มีความโดดเด่นด้านการอยู่อาศัยรวมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และผ้าทอไทใหญ่ที่เป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน
ตั้งชื่อตามต้นจำปีที่เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่มาก ซึ่งชาวไทใหญ่เรียกว่า “หมอกจ๋ามคำ” มีกลิ่นหอม ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจึงยึดเอาดอกจำปีเป็นชื่อของหมู่บ้าน คำว่า “หมอกจ๋าม หรือ หมอกจ๋ามคำ” เป็นภาษาไทใหญ่ ซึ่งหมายถึงดอกจำปีในภาษาไทย
มีความโดดเด่นด้านการอยู่อาศัยรวมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และผ้าทอไทใหญ่ที่เป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน
บ้านใหม่หมอกจ๋ามได้ก่อตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านเมื่อ ปี พ.ศ. ไดไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็อยู่ราวๆ ปี พ.ศ. 2500 - 2507 ชาวบ้านหมู่บ้านใหม่หมอกจ๋ามเรียกชื่อหมู่บ้านของตนเองว่า “บ้านใหม่” เดิมมีชื่อเรียกกันว่าโป่งป้อม ชื่อบ้านใหม่หมอกจ๋ามเป็นชื่อที่มิได้ตั้งตามชื่อของลำห้วยเหมือนหมู่บ้านอื่น ในละแวกนั้น เช่น บ้านห้วยปู บ้านห้วยมะเฟือง บ้านน้ำยอน บ้านห้วยน้ำเย็น บ้านห้วยลึก แต่ตั้งขึ้นตามชื่อของดอกไม้ชนิดหนึ่ง โดยปกติการตั้งชื่อหมู่บ้านของคนโบราณจะอาศัยสิ่งที่มีอยู่มาก่อนภายในหมู่บ้าน เช่น บ้านท่ามะแกง ก็มีต้นมะแกงหรือมะขามอยู่ที่ท่าน้ำของหมู่บ้านก่อนแล้ว
บ้านใหม่หมอกจ๋ามก็เช่นเดียวกัน แต่เดิมบ้านใหม่หมอกจ๋ามมีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก คือ ต้นจำปี ซึ่งชาวไทใหญ่เรียกว่า “หมอกจ๋ามคำ” มีกลิ่นหอม ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจึงยึดเอาดอกจำปีเป็นชื่อของหมู่บ้าน คำว่า “หมอกจ๋าม หรือ หมอกจ๋ามคำ” เป็นภาษาไทใหญ่ ซึ่งหมายถึงดอกจำปีในภาษาไทย
ราษฎรคู่แรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านนี้เป็นคู่สามี-ภริยา เดิมอาศัยอยู่หมู่บ้านเมืองออน ต.แม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อพยพตามลำน้ำกกขึ้นมาและพักที่บ้านดอนแม่สาว ตำบลท่าตอน อ.แม่อาย ประมาณ 3 เดือน จนสิ้นฤดูฝน จึงเดินทางต่อมายังเนินเขาเขตต่อดอยถ้ำบ้วน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยปัจจุบัน เนื่องจากมีอาชีพหาของป่าจึงได้เดินทางมาพบว่าเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ และว่างเปล่าจึงกลับไปรับครอบครัวตั้งบ้านเรือนทำมาหากินตลอดมา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 ชาวไทกลุ่มแรกจำนวน 8 ครอบครัว จากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยเดินทางเข้ามาแวะพักอาศัยอยู่กับกลุ่มชาวไทบ้านน้ำยอน ตำบลท่าตอนอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากได้สำรวจเลือกหาที่ตั้งถิ่นฐานโดยล่องเรือมาตามลำน้ำแม่กก พบว่าพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ จึงได้อพยพครอบครัวเข้ามาหักร้างถางพงสร้างที่ทำกิน ต่อมาชาวไทที่อาศัยอยู่ในเขตบ้านน้ำยอน ตำบลท่าตอน 9 ครอบครัว ได้อพยพเข้ามาสมทบด้วย
พ.ศ. 2505 กองกำ ลังกู้ชาติไทใหญ่ หรือ “ตะโข่” จำนวน 200 คน ได้หลบหนีการปราบปรามของกองกำลังเมียนมาร์เข้ามาพักอาศัยอยู่เป็นเวลา 9 เดือน จึงยกกลับไปยังรัฐฉานและมีผู้สมัครใจตั้งถิ่นฐานกับชาวเขาเผ่ามูเซอหรือลาหู่ ซึ่งตั้งชุมชนอยู่บนเนินเขาสูงเขตหมู่บ้านเมืองงามในปัจจุบัน เนื่องจากก่อนที่ชาวไทจะอพยพเข้าถึงชุมชนนั้น ชาวมูเซอได้ใช้พื้นที่ป่าบริเวณนี้เป็นที่เลี้ยงวัว หลังจากมีการเจรจาสองครั้งจำสำเร็จ ได้ตกลงแบ่งเขตที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินกัน เมื่อตั้งเป็นชุมชนแล้วชาวไทเรียกถิ่นที่อยู่ของตนว่า “บ้านใหม่หมอกจ๋าม” และเรียกเนินเขาสูงที่ตั้งขนานที่อยู่อาศัยว่า “ดอยหมอกจ๋าม” กับ “ดอยหมอกเปา” เนื่องจากมีพันธ์ไม้ทั้งสองชนิดนี้ขึ้นอยู่มากบนดอยทั้งสอง
เมื่อเป็นที่ทราบกันในกลุ่มชาติพันธุ์ว่ามีชุมชนไทที่บ้านใหม่หมอกจ๋าม ครอบครัวไทจากพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้อพยพเข้ามารวมกลุ่มด้วยเป็นระยะ ๆ ต่อมากลุ่มชาติพันธุแอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ไทแงน ไทลื้อ ไทยอง ต่างอพยพเข้ามาสมทบเป็นระลอกๆ ครั้งละประมาณ 2-3 ครัวเรือนบ้าง 4-6 ครัวเรือนบ้างตามลำดับ
บ้านใหม่หมอกจ๋าม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่พื้นที่บริเวณหมู่บ้านตั้ง อยู่ระหว่างที่ราบเชิงเขา อยู่ท่ามกลางชนกลุ่มน้อยหลายเชื้อชาติ ซึ่งรวมทั้งพวกกลุ่มวัฒนธรรมอื่น เช่น ไทแงน ไทแซม ไทลื้อ ไทยอง และยังรวมถึงชาวไทยภูเขาบ้างประปราย ที่ตั้งของหมู่บ้านห่างจากเส้นกั้นเขตแดนไทย-พม่า 15 กิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 179 กิโลเมตร และ 18.2 กิโลเมตร จากที่ว่าการอำเภอแม่อาย ตามลำดับ
พื้นที่โดยรอบโอบล้อมไปด้วยทิวเขาดอยลาง ทิวเขาสามเส้าใหญ่ของเทือกเขาแดนลาว ทิวเขาธนูขาวทิวเขากลางเมือง และแม่น้ำกก ถนนในหมู่บ้านลาดยาง 1 สาย ถนนคอนกรีตมี 15 สาย ถนนลูกรัง มี 3 สาย แหล่งน้ำธรรมชาติ มีแม่น้ำ 1 สาย ห้วย 1 สาย หนองน้ำ 2 แห่ง สระน้ำ 2 แห่ง บริเวณพื้นที่ๆเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านมีพื้นที่ถึง 1,250 ไร่ หรือประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยศาลา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับ ลำน้ำแม่กก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเมืองงาม ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ลำน้ำกกและบ้านวังดิน ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ครอบครัวชาวไทใหญ่ในอดีตจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตามีความสุขและวิถีชีวิตจะผูกพันกับศาสนาเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ผู้อาวุโส แม้แต่จะกินข้าวก็ต้องรอให้ผู้ใหญ่ตักก่อน ลักษณะครอบครัวเป็นระบบครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว และเป็นระบบครอบครัวเดี่ยว (Nucleus Family) มีบ้างที่ชนชั้นปกครองบางส่วนผู้ชายอาจมีเมียได้หลายคน การแต่งงานถือว่าเป็นการผูกพันถาวร แต่เมื่อฝ่ายไดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงไป อีกฝ่ายก็มีสิทธิ์และความชอบธรรมในการแต่งงานใหม่ได้ การแยกครอบครัวจะมีขึ้นหลังแต่งงานสักระยะหนึ่ง ชายหญิงจะออกไปสร้างเรือนหลังใหม่ของตัวเอง แต่บางทีลูกชายที่แต่งงานแล้วอาจจะยังอยู่ช่วยงาน พ่อแม่อยู่ในบ้านหลังเดิมก็ได้
กรณีที่ในบ้านหลังนั้นมีสมาชิกอยู่ไม่มาก บางทีถึงแม้จะแยกออกไปสร้างเรือนหลังใหม่ของตัวเองไปแล้ว ครอบครัวลูกๆ มักกลับมาช่วยงานพ่อแม่ และเข้าร่วมในการประกอบพิธีกรรมภายในครอบครัวของพ่อแม่ตามปกติด้วยเช่นกัน หลังการแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายมาอยู่กินกับครอบครัวของสามี สมาชิกในครอบครัวต่างมีภาระหน้าที่รับผิดชอบ สามีทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้ตัดสินใจ และรับภาระงานไร่นา ส่วนภรรยาก็จะทำงานบ้านทุกอย่าง เช่น หุงหาอาหาร ปัดกวาดบ้านให้สะอาด เย็บปักถักร้อยเครื่องนุ่งห่มที่ฉีกขาดไป อบรมสั่งสอนเลี้ยงลูกๆ ส่วนลูกๆ ก็มีหน้าที่ในการช่วยทำงานบ้านตลอดถึงทำไรทำนาทั้งชายและหญิงตามสถานการณ์ ช่วงฤดูทำไร่ทำนามาถึงสมาชิกในครอบครัวทุกคนก็จะช่วยกันเป็นแรงงานหลัก หรือบางทีอาจขอคนที่รู้จักกันหรือคนในเครือญาติมาช่วย ปัจจุบันครอบครัวชาวไทใหญ่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนแต่ก่อน จำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากเดิมที่มีลูกมีหลานอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวก็ออกไปประกอบอาชีพรับจ้างและอาศัยอยู่นอกชุมชน ผู้คนต่างดิ้นรนขวนขวายเพื่อสร้างฐานะความมั่นคงให้กับครอบครัว
ประชากรของบ้านใหม่หมอกจ๋าม นับรวมทั้งที่ได้สัญชาติไทย และไม่สามารถระบุสัญชาติได้มีถึง 1,131 หลังคาเรือน 13 หย่อมบ้าน แต่ละหย่อมบ้านมีจำนวนหลังคาเรือนเฉลี่ยแล้ว 30 – 50 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจ และมีกลุ่มชาติพันธุแอื่นอาศัยรวมอยู่ด้วย เช่น ไทลื้อ ไทแช่ม ไทแงน จำนวนประชากร รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,388 คน ชาย จำนวน 1,182 คน หญิง จำนวน 1,206 คน จำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุแไทใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 95 % ของประชากรทั้งหมด
ไทใหญ่ศูนย์เรียนรู้การทอผ้าใทใหญ่บ้านใหม่หมอกจ๋าม
ผ้าทอลายพื้นเมืองของบ้านใหม่หมอกจ๋ามเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น 1 ใน 10 ของจังหวัดเชียงใหม่ ทอด้วยมือลายเชียงของและทอดด้วยกี่กระตุก ระยะแรกเป็นการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน ต่อมาหลังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือซึ่ง ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาสอนวิธีการทอผ้า ผู้เรียนกลุ่มแรกที่เรียนรู้วิธีการทอผ้า ได้นำความรู้มาประกอบอาชีพและเผยแพร่ให้แก่ผู้อื่น ส่วนการสอนวิธีการทอผ้าเป็นการถ่ายทอดความรู้ต่อเนื่องกันมาให้กับผู้ที่สนใจ เอกลักษณ์ผ้าทอของชาวไทใหญ่บ้านใหม่หมอกจเามเป็นผ้าทอที่มีลวดลายขวาง ตัดกับเส้นด้ายยืน สีพื้นเป็นสีอ่อน ลวดลายเป็นสีเข้ม ต่อมามีการประดิษฐ์และดัดแปลงจากผ้าทอยกดอก และผ้าทอตีนจกโดยปรับให้เหมาะสมกับรูปแบบผ้าทอไทใหญ่ ผ้าทอบ้านใหม่หมอกจ๋ามเป็นผ้าทอที่มีลายละเอียดสวยงาม
กลุ่มทอผ้าไทใหญ่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยระยะเริ่มก่อตั้งมีเพียง 1 กลุ่ม เท่านั้น ซึ่งรับการสนับสนุนงบประมาณจากองคแการบริหารส่วนตำบลท่าตอน ต่อมาเมื่อมีกระแสความนิยมเรื่องผ้าทอไทใหญ่กระจายออกไป ประกอบกับการผลักดันให้มีโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ทำให้มีจำนวนสมาชิกกลุ่มทอผ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้ขยายออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านล่าง กลุ่มบ้านกลาง และกลุ่มบ้านบน การทอผ้าของชาวไทใหญ่นั้นมักใช้เครื่องทอผ้าทั่วไป กลุ่มคนไทใหญ่ที่ทำจะเป็นกลุ่มสตรีแม่บ้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีการออกแบบลายผ้าเป็นของตนเอง ซึ่งลายผ้าของตัวเองนั้นเปรียบเสมือนกับลายเซ็นของคนๆ นั้น ถึงแม้จะนำผ้าที่ทอมากองรวมกันไว้ผู้ทอก็สามารถจำลวดลายผ้าที่ตัวเองทอไว้ได้
การทอผ้าเป็นงานหัตถกรรมที่มีความสัมพันธแกับวิถีชีวิตของคนทุกชาติทุกภาษา ซึ่งลักษณะของลวดลายผ้าจะแตกต่างกัน สำหรับในประเทศที่อุดมสมบูรณแ ธรรมชาติสวยงาม ผ้าก็จะมีลวดลายอ่อนช้อย สีสันกลมกลืนสวยงาม ในประเทศที่มีอากาศหนาวและค่อนข้างแห้งแล้ง ผ้าสีทึบๆ ลวดลายแข็งกระด้าง และในประเทศที่ร้อนแห้งแล้ง ผ้าจะมีสีสันฉูดฉาด สิ่งที่กำหนดความแตกต่างนี้ คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางสังคมของผู้คนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะเป็นตัวกำหนดชนิดและประเภทของเนื้อผ้า เพื่อได้เสื้อผ้าเหมาะสมกับการใส่ ส่วนสิ่งแวดล้อมทางสังคมจะกำหนดลวดลาย สีสันและการตัดเย็บ
วัดใหม่หมอกจ๋าม
วัดใหม่หมอกจ๋ามตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 8 บ้านใหม่หมอกจ๋าม ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ในอดีตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎร ณ วัดแห่งนี้ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์เจ้าครูหมอไตย ซึ่งเป็นที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้และรูปภาพ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวไทยใหญ่
วัดใหม่หมอกจ๋ามถือเป็นวัดที่มีศิลปะวัฒนธรรมล้านนาแบบผสมผสาน สร้างแบบศิลปะไทยใหญ่ คือ มีหลังคาซ้อนกันหลายชั้น เรียกว่า ทรงพญาธาตุ มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เข้ากันจนกลายเป็นวัดที่นักท่องเที่ยว และผู้คนต่างพากันมาเยี่ยมชม เก็บภาพที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขา วิวสายน้ำกก แห่งวิถีชีวิตชาวแม่อาย บริเวณรอบๆ วัดมีโคมไฟที่นิยมใช้ในการตกแต่งวัดคือ "โคมเงี้ยว" หรือโคมแปดเหลี่ยม และใช้ในการบูชา ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่
การเดินทางมาวัดใหม่หมอกจ๋ามนั้น ถนนทางเข้าวัดเทด้วยคอนกรีต มีทางแยกจากถนนสายชียงราย - ท่าตอน ประมาณ 1 กิโลเมตร
บ้านใหม่หมอกจ๋ามมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อาศัยรวมอยู่ด้วย เช่น ไทแช่ม ไตแงน และชาวเขาบางเผา แต่ก็ไม่มากเหมือนชาวไทใหญ่ ซึ่งภาษาที่ใช้กันภายในชุมชนก็มีหลากหลายภาษา ซึ่งพอจำแนกได้ดังต่อไปนี้
1. ภาษาไต หรือ “ไตหลวง” ถือเป็นภาษาหลักของชุมชน เรียกได้ว่าเป็นภาษาที่คนทุกเพศทุกวัยมักจะใช้สนทนากันในชีวิตประจำวันทั่วไป
2. ภาษาไทลื้อ ภาษาและตัวอักษรเหมือนกับพวกไทในฉานตะวันออกแบบเชียงตุง เมืองแงน เมืองยอง และในสิบสองปในนาของจีน ตัวหนังสือเหมือนอักษร ธรรมล้านนา
3. ภาษาล้านนา (คำเมือง) คนวัยกลางคนหรือเด็กวัยรุ่นส่วนมากแล้วจะพูดคำเมืองได้เกือบทุกคน หากมีการพบปะคนเมืองหรือคนในพื้นราบทั่วไป หรือตามตลาดสดต่างๆ ก็จะพูดจะใช้คำเมืองในการสนทนา
4. ภาษาไทยมาตรฐาน เป็นภาษาที่นักเรียนใช้สนทนาสื่อสารกันเฉพาะในการเรียนการสอนในโรงเรียนเท่านั้น ในการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมต่างๆ ครูและนักเรียนใช้ภาษาไทยมาตรฐาน เมื่อเลิกเรียนพ้นรั้วโรงเรียนไปแล้วก็ใช้ภาษาไทใหญ่ตามปกติ
5. ภาษาไทแงน คนไทแงนเป็นกลุ่มผู้อพยพมาภายหลังกลุ่มอื่นๆ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาษาของพวกไทแงนจัดอยู่ในภาษาตระกูลใด ทั้งภาษาไทลื้อ และไทแงน ส่วนมากแล้วจะใช้สนทนากันในกลุ่มคนที่เป็นชาวไทลื้อและไทแงนภายในครอบครัวเท่านั้น ใช้สนทนากันในกลุ่มแคบๆ ภายในชุมชนของตัวเอง หากออกมาพบปะกันตามงานประเพณีใหญ่ๆ ภายในหมู่บ่าน ชาวไทลื้อ และไทแงนก็จะใช้ภาษา “ไตหลวง” หรือภาษาไทใหญ่สนทนากันกับชาวไทใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่อย่างชัดเจน
การเข้ามาแทรกแซงและจัดการระบบการปกครองตามรูปแบบรัฐสมัยใหม่ผ่านการเลือกตั้งตัวผู้นำชุมชนในแง่มุมหนึ่งก็ถือว่าดีมีความเป็นประชาธิปไตยในชุมชน ชาวบ้านมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตัวบุคคลที่ตัวเองคิดว่าสามารถมาเป็นผู้นำได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้สูญเสียจารีตประเพณี ของชุมชนชาวไทใหญ่ที่ในอดีตจะให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังผู้อาวุโสเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแบบจารีตประเพณี ระบบการปกครองสมัยใหม่ที่มีรูปแบบที่ต้องให้คนทุกคนทุกชาติพันธุ์ยึดถือและปฏิบัติในรูปแบบเดียวกันหมด ไม่ได้คำนึงถึง ภูมิหลังทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ ทำให้อานาจส่วนกลางค่อยๆ กลืนอำนาจการปกครองแบบจารีตประเพณีที่มีมาแต่เดิม ผู้อาวุโสในชุมชนถูกลดบทบาทและความสำคัญลง การพัฒนาชุมชนผ่านโครงการต่างๆ บางโครงการไม่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณี ชุมชนพึ่งพาระบบราชการมากขึ้น เกิดการคลายตัวลงของความพยายามที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เกิดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมพัฒนาเข้าสู่ชุมชน ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชน ความเจริญก้าวหน้าของระบบคมนาคม ก่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านการประกอบอาชีพ จากในอดีตที่ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรมแบบยังชีพและอาศัยแรงงานในระบบเครือญาติช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ได้พึ่งพาสังคมภายนอกหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต ปัจจุบันการติดต่อสัญจรไปมามีความสะดวกและรวดเร็วมาก ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อบริโภคในครัวเรือนและแบ่งปันตามสายเครือญาติเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อเชิงพาณิชย์ มีการแข่งขันกันสูงใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยนจ้างแรงงาน ชาวบ้านหันมาประกอบอาชีพใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ที่แน่นอน โดยออกจากชุมชนไปทำงานตามบริษัท ห้าง ร้านค้าต่างๆ มีการลงทุนสูง มีตลาดโรงงานรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน มีการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์กำไรมากขึ้น พึ่งพาสังคมภายนอกมากขึ้น ตลอดถึงแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาแพงทำให้ค่าครองชีพของชาวบ้านสูงขึ้นตามมา
กลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านนอกจากกลุ่มนักเรียนที่ต้องเข้าเรียนตามเกณฑ์แล้ว ส่วนมากต่างหลั่งไหลออกไปประกอบอาชีพนอกชุมชนเพื่อหารายได้นำมาใช้จ่าย ไม่อยากทำอาชีพเกษตรกรรมหรืออยู่บ้านช่วยงานพ่อแม่อีกต่อไป ครอบครัวขาดคนดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะลูกหลานไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา บางคนก็ทิ้งลูกไว้ให้พ่อแม่เป็นภาระในการเลี้ยงดู ซึ่งนานๆ จะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ หรือหากมีงานประเพณีที่สำคัญในหมู่บ้านก็จะกลับมาร่วมพิธีกรรมนั้นๆ โดยสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปคนจำนวนไม่น้อยจึงมีความจำเป็นออกไปหาโอกาสและช่องทาง โดยครอบครัวหลายๆ ครอบครัวคงเหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งทำให้จำนวนผู้สูงอายุในชุมชนเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สูงมากอย่างมีนัยสำคัญสภาพเศรษฐกิจจากเดิมที่ทำเกษตรเพื่อยังชีพก็กลายมาเป็นการทำเกษตรเพื่อการค้า มีการลงทุนสูง มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ครอบครัวที่มีที่ดินทำกินก็มีโอกาสมากกว่าในการสร้างฐานะรายได้ให้กับครอบครัว เกิดช่องว่างทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน บางครอบครัวมีบ้านใหญ่โตหรูหราสวยงาม มีรถยนต์ เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ในขณะที่บางครอบครัวอาศัยมีเพียงบ้านเล็กๆ อยู่กันอย่างลำบาก มีรายได้ไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน บางครอบครัวก็มีปัญหาหนี้สิน ครอบครัวที่อพยพมาอยู่ก่อนหลายปีได้รับสัญชาติไทยกลายเป็นคนไทยถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิเข้าถึงรัฐสวัสดิการต่างๆ มีความมั่นคงในชีวิต แต่อีกมุมหนึ่งของชาวบ้านที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ขาดโอกาสในการรับการช่วยเหลือจากภาครัฐในเรื่องสวัสดิการต่างๆ สิทธิการเข้ารับรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลของรัฐ ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในชุมชนเดินทางออกนอกพื้นที่ไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ทางภาครัฐมีความกวดขันเข้มงวด ชาวบ้านต่างมีปัญหาเรื่องสิทธิ์ ทำกินและเรื่องของการขอสัญชาติไทย
กระทบต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ออกจากหมู่บ้านไปศึกษาเล่าเรียน ประกอบอาชีพตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงที่ผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้เกิดผสมผสานทางวัฒนธรรม การเรียนแบบและหยิบยืมวัฒนธรรมของสังคมเมืองมาใช้ เพื่อให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงและความทันสมัยทางสังคมในปัจจุบัน เช่น การแต่งกาย อาหารการกิน ภาษา การสื่อสาร กฎจารีตที่เข้มงวดบางอย่างถูกปรับปรนให้เข้ากับสภาวการณ์ของสังคมปัจจุบัน ระบบความเชื่อเรื่องผี และยึดคุณค่าด้านจิตใจกำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่ การยึดวัตถุนิยมถือความเป็นเหตุเป็นผลและสามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้น
สภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และการพัฒนาของทางภาครัฐและเอกชน ในระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ความเจริญก้าวหน้าระบบโทรคมนาคม ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับคนนอกชุมชน เกิดความต้องการขยายพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนไปตามระบบเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ ระบบน้ำประปาภูเขาไม่เพียงต่อการบริโภคของคนในชุมชน ดินมีลักษณะเสื่อมคุณภาพ ทรัพยากรป่าไม้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูร้อน สัตว์ป่าหายากลดลงและแทบไม่พบเห็นในปัจจุบัน