก่สร้างมีพระอธิการอินต๊ะปัญโญ ปญญาวโร (พ่อหนาน ปัญโญ คำบุญเรือง) เป็นเจ้าอาวาส ทำการก่อสร้างอยู่หลายปีกว่าสำเร็จวัดโพธารามจึงเป็นสถานที่ที่สง่างามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเป็นที่รวมจิตใจของคณะศรัทธาสาธุชนมาจนจวบวันนี้ ปัจจุบันมีพระครู มานัสนทีพิทักษ์ อคคปญฺญ เป็นเจ้าอาวาส

ในอดีตหากคนในชุมชนมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ก็ได้มีคารไปรักษากับหมอป หมอเป่า เรื่อยมา จนมาถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีพุทธศักราช 2488 ได้มีนายแพทย์สุวิทย์ วัฒนวิเชียร ซึ่งเป็นแพทย์ในกองทัพทหารไทย ได้เข้ามาประจำในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านได้ยินซื้อเสียงของแพทย์ผู้นี้ จึงพากันมารับการรักษาจากท่านเรื่อยมา ภายหลังการศึกสงครามนายแพทย์สุวิทย์ ได้มีครอบครัวและอาศัยอยู่ในแม่ใจ จนกลายเป็นหมอที่ได้รับความเชื่อมั่นและนิยมในการรักษาจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่อมา ปีพุทธศักราช 2529ได้มีการก่อตั้งสถานีอนามัยแม่ใจเป็นแห่งแรกเพื่อใช้ในการรักษาโรคให้กับตนในหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และเพื่อ ตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนได้รับการบริการทางด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นจนในปีพุทธศักราช 2535 ได้แยกตัวออกไปเป็นสถานีอนามัยสาขาแม่ใจแทนจนกลายมาเป็น รพ.สต. ขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

ในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านมีการใช้ตะเกียงให้แสงสว่าง ซึ่งเป็นตะเกียงที่ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง ต่อมาเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2500 ได้มีการนำเครื่องปั่นไฟฟ้าเข้ามาใช้ในหมู่บ้านโดยสถานที่ตั้งนั้นตั้งอยู่ที่บริเวณหลังโรงเรียนศรีถ้อย แต่ไฟฟ้าที่ได้จากเครื่องปั่นนั่นได้มีการเพียงบางหลังคาเรือนเท่านั้น จากนั้นราว 10 ปี ได้มีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามา จึงเริ่มใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอย่างแพร่หลายในหมู่บ้านน้ำประปา และในปีเดียวกันเริ่มมีการบริโภคน้ำดื่มแบบถังและแบบขวด ซึ่งเป็นน้ำดื่มที่ทำโดยกลุ่มของคนในหมู่บ้าน

ในปี พ.ศ. 2540 เริ่มมีน้ำดื่ม น้ำใช้อุปโภคจากภาครัฐโดยเปลี่ยนจากน้ำบาดาล น้ำฝนมาเป็นน้ำประปา และในปีเดียวกันเริ่มมีการบริโภคน้ำดื่มแบบถังและแบบขวด ซึ่งเป็นน้ำดื่มที่ทำโดยกลุ่มของคนในชุมชนและจากการเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจในสังคมทำให้อาชีพการปลูกข้าวของคนในหมู่บ้านที่ปลูกกันตลอดทั้งปีเปลี่ยนมาเป็นการปลูกลำไย ลิ้นจี่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดีในสมัยนั้น ทำให้การปลูกลิ้นจี่ ลำไยมีการปลูกในหมู่บ้านมากมายจนถึงปัจจุบันและเพื่อให้มีความเจริญก้าวทางด้านการเงินในหมู่บ้าน จึงได้มีการจัดตั้ง กองทุนหมู่บ้านขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล เป็นจำนวน 1 ล้านบาท นับแต่นั้นมาสถานะทางการเงินของหมู่บ้านได้เจริญเติบโตมากขึ้นจนในปัจจุบัน ได้ยกระดับจากกองทุนหมู่บ้านมาเป็นสถาบันการเงินประจำ หมู่บ้านแม่ใจหางบ้าน

การปกครองของหมู่บ้าน ได้เริ่มมีการปกครองโดยผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 โดยมีทำเนียบผู้นำหมู่บ้านดังต่อไปนี้

1. นายก๋องแก้ว ปัญจขันธ์    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน      พ.ศ. 2457-2490
2. นายก๋องแก้ว ปัญจขันธ์    ตำแหน่งกำนัน      พ.ศ. 2490-2509
3. นายเลิศ ปัญจขันธ์    ตำแหน่งกำนัน      พ.ศ. 2509-2515
4. นายลอย มณีวรรณ    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน      พ.ศ. 2515-2522
5. นายก๋องคำ ปัญสุวรรณ    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน      พ.ศ. 2522-2529
6. นายสายดิ่ง สกุลนา    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน      พ.ศ. 2529-2535
7. นายสายดิ่ง สกุลนา    ตำแหน่งกำนัน      พ.ศ. 2535-2559
8. นายคมสัน ปัญญาวรรณ์    ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน      พ.ศ. 2559

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านแม่ใจหางบ้านโดยทั่วไปเป็นที่ราบระหว่างเชิงเขา มีแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลัก 1 สาย คือ ลำน้ำแม่ใจ โดยมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำหรือดอยหลวงซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และมีเหมืองขนาดเล็กไหลผ่านพื้นที่ภายในหมู่บ้านหลายสาย 

มีจำนวนหลังคาเรือน 198 หลังคาเรือน สภาพบ้านเรือนมีทั้งบ้านสองชั้นที่เป็นครึ่งปูนครึ่งไม้ และบ้านที่เป็นปูนอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะพบครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยบ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้วเพื่อแสดงขอบเขตของบ้านแต่ละหลังอย่างชัดเจน และมีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งจะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ บริเวณรอบบ้านจะตกแต่งด้วยสวนดอกไม้ ต้นไม้สวยงามดูร่มรื่น ส่วนการเลี้ยงสัตว์จำพวก เป็ด ไก่ วัว จะเลี้ยงแยกไว้ภายในบริเวณบ้าน โดยมีกรงหรือคอกขังสัตว์ไว้ พันธุ์พืชที่นิยมปลูกกันในหมู่บ้านส่วนใหญ่ คือ มะม่วง กล้วย ลำไย เป็นต้น ซึ่งนิยมปลูกกันเกือบทุกหลังคาเรือน

ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตแบ่งเป็น 7 ซอย ตามถนนจะมีเสาไฟฟ้าและไฟข้างทางตลอดทางทำให้ตอนกลางคืนมีแสงสว่างเพียงพอและประชาชนมีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน และมีลำเหมืองขนาดเล็กตัดผ่านพื้นที่ภายในหมู่บ้านและพื้นที่ทางการเกษตร ในหมู่บ้านมีอาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้านสำหรับนัดพบและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันของประชาชน โดยภายในอาคารอเนกประสงค์มีโรงสีข้าวกล้องขนาดเล็ก มีธนาคารกองทุนหมู่บ้าน และในอนาคตที่กำลังวางแผนไว้โดยจะดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 นั้นจะมีตลาดสดในหมู่บ้านโดยนำผลผลิตของประชาชนในหมู่บ้านมาขาย ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจคือวัดโพธารามซึ่งจะอยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านหมู่ 2 ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา มีร้านค้าของชำหมู่บ้านเพื่อการบริโภคอุปโภคสะดวกขึ้น ร้านขายอาหารมากมาย ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ กวยจั๊บ ขนมจีน ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นในปัจจุบันมากกว่าในอดีต

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับเขต บ้านสันขวาง หมู่ที่ 3 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับเขต บ้านปงพัฒนา หมู่ที่ 10 และบ้านแม่ใจปง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขต บ้านต้างหนอง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขต บ้านต้นตะเคียน หมู่ที่ 2 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 198 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 377 คน เพศชาย 165 คน เพศหญิง 212 คน ประชากรที่อาศัยอยู่เป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาถิ่นในการติดติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติโดยมีการนับถือกันแบบพี่น้องกัน มีความใกล้ชิดกันเดินทางไปมาหาสู่กันบ่อย วงศ์ตระกูลที่พบมากที่สุดคือ ปัญจชันธ์ เป็นตระกูลที่มีมากที่สุดในหมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นพื้นที่ราบระหว่างเชิงเขา โดยมีลำน้ำแม่ใจ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร

ผู้ใหญ่บ้าน : นายคมสัน ปัญญาวรรณ์

ภายในหมู่บ้านก็ยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้านดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางมณีพร ตุลาชม เป็นประธาน
  • กลุ่มด้านการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม : นางธนพร เพชรประดับ เป็นประธาน
  • อาสาสมัครด้านรักษาความปลอดภัย อปพร. : นายประทีบ คำบุญเรือง เป็นประธาน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน : นายสกล เพชรประดับ เป็นประธาน
  • กลุ่มด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ : นายสกล เพชรประดับ เป็นประธาน
  • กลุ่มชมรมผู้สูงอาย : นายพรมมา ปัญญาวรรณ์ เป็นประธาน
  • กลุ่มแม่บ้าน : นางศิริ เขื่อนสกุล เป็นประธาน
  • กลุ่มทำน้ำยาล้างจาน : นางเกี๋ยงคำ ราชดารา เป็นประธาน

  • อาชีพ : ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างมากที่สุด และประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 5,001-10,000 บาท/เดือน
  • รายได้ของประชาชน : แบ่งเป็นรายได้ภาคการเกษตร ซึ่งมีรายได้หลักมาจากขายข้าว รองลงมา ได้แก่ ทำสวนลิ้นจี่ ขายผักสวนครัว และพบว่าประชาชนมีรายได้นอกภาคเกษตรมาจากการ รับราชการ และการรับจ้างทั่วไป
  • รายจ่ายของประชาชน : แบ่งเป็นรายจ่ายภาคเกษตร พบว่าประชาชนเสียเงินในการจ่ายค่ายามากที่สุด รองลงมาได้แก่ ค่าสารเคมี ค่าจ้างแรงงาน ค่าน้ำมันรถไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ และรายจ่ายนอกภาคเกษตร ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าหวย ค่าภาษี ค่าชุดนักเรียน ค่าอาหาร ค่าน้ำดื่ม
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้านและหนี้กู้ยืมของ ธกส. แหล่งเงินทุน สำหรับประชาชน คือ กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้านและ ธกส.

ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของหมู่บ้านแม่ใจหางบ้าน

ประชาชนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธมีวัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยวัดโพธารามจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้ง 5 หมู่บ้านได้แก่หมู่ที่ 1, 2, 4, 7 และหมู่ที่ 11 ภายในหมู่บ้านมีอาคารอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้านเพื่อสำหรับเป็นที่ประชุม จัดกิจกรรม มีสถาบันการเงินต้นแบบ และลานออกกำลังกายของประชาชนในหมู่บ้าน วิถีชีวิตการดำเนินของประชาชนในหมู่บ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษในสมัยอดีตจะมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การประกอบอาชีพ การเจ็บป่วยของประชาชนในหมู่บ้าน ในการประกอบอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่คือรับจ้างทำนา และทำสวน ในหมู่บ้านประชาชนได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้านโดยการเห็นความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภายในกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน อีกทั้งระบบความสัมพันธ์ของประชาชนในหมู่บ้านจะเป็นแบบเครือญาติเป็นพี่เป็นน้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันการปฏิบัติตามกฎระเบียบของหมู่บ้าน เคารพและให้สิทธิกับทุกคนเท่าเทียมกันไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนบ้านแม่ใจหางบ้ามีความรักใคร่สามัคคีกัน อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขมีรากฐานความคิดที่ผูกเชื่อมโยงกับระบบเดิมในสมัยอดีต อีกทั้งยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีบวงสรวงเจ้าหลวงคำแดง

ประเพณีบวงสรวงเจ้าหลวงคำแดงจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมิถุนายน ประเพณีเกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านได้มีการบนบานศาลกล่าว เช่น การบนบานว่าขอให้สอบติด

การเลี้ยงผีปู่ย่า

การเลี้ยงผีปู่ย่า จุดมุ่งหมายสำคัญของการเลี้ยงผีปู่ย่า คือการรักษาความสัมพันธ์ ความผูกพันและความกลมเกลียวของเครือญาติ ระบบเครือญาติเป็นการนับถือตามญาติของฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายชายเมื่อแต่งงานเข้ามาอยู่ในตระกูลต้องนับถือผีปู่ย่าของฝ่ายหญิงด้วย ถึงแม้ว่าตามระบบกฎหมายของรัฐเป็นการยอมรับระบบนามสกุลของฝ่ายชายก็ตาม การเลี้ยงผีปู่ย่าจัดในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 (เหนือ) หรืออาจเลี้ยงในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 5 (เหนือ ตามที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ปัจจุบันแม้ความเชื่อเรื่องผี เริ่มลดลงไปบ้าง แต่วิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน ก็ยังคงมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับภูตผี ปีศาจ โดยคนเฒ่า คนแก่ในครอบครัวเป็นผู้สืบทอดความเชื่อนั้นมายังบุตรหลาน การเช่นสังเวยผีหรือที่ในภาษาพื้นบ้านเรียกว่า "การเลี้ยงผี "เมื่อถึงวันทำพิธี แต่ละเก๊าผี(ต้นตระกูลผีบรรพบุรุษ) ก็แจ้งให้เครือญาติผีเดียวกันทราบ เครือญาติก็จะมีการรวมกลุ่ม รวมทั้งผู้ที่ไปทำงานต่างถิ่นก็จะกลับมาบ้านในช่วงที่มีการเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นการรวมเครือญาติ และช่วยกันจัดข้าวปลาอาหาร และอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรม เช่น ไก่ต้ม 1 คู่ เหล้าขาว 1 ขวด ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน

ลูกหลานคนใดมีเรื่องเดือดร้อนที่ขอความช่วยเหลือก็บอกได้ ในตอนนี้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาต่าง ๆ แก้ปัญหาไม่ได้ การที่ได้บอกกล่าวขอความช่วยเหลือจากผีปู่ย่า จะช่วยลดภาวะความตึงเครียดทางจิตใจซึ่งส่งผลให้สุขภาพจิตดีมีกำลังใจในการเผชิญปัญหา ในสภาพปัจจุบันบางครั้งการเลี้ยงผี อาจไม่มีการเข้าทรง โดยเป็นการแก้บนของบุตรหลาน ซึ่งทำได้โดยการจัดเตรียมสิ่งของเครื่องไหว้ไปถวายยังหอผีปู่ย่า เจ้าของเรือนที่เป็นเก๊าผีเป็นผู้เซ่นไหว้ อธิษฐานให้บุตรหลาน คนในวงศ์ตระกูลอยู่เย็นเป็นสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือกิจการต่างๆ จากนั้นก็นำอาหารที่ถวายผีปู่ย่า มารับประทานร่วมกันเพื่อเป็นสิริมงคล

ปีใหม่เมือง

ปีใหม่เมืองหรือประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า "ปีใหม่เมือง" ในวันที่ 13 เป็นวัน "สังขารล่อง" ซึ่งมีความหมายว่า หมายถึงอายุสิ้นไปอีกปี ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดจนชำระร่างกายให้สะอาด วันที่ 14 เป็นวันเนา หรือ "วันเน่า" เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ด่ากัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ผู้หญิง ผู้สูงอายุมีหน้าที่เตรียมอาหาร ขนมผู้ชายเตรียมไม้ค้ำสะหลี (ไม้ค้ำต้นโพธิ์) ช่วงบ่ายมีการขนทรายเข้าวัด วันที่ 15 เป็นวัน "พญาวัน" คือวันเปลี่ยนศกใหม่ เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้า มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ตานขันข้าว เช่นเดียวกับวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม มีการ "ตานตุง" หรือถวายตุงปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การส่งน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป การตานไม้ค้ำสะหลี มีการทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาบ้าน หรือ สะดือบ้าน ในช่วงบ่ายหลังจากการทำบุญที่วัดเสร็จ ชาวบ้านนำดอกไม้ ธูป เทียน น้ำส้มป่อย (ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนพื้นถิ่นล้านนายกย่องให้มีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายเภทภัยต่าง ๆ ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้ รดน้ำ ดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ผู้อาวุโส ในครอบครัวก่อน จากนั้นจึงไปรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือในหมู่บ้าน หลังจากนั้นแต่ละครอบครัวนำรูปบรรพบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งพระพุทธรูปที่กราบไหว้ภายในบ้าน นำมาสรงน้ำ เพื่อขอขมาลาโทษ ขอพรด้วยการนำดอกไม้ ธูป เทียน น้ำส้มป่อย ใช้ในการประกอบพิธี

พิธีเลี้ยงผีปู่เจ้าบ้าน

มีการจัดขึ้นในช่วงเดือนเก้าเหนือโดยจะจัดงานกันขึ้นในหมู่บ้านโดยทุกคนในหมู่บ้านจะจัดเตรียมอาหารการกินเพื่อเลี้ยงต้อนรับผู้คนที่มาร่วมงานในหมู่บ้านและจะมีการเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ต้ม เหล้าขาว หมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน เมี่ยง บุหรี่ ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดโพธาราม

วัดโพธาราม ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 119 หมู่ที่ 2 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2348 ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 และยังเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ของประชาชนจำนวน 5 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 1, 2, 3, 4 และ 11 ของตำบลศรีถ้อย

ประวัติวัดโพธาราม

ในปี พ.ศ. 2346 โดยการนำของพ่อแสน ปัญญา พ่อแก้วตุ้ย พ่อเถ้างอ พ่อน้อยโปทา และพ่อหนานนาระทะ ได้พาครอบครัวจำนวน 5 ครอบครัวจากเขลางนคร (ลำปาง) มาเสาะแสวงหาแหล่งที่ทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์เพื่อสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ มาพบลำน้ำแม่ใจไหลตลอดปี จึงยึดฝั่งแม่น้ำแม่ใจเป็นที่ทำมาหากินประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม เมื่อก่อสร้างบ้านเรือนแล้วมีชาวบ้านที่ทราบว่าในท้องที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์มากจึงพากันอพยพติดตามมาอีกหลายครอบครัวตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นตามชื่อของลำน้ำแม่ใจ"บ้านแม่ใจ"

เมื่อมีผู้อพยพมาจากถิ่นอื่นมาตั้งเป็นหมู่บ้าน และอยู่กันอย่างสงบสุขฉันท์พี่น้อง สิ่งที่ชาวไทยจะขาดเสียไม่ได้ คือ "วัด" อันเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่พบปะสังสรรค์ เป็นที่รวมน้ำใจของหมู่บ้าน จึงพร้อมใจกันให้พ่อน้อยโปพากลับไปบ้านเดิมที่เขลางค์นคร เพื่อไปนิมนต์พระสงฆ์มาอยู่ที่วัดที่จะจัดสร้างขึ้น พ่อน้อยโปทาจึงได้นิมนต์พระทนันชัยจากลำปางมาสร้างอารามขึ้น

ในปีพุทธศักราช 2348 ได้เริ่มก่อสร้างวัดขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน และลำน้ำแม่ใจสถานที่ดังกล่าวเหมาะมาก เพราะทางด้านทิศตะวันออกของวัดจะมีหนองน้ำธรรมชาติ ในตอนเช้าแสงของดวงอาทิตย์จะส่องแสงมากระทบลำน้ำสายน้ำจะเป็นประกายส่องกระทบกับพระพักตร์ของพระพุทธรูปอย่างสวยงาม หนองน้ำดังกล่าว ชื่อว่า "หนองขวาง" ปัจจุบันคือ หนองเล็งทราย ตั้งชื่อวัดว่า "วัดแม่ใจ" ต่อมาเมื่อมีผู้คนมากขึ้นวัดจึงต้องมีการก่อสร้างให้ใหญ่ และกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เพียงพอกับคณะศรัทธาที่มาทำบุญ และประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ ตลอดจนเป็นที่ประกอบการประเพณีต่าง ๆ ของชาวพุทธ ทั้งปี ได้มีการสร้างวิหาร กุฏิที่พักของพระภิกษุสงฆ์ สามเณรให้มั่นคงถาวร โดยเฉพาะพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในวิหาร ได้ไปหาช่างปั้นจากเชียงใหม่ และช่างที่อำเภอดอยสะเก็ดมาปั้นในปีพุทธศักราช 2380 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะสวยงามมาก ใครเดินผ่านวัดอดใจที่จะเลี้ยว และหยุดดูไม่ได้ จนในที่สุดชาวบ้าน เรียกกันติดปากว่า "วัดนางเหลียว" มีคำกล่าวว่ามีผู้หญิงสาวมักจะเอาเมี่ยง บุหรี่ มาถวายพระพุทธรูปเป็นประจำเพื่อจะให้ตนมีความสวยงามเหมือนพระพุทธรูปเวลามีคนเห็นจะได้เหลียงมองเท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบได้เพราะเป็นคำเล่าลือที่สืบทอดกันมา ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดโพธาราม

เมื่อสร้างวัดแล้ว คณะศรัทธาต่างชื่นชมช่วยกันทะนุบำรุงจนเจริญ รุ่งเรืองสืบมาเป็นเวลาช้านานจนกระทั่งเมื่อปีพุทธศักราช 2453 เหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลด วิปโยคให้กับชาวบ้านวัดนางแล เป็นอย่างที่สุด คือ ตอนกลางคืนเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ใต้) ได้เกิดไฟไหม้พระสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวบ้าน และพะสงฆ์สามเณรอย่างถ้วนทั่วชาวบ้านได้ช่วยกันกับอย่างโกลาหล เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คณะศรัทธาเกิดความทุกข์ระทมใจ รู้สึกเสียดายสิ่งที่ตนเคารพ และหวงแหนซึ่งเป็นที่ประกอบศาสนกิจ โดยที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ซาวบ้านขาดสถานที่ประกอบบุญกุศล ทำให้วัดที่เคยสงบสุข สร้างความสมัครสมานสามัคคี เป็นศูนย์รวมจิตใจศรัทธาหายไป วัดจึงเป็นวัดที่ขาดคนเหลียวแล พระพุทธรูปต้องตากฝนตากน้ำค้าง ตากแสงแดด เป็นภาพที่สุดแสนจะเวทนาต่อมาชาวบ้านจึงช่วยกันเก็บซากปูน ซากไม้ ที่ไฟไหม้ออกแล้วทำหลังคาชั่วคราวให้กับพระพุทธรูปที่ยังเหลืออยู่

ในปี พ.ศ. 2470 พ่อหนานใจ วรรณจักร ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของพระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาโปรดศรัทธาญาติโยมชาวศรีถ้อย และรวบรวมจิตใจให้ช่วยกันสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้น โดยที่พ่อหนานใจเป็นสล่า (ช่าง) ในการก่สร้าง มีพระอธิการอินต๊ะปัญโญ ปญญาวโร (พ่อหนานปัญโญ คำบุญเรือง) เป็นเจ้าอาวาส ทำการก่อสร้างอยู่หลายปีกว่าจะสำเร็จ วัดโพธารามจึงเป็นสถานที่ ที่สง่างามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นที่รวมจิตใจของคณะศรัทธาสาธุชนมาจวบจนบัดนี้

เมื่อสร้างวิหารเสร็จเรียบร้อยแล้วได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดแม่ใจศรีถ้อย"ที่เพิ่มศรีถ้อยเพราะที่หน้าวัดมีต้นศรี (โพธิ์) ปลูกเป็นแถวเรียงกันจำนวนมากหลายต้น และหมู่บ้านก็ชื่อว่า "บ้านศรีถ้อย" และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดโพธาราม"

ต่อมามีพระภิกษุสามเณรเพิ่มขึ้นได้ทำการก่อสร้างกุฏิ (โฮง) หลังใหม่ขึ้นอีกหลังหนึ่งเพื่อเป็นที่พำนักอาศัยโดยสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ในยามค่ำคืนในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรต้องใช้ไฟจากตะเกียงน้ำมันในการดูหนังสือ เรียนพระธรรมวินัยในตอนกลางคืนกุฏิหลังนี้เป็นกุฏิสร้างผู้ที่มีความรู้สร้างผู้ทรงศีลที่มีชื่อเสียงมาอย่างมากมายหลายยุคหลายสมัยทั้งๆ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้แต่ได้อาศัยแสงไฟจากตะเกียงน้ำมันก๊าดก็ยังสามารถจุดไฟแห่งการศึกษาในโชติช่วงชัชวาลขึ้นมาได้ไม่เหมือนกับสมัยปัจจุบันมีเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างสมบูรณ์มีทุกสิ่ง ทุกอย่างที่ตนปรารถนาแต่ก็ได้หาได้สร้างความสนใจในด้านการศึกษาพระธรรมวินัยเฉกเช่นสมัยก่อนนับว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายทั้งเวลา และโอกาสเป็นอย่างยิ่ง

วัดโพธาราม ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 119 หมู่ที่ 2 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2348 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ปัจจุบันมีที่ดินที่ตั้งวัด เนื้อที่จำนวน 15 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวาและวัดโพธารามเป็นวัดที่สำคัญของอำเภอแม่ใจอีกวัดหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมของการศึกษาในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เป็นที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม (แผนกนักธรรมบาลีและแผนกสามัญศึกษา ม.1-6)
  • เป็นที่ตั้งโรงเรียนศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์
  • เป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) ตำบลศรีถ้อย
  • เป็นที่ตั้งห้องสมุดประชาชนประจำอำเภอแม่ใจ
  • เป็นอุทยานการศึกษา และเป็นที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
  • เป็นที่ตั้งชมรมผู้สูงอายุ
  • เป็นที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำหมู่บ้าน (อบต.)
  • เป็นสถานที่ตั้งศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เป็นที่ตั้งศูนย์ฝึกวิชาชีพพื้นบ้านโดยก่อตั้งเป็นกลุ่มดอกไม้ ประดิษฐ์วัดโพธาราม เป็นต้น

นอกจากนี้วัดโพธาราม ปัจจุบันยังเป็นศูนย์รวมที่ให้การสนับสนุน และตอบสนองหน่วยงานของรัฐ

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2559). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่ใจหางบ้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

วิกิพีเดีย. (2559). วัดโพธาราม (จังหวัดพะเยา). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki

พะเยาทีวี. (2562). หลวงพ่อศรีเหลา แม่ใจ พระผู้บวชป่า/ต้นไม้คนแรกของประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/

ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. พิพิธภัณฑ์วัดโพธาราม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/museum/