หมู่บ้านจัดการสุขภาพ
“สันป่าบง” มาจากเป็นพื้นที่เดิมของหมู่บ้านรกร้างเต็มไปด้วยป่าไม้นานาพรรณ ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้แงะ ไม้เปา ไม้ประดู่ และไม้หลายชนิดโดยเฉพาะไม้ไผ่ ไม้บง ซึ่งจะขึ้นแถวนี้จำนวนมาก ที่ตั้งถิ่นฐานเชิงเขาเป็นเนิน จึงตั้งชื่อว่า "สันป่าบง"
หมู่บ้านจัดการสุขภาพ
จากเอกสารความเป็นมาของหมู่บ้าน เอกสารความเป็นมาตำบลสันป่าม่วงและการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน (นายมูล งานดี อายุ 84 ปี, นายโล มูลงาม อายุ 76 ปี, นางจ้อย มูลงาม อายุ 74 ปี) ได้เล่าว่าเดิมทีบ้านสันป่าบงเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านสันป่าม่วง ตำบลบ้านต๋อม อ.พะเยา จังหวัดเชียงราย เป็นตำบลที่มีการยุบรวมกับตำบลอื่นและแยกเป็นตำบลขึ้นหลายครั้ง คำว่า “สันป่าบง” มาจากเป็นพื้นที่เดิมของหมู่บ้านรกร้างเต็มไปด้วยป่าไม้นานาพรรณ ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้แงะ ไม้เปา ไม้ประดู่ และไม้หลายชนิดโดยเฉพาะไม้ไผ่ ไม้บง ซึ่งจะขึ้นแถวนี้จำนวนมากและพื้นที่หมู่บ้านสันป่าม่วงหมู่ 8 ดั้งเดิมเป็นพื้นที่ราบกว้างปกคลุมไปด้วยไม้ใหญ่และป่าละเมาะ มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นหย่อม ๆ กระจายอยู่ทั่วไป (อ้างอิงจาก : นายมูล งานดี อายุ 84 ปี, นายโล มูลงาม อายุ 76 ปี, นางจ้อย มูลงาม อายุ 74 ปี)
ประมาณปี พ.ศ. 2415 มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งอพยพหนีความแห้งแล้งมาจากบ้านบ่อแป้น อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง โดยมีนายวัน (ยังไม่มีนามสกุล) เป็นผู้นำมาบุกเบิกถางพื้นที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ทำกิน ต่อมาได้มีญาติและเพื่อนมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอัมพวัน ซึ่งคำว่า “อัมพวัน” มีความหมายว่า ป่ามะม่วง มาจากพื้นที่เดิมของตำบลแห่งนี้มีต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก และมีต้นขนาดใหญ่เรียงรายกันอยู่อีก 7 ต้น ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านดังกล่าวว่า บ้านสันป่าม่วง ต่อมาชาวบ้านอัมพวันได้รวมตัวกันสร้างอารามขึ้นในหมู่บ้าน ตั้งชื่อว่า วัดอัมพวัน โดยมีเจ้าอาวาสองค์แรก คือ พระคำอ้าย เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาไม่ปรากฏ พ.ศ. มีพระจากบ้านทุ่งพริก อำเภอดอกคำใต้ คือ พระอภิวงค์ ไม่ทราบฉายามาเป็นเจ้าอาวาสและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชัยมงคล พร้อมกับแต่งตั้งลูกศิษย์เป็นผู้นำหมู่บ้านขึ้นเป็นคนแรก คือ ขุนม่วง คามะณี (ขุนมอย)
พ.ศ. 2450 มีชาวบ้านอยู่สองครอบครัวโดยมีครอบครัวของนายทา และนางยอด ยังไม่มีนามสกุล กับครอบครัวของนายฟั่นและนางเป็ง ยังไม่มีนามสกุล ได้พาครอบครัวย้ายจากหมู่บ้านสันป่าม่วง เดินทางไปหาแหล่งทำกินและเลี้ยงสัตว์แหล่งใหม่ คือ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ทำนาข้าวเมื่อเดินทางหาแหล่งทำกินได้เห็นว่าพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านสันป่าบงปัจจุบัน เป็นที่ราบเชิงเขา โดยที่ภูเขาสูงล้อมรอบทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ และแหล่งน้ำจำนวนมากจึงได้ตั้งครอบครัวอยู่พื้นที่นี้ โดยมาถากถางป่าไม้บางส่วนและสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่แห่งนี้โดยครอบครัวของ นายทา นางยอด ยังไม่มีนามสกุล มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน และครอบครัวนายฟั่น นางเป็ง (ได้นามสกุลคือ เทพสืบ) มีบุตรชายกับบุตรสาวด้วยกันจำนวน 5 คน ครอบครัวทั้งสองฝ่ายมีการแต่งงานอยู่กินกันจึงได้มีครอบครัวขยายออกไปประมาณ 10 ครัวเรือน และเมื่อมีครอบครัวขยายเพิ่มมากขึ้น จึงได้แต่งตั้งให้นายทา ทาวงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชนตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2457 ครอบครัวของนายทาและนางยอด ได้จัดตั้งใช้นามสกุล ทาวงศ์ ครอบครัวนายฟั่นและนางเป็ง ได้จัดตั้งใช้นามสกุล เทพสืบ
พ.ศ. 2457 ได้ยุบตำแหน่งเจ้าผู้ปกครองเมืองมาใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทน ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิม แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกเป็น ตำบล หมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้า ตำบลว่า “เจ้าแคว่น” “แคว่น” (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้าน “แก่บ้าน” (ผู้ใหญ่บ้าน) ปัจจุบันนิยมเรียกผู้ใหญ่บ้านว่า “พ่อหลวง”และเมื่อมีชุมชนขยายมากขึ้น จึงได้แต่งตั้งให้นายทา ทาวงค์ เป็นแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชนตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2457 (พระธรรมวิมลโมลี, 2546)
พ.ศ. 2460 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการแบ่งการปกครองออกเป็นภูมิภาค ในหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ตั้งชุมชนแห่งนี้ ทางราชการได้รวบรวมแต่ละหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็นตำบล โดยบ้านสันป่าบง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ 16 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย และได้เริ่มแต่งตั้งให้มีผู้ใหญ่บ้านสันป่าบงเป็นครั้งแรก จากที่มีการขยายของครอบครัวมากกว่า 10 ครัวเรือน โดยมีนายทา ทาวงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
พ.ศ. 2469 มีการสร้างโรงเรียนประชาบาล (สันป่าม่วง) โดยมีนายอินตา ธุระงาน มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรก
พ.ศ. 2482-2488 เป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ได้เล่าว่าเดิมทีบ้านสันป่าบงเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม จากการวางระเบิดของทหารชาวญี่ปุ่น ชาวบ้านในหมู่บ้านจะมีการขุดหลุมหลบภัย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คะตุก” เป็นการขุดหลุมดินที่มีความยามมากกว่า 5 เมตร เพื่อให้คนสามารถเข้าไปหลบภัยได้ทีละหลาย ๆ คน หากมีการวางระเบิดจะมีการประกาศจากผู้ใหญ่บ้านให้มีการหลบเข้าหลุดหลบภัย เพื่อความปลอดภัยทุกคนจะหลบอยู่ในนั่นจนกว่าเสียงระเบิดจะหมดไป ระหว่างการสงครามก็มีการเกิดโรคระบาด เช่น โรคอหิวาตกโรค แต่บ้านสันป่าบงไม่มีการระบาดของโรค (อ้างอิงจาก : พ่อตาศรีมูล อายุ 85 ปี)
ในปี พ.ศ. 2482-2488 เป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ได้เล่าว่าเดิมทีบ้านสันป่าบงเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม จากการวางระเบิดของทหารชาวญี่ปุ่น ชาวบ้านในหมู่บ้านจะมีการขุดหลุมหลบภัย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คะตุก” เป็นการขุดหลุมดินที่มีความยามมากกว่า 5 เมตร เพื่อให้คนสามารถเข้าไปหลบภัยได้ทีละหลาย ๆ คน หากมีการวางระเบิดจะมีการประกาศจากผู้ใหญ่บ้านให้มีการหลบเข้าหลุดหลบภัย เพื่อความปลอดภัยทุกคนจะหลบอยู่ในนั่นจนกว่าเสียงระเบิดจะหมดไป ระหว่างการสงครามก็มีการเกิดโรคระบาด เช่น โรคอหิวาตกโรค แต่บ้านสันป่าบงไม่มีการระบาดของโรค (อ้างอิงจาก : พ่อตาศรีมูล อายุ 85 ปี)
ในปี พ.ศ. 2485 โดยมีการปกครองของตำบลบ้านต๋อม โดยมีขุนม่วง คามะณี (ขุนมอย) เป็นแคว่น (กำนัน) คนแรก โดยอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านต๋อม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ 16 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย คนที่สองคือ นายใจ๋มา เดชใจ ต่อมาอีก 4 ปีคือปี พ.ศ.2489 ได้ยุบรวมตำบลสันป่าม่วงมาขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านต๋อม
พ.ศ. 2520 โดยที่ท้องที่จังหวัดเชียงรายมีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ได้แยกอำเภอพะเยา อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน ออกจาการปกครองของจังหวัดเชียงราย รวมถึงพะเยาได้การยกฐานะจากอำเภอพะเยา ขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 และได้มีการตั้งชื่อตำบลและชื่อหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ตั้งชื่อตามลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้านโดย หมู่บ้านมีชื่อว่า บ้านสันป่ากอก
พ.ศ. 2520 เป็นการจัดโครงสร้างพื้นฐานของการสาธารณสุขมูลฐาน 8 องค์ประกอบ (งานสุขศึกษา งานโภชนการ งานอนามัยแม่และเด็กและการวางแผนครอบครัว งานสุขาภิบาลและการจัดหาน้ำสะอาด งานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค งานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อประจำท้องถิ่น งานรักษาพยาบาลเบื้องต้น และงานจัดหายาที่มีความจำเป็น) มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นครูฝึกสาธารณสุขมูลฐาน คัดเลือกและฝึกอบรม ผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข (ผสส.) ในชุมชนบ้านสันป่าบงมี ผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข (ผสส.) คนแรกของหมู่บ้าน คือ นายฮอด ใจกล้า โดยมีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขมูลฐานในหมู่บ้าน (กองสนับสนุนสุขาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, 2557)
พ.ศ. 2522 บ้านสันป่ากอกเปลี่ยนชื่อเป็นสันป่าบง จนถึงปัจจุบัน โดยมีความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน เดิมหมู่บ้านมีชื่อว่าบ้านสันป่ากอกเนื่องจากบริเวณดั้งเดิมมีป่ามะกอกอยู่จำนวนมาก โดยคำว่า “สัน” หมายถึง เนินเขา หรือบริเวณที่ไม่เรียบมีลักษณะโค้งนูน และคำว่าป่ากอก คือ ป่ามะกอกที่มีอยู่ในหมู่บ้าน และมีจำนวนมากจนกระทั่งมีลักษณะเด่นจึงเรียกว่า สันป่ากอก ซึงในสมัยก่อนนั้นจะมีการตั้งครัวเรือนห่างกัน คือบางครัวเรือนตั้งอาศัยอยู่ในบริเวณติดกับภูเขา (ในบริเวณติดกับ วัดอนาลโยทิพยาราม ในปัจจุบัน) และบางครัวเรือนตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านสันป่าบงในปัจจุบัน หลังจากนั้นกาลเวลาเปลี่ยนไปชาวบ้านได้มีการถางป่าทำเป็นที่ดินทำกินจึงทำให้เป็นป่ามะกอกจึงเริ่มหายไป จนเหลืออยู่จำนวนไม่มาก จนกระทั่งชาวบ้านได้สังเกตพบว่า ในหมู่บ้านมีต้นไผ่หรือต้นบงอยู่เป็นกอใหญ่ บริเวณหน้าบ้านอยู่แทบทุกครัวเรือนจึงได้ปรึกษาหารือกันปรับเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ โดยเรียก ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านสันป่าบง (ไม่ปรากฏปี พ.ศ.) ในปีเดียวกัน เกิดโรคระบาด คือ โรคอหิวาตกโรค และมาลาเรียแต่เกิดบริเวณนอกพื้นที่ของหมู่บ้านสันป่าบง ไม่มีการระบาดภายในชุมชน
พ.ศ. 2523 มีไฟฟ้าขยายเข้ามาถึงหมู่บ้าน
ในปี พ.ศ. 2524 มีการเรียนรู้การสานผักตบชวา มีการคัดเลือกตัวแทน เพื่อไปเรียนการสานผักตบชวาที่มูลนิธิศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และเกิดกลุ่มจักสารผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาขึ้นในชุมชน ในปีนี้มีทีวีเครื่องแรก และมีคนในหมู่บ้านป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรีย
พ.ศ. 2528 มีการสร้างวัดอนาลโยขึ้น โดยมีหลวงพ่อไพบูลย์เป็นผู้สร้างซึ่งเป็นที่เลื่องลือ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือคือ หอพระแก้ว และสังเวชนียสถานทั้งสี่ พระเจ้าทันใจที่บนเขาตีเพชร ตลอดถึงพระตำหนัก และสมโภชน์ชื่อวัดว่า “วัดอนาลโยทิพยาราม”
พ.ศ. 2535 เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล เจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยารามได้บริจาคที่ดินของวัดให้ทางราชการ จำนวน 7 ไร่ เพื่อสร้างสถานีอนามัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานนามว่า “สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อนาลโย” ปัจจุบันตั้งอยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 6 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและการสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ได้เปิดบริการให้ประชาชนในตำบลสันป่าม่วงและตำบลใกล้เคียงมี นางอุบล ปันแก้ว เป็นหัวหน้าสถานีอนามัย
วันที่ 8 มิถุนายน 2536 ตั้งตำบลสันป่าม่วง แยกออกจากตำบลบ้านต๋อม บ้านสันป่าบง ได้ปรับเป็นหมู่ 6 ตำบลสันป่าม่วง
พ.ศ. 2538 สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อนาลโย ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนในตำบลสันป่าม่วงและตำบลใกล้เคียงและมีนางอุบล ปันแก้วเป็นหัวหน้าสถานีอนามัย
พ.ศ. 2554 ตำบลสันป่าม่วงได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลสันป่าม่วง โดยมีนาย สมชาย จินะ เป็นนายกเทศมนตรี และกลุ่ม อสม.บ้านสันป่าบง ม.6 จัดทำโครงการฯ ของงบประมาณ กองทุนสุขภาพตำบลมีสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อนาลโยเป็นพี่เลี้ยง โดยจัดกระบวนการแก้ปัญหาในชุมชนของแกนนำได้ตกลงร่วมกันแก้ไขปัญหา มีกระบวนการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 1 แก้ปัญหากันเองไปก่อน จากข้อสรุปของแกนนำตัวแทนแต่ละหมู่บ้านมีมติให้หมู่บ้านที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูงเกินมาตรฐาน แต่ละหลังคาเรือนแก้ปัญหากันเอง ในเรื่องน้ำดื่มไปก่อน ส่วนน้ำใช้หุงต้มอาหารและแช่ข้าวให้ไปใช้บ่อน้ำตื้นหลังคาเรือนใกล้เคียงที่ปริมาณฟลูออไรด์ต่ำไปใช้ ระยะที่ 2 หาทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งจะต้องมีองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายเข้าร่วม การพัฒนาบ่อน้ำตื้นที่มีฟลูออไรด์ต่ำ เพื่อการบริโภคได้ประสบการณ์การส่งตรวจบ่อน้ำตื้นส่วนใหญ่จะไม่มีปริมาณฟลูออไรด์ ถึงจะมีก็ต่ำกว่าน้ำประปา และมีบางบ่อมีปริมาณฟลูออไรด์อยู่ในระดับที่ปลอดภัย จึงเล็งเห็นว่ามีความปลอดภัยในเรื่องฟลูออไรด์ น้ำบ่อน่าจะเป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ที่ดีกว่าน้ำประปาที่มีฟลูออไรด์สูง บางบ่อในหมู่บ้านไม่ได้ใช้มาเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการดูแล ปล่อยให้สกปรก น่าจะนำมาปรับปรุงคุณภาพของน้ำบ่อให้ใช้ได้ต่อ สามารถให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงร่วมใช้ได้ด้วยการใช้น้ำฝน การเลือกบริโภคน้ำฝนเป็นวิธีการที่เหมาะสมอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากมีประมาณฝนตกเพียงพอ และในบางปีอาจจะไม่พอกับความต้องการ ซึ่งใช้ร่วมกับน้ำดื่มบรรจุขวดได้บริโภคน้ำดื่มบรรจุขวด การดื่มน้ำบรรจุขวดผ่านการกรองจากเครื่องกรองระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส (Reverse Omosis System) หรือ ระบบ อาร์. โอ. (RO) ของหมู่ที่ 4 ตำบลสันป่าม่วง มีปริมาณฟลูออไรด์ น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/ลิตร มีความสะดวกและราคาไม่แพงมากในตอนแรก ๆ แต่ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายประจำเดือนของครอบครัวมากขึ้น การขุดเจาะหาแหล่งน้ำใหม่ เป็นการหาแหล่งน้ำใหม่เป็นแหล่งน้ำตื้น ระยะที่ 3 จัดหางบประมาณ เป็นกระบวนทางานที่จะต้องใช้เวลา และหลายฝ่าย หลายระดับร่วมกันการแก้ปัญหา
ในปี พ.ศ. 2555-2556 เทศบาลตำบลสันป่าม่วงได้เห็นปัญหา และผลกระทบจากฟลูออไรด์ ได้พัฒนาตำบลสันป่าม่วง 3 ปี ในการจัดการปัญหาเรื่องน้ำดื่ม
พ.ศ. 2557 เมื่อเดือนเมษายน สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อนาลโย ได้ให้ อสม. และแกนนำ เก็บรวบรวมข้อมูล และคัดกรองเกี่ยวกับอาการ และการเกิดโรคที่เกิดจากการได้รับผลกระทบจากฟลูออไรด์ คือ ฟันตกกระ ในระดับ 2 หรือ 3 กระดูกโค้ง คดงอ มีการคัดกรองว่ามีมากน้อยเพียงใด ในกลุ่มอายุเท่าไร และยังมีการประสานความร่วมมือในส่วนของทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศเข้ามาช่วยทำพิกัดทันตฟลูออร์ไรด์ หาภาชนะบรรจุน้ำให้ในทุกครัวเรือน และยังได้ความร่วมมือจากเทศบาลตำบลสันป่าม่วงเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการโรงผลิตน้ำดื่มที่ได้ระดับมาตรฐาน ได้รับการถ่ายทาโทรทัศน์ รายการสารคดีฟลูออร์ไรด์ จากทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ประชาชนจึงได้รู้จักฟันตกกระ ฟันหักกร่อน หระดูกผิดรูป และได้ปรับเปลี่ยนการบริโภคน้ำจากบ่อตื้น น้ำประปา มาเป็นน้ำฝน ต่อยอดศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพช่องปากให้เป็นศูนย์การคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาทักษะความรู้ด้านเครื่องสำอาง ยา และอาหารปลอดภัย
ในปี พ.ศ. 2558-2559 มีการจัดการเรื่องปัญหาฟลูออไรด์จากการทำงานวิจัย เรื่อง แนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาฟลูออร์ไรด์ในน้ำดื่มสูงเกินมาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนบ้านสันป่าบง ของ อสม. ภายในชุมชนร่วมกับ ประชาชนในชุมชน สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี อนาลโย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา ได้รับการสนับสนุนงบประมานจากเทศบาลตำบลสันป่าม่วง และสำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จนได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นในเวทีชุมชนวิจัย รากฐานใหม่แห่งการเรียนรู้ ปี 2560 ชุมชนเกิดการเรียนรู้กระบวนการแก้ไขปัญหาชุมชนเอง
พ.ศ. 2560 เริ่มมีการผลักดันการแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์ในน้ำดื่มสูงเกินค่ามาตรฐานสู่นโยบายสาธารณะ โดยมีการจัดสร้างแท้งน้ำขนาดใหญ่เก็บกักน้ำดิบ จัดสรรงบประมาณทำระบบท่อประปาภูเขาสู่หมู่บ้าน ได้รับงบประมาณจากกองทุนประชารัฐตำบลละ 5 ล้าน ผ่านเวทีประชาคมโดยเทศบาลตำบลสันป่าม่วง ประชาชนมีน้ำบริโภคที่ปลอดสารฟลูออไรด์ในน้ำและยังสามารถขยายผลสื่อสารไปยังตำบลข้างเคียงได้ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์ในน้ำดื่มสูงเกินมาตรฐานที่ยั่งยืน
รายนามผู้ใหญ่บ้านสันป่าบง หมู่ที่ 6
- นายหน้อยทา ทาวงศ์
- นายฟั่น เทพสืบ
- นายตุ้ม เลาสัตว์
- นายตา วงค์ฟู
- นายทอง พรมแก้ว
- นายเจริญ เครื่องสนุก
- นายจันทร์ เครื่องสนุก
- นายถึง สร้อยวงค์
- นายชาติชาย วงศ์ไชยา (ปัจจุบัน)
บ้านสันป่าบง เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ของเทือกเขาดอยหลวง พื้นที่ของหมู่บ้านมีทั้งหมด 2,816 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นพื้นที่ของวัดอนาลโยประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณะทั่วไปของพื้นที่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งนา เต็มไปด้วยพืชพรรณทางการเกษตร เช่น ข้าว กระเทียม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคือ อาชีพ เกษตรกร คือ การทำนา และมีแม่น้ำแม่ต๋อมซึ่งมีต้นน้ำที่ดอยผาช้างมูบ และเส้นทางน้ำได้ไหลผ่านพื้นที่ทางการเกษตร ไหลไปตามเส้นทางน้ำผ่านที่บ้านต๋อม ลงสู่กว๊านพะเยา ประชาชนในหมู่บ้านใช้น้ำจากแหล่งน้ำแม่ต๋อมสำหรับการเกษตร สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นปูน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้ว เพื่อแสดงขอบเขตของบ้านแต่ละหลัง และมีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันมีความมั่นคงถาวร การตั้งบ้านเรือนตั้งตามถนนภายในหมู่บ้านที่แบ่งเป็น 3 ซอย คือซอย 1 ถึง ซอย 3 ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเสาไฟฟ้าและไฟกิ่ง ตั้งแต่เริ่มมีถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และไฟฟ้าใช้ภายในหมู่บ้านทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสันป่าม่วง หมู่ที่ 5 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสันบัวบก หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสันป่าม่วง หมู่ 8 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่ต๋อมใน หมู่ที่ 7 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ประชากรบ้านสันป่าบง หมู่ที่ 6 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีจำนวน 86 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 326 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศหญิง จำนวน 164 คน เพศชาย จำนวน 162 คน
รายชื่อผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
1. นายชาติชาย | วงศ์ไชยา | ผู้ใหญ่บ้าน |
2. นางพนิดา | พันธ์พืช | ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน |
3. นายอินตา | เทพสืบ | ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน |
4. นายกมล | ชัยญาโส | ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน |
คณะกรรมการหมู่บ้าน
1. นายแก้วมูล | คำมูล | ประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน |
2. นายทองสุข | เมืองคำ | รองประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน |
3. นายนายเกรียงไกร | เครื่องสนุก | เลขานุการคระกรรมการหมู่บ้าน |
4. นายสมาน | ดวงไชยา | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
5. นายสมาน | อ้อยกาม | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
6. นายอินตา | เทพสืบ | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
7. นายสองเมือง | เพตรา | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
8. นายแก่น | ขันพิมัย | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
9. นายสมศักดิ์ | เครื่องสนุก | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
กลุ่มอาสาสมัครตำรวจบ้าน (สตบ.) : นายชาติชาย วงศ์ไชยา ประธานกลุ่มอาสาสมัครตำรวจบ้าน
กลุ่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) : นายชาติชาย วงศ์ไชยา ประธานกลุ่มอาสาสมัคร
กลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) : นายสมชาย จินะ (นายกเทศบาลตำบลสันป่าม่วง) ประธานกลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
กลุ่มออมทรัพย์เงินล้าน : นายจันทร์ เครื่องสนุก ประธานกลุ่ม
กลุ่มการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล : นายสมชาย จินะ ประธานคณะกรรมการศูนย์ฯ
กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางพยอม วงศ์ไชยา ประธานกลุ่ม
สภาพทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : เกษตรกรรม (ทำนา)
- อาชีพเสริม : ปลูกหอม-กระเทียม, รับจ้างทั่วไป, ค้าขาย, สานผักตบชวา
- รายได้ของประชาชน : ทำนา, ปลูกกระเทียม, ค้าขาย, เบี้ยยังชีพ, รับจ้างทั่วไป, เบี้ยยังชีพ, เงินจากลูกหลาน, หัตถกรรม (จักสานผักตบชวา), รับราชการ
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าหวย, ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีทางการเกษตร, ค่าบุหรี่ - สุรา
- หนี้สินประชาชน : หนี้ ธกส., หนี้กองทุนหมู่บ้าน
- พืชและสัตว์ที่ปลูกและเลี้ยง : พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว, หอม, กระเทียม, ผักสวนครัว
วัฒนธรรม ประเพณี แบบล้านนา
ความเชื่อ
การเลี้ยงปู่ย่า บ้านสันป่าบง หมู่ที่ 6 มี 1 ครัวเรือน จุดมุ่งหมายสำคัญของการเลี้ยงผีปู่ย่า คือ การรักษาความสัมพันธ์ ความผูกพันและความกลมเกลียวของเครือญาติ ระบบเครือญาติ ระบบเครือญาติเป็นการนับถือตามญาติของฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายชายเมื่อแต่งงานเข้ามาอยู่ในตระกูลต้องนับถือผีปู่ย่าด้วย ถึงแม้ว่าตามระบบกฎหมายของรัฐเป็นการยอมรับระบบนามสกุลของฝ่ายชายก็ตาม การเลี้ยงผีปู่ย่าจัดขึ้นในวันที่ 13 ค่ำ เดือน 9 (เหนือ) หรืออาจเลี้ยงในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เหนือ) ตามที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนปัจจุบันแม้ความเชื่อเรื่องผีเริ่มลดลงไปบ้าง แต่วิถีชีวิตของประชาชนหมู่บ้านสันป่าบงก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับภูตผีปีศาจ โดยผู้เฒ่า คนแก่ในครอบครัวเป็นผู้สืบทอดความเชื่อนั้นมาสู่รุ่นหลานเช่น การสังเวยผีหรือที่ในภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “การเลี้ยงผี” แต่ละเก๊าผี (ต้นตระกูลผีบรรพบุรุษ) ก็แจ้งให้เครือญาติผีเดียวกันทราบเครือญาติก็จะมีการรวมกลุ่มรวมทั้งผู้ที่ไปทำงานต่างถิ่นก็จะกลับมาบ้าน ในช่วงที่มีการเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นการรวมเครือญาติ และช่วยกันจัดข้าวปลาอาหาร โดยอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรม จะประกอบด้วย ไก่ต้ม 1 คู่ เหล้าขวด 1 ขวด ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้นสัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ สุนัข แมว หมู ไก่ วัว
แหล่งน้ำสาธารณะ มี 1 แหล่ง ประชาชนใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแม่ต๋อมในการเกษตร น้ำ แม่ต๋อมจะไหลผ่านร่องนาของประชาชนในหมู่บ้านซึ่งก่อนจะเป็นอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเทศวิหาร กรุงเทพเป็นองค์ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ที่วัดอนาลโย ฯ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2525 เวลา 12.25 น. และได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีอุปสรรคสำคัญอยู่ประการหนึ่งที่ทำให้ทางวัดต้องขบคิดหนัก คือ “การขาดแคลนน้ำ” ระหว่างที่ท่านกำลังครุ่นคิดหาแนวทางแก้ไข วันหนึ่งท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ ได้รับอาราธนานิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในบรมมหาราชวัง ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมถึงท่านอาจารย์ทรงมีพระราชปฏิสัณถาร “ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ได้ไปสร้างสำนักสงฆ์บนเขาสูงที่จังหวัดพะเยาทางฟากกว๊าน คงจะขาดแคลนน้ำ ไม่เป็นไร ผมจะปรึกษากรมชลประทานให้” จึงได้เกิดอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อมขึ้นมา
วัดสันป่าม่วง อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์รุ่นที่ 20 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา จากการสัมภาษณ์นายทองดี การเร็ว ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว ได้เล่าว่า เดิมที่มีชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นมาจากทุ่งบ่อแป้น อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ชื่อว่านายวัน (ไม่ทราบนามสกุล) โดยพาครอบครัวอพยพย้ายถิ่นเพื่อหาแหล่งทำมาหากินและเลี้ยงสัตว์แหล่งใหม่ คือเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ทำนาข้าว เมื่อเดินทางหาแหล่งทำกินได้เห็นว่าพื้นที่บริเวณที่เป็นหมู่บ้านสันป่าบง ปัจจุบันเป็นที่ราบเชิงเขา โดยที่ภูเขาสูงล้อมรอบทางทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ และแหล่งน้ำจำนวนมากจึงได้ตั้งถิ่นฐานเป็นครอบครัวแรกต่อมาได้มีญาติพี่น้องตามมาอีกมากทำให้มีครัวเรือนขยายเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในละแวกนั้นต้องการหาแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจประจำหมู่บ้าน ทำให้นายวัน (ไม่ทราบนามสกุล) ได้เป็นแกนนำในการสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นในปี พ.ศ. 2415 โดยประชาชนได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สิน เงินทองและแรงงาน ช่วยกันสร้างวัดขึ้นจนสำเร็จ และได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดอัมพวัน” ซึ่งตั้งชื่อตามบุคคลที่ที่มาก่อตั้งหมู่บ้านเป็นบุคคลแรกคือ นายวัน (ไม่ทราบนามสกุล) หลังจากนั้นเมื่อนายวัน (ไม่ทราบนามสกุล) ได้เสียชีวิตเป็นระยะเวลานานทำให้ประชาชนในหมู่บ้านไม่รู้จักชื่อของนายวัน (ไม่ทราบนามสกุล) จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อของวัดอัมพวันโดยปรับเปลี่ยนเป็น “วัดชัยมงคล” เพื่อขอรับพระราชทานวิสูงคามสีมา ในสมัยพระศรีหมุด ญาณพุทโธ เป็นเจ้าอาวาสวัด หลังจากนั้นจึงได้มีพิธีฝั่งหินพัทธสีมาขึ้น จึงทำให้สามารถทำพิธีอุปสมบทขึ้นได้ หลังจากนั้นกาลเวลาผ่านไปทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อวัดดังกล่าวให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสันป่าม่วง” มาจนถึงปัจจุบัน
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
ในอดีตการดูแลสุขภาพเป็นลักษณะธรรมชาติ การรับประทานอาหารต่าง ๆ ได้มาจากธรรมชาติในหมู่บ้าน ในป่าและแหล่งน้ำการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร ไม่ได้ซื้อขายกัน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะดูแลกันในครอบครัว เครือญาติ ในช่วงแรก ๆ ในหมู่บ้านจะมีหมอรักษาทางไสยศาสตร์หมอพื้นบ้านที่รักษาด้วยสมุนไพรต่าง ๆ และมีพิธีกรรมการรักษา เช่น การเป่า การแหก กระสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา เลี้ยงผี การรับบริการสาธารณสุขน้อยมาก เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเนื่องจากไม่มีถนนตัดผ่านและฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี หากต้องการไปใช้บริการสาธารณสุขต้องขึ้นเรือข้ามฟากไปอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นการลำบากของชาวบ้าน
ปัจจุบันชาวบ้านเล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อมีการคมนาคมสะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการซื้อขายกันมากขึ้น มีอาหารแปลก ๆ ใหม่ ที่ไม่เคยได้รับประทานเริ่มเข้ามามากขึ้น มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่าง ๆ ทำให้เกิดการเจ็บป่วย และประกอบกับการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ซื้อมาจากตลาดมากขึ้น ไม่ได้ปลูกหรือผลิตเอง ขณะเดียวกันก็มีการร่วมกิจกรรมชุมชนมากขึ้น ทำให้มีการดื่มสุรา ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีโรคดังกล่าว
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านสันป่าบง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
kanokwan.a. (2559, 7 มิถุนายน). งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่นโยบายสาธารณะ ตำบลสันป่าม่วง. [วิดีโอ]. ยูทูบ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/
สำนักงานจังหวัดพะเยา. (2556). ประวัติศาสตร์จังหวัดพะเยา. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 สืบค้นจาก http://www.phayao.go.th/