สินค้า OTOP ชุมชนอยู่ดีมีสุข กลุ่มลิ้นจี่คุณภาพ
เดิมพื้นที่เป็นที่ป่า โดยเฉพาะต้นสักมีอยู่มากมายรวมทั้งสัตว์ป่า ตั้งชื่อเป็น “บ้านป่าสักทุ่งกิ่ว” เนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีป่าสักจำนวนมาก
สินค้า OTOP ชุมชนอยู่ดีมีสุข กลุ่มลิ้นจี่คุณภาพ
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านป่าสักสามัคคี เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจาก บ้านป่าสักหมู่ 5 ซึ่งเดิมพื้นที่เป็นที่ป่า โดยเฉพาะต้นสักจะมีอยู่มากมายรวมทั้งสัตว์ป่า ต่อมาได้มีชนกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดลำปาง เนื่องจากขณะนั้นเกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงพากันอพยพมาอยู่ที่ใหม่ เพื่อหาแหล่งทำมาหากิน เมื่อพบพื้นที่แห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำไหลผ่านเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำไร่ ทำนา ทำสวน จึงตั้งหลักปักฐาน ปลูกบ้าน เริ่มจากกระท่อมหลังเล็ก ๆ มาอยู่รวมกัน มีการถากถางจับจองที่ดินทำกิน มีอาชีพทำนา ทำสวนหอม กระเทียม และปลูกผักสวนครัว ซึ่งมีครัวเรือนประมาณ 10 หลังคาเรือน ส่วนการเดินทางใช้วิธีการเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ เพราะถนนไม่ดี ส่วนรถจักรยาน “รถถีบ” ยังมีจำนวนไม่มาก
ต่อมาเมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้นทางหน่วยงานราชการได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจปกครองกลุ่มชน กลุ่มเดียวกัน จึงได้มีการเลือกตั้ง “ขุน” หรือ “ท้าว” ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน ผู้นำชุมชนคนแรกคือ พ่อหนานขัด และตั้งชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านทุ่งกิ่ว” ต่อมาได้มีการเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำหมู่บ้านเป็น ท้าวมิ่ง ผู้ใหญ่ปัญญา ผู้ใหญ่ฟอง ผู้ใหญ่มานะ ผู้ใหญ่คำ ตามลำดับ และตั้งชื่อเป็น “บ้านป่าสักทุ่งกิ่ว” เนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีป่าสักจำนวนมาก ต่อมาได้มีผู้คนโยกย้ายจากจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งพื้นที่อื่นในจังหวัดพะเยา มาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านแห่งนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ การทำมาหากินขยับขยายเพิ่มขึ้น ทำให้ป่าไม้ที่เคยหนาแน่น เริ่มลดน้อยลง ไม้สักที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจถูกทำลายจำนวนมาก
พ.ศ. 2470 ทางราชการได้ประกาศตั้งหมู่บ้านใหม่ คือ บ้านป่าสักหมู่ที่ 5 มีจำนวนหลังคาเรือนประมาณ 40-50 หลังคาเรือน และแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อ นายผัด ปัญจขันธ์ และมีผู้ใหญ่บ้านปกครองต่อมาอีก 2 คน จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ชื่อนายมา นะติยา ได้มีการรวบรวมเงินบริจาคจากชาวบ้าน เพื่อก่อสร้าง โรงเรียนในหมู่บ้านขึ้น (บริเวณที่เป็นศูนย์ OTOP ปัจจุบัน) แต่เดิมนักเรียน จะต้องไปเรียนที่โรงเรียนบ้านทุ่งป่าข่า ซึ่งห่างจากหมู่บ้านป่าสักประมาณ 1 กิโลเมตร ขณะนั้นหมู่บ้านได้รับงบประมาณในการขุดลอกลำน้ำแม่ใจ หลังทำการขุดลอกแล้ว มีงบประมาณเหลือส่วนหนึ่ง ชาวบ้านจึงร่วมบริจาคเงินเพื่อสมทบกับงบประมาณที่เหลือ จึงสร้างโรงเรียนใหม่เนื่องจากบริเวณเดิมมีพื้นที่คับแคบ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528 ตั้งชื่อว่าโรงเรียนบ้านป่าสักสามัคคี และในขณะเดียวกันนั้นประชาชนในพื้นที่เริ่มนำพันธ์ุลิ้นจี่จากจังหวัดน่านมาปลูก และมีการส่งเสริมการเลี้ยง วัว ควาย ขาย ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
พ.ศ. 2501 กรมการปกครองได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่ ตำบลแม่ใจ ตำบลศรีถ้อยตำบลแม่สุก อำเภอพาน และตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจึงได้สั่งการให้จังหวัดเชียงรายและอำเภอพาน พิจารณาดำเนินการขอยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2506 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 เรื่องแบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ มีเขตการปกครองรวม 4 ตำบล คือตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อยและตำบลแม่สุก ให้ขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน
พ.ศ. 2508 พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอแม่ใจ พ.ศ. 2508 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2519 ตั้งสถานีอนามัยตำบลศรีถ้อย ตั้งอยู่เลขที่ 150 บ้านป่าสักสามัคคี ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา บนเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เริ่มเปิดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน
พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี, 2546 : 138)
พ.ศ. 2531 ทางราชการมีการแยกหมู่บ้านออกจาก หมู่ 5 ตำบลศรีถ้อย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2531 เป็นบ้านป่าสักสามัคคี หมู่ 12 โดยใช้ลำน้ำแม่ใจเป็นเขตแบ่งกั้น หมู่บ้านป่าสักสามัคคีอยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำแม่ใจ มีจำนวนหลังคาเรือน 113 หลังคาเรือน มีนายคำ มะรังษี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
พ.ศ. 2532 การสร้างศูนย์สาธิตการตลาด มีการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ประชาชนส่วนใหญ่ได้มาใช้บริการของศูนย์ เนื่องจากยังไม่มีร้านขายของชำ มีการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในปีเดียวกัน เพื่อรับดูแลเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 2-4 ปี ของบ้านป่าสัก และหมู่บ้านใกล้เคียง ที่ตั้งของศูนย์ทางด้านทิศตะวันตกของศูนย์สาธิตการตลาด
พ.ศ. 2533 สร้างประปาหมู่บ้าน ไว้ในโรงเรียนบ้านป่าสักสามัคคี ปัจจุบันระบบประปาชำรุดใช้การไม่ได้เนื่องจากไม่มีงบประมาณซ่อมแซม ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น และดื่มน้ำฝน มีบางส่วนจะซื้อน้ำบรรจุเสร็จดื่ม ต่อมามีการสร้างศาลาอเนกประสงค์ บริเวณเดียวกันกับศูนย์สาธิตการตลาดและมีการระบาดของโรคเอดส์ มีคนตายเยอะ รักษาโดยการกินยาต้ม
พ.ศ. 2549 ได้มีการสร้างศูนย์ OTOP เป็นที่จำหน่ายสินค้าของหมู่บ้าน ในปีนี้เริ่มมีการส่งเสริมการปลูกแคนตาลูป เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างรายได้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น มีการรวมกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ, กลุ่มเพาะเห็ด, ธนาคารข้าว, กองทุนหมู่บ้าน, กลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ ประชาชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้านเป็นอย่างดี รวมทั้งการมีแกนนำที่เข้มแข็ง ทำให้หมู่บ้านได้รับรางวัลหลายครั้ง และมีเป้าหมายจะพัฒนาไปสู่ “ชุมชนอยู่ดีมีสุข”
พ.ศ. 2554 ได้มีการรื้อฝายเก่าทั้งหมดที่อยู่ในลำน้ำแม่ใจของชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นระบบทดน้ำที่ชาวบ้านใช้มาโดยตลอด ชาวบ้าน บ้านป่าสักสามัคคี ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แม่ใจเกิดน้ำท่วมทุกปีและมีความเสียหาย บางโครงการก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เช่น โครงการทำประตูระบายน้ำ เป็นห่วงการสร้างฝายคอนกรีตเพราะจะทำให้การจัดการน้ำของชุมชนในระยะยาวล้มเหลว เพราะจากตัวอย่างของประตูระบายน้ำในตัวเมืองพะเยาหรือที่ไหน ๆ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ทั้งยังทำลายระบบนิเวศน์ของปลา คลองหรือสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในลำห้วยแม่ใจ ไม่ได้เอื้อต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้บทสรุปคือต้องยกเลิกโครงการ ซึ่งก่อสร้างได้มากกว่า 70%
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านป่าสัก หมู่ที่ 5 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านทุ่งโป่ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านขัวตาด หมู่ที่ 7 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
การประกอบอาชีพประชาชน มีรายได้เฉลี่ย ประมาณ 100,000 บาท/ปี/คน รายได้เฉลี่ยประชากรตรงตามสภาพเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : เกษตรกรรม, ทำนา, ทำสวนลิ้นจี่, แคนตาลูป, ลำไย
- อาชีพรอง : รับจ้าง
- อาชีพเสริม : ปลูกผักสวนครัว, เลี้ยงปลา, ขับรถรับส่งนักเรียน
- รายได้ของประชาชน : ภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร, ค่าดำรงชีพ, ค่าสาธารณูปโภค, ค่างานสังคม, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
- หนี้สินของประชาชน : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, กองทุนหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์ออมทรัพย์
- แหล่งเงินทุน : กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ภูมิปัญญาท้องถิ่น : ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สูงอายุมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรโบราณ จึงนำมาใช้ทำยาเพื่อใช้ในครัวเรือน
วัฒนธรรมประเพณี ล้านนา
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่” คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แก่พระสงฆ์ และการอุทิศให้กับญาติผู้ล่วงลับ
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : ทำบุญตักบาตรวันมาฆบูชา
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ปลูกป่า
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ประเพณีสงกรานต์รดน้ำดำหัว (ปีใหม่เมือง) ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ชาวบ้านจะเริ่มหยุดงานช่วงวันที่ 13-17 เมษายน เฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ มีการพบปะญาติพี่น้องที่เดินทางมาเยี่ยมญาติ, ครอบครัว เพื่อรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : ทำบุญตักรบาตร, เวียนเทียนวันมาฆบูชา
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีสรงน้ำพระ, สืบชะตาแม่น้ำ
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : เลี้ยงผีปู่ย่า, เข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : วันแม่แห่งชาติ
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ตานเปรตที่เหมือนกันตานก๋วยสลากแต่ไม่ได้จัดยิ่งใหญ่ แต่วัตถุประสงค์คืออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเช่นกัน
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ตานก๋วยสลาก ผู้คนจะถวายสลากภัต จะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์ และมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ, ออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ลอยกระทง, ฟังเทศน์มหาชาติ
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : เทศกาลส่งท้ายปีเก่า จะมีการรวมญาติ และฉลองวันสิ้นปี
- กลุ่มลิ้นจี่คุณภาพ
- อุทยานแห่งชาติดอยหลวง
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
สืบชะตาแม่น้ำ
ทำกันในช่วงเวลา เดือน 12 เหนือ ขึ้น 6 ค่ำ โดยก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้าน และวันกระทำพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาแม่น้ำ พิธีสืบชะตาแม่น้ำประยุกต์มาจากพิธีสืบชะตาคนและสืบชะตาหมู่บ้าน มีความสำคัญก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนทำให้เกิดความเลื่อมใส เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแม่น้ำเกิดความรักหวงแหนและสำนึกในการดูแลรักษาแม่น้ำ ตลอดจนต้นน้ำลำธาร เครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่า สะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่ง จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณ แต่ลงท้ายด้วยเลขเครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่ กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านป่าสักสามัคคี (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88 – 94.
พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ.
กรมทรัพย์สินทางปัญญา.(2562). ประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ลิ้นจี่แม่ใจพะเยาพันธุ์ฮงฮวย. เข้าถึงได้จาก https://www.ipthailand.go.th/
บุญเลิศ ครุฑเมือง. (2537). ผีปู่ย่า : ศรัทธาแห่งล้านนาไทย. สารคดี “ฮีตฮอยเฮา”. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ราชกิจจานุเบกษา. (2481). พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเม่ใจ อำเภอจุน ฯลฯ. เล่ม 82 ตอนที่ 59. 27 กรกฎาคม 2508