Advance search

ปงสนุก

ชุมชนที่มีโบราณสถานคือวัดปงสนุกเหนือ ได้รับรางวัล Award of Merit ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก 

เวียงเหนือ
เมืองลำปาง
ลำปาง
ปวินนา เพ็ชรล้วน
12 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 ก.ค. 2023
ปงสนุก

สำหรับชื่อปงสนุก คำว่าปง คือ พง ในภาษาล้านนา หมายถึง “ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำที่มีน้ำท่วมบ้างเป็นครั้งคราว” หรือ “ดงหญ้าหรือกลุ่มต้นไม้ที่ขึ้นกันเป็นกลุ่มๆ” ส่วนคำว่าสนุก คือชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง หรืออาจจะมาจากคำว่า “สฺรณุก” ในภาษาเขมร


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่มีโบราณสถานคือวัดปงสนุกเหนือ ได้รับรางวัล Award of Merit ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก 

เวียงเหนือ
เมืองลำปาง
ลำปาง
52000
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ โทร. 0-5369-9543
18.2970551
99.4910797
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ

ชุมชนตรงนี้แต่เดิมมีชื่อว่าอะไรไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญคู่กับเมืองลำปาง ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ที่เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อ พ.ศ. 1223 หรือ 1,328 ปี ก่อน มีชื่อต่างกันถึง 4 ชื่อ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง คือ วัดศรีจอมไคล-วัดเชียงภูมิ-วัดดอนแก้ว-วัดพะยาว สุดท้ายปัจจุบัน คือ วัดปงสนุกหรือปงสนุกเหนือ

ภาษาคำเมือง ‘ปง’ หมายถึง ที่ริมนํ้า ไม่ลาดชันเป็นตลิ่ง ชื่อปงสนุกนี้มีประวัติเกี่ยวข้องกับการอพยพผู้คนในเหตุการณ์ช่วงปี พ.ศ. 2346 ที่พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพไปโจมตีเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นที่มั่นของพม่า และได้กวาดต้อนชาวเชียงแสนซึ่งเป็นชาวบ้านบ้านปงสนุกมาตั้งถิ่นฐานที่ลำปาง รวมถึงการอพยพของคนเมืองพะยาว (พะเยา) ที่หนีศึกพม่าลงมายังลำปาง ชาวปงสนุกเชียงแสนและชาวพะยาวจึงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าวังบริเวณวัดเชียงภูมิ (หนึ่งในชื่อเดิมของวัดปงสนุก) และได้นำชื่อหมู่บ้านเดิมมาเรียกขานชุมชนแห่งใหม่นี้

ชุมชนปงสนุก อยู่ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบ และที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของแอ่งกระทะหรือบริเวณ ใจกลางจังหวัดลำปาง ซึ่งสามารถจำแนกพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง คือ

  1. ฝั่งซ้าย ประกอบด้วย ตำบลสวนดอก, ตำบลหัวเวียง , ตำบลสบตุ๋ย ,ตำบลชมู , ตำบลพิชัย และตำบลพระบาท
  2. ฝั่งขวา ประกอบด้วย ตำบลเวียงเหนือ และตำบลบ่อแฮ้ว โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบดินตะกอนเก่าและที่ราบดินตะกอนใหม่ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และมีคุณภาพดี เหมาะแก่การเพาะปลูกอย่างไรก็ตาม ที่ตั้งของเทศบาลนครลำปางอยู่ในเขตใจกลางเมือง หรือมีลักษณะเป็นชุมชนเมือง ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ตั้งของที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ เป็นส่วนใหญ่ และมีเพียงบางส่วนที่อยู่นอกเขตเมืองเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อาทิ ตำบลพระบาท ตำบลชมพู เป็นต้น ในเขตเทศบาล

มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ     ติดต่อกับ ตำบลพิชัย

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลพระบาท แลตำบลพิชัย

ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ ตำบลบ่อแฮ้ว และตำบลชมู

ทิศใต้        ติดต่อกับ ตำบลพระบาท

ประชากรส่นใหญมีลักษณะการกระจายตัวอยู่ในเขตเทศบาล ลักษณะของชุมชนในเขตเทศบาลนครลำปาง เกาะกลุ่มตามแนวริมฝั่งแม่น้ำวัง และเกาะกลุ่มหนาแน่นใน 4 บริเวณ ได้แก่

1. บริเวณภายในแนวคูเมืองฝั่งทิศใต้ เป็นย่านธุรกิจการค้าหลักของชุมชน

2. บริเวณหน้าสถานีรถไฟนครลำปาง เป็นย่านพาณิชกรรมและที่อยู่อาศัย

3. บริเวณฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำวัง ภายในคูเมืองบริเวณถนนบงสนุกและถนนรัษฎาภิเศกเป็นเขตที่พักอาศัย

4. ในเขตตำบลชมพู เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเซรามิค และเป็นเขตที่พักอาศัย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

1) วัดปงสนุกเหนือ

วัดปงสนุกแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอนันตยศ ซึ่งเป็นราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) เมื่อครั้งเสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 1223 ทั้งนี้ชื่อของ วัดปงสนุก อาจฟังแล้วรู้สึกแปลกหูไปบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่าที่มาของชื่อวัดนี้ซึ่งบางตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2364 เมืองลำปางและเมืองเชียงใหม่ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน แต่เมื่อไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งได้ชาวเมืองเหล่านั้นจึงถูกต้อนมายังฝั่งเวียงเหนือของนครลำปาง โดยหนึ่งในกลุ่มชนนั้นก็มีชาวปงสนุกรวมอยู่ด้วย และขณะเดียวนั้นชาวเมืองพะเยาก็ได้อพยพมายังฝั่งเวียงเหนือเพื่ออาศัยอยู่เช่นเดียวกัน ต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบแล้วชาวพะเยาก็ย้ายกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน เหลือไว้แต่เพียงชาวปงสนุกที่ยังคงอยู่ ดังนั้นจึงได้เรียกชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านตามเผ่าพันธุ์ของตนเอง และคำว่า ปงสนุก นั้นก็หมายถึงพงศ์เผ่าแห่งความรื่นเริง วิหารพระเจ้าพันองค์ หลังนี้เองที่ได้รับรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดีเด่นจากยูเนสโก้เมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา (Award of Merit Wat Pongsanuk; Asia-Pacific Heritage Awards for Culture Herritage Conservation from UNESCO Year 2008)โดยวิหารพระเจ้าพันองค์ที่ได้รับรางวัลหลังนี้สร้างด้วยไม้ เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของประเทศ ตัวอาคารแสดงถึงการรวบรวมทั้งงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน พม่า ผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างสวยงาม โครงสร้างของวิหารมีลักษณะเป็นมณฑปเปิดโล่งตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์ พระพักตร์แต่ละองค์ก็หันออกไปยังทิศทั้งสี่ ในส่วนของหลังคามีลักษณะซ้อนกันสามชั้นซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมที่ค้ำตัววิหารก็มีลวดลายอันน่าวิจิตรปรากฏให้เห็นอยู่แทบทุกต้น และบริเวณด้านบนรอบในของตัววิหารนั้นได้รับการประดับด้วยพระพิมพ์องค์เล็กจำนวนมากถึง 1,080 องค์ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ วิหารพันองค์ ที่ใช้เรียกกันอย่างติดปาก

สิ่งก่อสร่างสำคัญภายในวัด เช่น เจดีย์ วิหารพระนอน และวิหารพระเจ้าพันองค์ ทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อน 3 ชั้น อายุกว่า 120 ปี ที่คาดว่าหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีรูปแบบงดงามและใช้เป็นแม่แบบของอาคารหลังอื่นในประเทศไทย เช่น หอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของ ครูบาโน (ครูบาอโนชัยธรรมจินดามุนี) เจ้าคณะจังหวัดลำปางรูปแรก ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งใน ‘บูรพศิลปิน’ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งพระประธานตามวัดต่าง ๆ ซึ่งมีพุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทางวัดได้รวบรวมประวัติจัดแสดงไว้อย่างน่าสนใจนอกจากนี้วัดปงสนุกยังเป็นแหล่งรวมศิลปวัตถุลํ้าค่าอีกนานัปการ ทั้งพระพุทธรูปไม้ซึ่งพบภายในห้องใต้หลังคาของวิหารพระเจ้าพันองค์ ภาพพระบฏหรือภาพเขียนบนผืนผ้าและกระดาษสาเรื่องพระเวสสันดรชาดกที่มีอายุไม่ตํ่ากว่า 120 ปี หีบธรรมโบราณของคนล้านนาที่ใช้เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก เปรียบคล้าย ๆ ตู้พระธรรมของทางภาคกลาง ธงช้างเผือกสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์หีบธรรมรัตนานุรักษ์อนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์หีบธรรมของวัดปงสนุก

ความที่วัดปงสนุกซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมเก่าแก่ของเมืองเขลางค์นครที่มีอายุกว่า 1,300 ปี และชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ในสภาพที่ไม่ต่างจากวันวาน ทางองค์การ UNESCO จึงมอบรางวัลด้านการอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Award of Merit ให้

2) วัดปงสนุกใต้

วัดปงสนุกใต้ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง วัดปงสนุกใต้ เดิมชื่อ วัดศรีจอมเมือง สร้างขึ้นพร้อมเมืองลำปาง ต่อมากลายเป็นวัดร้าง พระมหาเมืองแปงและเจ้าผู้ครองนครลำปางบูรณะสร้างขึ้นใหม่เมื่อ        พ.ศ. 2320 วัดนี้ยังเป็นที่ฝังหลักเมืองหลักแรกเมื่อ พ.ศ. 2400 ในสมัยเจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปาง ต่อมาได้รับการบูรณะและยกฉัตรขึ้นเมือง พ.ศ. 2502

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปจตุรพิธ 4 องค์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอสมุด และหอพระไตรปิฎก ปูชนียวัตถุที่สำคัญมีเจดีย์ 1 องค์ ปราสาทหรือมณฑป 1 หลัง และวิหารพระนอน 1 หลัง ลักษณะรูปทรงมณฑปหรือปราสาทเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยใหญ่ ศิลปะล้านนาผสมพม่าและจีน เป็นลักษณะรูปทรงจัตุรมุข 4 ทิศ ฝาผนังบรรจุพระพุทธรูปโลหะ 1000 องค์ มีพระประธานในมณฑปหันหน้าออกทั้ง 4 ทิศส่วนองค์เจดีย์มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส มีฐานปัทม์ย่อเก็จบนฐานเขียงชั้นล่างเหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นฐานปัทม์ทรงกลมรองรับองค์ระฆัง เหนือองค์ระฆังเป็นชั้นบัลลังค์รองรับปล้องไฉน ปลียอดประดับปลายยอดด้วยโลหะฉลุลวดลาย

3)  บ้านวงศ์พรหมมินทร์

บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้อายุกว่า 80 ปี ที่แต่เดิมเป็นบ้านของโส่ยทูล พ่อเลี้ยงปางไม้เชื้อสายพม่า

4) กาดกองต้า

กาดกองต้าหรือตลาดจีน ที่ชาวบ้านเรียกติดปาก เป็นย่านตลาดเก่าตั้งอยู่ขนานกับลำน้ำวัง ในซอยตลาดจีนริมน้ำ มีอาคารโบราณอายุเหยียบร้อยปี บนถนนตลาดเก่าตลอดทั้งสาย ชุมชนกาดกองต้าถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจ ที่มีความเป็นมาที่เก่าแก่ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ กาดกองต้า หมายถึงตลาดตรอกท่าน้ำ ในอดีตเคยเป็น ตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเมืองลำปางนั้นเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของ ภาคเหนือย่านการค้าส่วนมากมักเกิดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำวัง ทำให้เกิดชุมชนที่เข้ามาทำธุรกิจ เช่น อังกฤษ พม่า และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำการค้ามากที่สุด จนกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึง เรียกกาดกองต้าว่าตลาดจีน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จากการขยายตัวของประชากรทำให้มีการรุกล้ำที่ดินโบราณสถาน สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การจัดการโบราณสถานยุ่งยากขึ้น นอกจากนี้โบราณสถานก็ถูกดัดแปลงรื้อถอน การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ เช่น เสาไฟฟ้า การขุดท่อ บางสาวนก็เข้าไปทำลายตัวโบราณสถาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปกรณ์ วนชยางค์กูล. (2561). การจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนกาดกองต้า จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ชุมชนปงสนุกกับตำนานวัดพันปี. (2558). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.neekrung.com/journey/190

วัดปงสนุก. (2552). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/live/detail/9520000067007