Advance search

บ้านร่องไฮ

เป็นชุมชนโบราณในสมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ที่ยังคงมีการอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีอาชีพหลักคือการตีมีด

แม่ใส
เมืองพะเยา
พะเยา
ปวินนา เพ็ชรล้วน
12 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 ก.ค. 2023
บ้านร่องไฮ

การตั้งชื่อหมู่บ้านจากคำบอกเล่าว่า เมื่อสมัยก่อนบ้านร่องไฮมีร่องน้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้านลงสู่แม่น้ำอิงหรือหนองเอี้ยง ซึ่งสองข้างฝั่งร่องน้ำมีต้นไทรใหญ่ขึ้นอยู่เรียงกันซึ่งทางภาคเหนือหรือภาษาพื้นเมืองเรียกต้นไทรว่า ต้นไฮ จึงตั้งชื่อตามร่องน้ำที่มีต้นไฮขึ้นว่า ร่องไฮ  จนมาถึงทุกวันนี้


ชุมชนชนบท

เป็นชุมชนโบราณในสมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ที่ยังคงมีการอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีอาชีพหลักคือการตีมีด

แม่ใส
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
ชุมชนร่องไฮ โทร. 09-0308-9355
19.1484296
99.8884618
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส

หมู่บ้านร่องไฮ แต่เดิมไม่ได้บันทึกประวัติในการจัดตั้งหมู่บ้าน เมื่อประมาณ 100 กว่าปี พื้นที่ในชุมชนบ้าน ร่องไฮยังเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้มีกลุ่มคนเข้ามาตั้งหลักฐานในหมู่บ้านซึ่งมาจากบ้านท่ากว๊าน ต.เวียงพะเยา มาตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์  ต่อมาก็มีประชากรเริ่มอพยพมาจากบ้านกาดเมฆ บ้านบ่อแฮ้ว และบ้านฟ่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เข้ามาทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานโดยการนำเอาวัฒนธรรมการตีมีดมาด้วยจนทำให้เป็นอาชีพของชาวบ้านร่องไฮ ซึ่งประชากรที่อพยพมาจากลำปางเริ่มมาเมื่ปี พ.ศ. 2458

 

บ้านร่องไฮ มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม โดยลาดจากทางทิศใต้ไปทิศเหนือลงสู่กว๊านพะเยา ลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีแม่น้ำร่องไฮไหลผ่านกลางหมู่บ้านลงสู่กว๊านพะเยา ชุมชนอยู่ติดกับทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกว๊านพะเยา มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ        ติดต่อกับ  กว๊านพะเยา

ทิศใต้           ติดต่อกับ  บ้านร่องไฮ หมู่ 11

ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ  เทศบาลเมืองพะเยา

ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ  ลำน้ำแม่ใส

 

บ้านร่องไฮ หมู่ 1 มีทั้งหมด 143 ครัวเรือน มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ทั้งหมด 541 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 279 คน ประชากรหญิง 262 คน

การตีมีด 

นายสมบูรณ์ กันทะวัง อายุ 68 ปี ชาวบ้าน บ้านร่องไฮ หมู่ 1 ต.แม่ใส อ.เมืองพะเยา หรือสล่าบุญ หนึ่งในสล่าตีมีดบ้านร่องไฮ ได้ทำการตีมีด ที่ใช้วิธีแบบโบราณ คือการใช้แรงงานคนในการตี ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ ประกอบอาชีพตีมีดกันอย่างแพร่หลาย ถือเป็นหมู่บ้านเดียวของจังหวัดพะเยา ที่ยึดอาชีพตีมีดกันมาอย่างยาวนานนับร้อยปี มีการสืบทอดฝีมือตีมีดกันแบบรุ่นต่อรุ่น และทุกวันนี้ชาวบ้านบ้านร่องไฮ ก็ยังคงผลิตมีดที่จำเป็นต้องใช้กันทุกครัวเรือนส่งขายทั่วประเทศ 

สำหรับขั้นตอนการทำมีด ขั้นแรกเตรียมหาเหล็ก โดยส่วนมากจะใช้เหล็กแหนบรถยนต์ที่สั่งมาจากกรุงเทพ หลังจากนั้นนำไปเข้าเตาเผาให้ร้อน แล้วผ่าครึ่งก่อนตีเป็นมีด พร้อมออกแบบมีดที่จะตี เมื่อตีเสร็จจะทำการตบแต่ง ตอกโค๊ดของสล่า หรือช่างตีมีดไว้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อรับประกันคุณภาพ ซึ่งหากไม่ดีก็สามารถเปลี่ยนได้ โดยมีดที่ทำแล้วจะมีราคาตั้งแต่ 100 บาท จนถึงหลายร้อยบาท หากสั่งทำพิเศษ เช่น มีดดาบ ราคาจะแพงหลักพันบาทขึ้นไป การทำมีดแต่ละหลังคาเรือนในชุมชนบ้านร่องไฮนั้น จะตีมีดได้วันละประมาณ 10-20 เล่ม หรือมากกว่า

การทำประมงพื้นบ้าน

อาชีพประมงของคนในชุมชนบ้านร่องไฮเริ่มต้นหลังการก่อสร้างประตูกั้นแม่น้ำอิงของกรมประมงในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งทำให้เกิดกว๊านพะเยาในปัจจุบัน โดยคนที่ทำอาชีพประมงในชุมชนบ้านร่องไฮในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 50 คน ซึ่งชาวประมงได้เรียนรู้วิธีการหาปลาจากธรรมชาติหรือพฤติกรรมของปลาแต่ละชนิดที่อยู่อาศัยในกว๊านพะเยา ทำให้ชาวประมงได้เรียนรู้การทำเครื่องมือจับปลาแต่ละชนิด วิธีการจับปลา รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยของการพายเรือหากินอยู่ในกว๊านเครื่องมือจับปลาแต่ละยุคแต่ละสมัยอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่สภาพแวดล้อมและมุมมองของคนในยุคนั้นๆ โดยภูมิปัญญาการประมงที่มีศักยภาพในการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวได้ คือ เคล็ดลับในการทำเครื่องมือจับปลาแต่ละชนิดของชาวประมง การทำประมงพื้นบ้านกับการทำงานเป็นทีม ปฏิทินการจับปลาในรอบปี

อุปกรณ์สำหรับทำการประมงที่ชาวบ้านนิยมใช้ คือ แน่ง (ตาข่ายสำหรับดักจับปลา) อวน แห ไซ (ไม้ไผ่สานทรงรีสำหรับดักจับปลาบริเวณน้ำตื้น) ข้อง (อุปกรณ์สำหรับใส่ปลา)จ๋ำ(ยอ) และแซะ (ไม้ไผ่สานเป็นรูปสามเหลี่ยมก้นลึกมีด้ามสำหรับถือ) ลักษณะของการประมงน้ำจืดที่ชาวบ้านนิยมทำกันมี 4 ลักษณะคือ อย่างแรกการใส่แน่ง (การวางตาข่ายเป็นแนว) อย่างที่สองคือการวางอวน อย่างที่สามคือ การทอดแห (การเหวี่ยงแห) และสุดท้ายคือ การใส่ไซซึ่งไซสำหรับปลาแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกัน เช่นไซล่อปลาไหล แต่ละวิธีของการหาปลาก็จะมีเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันไป มีการสั่งสมความรู้จนเป็นภูมิปัญญาในการหาปลาของคนทำประมงแต่ละคน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

 ทุนวัฒนธรรม

1) โบราณสถานบ้านร่องไฮ

เคยเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ริมกว๊านพะเยา มีซากของกลุ่มวัดร้างในสมัยที่เมืองภูกามยาวเจริญรุ่งเรือง มีช่วงอายุราว 900 ปี อยู่ในสมัยเดียวกันกับวัดติโลกอารามและโบราณสถานอื่น ๆ ที่อยู่ในกว๊านพะเยา ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีซากร่องรอยของศาสนสถาน เรียงกันเป็นแนวเข้าไปในกว๊านพะเยาโดยคนในชุมชนเรียกบริเวณนี้ว่า สันธาตุ และยังคงมีเนินซากโบราณสถานบางส่วนจมอยู่ในกว๊านพะเยา 

ในปี พ.ศ. 2545 มีการขุดค้นโบราณสถานบ้านร่องไฮ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสร่วมกับกรมศิลปากร ทำการสำรวจกลุ่มโบราณสถานร่วมกัน ในการขุดค้นพบกลุ่มโบราณสถานถูกปกคลุมด้วยวัชพืชและไม้ยืนต้น และยังค้นพบโบราณวัตถุ ทั้งเสาดอกบัว ฐานเสาพระพุทธรูป ช้าง สถูป ที่ทำจากหินทราย และภาชนะดินเผาจากเตาเผาในท้องถิ่น ชิ้นส่วนของศิลาจารึก และพบพระพุทธรูปหินทรายสันนิษฐานว่ามีอายุราว 500 ปี

2) วัดติโลกอาราม

ตั้งอยู่กลางกว๊านพะเยา เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า 500 ปี จากหลักฐานศิลาจารึกที่ขุดพบบริเวณวัด วัดแห่งนี้เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ โปรดให้พระยายุทธิษถิระ เจ้าเมืองพะเยา สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2019-2029 เนื่องจากกรมประมงสร้างประตูกั้นเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้ชุมชนโบราณและวัดหลายแห่งจมอยู่ใต้น้ำ รวมทั้งวัดติโลกอารามที่มองเห็นเพียงยอดเจดีย์อิฐที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “สันธาตุกลางน้ำ” ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เพื่อให้ผู้คนได้มาสักการะ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา      และวันอาสาฬหบูชา จะมี “ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ” รอบพระธาตุเจดีย์กลางกว๊านพะเยา ถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก มีบริการเรือพายจากท่าเรือกว๊านพะเยาไปยังวัดทุกวัน เวลา 07.30-17.00 น. ใช้เวลาไป-กลับ 30 นาที

3) ภูมิปัญญาการตีมีด

ในอดีตชาวบ้านในชุมชนบ้านร่องไฮตีเหล็กเพื่อการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้เกี่ยวกับการเกษตร เช่น มีด เคียวเกี่ยวข้าว จอบ เสียม และขวานเป็นต้น และเครื่องมือที่ใช้กันภายในครัวเรือน เพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพหลัก โดยมีความรู้ภูมิปัญญาเดิมที่ติดตัวมาพร้อมกับการอพยพถิ่นฐานมาจากจังหวัดลำปาง แต่ต่อมาเริ่มมีการสั่งทำมากขึ้นเนื่องจากฝีมือในการตีประกอบกับในละแวกชุมชนบ้านร่องไฮไม่มีชุมชนใดที่ตีเหล็ก จึงทำให้ช่างตีเหล็กส่วนมากยึดอาชีพตีเหล็กเป็นอาชีพหลัก นอกจากจะรับทำเครื่องมือเหล็กต่างๆ แล้วยังมีบริการรับซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ที่ชำรุดในปัจจุบันเตาสำหรับการตีเหล็กที่มีในชุมชนบ้านร่องไฮมีทั้งหมด 10 เตา โดยแต่ละเตาจะตั้งอยู่ในบ้านของเจ้าของเตา ส่วนช่างตีเหล็กที่ไม่มีเตาเป็นของตัวเองก็จะไปตีเหล็กที่บ้านของช่างตีเหล็กที่มีเตาซึ่งปัจจุบันมีช่างตีเหล็กที่อยู่ในบ้านร่องไฮจำนวนประมาณ 20 คน การตีเหล็กจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 03.00 - 07.00น. เพื่อให้ความร้อนจากการเผาเหล็กและตีเหล็กลดลง โดยช่วงเช้ามืดส่วนใหญ่จะเป็นขั้นตอนของการแหล้งเหล็กและการเข่นเหล็ก (การทำรูปร่าง) ส่วนในเวลากลางวันก็จะเป็นการแต่งรูปร่างมีด การเจียมีด การชุบมีดและการเข้าด้ามมีด โดยภูมิปัญญาการตีเหล็กที่มีศักยภาพในการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว คือ ความเชื่อในการตีเหล็ก อุปกรณ์ที่ใช้ในการตีเหล็ก ขั้นตอนในการตีเหล็ก ประเภทของมีดกับการใช้งาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
ประกอบศิริ ภักดีพินิจ. (2545). ศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนริมกว๊านพะเยา : กรณีศึกษาชุมชนบ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.ชาวบ้านร่องไฮสืบทอดตีมีดโบราณกว่า 100 ปี สร้างรายได้ ส่งขายทั่วประเทศ. (2561). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TNSOC6112100010039โบราณสถานบ้านร่องไฮ (วัดร้างบ้านร่องไฮ). (2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/4913