เป็นที่ตั้งของชนเผ่าทั้ง 5 ผู้หนีภัยสงครามมาอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารอย่างสงบและสามัคคี
บ้านแม่แอบ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านแห่งนี้
เป็นที่ตั้งของชนเผ่าทั้ง 5 ผู้หนีภัยสงครามมาอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารอย่างสงบและสามัคคี
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2513 นายประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพร้อมด้วยพลตำรวจโทศรีเดช ภูมิประหมัน ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และพลโทจำเนียร มีสง่า ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าวกองทัพภาค 3 ถูกผู้ก่อการร้ายยิงเสียชีวิตที่บริเวณดอยหลวง (บ้านห้วยกว๊าน หมู่ 9 ตำบลบ้านแซ ในปัจจุบัน) ตอนนั้น ปก.04 ได้มีคำสั่งให้กองพล 93 โดยการนำของนายจี่เกา แซ่จาง ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล 93 สังกัดบ้านแม่สลอง จำนวน5 กองร้อย เข้าปราบปราบผู้ก่อการร้ายที่บริเวณดังกล่าว จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2513 ประสบผลสำเร็จ ผลจากการปราบปรามดังกล่าวทางราชการจึงได้จัดสรรพื้นที่จำนวน 4,000 ไร่ พร้อมกับจัดสร้างบ้านพักจำนวน 40 หลัง ให้แก่กำลังพลของกองพล 93
ในปี พ.ศ. 2515 พันเอกพงเกา แซ่จาง ทหารชาวจีน ได้นำกำลังมาปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่มาทำการก่อการในพื้นที่บริเวณนี้ เมื่อเสร็จภารกิจทางทหารทางราชการจึงให้ดูแลพื้นที่แห่งนี้ พร้อมทหารชาวจีนที่ผ่านการรบมาแล้ว หลังพันเอกพงเกา แซ่จาง เสียชีวิตแล้วทหารชาวจีนก็กระจายตัวกันตั้งครอบครัวทำมาหากินกันในบริเวณนี้ผู้นำหมู่บ้านต่อจากพันเอกพงเกา แซ่จาง คือ นายพลยี่เขง แซ่หลุย ซึ่งปัจจุบัน คือ นายชาตรี เด่นวิภัยวนา
วันที่ 30 ตุลาคม 2538 ทางกรรมการหมู่บ้านแม่แอบได้ไปรับมอบการปกครองตนเองจาก ฉก.327 กองอำนวยการทหารสูงสุดที่บ้านผาตั้ง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น โดยให้มีการจัดตั้งผู้ใหญ่บ้านตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 หมู่บ้านแม่แอบจึงได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านโดยสมบูรณ์ มีประชากรอยู่ร่วมกันหลากหลายชนเผ่า ได้แก่ จีน ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลัวะ มูเซอ อาข่า ว้า ลีซอ ราษฎรในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ และบรรพบุรุษ วัฒนธรรมและประเพณีในชุมชน มีทั้งประเพณีจีน ไทยใหญ่ ลัวะ เป็นต้น
บ้านแม่แอบ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยข่อยหล่อย ตำบลบ้านแซว
ทิศใต้ ติดกับ บ้านขุนแม่บง (อำเภอดอยหลวง)
ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยน้ำเย็น
ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านขุนแม่บง (อำเภอดอยหลวง)
ชาวบ้านแม่แอบ คือ "กองกำลังทหารจีนกองพล 93" ที่อพยพถอยร่นมาจากจีนเข้าเมียนมาและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยได้มอบหมายภารกิจต่อสู้ขับไล่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และให้ปักหลักตั้งหมู่บ้านขึ้น ประกอบด้วย 5 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ อาข่า ไทยใหญ่ ลัวะ และจีนยูนนาน ภายใต้การปกครองของกลุ่มคนจีน
ความน่าสนใจอยู่ที่ทุกชนเผ่ายังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน บ้านเรือน ประเพณี รวมถึงความเชื่อ แต่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุข ไม่มีแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งเผ่า และมีทิศทางเดียวกันเรื่องการพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว
กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน ต.บ้านแซว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาบ้านแม่แอบให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน จัดเส้นทางเดิน 5 ชนเผ่าให้นักท่องเที่ยวสัมผัสชุมชนด้วยตัวเอง
เส้นทางเดิน 5 ชนเผ่า
1) ไทใหญ่
เรียนรู้การทำ "ข้าวแคบ" อาหารว่างของชาวเหนือที่มีวิธีทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ ทำจากแป้งข้าวเหนียวนำไปโม่ด้วยโม่หิน ผสมงาและเกลือป่น ตั้งน้ำให้เดือด ละเลงแป้งลงบนผ้าขาวบางเป็นวงกลม รอให้แป้งสุกแล้วใช้ไม้พายช้อนขึ้น วางแป้งลงบนหญ้าคา (แผ่นหญ้าคาจะทำให้แป้งข้าวแคบแกะออกง่าย) ตากแดดให้แห้งประมาณ 2 วัน จากนั้นย่างแผ่นแป้งบนเตาถ่านจนเหลืองเป็นอันเสร็จสิ้น โดยชาวบ้านนิยมเก็บไว้รับประทานในวันสำคัญ เช่น ปีใหม่ งานบวชลูกแก้ว และงานปอยหลวง
2) ลาหู่
ลาหู่บ้านแม่แอบเคยอาศัยอยู่บนดอยในแถบชายแดนจีนติดกับเมียนมา เมื่อกองกำลังทหารจีนกองพล 93 ผ่านไปจึงได้กวาดต้อนให้เข้าร่วมเป็นกองกำลังทหารจีน และสิ้นสุดการเดินทางอยู่ที่บ้านแม่แอบเช่นในปัจจุบัน
เอกลักษณ์ของชาวลาหู่ คือการละเล่นทางวัฒนธรรมเรียกว่า เต้นจะคึ หรือ ปอย เต เว ในภาษาถิ่น เป็นการละเล่นที่บ่งบอกถึงความหลากหลายของวิถีทำมาหากิน เพราะจะเต้นในช่วงที่มีประเพณีกินวอหรือปีใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองและเป็นการกล่าวขอบคุณคนที่มาร่วมพิธีกรรม โดยจะเต้นท่าเกี่ยวข้าว ท่าตักข้าว ท่าตีข้าว ตามจังหวะกลองหรือเจะโข ฉิ่งฉาบหรือแซ และฆ้องหรือโบโลโก่ การละเล่นนี้ชาวลาหู่เรียกว่าเต้นจะคึ แต่ผู้มาเยือนอย่างเราอยากจะเรียกว่า เต้นคึก (คัก)
รวมถึงเอกลักษณ์ด้านอาหารอย่าง ข้าวปุ๊ก อาหารกินเล่นละมุนลิ้น ทำจากข้าวเหนียวตำถั่วงาในครกไม้ ทำเป็นแผ่นแบนๆ นำไปย่างไฟให้ร้อน ใส่น้ำอ้อยตรงกลางแผ่นแล้วพับครึ่ง รสชาติจะหอมทั้งงาและน้ำอ้อย และเมนูชื่อแปลก วะซาเอเดหู่กือจาเว อาหารคาวทำจากหมูสับผสมสมุนไพรใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เผาไฟจนสุก เนื้อหมูด้านในจะหอมอวล
ชนเผ่านี้จึงทั้งอิ่มและอิ่มเอมจนอยากพูดเป็นภาษาลาหู่ว่า “อะบูอื่อจา” หรือขอบคุณที่ต้อนรับคนแปลกหน้าเป็นอย่างดี
3) จีนยูนนาน
ชาวจีนยูนนานหรือจีนคณะชาติเป็นกองกำลังกองพล 93 ก๊กมินตั๋ง ของเจียงไคเช็ค ถอยร่นมาจากการต่อสู้กับกองกำลังของเหมาเจ๋อตง ระหว่างการถอยร่นนั้น ไม่ว่าจะผ่านหมู่บ้านใดชนเผ่าใดก็จะกวาดต้อนมาเข้ากองทัพหมด จนถึงทางใต้ของจีนกองพล 93 ติดตามกองทัพของ เจียงไคเช็กที่หนีไปไต้หวันไม่ทัน จึงตั้งมั่นอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
ต่อมาเมื่อประเทศไทยประสบปัญหาการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จึงได้ขอให้กองพล 93 ส่งกำลังมาช่วย 6 กองร้อย และเมื่อต่อสู้จนชนะสงคราม ทหารไทยได้ตอบแทนโดยการจัดพื้นที่จำนวน 4,000 ไร่ให้เป็นที่ทำกินซึ่งก็คือ บ้านแม่แอบ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสงครามจะสงบแล้ว แต่วัฒนธรรมการปกครองของกองทัพยังมีอิทธิพลต่อการปกครองหมู่บ้านอยู่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ใหญ่บ้านของแม่แอบจึงเป็นคนจีน (สัญชาติไทย) และเป็นผู้หญิงมาหลายยุคหลายสมัยเนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการรบ
ไม่เว้นวัฒนธรรมการกินที่หลายบ้านยังยึดถือการกินเจตลอดชีวิต ทำให้อาหารขึ้นชื่อของชาวจีนยูนนานหนีไม่พ้นน้ำเต้าหู้ ขนมไข่ ซาลาเปา ขนมข่วงมีถ่วง ขนมไข่งาขาว และผัดหมี่เหลือง นอกจากนี้ ลูกหลานชาวจีนยูนนานมักไปทำงานที่ไต้หวัน ไปเปิดบริษัททัวร์ที่ไต้หวัน แม้กระทั่งไปเป็นบุคคลระดับสูงของไต้หวัน เนื่องจากในชุมชนมีการสอนภาษาจีนตั้งแต่เด็ก และด้วยภูมิหลังเกี่ยวกับกองกำลังของเจียงไคเช็กจึงทำให้เกิดการยอมรับมาก
4) ลัวะ
พิซซ่าลัวะ อาหารชนเผ่าลัวะที่จะกล่าวถึงนี้เรียกว่า ข้าวซอยน้อย แต่เป็นข้าวซอยที่ไม่ใส่ชาม ไม่มีน่องไก่ ไม่มีหมี่เหลืองกรอบเหมือนข้าวซอยทั่วไป เพราะทำมาจากแป้งสาลีผสมพริกและเครื่องปรุงร่อนให้ทั่วถาดเหล็กรูปวงกลม โรยหน้าด้วยผักจำนวนมาก จากนั้นนำถาดเหล็กไปลอยบนน้ำเดือด ปิดฝาหม้อให้เกิดกระบวนการนึ่งและอบจนแป้งสุก
5) อาข่า
เต้นลาวกระทบไม้ หรือตาปาแตะ เป็นการละเล่นชนเผ่าที่มักทำในวันสำคัญ โดยต้องแต่งชุดอาข่าเต็มยศทั้งผู้เล่น ผู้ถือไม้ไผ่ และผู้เล่นดนตรี เนื่องจากเครื่องแต่งกายจะส่งเสียงผสานเป็นองค์ประกอบเสียงดังกรุ๊งกริ๊ง ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้ โดยนักท่องเที่ยวสามารถร่วมเล่นได้แต่ก็ไม่ง่ายที่จะข้ามให้ไม่โดนไม้กระทบเท้า
วิถีชาวอาข่าค่อนข้างเรียบง่าย สังเกตได้จากบ้านดินมุงหญ้าคาเกือบติดพื้นที่ยังมีให้เห็นจำนวนมาก ล้อมด้วยแปลงผักสวนครัว และฟืนที่แสดงให้เห็นอีกว่าหลายบ้านยังไม่ใช้ไฟฟ้าดังเช่นในอดีต
ไทใหญ่, ลัวะ (ละเวือะ), ลาหู่ทุนวัฒนธรรม
1. วัดแม่แอบดอนแก้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2483 ตั้งอยู่ในพื้นที่ 14 ไร่ มีพระธาตุดอยตุงจำลอง 1 องค์ ก่อสร้างโดยพลังความศรัทธาจากชาวบ้านแม่แอบ ปัจจุบันมีพระสงค์จำวัด โดยท่านพระครูปภาระโร เป็นเจ้าอาวาส
2. คริสตจักรแม่แอบฟื้นฟูใหม่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2522 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศาสนาคริสต์ ปัจจุบันมีคุณหวัง เป็นผู้ดูแล
3. อนุสรณ์ชุดบัญชาการ ฉก. 12 (บก. 04) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยรัฐบาลไทย เป็นกองบัญชาการและจุดประสานงานของอดีต บก.04 (ทหารบก) กับอดีตทหารจีนคณะชาติ
4. ศาลเจ้าพี่น้องชาวไตย ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยการนำของคุณพิชัย ผดุงกิจการ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของพี่น้องชาวไตยในชุมชน
5. อนุสรณ์สถานบ้านแม่แอบ ก่อสร้างอาคารเมื่อ พ.ศ. 2530 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากชาวจีนโพ้นทะเลใต้หวัน เป็นสถานที่เก็บป้ายวิญญาณของทหารจีนคณะชาติที่เสียชีวิต และผู้กล้าหาญของหมู่บ้าน
6. กองบัญชาการทหารจีนคณะชาติ (กองพล 93) เป็นอาคารอนุสรณ์ของทหารจีนคณะชาติ (กองพล 93) ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 โดยการนำของผู้พันศรี หรือคุณกลม เด่นวิภัยมาศ ผู้บัญชาการอดีตทหารจีนคณะชาติกับรัฐบาลไทยที่ทำการรบกับผู้ก่อการร้าย
7. อนุสรณ์สถาน ที่เก็บคลังอาวุธของอดีตทหารจีนคณะชาติ นำการสร้างโดยผู้พันหวู หรือคุณสมจิตร ผาติล้ำเลิศ เมื่อ พ.ศ. 2525
8. ศาลเจ้าบ้านแม่แอบ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน S M L ซึ่งมีนายพิซิต แดนเดือนเพ็ญ เป็นประธานดำเนินการ
9. โรงเรียนจีน ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสมาคมชาวจีนโพ้นทะเล (ไต้หวัน) เป็นสถานที่สอนภาษาจีนแก่บุตรหลานในชุมชนบ้านแม่แอบ มีครูทั้งหมด 8 คน ชาย 5 หญิง 3 คน มีเล่าซือหมิงหย่า แซ่ลี หรือครูนเรศ ใจมัสุขทุกาพลา เป็นครูใหญ่
10. โรงเรียนไทย ก่อสร้างอาคารถาวรเมื่อ พ.ศ. 2523 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนทั้งหมด 695 คน
การสื่อสารส่วนใหญ่เป็นชุมชนคนจีน พูดภาษาจีน ในหมู่บ้านมีทั้งโรงเรียนไทยและโรงเรียนจีน เหมือนชุมชนบ้านแม่สลอง บ้านเวียงหมอก บ้านผาตั้ง หรือบ้านเทิดไทย