ชุมชนชานเมืองที่มีการขยายอย่างรวดเร็วและเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมืองขอนแก่นในอนาคต
บริเวณที่ตั้งชุมชนมีพื้นที่เป็นป่าและมีหนองน้ำในบริเวณนั้น มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำจำนวนมาก มีนกหลากหลายชนิดและมีนกเป็ดอาศัยหนองน้ำอยู่จำนวนมาก จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านหนองนกเป็ด คือมีนกเป็ดน้ำจำนวนมากในพื้นที่นั่นเองและต่อมาจึงเรียกให้สั้นลงว่า "บ้านเป็ด"
ชุมชนชานเมืองที่มีการขยายอย่างรวดเร็วและเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมืองขอนแก่นในอนาคต
เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว บริเวณหมู่บ้านเป็ดมีภูมิประเทศเป็นป่าโดยทั่วไป ดังนั้นจึงมีสัตว์มากมายทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำอาศัยอยู่ในแถบนั้น ครั้งหนึ่งมีพรานป่าออกล่าสัตว์เดินทางไปพบหนองน้ำแห่งหนึ่งบริเวณนั้นมีสัตว์หลากหลายชนิด ที่มากที่สุดคือ นกเป็ด หรือ นกเป็ดน้ำ ชอบเกาะอยู่ตามกิ่งไม้และหากินตามชายฝั่ง นกชนิดนี้มีความสวยงามเวลาลงเล่นน้ำจะว่ายน้ำและดำน้ำได้ เวลาบินจะบินเป็นแถวสวยงามและชอบอยู่กันเป็นฝูง เมื่อพรานป่ากลับไปถึงบ้านจึงได้เล่าเรื่องราวให้ผู้อื่นฟังปรากฏว่ามีผู้คนสนใจเรื่องราวนี้มากจึงพากันมาสร้างบ้านเรือนบริเวณนี้ โดยมีผู้นำหมู่บ้านชื่อ ขุนบุษบา ผู้ที่อพยพมาอาศัยอยู่ส่วนมากมาจากบ้านพลทองซึ่งอยู่ห่างออกไป 3 กิโลเมตร ส่วนชาวบ้านพลทองนี้ตามประวัติกล่าวว่าเป็นผู้คนที่อพยพมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาตั้งบ้านคำแข้ชีหล่นก่อนย้ายมาอยู่บ้านพลทอง ในระยะของการตั้งชุมชนบ้านเป็ดช่วงแรกจะมีบ้านอยู่ประมาณ 10 หลังคาเรือน ในช่วงเวลานั้นโจรผู้ร้ายชุกชุมส่งผลให้ผู้ที่ย้ายถิ่นมาอยู่บ้านเป็ดส่วนหนึ่งเป็นผู้หลบภัยจากหมู่บ้านอื่น ๆ ด้วย เช่น จากบ้านคำไฮ และยังเป็นญาติพี่น้องของคนกลุ่มแรกที่เข้ามาทยอยอพยพตามกันมาด้วย จนทำให้หมู่บ้านขยายตัวใหญ่ขึ้นตามลำดับจนแยกหมู่บ้านเป็นบ้านโคกฟันโปงในช่วงต่อมาด้วย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2483 เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากอีกทั้งยังมีโรคไข้ทรพิษระบาดครั้งใหญ่ ชาวบ้านจึงอพยพไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นเป็นการชั่วคราวจนโรคหายระบาดจึงย้ายกลับมาที่บ้านเป็ด หนองน้ำในชุมชนชื่อว่าหนองกีเป็นหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ตั้งของศาลปู่ตา (สุกัญญา ภัทราชัย และคณะ, 2528)
ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านเป็ดนี้จะมีลักษณะเป็นเนิน โดยบริเวณใกล้สระน้ำเดิมนั้นมีเนินอยู่ 3 จุดด้วยกัน ซึ่งแยกออกเป็นแต่ละคุ้ม คือ คุ้มบ้านโนน คุ้มบ้านดอน และคุ้มบ้านแดง มีบึงกีบริเวณใกล้หมู่บ้านเป็นบึงเก่าแก่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนโบราณเรียกว่า หนองผีปัน บ้านเป็ดเคยขึ้นอยู่กับตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2527 บ้านเป็ดได้ยกขึ้นเป็นตำบล มีอาณาเขตติดกับหมู่บ้านอื่นดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลดอนแดงและตำบลศิลา
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลเมืองเก่า
- ทิศตะวันออก ติดกับ เขตเทศบาลเมืองขอนแก่น
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบ้านทุ่ม
- เดือนอ้าย : บุญข้าวกรรม
- เดือนยี่ : บุญคูนลาน
- เดือนสาม : บุญข้าวจี่
- เดือนสี่ : บุญเผวส
- เดือนห้า : บุญสงกรานต์
- เดือนหก : บุญบั้งไฟ
- เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ
- เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
- เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
- เดือนสิบสอง : บุญกฐิน
ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
การเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านเป็นเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมืองขอนแก่นที่ค่อย ๆ ขยับตัวออกจากตัวเมืองมาตามพื้นที่รอบชานเมืองต่าง ๆ รวมทั้งบ้านเป็ด อีกทั้งการตัดถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่นความเจริญเริ่มไหลบ่าออกมาภายนอก เช่น การย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งยังมีหมู่บ้านจัดสรรรายรอบบริเวณชุมชนส่งผลให้ความเป็นหมู่บ้านชนบทต้องเปลี่ยนสภาพเป็นชุมชนเมืองในปัจจุบัน
สุกัญญา ภัทราชัย, ชอบ ดีสวนโคก, สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์, วิไลวรรณ สมโสภณ, อุดม บัวศรี. (2528). องค์ประกอบในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน หมู่บ้านบ้านเป็ด ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น