Advance search

ปลูกป่า บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ (น้ำแม่ปืม) และหนองเล็งทราย

หมู่ที่ 1
บ้านเหล่าอ้อย
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
ศศิธร ปัญจโภคศิริ
30 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
9 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
28 ก.ค. 2023
บ้านเหล่าอ้อย

ชาวบ้านสมัยนั้นนิยมปลูกอ้อย เคี่ยวน้ำอ้อยขายเป็นอาชีพเสริม โดยขายในราคากิโลกรัมละ 2 สตางค์ หมู่บ้านจึงมีชื่อเรียกว่า บ้านเหล่าอ้อย


ปลูกป่า บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ (น้ำแม่ปืม) และหนองเล็งทราย

บ้านเหล่าอ้อย
หมู่ที่ 1
บ้านเหล่า
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.35223889
99.83782902
เทศบาลตำบลบ้านเหล่าอ้อย

ปี พ.ศ. 2445 ยังไม่มี พรบ.นามสกุล และได้มีครอบครัวที่อพยพมาทั้งหมด 9 ครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวที่ 1 นายมูล นางปุก นายสาร นางเกี้ยว ชาวบ้านหนองแหวน ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และครอบครัวที่ 2 พญาจุมปู แม่พญาคา บ้านผึ้งนาเกลือ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ครอบครัวที่ 3 นายนะ นางนา จากบ้านปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ได้นำลูกหลานอพยพหนีความแห้งแล้ง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเหล่าหลวง ตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านเหล่าใหม่” สาเหตุที่เรียกชื่อว่าบ้านเหล่า ก็คือแต่แรกมีแต่ป่าไม้เป็นเหล่าเป็นกอ ป่าไม้ก็เยอะ และป่าละเมาะ เป็นแหล่งสัตว์ป่า เสือ ช้าง หมาป่า เป็นที่น่ากลัว (สมัยนั้นมีการไล่ล่า เป่าดอก) หรือล่าสัตว์นั้นเอง บ้านเหล่าใหม่ขึ้นกับการปกครองของนายผัด (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลใจใต้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ต่อมามีครอบครัวที่ 4 ของนายเมา-นางพา บ้านผึ้งนาเกลือ ครอบครัวที่ 5 นายท่อน-นางคำ จากบ้านป่าจ๊ำ ครอบครัวที่ 6 นายมูล-นางก๋องแก้ว จากบ้านวังพร้าว ครอบครัวที่ 7 นายต๊ะ-นางแจ้น ครอบครัวที่ 8 นายมี-นางคำ จากบ้านสาด อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางพร้อมญาติพี่น้อง ครอบครัวที่ 9 พ่อหนานสม-แม่ปั๋น พ่อเหมย–แม่แก้วมา ได้อพยพมาอยู่ด้วยกันและก็มีญาติ เพื่อน ตามมาอยู่เรื่อยๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ได้มี พรบ.นามสกุลขึ้นมาในรัชสมัย ร.6 โดยครอบครัวที่อพยพเข้ามาก็ได้นามสกุลดังนี้

  • ครอบครัวที่ 1 ได้นามสกุล “ใจประการ”
  • ครอบครัวที่ 2 ได้นามสกุล “ใจจุมปู”
  • ครอบครัวที่ 3 ได้นามสกุล “จุมปูนา”
  • ครอบครัวที่ 4 ได้นามสกุล “จินะวรรณ”
  • ครอบครัวที่ 5 ได้นามสกุล “ท่อนคำ”
  • ครอบครัวที่ 6 ได้นามสกุล “ปะละอ้าย”
  • ครอบครัวที่ 7 ได้นามสกุล “เมืองฟอง”
  • ครอบครัวที่ 8 ได้นามสกุล “ทะนันใจ”
  • ครอบครัวที่ 9 ไม่ทราบนามสกุล

พอถึงปี พ.ศ. 2459 จึงขออนุญาตตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลชั่วคราว แต่คณะศรัทธาวัดเหล่าหลวง (หรือเหล่าเก่า) ไม่ยินยอมให้ตั้ง เพราะกลัวว่าวัดเดิมจะมีศรัทธาน้อยลง กลัวจะลำบากในการอุปฐากพระภิกษุสามเณร จึงตั้งไม่สำเร็จ แต่ด้วยความพยายามของชาวบ้าน ซึ่งมีอยู่ 50 กว่าหลังคาเรือน จึงได้ไปกราบนมัสการพระครูเมธัง วัดสันผักฮี้ เจ้าคณะแขวงอำเภอพาน พอได้รับอนุญาตแล้วจึงไปอาราธนานิมนต์ พระธัมชัย(ตุ๊ลุงใจ) วัดสันต้นหวีด ตำบลแม่ปืม อำเภอพะเยา เป็นเจ้าอาวาส

ในปี พ.ศ. 2459 ไตว่าปีเปิ๊กสี (ปีมะโรง) วันพฤหัสบดี เดือนเก้าเหนือดับ (หรือแรม 14 ค่ำ) แต่หมู่บ้านก็ยังคงขึ้นกับการปกครองของนายผัด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 (บ้านเหล่าหลวงนั่นเอง) บ้านเหล่าใหม่แห่งนี้ จึงได้ตั้งชื่อวัด ชื่อว่า “วัดศรีดอนมูลเหล่าใหม่” ส่วนบ้านเหล่าหลวงในสมัยนั้นมีชื่อเรียกว่า บ้านเหล่าเก่า เนื่องจากสภาพหมู่บ้านมีร่องน้ำ ซึ่งไหลออกมาจากลำน้ำแม่ปืม ไหลออกมาทางป่าช้าสันคอกม้า ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ไหลลงสู่หนองเล็งทราย ผ่านทางทุ่งจอป่าข้าว หมู่บ้านเหล่าใหม่นิยมปลูกอ้อย แล้วทำน้ำตาลขายทั้งหมู่บ้าน ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านตามอาชีพ ชื่อว่า “บ้านเหล่าร่องอ้อย”

ปี พ.ศ. 2462 ได้แบ่งการปกครองจากหมู่ที่ 11 มาเป็นบ้านเหล่าอ้อยหมู่ที่ 21 ตำบลแม่ใจใต้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีนายอ้าย ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

จนถึงปี พ.ศ. 2484 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเหล่าอ้อยถูกสั่งให้ยกเลิกไปขึ้นกับ บ้านเหล่าธาตุหมู่ที่ 20 ตำบลแม่ใจใต้ ในสมัยนั้นมีนายตุ้ย อุปะละ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

จนถึงปี พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ตำบลใจใต้ ได้เปลี่ยนเป็นตำบลแม่ใจ จากหมู่ที่ 20 เป็นหมู่ที่ 4 หมดสมัยนายตุ้ย อุปะละ นายเขียว ปานทอง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 หมดสมัยนายเขียว ปานทอง นายบุญมี คำอ้าย เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4

ปี พ.ศ. 2497 ได้ขอตั้งโรงเรียนขึ้นและให้ชื่อว่าโรงเรียนแม่ใจ 5 (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนบ้านไร่อ้อย) ก่อตั้งโดยนายบุญมี คำอ้าย โดยมี นายอินเหล็ง วรรณจักร เป็นผู้อำนวยการคนแรก ชื่อหมู่บ้านเรียกว่า บ้านไร่อ้อย ตั้งแต่นั้นมา นายปั๋น ใจประการเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของ หมู่ที่ 5 

ปี พ.ศ. 2499 บ้านเหล่าอ้อยจึงได้รับการอนุมัติให้หมู่บ้านแยกออกจากหมู่ที่ 4 มาเป็นบ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันชื่อบ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา) โดยมีนายปั๋น ใจประการ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ. 2510-2512 ในระยะนี้มีประชากรเพิ่มขึ้นมามาก จึงได้ขอแบ่งแยกการปกครองเพิ่มเข้ามาอีกเป็น 2 หมู่บ้าน คือแยกจากหมู่ที่ 5 เป็นหมู่ที่ 14(คือบ้านไร่อ้อยหมู่ที่ 1 ในปัจจุบัน) โดยมีนายป้อ หล้าแก้วเป็นผู้ใหญ่บ้าน (เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2512) และนายปั๋น ใจประการ ได้ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน  หมู่ที่ 5 และได้แต่งตั้งนายอ้าย จินะวรรณ ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2512

ปี พ.ศ. 2520 วันที่ 28 สิงหาคม อำเภอพะเยา ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา และอำเภอแม่ใจ จึงได้เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพะเยา

ปี พ.ศ. 2523 ในวันที่ 20 ธันวาคม นายอ้าย จินะวรรณ ได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และได้มีการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้น จึงได้แต่งตั้งนายบุญมี แก้วธิตา เป็นอาสาสมัครมาลาเรีย เนื่องจากลูกชายของนายบุญมีป่วยเป็นโรคมาลาเรียมาก่อน และนายบุญมี มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยมาลาเรียมาก่อน

ปี พ.ศ. 2525 วันที่ 10 ธันวาคม กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่า โดยแยกออกมาจากตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และวันที่ 25 กันยายน กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะบ้านเหล่าขึ้นเป็นตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา นายอ้าย จินะวรรณ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนันตำบลบ้านเหล่าเป็นคนแรก และเริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน

และได้รับนโยบายจากการอบรม อช. เกี่ยวกับการศึกษา ความยากจน โรคภัย และปัญหาที่ได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกคือ ความยากจน และมีการแต่งตั้งธนาคารข้าวเกิดขึ้น โดยให้แต่ละครัวเรือนเอาข้าวมารวมกัน เพื่อให้คนที่ยากจนไปยืมข้าวบริโภคก่อน และเริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาเป็นครั้งแรกและมีโทรทัศน์เครื่องแรกที่บ้านนายยอด ชัยชมภู

ปี พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ปี พ.ศ. 2527 ได้มีการก่อตั้งอนามัยบ้านเหล่าขึ้น โดยนายตา ทาฝุ่น ได้มอบที่ดินให้กระทรวงสาธาณสุขในการก่อตั้งสถานีอนามัย โดยมีพยาบาลชื่อสุนันท์ อินตะมูล เป็นผู้รักษาการหัวหน้าสถานีอนามัย

ปี พ.ศ. 2532 มีผู้ป่วยที่ตายด้วยโรคเอดส์คนแรกเป็นผู้ชาย

ปี พ.ศ. 2532-2535 โรคเอดส์เริ่มมาระบาดที่บ้านเหล่า สร้างยุ้งฉางข้าวในหมู่บ้าน และมีการแต่งตั้งนายบุญมี แก้วธิตา เป็นแพทย์ประจำตำบล (ปี พ.ศ. 2534) และดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2540

ปี พ.ศ. 2539 ทำถนนคอนกรีตครั้งแรก และมีการระบาดของเชื้อ HIV

ปี พ.ศ. 2540 ผู้คนเริ่มล้มตายด้วยโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย และญาติพี่น้อง

ปี พ.ศ. 2540 ผู้คนเริ่มล้มตายด้วยโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบ ต่อตัวผู้ป่วย และญาติพี่น้อง

ปี พ.ศ. 2541 สิ้นสุดวาระของนายแก้ว ทนันชัย ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 และได้แต่งตั้งนายเกี๋ยง ทนันชัย ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่3 ของหมู่ที่ 1

ปี พ.ศ. 2542 หลังจากที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เลยมีการรวมตัวกันของ ผู้ป่วยและญาติ ของคนที่เป็นโรคเอดส์ รวมใจตั้ง “กลุ่มบ้านเหล่ารวมใจ 42”

ปี พ.ศ. 2545 สิ้นสุดวาระของนายเกี๋ยง ทนันชัยผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 และได้แต่งตั้งนายตุ๊อุปละขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่4ของหมู่ที่ 1 ปี พ.ศ. 2553 คัดบุคคลต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยงและนายเสาร์แก้ว แสนเขียว ได้รับเลือกให้เป็นกำนันตำบลบ้านเหล่า และเริ่มมีการอบรมเรื่องการคัดแยกขยะมีการสร้างถนนคอนกรีตรอบหมู่บ้าน

ปี พ.ศ. 2546 จัดตั้งกลุ่มน้ำพริกลาบ เพื่อจำหน่ายในชุมชนและส่งขายให้ชุมชนข้างเคียง เนื่องจากก่อนหน้านี้ต้องไปซื้อจากชุมชนอื่น

ปี พ.ศ. 2547 สร้างศาลาอ่านหนังสือขึ้น เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านได้มาอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ

ปี พ.ศ. 2555 จัดตั้งอาหารปลอดภัยลด หวาน มัน เค็มสิ้นสุดวาระของนายตุ๊ อุปละผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4และได้แต่งตั้งนายสมศักดิ์ ก๋าอินตาขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่5ของหมู่ที่ 1

ปี พ.ศ. 2556 นายเกี๋ยง ทนันชัยเป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเหล่า ชุมชนเป็นชุมชนปลอดขยะ จัดการกับสิ่งแวดล้อม เน้น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการกำจัดขยะที่ยั่งยืนได้รับรางวัลต้นแบบการคัดแยกขยะ

ปี พ.ศ. 2557 เกิดโครงการแอวแค้วจัดตั้งเป็นตำบลลดปัจจัยเสี่ยง เกี่ยวกับอาหาร คือ ลดหวานมัน เค็ม Alcohol

ปี พ.ศ. 2558 เป็นตำบลจัดการสุขภาพ เน้นการรับประทานอาหารปลอดภัย ก่อให้เกิด ธรรมนูญสุขภาพ ตำบลบ้านเหล่าขึ้น เป็นตำบลสุขภาวะเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ

ปี พ.ศ. 2559 มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกยุงกัด

ปี พ.ศ. 2560 ได้มีแนวทางดำเนินการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล เพื่อเป็นแนวทางและยุทธศาสตร์การดูแลสุขภาพตำบลบ้านเหล่า 

เป็นพื้นที่ราบเพื่ออาศัยทำการเกษตร มีแหล่งน้ำที่เป็นคลองธรรมชาติไหลผ่านใจกลางหมู่บ้าน บริเวณรอบหมู่บ้าน ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นทุ่งนาและมีลำน้ำซึ่งอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ปืมและหนองเล็งทรายไหลผ่านพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ศาลาอเนกประสงค์ มีวัด 1 แห่งอยู่ในเขตหมู่ 5 (วัดศรีดอนมูล) มีโรงเรียน 1 แห่งอยู่ในเขต หมู่ 5 (โรงเรียนบ้านไร่อ้อย) ตลาดสด 1 แห่ง (ใช้ร่วมกับ หมู่ 5,หมู่ 10 และหมู่ที่ 13) และร้านขายของชำ 3 แห่ง

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดงอินตา หมู่ที่ 9 และบ้านเหล่าเก่าหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเหล่าธาตุ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านไร้อ้อย หมู่ที่ 5 บ้านร่องศรีดอนมูล หมู่ที่ 10 และบ้านเด่นโพธิ์ทอง หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหลวงพัฒนา หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา  

มีบ้านเรือนทั้งหมด 209 หลังคาเรือน ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย โดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว แตงโม แคนตาลูป ลำไย แตงกวา ถั่วลิสง ถัวฝักยาว ปัจจุบันนิยมปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้ภายในบ้าน ส่วนอาชีพอื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรม ได้แก่ การเลี้ยงไก่ หาของป่า รับจ้างทั่วไป 

ลักษณะชุมชนเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบเดี่ยว สมาชิกในครอบครัวใกล้ชิดสนิทสนมกัน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีการประกอบศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันอาสาฬหบูชา ประเพณีส่วนใหญ่เป็นแบบล้านนา เช่น ประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ถวายข้าวใหม่ งานทอดกฐิน ผ้าป่า สลากภัตต์ ในด้านความเชื่อ ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เช่น มีการนับถือผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่า และตานเปรตพลี เป็นการอุทิศส่วนบุญหาผู้ตาย ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่ มีน้ำใจ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือกิจกรรมส่วนรวม เช่น งานบุญ งานศพ ประชาชนส่วนมากเป็นสมาชิกองค์กรในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่า มีบางส่วนที่รักษาโรคด้วยสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น การทำลูกประคบสมุนไพร เป็นต้น ในด้านการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย หรือไม่สบาย ส่วนมากมักจะไปรับการบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่า บางส่วนไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่ใจ

โครงสร้างองค์กรชุมชน

  • กำนัน : นายนพรัฐ ท่อนคำ
  • รายชื่อคณะกรรมการหมู่บ้าน : 1.นายวินัย ใจจุมปู (สารวัตรกำนัน) 2.นายสมบูรณ์ ธรรมสอน (สารวัตรกำนัน) 3.นายสงกรานต์ หล้าแก้ว (ผู้ช่วยฝ่ายปกครอง) 4.นายศุภชัย เกิดเรียน (ผู้ช่วยฝ่ายปกครอง) 5.นายสาธิน อุดทา (ประธานสมาชิกสภา) 6.นายมงคล จินะวรรณ์ (รองประธานสมาชิกสภา)
  • กลุ่มเงิน ก.ข.ค.จ : นายนพรัฐ ท่อนคำ (ประธาน)
  • คณะทำงานด้านพัฒนาการเกษตร : นายยงค์ จงค์ปัน (ประธาน)
  • กลุ่มฉางข้าว : นายบุญจันทร์ ใจยะสุข (ประธาน)
  • กลุ่มผู้สูงอายุ : นายน้อย  หล้าแก้ว (ประธานผู้สูงอายุ)
  • กลุ่มแม่บ้าน : นางซ้อน จินะวรรณ์ (ประธานแม่บ้าน)
  • กลุ่มเงินล้าน : นายคมสันต์ ใจยะสุข (ประธาน)
  • คณะทำงานด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย : นายวินัย ใจจุมปู (ประธาน)
  • คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน : นายมงคล จินะวรรณ์ (ประธาน)
  • คณะทำงานด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข : นางจันทร์แก้ว ใจยะเลิศ (ประธาน)
  • คณะทำงานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม : นายน้อย หล้าแก้ว (ประธาน)
  • คณะทำงานด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ : นายสมบูรณ์ มโนวงค์ (ประธาน)

การประกอบอาชีพ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ประมาณ 3500 บาท/เดือน

  • อาชีพหลัก : ทำนา, ปลูกยางพารา
  • อาชีพรอง : ทำสวนฟักทอง, แตงโม, แตงกวา, รับจ้าง
  • อาชีพเสริม : ปลูกพืชผักสวนครัว, หาปลา, ค้าขาย
  • รายได้ของประชาชน : ภาคเกษตรกรรม
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร, ค่าดำรงชีพ, ค่าสาธารณูปโภค, ค่างานสังคม, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

วัฒนธรรมประเพณีล้านนา 

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อย เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน, สักการะเจ้าหลวงคำแดง
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุ
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ โดย

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า, ไหว้ผีมดผีเม็ง, เลี้ยงผีขุนน้ำ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง(เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ

1. นายเกี๋ยง ทนันชัย

เกิดปี พ.ศ. 2485 อายุ 80 ปี เกิดที่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ประวัติการศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2497 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านไร่อ้อย
  • ปี พ.ศ. 2498 บวชเรียนที่วัดศรีดอนมูล โดยเรียนภาษาล้านนา 2 ปี
  • ปี พ.ศ. 2519 ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการวัดให้ได้รับตำแหน่ง กรรมการวัดศรีดอนมูล วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
  • ปี พ.ศ. 2526 ได้เข้าร่วมการอบรมกลุ่มวัฒนธรรมชางพุทธของหน่วยเผยแพร่พุทธศาสนา อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2535 ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านตำแหน่งเหรัญญิก
  • ปี พ.ศ. 2537 ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการศึกษาประจำโรงเรียนบ้านไร่อ้อย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537
  • ปี พ.ศ. 2540 ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำชุมชน
  • ปี พ.ศ. 2542 ได้เข้าร่วมการอบรมลูกเสือชาวบ้าน รุ่นที่ 0628/2 พย 180
  • ปี พ.ศ. 2541 ได้เข้าอบรมความรู้กฎหมายเบื้องต้น
  • ปี พ.ศ. 2541 ได้เข้าอบรมเป็นสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรม
  • ปี พ.ศ. 2543 ได้เข้าอบรมโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นสำหรับประชาชน

ประวัติการทำงานอื่น ๆ

  • ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 : 1 สมัย
  • ประธานลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 0628/2 พย 180 : 1 สมัย
  • กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านไร่อ้อน : 2 สมัย
  • กรรมการสหกรณ์การเกษตร แม่ใจจำกัด : 3 สมัย
  • มัคนายกวัดศรีดอนมูล : 2546-ปัจจุบัน
  • สมาชิกชมรมมัคคทายก อำเภอแม่ใจ : ปัจจุบัน

กิจกรรมประจำปีที่เข้าร่วม

  • เดือน 4 เป็ง ตานข้าวจี่ ข้าวหลาม วัดศรีดอนมูล อำเภอแม่ใจ
  • เดือน 6 เหนือ แรม 8 ค่ำ ประเพณีสรงน้ำพระหินทิพย์ วัดดงบุคนาค ม.7 ตำบลบ้านเหล่า
  • วันที่ 17 เมษายน ประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ อำเภอแม่ใจ
  • วันที่ 18 เมษายน วันกตัญญูผู้สูงอายุ ตำบลบนเหล่า วัดศรีดอนตัน
  • เดือน 9 เหนือ ขึ้น 8 ค่ำ ประเพณีสืบชะตาหนองเล็งทราย หมู่ 3
  • เดือน 9 เหนือ ขึ้น 9 ค่ำ ประเพณีตาลสลาก สืบซะตา ฟังธรรม มัจฉาปลาซ่อน บวงสรวงเจ้าฝายหิน ตำบลบ้านเหล่า
  • เดือน 9 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจำม่วง หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า
  • เดือน 9 เหนือ แรม 14 ค่ำ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจ๋อมก้อศาสนสถานโบราณ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเหล่า
  • เดือน 8 เป็ง ตานสังฆทาน วัดศรีดอนมูล อำเภอแม่ใจ
  • เดือน 12 เป็ง ประเพณีตานเปรตพลี วัดศรีดอนมูล อำเภอแม่ใจ

2. นายบุญมี แก้วธิตา

เกิดปี พ.ศ. 2480 อายุ 83 ปี เกิดที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

ประวัติการศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2492 ไปเรียนที่วัดศรีดอนมูล โดยเรียนภาษาล้านนา 2 ปี และจึงมาเรียนภาษาไทย
  • มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอแม่ใจ

ประวัติโดยทั่วไป

  • เมื่ออายุได้ 4 ขวบ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อมีเสียงสัญญาณก็ได้มีการหลบลงหลุมที่ได้ขุดเอาไว้
  • ปี พ.ศ. 2492 อายุ 12 ปี ก็ได้ไปเรียนหนังสือที่วัดศรีดอนมูล โดยเรียนภาษาล้านนา 2 ปี และจึงมา เรียนภาษาไทย
  • ปี พ.ศ. 2496 ได้บวชเป็นเณรที่วัดศรีดอนมูล
  • ปี พ.ศ. 2501 ได้อุปสมบทเป็นพระ
  • ปี พ.ศ. 2502 ได้ลาอุปสมบทจากการเป็นพระ ออกมาทำนาเลี้ยงแม่และน้องเราะเป็นลูกคนโต
  • ปี พ.ศ. 2507 ได้ไปเที่ยวที่ประเทศพม่า และได้ไปทำงานรับจ้าง ละได้พบกับนางจันทร์อง คำเงิน (เป็นคนลำพูนและไปเกิดที่ประเทศพม่า และก็ได้แต่งงานกันที่ประเทศพม่า
  • ปี พ.ศ. 2519 เดินทางกลับมาที่ประเทศไทย

ประวัติการทำงาน

  • ปี พ.ศ. 2523 ได้รับเลือกให้เป็นอาสาสมัครมาลาเรีย โดยได้รับการแต่งตั้งโดยนายอ้าย จินะวรรณ กำนันตำบลบ้านเหล่า เนื่องจากว่าลูกขายตาบุญมี เคยติดเชื้อมาลาเรีย และตาก็มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมาลาเรีย
  • ปี พ.ศ. 2525 เป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชน เป็นผู้นำ อช. เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านเหล่า (ศรีดอนมูล)
  • ปี พ.ศ. 2527 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น อสม, คนแรกของหมู่บ้าน ซึ่งเลือกตั้งโดย ผสส. ในหมู่บ้าน
  • ปี พ.ศ. 2529-2530 ได้รับการอบรมเป็น ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช) ตำบลบันเหล่า
  • ปี พ.ศ. 2534 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "แพทย์ประจำตำบลบ้านเหล่า" เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม
  • ปี พ.ศ. 2535 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเหล่า
  • ปี พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกให้เป็น "คนดีศรีพะเยา" เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม
  • ปี พ.ศ. 2551 ได้รับฉันทามติจกมวลสมาชิกเครือข่ายวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเหล่า” ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551

ประวัติการทำงานอื่นๆ

  • กรรมการสภาตำบลบ้านเหล่า : 1 สมัย
  • สมาชิก อบต.บ้านเหล่า (โดยตำแหน่ง) : 1 สมัย
  • สมาชิกกลุ่มพิทักษ์ศักดิ์ศรีสตรีพะเยา : 1 สมัย
  • สมาชิกสมัชชาเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัย : 1 สมัย
  • โฆษกหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน : 1 สมัย
  • อาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค (อ.ค.บ) : 1 สมัย
  • ประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านเหล่า : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • รองประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • ประธานชมรมมัคนายก อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • รองประธานพุทธสมาคม อำเภอแม่ใจ : 1 สมัย-ปัจจุบัน
  • กรรมการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนตำบลบ้านเหล่า : ปัจจุบัน
  • มัคนายกวัดศรีดอนมูล : 2526-ปัจจุบัน
  • กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านไร่อ้อย : ปัจจุบัน
  • เครือข่ายและอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ : ปัจจุบัน
  • กรรมการศูนย์พัฒนาครอบครัว ตำบลบ้านเหล่า : ปัจจุบัน

กิจกรรมประจำปีที่เข้าร่วม

  • เดือน 6 เหนือ แรม 8 ค่ำ ประเพณีสรงน้ำพระหินทิพย์ วัดดงบุคนาคหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเหล่า
  • วันที่ 17 เมษายน ประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ อำเภอแม่ใจ
  • วันที่ 18 เมษายน วันกตัญญูผู้สูงอายุ ตำบลบนเหล่า วัดศรีดอนตัน
  • เดือน 9 เหนือ ขึ้น 8 ค่ำ ประเพณีสืบชะตาหนองเล็งทราย หมู่ที่ 3
  • เดือน 9 เหนือ ขึ้น 9 ค่ำ ประเพณีตาลสลาก สืบชะตา ฟังธรรม มัจฉาปลาซ่อน บวงสรวงเจ้าฝ่ายหิน ตำบลบ้านเหล่า
  • เดือน 9 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจำม่วง หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า
  • เดือน 9 เหนือ แรม 14 ค่ำ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจ๋อมก้อศาสนสถานโบราณ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเหล่า

บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์และเป็นที่ยอมรับของสังคมจนเป็นที่ประจักษ์

นำชาวบ้านในตำบลเหล่าปลูกป่า บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ (น้ำแม่ปืม) และหนองเล็งทรายทุกปีสืบชะตาช่วยเหลือทุกคน, ร่วมกับคณะศรัทธาวัตศรีดอนมูลบูรณะสถานในวัด เช่น กุฏิ อุโบสถ พระวิหารศาลาการเปรียญ ให้แล้วเสร็จและอยู่ในสภาพดีเสมอ ช่วยเหลือทำนุบำรุงศาสนาอย่างต่อเนื่อง เป็นอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของอำเภอแม่ใจ, เป็นคณะกรรมการสมัชชาเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัยของจังหวัดพะเยา เป็นแพทย์ทางเลือก (หมอเมือง), เพื่อช่วยเหลือเป็นกำลังใจให้กับผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ, เป็นประธานชมรมมัคคนายก อำเภอแม่ใจ, เป็นศาสนิกรประจำตำบลบ้านเหล่า, เป็นผู้นำชักชวนคนเข้าวัต (บำเพ็ญตนตามหลักศาสนา) โครงการป้ออุ้ยจูงหลานเข้าวัด

ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติมีแหล่งกักเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำหนองเล็งทราย

  • แหล่งน้ำดื่ม ได้แก่ น้ำบรรจุขวดสำเร็จรูป ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ และน้ำฝน
  • แหล่งน้ำใช้ ได้แก่ น้ำประปาภูมิภาค น้ำบ่อ น้ำบาดาล
  • แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองเล็งทราย

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แหล่งกักเก็บน้ำคือ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติแม่ปืม ตั้งอยู่ใน ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นบริเวณที่มีสายน้ำกว้างใหญ่ มีทุ่งหญ้าเขียว และมีภูเขาสูงชัน ต้นไม้เรียงรายอย่างสวยงาม บริเวณของอุทยานฯ นั้น จะมีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดด้วยกัน คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา เป็นจุดต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ 2 สายคือ ลำน้ำแม่แก้วและลำห้วยแม่ปืม ทำให้ที่นี่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

แหล่งประโยชน์ในชุมชนของหมู่บ้านเหล่าอ้อย หมู่ที่ 1 ประกอบไปด้วย ร้านค้าในหมู่บ้าน 4 แห่ง ประชากรในชุมชนสามารถจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้จากร้านค้าเหล่านี้ และการจัดตั้งการประชุมหรือการรวมตัวทำประชาคมสามารถจัดทำได้ที่ศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน ป้อมตำรวจ ที่ทำการกำนันตำบลบ้านเหล่าคอยให้การช่วยเหลือ และเป็นแหล่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ 

Google Maps. (2563). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านเหล่าอ้อย (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

อุทยานแห่งชาติแม่ปืม. (2563). อ่างเก็บน้ำแม่ปืม-อุทยานแห่งชาติแม่ปืม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://portal.dnp.go.th/

พระครูโสภณปริยัติสุธี, รศ.ดร. ถิรธมฺโม. ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ-พะเยา 2. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/