Advance search

ชุมชนที่มีพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เเละความเข้มข้นด้านงานบุญประเพณี 12 เดือน อีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน 

หมู่ 9
ขี้เหล็กใหญ่
ในเมือง
เมืองชัยภูมิ
ชัยภูมิ
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
20 มิ.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
26 มิ.ย. 2023
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
1 ส.ค. 2023
บ้านขี้เหล็กใหญ่

บ้านขี้เหล็กใหญ่ มีการตั้งชื่อมาจากการเป็นชุมชนที่เป็นกองกำลังสำคัญของเจ้าพ่อพญาแล จึงมีการหลอมและตีเหล็กเพื่อใช้ทำดาบและอุปกรณ์ในการทำศึก ทำให้มีเศษเหล็กมาก จึงเรียกว่า "บ้านขี้เหล็ก"


ชุมชนที่มีพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เเละความเข้มข้นด้านงานบุญประเพณี 12 เดือน อีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน 

ขี้เหล็กใหญ่
หมู่ 9
ในเมือง
เมืองชัยภูมิ
ชัยภูมิ
36000
15.786170999780486
102.0102704231907
องค์การบริหารส่วนตำบลในเมือง

บ้านขี้เหล็กใหญ่มีการก่อตั้งบ้านเรือนยุคสมัยใด ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า บ้านขี้เหล็กใหญ่มีการตั้งบ้านเรือนก่อนที่เจ้าพ่อพระยาแลจะอพยพมาอยู่ที่โนนน้ำอ้อม บ้านขี้เหล็กใหญ่เป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนอยู่แล้วพอสมควร ซึ่งสังเกตได้จากผังเครือญาติและเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดกันภายในของหลาย ๆ ตระกูล โดยเฉพาะคำบอกเล่าของลูกหลานตระกูลดิเรกโภค ที่รวบรวมคำบอกเล่าของย่าดี ดิเรกโภค ภรรยาของปู่หมา ดิเรกโภค ซึ่งปู่หมาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2504 และจากหลักฐานทะเบียนบ้าน พ.ศ. 2499 ระบุว่า ปู่หมา ดิเรกโภค เกิด พ.ศ. 2423 ครั้งเมื่อปู่หมาเป็นเด็กประมาณ 11-12 ปี เคยปรนนิบัติหลวงปู่ไก่ซึ่งชราภาพมากแล้ว อายุประมาณ 80 ปี หลวงปู่ไก่น่าเกิดจะช่วง พ.ศ. 2350-2354 โดยประมาณ และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เจ้าพ่อพระยาแลเป็น "พระภักดีชุมพลปกครองเมืองไชยภูมิ์" จะอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2360-2369 ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงปู่เผือก เป็นคนยุคเจ้าพ่อพระยาแลมาจากเวียงจันทน์พร้อมเจ้าพ่อพระยาแล ซึ่งหลวงปู่เผือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขี้เหล็กใหญ่ต่อจากหลวงปู่ไก่ ที่คนบ้านขี้เหล็กใหญ่หลายคนเชื่อว่า หลวงปู่ไก่เป็นคนตั้งบ้านขี้เหล็กใหญ่ หากลองเทียบช่วงเวลาแล้วจะพบว่า หลวงปู่ไก่น่าจะอยู่บ้านขี้เหล็กใหญ่มาก่อนหน้า

บ้านขี้เหล็กใหญ่ตั้งอยู่ก่อนหน้าที่เจ้าพ่อพระยาแลจะมาตั้งถิ่นฐานที่โนนน้ำอ้อม การเกิดขึ้นของบ้านขี้เหล็กใหญ่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุการตั้งถิ่นฐานที่ชัดเจนมากไปกว่าคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่และจากจดหมายเหตุ เรื่อง มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเรื่องราวในจดหมายเหตุสอดคล้องกับหลักฐานโบราณคดีของเมืองหามหอก ที่มีโครงสร้างเมืองโบราณแบบทวาราวดี แต่ถูกตีแตกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสำเนียงภาษาพูดของคนขี้เหล็กใหญ่ที่ภาษาลาวจะคล้ายคลึงกับสำเนียงของลาวเวียงที่พูดกันมากแถบเวียงจันทน์และหนองคาย อาจจะยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ในบ้านขี้เหล็กใหญ่ที่จะบ่งชี้ของความเป็นลาวเวียงที่ชัดเจนเท่ากับภาษาพูดและเครื่องแต่งกาย เพราะการอพยพของชาติพันธุ์ลาวมายังดินแดนสยามที่รวมภาคอีสานปัจจุบัน มีการอพยพมาหลายครั้งตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงครองราชย์ เริ่มมีการอพยพของกลุ่มลาวเวียงมาพักอาศัยแถบชัยภูมิ นครราชสีมา สระบุรี 

สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของบ้านขี้เหล็กใหญ่มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มผสมผสานกับที่ราบลุ่มเนินสลับกัน แหล่งอาหารจากธรรมชาติจึงมีอยู่รอบหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปีฤดูฝนเป็นช่วงเวลาของความอุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศที่เรียกว่า อ้าวฝน เป็นช่วงเวลาที่เห็ดป่าแถบโคกเทอเร่อออกดอกให้ได้เก็บกิน เพราะสภาพป่าเต็งรังที่มีใบไม้ปกคลุมจะเป็นแหล่งเห็ดนานาชนิด พอช่วงที่ฝนชุกตามป่าต่าง ๆ จะมีหน่อไม้ การเก็บหน่อไม้ของคนอีสานถือเป็นอาหารที่ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้ถ้าสมาชิกในครอบครัวขยันเข้าป่า หน่อไม้จะเป็นอาหารที่ถูกนำมาถนอมอาหารเป็นหน่อไม้ดองเปรี้ยว หน่อไม้ใบ จนถึงผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ที่เรียกว่า หน่อไม้ซิ่ง

ในอดีตไม่มีให้อัดหน่อไม้ ไม่มีตู้เย็นใส่ถนอมอาหาร หน่อไม้จะถูกซอยเป็นชิ้น ๆ ผึ่งลม ผึ่งแดดให้แห้ง เก็บไว้กินในฤดูหนาวและฤดูแล้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทหน่อไม้ถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพและความทันสมัย ช่วงฤดูฝนจึงเป็นช่วงของความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทั้งพืชน้ำในหนองต่าง ๆ เช่น รากบัวหรือบัวโป้งที่จะขุดจากหนองตาดำ แต่ถ้าอยากกินกระจับหนามต้องไปหนองนาเริง ฤดูฝนที่เป็นฤดูของการทำนา อาหารจากนาข้าวมีมากมายหลายชนิดโดยเฉพาะหอยจูบ หอยขม หอยปรังหอยบ หอยกาบ สภาพแวดล้อมของการทำนาข้าวที่ใช้สารเคมีมีมากขึ้นทำให้เกิดการชะล้างยาปราบศัตรูพืชลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้หอยนา หอยปังหายไป ประกอบกับมีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างหอยปัง สันนิษฐานว่าเป็นเพราะการแพร่กระจายของหอยเชอรี่ ทำให้หอยปังหายไปกลายเป็นหอยเชอรี่แทน เกิดการเปลี่ยนแปลงของชนิดและพันธุกรรมของหอยในแหล่งน้ำ

ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่มีประชากรรวมทั้งหมด 1,548 คน เพศชายจำนวน 722 คน เพศหญิงจำนวน 826 คน และมีจำนวนบ้านทั้งหมด 1,021 ครัวเรือน

ลาวเวียง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผู้คนในบ้านขี้เหล็กใหญ่มีความผูกพันกับความเป็นชุมชนและจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกับวัดเป็นประจำ เช่น การทำเทียนในวันเข้าพรรษา การจัดงานลอยกระทง การทำบุญต่าง ๆ ตามประเพณีตลอด 12 เดือน

  • เดือนอ้าย หรือเดือนเจียง : งานบุญเข้ากรรม ทำลานตี (ลานนวดข้าว) ทำปลาแดก (ทำปลาร้าไว้เป็นอาหาร) เกี่ยวข้าวในนา เล่นว่าว ชักว่าวสนู นิมนต์พระสงฆ์เข้าประวาสกรรมตามประเพณีนั้นมีการทำบุญทางศาสนาเพื่ออานิสงส์ทดแทนบุญคุณต่อบรรพบุรุษ ชาวบ้านเลี้ยงผีแถน ผีบรรพบุรุษ มีการตระเตรียมเก็บสะสมข้าวปลาอาหารไว้กินในยามแล้ง
  • เดือนยี่ : งานบุญคูนลาน ทำบุญที่วัด พระสงฆ์เทศน์เรื่องแม่โพสพ ทำพิธีปลงข้าวในลอมและฟาดข้าวในลานขนข้าวเปลือกขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) นับเป็นความเชื่อในการบำรุงขวัญและสิริมงคลทางเกษตรกรรม มีทั้งทำบุญที่วัดและบางครั้งทำบุญที่ลานนวดข้าว เมื่อขนข้าวใส่ยังแล้วมักไปทำบุญที่วัด
  • เดือนสาม : บุญข้าวจี่ มีพิธีเลี้ยงผีตาแฮก (พระภูมินา) เพราะขนข้าวขึ้นยุ้งแล้ว งานเอิ้นขวัญข้าวหรือกู่ขวัญข้าวเพ็ญเดือนสามทำบุญข้าวจี่ ตามประเพณีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวใส่ยุ้งแล้ว มีการทำบุญเซ่นสรวงบูชาเจ้าที่นาซึ่งชาวอีสานเรียกว่าตาแฮก และทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้ผีปู่ย่าตายาย อันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยการทำข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนสอดไส้น้ำตาลหรือน้ำอ้อยชุบไข่ปิ้งจนเหลือง) นำไปถวายพระพร้อมอาหารคาวหวานอื่น ๆ
  • เดือนสี่ : บุญพระเวส (ฟังเทศน์มหาชาติ ทำบุญแจกข้าวอุทิศให้ผู้ตาย ประเพณีเทศน์มหาชาติเหมือนกับประเพณีภาคอื่น ๆ ด้วย เป็นงานบุญทางพุทธศาสนาที่ถือปฏิบัติทำบุญถวายภัตตาหารแล้วตอนบ่ายฟังเทศน์ เรื่องเวสสันดรชาดก
  • เดือนห้า : บุญสรงน้ำ หรือบุญสงกรานต์ มีการทำบุญถวายภัตตาหารคาวหวาน หรือถวายจังหันเช้า-เพลตลอดเทศกาล ตอนบ่ายมีสรงน้ำพระที่บ้านขี้เหล็กใหญ่จะแตกต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่จะนำพระพุทธรูปหรือประธานฐานแห่รดน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ประเพณีสรงน้ำพระบ้านขี้เหล็กใหญ่จะนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นรถปิคอัพ (สมัยก่อนจะใช้เกวียนเพราะยังไม่มีรถ)
  • เดือนหก : บุญบั้งไฟ บางแห่งเรียก บุญวิสาขบูชา มีงานบุญบั้งไฟ (บุญขอฝน) ในวันเพ็ญเดือนหก เกือบตลอดเดือนหกนี้ ถือเป็นการทำบุญบูชาแถน (เทวดา) เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารในปีต่อไป ครั้นวันเพ็ญเดือนหกเป็นงานบุญวิสาขบูชาประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนา มีการทำบุญฟังเทศน์และเวียนเทียนเพื่อผลแห่งอานิสงส์ในภพหน้า
  • เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ มีพิธีเลี้ยงตาแฮก ศาลปู่ตา เสาหลักเมือง งานบุญเบิกบ้านเบิกเมือง ด้วยคติความเชื่อหลังจากหว่านข้าวกล้าดำนาเสร็จ มีการทำพิธีเซ่นสรวงเจ้าที่นา เพื่อความเป็นสิริมงคลให้ข้าวกล้าในนางอกงาม บ้านที่กุลบุตรมีงานอุปสมบททดแทนบุญคุณบิดามารดาและเตรียมเข้ากรรมในพรรษา
  • เดือนแปด : งานบุญเข้าพรรษา มีพิธีหล่อเทียนพรรษางานบุญเทศกาลเข้าพรรษาแต่ละหมู่บ้านช่วยกันหล่อเทียนพรรษา ประดับให้สวยงาม จัดขบวนแห่เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีการทำบุญถวายภัตตาหารเครื่องไทยทานและผ้าอาบน้ำฝนเพื่อพระสงฆ์จะได้นำไปใช้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน จัดงานวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 นับแต่เช้ามืด ชาวบ้านจัดอาหารคาวหวานหมากพลูบุหรี่ใส่กระทงเล็ก ๆ นำไปวางไว้ตามลานบ้าน ใต้ต้นไม้ ข้างพระอุโบสถ เพื่อเป็นการให้ทานแก่เปรตหรือวิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยาก ตอนสายมีการทำบุญที่วัด ฟังเทศน์เป็นอานิสงส์
  • เดือนสิบ : บุญข้าวสาก ข้าวสากหมายถึงการกวนกระยาสารท คล้ายงานบุญสลากภัตในภาคกลาง จัดงานวันเพ็ญเดือน 10 นำสำรับคาวหวานพร้อมกับข้าวสาก (กระยาสารท) ไปทำบุญที่วัดถวายผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องไทยทาน
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญไต่น้ำมันหรืองานบุญออกพรรษา มีพิธีถวายผ้าห่มหนาวในวันเพ็ญ มีงานบุญตักบาตรเทโวพิธีกวนข้าวทิพย์ พิธีลอยเรือไฟนับเป็นช่วงที่จัดงานใหญ่กันเกือบตลอดเดือน นับแต่วันเพ็ญ มีการถวายผ้าห่มหนาวแต่พระพุทธพระสงฆ์ วันแรม 1 ค่ำ งานบุญตักบาตรเทโว ตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ มีพิธีกวนข้าวทิพย์ มีทั้งงานบุญกุศลและสนุกสนานรื่นเริง
  • เดือนสิบสอง : บุญกฐิน ทำบุญข้าวเม่าพิธีถวายกฐินเมื่อถึงวันเพ็ญจัดทำข้าวเม่า (ข้าวใหม่) นำไปถวายพระพร้อมสำรับคาวหวานขึ้น ตอนบ่ายฟังเทศน์เป็นอานิสงส์จัดพิธีทอดกฐินตามวัดที่จองกฐินไว้ งานบุญในฮีตสิบสองนั้น ตามหมู่ที่เคร่งประเพณียังคงจัดกันอย่างครบถ้วนบางแห่งจัดเฉพาะงานบุญใหญ่ ๆ ตามแต่คณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกันจัด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

บ้านขี้เหล็กใหญ่มีวัฒนธรรมดนตรีที่หลากหลายและน่าสนใจมาก คือ การเดาะกลอง ที่อดีตจะเป็นการเดาะกลองเช้า กลองแลง และกลองแห่ ท้วงจังหวะทำนองของการเดาะจะแตกต่างกัน เสียงเดาะกลองและลีลาของผู้เดาะกลองจะมีท่าทีที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ แต่ปัจจุบันผู้ที่เดาะกลองได้ของหมู่บ้านเหลือเพียง 3 คน เท่านั้น นอกจากการเดาะกลองแล้ว บ้านขี้เหล็กใหญ่เป็นสังคมการร้องรำทำเพลงที่น่าสนใจ หากแต่หลายสิ่งหลายอย่างกำลังจะเลือนหายไม่มีการรักษาและสร้างกระบวนการให้เกิดการคงอยู่ได้นั้น ในอนาคตอาจจะหลงเหลือเพียงเรื่องเล่าที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้กับลูกหลานได้สืบต่อวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า

นอกจากนี้ยังมี เจ้ยบั้งไฟ ซึ่งเป็นการเซิ้งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเจ้ยบั้งไฟขี้เหล็กใหญ่ ชัยภูมิ จะแตกต่างจากการเซิ้งบั้งไฟบ้านอื่น ๆ ในภาคอีสาน ทั้งชุดเสื้อผ้า เล็บฟ้อนและหมวก ความสำคัญกับชุดและเครื่องแต่งกายของแม่ ๆ กลุ่มเจ้ยบั้งไฟ "ใส่เสื้อแขนกระบอกย้อมคราม สวมซิ่นไหมน้อยแบบต่อตีน มีลายขิต" สะท้อนการแต่งกายระหว่างชาติพันธุ์กลุ่มลาวเวียงหรือลาวหลวงพระบาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นักวิชาการยังสงสัยกันอยู่ ในอีกหลาย ๆ ประเด็น เพราะการเซิ้งบั้งไฟของจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานหรือหมู่บ้านอื่นในจังหวัดชัยภูมิจะไม่สวมเล็บ แต่การร่ายรำที่ใส่เล็บฟ้อนจะคล้ายคลึงกับการฟ้อนรำของล้านนาหรือล้านช้างในอดีต ความน่าสนใจของเล็บที่ใช้ฟ้อนแบบในอดีตจะสานจากไม้ไผ่เป็นนิ้วยาว ปัจจุบันเหลือคนถักเล็บของการเจ้ยบั้งไฟได้คนเดียว คือ พ่อใหญ่สงคราม ก้อนมณี

ชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ มีการใช้ภาษาลาวขี้เหล็กใหญ่ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งสำเนียงและคำพูด เช่น คำว่า “เด๊ะ… หรือ อ๊ะเด๊ะ…” ที่เป็นคำอุทานหรือคำสร้อยก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรมภาษาไทยและลาว สำเนียงการพูดของชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่จะคล้ายกับภาษาลาวแถบจังหวัดหนองคายและเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว  และใช้ภาษาไทย ติดต่อศูนย์ราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2564). บ้านขี้เหล็กใหญ่ จ.ชัยภูมิ. ค้นจาก คลังข้อมูลชุมชน https://communityarchive.sac.or.th/ 

นันทวรรณ เหล่าฤทธิ์. (2557). ากบรรพชนถึงลูกหลานขี้เหล็กใหญ่ ชัยภูมิกรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 28 เมษายน 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ ขอนแก่น. (2564). “มนต์รักเพลงอีสาน..บ้านขี้เหล็กใหญ่”. ค้นจาก https://www.isancreativefestival.com/isancf2021/