Advance search

หมู่บ้านที่อยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำจว้า ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านแม่จว้าใต้

หมู่ที่ 5
บ้านแม่จว้าใต้
แม่สุก
แม่ใจ
พะเยา
ศศิธร ปัญจโภคศิริ
5 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
13 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
26 ก.ค. 2023
บ้านแม่จว้าใต้

พ่อเฒ่าตุ้มผู้นำหมู่บ้านที่อพยพมาจากลำปาง ได้ตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2418 เนื่องมาจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำจว้า จึงได้ชื่อว่า "บ้านแม่จว้าใต้"


หมู่บ้านที่อยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำจว้า ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านแม่จว้าใต้

บ้านแม่จว้าใต้
หมู่ที่ 5
แม่สุก
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.30671479
99.80716199
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สุก

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วยแว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาพะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคู่น้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง" ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝ่ายเดียวกันโดยที่พันนาม่วง คือบริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พันนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายชอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวียงโบราณใกล้บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ และส่วนหนึ่งของอำเภอแม่ใจ บ้านแม่ไชย (แม่ใจ) ปรากฏในจารึกตั้งแต่สมัยขุนจอมธรรมขึ้นปกครองเมืองพะเยาหรืออาณาจักรกามยาวทั้งหมด 36 พันนา โดยบ้านแม่ไชยอยู่ในส่วนของพันนาเสา พันนาม่วง (พระธรรมวิมลโมลีและเกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ.2564 : 36-38) โดยที่พันนาม่วง คือบริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พ้นนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายชอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ (พระธรรมวิมลโมลี อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว. ขรรค์ชัย บุนปาน, 2552)

อำเภอแม่ใจ คำว่า "แม่ใจ" คือชื่อของลำน้ำแม่ใจ เป็นลำน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำ ประวัติมีประชาชนได้อพยพมาจากจังหวัดลำปางได้มาพบแหล่งน้ำสายนี้จึงได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินโดยยึดเอาสองฝั่งลำน้ำแม่ใจเป็นหลัก อำเภอแม่ใจ เดิมเป็นตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อครั้งที่จังหวัดพะเยา ยังอยู่ในการปกครองของจังหวัดเชียงราย โดยมีประวัติที่เรียบเรียงจากการศึกษาค้นคว้าเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และมีการตรวจสอบช่วงระยะเวลาการเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านแม่จว้าใต้ ได้ดังนี้ บ้านแม่จว้าใต้ หมู่ที่ 5 ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา เริ่มที่ได้มีชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดลำปาง เป็นบ้านไร่ขวงเป่า บ้านไร่ขิง บ้านหนองหล่าย อำเภอเกาะคา โดยมีพ่อเฒ่าแสนขัด เป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้ของลำห้วยแม่จว้าใต้เพราะตั้งหมู่บ้านอยู่ทางน้ำทิศใต้ ต่อมาได้แต่งตั้งพ่อเฒ่าตุ้มขึ้นมาเป็นผู้นำหมู่บ้านโดยมีสมาชิกในหมู่บ้าน หลังคาเรือนได้ตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2418 เนื่องมาจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำจว้า จึงได้ชื่อว่า "บ้านแม่จว้าใต้ "

เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ 

หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จจึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมืองพะเยายังขึ้นกับเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนในตระกูลมาปกครองโดยต่อเนื่อง จนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีได้มีการการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ โดยมีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

ประมาณปี พ.ศ. 2330 เจ้าเมืองอังวะสั่งให้หวุ่นยี่มหาไชยสุระ ยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผ่านฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยาด้วย ผู้คนกลัวแตกตื่นอพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลาถึง 56 ปี

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กราบถวายบังคมทูลของตั้งเมืองเชียงรายขึ้นกับเมืองนครเชียงใหม่ และขอตั้งเมืองพะเยา และเมืองงาว ทั้งสองเมืองนี้ขึ้นกับเมืองนครลำปาง ฝ่ายเมืองพะเยาทรงตั้งนายพุทธวงศ์ น้องคนที่ 1 ของพระยานครอินทร์ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่นเจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา

เมื่อจุลศักราชที่ 1209 (พุทธศักราช 2390) ได้มีพระภิกษุเป็นผู้นำชาวบ้านจากบ้านหัวช้าง เมืองปาน (ปัจจุบัน คืออำเภอเมืองปาน จ.ลำปาง) มาตั้งหมู่บ้านในบริเวณที่ราบเชิงเขา รวม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่สุก บ้านแม่จว้า บ้านแม่จว้าใต้ รวมเป็นหนึ่งตำบล

ประวัติบ้านแม่จว้า เริ่มจากนายก๋องคำและนางยุ กิ่งแก้ว สองสามีภรรยามาจากบ้านม่วงบ้านของจังหวัดลำปาง ซึ่งมีอาชีพขายวัว ได้อพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ณ ที่แห่งนี้โดยไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่ชัด

ประวัติบ้านแม่จว้าใต้ ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอน โดยมีชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดลำปาง เช่น บ้านไร่ข่วงเปา บ้านไร่หิน บ้านหนองหล่าย อำเภอเกาะคา โดยมีผู้เฒ่าแสนขัด เป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้ของลำห้วยแม่จว้า

ประมาณ พ.ศ. 2394 ความเป็นมาของบ้านแม่จว้า จากหลักฐานและประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ภายในหมู่บ้านที่เล่าต่อกันมาว่า เมื่อพุทธศักราช 2390 มีพระภิกษุซึ่งเดินทางมาจากบ้านขอหัวช้างเมืองปาน (ปัจจุบัน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง) คือ“ ครูบายาสมุทร” เข้ามาก่อตั้งพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ที่มาด้วยกันคือครูบาโน, พระกันธิยะ, พระกัญจนะ, พระอินตาวิชัย, พระธนันชัย, พระมานะวงศ์, พระอโนชัย, พระธัมมะจัย, พระอภิชัยส่วนฝ่ายฆราวาสนั้นมีหาญฟ้าเขียว, หาญธนู, หาญศิริ, แสนปัญญา, แสนอุทธโยธา, แสนสาร, แสนบุญโยง, แสนแก้ว, แสนใจ, ต้าวมิ่ง, ต้าวพรหม, ต้าวใจร่วมกับชาวบ้านที่เดินทางมาจากบ้านขอหัวช้างประมาณ 50 ครอบครัวเข้ามาก่อตั้งรกรากและเห็นว่าอุดมสมบูรณ์จึงได้ลงหลักปักฐานทำมาหากินรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ขึ้น พ.ศ. 2394 โดยมีผู้ก่อตั้งครั้งแรกก็คือ“ ท่านหาญฟ้าเขียว” เป็นคนบ้านขอหัวช้าง อำเภอเมืองปานจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย“ ท่านพระยาศิริคำน้อย” เป็นหัวหน้าชาวบ้านแม่สุก อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายซึ่งในบริเวณหมู่บ้านนี้ได้มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง จะขึ้นอยู่ตามลำห้วยของหมู่บ้านและได้ออกดอกส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งหมู่บ้านทำให้ชาวบ้านได้รับกลิ่นหอมจากดอกไม้ชนิดนี้มาตลอดคนในหมู่บ้านจึงเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นสีสุก” (ต้นอโศกอินเดียสีทอง) ในคราวนั้นทางหมู่บ้านก็ยังไม่มีชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการและตอนนั้นทางผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านก็ได้ปรึกษาหารือกันว่าในหมู่บ้านของเราจะต้องมีการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการแล้วและเราควรจะตั้งชื่อหมู่บ้านว่าหมู่บ้านอะไรดีและก็ได้มีชาวบ้านได้เสนอชื่อหมู่บ้านว่าให้ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสีสุก”เพราเห็นว่ามีต้นสีสุกเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พ.ศ. 2397 มีราษฎรได้อพยพมาจากบ้านแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางจำนวนหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านแม่สุก”

พ.ศ. 2402 เมืองลำปาง มีการค้าขาย ปลูกผักค่อนข้างยากเพราะเป็นเมืองหิน พื้นที่ไม่อุดมสมบรูณ์ มีชาวบ้านอพยพมาจากลำปาง เช่น บ้านไร่ข่วงเป่า บ้านไหล่หิน บ้านหนองหล่าย อำเภอเกาะคา โดยมีพ่อเฒ่าแสนขัด เป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้ของลำน้ำห้วยแม่จว้าต่อมามีชาวบ้านมาสมทบมากขึ้นโดยตั้งชื่อบ้านว่า บ้านแม่จว้าใต้ เพราะตั้งหมู่บ้านอยู่ท้ายน้ำ มีการพบพระพุทธรูปหินทราย อายุราว 500 ปี ชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านแม่จว้าใต้ เป็นตั้งสถานที่นี้เป็นศาลเจ้าบ้าน ต่อมาก็ได้แต่งตั้งพ่อเฒ่าตุ้มขึ้นเป็นผู้นำหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านอยู่ 30 หลังครัวเรือน แต่ยังไม่มีวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ทำบุญ

พ.ศ. 2405 มีต้นตระกูลของพ่อหลวงปิง มาแม่จว้าใต้ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวนี้นับถือพระมหาป่าซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสักการบูชาตั้งไว้ที่กลางทุ่งนา แต่ภายหลังย้ายมาที่หลังบ้านของ นายสุชาติ นางบัวเหลียว จุลธรรมเจริญ อุทิศที่ดินส่วนตัวไว้สร้างศาลเจ้าพ่อมหาป่า

พ.ศ. 2409 มีพระธุดงค์ชื่อว่า ครูบาลาว พร้อมด้วยโยมพ่อชื่อพ่อหนานอภัย และโยมแม่ชื่อย่าโต๊ะ เดินธุดงค์มาจากประเทศลาวผ่านมาได้ปักกลดอยู่ใกล้หมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้มีโอกาสทำบุญตามศรัทธา และครูบาลาวได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านพระครูบาลาวเริ่มได้สอนเชิงดาบ เชิงมวย ฟ้อนเจิงให้กับชาวบ้าน ภาษาถิ่นเรียกว่าการให้ปันหรือการแบ่งปัน คำว่า“ เชิง” ภาษาถิ่นออกเสียงเป็นเจิงต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อว่าบ้านปันเจิงตามกิริยาของครูบารูปนั้น พอถึงเดือน 8 เหนือ (พฤษภาคม)

พ.ศ. 2429 ปีชวด ชาวบ้านทั้งหมดได้มีพ่อเฒ่าตุ้มและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมาปรึกษาหารือกัน และช่วยกันถากถางพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น เพื่อสะดวกต่อการทำบุญ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีลูกหลานชาวบ้านได้มาบวชเรียนหนังสือกับครูบาลาว ซึ่งครูบาได้อบรมสั่งสอนตลอดมา และชาวบ้านเรียนหนังสือฝึกศิลปวัฒนธรรมที่วัดนี้

พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็น “เมือง” และ “อำเภอ” เมื่อ พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในขณะนั้น“แม่ใจ” มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ที่ได้จัดการปกครองรวมกันเป็นจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ให้อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ จำนวน 6 คน คนแรกคือนายถิน ควรสมาคม ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 (ร.ศ. 133) อำเภอแม่ใจ ได้ถูกยุบให้เหลือฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาโดยหมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2450 ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สุก อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2461 พื้นที่มีการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ซึ่งการรักษาใช้หมอเมืองทั้ง 2 ศาสตร์ คือ ด้านไสยศาสตร์ และด้านแพทย์แผนโบราณโดยการรักษาด้วยสมุนไพร ส่วนบุคคลที่เสียชีวิตจะนำไปฝังที่ป่าช้าท้ายหมู่บ้าน ด้วยการห่อศพแล้วค่อยแบกหามศพออกจากหมู่บ้านเวลากลางคืนเพื่อลดความหวาดกลัวของคนในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2470 ประชาชนอพยพมาจากเกาะคาและแม่ทะ จ.ลำปาง ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ และประชากรส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

พ.ศ. 2490 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองโดยการใช้ใบตองรองนอนและใช้ใบลูกยอต้มให้ดื่ม

พ.ศ. 2493 ชาวบ้านแม่จว้าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษโดยรวมตัวกันนั่งล้อเกวียนไปฉีดที่สุขศาลาแม่ใจ

พ.ศ. 2495 การเดินทางโดยใช้รถขายข้าวสาร รถคอกหมู หาบของไปขายโดยเดินทางจากหมู่บ้านไปขึ้นรถที่บ้านแม่สุกไปขายของในเมือง ที่นิยมไปขายคือหน่อไม้

พ.ศ. 2500 มีการเกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาดในขณะนั้น ชาวบ้านเกิดตุ่มพุพองบริเวณผิวหนัง ไม่สามารถนอนบนที่นอนได้ ต้องเอาใบตองมารองนอน รักษาโดยการกินยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ชาวบ้านนั่งล้อเกวียนไปฉีดวัคซีนที่สุขศาลาแม่ใจ

พ.ศ. 2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2503 วัดแม่จว้าปันเจิง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงเป็นที่มาของวัดปันเจิง ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดนอกจากจะเป็นสถานที่ศึกษาธรรมะและทำบุญยังเป็นสถานที่สอนศิลปวัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ ตีกลองปู่จา ตีกลองสบัดชัย ได้อย่างสวยงาม เมื่อมีงานฉลองตามวัดต่าง ๆ ก็จะมีการประกวดแข่งขันกัน ผู้ที่มาฝึกสถานที่แห่งนี้ก็จะชนะทุกครั้งจึงตั้งชื่อว่าบ้านแม่จว้าปันเจิงหรือวัดปันเจิง และมีการก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรก ชื่อ โรงเรียนบ้านแม่จว้าใต้

พ.ศ. 2502 นายศิริ เพชรโรจน์ นายอำเภอพะเยาได้พัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลบ้านตุ่น บ้านต๋อม บ้านต๊ำ ตำบลบ้านใหม่ และตำบลแม่สุกอำเภอแม่ใจ เป็นระยะทาง 28 กิโลเมตร ปัจจุบันถนนสาย 1193

พ.ศ. 2504 มีการปลูกฝีที่สุขศาลาแม่ใจ โดยเดินทางไปรักษาโดนใช้ล้อเกวียนลากโดยวัวและควาย โดยในสมัยนั้นการเดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากถนนมีแต่โคลนและฝุ่นเป็นจำนวนมาก

พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ ให้รวมเขตการปกครองตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลป่าแฝกและตำบลแม่สุก อำเภอพานยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ใจ” ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน ในปีนี้ เกิดโรคแอนแทรกซ์ในหมู่บ้านเนื่องจากสมัยนั้นชาวบ้านมีการเลี้ยงวัวและควายจำนวนมาก วัวและควายตายชาวบ้านนำมาประกอบอาหารจึงทำให้เกิดโรค โดยมีตุ่มออกตามร่างกาย ล้มป่วยตายเป็นจำนวนมาก จึงมีการนำผู้ที่เสียชีวิตไปฝังที่ป่าช้าท้ายหมู่บ้าน

พ.ศ. 2508 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2512 ได้ก่อตั้งสถานีอนามัยตำบลแม่สุก โดยขณะนั้นยังมีสถานะเป็นสำนักงานผดุงครรภ์ ได้เริ่มจัดตั้งโดยมีประชาชนในท้องที่ตำบลแม่สุกจำนวน 9 หมู่บ้าน และได้ยกฐานะจากสถานีอนามัยเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในปี พ.ศ. 2552

พ.ศ. 2514 มีการเปลี่ยนการฝังศพเป็นการเผา เนื่องจากการมีคนตายมากขึ้นทำให้บริเวณป้าช้าที่ฝังศพมีจำนวนไม่เพียงพอ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค มีการการสร้างเชิงตะกอนในการเผา

พ.ศ. 2516 เกิดความกดอากาศสูงปกคลุมภาคเหนือทำให้เกิดพายุฝนขึ้นทั่วบริเวณอำเภอพะเยา และอำเภอแม่ใจอย่างหนาแน่น ทำให้ฝนตกลงมามากผิดปกติตั้งแต่วันที่ 5-6 สิงหาคม 2516 ย่างเข้าวันที่ 7 สิงหาคม 2516 น้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขาดอยหลวงเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน (พระวิมลธรรมโมลี. 2546 : 129)

พ.ศ. 2519 แยกการปกครองจากบ้านแม่จว้าใต้ หมู่ 5 ออกเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือ บ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่7

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านแม่สุก ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านม่วง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับบ้านแม่จว้ากลาง หมู่ 4 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับบ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่ 7 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

จำนวนประชากรในบ้านแม่จว้าใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2565 มีประชากรทั้งหมด 724 คน โดยมีเพศชายจำนวน 341 คน และเพศหญิงจำนวน 383 คน มีจำนวน  191 หลังมีประชากรทั้งหมด 724 คนโดยมีเพศชายจำนวน 341 คน คิดเป็นร้อยละ 47.10 และเพศหญิงจำนวน 383 คน คิดเป็นร้อยละ 52.90

พบว่าประชากรส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 50-54 ปี จำนวน 75 คน คิดเป็นร้อยละ 10.36 รองลงมาเป็นอายุ 55-59 ปี จำนวน 72 คน คิดเป็นร้อยละ 9.94 และพบประชากรน้อยที่สุดในช่วง 90 ปีขึ้นไปจำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 1.10 ประชากรจำแนกตามประเภทอาชีพ พบว่าประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 292 คน รับจ้างทั่วไป จำนวน 192 คน นักเรียนนักศึกษา จำนวน 141 คน ไม่ได้ประกอบอาชีพ 61 คน คิดเป็นร้อยละ 8.42 อาชีพค้าขาย จำนวน 22 คน รับราชการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ จำนวน 13 คน นักบวช จำนวน 2 คน พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 คน

ข้อมูลด้านประเพณี ศาสนา มีวัดปันเจิง 1 แห่ง (ตั้งอยู่บ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่ที่ 7) การนับถือศาสนาของประชากร นับถือศาสนาพุทธ 723 คน นับถือศาสนาคริสต์ 1 คน

        

ผู้ใหญ่บ้าน : ประหยัด สุขศรีราษฎร์

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : อนันต์ วุฒิคุณ, ยุพาพันธ์ ใจถา, เอกชัย อ้ายตุ๋ย

กลุ่มที่ปรากฎในชุมชน เช่น

  • กลุ่มจักสาน
  • กลุ่มปุ๋ย อบต.
  • กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ
  • กลุ่มข้าวชุมชน
  • กลุ่มปุ๋ยหมัก
  • กลุ่มไร่นาสวนผสม
  • กลุ่มข้าวปลอดสารพิษ
  • กลุ่มแม่บ้าน
  • กลุ่ม อสม.
  • กลุ่มร้านค้าชุมชน
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน

สภาพทางเศรษฐกิจ

  • อาชีพ : ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ราบสำหรับทำนา การทำสวนลิ้นจี่, ปลูกหอม, กระเทียม, มันสำปะหลัง
  • อาชีพเสริม : หาของป่าหน่อไม้, เห็ด, รับจ้างทั่วไป, จักสาน, จักสานแห, เย็บผ้าโหล, เย็บผ้าหมวก, จ้างเลี้ยงวัว, จ้างตัดหญ้า
  • รายได้ของประชาชน : จากการทำนา, ปลูกกระเทียม, ค้าขาย, เบี้ยยังชีพ, รับจ้างทั่วไป, เบี้ยยังชีพ, เงินจากลูกหลาน, รับราชการ
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย, ค่าบุหรี่-สุรา, ค่าปุ๋ย, ค่าสารเคมีทางการเกษตร
  • หนี้สินประชาชน : หนี้ ธกส., หนี้กองทุนหมู่บ้าน

ปฏิทินวัฒนธรรม

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี“ตานข้าวใหม่” คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้พระสงฆ์ เพื่อทำบุญให้กับคนตาย
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อย เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ในช่วงท้ายเดือน มีไหว้พระธาตุประจำปี คือพระธาตุคู่แม่สุกที่บ้านแม่สุก และพระธาตุสายฝน มีการไปสักการะหรือไหว้ปีละครั้ง
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ ทุกวันที่ 15 เมษายน มีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ วันผญาวัน และจัดพิธีสรงน้ำพระธาตุศรีจอมเจิง ณ วัดปันเจิง เลี้ยงผีปู่ย่า ในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันปากปีจะกิน “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” กันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี ทุกวันที่ 16 เมษายน จัดพิธีบวงสรวงศาลเจ้าบ้าน

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : จัดพิธีตานธาตุ (สรงน้ำพระธาตุ) ณ วัดปันเจิง, เลี้ยงศาลต้นน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยชมพูบน ทุกวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า, จัดพิธีสืบชะตาต้นไม้จุ๋มปี๋ คือการนำผ้าไปผูกไว้ที่ต้นไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านมาตัด, ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเลี้ยงผีเจ้าสวน เป็นประเพณีที่ชาวสวนลิ้นจี่จะจัดขึ้นหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตลิ้นจี่เสร็จสิ้น ซึ่งจะจัดขึ้นภายในสวนของตนเอง
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา ที่วัดปันเจิงหมู่ 7
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตรที่วัดปันเจิงหมู่ 7
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ 
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : ทำบุญ สวดมนต์ข้ามปี

1. นายก๋วน คำปัน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร 

2. นางศรีพรรณ หลวงป้อ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรอินทรีย์ 

3. นายมานิตย์ อุดเฮ้ย หมอเป่า : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน

4. นายประเสริฐ แก้วตา ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน ยาสมุนไพร

5. นายบุญชวน ใจถา ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม เรียกขวัญ สู่ขวัญ สืบชะตา

6. นายวิเชียร สิงห์คะ ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม เรียกขวัญ สู่ขวัญ สืบชะตา

7. นายบุญชวน ใจถ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่

8. นายวิเชียร สิงคะ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่

9. นายช่วย สุขศรีราษฎร์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่

10. นายแดน แสนมา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านสล่า (ช่างไม้)

11. นายทวี ยะคำ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านสล่า (ช่างไม้)

12. นายประเสริฐ อุปเสน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านสล่า (ช่างไม้)

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านแม่จว้าใต้ หมู่ 5 มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการบำรุงดินโดยการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกปอเทืองบำรุงดินและการไถกลบพืชเพื่อบำรุงดิน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร พื้นที่หมู่บ้านมีทั้งหมด 2,323 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 2,245 ไร่ ทำนา 1,220 ไร่ ทำไร่ 883 ไร่ ทำสวน 237 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชน 87 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 78 ไร่ และเป็นที่สาธารณะ 2 ไร่ 1 งาน ช พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ที่ทำการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ลิ้นจี่ ลำไย และยางพารา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่จว้าใต้ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม.ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.

บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. เล่ม 80 ตอนที่ 14. 5 กุมภาพันธ์ 2506.

ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/