อุทยานแห่งชาติดอยหลวง หมู่บ้านอนุรักษ์ป่าชุมชน หมู่บ้านปิดทองหลังพระ
บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในหุบเขาของอุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีทรัพยากรธรรมชาติคือ น้ำตกแม่ต๋อม ที่ไหลมาจากเทือกเขา และเป็นหมู่บ้านที่อยู่ด้านในสุดของเขตพื้นที่ จึงตั้งชื่อว่า "บ้านแม่ต๋อมใน"
อุทยานแห่งชาติดอยหลวง หมู่บ้านอนุรักษ์ป่าชุมชน หมู่บ้านปิดทองหลังพระ
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ใดไม่ทราบแน่ชัด มีชาวบ้านผาช้างมูบได้เข้าไปหาของป่าและแผ้วทางที่เพื่อปลูกพืช เนื่องจากพื้นที่ติดป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และมีลำน้ำแม่ต๋อมที่ไหลลงมาจากดอยหลวงทอดผ่าน เหมาะแก่การทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น
พ.ศ. 2516 ได้แยกออกมาจากบ้านผาช้างมูบจัดตั้งเป็นหมู่บ้านและตั้งชื่อว่าแม่ต๋อมใน ตำบลบ้านต๋อม อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ที่ตั้งชื่อว่า บ้านแม่ต่อมใน เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในสุดของชุมชนบ้านแม่ต๋อม ติดป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีทางถนนทอดผ่าน ในอดีตมีการคมนาคมโดยใช้เกวียนและเนื่องจากการตัดถนนไปยังหมู่บ้านยังไม่ถึง จึงมีความลำบากมากในการเดินทางออกมาภายนอกหมู่บ้าน มีนายจันทร์ วงค์ไชยยา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก นายสมบูรณ์ ปันตินายสมศักดิ์ ทวีคูณ นายสุนัย วงค์กัณฑะ นายคราญ เมืองงาม และนางเครือวัลย์ พระวิทูรย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านปัจจุบัน (2566)
พ.ศ. 2517 สร้างวัดภายในหมู่บ้านโดยอยู่จุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน ชื่อ "วัดบ้านแม่ต๋อมใน"
พ.ศ. 2520 จัดตั้งสถานที่สำหรับเพื่อการเรียนการสอนขนาดเล็ก และได้พัฒนาเป็นสถานศึกษาชื่อว่า "โรงเรียนบ้านแม่ต๋อมใน" เริ่มต้นมีครู 4 คน นักเรียน 12-13 คน
วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 พะเยาจึงได้การยกฐานะจากอำเภอพะเยา ขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา และได้มีการตั้งชื่อตำบลและชื่อหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ตั้งชื่อตามลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้านโดย หมู่บ้านมีชื่อว่า บ้านแม่ต่อมใน ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
พ.ศ. 2529 เริ่มมีไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน
พ.ศ. 2536 มีการขุดเจาะน้ำบาดาลใช้เป็นน้ำประปาหมู่บ้าน
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปวัดอนาลโยทิพยาราม ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาแหล่งน้ำช่วยเหลือ ตามที่ราษฎรได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ของราษฎรบ้านแม่ต๋อมใน กรมชลประทานได้สำรวจข้อมูลและตรวจสภาพพื้นที่ ได้ข้อมูลจุดที่ราษฎรต้องการให้ก่อสร้าง โครงการอยู่ในลำห้วยปู่หน่อแก้ว สภาพภูมิ ประเทศบริเวณจุดก่อสร้างมีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ห้วยปู่หน่อแก้ว จะช่วยให้ราษฎรบ้านแม่ต๋อมใน มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และทำการเพาะปลูกในฤดูฝน ได้ประมาณ 400 ไร่ และในฤดูแล้งได้ประมาณ 50 ไร่
พ.ศ. 2539 กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำนบดิน ขนาดสูง 14 เมตร กว้าง 8 เมตร ยาว 61 เมตร แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2542 ราคาค่า ก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 8,379,000 บาท มีพื้นที่รับน้ำฝน 2 ตาราง กิโลเมตร มีความจุของอ่างที่ระดับเก็บกัก 182,756 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 400 ไร่ และสร้างแทงค์เก็บน้ำ เพื่อใช้น้ำอย่างเพียงพอในฤดูแล้ง
วันที่ 8 มิถุนายน 2536 ตั้งตำบลสันป่าม่วง แยกออกจากตำบลบ้านต๋อม บ้านแม่ต๋อมใน
พ.ศ. 2555 บ้านแม่ต๋อมในเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านปิดทองหลังพระ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในหมู่บ้านที่ยังแก้ไขไม่ได้ จึงนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ไขภัยแล้งในหมู่บ้าน พัฒนา 6 มิติ คือ ดิน น้ำ เกษตร พลังงานทดแทน ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมซึ่งแต่ละมิติ ทางส่วนราชการได้จัดโครงการและสนับสนุนงบประมาณให้กับหมู่บ้าน
พ.ศ. 2559-2560 ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านแม่ต๋อมใน จังหวัดพะเยา โดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายชุมชนและสังคม
หมู่บ้านแม่ต๋อมในตั้งอยู่ในหุบเขามีภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน สภาพพื้นที่ของหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงเขาอยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมด จำนวน 13,944 ไร่ หรือ 22.3 ตารางกิโลเมตรแยกเป็นพื้นที่อยู่อาศัย จำนวน 1,563 ไร่ หรือ 2.5 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่า จำนวน 12,381 ไร่ หรือ 19.80 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ เขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันออก ติดกับ วัดอนาลโยทิพยาราม และบ้านสันป่าบง หมู่ที่ 6 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ เขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
สภาพภายในหมู่บ้าน
การปลูกบ้านเรือนกระจายกันไปตามถนนหลักในหมู่บ้าน ตั้งบ้านเรือนเรียงลำดับอยู่ใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น บางหลังเป็นบ้านกึ่งไม้กึ่งปูน 2 ชั้น ครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเป็นอาหารได้แก่ ไก่ เป็ด ปลา มีวัด 1 แห่งอยู่ในเขตหมู่ 7 (วัดบ้านต๋อมใน) และร้านขายของชำ 3 แห่ง
การคมนาคม
ตัวหมู่บ้านห่างจากสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี อนาลโย เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ต้องอ้อมภูเขาและอ่างเก็บน้ำห้วยปู่หน่อแล้วลงมา ประชาชนจึงนิยมใช้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๋อม เนื่องจากทางออกจากหมู่บ้านเมื่อลงมาถึงใกล้มากกว่าจะรับบริการของสถานบริการในพื้นที่ และห่างจากตัวเมืองจังหวัดพะเยา 18 กิโลเมตร ปัจจุบันการเดินทางสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก มีถนนลาดยางและคอนกรีตสองช่องทางรถ สองข้างทางส่วนใหญ่เป็นป่า ทางค่อนข้างเปลี่ยว และไฟข้างทางยังไม่เพียงพอหากมีการเดินทางตอนกลางคืน ในหมู่บ้านเส้นทางที่ต้องไปทำงานในไร่ในสวน การเดินทางค่อนข้างลำบาก ยังเป็นถนนลูกรัง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทางการในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง หากต้องเข้าในตัวเมือง ส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนตัว
ประชากรมีจำนวน 60 ครัวเรือน ประชากร 170 คน เพศหญิง 81 คน เพศชาย 89 คน ประชากรส่วนใหญ่มีอายุ 55 ปี ขึ้นไป มาถึงร้อยละ 39 การศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด ร้อยละ 62.94
นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด ในวันสำคัญทางศาสนาไปทำบุญ ประกอบศาสนกิจที่วัดแม่ต๋อมใน
ประเพณีในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นแบบล้านนา เช่น ประเพณีตานข้าว ผ้าป่า และทำบุญใหม่ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ(ปีใหม่เมือง) งานบุญตานก๋วยสลาก งานทอดกตักบาตรในวันสำคัญต่างๆ
ด้านความเชื่อชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เช่น มีการนับถือผีบ้านผีเรือน ผีปู่ย่า และผีเจ้าที่ศาลพระภูมิ มีประเพณีเลี้ยงผีพ่อขุนต๋อมในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือกิจกรรมของส่วนรวม เช่น งานบุญ งานศพ ชาวบ้านทุกคนโดยเฉพาะสมาชิกองค์กรในหมู่บ้าน กลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสตรี จะเป็นองค์กรหลักที่สนับสนุนงานในหมู่บ้านให้สำเร็จ
ผู้ใหญ่บ้าน : นางเครือวัลย์ พระวิทูรย์
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่ม อสม. : นางเครือวัลย์ พระวิทูรย์ เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้สูงอายุ : นายเงิน ทวีคูณ เป็นประธาน
- กองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน) : นางพัฒนา แซ่แพ เป็นประธาน จำนวนสมาชิก 80 คน เงินทุน 1,414,864 บาท
- กลุ่มออมทรัพย์ : นางพัฒนา แซ่แพ เป็นประธาน จำนวนสมาชิก 47 คน เงินทุน 112,498 บาท
- กลุ่มแม่บ้าน : นางสุคำ ปันติ เป็นประธาน
- กลุ่มผู้ใช้น้ำ : นายส่วน หวานใจ เป็นประธาน
- กลุ่มอนุรักษ์ป่า : นายประสงค์ พระวิฑูรย์ เป็นประธาน
- กลุ่มเหมืองฝ่ายอ่างห้วยปู่หน่อแก้ว : นายจันทร์ นักหล่อ เป็นประธาน
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ : นายสุทัศน์ ชำนาญล่อ เป็นประธาน
- กลุ่มเลี้ยงเป็ด : นายดวงจันทร์ ปันติ เป็นประธาน
- กลุ่มเลี้ยงปลาดุก : นางนำ ขายข้าวสาร เป็นประธาน
- กลุ่มเลี้ยงผึ้ง : นายคราญ เมืองงาม เป็นประธาน
- กลุ่มกองทุนแม่พันธุ์วัว เลี้ยงโคขุน : นายธงศรี ใจการ เป็นประธาน
- กลุ่มกองทุนเลี้ยงกบ : นางฟองคำ เหล็กกล้า เป็นประธาน
- กลุ่มกองทุนปุ๋ยหมัก : นางดวงแก้ว หวานใจ เป็นประธาน
- กลุ่มกองทุนสานเข่ง : นางเครือวัลย์ พระวิทูรย์ เป็นประธาน
- กลุ่มกองทุนปลูกผักอินทรีย์ : นางพัฒนา แซ่แพ เป็นประธาน
- กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ : นางประทุม พันธ์ปัญญา เป็นประธาน
สภาพเศรษฐกิจ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 5,000-15,000 บาท/เดือน
- อาชีพหลัก : รับจ้างและเกษตรกรรม
- อาชีพเสริม : ค้าขาย
- หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่ เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส.และกองทุนหมู่บ้าน
- แหล่งเงินทุน : กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และ ธกส.
- ผลิตภัณฑ์ชุมชน : ได้จากกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น สานผักตบชวา เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่
- วัตถุดิบในชุมชนในด้านอินทรียวัตถุ : ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
1. นายทัง สงสาร : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
2. นายเงิน ทวีคูณ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
3. นายชัยศิลป์ เหล็กกล้า : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
4. นายพูลชัย เหล็กกล้า : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
5. นายผัด ทรปัญญา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
6. นายหว่าน ขายข้าวสาร : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
7. นางพัฒนา แซ่แพ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
8. นายมูล ขายข้าวสาร : ปราชญ์ด้านสมุนไพร
9. นายวิเชียร ขายข้าวสาร : ปราชญ์ด้านป่าชุมชน แหล่งน้ำ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำการเกษตรแหล่งน้าดื่มที่ใช้ เช่น น้ำประปาภูเขา น้ำฝน ส่วนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เช่น อ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม อ่างเก็บน้ำห้วยทับช้าง น้ำประปาภูเขา และอ่างเก็บน้ำห้วยปู่หน่อแก้ว เป็นต้น
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
จุดแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน (ศักยภาพ-ความสามารถของหมู่บ้าน)
- ไม่มียาเสพติดระบาดในหมู่บ้าน
- มีกลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ ค่อยช่วยเหลือทางราชการ เช่น กลุ่ม อปพร., กลุ่ม ชรบ., กลุ่ม สตบ. เป็นต้น
อุปสรรค (จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน/ชุมชน ต่อด้านต่าง ๆ)
- ไม่มีระเบียบกฏหมายรองรับที่ชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มพลังมวลชน
โอกาสในการพัฒนาของหมู่บ้าน (จากปัจจัยภายนอก)
- หน่วยงานทางราชการมีการเข้ามาส่งเสริมในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ เพื่อช่วยปฏิบัติงาน
จุดแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน (ศักยภาพ-ความสามารถของหมู่บ้าน)
- ประชากรส่วนใหญ่มีพื้นที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
- มีการร่วมกลุ่มในการทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น การจักสานผลิตภัณฑ์จากผัดตบชวา
อุปสรรค (จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน/ชุมชน ต่อด้านต่าง ๆ)
- พ่อค้าคนกลางเป็นคนกำหนดราคาผลผลิตทางการเกษตร .
- ไม่มีแหล่งเงินทุนหรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากดอกเบี้ยแพง
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ มีข้อจำกัดต่าง ๆ มากเกินไป
โอกาสในการพัฒนาของหมู่บ้าน (จากปัจจัยภายนอก)
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแหล่งเงินทุนให้กลุ่มกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย
- ธนาคารส่งเสริมการเกษตร (ธ.ก.ส.) มีแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิก
จุดแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน (ศักยภาพ-ความสามารถของหมู่บ้าน)
- สังคมยังมีความเอื้ออารีต่อกัน
- สังคมภายในหมู่บ้านยังมีระบบเครือญาติพี่น้องที่สามารถพึงพากันได้
- งานประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้านประชาชนยังมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก
- ผู้นำที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน
อุปสรรค (จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน/ชุมชน ต่อด้านต่าง ๆ)
- การจัดตั้งกลุ่มพลังมวลชนต่างๆขาดระเบียบกฏเกณฑ์รองรับไม่มีสวัสดิการให้สมาชิก
- การส่งเสริมกิจกรรมไม่ต่อเนื่อง
- ไม่มีการส่งเสริมความรู้อย่างต่อเนื่องให้กับกลุ่มผู้นำหมู่บ้าน
โอกาสในการพัฒนาของหมู่บ้าน (จากปัจจัยภายนอก)
- มีเวทีหรือสถานที่ให้ประชาชนได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่าง ๆ
- มีหน่วยงานต่างๆค่อยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษา
จุดแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน (ศักยภาพ-ความสามารถของหมู่บ้าน)
- มีพื้นที่ทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และมีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดปี
- มีทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านต่างได้สะดวก
อุปสรรค (จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน/ชุมชน ต่อด้านต่าง ๆ)
- การเกิดโรคระบาดในพืชผลการเกษตร
โอกาสในการพัฒนาของหมู่บ้าน (จากปัจจัยภายนอก)
- มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดปี
- พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์
ประเพณี พิธีกรรมการเลี้ยงผีต้นน้ำ ที่ยังยึดโยงวิถีชุมชน ผ่านกุศโลบาย นโยบายสาธารณะผ่านพิธีกรรม
กนกวรรณ เอี่ยมชัยและคณะ. (2561). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัย โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านแม่ต๋อมในจังหวัดพะเยา. วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่. 10(3) : 229-243.
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่ต่อมใน (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
kanokwan.a. (2559, 7 มิถุนายน). งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่นโยบายสาธารณะ ตำบลสันป่าม่วง. [วิดีโอ]. ยูทูบ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/