Advance search

หมู่บ้านหัตถกรรมผักตบชวา ประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา ทิศตะวันออกติดกับพื้นที่กว๊านพะเยาตลอดแนวพนังกั้นน้ำมีทัศนียภาพที่สวยงามใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ออกกำลังกายของคนในหมู่บ้าน

หมู่ที่ 4
บ้านสันป่าม่วงใต้
สันป่าม่วง
เมืองพะเยา
พะเยา
กิตติมา หวังพัฒน์
31 พ.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
14 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
28 ก.ค. 2023
บ้านสันป่าม่วงใต้

การตั้งหมู่บ้านขึ้นในพื้นที่แห่งนี้และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านอัมพวัน ซึ่งมีความหมายว่า ป่ามะม่วง เหตุเพราะว่าพื้นที่ดังกล่าวมีต้นมะม่วงขึ้นอยู่จำนวนมากและยังมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่จำนวนสองต้นขึ้นอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน และจุดนี้เชื่อกันว่า เป็นที่เก็บซ่อนอะไรบางอย่างในอดีต


หมู่บ้านหัตถกรรมผักตบชวา ประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา ทิศตะวันออกติดกับพื้นที่กว๊านพะเยาตลอดแนวพนังกั้นน้ำมีทัศนียภาพที่สวยงามใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ออกกำลังกายของคนในหมู่บ้าน

บ้านสันป่าม่วงใต้
หมู่ที่ 4
สันป่าม่วง
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.18006713
99.84305531
เทศบาลตำบลสันป่าม่วง

ศรีเหรียญ ชำนาญยา อายุ 86 ปี นางส่วย ชำนาญยา อายุ 85 ปี และนายสุข อินแสง อายุ 65 ปี ได้เล่าว่าเดิมทีบ้านสันป่าม่วง มีป่าต้นมะม่วงใหญ่เรียงกันมากมาย ต่อมาปี พ.ศ. 2415 มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง อพยพหนีความแห้งแล้งมาจากบ้านบ่อแป้น อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง โดยมีนายวัน ไม่ทราบนามสกุลเป็นผู้นำมาบุกเบิกถางพื้นที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ทำกิน ต่อมาได้มีญาติและเพื่อน ๆ หมู่บ้านเดียวกันอพยพติดตามมา อีกจำนวนหนึ่ง และได้จัดตั้งหมู่บ้านขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านอัมพวัน ซึ่งมีความหมายว่า ป่ามะม่วง เพราะว่าพื้นที่ดังกล่าวมีต้นมะม่วงจำนวนมาก และมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่จำนวนเจ็ดต้นขึ้นบริเวณกลางหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านอัมพวันได้รวมตัวกันสร้างอารามขึ้นในหมู่บ้าน ตั้งชื่อว่า วัดอัมพวัน โดยมีเจ้าอาวาสท่านแรก คือ พระคำอ้าย เป็นเจ้าอาวาสคนแรก ต่อมาไม่ปรากฏปี พ.ศ. มีพระจากบ้านทุ่งแม่พริก อ.ดอกคำใต้ คือ พระอภิวงค์ ไม่ทราบฉายามาเป็นเจ้าอาวาสและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชัยมงคล พร้อมกับแต่งตั้งลูกศิษย์เป็นผู้นำหมู่บ้านขึ้นเป็นคนแรก คือ ขุนม่วง คามณี (ขุนมอย)

ในปี พ.ศ.2469 มีการสร้างโรงเรียนประชาบาล สันป่าม่วง

พ.ศ. 2484 โรคฝีดาษระบาดมีพ่อเลี้ยงน้อยจันทร์ใช้ยารากไม้รักษาและมีหมอไข่แพทย์ตำบลช่วยกันรักษาแต่ก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

พ.ศ. 2485 ได้แยกเขตการปกครองออกมาจากตำบลบ้านตุ่นมาเป็นตำบลสันป่าม่วง โดยมีขุนม่วง คามณี (ขุนมอย) เป็นกำนันคนแรกของตำบลสันป่าม่วง และเริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจและผักปลอดสารพิษ พ.ศ. 2489 ตำบลสันป่าม่วงได้ไปขึ้นกับตำบลบ้านต๋อม

พ.ศ. 2494 พ่อน้อยปี๋ มีโรงสีข้าวแหล่งแรกของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2499 เริ่มมีถนนลาดยางมาใช้ในหมู่บ้าน และพ่อมา ชำนาญยา มีมอเตอร์ไซค์ใช้เป็นคันแรกของหมู่บ้าน พ.ศ. 2512 แม่จันทร์แก้ว มีโทรทัศน์ใช้เป็นเครื่องแรกของหมู่บ้าน ต่อมา พ.ศ. 2522 เริ่มมีการนำผักตบชวามาสานเป็นของใช้เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2524 เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2525 พ่อสุข อินทร์แสง มีรถไถใช้เป็นคันแรกและเริ่มจัดตั้งกลุ่ม อสม.

พ.ศ. 2530 มีผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์เกิดขึ้น

พ.ศ. 2537 แยกจากตำบลบ้านต๋อมมาเป็นตำบลสันป่าม่วง โดยมีนายสมบัติ นันทาทอง เป็นกำนันตำบลสันป่าม่วง

พ.ศ. 2540 เริ่มตั้งกลุ่มสานผักตบชวาและมีการตั้งธนาคารข้าวเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2541 นางผ่องศรี ปรีชาพงค์มิตร เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4

พ.ศ. 2543 ได้มีการก่อตั้งประปาหมู่บ้าน

พ.ศ. 2545 มีการซื้อที่ดินสร้างศาลาประชาคมของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2548 แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน นางผ่องศรี ปรีชาพงค์มิตร เป็นกำนันตำบลสันป่าม่วง 

พ.ศ. 2552 ตำบลสันป่าม่วง ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลสันป่าม่วงโดยมีนายสมชาย จินะ เป็นนายกเทศมนตรี

พ.ศ. 2553 ชุมชนมีการรณรงค์ให้มีการปลูกพืชสวนครัวปลอดสารพิษและโครงการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพของ สปสช.

พ.ศ. 2556 มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนบ้านสันป่าม่วงเป็นโรงเรียนตำบลบ้านสันป่าม่วง

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสันปูเลย หมู่ 3 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสันบัวบก หมู่ 1 ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ กว๊านพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสันป่าม่วงกลาง หมู่ที่ 8 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ตามทะเบียนบ้านมีจำนวน 111 หลังคาเรือน แบ่งเป็นหลังคาเรือนที่มีประชาชนอยู่จริง 92 หลังคาเรือน และมีบ้านว่าง หลังคาเรือน 19 ซึ่งบ้านที่ว่างเหล่านี้เจ้าของบ้านไปทำงานต่างจังหวัดและส่วนใหญ่มีคนดูแลบ้านให้ ซึ่งเป็นญาติพี่น้องหรือเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน (ข้อมูล : จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของครัวเรือน) หมู่บ้านมีพื้นที่ 1.8 ตารางกิโลเมตร หมู่บ้านล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา ในอดีตประชาชนมีอาชีพเกษตรกร โดยทำนาเป็นหลัก ส่วนการทำไร่ทำนาเป็นไปตามฤดูกาล เช่น การปลูกหอมแดง กระเทียม ถั่วลิสง เป็นต้น 

สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน บางส่วนเป็นบ้านปูนชั้นเดียวติดพื้น ในอดีตจะสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงเนื่องจากในฤดูฝนจะมีน้ำหลาก และท่วมบ้านเรือนเสียหายประกอบกับมีกว๊านพะเยาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านจึงทำให้น้ำท่วมสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางหลังยังคงเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงอยู่ บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้วแสดงขอบเขตของแนวที่ดินของบ้าน ส่วนใหญ่เป็นรั้วซีเมนต์ บางส่วนเป็นรั้วไม้ มีบ้านบางหลังตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันและมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันมีความมั่นคงถาวร มีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เป็ด ไก่ แมว สุนัข จะแยกเลี้ยงไว้ในกรงหรือคอกภายในบริเวณบ้าน มีการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองภายในบ้านที่เป็นพื้นที่ว่าง ไม้ยืนต้นที่บ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกภายในรั้วบ้าน เช่น มะม่วง มะพร้าว ฝรั่ง น้อยหน่า เป็นต้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กำนันตำบลสันป่าม่วง : นางผ่องศรี ปรีชาพงษ์มิตร

การบริหารจัดการในหมู่บ้านมีกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

  • คณะกรรมการหมู่บ้าน : จำนวน 20 คน
  • คณะกรรมการเงินล้าน : จำนวน 8 คน       
  • กลุ่มเงินออม : จำนวน 2 คน        
  • คณะกรรมการแก้ไขความยากจน (กขคจ.) : จำนวน 6 คน     
  • คณะกรรมการต่อต้านยาเสพติด : จำนวน 11 คน    
  • อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) : จำนวน 5 คน
  • อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) : จำนวน 12 คน
  • อาสาสมัครตำรวจบ้าน (สตบ.) : จำนวน 11 คน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ : ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปทุกคน
  • กลุ่มผักตบชวา : จำนวน 8 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน : จำนวน 1 คน
  • ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม : จำนวน 1 คน

วัฒนธรรม ประเพณี (เดือนล้านนาจะเร็วกว่าเดือนในภาคกลาง 2 เดือน)

  • เดือนมกราคม (เดือนสี่) : วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี มีการทำบุญตักบาตรที่วัดสันป่าม่วง
  • เดือนมีนาคม (เดือนหก) : ชาวบ้านสันป่าม่วงมักจะนิยมขึ้นบ้านใหม่และแต่งงานในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อความเป็นสิริมงคล
  • เดือนเมษายน (เดือนเจ็ด) : ปีใหม่เมืองหรือประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี  สรงน้ำพระประเพณีสืบชะตาหมู่บ้าน
  • เดือนพฤษภาคม (เดือนแปด) : เดือนนี้ชาวบ้านนิยมจัดงานมงคล เช่น งานแต่ง งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่  และจะร่วมประเพณีไหว้สาพระเจ้าตนหลวง ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดพะเยา
  • เดือนมิถุนายน (เดือนเก้า) : จะมีประเพณีนมัสการพระธาตุผาช้างมูบ  เลี้ยงเสี้ยวบ้าน โดยจะจัดงานกันขึ้นในหมู่บ้านโดยทุกคนในหมู่บ้านจะจัดเตรียมอาหารการกินเพื่อเลี้ยงต้อนรับผู้คนที่มาร่วมงานในหมู่บ้าน และจะมีการเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ต้ม เหล้าขาว หมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน เมี่ยง บุหรี่ ฯลฯ
  • เดือนสิงหาคม (เดือนสิบเอ็ด) : ประชาชนจะมีการทำบุญตักบาตรในวันแม่แห่งชาติ โดยไปทำบุญที่วัดสันป่าม่วง และในเดือนนี้ยังคงเป็นช่วงวันเข้าพรรษา
  • เดือนตุลาคม (เดือนเกี๋ยง) : ออกพรรษา โดยชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตร ถวายเทียนหรือแห่เทียนพรรษาและจะร่วมทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะกันที่วัดในวันออกพรรษา
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือนยี่) : ชุมชนบ้านสันป่าม่วงจะมีประเพณียี่เป็งและประเพณีลอยกระทงร่วมกัน จัดพิธีลอยกระทงเพื่อเป็นการขอขมาแม่น้ำคงคา มีการจัดงานที่วัดไชยพฤกษ์และบางครั้งอาจมีการจัดกิจกรรมสนุกสนานร่วมกันหรือการจัดแข่งดอกไม้ไฟหรือพลุดอก การประกวดขบวนและนางนพมาศ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการทอดกฐิน
  • เดือนธันวาคม (เดือนสาม) : ชุมชนบ้านสันป่าม่วงจะมีการสืบชะตาหมู่บ้าน เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีความสุข ไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และยังเป็นวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งประชาชนจะมีการไปทำบุญตักบาตรที่วัด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวา (กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านสันป่าม่วง)

  • สถานที่ผลิต : บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 4 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 56000 โทร 054-458633 และ 081-6027771
  • ประธานกลุ่ม : กำนันผ่องศรี ปรีชาพงค์มิตร  
  • สถานที่ตั้งกลุ่ม : บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 4 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 56000 โทร 054-458633 และ 081-6027771

เอกลักษณ์จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

  1. เป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
  2. มีความประณีต สวยงาม
  3. สามารถทำตามรูปแบบที่ลูกค้าต้องการได้
  4. ลวดลายเฉพาะตัว และมีเอกลักษณ์ของหัตถกรรมจักสานผักตบชวา
  5. สามารถทำการผลิตได้หลายรูปแบบ เช่น กระเป๋า ตะกร้า ในรูปแบบต่าง ๆ กรอบรูป หมวก รองเท้า ของชำร่วย และโคมไฟ เป็นต้น

จุดเด่นของกลุ่ม

  1. มีจำนวนสมาชิกเครือข่ายเป็นจำนวนมาก (620 คน) สามารถรับออร์เดอร์คราวละจำนวนมาก ๆ ได้
  2. เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของคณะศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. ประธานกลุ่มเป็นผู้นำชุมชน
  4. ที่ตั้งของกลุ่มไม่ห่างไกลจากตัวเมืองมาก
  5. ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว (วัดอนาลโยทิพยาราม)
  6. กลุ่มได้รับรางวัลชนะเลิศ กลุ่มอาชีพดีเด่น ปี 2543 จากกรมพัฒนาชุมชน

Google Maps. (2561). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านสันป่าม่วง (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps.

ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอนพิเศษ 128ง. 13 ธันวาคม 2549.

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 27" (2562). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านสันป่าม่วงใต้ หมู่ 4 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา. 

กลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. https://www.phayaopuktobchawa.com/

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

kanokwan.a. (2559, 7 มิถุนายน). งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่นโยบายสาธารณะ ตำบลสันป่าม่วง. [วิดีโอ]. ยูทูบ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/