Advance search

“ต้นผึ้ง” ไม่ใช่เป็นชื่อของต้นไม้ แต่เป็นต้นไม้ลุงขนาดใหญ่ เป็นไม้ประเภทเดียวกับไม้ไฮ แต่มีผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมาก มีผู้บอกเล่าว่าบางต้นเป็นต้นไทร เมื่อมีผึ้งมาทำรังจำนวนมากเป็นร้อย ๆ รัง ชาวบ้านจึงเรียกว่า ต้นผึ้ง

หมู่ที่ 11
บ้านต้นผึ้ง
ศรีถ้อย
แม่ใจ
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
9 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
27 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
26 ก.ค. 2023
บ้านต้นผึ้ง

ชาวบ้านได้สังเกตเห็นต้นไม้ใหญ่ในหมู่บ้าน มีผึ้งมาทำรังนับร้อยรัง จึงพร้อมใจกันใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านต้นผึ้ง”


“ต้นผึ้ง” ไม่ใช่เป็นชื่อของต้นไม้ แต่เป็นต้นไม้ลุงขนาดใหญ่ เป็นไม้ประเภทเดียวกับไม้ไฮ แต่มีผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมาก มีผู้บอกเล่าว่าบางต้นเป็นต้นไทร เมื่อมีผึ้งมาทำรังจำนวนมากเป็นร้อย ๆ รัง ชาวบ้านจึงเรียกว่า ต้นผึ้ง

บ้านต้นผึ้ง
หมู่ที่ 11
ศรีถ้อย
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.35282727
99.80550438
เทศบาลตำบลแม่ใจ

พ.ศ. 2346 โดยการนำของพ่อแสนปัญญา พ่อแก้วตุ้ย พ่อเถ้างอ พ่อน้อยโปทา และพ่อหนานนาระทะ ได้พาครอบครัวจำนวน 5 ครอบครัว จากเขลางค์นคร (ลำปาง) มาเสาะแสวงหาแหล่งที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์เพื่อสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ มาพบลำน้ำแม่ใจไหลตลอดปี จึงยึดฝั่งแม่น้ำแม่ใจน้ำแม่ใจ เป็นที่ทำมาหากินประกอบอาชีพด้านทางเกษตรกรรม เมื่อก่อสร้างบ้านเรือนแล้วมีชาวบ้านที่ทราบว่าท้องถิ่นนี้มีความสมบูรณ์มากจึงพากันอพยพติดตามมาอีกหลายครอบครัวตั้งเป็นหมูบ้านขึ้นตามชื่อของลำน้ำแม่ใจคือ “บ้านแม่ใจ” และมีการสร้างวัดขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้าน พ่อน้อยโปทาจึงนิมนต์พระทนันชัย จากลำปางมาสร้างพระอารามขึ้นในปี 2348 และต่อมาก็ได้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นชื่อว่า โรงเรียนศรีถ้อย โดยมีครูใหญ่คนแรกคือ ครูเจรย เพชรประดับและครูประจำอีกคนคือ แม่นางเฉื้อย เพชรประดับ

สมัยก่อนมีโรคระบาดเกิดขึ้น มีลักษณะเป็นตุ่มใสและมีอาการไข้(ไข้ทรพิษ) หากใครเป็นแล้วต้องเสียชีวิต ตุ่มนั้นเมื่อเกิด นอนกับที่นอนหรือพื้นไม่ได้เพราะหากตุ่มนั้นแตกจะทำให้แผลติดกับที่นอนหรือพื้นทำให้คนไข้ได้รับความทรมานมากขึ้น ดังนั้นชาวบ้านจึงให้คนไข้นอนบนใบตอง โรคนี้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากการรักษาใช้ยาสมุนไพรรักษา ที่ไม่หายก็ตาย ส่วนคนที่รอดก็จะมีแผลเป็นหรือหน้าลาย

เมื่อมีคนมากขึ้นจึงมีการตั้งหมู่บ้านอื่นแยกจากบ้านแม่ใจอีกเริ่มและขยายขนาดของหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ บ้านต้นแก

ในช่วงที่ พ่อจันทร์ คำวงษา เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านต้นแกนั้น มีชาวบ้านประมาณ 20 หลังคาเรือนประชากรประมาณร้อยกว่าคนชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา และหาปลาที่หนองเล็งทราย อุปกรณ์หาปลาในสมัยนั้น ได้แก่ ค่าว,สุ่ม,ส่อม, ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีแหใช้เพราะเป็นเครื่องมือที่มาภายหลังสันนิษฐานว่ามาจากทางใต้ (ทางใต้ในที่นี้หมายถึงบริเวณพื้นที่ต่ำกว่าภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดลงไป) ในสมัยนั้นพ่อจันทร์ คำวงษาได้พาชาวบ้านช่วยกันตัดถนนในหมู่บ้าน สร้างฝายน้ำล้นเพื่อกักเก็บน้ำในยามแล้งและชะลอความเร็วน้ำในหน้าฝน และเนื่องจากในสมัยก่อนมีโจรชุกชุมพ่อจันทร์ คำวงษา จึงได้จัดเวรยามและสร้างหอสังเกตการณ์ ขึ้นเรียกว่า "กองกวด"

ในขณะนั้นเป็นช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางมาพักที่วัดโพธาราม มีการรับซื้อหมูจากชาวบ้าน และจ้างให้ชาวบ้านถางหญ้าเพื่อเอาไปให้ม้า ส่วนชาวบ้านก็ขุดหลุมหลบภัยเพราะเกรงกลัวอันตราย ซึ่งอีกนานวันต่อมาทหารญี่ปุ่นก็เคลื่อนทัพขึ้นไปยังแม่สายต่อไป

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ 2526 ทางราชการให้แยกหมู่บ้านออกจากบ้านต้นแกหมู่ที่ 1 ซึ่งจะได้ง่ายต่อการปกครองผู้นำชุมชนได้เรียกชาวบ้านประชุมเพื่อตั้งชื่อหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้สังเกตเห็นต้นไม้ใหญ่ในหมู่บ้าน มีผึ้งมาทำรังนับร้อยรัง จึงพร้อมใจกันใช้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านต้นผึ้ง" หมู่ที่ 11 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายวินัติ โลจันต๊ะ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกจนถึงปี 2536 จึงได้เลือกผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ชื่อนายอุดม วรรณจักร จนถึงปี พ.ศ. 2546 และได้เลือกตั้งนายสุชาติ ไชยเลิศเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

หมู่บ้านต้นผึ้งโดยทั่วไปเป็นที่ราบระหว่างเชิงเขา มีลำห้วยขนาดเล็กไหลลงสู่ลำน้ำแม่ใจผ่านกลางหมู่บ้าน โดยไหลมาจากท้องไร่ท้องนาในหมู่บ้านมารวมกัน บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 11 มีจำนวนหลังคาเรือน 173 หลังคาเรือน แบ่งเป็น หลังคาเรือนที่มีประชาชนอยู่จริงจำนวน 160 หลังคาเรือน และมีบ้านร้าง จำนวน 2 หลังคาเรือน และบ้านเช่า จำนวน 2 หลังคาเรือน ซึ่งบ้านที่ว่างเหล่านี้ เจ้าของบ้านไปทำงานต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่จะมีญาติพี่น้องกันหรือผู้ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันคอยดูแลบ้านให้

สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูน แต่ในอดีตการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ยกสูงเนื่องจากในปลายเดือนมีนาคมมักมีลมพายุแรงการยกบ้านสูงจะทำให้ลมลอดผ่านบ้านได้ดี ประกอบกับหลังคาที่ยกสูงจากตัวบ้านจึงทำให้ลมเคลื่อนผ่านโดยไม่ทำอันตรายต่อบ้านเรือน บ้านเรือนในแต่ละหลังจะมีรั้วล้อมรอบแสดงขอบเขตพื้นที่ของบ้านอย่างชัดเจน แต่ยังมีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยจะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแบ่งเป็น 5 ซอยคือซอย 1 ถึงซอย 5 และมีถนนดินลูกรังท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นทางไปโรงงานทำน้ำปู จะมีปัญหาในการเดินทางในช่วงฤดูฝนที่ถนนแฉะ เดินทางลำบาก ตามถนนในหมู่บ้านจะมีเสาไฟฟ้าและไฟข้างทางตลอดทางทำให้ตอนกลางคืนมีแสงสว่างเพียงพอและประชาชนมีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน และมีลำห้วยขนาดเล็กตัดผ่านพื้นที่ภายในหมู่บ้านเป็นจุดแบ่งระหว่างฝั่งเทศบาลตำบลแม่ใจและเทศบาลตำบลศรีถ้อย แต่ละหลังคาเรือนมีบ่อน้ำอยู่ภายในเขตบ้านเป็นส่วนมาก และมีแท็งก์น้ำเก็บน้ำฝน ประจำหมู่บ้านจำนวน 4 แท็งก์เก็บสำรองน้ำไว้ใช้ภายในหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีปัญหาในการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

ในชุมชนมี สถานที่น่าสนใจ เช่น วัดโพธาราม โบราณสถาน โบราณวัตถุศาลเจ้าหลวงคำแดง

ศาลเจ้าหลวงคำแดง จากตำนานเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เจ้าหลวงคำแดง หรือ ขุนคำแดง เป็นพระราชโอรสของเจ้าขุนงำเมืองปฐมกษัติริย์แห่งเมืองพะเยาหรือภูกามยาว ครั้งหนึ่งบิดาได้สั่งให้ขุนคำแดง นำกองทัพไปรักษาด่านชายแดน ป้องกันศัตรูจากเมืองอื่น ที่มักจะยกมาโจมดีเมืองพะเยา และได้สร้างที่พักแรมตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งศาลในปัจจุบัน คือ ตั้งอยู่บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 11 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ศาลดังกล่าวมีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ซึ่งเจ้าหลวงคำแดง เป็นที่เคารพของชาวอำเภอแม่ใจเป็นอย่างมาก เมื่อชาวบ้านมีเคาะห์กรรม เกิดการเจ็บป่วย หรือเกิดความเดือดร้อนเป็นคดีความ ก็จะมาบนบานศาลกล่าวแก่ดวงวิญญาณของเจ้าหลวงคำแดง ให้มาช่วยผ่อนหนักเป็นเบา หรือพ้นจากเคราะห์กรรม ต่างได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจจึงได้มาบวงสรวงแก้บน ชาวอำเภอแม่ใจจึงได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าหลวงคำแดงขึ้นเป็นประเพณีทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง คือ

  • ครั้งแรก กำหนดในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 (เดือน 5 เหนือ) ถือเป็นวันข่าว หรือวันบอกกล่าวให้รับทราบทั่วโดยทั่วกันว่าวันพรุ่งนี้ คือวันขึ้น 13 ค่ำ จะเป็นวันบวงสรวงเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งวันแก้บนหรือวันที่ทำพิธีบวงสรวงนั้นจะห้ามคนที่เป็นสมาชิก ลูก หลาน เหลน ของเจ้าหลวงคำแดง ออกไปทำธุระนอกพื้นที่ ถ้าออกไปมักจะเกิดความเดือดร้อนตามมาภายหลัง
  • ครั้งที่สอง กำหนดจัดในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 7 (เดือน 9 เหนือ) เป็นวันข่าว และ วันขึ้น 13 ค่ำ เป็นวันแก้บนหรือวันบวงสรวง

โดยในปี พ.ศ. 2552 พระโสพณพัฒโนดม เจ้าอาวาสวัดโพธาราม รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ได้อนุญาตให้ลูก หลาน เหลน ที่เคารพนับถือเจ้าหลวงคำแดง สร้างศาลเจ้าหลวงคำแดงขึ้นในบริเวณวัดโพธารามอีกแห่งหนึ่ง และจัดพิธีบวงสรวงทุกปี ซึ่งชาวบ้านสามารถไปแสดงความเคารพ สักการะบูชา กราบไหว้เจ้าหลวงคำแดง ในปัจจุบันสามารถไปได้ 2 แห่ง คือ ศาลในหมู่บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 11 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ และศาลในวัดโพธาราม หมู่ที่ 2 บ้านต้นตะเตียน ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ประชาชนในหมู่บ้านต้นผึ้งจะมีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะของเครือญาติโดยมีการนับถือกันแบบพี่น้องกัน มีความใกล้ชิดกันเดินทางไปมาหาสู่กันบ่อยๆ ประชาชนในหมู่บ้านไม่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่อื่นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติกันทั้งหมด นอกจากนี้แล้วผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านโดยมาเป็นบุตรเขยหรือบุตรสะใภ้ของบ้านต้นผึ้ง และการแต่งงานของคนในหมู่บ้านนี้จะเป็นคนบ้านเดียวกันหรือคนในละแวกพื้นที่เดียวกันมาแต่งงานกัน ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านนี้ว่า ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นญาติพี่น้องกันโดย วงศ์ตระกูลที่พบมากที่สุดคือ “ใจมิภักดิ์” ซึ่งเป็นตระกูลที่มีมากที่สุดในหมู่บ้าน

ลักษณะความสัมพันธ์ของประชาชนในหมู่บ้านจะอยู่ในรูปแบบของการช่วยเหลือกันในงานต่างๆที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เช่น งานแต่งงาน งานขึ้น บ้านใหม่ งานศพ ตลอดจนงานบุญต่างๆ โดยเฉพาะงานศพที่มีพิธีกรรมทางศาสนาจะมีการร่วมกันทำงานของประชาชนในหมู่บ้านทั้งการทำอาหาร การประกอบพิธีกรรมและการเตรียมงานที่ประชาชนในหมู่บ้านของแต่ละหลังคาเรือนมีการนำท่อนไม้บ้านละ 1 ท่อน มารวมกันในงานเพื่อใช้เป็นฟืนในการเผาศพและนำข้าวสาร 1 ลิตร มารวมกันในงานเพื่อใช้เลี้ยงแขกในงาน

ลักษณะครอบครัวของประชาชนในหมู่บ้านต้นผึ้งในสมัยอดีตนั้นมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายโดยสมาชิกในครอบครัวจะประกอบไปด้วยสมาชิกมากกว่า 2 รุ่นขึ้นไป คือ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน เป็นต้น การทำหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวจะเป็นผู้ชายในการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและออกไปทำงานนอกบ้าน หน้าที่ของผู้หญิงจะทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูบุตร หุงหาอาหารและดูแลบ้านเรือนของตนเองให้สะอาด แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านต้นผึ้งมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากสมัยอดีตโดยสิ้นเชิงจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งนี้สภาพของบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏอย่างชัดเจนคือ บุคคลในครอบครัวมีหน้าที่เท่าเทียมกันโดยทั้งผู้ชายผู้หญิงต่างก็ช่วยกันทำมาหากินเป็นส่วนใหญ่เช่น การทำนา ทำไร่ ทำสวน รับจ้าง ทำให้ภาระในการเลี้ยงดูบุตรจากของผู้หญิงก็กลับกลายมาเป็นหน้าที่ของปู่ ย่า ตา ยายแทน ถึงแม้ว่าในหมู่บ้านจะมีรูปแบบของครอบครัวของประชาชนเป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายปะปนกัน แต่ระบบของความสัมพันธ์ของประชาชนในหมู่บ้านก็เปรียบเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด การไปมาหาสู่กันบ่อยครั้ง ช่วยเหลือกันและมีน้ำใจให้กันในการแบ่งปันอาหารหรือสิ่งของเล็กๆน้อยๆก็ตามยังคงอยู่ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะในการแยกบ้านออกไปของสมาชิกในครอบครัวตามบทบาทหน้าที่ของการมีครอบครัวใหม่ก็อยู่ในรูปของการย้ายออกมาจากครอบครัวเดิมแล้วมาปลูกบ้านหลังใหม่ก็ยังอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านของบิดามารดาอยู่ ซึ่งยังไม่ได้แยกออกจากหมู่บ้านเดิมของตนเองแต่จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่แยกออกไปอยู่ต่างถิ่นหรือจังหวัดอื่นตามบทบาทหน้าที่การงานทางสังคมทำให้ครอบครัวขยายกลายมาเป็นครอบครอบครัวเดี่ยวแทน

ผังเครือญาติ

ตระกูลใจมิภักดิ์ เป็นตระกูลที่พบมากที่สุดในหมู่บ้านต้นผึ้งจำนวน 36 คน จากการสอบถาม นายเสาร์ ใจมิภักดิ์ ซึ่งเป็นลูกหลานนามสกุลใจมิภักดิ์ทีอายุมากที่สุดในหมู่บ้าน ไม่ทราบว่านามสกุลใจมิภักดิ์มีความหมายว่าอะไร โดยบอกว่านามสกุลนี้สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบิดา มารดาของตน จึงไม่ทราบว่านามสกุลนี้ตั้งมาจากอะไร แต่ทราบความเป็นมาว่าบิดาอพยพมาจากลำปางมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านต้นผึ้ง

ตระกูลศรีใจติ๊บ เป็นตระกูลที่พบมากรองจากตระกูลศรีใจติ๊บจำนวน 28 คน จากการสอบถาม นายอ้วน ศรีใจติ๊บ ซึ่งเป็นลูกหลานนามสกุลศรีใจติ๊บที่อายุมากที่สุดในหมู่บ้าน บอกว่า นามสกุลนี้เป็นนามสกุลเก่าแก่ของหมู่บ้าน และ ลูกหลานพยายามอนุรักษ์นามสกุลนี้ไว้โดยสมัยก่อนพี่น้องที่เป็นญาติกันจะแต่งงานกันไม่ให้นามสกุลหายไปไหน ความหมายของนามสกุลนี้คือ รุ่นบิดามารดาที่ชื่อพ่อ ศรี และ แม่ติ๊บ ส่วนคำว่าใจ คือแม่ใจ นำมารวมกันเป็นศรีใจติ๊บ ตาบอกว่านามสกุลทางอำเภอแม่ใจมักมีคำว่าใจอยู่ด้วย เหมือนศรีใจติ๊บ

ผู้ใหญ่บ้าน : นายสุชาติ ไชยะเลิศ

โดยหมู่บ้านมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้าน ดังนี้

  • คณะกรรมการกองทุนเงินล้าน
  • คณะกรรมการ SML
  • คณะกรรมการกองทุนปุ๋ยหมักชีวภาพ
  • คณะกรรมการกองทุนปุ๋ยหมู่บ้าน
  • คณะกรรมการกองทุนธนาคารข้าว
  • คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
  • คณะกรรมการกองทุนวัว
  • คณะกรรมการกองทุนหมู
  • คณะกรรมการกองทุนแท้งน้ำ
  • คณะกรรมกลุ่มทำน้ำปู
  • กลุ่มเย็บที่นอนและหมอน

ลักษณะการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน

  • าชีพ : ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรมากที่สุด และประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 9,000 บาท/เดือนขึ้นไปมากที่สุด
  • รายได้ของประชาชน : แบ่งเป็น รายได้ภาคการเกษตร ซึ่งมีรายได้หลักมาจากขายข้าว รองลงมาได้แก่ ขายน้ำปู ทำสวนลิ้นจี่ สวนลำไย ปลูกกระเทียม แตงโม สวนแคนตาลูป ขายถั่วเหลือง และพบว่าประชาชนมีรายได้นอกภาคเกษตรมาจากการ รับราชการ, เจ้าหน้าที่ของรัฐ, รับจ้างทั่วไป, ค้าขาย, ธุรกิจส่วนตัว, กลุ่มทำหมอนและที่นอน
  • รายจ่ายของประชาชน : แบ่งเป็น รายจ่ายภาคเกษตร พบว่าประชาชนเสียเงินในการจ่ายค่าปุ๋ยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ค่าน้ำมันรถไถ, ค่าสารเคมี, ค่าจ้างแรงงาน, ค่าเมล็ดพันธุ์ และรายจ่ายนอกภาคเกษตร ได้แก่ ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าบุหรี่, ค่าสุรา, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าหวย, ค่าภาษี, ค่าอุปโภคบริโภค เช่น  ค่าอาหาร เป็นต้น ค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าซื้อยาบรรเทาปวด, ค่าโทรศัพท์

กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและด้านวัฒนธรรมของบ้านต้นผึ้ง

เดือนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจกิจกรรมด้านวัฒนธรรม

มกราคม

(เดือน 4 ล้านนา)

- เตรียมทำสวนลิ้นจี่

- ทำงานโรงบ่มใบยา

- ทำสวนแคนตาลูป

- รับราชการ, เจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- ต้อนรับปีใหม่

- ประเพณีเดือนสี่เป็ง มีกิจกรรมดังนี้ เข้าวัดทำบุญ, ตานข้าวจี่ข้าวหลาม, ตานหลัวพระเจ้า

- วันเด็ก

กุมภาพันธ์

(เดือน 5 ล้านนา)

- ทำสวนลิ้นจี่

- ทำงานโรงบ่มใบยา

- ทำสวนแคนตาลูป

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- บวงสรวงเจ้าหลวงคำแดง

การแข่งขันกีฬาประจำปี

มีนาคม

(เดือน 6 ล้านนา)

- เก็บผลผลิตจากปลูกกระเทียม  แตงโม

- เก็บผลแคนตาลูป

- เก็บถั่วเหลือง

- ทำงานรับจ้างที่โรงบ่มใบยา

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- วัน อสม.

- วันสตรีสากล

เมษายน

(เดือน 7 ล้านนา)

ทำสวนลิ้นจี่

รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- ประเพณีสงกรานต์,แห่ไม้ค้ำศรีและทอดผ้าป่า

- ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ

- บวชสามเณรภาคฤดูร้อน

พฤษภาคม

(เดือน 8 ล้านนา)

- เก็บผลผลิตลิ้นปี่

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- ประเพณีแปดเป็ง

มิถุนายน

(เดือน 9 ล้านนา)

- หว่านกล้าข้าว/ไถ่กลบ

- ทำนา

- ดูแลสวนลำไย

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อหลวงคำแดง

กรกฎาคม

(เดือน 10 ล้านนา)

- เก็บผลผลิตลำไย

- ทำนา

จัดแต่งเก็บใส่ปุ๋ยลิ้นจี่

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- เข้าพรรษา

- แห่เทียนเข้าพรรษา

สิงหาคม

(เดือน 11 ล้านนา)

- ทำนา

- ทำน้ำปู

- เก็บผลผลิตลำไย

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- วันแม่

- เข้าพรรษา

กันยายน

(เดือน 12 ล้านนา)

- ทำน้ำปู

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- เข้าพรรษา

ตุลาคม

(เดือนเกี๋ยง (อ้าย) ล้านนา)

- ทำน้ำปู

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- ออกพรรษา/ตักบาตรเทโว

- ตานก๋วยข้าวสลาก

- วันปิยมหาราช

พฤศจิกายน

(เดือนยี่ ล้านนา)

- เกี่ยวข้าว/ตีข้าว

- รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- ลอยกระทง

- ทอดกฐิน

ธันวาคม

(เดือน 3 ล้านนา)

- เกี่ยวข้าว/ตีข้าว

ปลูกกระเทียม/ปลูกฟักทอง

ปลูกแตงโม/แคนตาลูป

ปลูกถั่วเหลือง

รับราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐรับจ้างทั่วไปค้าขายธุรกิจส่วนตัวกลุ่มทำหมอนและที่นอน

- ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

- วันพ่อ

ความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงผี เช่น

  • ผีขุนนํ้า ผีฝาย เป็นความเชื่อว่าที่แหล่งต้นนํ้า แหล่งกักเก็บนํ้าจะมีผีที่คอยดูแลรักษาต้นนํ้าลำธารและบริเวณฝาย
  • ผีไร่ ผีนา เป็นความเชื่อว่าไร่ นา มีผีที่เป็นเจ้าของสถานที่คอยดูแล ผีป่า ผีเขา คอยปกปักรักษาพื้นที่ในป่า เป็นที่เคารพของชาวบ้าน และจะบอกกล่าวก่อนทำการใดในป่า
  • การเลี้ยงผีเสื้อบ้าน มีความเชื่อว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาหมู่บ้าน
  • การเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นผีประจำตระกูล หรือผีบรรพบุรุษ มีความเชื่อว่าจะคอยคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้นต้องบอกกล่าว พิธีเลี้ยงผีปู่ย่าจะจัดเป็นประจำทุกปี ถ้ามีการผิดผี (หญิงชายได้เสียกัน) ต้องเสียค่าผี นำเงินไปซื้อของเซ่นไหว้ เช่น เหล้าไห ไก่คู่ หรือ หัวหมู 1 หัว เหล้า 1 ไห แต่ละบ้านอาจมีวิธีที่แตกต่างกัน การเลี้ยงผีทำโดย “เก๊าผี” เป็นผู้อาวุโสในตระกูลที่สืบต่อหน้าที่นี้ กรณีที่มีคนในครอบครัวไม่สบายและได้บนบานกับผีปู่ย่าไว้ เมื่อหายป่วยก็ต้องทำพิธีเลี้ยง ในวันสงกรานต์จะมีการดำหัวผีปู่ย่า นำของเซ่นไหว้ไปรวมที่บ้านเก๊าผีเพื่อทำพิธี
  • ผีหม้อนึ่ง หรือการแกว่งข้าว กรณีที่เด็กแรกเกิดมีอาการป่วย หรือร้องไห้กลางดึก มักจะเชื่อกันว่าเกิดจากการกระทำของผี จึงมีการถามผีหม้อนึ่งหรือแกว่งข้าว โดยผู้เข้าทรงสื่อสารกับผี ถามถึงสาเหตุการป่วย การร้องไห้ และวิธีแก้ เช่น อาจเกิดจากการกระทำของพ่อเกิดแม่เกิด หรือเด็กอาจอยากทราบว่าเป็นใครกลับชาติมาเกิด เป็นญาติฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ ต้องการอะไรจากพ่อแม่ ญาติ เช่น ต้องการแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าใหม่ เมื่อถามแล้วผีหม้อนึ่งจะแกว่งข้าวเป็นคำตอบ พ่อแม่ก็จะพาไปรับของเพื่อให้หายจากอาการดังกล่าว ถ้ามีอาการป่วยก็อาจจะเซ่นสังเวยหรือส่งหาบสำหรับเด็ก (ส่งแถนสำหรับผู้ใหญ่) เป็นการขอต่ออายุจากผีพ่อเกิดแม่เกิดให้หายป่วย

1. นางวันดี อภิยา ปราชญ์ชุมชนด้านงานบายศรีสู่ขวัญ

  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำปูบ้านต้นผึ้ง หมู่ 11 ต.ศรีถ้อย เลขที่ 171 หมู่ที่ 11 ถนน ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดย นางสายลูน ตาสุรินนางเสาร์แก้ว ปัญสุวรรณ

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์. หนองเล็งทราย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://www.maechai.ac.th/

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านต้นผึ้งหมู่ 11. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธม.โม). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิ เมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.