หมู่บ้านต้นน้ำ หนองเล็งทราย ประมงพื้นบ้าน หนองเล็งทราย วิสากิจชุมชนน้ำปู
เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านสันแต้แข้ เป็นบ้านสันสลี ตามชื่อต้นโพธิ์หรือทางภาคเหนือเรียก ต้นสลี ซึ่งมีอยู่หัวบ้านและท้ายบ้านในขณะนั้น
หมู่บ้านต้นน้ำ หนองเล็งทราย ประมงพื้นบ้าน หนองเล็งทราย วิสากิจชุมชนน้ำปู
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของบ้านสันสลี จากการบอกกล่าวเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2450 เกิดโรคห่าระบาดในควายที่นครีถ้อย พ่อคำแสง พ่อตี้ พ่อหนานใจห้าว พ่อถึง พ่อซาว และพ่อจันสาด จึงได้นำควายมาอยู่ใต้ต้นมะค่าขนาดใหญ่ที่ถูกฟ้าผ่าตายยืนต้นอยู่แต้แข้ และตรงนั้นมีบวกน้ำ (หนองน้ำ) ซึ่งควายจะไปนอนในบวกน้ำ จึงเรียก "ปางควายสันแต้แข้" หรือ "สันแต้แข้" ทั้ง 6 คนเห็นว่าเป็นพื้นที่ว่าง อุดมสมบูรณ์ จึงมาพักอาศัยอยู่อย่างถาวร
ต่อมาปี พ.ศ. 2451 ชาวบ้านส่วนใหญ่จากตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ และอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ได้อพยพตามมาอยู่กันเรื่อย ๆ และในการดำเนินชีวิต เมื่อมีการเจ็บป่วย ชาวบ้านจะรักษาโดยใช้สมุนไพรนำมาบดหรือต้มรับประทาน ดื่มน้ำมนต์ และนิยมไปหาหมอเป่า หมอแหก คือ พ่ออุ้ยหวัน ซึ่งมีความเชื่อในการรักษาโรคตามที่พ่อเลี้ยงบอก และเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เกิดจากโดนภูตผีปีศาจกระทำ มีการทำคลอดโดยหมอตำแย ชื่ออุ้ยแดง และมีศาลเจ้าพ่อศรีมอย ตั้งในหมู่บ้าน
ปี พ.ศ. 2456 ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ ทำนาโดยใช้ควายไถนา ใช้ขี้หญ้า มาทำไฟ
ปี พ.ศ. 2475 ได้รวมหมู่บ้านอยู่กับหมู่บ้านสันต้นม่วง หมู 5 ตำบลป่าแฝก โดยมี นายคำ แก้วบุญเรือง เป็นผู้ช่วยหมู่บ้านสันตันม่วง
ปี พ.ศ. 2482 ลูกชายนายคำ คือ นายม็อก แก้วบุญเรือง ได้เห็นว่าบ้านอยู่ไกลจากใจกลางหมู่บ้าน จึงชวนกันแยกออกมา
ปี พ.ศ. 2512 ทางราชการจึงแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมา คนแรกของหมู่บ้านคือ นายป่าย ใจมิภักดิ์ เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านสันต้นแข้ เป็นบ้านสันสลี ตามชื่อต้นโพธิ์หรือทางภาคเหนือรียก ต้นสลี ซึ่งมีอยู่หัวบ้านและท้ายบ้านในขณะนั้น
ปี พ.ศ. 2513 เริ่มมีการสร้างถนนเข้าหมู่บ้านขึ้น
ปี พ.ศ. 2516 ชาวบ้านได้ร่วมกันรับจ้างรัฐบาล ขุดลอกคลองเพื่อนำเงินไปซื้อที่ดิน จำนวน 6 ไร่ ราคา 11,000 บาท เพื่อสร้างโรงเรียน
ปี พ.ศ. 2520 สร้างโรงเรียนชื่อ โรงเรียนบ้านสันสลี ซึ่งแยกมาจากโรงเรียนบ้านสันต้นม่วง มีนักเรียน 40 คน มีครูคือ นายสนิท ศรีธนินท์ (ปัจจุบันโรงเรียนถูกยุบ)
ปี พ.ศ. 2521 มีพ่อหลวงหวัน ใจมิภักดิ์ มารับตำแหน่งแทน สร้างวัดสันสลี ในสมัยนั้นเริ่มมีประเพณีต่าง ๆ เข้ามาในหมู่บ้าน
ปี พ.ศ. 2524 เกิดพายุหมุน พัดหลังคาวัดปลิวกว่า 10 หลังคาเรือน
ปี พ.ศ. 2525 มีเครื่องปั่นไฟใช้ในหมู่บ้าน แต่จะใช้เฉพาะตอนมีเทศกาลสำคัญ เช่น ประเพณียี่เป็ง
ปี พ.ศ. 2527 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน มีโทรทัศน์ รถจักรยาน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
ปี พ.ศ. 2528 มีการตั้ง ศสมช. (ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุนชน) อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) โครงการต่าง ๆ สถานีอนามัยเริ่มเข้ามา ชาวบ้านจึงมีการตระหนักถึงสุขภาพ การเจ็บป่วย เมื่อไม่สบายก็จะไปรักษาที่อนามัย แต่ความเชื่อเรื่องผียังคงเหลืออยู่
ปี พ.ศ. 2536 มีถนนคอนกรีตในหมู่บ้านและทำประปาหมู่บ้าน (แต่ใช้งานไม่ได้เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอสำหรับการผลิต)
ปี พ.ศ. 2538 โรงเรียนบ้านสันสลี ได้ปิดทำการลง เนื่องจากจำนวนนักเรียนมีน้อย คือมีเพียง 40 คน
ปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านได้มีการร่วมกันสร้างวิหารวัดสันสลี และมีการสร้างกุฏิวัด
ปี พ.ศ. 2542 ได้เกิดลมพายุพัดผ่านเข้ามาในหมู่บ้านอย่างรุนแรง ทำให้บ้านพัง 2 หลังเสียหาย 87 หลัง ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ได้สร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก และปัจจุบันหมู่บ้านสันสลี หมู่ 7 อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข โดยมีนายสิงห์ทอง ปันสุวรรณ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
บ้านสันสลี ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ใจไปทางทิศเหนือตามถนนพลโยธินประมาณ 4 กิโลเมตร และแยกจากถนนพหลโยธินเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร จากป้ายหมู่บ้านสันต้นม่วง หมู่บ้านสันสลีเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ต่อจากหมู่บ้านสันต้นม่วง มีระยะทางห่างจากตัวเมืองพะเยาประมาณ 29 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,020 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 1,948 ไร่ พื้นที่ที่อยู่อาศัยประมาณ 67 ไร่ พื้นที่สาธารณะประมาณ 5 ไร่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไปของหมู่บ้านสันสลี หมู่ที่ 7 ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นที่ราบระหว่างเชิงเขา มีแหล่งน้ำหนองเล็งทรายท้ายหมู่บ้าน เป็นแหล่งชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเจริญราษฎร์ หมู่ที่ 4 ตำบลเจริญราษฎร์ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสันติสุข หมู่ที่ 9 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสันต้นม่วง หมู่ที่ 5 ตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ประชาชนส่วนใหญ่ของหมู่บ้านสันสลี หมู่ 7 การตั้งบ้านเรือนเป็นลักษณะเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน มีรั่วกั้นเพื่อแสดงขอบเขตแนวของที่ดิน และบางหลังคาเรือนจะมีบ้านตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกันหลาย ๆ หลัง บ้านเรือนเป็นลักษณะบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้หรือชั้นเดียวยกสูงมีใต้ถุนบ้าน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร ทุกหลังคาเรือนมีภาชนะเก็บน้ำฝนไว้สำรองน้ำ และครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว
การแต่งงานของคนในชุมชนมีทั้งการแต่งกับคนในหมู่บ้าน หมู่บ้านใกล้เคียง ต่างจังหวัดนามสกุลที่พบมากที่สุด คือ ปันสุวรรณ์ และใจมิภักดิ์ ทั้งนี้ประชาชนในหมู่บ้านเป็นลักษณะการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น การแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ ตลอดจนงานบุญต่าง ๆ และพิธีกรรมทางศาสนา มีการใช้ศาสนสถานร่วมกัน คือ วัดสันสลี ซึ่งจะศรัทธาตามบรรพบุรุษของตน และความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการที่ใช้ร่วมกัน คือ หนองเล็งทราย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งทำมาหากินและเลี้ยงสัตว์ของประชาชนในหมู่บ้าน ถ้ามีงานในชุมชนต่าง ๆ คนในชุมชนมักร่วมแรงร่วมใจกัน
ผู้ใหญ่บ้าน : นายสิงห์ทอง ปันสุวรรณ์
ภายในหมู่บ้านก็ยังมีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการแะไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นายสงกรานต์ ชัยญา เป็นประธาน
- อาสาสมัครเกษตร : นายสงกรานต์ ชัยญา เป็นประธาน
- อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) : นายเงิน ปันสุวรรณ์ เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มทำน้ำปู : นางหอม ธิราใจ เป็นประธาน มีสมาชิก
- กลุ่มข้าวก้อน : นายทะนงศักดิ์ แก้วเมืองมา เป็นประธาน
- กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ : นายหร่วน ชัยญา เป็นประธาน
- กลุ่มอนุรักษ์ความไทย : นายสวิง ปันสุวรรณ์ เป็นประธาน
- กลุ่มแม่บ้าน : นางพรรณนารายณ์ กันทะรา เป็นประธาน
- กลุ่มเยาวชน : นายภูมินทร์ แสงสร้อย เป็นประธาน
- กลุ่มผู้สูงอายุ : นายเหมย วะรีวะราช เป็นประธาน
- กองสหกรณ์การเกษตร : นายสวิง ปันสุวรรณ์ เป็นประธาน
- กลุ่มแก้ไขความยากจน, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเกษตร : นายสิงห์ทอง ปันสุวรรณ์ เป็นประธาน
- กองทุนหมู่บ้าน : นางรมรันต์ ปันสุวรรณ์ เป็นประธาน
- กลุ่ม ธกส. กลุ่ม 54 : นายสิงห์ทอง ปันสุวรรณ์ เป็นประธาน
- กลุ่ม ธกส. กลุ่ม 155 : นายย้าย แก้วนา เป็นประธาน
- กลุ่ม ธกส. กลุ่ม 220 : นายสวน ปันสุวรรณ์ เป็นประธาน
ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพี่งตนเอง โดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบทั้ง การทำนา ทำสวนการประมง เลี้ยงสัตว์ จักสาน และรับจ้าง รวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น รับติดผ้าม่าน รางน้ำฝน อีกทั้งยังมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มทำน้ำปู กลุ่มเลี้ยงวัว ควาย กลุ่มทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขององค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง ประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าในวันพระประชาชนส่วนใหญ่จะไปวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม และมีการทำวัตรเย็นที่วัดสันสลี และส่งเสริมรักษาประเพณีอันดีงามต่างๆ ตลอดทั้งปี
- อาชีพหลัก : ทำนา, ประมงพื้นบ้าน
- อาชีพรอง : รับจ้างทั่วไป, เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย
- อาชีพเสริม : ทำน้ำปู, หาปลา, ปลูกแตงโม, แคนตาลูป, แตงกวา, ปลูกพืชผักสวนครัว
- รายได้ของประชาชน : ภาคเกษตรกรรม
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร,ค่าดำรงชีพค่าสาธารณูปโภค,ค่างานสังคมค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
- หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่ เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
- แหล่งเงินทุน : กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และ ธกส.
วัฒนธรรมประเพณี ที่เด่นคือการบวงสรวงเจ้าหลวงคำแดง และบวงสรวงหนองเล็งทราย
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : บวงสรวงเจ้าหลวงคำแดง และเจ้าพ่อศรีมอย
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : ทำบุญสืบชะตาสมโภชวัดสันสลี
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ
วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)
วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี
วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้
วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : บวงสรวงหนองเล็งทราย, ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีสู่ขวัญข้าว
1. นายบุญนา แก้วบุญเรือง : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
2. นายวิษรุต ปันสุวรรณ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
3. นายติ๊บ ปันสุวรรณ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นเมือง (เป่าคาถา)
4. นายอิ่นคำ กำวิต๊ะ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นเมือง (เป่าคาถา)
5. นายประเสิรฐ วะรีวะราช : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นเมือง (เป๋าคาถางูสวัด/มะเร็งไข่ปลา)
6. นายสมยศ กาวิต๊ะ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม
7. นางนิน ใจมิภักดิ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถการ
8. นางบัวยม ใจมิภักดิ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถการ
9. นางขันแก้ว ปันสุวรรณ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถการ
10. นายสมศักดิ์ แสงสร้อย : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถการ
11. นายศรีวรรณ์ ปันสุวรรณ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถการ
12. นายเมือง ใจยะปัญญา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถการ
13. นายประเสิรฐ วะรีวะราช : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถการ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของบ้านสันสลี หมู่ 7 ตำบลเจริญราษฎร์ มีลักษณะทางนิเวศที่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติ มีแหล่งกักเก็บน้ำคือ หนองเล็งทราย มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเกษตรส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตรกรรม บ้านสันสลี หมู่ 7 มีพื้นที่ในหมู่บ้านประมาณ 2,020 ไร่ พื้นที่การเกษตร 1,948 ไร่ พื้นที่ที่อยู่อาศัย 67 ไร่ และเป็นพื้นที่สาธารณะประมาณ 5 ไร่ คือ พื้นที่โรงเรียนเดิม วัด ศาลาประชาคม ที่ตั้งกองทุนหมู่บ้านและพื้นที่สาธารณะ อื่นๆ แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและการบริโภค คือ น้ำบาดาล และแหล่งน้ำสาธารณะ คือ หนองเล็งทราย
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
Google Maps. (2558). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านสันสลี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
การุณย์ มะโนใจ. (2565, 25 กรกฎาคม). หมู่บ้านสันสลี ต้นแบบ ทำน้ำปู๋ (น้ำปู). เมืองพะเยา. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. เทคโนโลยีชาวบ้าน. ค้นจาก https://www.technologychaoban.com/
ของดีพะเยา "OTOP น้ำปู" บ้านสันสลี ภูมิปัญญาชาวบ้าน กว่า 100 ปี. (2563, 22 กันยายน). บ้านเมือง. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. บ้านเมือง. ค้นจาก https://www.banmuang.co.th/