
ชุมชนที่ผลิตไม้กวาดเป็นอาชีพเสริมทำให้เกิดรายได้ของชุมชนเป็นเอกลักษณ์ที่คนในชุมชนใกล้เคียงและคนในจังหวัดสกลนครรู้จักเป็นอย่างดี ในปัจจุบันชุมชนบ้านเต่างอยกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแหล่งสำคัญของจังหวัดสกลนคร
ที่มาของชื่อเต่างอย ในอดีตมีเต่าอาศัยอยู่บริเวณริมตลิ่งลำน้ำพุงเป็นจำนวนมาก คำว่า “งอย” เป็นภาษาย้อ หมายถึงการยืนหรือนั่ง หรือจับอยู่ในที่สูงกว่าระดับพื้นปกติและอยู่ใน ลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการตกลงมาสู่พื้นล่าง
ชุมชนที่ผลิตไม้กวาดเป็นอาชีพเสริมทำให้เกิดรายได้ของชุมชนเป็นเอกลักษณ์ที่คนในชุมชนใกล้เคียงและคนในจังหวัดสกลนครรู้จักเป็นอย่างดี ในปัจจุบันชุมชนบ้านเต่างอยกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแหล่งสำคัญของจังหวัดสกลนคร
ชาวบ้านผู้บุกเบิกการก่อตั้งหมู่บ้านต่างนั้นอพยพมาจากบ้านกูว่านกระแจ้งหรือบ้านโพนแก้ว เมืองมหาชัยก้องแก้ว ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเซ ประเทศลาว เนื่องจากที่อยู่เดิม ลำบาก หากินลำบาก ชาวบ้านจึงพากันอพยพมาหาที่สมบูรณ์กว่าดีกว่า และประกอบกับในสมัยก่อนไทยได้กวาดต้อนคนลาวเข้ามาในไทยทำให้ชาวบ้านที่ถูกกวาดต้อนได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ และ มีการติดต่อไปมาหาสู่ญาติพี่น้องที่เมืองมหาชัยจึงได้มีการชักชวนกันมาอยู่ในที่บริเวณนี้ โดยได้เดินทางมาพร้อมกัน 3 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งตั้งรกรากอยู่บ้านเต่างอย กลุ่มหนึ่งไปตั้งรกรากอยู่บ้านจันทร์เพ็ญ และกลุ่มหนึ่งตั้งรกรากที่บ้านนางอย ในแต่ละกลุ่มก็จะเป็นญาติ การมาตั้งบ้านเรืยนที่บ้านเต่างอยมีจำนวน 10 ครอบครัว และได้ตั้งเป็นทางการใน ปี พ.ศ. 2420 ตรงกับรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี
ในระยะแรกพื้นที่บริเวณบ้านเต่างอยเป็นป่าผืนใหญ่ ผู้เฒ่าผู้อาวุโสในหมู่บ้านกล่าวว่า เมื่อประมาณ 60-70 ปี ที่แล้ว สมัยที่ผู้อาวุโสเหล่านี้ยังเป็นเด็ก สภาพรอบหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบรกทึบ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ป่าเหล่า มีสัตว์ป่าชุกชุม ทั้งไก่ป่า หมูป่า เก้งหรือฟาน กวาง ตลอดจนเสือ ช้าง ลงมาหากินตามลำห้วยอีนูน ลำน้ำพุง จากการที่หมู่บ้านเต่างอยเป็นบ้านป่า การคมนาคมเข้าหมู่บ้านมีความยากลำบาก ในช่วงปี พ.ศ. 2488 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร หัวหน้ากลุ่มเสรีไทยสกลนคร ได้เข้ามาใช้พื้นที่ภูเขาหลังหมู่บ้านนางอย บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “คำเบิ่มบ่าม-ตานนกยูง” (บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำเครือเขาบอกในปัจจุบัน หรือภูคำผักเม็ก) เป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มเสรีไทยสกลนคร มีการเกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านเต่างอยและหมู่บ้านใกล้เคียงไปฝึกทหารและส่งไปทำงานที่ค่าย ต่อมาค่ายถูกทำลายทิ้งไปเนื่องจากนายเตียง ศิริขันธ์ ต้องการทำลายหลักฐานก่อนที่ทหารญี่ปุ่นในเมืองสกลนครขึ้นมาตรวจค้น ทหารที่เกณฑ์มาอยู่ที่ค่ายได้ประมาณ 3 เดือน ก็แยกย้ายกันไปและหลังจากนั้นไม่นานสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็สิ้นสุดลง
ต่อมาในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2515-2516 พื้นที่หมู่บ้านเต่างอยและใกล้เคียงเริ่มกลายเป็นพื้นที่จรยุทธของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ในสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันคือเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล จากการเข้าถึงของทางราชการและชาวบ้านมีฐานะยากจน โดยคัดเลือกเอาหมู่บ้านนางอยเป็นพื้นที่ในการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นทุกคืนจะมีการอบรมชาวบ้านตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 นาฬิกา ดังนั้นชาวบ้านเต่างอยที่ไปไร่ผ่านเส้นทางบ้านนางอยจะต้องรีบกลับก่อนเวลาดังกล่าวหากไม่เช่นนั้นก็จะถูกให้เข้ารับการอบรม
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทําให้ทางราชการมีความกังวลว่าชาวบ้านในหมู่บ้านแถบนี้จะกลายเป็นมวลชนให้กับพรรคมิวนิสต์ (พคท.) จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประจำการและจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเต่างอย ในปี พ.ศ. 2521 ข้าราชการที่มาประจำอยู่มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากอาจถูกซุ่มโจมตีจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดังนั้นในการเดินทางจะต้องเปลี่ยนเส้นทางทั้งไปและกลับตลอด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การพัฒนาหมู่บ้านเป็นไปอย่างยากลำบาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่ในหมู่บ้านจึงถูกชาวบ้านจัดการกันเองตามมีตามเกิด และประมาณปี พ.ศ. 2526-2527 คอมมิวนิสต์ที่เคยมีอยู่ในพื้นที่แถบนี้ก็หมดไป
ชุมชนบ้านเต่างอย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสกลนครประมาณ 18 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอห่างจากอำเภอเต่างอย ประมาณ 1 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ จด บ้านน้ำพุงสามัคคี หมู่ที่ 6 ตำบลเต่างอย
- ทิศใต้ จด บ้านนางอย หมู่ที่ 4 ตำบลเต่างอย
- ทิศตะวันออก จด บ้านโทนปลาโหล หมู่ที่ 5 ตำบลเต่างอย
- ทิศตะวันตก จด บ้านน้ำพุสามัคคี หมู่ที่ 6 ตำบลเต่างอย
บ้านเต่างอย ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มอยู่ใกล้ลำน้ำพุงด้านทิศตะวันตก และลำห้วยอีนูน ด้านทิศใต้ที่ไหลผ่านหมู่บ้านลำห้วยทั้งสองถือว่าเป็นลำน้ำที่มีความสมบูรณ์และมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเต่างอยและหมู่บ้านใกล้เคียง กล่าวคือชาวบ้านจะใช้ลำน้ำทั้งสอง เพื่อการเกษตร การอุปโภคและบริโภคมีสภาพที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังมีภูเขาโอบล้อมทั้งทางทิศใต้และทิศตะวันออก
บ้านเต่างอยเป็นบ้านขนาดใหญ่มีจำนวน 360 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 1,700 คน ตนในชุมชนมีลักษณะ การดำรงชีวิตเป็นแบบกึ่งสังคมเมืองและกึ่งสังคมชนบท กล่าวคือเป็นหมู่บ้านที่มีสาธารณูปโภค พร้อม คือมีไฟฟ้า ถนน น้ำประปา โทรศัพท์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แต่ก็ยังรักษาความเป็นญาติพี่น้องในสังคม มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการเคารพและเชื่อฟังผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อาวุโส
บ้านเต่างอยตั้งบ้านเรือนเป็นกระจุกตามกลุ่มเครือญาติของตนเองแต่ละ กระจุกของการตั้งบ้านเรือนก็จะมีหลายคุ้ม คุ้มต่างๆ ภายในหมู่บ้านจะมีความสัมพันธ์เป็น เครือญาติกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ละคุ้มจะตั้งบ้านเรือนใกล้ชิดกันมาก ไม่มีรั้วบ้านชัดเจนระหว่าง ครอบครัวหนึ่งกับครอบครัวหนึ่ง ทางเดินระหว่างบ้านจะทะลุถึงกันได้ การตั้งบ้านเรือนในลักษณะ นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากอดีต กล่าวคือการตั้งบ้านเรือนในระยะแรก ๆ จะเป็นคุ้มเล็ก ๆ เมื่อมีญาติ พี่น้อง ลูกหลานแต่งงานมีครอบครัวก็จะออกเรือนและสร้างบ้านในบริเวณใกล้ ๆ กับบ้านเดิม จึงทำให้บ้านเรือนที่พบเห็นในปัจจุบันหนาแน่นและไม่เป็นระเบียบตลอดจนด้านสุขาภิบาลไม่ถูกสุขลักษณะยกเว้นบางครอบครัวที่ออกไปตั้งบ้านเรือนบริเวณรอบนอกหมู่บ้านก็จะมีพื้นที่บริเวณรั้วรอบขอบชิด
กลุ่มเครือญาติ ในระยะแรก ๆ ของการตั้งบ้านเรือนจะมีเพียง 6 กลุ่ม แต่เมื่อ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นเวลานาน ความสัมพันธ์ของกลุ่มมีมากขึ้น มีความสนิทสนมรักใคร่ทำให้มี การแต่งงานระหว่างกลุ่มกลายเป็นเครือญาติที่สัมพันธ์กันไปทั้งหมู่บ้าน กลุ่มเครือญาติในปัจจุบัน จึงมีหลายกลุ่มมากขึ้นประกอบกับคนในหมู่บ้านมีการแต่งงานกับคนในท้องถิ่นอื่น ยิ่งเป็นสาเหตุ ทำให้กลุ่มเครือญาติขยายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีงานบุญประเพณีต่าง ๆ ก็จะมีการช่วยเหลือกันเป็นอย่างดีตามข้อตกลงของที่ประชุมในหมู่บ้าน กลุ่มเครือญาติใน หมู่บ้านเต่างอยมีนามสกุลที่สำคัญได้แก่ งอยภูธร งอยผาลา ลอยแพง งอยกุดจิก งอยจันทร์ศรี และงอยปัดพันธ์
ผู้คนในชุมชนบ้านเต่างอยประกอบด้วยกลุ่มชนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติพันธุ์ เช่น กะเลิง ผู้ไท ลาว และ ย้อ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด
กะเลิง, ญ้อ, ผู้ไท, ลาวเวียง- กลุ่มอาชีพผลิตไม้กวาดดอกหญ้า
ประเพณีและความเชื่อ ชาวบ้านเต่างอยได้ถือปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม เห็นได้จากการทำบุญ การจัดประเพณีต่าง ๆ ซึ่งแสดงออกถึงขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น บุญพระเวส บุญเข้าพรรษา บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญไหลเรือไฟ (จัดทำ 2 ครั้งคือ ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 และขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10) บุญออกพรรษา บุญกฐินและบุญผ้าป่า ชาวบ้านเต่างอยมีความเชื่อในเรื่องธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติเช่นเดียวกันกับชนบททั่วไป เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและมีส่วนร่วมในการแสดงออกตามความเชื่อทุก ๆ ปี ที่มีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของท้องถิ่น เช่น ความเชื่อและนับถือผีปู่ตา ผีตาแฮก ผีบรรพบุรุษ การลำผีหมอ การรักษาการเจ็บป่วยด้วยการลำผีหมอและการรักษาโรคกระดูกหักด้วยการเป่า เป็นต้น
- ประเพณีไหลเรือไฟบก
- ประติมากรรมพญาเต่างอย
- ภูมิปัญญาการทำไม้กวาดดอกหญ้า
มีภาษาถิ่นที่ใช้ภาษาพูดเหมือนภาษาไทยลาว ภาษาย้อ ต่างสำเนียงเล็กน้อย คือ น้ำเสียงสูงอ่อนหวาน ไม่ห้วนสั้นเหมือนไทยลาวและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้ติดต่อราชการ
ความเชื่อเรื่องผีหมอ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณชาวบ้าน มีความเชื่อว่าทุกปีจะต้องมีการประกอบพิธีลำผีหมอเพื่อก่อให้เกิดความสุขของชาวบ้านทุกคน โดยจะทำการเลี้ยงผีหมอช่วงเดือน 4 ยกเว้นวันพระและวันอังคาร บริเวณทุ่งนาทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน ดังนั้นเมื่อมีการประกอบพิธีเลี้ยงผีหมอก็จะมีการเรี่ยไรเงินแต่ละคุ้มนำไปเป็นค่าใช้จ่าย ครอบครัวละ 10 บาท หรือแล้วแต่ศรัทธา นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่าการลำผีหมอสามารถใช้ในการบำบัดรักษาคนป่วยไข้ที่เกิดจากการกระทำของผีได้ ซึ่งชาวบ้านเรียกวิธีการรักษาว่า การเหยา ปัจจุบันมีหมอเหยาอยู่ 30 คน
อินทิมา โยคิกานนท์. (2546). เส้นทางการค้าไม้กวาดดอกหญ้าบ้านเต่างอย ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สกลนครไกด์.คอม. (2562). ภาพพญาเต่างอยสัญลักษณ์ของคนในอำเภอเต่างอย. (2562). พญาเต่างอย จ.สกลนคร ที่ท่องเที่ยวสำหรับนักเสี่ยงโชค. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566. จาก https://sakonnakhonguide.com/tour-sakonnakhon/
ภาพเรือไฟบก ในงานประเพณีไหลเรือไฟบกของอำเภอเต่างอย. (2565). มหัศจรรย์สกลนคร (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566. จาก https://www.facebook.com/
ภาพไม้กวาดดอกหญ้า ผลิตภัณฑ์จากชุมชนบ้านเต่างอย. (2566). เต่างอย ไม้กวาดและเครื่องจักสาน (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566. จาก https://www.facebook.com/