ชุมชนชนบทที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน
บริเวณที่ตั้งของชุมชนมีพื้นที่ป่าโคกคือป่าดงเมืองและป่าดอนปู่ตาเป็นผืนป่าขนาดเล็ก ๆ เป็นพื้นที่ที่พบซากอิฐและเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจึงเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่เป็นบ้านเมืองก่อนแล้วจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่าดงเมืองน้อย
ชุมชนชนบทที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน
ความเป็นมาของหมู่บ้านดงเมืองน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลดงเมือง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม พื้นที่เดิมก่อนตั้งหมู่บ้านประมาณปี พ.ศ. 2452 สภาพลักษณะของภูมิประเทศเป็นป่าปกคลุม มีหนองน้ำและเป็นที่เนินดิน เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 หรือประมาณ 93 ปีมาแล้ว กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เข้ามาก่อตั้งหมู่บ้านมีทั้งหมด 5 ครอบครัว คือ ครอบครัวนายหลวงชัย ทองย่อม ครอบครัวนายจำปา มะลาวัน ครอบครัวนายจัน สีทน ครอบครัวนายปาง บ้งกาวงษ์ ครอบครัวนายวันทา คำหล้าแก้ว เป็นกลุ่มคนที่อพยพจากบ้านหัวช้าง อำเภอจตุรพักรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาได้ส่งข่าวให้กับเหล่าญาติพี่น้องให้ทราบว่ามีพื้นที่ในการตั้งบ้านใหม่ทั้งจากบ้านหัววัวพันมูล อำเภอจตุรพักรพิมาน และได้ย้ายมาอยู่พื้นที่บ้านดงเมืองน้อย ตำบลเม็กดำ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม(แต่เดิมอยู่ในการปกครองของตำบลเม็กดำ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) และต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ขึ้นกับตำบลดงบัง อำเภอพยัคภูมิพิสัย และปัจจุบันได้ขึ้นกับอำเภอยางสีสุราชซึ่งเป็นอำเภอขนาดเล็กในจังหวัดมหาสารคาม
สภาพพื้นที่ของชุมชนบ้านดงเมืองน้อยปัจจุบันเป็นพื้นที่ราบลุ่มหรือที่นามีป่าขนาดเล็กในชุมชนคือป่าดงเมืองและป่าดอนปู่ตา ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นป่าขนาดค่อนข้างใหญ่ที่ปกคลุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าและสัตว์ป่าต่าง ๆ
- เดือนอ้าย : บุญข้าวกรรม
- เดือนยี่ : บุญคูนลาน
- เดือนสาม : บุญข้าวจี่
- เดือนสี่ : บุญเผวส
- เดือนห้า : บุญสงกรานต์
- เดือนหก : บุญบั้งไฟ
- เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ
- เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
- เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
- เดือนสิบสอง : บุญกฐิน
อาชีพเสริมที่คนในชุมชนบ้านดงเมืองน้อยนิยมประกอบเพื่อหารายได้หลังจากการทำนาคือ อาชีพเจียระไนพลอย ซึ่งเป็นอาชีพของคนในพื้นที่อำเภอยางสีสุราชหลายหมู่บ้าน ส่วนใหญ่คนในชุมชนบ้านดงเมืองน้อยจะเป็นช่างเจียระไน โดยรับพลอยมาจากพ่อค้าคนกลางบ้านหนองหน่องและบ้านยางสีสุราชโดยรับมาทำการเจียระไนที่บ้านของตนเอง
ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
ศศิมา วิริยะ. (2545). รายงานการจัดทำแผนแม่บทบ้านดงเมืองน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลดงเมือง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม. สาขาการจัดการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม