Advance search

บ้านบึง

วัดบึงล่าง, วัดไร่บ้านบึง

ชุมชนบ้านบึง เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีวัดบึงบวรสถิตย์เป็นที่อยู่คู่ของชุมชนมาอย่างยาวนาน อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงในการทำน้ำตาลทรายแดงมากที่สุดในประเทศไทย

บ้านบึง
บ้านบึง
ชลบุรี
ศิริลักษณ์ นาโม
28 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 ก.ค. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
28 ก.ค. 2023
บ้านบึง
วัดบึงล่าง, วัดไร่บ้านบึง

“บ้านบึง” เริ่มแรกเดิมทีเป็นชื่อวัดบึงล่างหรือวัดไร่บ้านบึงที่ปัจจุบันนี้รู้จักกันในนาม "วัดบึงบวรสถิตย์" ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งชุมชนดั้งเดิมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 จวบจนเวลาผ่านล่วงเลย มาถึงปี พ.ศ. 2464 อำเภอบ้านบึงจึงได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอบ้านบึงและจัดสร้างที่ว่าการอำเภอบ้านบึงขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2481 ประกอบกับพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองมีบึงขนาดใหญ่ จึงเรียก "บ้านบึง" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ชุมชนบ้านบึง เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีวัดบึงบวรสถิตย์เป็นที่อยู่คู่ของชุมชนมาอย่างยาวนาน อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงในการทำน้ำตาลทรายแดงมากที่สุดในประเทศไทย

บ้านบึง
บ้านบึง
ชลบุรี
20170
เทศบาลเมืองบ้านบึง โทร. 0-3844-3999, 0-3875-0943
13.312592474666662
101.12905248999596
เทศบาลเมืองบ้านบึง

"บ้านบึง" เป็นชุมชนเกษตรกรรมเล็ก ๆ ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเมืองบริวารของชุมชนเมืองปลาสร้อย (เมืองชลบุรี) แหล่งถิ่นฐานชุมชนดั้งเดิมคือ บริเวณหน้าลำมาบ (บริเวณตั้งแต่หน้าวัดบุญญฤทธยาราม มาจนถึงบริเวณวัดบึงบวรสถิตย์) 

โดยสภาพทั่วไปของบ้านบึงมีลักษณะเป็นที่ราบสูงสลับเนินเขา การตั้งถิ่นฐานของชุมชนจะมีการรวมกลุ่มอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นบึงขนาดใหญ่ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูก มันสำปะหลัง ทำนา และทำไร่อ้อย สิ่งที่เกิดมาตามจึงเป็นเรื่องของธุรกิจการค้าน้ำตาล ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากการเกษตรในพื้นที่ทำการเพาะปลูกนั่นเอง เมื่อกิจการค้าเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่ การค้าขายอื่น ๆ จึงเกิดตามมาทำให้ “บ้านบึง” เริ่มแปรสภาพเป็นเมืองที่มีการค้าขายมากขึ้น ประกอบกับมีการอพยพถิ่นฐานเข้ามาของชาวลาวและชาวจีนเพิ่มมากขึ้น 

ในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นบริเวณด้านตะวันออกของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นผลให้ชาวบ้านเริ่มขยายชุมชนมาทางที่การอำเภอมากขึ้น และเริ่มมีตลาดบึงเป็นแหล่งชุมชน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้มีการสร้างเส้นทางคมนาคม เชื่อมระหว่างชุมชนบ้านบึงกับอำเภอเมือง คือทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3133 ขึ้น ลักษณะการขยายตัวของชุมชนจึงเริ่มหันมาเกาะตามเส้นทางคมนาคมสายหลักมากขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 ได้มีการสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 ขึ้น รูปแบบการขยายตัวของชุมชนจึงเริ่มกระจายลงสู่ด้านใต้หรือลงไปเกาะบริเวณริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 ส่วนศูนย์กลางของชุมชนจะอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านบึงมีพื้นที่ 8.02 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 5,012.50 ไร่ ห่างจากตัวเมืองชลบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 80 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบสูงเนิน เหมาะแก่การทำไร่และเลี้ยงสัตว์ มีฝนตกในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ จรด ตำบลหนองบอนแดงและตำบลหนองซาก
  • ทิศใต้ จรด ตำบลคลองกิ่ว ตำบลหนองซาก 
  • ทิศตะวันออก จรด ตำบลหนองซาก 
  • ทิศตะวันตก จรด ตำบลหนองซำซากและตำบลมาบไผ่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โรงงานน้ำตาลสหการน้ำตาลชลบุรี โรงงานน้ำตาลที่อยู่คู่จังหวัดชลบุรี อำเภอบ้านบึงมาช้านาน โดยเริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเทศบาลในอำเภอบ้านบึงที่ร่วมมือการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นรองรับอ้อยจากชาวบ้านในพื้นที่

งานบุญบ้านบึงตามตำนานเล่าขาน กล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมาชาวอำเภอบ้านบึงต่างประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพอถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไปแล้วนั้น ชาวบ้านก็จะนำเอาข้าวเปลือกมาตากรวมกันที่บริเวณลานกว้างของวัดบึงบวรสถิตย์หรือวัดบึงล่าง อันถือเป็นชุมนุมเพียงแห่งเดียวในสมัยก่อน พอข้าวแห้งได้ที่จึงทยอยเก็บเข้ายุ้งฉางต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะแบ่งให้วัดไปด้วย แต่พิธีกรรมที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ก่อนที่ชาวบ้านจะนำข้าวเข้าเก็บที่ยุ้งฉาง จะมีการ “ทำขวัญข้าวเปลือก” ก่อน ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของข้าวและชาวบ้าน รวมทั้งยังเชื่อกันว่าจะทำให้มีผลผลิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป ๆ ด้วย

พิธีกรรมทำขวัญข้าวเปลือกนั้น ชาวบ้านจะนัดหมายกันนำข้าวปลาอาหาร ของหวาน ของคาวต่างๆ มากองรวมกัน แล้วเชิญภูตผีทั้งหลายมากินซึ่งก็มาจากความเชื่ออีกเหมือนกันว่าต่อไปภูตผีจะไม่ทำร้าย ไม่เข้ามาข้องเกี่ยวกับครอบครัวและทรัพย์สิน เสร็จพิธีกรรมตรงนี้แล้ว ชาวบ้านก็จะมาร่วมกันรับประทานอาหารกันระหว่างนี้อาจมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่นการละเล่นพื้นบ้าน การร้องรำทำเพลง กิจกรรมทั้งหมดนี้ ชาวอำเภอบ้านบึงทำสืบต่อกันมายาวนาน จนกลายเป็นประเพณีที่ต้องจัดขึ้นในเดือนห้าของทุกปี เรียกว่า "งานบุญกองข้าว" ซึ่งปัจจุบันได้ผันมากลายเป็น "งานบุญบ้านบึง"

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

น้ำตาลทรายแดงชุมชนบ้านบึงมีชื่อเสียงในการทำน้ำตาลทรายแดงเป็นอย่างมาก โดยมีกรรมวิธีในการผลิตอ้อย เมื่อปลูกอ้อยแก่พอจะทำน้ำตาลได้ เจ้าของจะจุดไฟเผาทั้งไร่ เพื่อให้ไฟเผาใบที่แห้งทั้งหมด แล้วจึงหมัดอ้อยรวมกันเป็นกอง ๆ แล้วนำบรรทุกเข้าโรงงานผลิต จากนั้นจึงบีบน้ำอ้อยไหลไปตามที่ไปลงบ่อพัก แล้วตักน้ำอ้อยขึ้นเคี่ยวจนเดือด ช้อนฟองทิ้ง แล้วนำปูนขาวใส่ลงในกะทะที่กำลังเดือด เคี่ยวข้น แล้วตักใส่กะบะ ใช้ไม้คนให้แห้งแล้วใช้ไม้กลม ๆ กดให้น้ำตาลแตกเป็นผงใส่แล้วนำบรรจุภัณฑ์ 

วัดบึงบวรสถิตย์ตั้งอยู่ที่ บ้านบึง ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 10 ไร่ 95 ตารางวา วัดนี้ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2408 ไม่ปรากฏแน่นอนว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เล่ากันว่า หลวงพ่อเขียวจากวัดคงมาลัย (บึงบน) มาเป็นผู้นำในการสร้างวัด ชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดบึงล่าง แต่ในหลักฐานที่ดินจังหวัดเรียกว่า วัดบ้านไร่ ต่อมาเรียกว่าวัดไร่บ้านบึง ในสมัยพระครูไพโรจน์ภัทรธาดา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดบึงบวรสถิตย์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2528 ปัจจุบันมีโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกธรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อ้อยน้ำตาลเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอบ้านบึง ซึ่งผลผลิตส่วนมากจะถูกส่งเข้าในโรงงานทำน้ำตาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอบ้านบึง ทางเทศบาลต่าง ๆ ในอำเภอบ้านบึงจึงร่วมมือกันจัดตั้งโรงงานน้ำตาลสหการน้ำตาลชลบุรีขึ้นมาเพื่อเป็นรองรับผลผลิตอ้อยจากชาวบ้านในพื้นที่ โดยเมื่อเริ่มกิจการนั้นทางโรงงานมีกำลังการผลิต 800 ตัน/วัน ต่อมาได้มีการพัฒนาขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีกำลังการผลิต 12,000 ตัน/วัน


ความร่วมมือในการรักษาวัฒนธรรม "งานบุญบ้านบึง"ในปี 2541 เทศบาลเมืองบ้านบึงได้เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดงานประเพณี "งานบุญบ้านบึง" เป็นครั้งแรก ในช่วงวันที่ 17-19 เมษายน 2541 ที่วัดบึงบวรสถิตย์ (วัดบึงล่าง) การจัดงานครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี รวมถึงหน่วยงาน องค์กร และชมรมต่างๆก็ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง ความพิเศษของการที่ทางเทศบาลเมืองบ้านบึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนั้น ก็คือ การได้ฟื้นฟูประเพณีกองข้าวเปลือกกองข้าวสวย การทำขวัญข้าวเปลือกขึ้นมาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มกิจกรรมอื่น ๆ เข้าไปอีกด้วย เช่น มีขบวนแห่ของหน่วยงานต่างๆ การแสดงของนักเรียน ชุมชน และชมรมต่าง ๆ การแสดงดนตรี รำวงย้อนยุค มหกรรมก๋วยเตี๋ยวหมูบ้านบึง การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประกวดก่อกองทราย ขบวนแห่นางสงกรานต์ ฯลฯ แต่ที่ขาดไม่ได้เลย คือ เรื่องของงานพิธีสงฆ์ เทศบาลเมืองบ้านบึงจะจัดให้มีงานพิธีสงฆ์ พิธีกองข้าว การทำขวัญข้าวเปลือก และการรับประทานอาหาร

แต่ด้วยสภาพความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งจำนวนผู้คนที่เข้ามาร่วมงานและความเปลี่ยนแปลงสถานที่ รวมไปถึงเพื่อความสะดวก ดังนั้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา เทศบาลเมืองบ้านบึงจึงได้ย้ายสถานที่จัดงานมาเป็นบริเวณโรงเรียนอนุบาลบ้านบึง (อำนาจคณูปถัมถ์) แทน พร้อมจัดมหกรรมอาหารอร่อย ในส่วนของงานรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การประกวดก่อกองทราย และขบวนแห่นางสงกรานต์ ยังคงจัดที่บริเวณลานวัดบึงบวรสถิตย์เหมือนเดิม เพื่อรักษาบรรยากาศเก่า ๆ ของงานประเพณีนี้เอาไว้ต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชวน สมุทรานนท์. (2438). ชลบุรี ภาคต้น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหากุฏราชวิทยาลัย.

เทศบาลเมืองบ้านบึง. (ม.ป.ป.). ประเพณีงานบุญบ้านบึง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.banbuengcity.go.th/.

เทศบาลเมืองบ้านบึง. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.banbuengcity.go.th/

นพพรต. (2532). การศึกษาเพื่อวางแผนการใช้ที่ดิน เทศบาลตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต, ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง, บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2566). อำเภอบ้านบึง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอบ้านบึง

สหการน้ำตาลชลบุรี. (ม.ป.ป.). โรงงานน้ำตาลสหการน้ำตาลชลบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sahakarnsugar.com/