วัดศรีสุพรรณ เป็นที่รู้จักในฐานะวัดที่มี ‘อุโบสถเงิน’ ที่งดงามและถือเป็นอุโบสถเงินหลังแรกของโลก นอกจากเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแล้ว บริเวณโดยรอบของเขตพุทธาวาสยังขึ้นชื่อในเรื่องของ ‘ชุมชนทำเครื่องเงิน’ อันเป็นทรัพย์สินทางภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ และมีความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ตั้งชื่อชุมชนตามวัดศรีสุพรรณ ที่เป็นศูนย์กลางการทำเครื่องเงินตั้งแต่สมัยอดีต
วัดศรีสุพรรณ เป็นที่รู้จักในฐานะวัดที่มี ‘อุโบสถเงิน’ ที่งดงามและถือเป็นอุโบสถเงินหลังแรกของโลก นอกจากเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแล้ว บริเวณโดยรอบของเขตพุทธาวาสยังขึ้นชื่อในเรื่องของ ‘ชุมชนทำเครื่องเงิน’ อันเป็นทรัพย์สินทางภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ และมีความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนวัดศรีสุพรรณเป็นชุมชนเก่าแก่ ดังปรากฏข้อความจากศิลาจารึกหินทรายแดงที่บันทึก ประวัติวัดศรีสุพรรณด้วยอักษรฝักขามว่าวัดศรีสุพรรณสร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้วหรือพญาแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2038 – 2068) ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาที่สืบต่อมาจากสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984 – 2030) และพญายอดเชียงราย (พ.ศ. 2030 – 2038) โดยได้มีการยกที่นาแปลง ใหญ่และผู้คนจำนวน 20 ครัวเรือนให้กับวัดศรีสุพรรณ จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนวัดศรีสุพรรณตั้งแต่นั้นมา บรรพบุรุษของชาวชุมชนวัดศรีสุพรรณเดิมตั้งถิ่นฐาน เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม เครื่องเงินอยู่ในแขวงเมืองปั่น แถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน มีชื่อเรียกว่าบ้านงัวลาย (งัว เป็นภาษาถิ่น แปลว่า วัว)
หลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และตำนานราชวงศ์ปกรณ์เชียงใหม่กล่าวว่า ในสมัยของพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้นได้รวบรวมผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองหลังการปลดเอกจากการยึดครองของพม่า เรียกว่า ยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยพระเจ้ากาวิละได้ให้เจ้าสุวัณณะคำมูลผู้เป็นหลานชายคุมกำลังพลจำนวน 300 นายไปตีเมืองปุ ซึ่งมีเจ้าฟ้าคำเครื่องเป็นเจ้าเมืองอยู่ แล้วจึงกวาดต้อนผู้คนกลับมาเชียงใหม่ จากนั้นยังตีเอาบ้านสะต๋อย สอยไร่ ท่าช้าง บ้านนา บ้านทุ่งอ้อ และบ้านงัวลาย และกวาดต้อนผู้คนกลับมาเช่นกัน จากการกวาดต้อนทั้งสองครั้งดังกล่าวพระเจ้ากาวิละได้ให้ครอบครัวที่มาจากบ้านงัวลายตั้งบ้านเรือนในบริเวณวัดหมื่นสารและวัดศรีสุพรรณแล้วเรียกชื่อว่า “บ้านงัวลาย” ตามชื่อเรียกหมู่บ้านเดิม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า “วัวลาย”
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า พระเจ้ากาวิละได้ให้ชาวบ้านงัวลายตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอหางดง ในบริเวณที่ติดกับหมู่บ้านกวน โดยบ้านงัวลายทำเครื่องเงินและหมู่บ้านกวนทำเครื่องปั้นดินเผา ต่อมาจึงได้ย้ายชาวบ้านงัวลายเข้ามาในเมือง แต่ไม่ได้ย้ายชาวบ้านกวนเข้ามาด้วยเพราะว่าการทำเครื่องปั้นดินเผาก่อให้เกิดควันเป็นจำนวนมากจึงไม่เหมาะที่จะย้ายเข้ามาในเมือง ดังนั้นจึงมีแต่เฉพาะชาวบ้านงัวลายเท่านั้นที่ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่รอบคูเมือง แต่ก็ยังมีหมู่บ้านที่ชื่อว่างัวลายอยู่ในอำเภอหางดง ปรากฏเป็นหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านงัวลายที่ย้ายเข้ามาในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือที่มีทักษะในการทำเครื่องเงิน และได้รับการสืบทอดวิชาชีพช่างเงินมาจากบรรพบุรุษ คนในชุมชนบ้านงัวลายส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำเครื่องเงินเพื่อสร้างรายได้แก่ครอบครัว โดยมีแบ่งการกันทำภายในครอบครัว ซึ่งฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายตีขึ้นรูปภาชนะ ในขณะที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายตกแต่งให้มีความประณีตสวยงาม ผู้เฒ่าและเด็กๆ มีหน้าที่ขัดเงาให้เครื่องเงินมีความงดงามน่าใช้ ชาวบ้านชุมชนวัดศรีสุพรรณเป็นส่วนหนึ่งของบ้านวัวลาย มีผลงานการทำเครื่องเงินเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนในวงกว้างแล้วยังมีผลงานการทำเครื่องเงินที่เป็นภูมิปัญญาล้านนาสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีครบรอบการจัดตั้งวัดศรีสุพรรณได้ 500 ปี ท่านเจ้าอาวาสและทางกลุ่มจึงถือโอกาสนี้จัดตั้ง “กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ” โดยมีเป้าหมายในการอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพทำเครื่องเงิน ซึ่งได้ใช้พื้นที่ภายในวัดเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรม มีการสร้างความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทั้งดึงสล่าในชุมชนเข้ามารวมตัวกันในกลุ่ม โดยให้สล่าเหล่านี้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เชิงศิลป์ให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนวัดศรีสุพรรณ รวมถึงพระสงฆ์ สามเณร คนรุ่นใหม่ในชุมชน และนักท่องเที่ยว ในเวลาต่อมาทางชุมชนได้จัดตั้งศูนย์วิสาหกิจชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่ทางการตลาดให้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพช่างเงิน พร้อมกันนี้ยังรวบรวมสล่าในชุมชนทั้งหมดร่วมกันสร้างอุโบสถเงินหลังแรกและหลังเดียวของโลกให้เกิดขึ้นภายในวัดศรีสุพรรณ อุโบสถเงินหลังนี้ นอกจากจะมีความหมายในเชิงการเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจภายในชุมชน ยังกระตุ้นจิตสำนึกรักภูมิปัญญาของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ชุมชนศรีวัดศรีสุพรรณเป็นชุมชนหัตถกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณถนนวัวลาย ซึ่งในบริเวณดังกล่าวประกอบไปด้วยชุมชนช่างฝีมือ 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนวัดศรีสุพรรณหรือ “บ้านศรีสุพรรณ” ชุมชนบ้านหมื่นสาร และชุมชนวัดนันทาราม พื้นที่ของชุมชนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ อยู่ระหว่าง กําแพงชั้นในและกําแพงชั้นนอกจากประตูเชียงใหม่ตามถนนวัวลาย ด้านขวามือจะเป็นชุมชนวัดศรีสุพรรณ ซึ่งมีวัดศรีสุพรรณเป็นศูนย์กลางชุมชน และที่ทําการชุมชนของชุมชนศรีสุพรรณ ใช้พื้นที่ภายในบริเวณวัดศรีสุพรรณเป็นที่ตั้งของกลุ่ม และด้านซ้ายจะเป็นชุมชนหมื่นสารบ้านวัวลาย มีวัดหมื่นสารเป็นศูนย์กลางของชุมชน และชุมชนวัดนันทารามจะอยู่ลึกลงตามถนนวัวลาย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดตําบลช้างเผือก มีถนนช่างหล่อผ่าน และคลองคูเมืองกําแพงด้านเหนือเป็นแนวแบ่งกับชุมชนบ้านช่างหล่อ
ทิศตะวันตก ติดตําบลสุเทพ จรดถนนทิพย์ มีถนนติดอ้อมเมืองทางสนามบินเป็นแนวแบ่งเขต
ทิศตะวันออก ติดตําบลช้างคลาน และจรดถนนวัวลาย มีลําเหมืองแม่ข่าระวันออก
ทิศใต้ ติดตําบลช้างคลาน มีลําเหมืองแม่ข่าเป็นแนวแบ่งเขตเป็นพื้นที่ชายธงที่ถนนวัวลายมาจรดถนนทิพย์เนตรเพื่อออกสู่ประตูหายยา
ลักษณะของประชากรของชุมชนสามารถกล่าวได้ในภาพรวม ดังนี้ ประชากรในชุมชนวัดศรีสุพรรณ มีประมาณ 150 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 700 คน โดยแบ่งเป็นประชากรชายจํานวน 420 คน ประชากรหญิงจํานวน 280 คน โดยแต่ละครัวเรือนมีประชากรเฉลี่ย 5 คน ในปัจจุบันชุมชนวัดศรีสุพรรณเป็นชุมชนเมืองที่มีความเจริญ จึงมีจํานวนประชากรแฝงที่มิได้เป็นสมาชิกชุมชนตามที่ทางเทศบาลได้จัดตั้งทั้งที่อาศัยในบ้านเช่า อพาตเม้นต์ ในบริเวณชุมชนรวมแล้วประมาณ 1,000 คนเศษ โดยชาวชุมชนส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นของตนเอง และขณะที่บางส่วนเป็นผู้มาเช่าประชาชนส่วนหนึ่งประกอบอาชีพรับจ้างเป็นช่างเครื่องเงินทั้งในแง่ช่างประจําตามร้านค้าเครื่องเงินบริเวณถนนวัวลาย และถนนเชียงใหม่สันกําแพง ขณะที่บางส่วนประกอบอาชีพเป็นช่างเครื่องเงินอิสระ คือ ทําแล้วไปส่งตามร้านค้า นอกจากนี้อีกจํานวนหนึ่งประกอบอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว และอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพที่เป็นกลุ่มคนในหมู่บ้านที่มีงานทําไม่แน่นอน มีรายได้จากการรับจ้างทั่วไป เช่น รับเย็บผ้า ส่งของ ส่งเอกสารต่างๆ โดยปัจจุบันลูกหลานของชาวชุมชนที่ได้รับการศึกษาบางส่วนยังประกอบอาชีพสมัยใหม่โดยการเป็นข้าราชการ
กลุ่มองค์กรชุมชนที่ก่อตั้งโดยชุมชนเอง
- วิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ
ตั้งอยู่ที่ ถนนวัวลาย ตำบาลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการในชุมชน มีการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ จุดยืนของการจัดตั้งกลุ่ม คือ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่การค้าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากคนในชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีสินค้าขึ้นชื่อเป็นเครื่องประดับ และของที่ระลึก และมีช่างฝีมือ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นอยู่ด้วยหลายกลุ่ม
ในปีพ.ศ.2543 มีการรวมกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ โดยแกนนำของกลุ่มวัด กลุ่มศรัทธาวัด กรรมการชุมชนและกลุ่มสล่า (ช่าง) ทำเครื่องเงิน เพื่อสร้างแนวทางการอนุรักษ์ และพัฒนาสืบสานหัตถกรรมเครื่องเงินของชุมชน ใช้พื้นที่ภายในวัดศรีสุพรรณเป็นศูนย์รวม เกิดการรวมกลุ่มและถ่ายทอด ความรู้ศิลปะการทำเครื่องเงิน จัดตั้งศูนย์วิสาหกิจชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่ทางการตลาด และมีการสร้างอุโบสถเงินขึ้นภายในวัดศรีสุพรรณ เกิดความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจ ส่งเสริมจิตสำนึกรักภูมิปัญญาและความเป็นชุมชน และใช้ชื่อการรวมกลุ่มว่า เป็นชุมชนวัดเงิน มีการจัดตั้งศูนย์สล่าสิบหมู่ไทยโบราณล้านนาเพื่อเป็นการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาในชุมชนมีกลุ่มคนดั้งเดิมอยู่ร้อยละ 50 จึงมีความใกล้ชิดสนิทสนม ผู้คนยังพบปะพูดคุยไปมาหาสู่กันใกล้ชิดกันเหมือนในอดีต กิจกรรมถนนคนเดินวัวลายเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ .2547 และจัดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปีทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก และเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวของเมือง ส่งผลให้ปัจจุบันเริ่มเกิดพื้นที่รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้นในชุมชนร้อยละ 15 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยมากตั้งอยู่ริมถนนหลัก มีบางส่วนที่เริ่มกระจายไปยังตรอกซอยในชุมชน เกิดการพัฒนาทางกายภาพ มีการก่อสร้างปรับปรุงอาคารเพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ภายในวัดศรีสุพรรณด้วย
วัดศรีสุพรรณ
มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2043 ในรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ราชธานี และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดามหาเทวีเจ้า ที่โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” ซึ่งต่อมาคนนิยมเรียกอย่างสั้นๆ ว่า “วัดศรีสุพรรณ” วัดศรีสุพรรณมี 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ได้แก่
- “พระบรมธาตุวัดศรีสุพรรณ” อายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ที่เพิ่งพังถล่มลงไปตามที่ปรากฏไปข้างต้น พระธาตุองค์นี้เดิมก่อนพังถล่ม เป็นเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง องค์ระฆังเป็นทรงกลม ตั้งบนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงายแปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานรองรับทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สามสิบหก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว อีกทั้งยังมีข้อมูลระบุว่าพระธาตุองค์นี้มีลักษณะที่เอียงได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว
- “พระเจ้าเจ็ดตื้อ” พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย ที่เป็นองค์พระประธานของวัดศรีสุพรรณ ซึ่งตามหลักศิลาจารึกของวัดศรีสุพรรณกล่าวไว้ว่าในปี พ.ศ. 2043 พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ในราชวงศ์มังราย และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้าให้เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำมหาอำมาตย์ นำพระพุทธรูปทองสำริดองค์หนึ่งมาถวายให้เป็นพระประธานในอุโบสถเมื่อคราวที่สร้างวัดแห่งนี้พระเจ้าเจ็ดตื้อ เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ โดยมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่า องค์พระเจ้า เจ็ดตื้อได้เคยแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการลงสรงน้ำในสระข้างโบสถ์ และได้ประทานพรแก่ผู้มาอธิษฐานจิตให้ประสบความสำเร็จสมมารถปรารถนา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้มีญาณพิเศษทำให้พระเจ้าเจ็ดตื้อมีชื่อเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า “พระพุทธปาฏิหาริย์”
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2547 ทางวัดศรีสุพรรณยังได้สร้างอุโบสถหรือ โบสถ์หลังใหม่ขึ้นแทนโบสถ์หลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม โดยโบสถ์หลังใหม่นี้เป็น “อุโบสถเงินหลังแรกของโลก” ที่เหล่าสล่าร่วมมือกันสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นงานพุทธศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา และเทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ 9 โดยได้นำเอาอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญาของถิ่นของการเป็นชุมชนช่างทำเงิน มาสร้างสรรค์เป็นโบสถ์สีเงินอันงดงามวิจิตร ดูน่าตื่นตาตื่นใจเพื่อ “ฝากศิลป์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ 9” โบสถ์เงินหลังแรกของโลกแห่ง วัดศรีสุพรรณ ใช้วิธีการก่อสร้างจากฐานและพัทธสีมาที่อ้างอิงจากพระประธานของโบสถ์หลังเดิม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา โครงสร้างก่ออิฐถือปูน มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 17.50 เมตร และสูง 18 เมตร