บริเวณหมู่บ้านนี้มีต้นสีสุก (ต้นอโศกอินเดียสีทอง) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
"บ้านแม่สุกน้ำล้อม" เรียกตามลักษณะธรรมชาติที่มีสายน้ำล้อมรอบหมู่บ้านทั้งสี่ด้าน
บริเวณหมู่บ้านนี้มีต้นสีสุก (ต้นอโศกอินเดียสีทอง) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
บ้านแม่สุกน้ำล้อม หมู่ที่ 10 เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกับบ้านแม่สุก หมู่ที่ 2 บ้านแม่สุกสร้างขึ้นเมื่อใดก็ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน ก่อตั้งมาตั้งแต่บรรพบุรุษอพยพมาจากลำปาง โดยทั้งหมู่บ้านและวัดแม่สุกตามประวัติคือมีชาวบ้านและพระภิกษุที่อพยพมาจากบ้านขอหัวช้าง (อ.เมืองปาน จ.ลำปาง) ประมาณ 50 ครอบครัว โดยมีการนำของหาญฟ้าเขียว พระยาสิริ แสนใจ ตามิ่ง ท้าวพรม ท้าวใจ เป็นต้น แต่พบหลักฐานจากคัมภีร์ใบลาน เล่ากันว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2383 การก่อตั้งบ้านแม่สุกจะใกล้เคียงกับวัดแม่สุก ประวัติศาสตร์ของการก่อตั้ง วัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2390 (สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 - 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
จุลศักราช 1209 พุทธศักราช 2390 ท่านครูบายาสมุทร และ ท่านครูบาโน ร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดแม่สุกขึ้นมา เพื่อที่จะให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านแม่สุก ซึ่งวัดแม่สุก เดิมชื่อ "วัดแม่สีสุกสมุทรน้ำล้อมวราราม" เนื่องจากสภาพแวดล้อมในอดีตบริเวณวัดรอบล้อมไปด้วยแม่น้ำลำธาร 4 ด้าน และทั่วพื้นที่ในหมู่บ้านและวัดจะมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้าน เรียกกันว่า "ไม้สีสุก" (อโศก) ต้นไม้ชนิดนี้เมื่อผลิดอกจะส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วบ้าน จึงเป็นที่มาของคำว่า "แม่สุก" อีกประการหนึ่ง วัดแห่งนี้มีพระภิกษุ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ชื่อ "ยาสมุทร" เป็นผู้นำชาวบ้านประมาณ 50 หลังคาเรือน สร้างวัดขึ้นมาแล้วตั้งชื่อวัดว่า "แม่สุกสมุทรน้ำล้อมวราราม" โดยเอาคำว่า "แม่สุก" มาจากชื่อของแม่น้ำและต้นไม้สีสุก จึงตั้งชื่อว่า "บ้านแม่สุก" คำว่า “สมุทร” เป็นชื่อของพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำในการสร้าง ส่วนคำว่า "น้ำล้อม" มาจากสภาพบริเวณวัด ที่มีแม่น้ำลำธารล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มาตั้งหมู่บ้านในบริเวณที่ราบเชิงเขา รวม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่สุก บ้านแม่จว้า บ้านแม่จว้าใต้ รวมกันเป็นหนึ่งตำบล
พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นจุดเริ่มต้นของการมีการปกครองระดับหมู่บ้านด้วยตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านแม่สุก หมู่ 2 คือ พ่อหลวงศรีวงศ์ ดาราสุวรรณ เป็นผู้บุกเบิกในการพัฒนาหมู่บ้าน ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2477 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าบ้าน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับชาวบ้านเมื่อประมาณ
พ.ศ. 2482 มีการเกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน คือ โรคไข้ทรพิษ มีการรักษาด้วยการเป่า โดยพ่อหลวงศรีวงศ์ และพ่อเลี้ยงคำ รวมทั้งมีการระบาดของฝีดาษ ไม่มีการรักษาแต่อย่างใด เนื่องจากกลัวติดต่อกันและไม่รู้จักวิธีการรักษา เมื่อมีอาการรุนแรงของโรคจนนอนกับพื้นธรรมดาไม่ได้ ได้ใช้ใบตองกล้วยมาปูนอนเพื่อไม่ให้ผิวหนังติดหลุดลอก และมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ได้มีการนำศพไปฝังไว้ที่ป่าช้า โดยไม่มีการทำพิธีกรรมใดๆทั้งสิ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 2488
พ.ศ. 2490 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ พ่อหลวงแป๋ง สุคันโธ เริ่มมีการใช้วิทยุโดยเป็นวิทยุแบบใช้ถ่านประมาณ 24 ก้อน เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2490 ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น
พ.ศ. 2500 ผู้ใหญ่บ้านได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันทำถนนเส้นหลักของหมู่บ้าน โดยแต่ก่อนเป็นป่าหญ้ารกร้างต้องใช้แรงงานในการถางหญ้าให้เป็นพื้นที่ว่างเพื่อทำถนนทำให้การเดินทางเข้าในหมู่บ้านสะดวกมากขึ้น
พ.ศ. 2511 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 คือ พ่อหลวงเหรียญ อุทธโยธา เริ่มมีโทรทัศน์ขาว-ดำเข้ามาใช้ โดยใช้ไฟปั่นเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511 ทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารและมีความรู้เพิ่มขึ้น
พ.ศ. 2512 ได้ขยายถนนและเริ่มแบ่งซอยในหมู่บ้านเพื่อให้การเดินทางไปมาหาสู่กันในหมู่บ้านสะดวกขึ้น ต่อมาประชาชนบ้านแม่สุก หมู่ 2 ได้ร่วมกับหมู่บ้านในตำบลแม่สุก จำนวน 9 หมู่บ้าน ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 3,000 บาท เพื่อซื้อที่ดิน 1 ไร่ 3 งานของนายตุ้ย อินต๊ะมูล เป็นสถานที่ก่อสร้างอนามัยตำบลแม่สุก ต่อมานายจำปี อินต๊ะมูล ได้บริจาคเงินจำนวน 25,000 บาท เพื่อสร้างอาคารอนามัยตำบลแม่สุกและเริ่มดำเนินการให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2512 เมื่อประชาชนเจ็บป่วยทำให้ง่ายต่อการไปรักษา เข้าถึงบริการเพราะอนามัยอยู่ใกล้หมู่บ้านสามารถเดินทางไปได้โดยใช้เวลาไม่มาก
พ.ศ. 2518 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 คือ พ่อกำนันจำปี อินต๊ะมูล รัฐบาลได้มีโครงการนำไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านเป็นครั้งแรก และเริ่มมีการนำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า คือ โทรศัพท์ ตู้เย็น เครื่องแรกเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ประชาชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้านคือ มีคนในหมู่บ้านเป็นแผลที่มือ แผลหายช้า ประชาชนเรียกว่า "ขี้ตู้ด"
พ.ศ. 2523 เริ่มมีผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้น เข้าใจโรคที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากสาเหตุใดบ้าง วิธีการปฏิบัติตัว วิธีการรักษา ได้เข้าใจว่า โรคที่เรียกว่า "ขี้ตู้ด" ซึ่งคือ โรคเรื้อนทำให้มีแผลและแผลหายช้า
พ.ศ. 2525 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียน
พ.ศ. 2528 มีการปรับถนนสายหลักของหมู่บ้านให้เป็นถนนลาดยางทำให้การเดินทางสะดวก ประชาชนเดินทางออกนอกหมู่บ้านเพิ่มขึ้น และมีการชาวบ้านติดเชื้อโรคเอดส์ขึ้นในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก ทำให้ประชาชนหวาดกลัวกับโรคที่เกิดขึ้น และในปีนี้มีการสร้างสะพานน้ำแม่สุก
พ.ศ. 2531 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 พ่อหลวงเหนียม พินิจสุวรรรณ ชาวบ้านมีการทำพิธีสังฆกรรม (สักการะบูชาพระอุโบสถในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันปีใหม่เมือง เป็นต้น)
พ.ศ. 2536 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 คือ พ่อหลวงเมืองใจ ก๋าติ๊บ มีการบูรณะศาลเจ้าบ้าน เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน
พ.ศ. 2544 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 พ่อกำนันตา เมืองใจ มีการแยกหมู่บ้านออกจากบ้านแม่สุกหมู่ 2 ออกไปเป็นบ้านแม่สุกน้ำล้อม หมู่ 10 อีกหมู่หนึ่ง
บ้านแม่สุกน้ำล้อมเป็นหมู่บ้านที่แยกตัวออกมาจากหมู่ที่ 2 บ้านแม่สุก ในปี พ.ศ. 2544 เนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นทำให้การดูแลไม่ทั่วถึงโดยมี นายนิโรธ โลหะชีพ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และได้ตั้งชื่อใหม่ให้หมู่บ้านว่า "บ้านแม่สุกน้ำล้อม" ซึ่งเรียกตามลักษณะธรรมชาติที่มีสายน้ำล้อมรอบหมู่บ้านทั้งสี่ด้านผู้ใหญ่บ้านคนที่สองชื่อ นายชลัมพล ปัฐวี และ นายสมชาย พินิจสุวรรณ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่สามและดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน (รายงานแผนชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 10 บ้านแม่สุกน้ำล้อม)
บ้านแม่สุกน้ำล้อม ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้นราบ มีลำห้วยแม่สุกล้อมรอบ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ใจไปทางทิศใต้ตามถนนพหลโยธิน แล้วแยกไปทางทิศตะวันตก แยกแม่สุก ตามถนนแม่สุก-แม่นาเรือ ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย มีระยะห่างจากตัวจังหวัดพะเยาประมาณ 21 กิโลเมตร มีเนื้อที่ ประมาณ 1,434 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร ประมาณ 2,334 ไร่ พื้นที่ตั้งบ้านเรือน/ชุมชน ประมาณ 100 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่สุก หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่จว้าเหนือหมู่ที่ 3 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแม่ปีม อำเภอเมืองพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่สุกกลาง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ ตั้งของบ้านจะมีส่วนน้อยที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ศาลาประชาคม โรงเรียน และองค์การบริหารส่วนตำบล มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มหรือในบริเวณอาณาเขตของบ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่บ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน
ภายในหมู่บ้านมีจำนวน 7 ซอย คือ ซอย 1 ถึง 7 แต่ละซอยเป็นถนนคอนกรีตตลอดสาย แต่บางช่วงถนนมีความเสียหายของสภาพถนนจากการใช้มานาน ทำให้รถที่เดินทางต้องใช้ความระมัดระวัง ภายในหมู่บ้านมีไฟข้างทาง (ไฟกิ่ง) ของภาครัฐที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งมีการชำรุดเสียหาย ทำให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนไม่มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ในหมู่บ้านมี องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สุก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 10 เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในชุมชนตำบลแม่สุก อีกทั้งยังมี กศน. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และ ศูนย์เรียนรู้ ICT ของตำบลโรงเรียนชุมชนบ้านแม่สุก ซึ่งเป็นที่ให้การศึกษาแก่ลูกหลานชาวแม่สุกน้ำล้อม และหมู่บ้าน ใกล้เคียงมีนักเรียนทั้งหมด 116 คน ครู 13 คน
จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2558 มีจำนวนประชากรทั้งหมด 545 คน 131 ครัวเรือน เป็นชายจำนวน 264 คน หญิงจำนวน 281 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านแม่สุกเหนือเป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาถิ่นในการติดติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นพื้นที่ราบมีอ่างเก็บน้ำแม่สุก ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร พื้นที่หมู่บ้านมีทั้งหมด 1,434 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 1,334 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 100 ไร่ และเป็นที่สาธารณะ 3 ไร่
ผู้ใหญ่บ้าน : นายสมชาย พินิจสุวรรณ
แบ่งการดูแลเป็น 5 คุ้มบ้าน โดยที่แต่ละคุ้มบ้านจะมีประธาน ซึ่งเป็นกรรมการหมู่บ้านตามโครงสร้าง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางจินดา แก้วตา เป็นประธาน มี อสม. รวมประธานทั้งสิ้น 14 คน
- กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) : นายสมพล พินิจสุวรรณ เป็นประธาน
- อาสาสมัครเกษตร : นายสมพล พินิจสุววณ เป็นประธาน
- คณะกรรมการการบริหารศุนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลศูนย์การเรียนรู้ : นายเทย พินิจสุวรรณ เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มแม่บ้าน : นางสุธิมา สินมิง,นางศรีนวล พินิจสุวรรณ
- กลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์ : นางแก้วดา ดาราสุวรรณ
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน) : นายดวงเนตร อุทธโยธา, นายคัด เปียงปิ๋ว
- กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน : นางพิษต์ พินิจสุวรรณ, นางสายพิณ พินิจสุวรรณ
- กลุ่มขนม, น้ำพริก : นางยุพิน เปียงปิ๋ว, นางหม้อย ดาราสุวรรณ
วิถีทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และนอกภาคเกษตร ได้แก่ ข้าราชการ, รับจ้างทั่วไป, พนักงานบริษัท
- อาชีพหลัก : เกษตรกรรม
- อาชีพรอง : ปลูกหอม, กระเทียม, กะหล่ำปลี, รับจ้างทั่วไป
- อาชีพเสริม : ปลูกพืชผักสวนครัวขาย
- รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร, ค่าดำรงชีพ, ค่าสาธารณูปโภค,ค่าภาษีสังคม, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
- หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
- แหล่งเงินทุน : กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และ ธกส.
- ผลิตภัณฑ์ชุมชนคือ : ข้าวซ้อมมื,น้ำยาอเนกประสงค์, น้ำพริก, ลูกชิ้น
ปฏิทินวัฒนธรรม
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : เป็นช่วงขึ้นปีใหม่ และหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวจะมีการทำบุญตานข้าวใหม่ ที่วัดแม่สุก
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : ช่วงเว้นว่างจากกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรม
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ช่วงเว้นว่างจากกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรม
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีปีใหม่เมือง มีการรดน้ำดำหัวเจ้าอาวาส ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และบุคคลในชุมชนที่นับถือ, ชาวบ้านร่วมกันทำบุญ ทอดผ้าป่า และสืบชะตาหมู่บ้าน เพื่อเป็นสิริมงคล, มีการบวชนาคและบวชภาคฤดูร้อน ให้กับหลานที่ปิดเทอม
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ประเพณีสรงน้ำพระธาตุแม่สุก, ประเพณีเลี้ยงผีขนน้ำ ที่ทำกันทุก ๆ ปีโดยจะมีชาวบ้านตำบลแม่สุกรวมกันไปเลี้ยงผีขุนน้ำที่อ่างเก็บน้ำแม่สุกเป็นการขอบคุณที่ได้ใช้น้ำในการเกษตรไร่สวนและอื่น ๆ ที่สามารถได้ประโยชน์จากการใช้น้ำที่ไหล่มาจากห้วยแม่สุก
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อ ผู้ปกป้องดูแลหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดปี
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : ช่วงเว้นว่างจากกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรม
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : วันเข้าพรรษา ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญในการทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ผู้เฒ่าผู้แก่ถือศีล 8 เข้าร่วมปฏิบัติธรรมสวดทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก ๆ วันพระ
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ช่วงเว้นว่างจากกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรม
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : วันออกพรรษา การทำบุญตานข้าวฉลากให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ, สลากภัต
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ชาวบ้านเข้าร่วมทอดกฐิน หลังจากออกพรรษา, ร่วมงานประเพณีลอยกระทง ลอยโคมไฟ โดยทางวัดจัดงานประจำปี ให้มีการแข่งขันกันทำโคมลอย, ฟังเทศน์มหาชาติ
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านที่ไปทำงานนอกหมู่บ้านหรือต่างจังหวัดจะกลับมาที่บ้าน มีการรวมญาติ ฉลองวันสิ้นปี และมีกิจกรรมแลกของขวัญ
1. นายเหล่ง อุทธโยธา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
2. นายเทย พินิจสุวรรณ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
3. นายนะ ป้อนปั่น : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน
4. นางคำน้อย ต๊ะคำ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม
5. นายเอี่ยว ปัญญาคำ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม
6. นายเฮี้ยว ปัญญาคำ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านแม่สุกน้ำล้อม หมู่ 10 มีลักษณะดังนี้ คือ ทรัพยากรน้ำและดิน ที่อุดมสมบูรณ์จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีน้ำล้อมรอบ มีแหล่งกักเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำแม่สุก มีการบำรุงดินมีการเกษตรแบบผสมผสาน บ้านแม่สุกน้ำล้อม มีเนื้อที่ ประมาณ 1,434 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 1,334 ไร่ พื้นที่ตั้งบ้านเรือน/ชุมชนประมาณ 100 ไร่ และเป็นพื้นที่สาธารณะของบ้านแม่สุกน้ำล้อม ประมาณ 3 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อาคารอเนกประสงค์ พื้นที่ประปา
- แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค คือ ประปาหมู่บ้าน มีบ่อประปาน้ำดิบ 1 แห่ง ซึ่งการใช้น้ำต้องมีการส่งน้ำให้ยังหมู่ 2 ใช้ร่วมกัน ทำให้ต้องมีการเปิดปิดน้ำเป็นเวลา คือ ช่วงเข้า 05.00-08.00 น. กับ ช่วงเย็น 18.00-20.00 น. มีแหล่งน้ำสาธารณะ 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่สุก พืชและสัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่ พืชในชุมชน เช่น ไม้ไผ่ไร่ ไม่ไผ่ชาง ไม่ไผ่บง เป็นต้น สัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก เป็นต้น
- พื้นที่ทำการเกษตร 1,334 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งการทำนา ทำสวนลิ้นจี่
- อ่างเก็บน้ำแม่สุก ได้รับการพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริ
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
จุดแข็งของชุมชน
- มีกฎระเบียบหมู่บ้านที่ออกโดยชุมชนเอง เพื่อการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย และแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชน
จุดแข็งของชุมชน
- มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เหมาะกับอาชีพทางการเกษตร มีกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชุน เช่น กองออมทรัพย์แม่บ้าน กลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์ กลุ่มขนม น้ำพริกกลุ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน)
จุดอ่อนของชุมชน (ปัญหา/อุปสรรค)
- ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำก่อปัญหาหนี้สิ้นของเกษตรกร เกษตรกรขาดความรู้ในการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การใช้จ่าย ทำให้เกิดหนี้สิน
จุดแข็งของชุมชน
- มีบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะด้านต่างๆ เช่น หมอพื้นบ้านประธานกลุ่มต่างๆในหมู่บ้าน
- ชุมชุนส่วนใหญ่มีการนับถือศาสนาเดียวกัน คือ ศาสนาพุทธ และเป็นสังคมชนบท เป็นสังคมเกื้อกูลกัน เป็นระบบสังคมเครือญาติ ทำให้มีความสามัคคีกันในชุมชุน
จุดอ่อนของชุมชน (ปัญหา/อุปสรรค)
- ประชาชน/ผู้นำหมู่บ้านส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ น้อย เช่น IT ทำให้บางครั้งมีปัญหาในการบริหารจัดการระบบข้อมูลต่าง ๆ ของหมู่บ้าน
- เป็นสังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุบางส่วนต้องรับภาระเลี้ยงหลานอยู่ตามลำพัง
จุดแข็งของชุมชน
- มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีอ่างเก็บน้ำแม่สุก และยาสมุนไพรต่าง ๆ
จุดอ่อนของชุมชน (ปัญหา/อุปสรรค)
- แหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม
ป่าชุมชนตำบลแม่สุก หมู่ที่ 1, 2, 6, 9 และหมู่ที่ 10 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ เนื้อที่ 110 ไร่ ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการดูแลรักษาและบริหารจัดการป่าไม้ใกล้หมู่บ้าน ตลอดจนให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นกลไกให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการป่าของชุมชนและได้รับประโยชน์จากป่าโดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงทางสังคม ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นสู่ระดับพื้นที่ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานด้านป่าชุมชนเป็นไปตามความเหมาะสม ตามศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่สุกน้ำล้อม (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม.ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.
บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508